การเดินทางท่องเที่ยวสายธรรมะของเพื่อนอาวทิดหมู จากทางกรุงเทพมหานครที่ขอมา คือ เส้นทางตามรอยบูรพาจารย์แห่งภาคอีสาน หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต โดยมีเวลาได้หยุดพักผ่อนมา 3 วัน 2 คืน ต้องการให้อาวทิดหมูจัดทริปให้ เพื่อจะได้ไปทำบุญในสถานที่ต่างๆ ที่เคยเป็นที่แสวงหาความสงบ สบาย ได้พิจารณาธรรมะของหลวงปู่มั่น โดยเพื่อนบอกว่า ช่วยหาพาหนะในการเดินทางให้ด้วยสำหรับกรุ๊ปทัวร์ 5 คน รวมอาวทิดหมูด้วยก็เป็น 6 คนพอดี จึงจัดตารางรถตู้ 1 คัน เพื่อการเดินทางให้เพื่อน ตามเส้นทางตามรอยบูรพาจารย์แห่งภาคอีสาน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เริ่มต้นที่ อุบลราชธานี – อำนาจเจริญ – มุกดาหาร – นครพนม – สกลนคร – อุดรธานี เผื่อจะเป็นแนวทางของท่านอื่นๆ ที่สนใจจะไปเที่ยวอีสานกันในช่วงหมดฤดูฝน ต้นฤดูหนาวกัน
สารคดีชุด “ตามรอยธุดงควัตรและปฏิปทาใน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ตอนที่ ๑
วันที่ 1 : กทม.-อุบลฯ-มุกดาหาร
- คณะแสวงบุญออกเดินทางจาก สนามบินดอนเมือง สู่ อุบลราชธานี รถตู้ไปรับที่สนามบิน เพื่อออกมารับประทานอาหารเช้า (ก๊วยจั๊บ-โจ๊ก-เกาเหลาเลือดหมู-ไข่กระทะ-กาแฟ-ชาร้อน-น้ำส้มคั้น) ตามชอบ
- เดินทางไป วัดเลียบ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของวัดธรรมยุตินิกาย ของจังหวัดอุบลราชธานี วัดนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2391 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่มาของชื่อวัดนั้นสันนิษฐานไว้ว่า น่าจะเป็นการสร้างวัดเลียบคันคูเมืองเดิม หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้ทำการปั้น “พระพุทธจอมเมือง” ขึ้น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 1.99 เมตร สูง 2.99 เมตร ประดิษฐานเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญ (หอแจก) เป็นสถานศึกษาและเป็นแหล่งประสิทธิประสาทวิชาความรู้ด้านพระธรรม ที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะยุคต้นของการสร้างวัดเลียบที่มี พระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) เป็นเจ้าอาวาส และเป็นผู้ฝึกอบรมการปฏิบัติธรรมในสายวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งหลวงปู่มั่นเริ่มศึกษาธรรมกับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดแห่งนี้
- แล้วเดินทางต่อไปที่ วัดบูรพาราม ซึ่งสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2436-2453 เป็นวัดที่หลวงปู่มั่นเคยจำพรรษาขณะมาร่ำเรียนธรรม ที่นี่จะได้ชมสิมทึบโบราณ (โบสถ์) รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 2 ห้อง หันหน้าออกสู่แม่น้ำมูล ภายในสิมเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อเหมือนของพระอาจารย์ด้านวิปัสสนา 5 องค์ ได้แก่ หลวงปู่สีทา ชยเสโน หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต พระญาณวิศิษฏ์ (ทอง จนฺทสิริ) และพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมมฺธโร)
หอไตรวัดบูรพา (หอพัก) เป็นอาคารไม้ 2 หลังคู่ยกพื้นสูงด้วยเสาไม้กลม หลังละ 8 ต้น มีชานเชื่อมตรงกลางหลังคาทรงจั่ว หน้าจั่วทำลวดลายรัศมีพระอาทิตย์ ฝาผนังไม้ลายก้างปลา ด้านข้างมีหน้าต่างข้างละ 3 บาน รองรับด้วยหย่องลายแข้งสิงห์ ทั้งสิมและหอไตร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อ พ.ศ. 2544
- แล้วไปที่ วัดศรีอุบลรัตนาราม (ชื่อเดิมคือ วัดศรีทอง) ตามตำนานเล่าสืบกันมาว่า พระวรราชภักดีหรือพระวอ พร้อมด้วยบุตรหลานของพระตา คือ ท้าวคำผง ท้าวทิศพรหม และท้าวก่ำ บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี เป็นผู้อัญเชิญ พระแก้วบุษราคัม มาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) เดิมทีพระแก้วบุษราคัม คงจะประดิษฐานอยู่ที่บ้านดอนมดแดง และได้อัญเชิญมาประดิษฐาน อยู่ที่วัดศรีอุบลรัตนารามในเวลาต่อมา โดยได้ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ ที่สร้างตามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ เป็นวัดที่หลวงปู่มั่นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่นี่
- จากนั้นเดินทางออกจากตัวเมืองอุบลราชธานี ไปตามทางหลวงหมายเลข 2050 (อุบลราชธานี-ตระการพืชผล) แล้วเลี้ยวขวาไปทาง 2134 (ตระการพืชผล-ศรีเมืองใหม่) ถึงอำเภอศรีเมืองใหม่ แล้วตรงไป วัดศรีบุญเรือง บ้านคำบง ตำบลนาคำ อำเภอศรีเมืองใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงปู่มั่น และท่านเคยบรรพชาเป็นสามเณรที่นี่
อนุสรณ์บ้านเกิดหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บ้านคำบง
ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
- แล้วเดินทางต่อไป วัดภูหล่น ปฐมสมถวิปัสสนากัมมัฎฐาน หรือสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมแห่งแรกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตะเถระ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านเกิดของท่านด้วย ตามประวัติกล่าวว่า ในราวปี พ.ศ. 2440 หลวงปู่เสาร์ กันตะสีโล ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่าน ได้นำท่านมาอบรมสมาธิบนภูหล่นแห่งนี้ ซึ่งมีลักษณะลานหินกว้างมีเพิงหิน เต็มไปด้วยไข้ป่าและสัตว์ร้าย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (ขณะนั้นท่านยังเป็นฆราวาส) ท่านจึงได้นำชาวบ้านมาช่วยขนหิน ดินโคลน ขึ้นมาก่อเป็นถ้ำพอเป็นที่อยู่อาศัย กันสัตว์ร้ายมารบกวนเวลาทำความเพียร เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นขณะนั่งวิปัสสนาอยู่นั้น ได้มีเสือจะเข้ามาทำร้ายแต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรท่านได้ ปัจจุบันนี้ยังมีรอยเท้าเสือปรากฏอยู่ ณ สำนักสงฆ์ภูหล่นแห่งนี้ เป็นรอยเท้าเสือที่ไม่มีเล็บบนผนังเพิงพักนั้น
หลังจากหลวงปู่เสาร์ กันตะสีโล พระอาจารย์ของท่านได้อบรมจนรู้ชัดว่า กำลังสมาธิอันแน่วแน่ ได้เกิดขึ้นแล้วในหลวงปู่มั่น ท่านจึงได้เเยกจากไป หลวงปู่มั่น ท่านได้บำเพ็ญภาวนาอยู่บนภูหล่น ประมาณ 5 ปี ท่านจึงได้จากสถานที่แห่งนี้ไป หลังจากท่านได้แสดงธรรมเทศนาอบรมโยมมารดาจนเกิดศรัทธา ออกประพฤติศีลพรหมจรรย์ตามท่านไป ในราวปี พ.ศ. 2449 หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้ย้อนกลับมาที่ภูหล่นอีก ที่แห่งนี้จึงเป็นปฐมสมถวิปัสสนากัมมัฎฐานของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
วัดภูหล่น ตั้งอยู่ที่ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
- จากนั้นเดินทางย้อนกลับมาที่อำเภอศรีเมืองใหม่ ไปตามเส้นทาง 2134 ศรีเมืองใหม่-ตระการพืชผล-พนา-ลืออำนาจ แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทาง 212 มุ่งหน้าไปพักนอนที่ จังหวัดอำนาจเจริญ วันนี้เดินทางเป็นระยะทางประมาณ 204 กิโลเมตร
วันที่ 2 : อำนาจเจริญ-มุกดาหาร-นครพนม-สกลนคร
- รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม หรือร้านอาหารเช้าตามสะดวก แล้วเดินทางตามเส้นทาง 212 มุ่งหน้าไปอำเภอนิคมคำสร้อย แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางหมายเลข 2370 ไปอำเภอคำชะอี เพื่อแวะชมสักการะ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ตำบลคำชะอี อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร เป็นวัดของ หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ที่มีพระเจดีย์ปู่ทองกิตติ ข้างในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้
- จากนั้นเดินทางไปตามเส้นทาง 2042 มุ่งไปอำเภอเมืองมุกดาหาร อาจจะแวะช็อปปิ้งเล็กน้อยที่ตลาดริมโขง เมืองมุกดาหาร แล้วใช้เส้นทาง 212 อีกครั้งเพื่อเดินทางไปที่อำเภอพระธาตุพนม ก่อนถึงอำเภอพระธาตุพนมประมาณ 11 กิโลเมตรจะมีทางแยกเลี้ยวขวาไปตามเส้นทาง 3015 ไป แก่งกระเบา เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ที่นี่มีหมูหันอร่อยและอาหารปลาแม่น้ำโขง
- จากนั้นเดินทางต่อตามเส้นทาง 3015 ไป วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอพระธาตุพนม เพื่อสักการะองค์พระธาตุพนม เสริมสิริมงคล
- จากนั้นใช้เส้นทาง 223 พระธาตุพนม-นาแก-สกลนคร เดินทางไปยัง วัดป่านาคนิมิตร ตำบลหนองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่มั่นเห็นชัยภูมิเหมาะแก่การปฏิบัติภาวนาจึงดำริสร้างวัดนี้และเคยเป็นเจ้าอาวาส
- จากนั้นแวะไป วัดป่าวิสุทธิธรรม ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก ซึ่งเป็นวัดที่พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเป็นเจ้าอาวาส และได้นิมนต์หลวงปู่มั่นมาจำพรรษาเมื่อปี 2487 โดยมีพระเณรมาจำพรรษาร่วมกับท่าน ได้แก่ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร, พระอาจารย์หลอด ปโมทิโต (ปัจจุบันคือ พระครูปราโมทย์ธรรมธาดา วัดสิริกมลาวาส กทม. ), พระอาจารย์อุ่น กลฺยาณธมฺโม เป็นต้น
- จากนั้นไป วัดดอยธรรมเจดีย์ เป็นวัดที่ปกครองคณะสงฆธรรมยุตินิกายภาค 8 ได้แก่ จังหวัดสกลนคร อุดรธานี เลย นครพนม และมุกดาหาร ที่ซึ่งหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เคยมาปฏิบัติธรรมเป็นสถานที่วิเวกอีกแห่ง
- จากนั้นเดินทางต่อไปที่อำเภอเมือง สกลนคร แวะสักการะที่ วัดป่าสุทธาวาส เป็นวัดทีหลวงปู่มั่นละสังขารที่นี่ ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารจัดแสดงให้ชม และเราจะพักนอนที่นี่ในตัวเมืองสกลนคร วันนี้เดินทางเป็นระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร
สารคดีชุด “ตามรอยธุดงควัตรและปฏิปทาใน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ตอนที่ ๒
วันที่ 3 : สกลนคร-อุดรธานี
- หลังอาหารเช้าเราเดินทางไปตามเส้นทางหมายเลข 22 เพื่อแวะสักการะและเยี่ยมชมที่ วัดป่าภูริทัตตถิราวาส หรือวัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่มั่นเคยอยู่จำพรรษานานถึง 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488-2492 ในอดีตองค์ท่านไม่เคยจำพรรษาซ้ำที่ไหนเป็นปีที่ 2 เลย การที่ท่านจำพรรษาที่นี่นานเป็นพิเศษนั้น ก็เพราะมีความประสงค์เพื่อให้บรรดาศิษย์เก่าและศิษย์ใหม่เข้ามาศึกษา เป็นการเปิดโอกาสแก่บรรดาพระภิกษุสามเณร ให้เข้าใจในธรรมยิ่งๆ ขึ้น กับทั้งการแสดงธรรมนั้นยังความชื่นชม และแก้ความสงสัยให้อย่างไม่มีข้อแย้ง ใคร่จะสอนให้แก่บรรดาศิษย์เป็นผู้เข้าใจในธรรมอันควรที่จะพึงรู้พึงเข้าใจ สืบแทนท่านได้ เป็นหลักฐานแก่คณะกัมมัฎฐานต่อไป
- จากนั้นไปยัง วัดป่ากลางโนนภู่ สถานที่หลวงปู่มั่นอาพาธในระยะสุดท้าย ภายหลังจากออกพรรษาในปี พ.ศ. 2492 แล้ว อาการป่วยขององค์หลวงปู่มั่นหนักขึ้นทุกวัน องค์ท่านทราบถึงความเป็นไปในอนาคตแล้ว ปรารภที่จะไปมรณภาพที่ วัดป่าสุทธาวาส ในเมืองสกลนคร จึงได้มีการตระเตรียมการที่จะนำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส โดยอาราธนาท่านพักบนคานหาม (สมัยนั้นเส้นทางทุรกันดาร เส้นทางเดินผ่านป่า ผ่านทุ่งนา มีทางเกวียนช่วงสั้นๆ ไม่มีถนนหนทางสะดวกอย่างทุกวันนี้) ได้แวะพักที่ศาลาหลังเล็ก วัดป่าบ้านกลางโนนภู่ ก่อนเป็นเวลา 11 วัน การที่ท่านมาพักที่วัดนี้ก็เพื่อโปรด "นายอ่อน โมราราษฎร์" ผู้สร้างวัดนี้ และยังเป็นโยมที่คอยช่วยเหลือองค์ท่านที่ วัดป่าบ้านหนองผือ ตลอดระยะเวลา 5 ปี
- จากนั้นเดินทางไป วัดถ้ำขาม ซึ่งเป็นวัดที่ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นผู้สร้าง และหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เคยจำพรรษาอยู่ที่นี่ ทั้งสองท่านล้วนเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มีเจดีย์หลวงปู่เทสก์อยู่ด้านในวัด
- ออกจากวัดใช้เส้นทาง 22 แล้วมุ่งหน้าสู่จังหวัดอุดรธานี แวะไป วัดโพธิสมภรณ์ ในเมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นวัดสายกัมมัฏฐาน ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์บูรพาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐานในชั้นที่ 2 จัดแสดงภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องราวปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สะท้อนภาพประวัติศาสตร์ของพระสงฆ์ในวัดโพธิสมภรณ์ที่มุ่งศึกษากัมมัฏฐาน ปฏิบัติสืบต่อตามครูอาจารย์ ภายในวัดมีพระธรรมเจดีย์หลวงปู่จูม พันธุโล ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น
- หากมีเวลาก็อาจไป วัดป่าบ้านตาด เพื่อสักการะเจดีย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ด้วยสายการบินที่มีเที่ยวบินช่วงเย็นวันนี้ (ระหว่างทำแผนการเดินทาง ยังอยู่ในสถานการณ์โควิด ที่เที่ยวบินไม่ได้มีมากเหมือนครั้งการบินเป็นปกติ โปรดตรวจสอบกับทางสนามบินอีกครั้ง)
สารคดีชุด “ตามรอยธุดงควัตรและปฏิปทาใน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” ตอนที่ ๓
เป็นอันจบทริปการเดินทาง "ตามรอยบูรพาจารย์แห่งภาคอีสาน หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต" อาวทิดหมูกับคนขับรถตู้ก็มุ่งหน้าเดินทางกลับอุบลราชธานี ตามเส้นทาง หมายเลข 2 เลี้ยวซ้ายเข้า 2023 ไปอำเภอกุมภวาปี เลี้ยวขวาไปเข้า 2031 และต่อไป 2322 อำเภอกระนวนมุ่งไปอำเภอยางตลาด 2039 เข้าจังหวัดร้อยเอ็ดและใช้เส้นทาง ถนนหมายเลข 23 ผ่านจังหวัดยโสธร ถึงอุบลราชธานี โดยสวัสดิภาพ (ด้วยรถตู้ สินะ) หอบบุญกลับบ้านครับ