คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เมื่อวันมาฆะบูชา (23 กุมภาพันธ์ 2548) ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปนมัสการพระธาตุพนมและทำบุญผ้าป่ากับญาติๆ ก็เดินทางจากอุบลราชธานีตอนตีสี่ ไปถึงวัดพระธาตุพนมตอนประมาณเกือบ 7 โมงเช้า (มีการก่อสร้างถนนช่วงอำเภอนิคมคำสร้อยไปถึงจังหวัดมุกดาหาร เลยเสียเวลานิดหนึ่ง)
ช่วงนี้ทางวัดกำลังบูรณะองค์พระธาตุพนม เนื่องจากมีนกไปถ่ายอุจจาระที่เป็นเมล็ดพืชไว้ตามลวดลาย ชั้นปูนปั้นบนองค์พระธาตุ มีรากไม้เกาะทำให้องค์พระธาตุเสียหาย จึงต้องเก็บทำความสะอาด ทาสีและลงรักปิดทองใหม่
ศิษยานุศิษย์และผู้เลื่อมใสมาจากทั่วสารทิศเลยครับ มุ่งหน้าสู่พระธาตุพนมในช่วงเวลาดังกล่าว (งานมี 9 วัน วันที่ผมไปเป็นวันที่ 8 ของงาน) ต่างก็ตั้งใจมาเคารพสักการะ ทำบุญกันถ้วนหน้า ทั้งตั้งกองผ้าป่าถวาย ตักบาตรวันเกิดและบริจาคตามกำลังศรัทธา
ก็คงเหมือนกับงานวัดทั่วๆ ไปแหละครับที่มีการจัดมหรสพ จัดจำหน่ายสินค้าโดยพ่อค้าแม่ค้ามากมาย สิ่งที่ผมพบและคงจะต้องฝากไปยังทางวัดก็คือเรื่อง ห้องน้ำห้องท่า หรือห้องสุขานี่แหละครับ ที่แม้จะมีมากเพียงพอในยามปกติ แต่ตอนมีงานอย่างนี้ไม่พอครับเพราะโดนยึดจากพ่อค้าแม่ค้าใช้เป็นที่อาบน้ำ ต่อสายยางนำน้ำไปใช้เลยปิดประตูไม่ได้ ทางแก้ก็ง่ายๆ ครับ ทำห้องสุขาชายให้สบายโดยไม่ต้องเข้าไปในห้องเพิ่มขึ้น เพิ่มก็อกน้ำสำหรับบริการหน่อยเท่านั้นเองครับ
จะอย่างไรก็ตาม นั่นเป็นปัญหาหนักใจของคนทุกข์หนักที่ไปร่วมงานบุญครับ แต่ในส่วนอื่นๆ ก็มีสิ่งดีๆ อยู่เยอะครับ อย่างการบูชาดอกไม้ธูปเทียนตามใจศรัทธาของญาติโยม (หย่อนลงตู้รับบริจาคเลย) การห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายสิ่งของเครื่องใช้อันเป็นการรบกวนผู้มาร่วมงานบุญในเขตวัดก็เป็นสิ่งดี
จะมีรบกวนหน่อยก็กลุ่มช่างภาพรับจ้างนั่นแหละ ที่มีมากขาดระเบียบ จุ้นจ้านไปทั่ว และดูเหมือนจะเป็นการกันท่ามุมสวย ไม่ให้คนมีกล้องได้เข้าไปส่วนนั้นเสียด้วย น่าจะมีการตั้งซุ้มบริการเป็นกิจลักษณะหน่อยก็ดี มีคิวของช่างภาพที่ให้บริการ มีการกำหนดบริเวณเฉพาะไว้ อย่างในแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศที่ผมเคยไปพบมา (ทั้งๆ ที่มีป้ายประกาศห้ามช่างภาพมารบกวนนักท่องเที่ยวตั้งเด่นเป็นสง่า แต่ก็ยังมารบกวนมิได้ขาด หรือช่างภาพพวกนี้อ่านภาษาไทยไม่ออกกันแน่)
ถ้าอยากให้สะดวกก็สามารถเดินทางไปนมัสการพระธาตุพนมในช่วงเวลาปกติ ที่ไม่มีงานบุญ เพราะหาที่จอดรถราสะดวก ผู้คนน้อยไม่มีสิ่งมากวนใจ จะได้จิตใจผ่องใสได้บุญกุศลสมดังเจตนา เสร็จจากการทำบุญแล้ว ก็ย้อนกลับตามเส้นทางพระธาตุพนม-มุกดาหาร-อำนาจเจริญ-อุบลราชธานี ออกมาประมาณสัก 10 กว่ากิโลเมตรจะพบป้ายแหล่งท่องเที่ยว แก่งกะเบา เลี้ยวซ้ายแวะเข้าไป 8 กิโลเมตร ก็ถึงแล้วครับ
เป็นแก่งหินกลางลำน้ำโขง ทิวทัศน์ก็พอดูได้ครับ (ไม่สวยเท่ากับน้ำตกหลี่ผี คอนพระเพ็ง) ทางฝั่งไทยเราจะมีโขดหินเรียงรายยื่นออกไป มีจุดที่สามารถลงเล่นน้ำได้ (สงกรานต์ที่นี่จะคึกคักพอสมควร)
ริมฝั่งจะมีร้านหมูหันหลายเจ้าครับ (ถ้ามาแก่งกระเบาไม่ได้ชิมหมูหัน เขาถือว่ามายังไม่ถึงนะครับ) ก็เลือกเอาตามใจชอบนะครับ ผมเลือกร้านที่มีกระท่อมตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงเลย จะได้ชมทัศนียภาพของฝั่งแม่น้ำมิตรภาพลาว-ไทยไปด้วย ชิมไปด้วยอากาศเย็นสบายทีเดียว
ราคาอาหารก็ไม่แพงนักครับ อย่างหมูหันตัวหนึ่งก็เริ่มที่ 400-500 บาทแล้วแต่ขนาด (ราคาเมื่อปี 2548 ล่าสุดผมไปมาเมื่อก่อนเข้าพรรษา 2560 ราคาตัวละ 1,200 - 2,000 บาทแล้วครับ) ชี้เอาได้เลยชอบตัวไหน ที่หันเตรียมไว้แล้วใกล้สุกได้ที่ก็มีหลายขนาด เลือกได้แล้วทางร้านจะนำไปย่างอุ่นไฟอีกรอบ จนหนังกรอบ หอม (น่าอร่อยจนน้ำลายสอขณะไปถ่ายภาพมาให้ชม) ผมก็เลือกมาตัวหนึ่งขนาดกำลังเหมาะ (500) ระหว่างที่รอก็คุยสอบถามกันหน่อยตามธรรมเนียม ถึงวิธีการทำและสูตรเด็ดของทางร้าน (ไม่ได้คิดจะมาทำแข่งหรอกครับ ขอชิมอย่างเดียวดีกว่า)
เริ่มจากหมูที่นำมาหัน เป็นลูกหมูครับที่ทางฟาร์มเขาคัดออก เนื่องจากมีสภาพที่แคระแกรน เลี้ยงขุนไม่ขึ้นเปลืองรำเปล่าๆ (เขาว่ามาอย่างนั้น) ทางฟาร์มจะคัดตัวที่สมบูรณ์เพื่อเลี้ยงหรือขายให้เกษตรกรไป แม่หมูตัวหนึ่งตกลูก 8-10 ตัวก็อาจจะได้ลูกหมูที่ดี 5-6 ตัวเป็นอย่างมาก ที่เหลือก็จะจำหน่ายให้กับผู้ทำร้านอาหารหมูหันไป
ทางร้านก็จะนำมาชำแหละ นำเครื่องในออกตามขั้นตอน จนได้ตัวหมูอย่างที่เห็นนำไปล้างทำความสะอาด ผึ่งลม แล้วจึงนำไปหมักในเครื่องเทศสูตรเฉพาะของแต่ละร้าน (ความจริงก็จะใช้คล้ายๆ กันครับ มีรากผักชี พริกไทย กระเทียม ตำให้ละเอียด ใช้ซีอิ้วขาว ซอสถั่วเหลือง ซอสน้ำมันหอย ผงพะโล้นิดหน่อย สัดส่วนเขาไม่บอกผมเลย) นำมาคลุกเคล้าให้ทั่วโดยเฉพาะด้านในตัวหมู หมักทิ้งไว้ 3-4 ชั่วโมง เสียบเหล็กง่ามให้ตัวหมูแผ่ออก ย่างบนไฟอ่อนๆ หมุน (หัน) ไปเรื่อยๆ นำน้ำมันหอมเจียวทาที่หนังไม่ให้ไหม้ไฟเป็นระยะๆ
ได้ที่แล้วนำมาสับเป็นชิ้นพอเหมาะ เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด พริกสด/กระเทียมตำให้ละเอียด รสเปรี้ยว/หวานนำเค็ม หรือบางท่านอาจจะชอบจิ้มกับซีอิ๊วดำก็ได้ตามชอบ ส่วนอาหารอื่นที่แนะนำสำหรับแก่งกระเบา ก็จะเป็นพวกอาหารปลาที่ทำจากปลาแม่น้ำโขง (ปลาเคิง ปลาคัง) จะลวก ลาบ ต้มยำก็อร่อยเด็ดพอๆ กัน ปลาเนื้ออ่อนทอดก็อร่อย มาที่นี่ต้องสั่งหมูหัน ถ้าจะสั่งแต่ไก่ย่าง/ส้มตำ ถือว่ายังมาไม่ถึงแก่งกระเบานะครับ อิ่มแล้วก็ค่อยเดินทางไปมุกดาหารแวะชม/ช็อปสินค้าในตลาดอินโดจีนกันต่อไป
เที่ยวแก่งกะเบา กินหมูหันริมฝั่งโขง
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)