คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
หม่ำ ที่ไม่ใช่ หม่ำ จ๊กม๊ก แต่ หม่ำ ที่ว่านี้เป็นอาหารชนิดหนึ่งมีลักษณะเหมือน “ไส้กรอก” แต่มีเครื่องปรุงที่สำคัญ คือ ตับสับ ม้ามสับ เนื้อสับ ปรุงเครื่องแล้วยัดใส่ในไส้วัว หรือ ถุงน้ำดีวัว หรือไส้หมู กระเพาะหมู ก็ได้ แล้วเก็บไว้กินกันเป็นแรมเดือน นั่นถือเป็นอาหารประเภทไส้กรอกของแท้พื้นเมืองของคนอีสานแน่นอน มีมานานแล้วแต่คำว่า "กรอก" ในภาษาอีสานเดิมๆ นั้นไม่มี การเรียกชื่ออาหารประเภทนี้ได้สืบค้นแล้วพบว่า ไส้กรอกมีมานานแต่โบราณกาลแล้ว ซึ่งสมัยยายยังเด็ก ทวดยังสาวนั้น คนอีสานเรียก ไส้กรอก ว่า ไส้อั่ว (เหมือนกับทางเหนือ) ซึ่งจะมีทั้งที่ทำจากเนื้อวัว เรียก อั่ววัว ทำจากเนื้อหมู เรียก อั่วหมู
อั่ว น. ชื่ออาหารคาวชนิดหนึ่ง เอาเครื่องปรุงยัดเข้าไป เรียก อั่ว ยัดเข้าใส้หมูเรียก อั่วหมู ยัดเข้าใส้วัวเรียก อั่ววัว ยัดเข้าท้องกบเรียก อั่วกบ อั่วทุกชนิดเป็นอาหารที่มีรสอร่อย. type of sausage, stuffed frogs."
ภายหลังมีการเรียก ไส้กรอก ควบคู่กันมากับคำว่า ไส้อั่ว ด้วย โดยคนในเมืองจะเรียก ไส้กรอก (แสดงที่มาว่า เป็นอาหารที่กรอก หรือบรรจุลงในไส้) ส่วนคนที่อยู่นอกเมือง (บ้านนอก) ก็ยังคงเรียก ไส้อั่ว และเมื่อสืบเสาะหาหลักฐานอื่นๆ เช่น คำผญาของชาวอีสาน และถ้าศึกษาวรรณคดีภาษาอีสาน เรื่องพระเวสสันดรชาดก ก็ได้เอ่ยถึง ไส้อั่ว เอาไว้ในกัณฑ์ชูชก หรือคำร้องในหมู่หมอลำหมู่ หมอลำกลอน ก็พบว่ามีคำว่า ไส้อั่ว จึงพอจะคาดคะเนได้ว่า ไส้อั่ว คือ คำเรียก ไส้กรอกอีสาน มาแต่โบราณ รสชาติของไส้กรอกอีสานนั้นเป็นที่นิยม และถูกปากของผู้กินทั่วไป ทำให้ต้องขยับขยายออกนอกท้องถิ่นเช่นเดียวกันกับส้มตำ ชื่อจึงได้เปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับความนิยม และให้เป็นภาษาภาคกลาง จึงต้องเรียกอาหารชนิดนี้เฉพาะเจาะจงว่า "ไส้กรอกอีสาน"
เมื่อพูดถึงอาหารประเภทไส้กรอก คนทั่วไปมักจะหมายถึง "ไส้กรอกอีสาน" ทำไมต้องเป็น "อีสาน" เป็นไส้กรอกเหนือไม่ได้หรือ คงไม่ได้เพราะทางเหนือเขามี "ไส้อั่ว" และกรรมวิธีทำ เครื่องปรุง ก็แตกต่างกันด้วย จริงๆ แล้วไส้กรอกนี่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งหมายถึง การถนอมอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์โดยการสับให้ละเอียดผสมเกลือบรรจุลงในไส้ ตอนหลังมีการผสมเครื่องเทศลงไปด้วย ทำให้เกิดความหลากหลายของไส้กรอกในถิ่นต่างๆ ทั่วโลก
ไส้กรอก มีหลายประเภท หลายรูปแบบ และหลายรสชาติ เป็นท่อนเล็กๆ แบบไม่มีเปลือกพลาสติกต้องลอกก่อน แบบรมควันเปลือกจะกรอบๆ สีเข้มหน่อย แบบแผ่นๆ ถ้าเป็นท่อนยาวๆ ส่วนใหญ่เรามักพบในร้านขายฮอทดอก และกุนเชียงก็ถือเป็นไส้กรอกอีกแบบหนึ่ง
ไส้กรอก (sausage) มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาลาตินว่า “salsus” ซึ่งหมายถึงเนื้อสัตว์ที่มีการเก็บรักษาโดยใช้เกลือ สำหรับภาษาเยอรมันไส้กรอกมาจากคำว่า “wurst” ที่หมายถึงเนื้อสัตว์ที่เตรียมได้จากการบดให้ละเอียด ผสมเกลือ เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรสอื่นๆ บรรจุในไส้หรือพิมพ์ ดังนั้นไส้กรอกจึงเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ได้มาจากการแปรรูปอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ มีการใส่เครื่องปรุงรสตามความชอบของผู้รับประทาน แล้วนำมาบรรจุไส้ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้นิยมรับประทานกันมาก จึงมีความคิดว่า ควรจะได้แนะนำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับไส้กรอกให้มากขึ้น ความแตกต่างของไส้กรอกขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องเทศที่ใช้ สัดส่วนและชนิดของเนื้อ ไขมัน และวิธีการทำที่ต่างกัน ประเภทของไส้กรอกแบ่งตามลักษณะได้ 7 ชนิด
ไส้อั่ว คือ เป็นอาหารพื้นบ้านภาคเหนือที่รู้จักกันดี นิยมรับประทานกับข้าวเหนียวหรือรับประทานคู่กับน้ำพริกหนุ่ม ทำมาจากเนื้อหมูบด ผสมพริกแห้ง กระเทียม ขมิ้น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง และเครื่องปรุงรส แล้วกรอกลงไปในไส้หมูที่เกลาจนบางแล้ว บิดให้เป็นท่อนพอประมาณ ลักษณะปรากฏโดยทั่วไปจะเป็นเส้นคล้ายไส้กรอก (แต่เป็นไส้กรอกสด ไม่ต้องนำไปตากแดด) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 1.5 นิ้ว ขึ้นอยู่กับขนาดของไส้ที่ใช้ ขดเป็นวง มีสีออกน้ำตาลเกรียม จากนั้นนำไปย่างให้สุก เมื่อจะรับประทานจะหั่นเป็นแว่น หนาบางตามความต้องการ เมื่อหั่นแล้วจะมองเห็นส่วนผสมที่บดหยาบผสมกันอยู่ มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน รสชาติกลมกล่อม มีรสเผ็ดเล็กน้อย เนื้อสัมผัสนุ่ม
ไส้กรอกอีสาน เป็นอาหารพื้นบ้านที่ทำกันง่ายๆ แต่อร่อยเหลือหลาย ไส้กรอกอีสานพื้นบ้านของไทย ใช้อุปกรณ์และเครื่องปรุงไม่มาก มีเคล็ดลับและเทคนิคการทำดังนี้
สูตรไส้กรอกแบบบ้านๆ ใช้อัตราส่วนคร่าวๆ ดังนี้ 1) เนื้อหมูติดมันบด 500 กรัม 2) ข้าวเหนียวหรืดข้าวเจ้าสุก 100 กรัม 3) กระเทียมไทยสับละเอียด 3-4 ช้อนโต๊ะ 4) เกลือ 2 ช้อนโต๊ะ 5) พริกไทย 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีการทำ นำส่วนผสมทั้งหมดลงในภาชนะพอเหมาะ คลุกเคล้า นวดเนื้อหมูและเครื่องปรุงทั้งหมดให้เข้ากันดีเป็นเนื้อเดียว (เคล็ดไม่ลับ หากใช้ข้าวเหนียวนึ่งเป็นส่วนผสม ให้นำไปแช่น้ำซาวให้แตกแล้วนำมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำก่อนนำไปผสมในเนื้แหมู)
การบรรจุไส้ ก่อนนำมาบรรจุต้องนำไส้หมูไปล้างน้ำให้สะอาด กลับด้านในออกมาขูดเอาเมือก ผังผืดออกให้หมด ขยำกับเกลือล้างน้ำออกขจัดกลิ่นเหม็นคาว แล้วจึงกลับด้าน มัดปลายด้านหนึ่ง จากนั้นนำเอากรวยมาสวมที่ไส้อีกด้านเพื่อการบรรจุเนื้อหมูลงไป (หากไม่มีให้ใช้ขวดน้ำขนาดเล็ก มาตัดทำเป็นกรวยแทนได้) บรรจุเนื้อหมูลงไปจนหมดบีบให้แน่นพอประมาณ ทำการแบ่งเป็นข้อๆ ใช้ด้ายรัดเป็นปล้องๆ ตามต้องการนำไปผึ่งแดดไว้ประมาณหนึ่งวัน เก็บในตู้เย็นเพื่อรับประทานได้หลายวัน (หากชอบรสเปรี้ยวอาจผึ่งแดดไว้ 2-3 วัน)
เมื่อต้องการนำมารับประทาน ก็นำมาย่างบนเตาถ่านไฟอ่อนๆ จะอร่อยเพราะได้กลิ่นควันไฟหอมๆ ด้วย หรือจะนำไปทอด ไปอบก็ได้ตามสะดวก เคล็ดลับควรใช้ส้อม หรือไม้จิ้มฟัน เจาะรูทุกข้อเป็นระยะ เพื่อระบายลมและไขมันออกในขณะปิ้งย่าง/ทอด/อบ แต่อย่าให้รูถี่นักอาจจะทำให้ไส้กรอกแตก เละ ไม่น่ารับประทาน เมื่อสุกนำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ พอคำวางในจานให้สวย พร้อมเครื่องเคียงเป็นถั่วทอด กระเทียม พริกสด ขิงสด ต้นหอมสด (และ... เครื่องดื่มสำหรับนักดื่ม)
ท่านที่ชอบเนื้อก็สามารถนำเนื้อวัวมาแทนเนื้อหมูได้ และเพิ่มเครื่องปรุงเป็นตะไคร้ ใบมะกรูดหั่นฝอยสัก 2 ช้อนโต๊ะเข้าไป และบางรายที่ทำขายเพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำ มีปริมาณมาก จึงใส่ข้าวเข้าไปเยอะจึงมีรสเปรี้ยว เรียก ไส้กรอกข้าว บางรายก็เพิ่มปริมาณด้วยวุ้นเส้นเข้าไปอีก เห็นมีขายตามรสเข็นทั่วไป แล้วติดป้ายว่า "ไส้กรอกอีสาน" แบบนี้ไม่ใช่นะครับ ไส้กรอกอีสานที่แท้จริงจะไม่มีใส่วุ้นเส้นและข้าวเยอะขนาดนั้น
หม่ำ ของชาวอีสานโบราณ ส่วนมากจะทำจากเนื้อวัว และเนื้อควาย สำหรับกรรมวิธีในการหม่ำเนื้อ ก็จะใช้ตับวัวบด ม้ามบด เนื้อแดงบด เกลือ กระเทียม ข้าวคั่ว ยัดใส่ไปในถุงน้ำดี หรือไส้วัว และต่อมามีการพัฒนากรรมวิธีการปรุงโดยการใช้หมู ซึ่งก็อาจเป็นเพราะคนเริ่มบริโภคเนื้อวัวน้อยลง คนอีสานโบราณจะนิยมทำหม่ำกันเมื่อมีการจัดงานบุญ ซึ่งส่วนมากจะเป็นหม่ำเนื้อ เมื่อมีการล้มวัวควาย เช่น ในงานแต่งดอง (งานแต่งงาน) งานบวช และงานบุญอื่นๆ จะเก็บส่วนที่เป็นเนื้อสันใน และสันนอก เอาออกไว้ต่างหาก เพื่อนำมาทำเป็นหม่ำ ซึ่งเป็นอาหารตามประเพณีของชาวบ้านภาคอีสาน ที่ถือว่าเป็นอาหารชั้นดี เก็บไว้กินได้นาน
ส่วนผสมและเครื่องปรุงรส ประกอบด้วย
วิธีการทำ นำเนื้อสัตว์บดผสมกับตับ/ม้ามบดในอัตราส่วน 6 : 4 ขยำให้เข้ากัน เติมเครื่องปรุงที่เหลือลงไปคลุกเคล้า ขยำให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน นำไปบรรจุลงในไส้ จะได้หม่ำเป็นท่อนๆ เหมือนไส้กรอก หรือบรรจุในกระเพาะหมูจะได้เป็นก้อนกลมแบบลูกบอล การบรรจุนั้นจะใส่จนแน่นให้กระเพาะหมูขยายออก ถ้าแบบโบราณจริงๆ หม่ำเนื้อจะนิยมใส่ถุงน้ำดีวัวจะได้รสกลมกล่อมที่สุด นำไปผึ่งลมให้แห้งสัก 3-5 วัน เพื่อให้ออกรสเปรี้ยวนิดๆ
เมื่อต้องการจะรับประทานก็นำมาย่างบนเตาถ่านไฟอ่อนๆ กลับด้านให้สุกจนทั่ว (ระวังไหม้ไฟ จะแข็งไม่อร่อย) เมื่อสุกนำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ พอคำวางในจานพร้อมเครื่องเคียง พริกสด กระเทียมสด ตะไคร้หั่นฝอย หอมแดงซอย หรือต้นหอมสด ขิงดอง และน้ำเปลี่ยนนิสัย (ถ้าชอบ)
หมายเหตุ อย่าใช้การอบด้วยไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะจะระเหิดน้ำหมดจนทำให้หม่ำแข็งไม่อร่อย หรือไหม้ทานไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเตาถ่านต้องการใช้หม้ออบไฟฟ้าก็ได้ แต่ต้องใช้ไฟอ่อนๆ ใช้เวลาอบนานนิดหนึ่งหมั่นดูอย่าให้ไหม้จนแข็ง
การที่คนอีสานแปรรูปอาหารจากเนื้อสัตว์ทำเป็นหม่ำ ก็เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีตู้เย็นในการเก็บรักษาอาหารสด จึงหาวิธีการถนอมอาหารโดยการนำเนื้อสัตว์มาหมัก เพื่อเก็บไว้รับประทานได้นานๆ ตามคำบอกกล่าวในอดีตคือ เมื่อหมดฤดูทำนาผู้ชายในหมู่บ้านก็จะออกป่าล่าสัตว์ในป่าเขาหลายวัน เมื่อได้เนื้อสัตว์มาก็แบ่งปันทำอาหารกิน ที่เหลือก็นำมาสับละเอียดคลุกกับเกลือที่นำไปด้วย บรรจุลงในไส้ หลายวันกว่าจะกลับมาถึงบ้าน เอาเนื้อบรรจุในไส้มาย่างให้ลูกเมียกินแล้ว มีรสชาติอร่อยถูกปาก จึงพลิกแพลงเพิ่มเติมเครื่องปรุงอื่นๆ ลงไป ซึ่งเป็นภูมิปัญญาอีสานจากอดีตสู่ปัจจุบันนั่นเอง
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)