คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ประชากรในภาคอีสาน นอกจากจะมีความหลากหลายของลักษณะทางชาติพันธุ์แล้ว ยังมีวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับประชาชนส่วนใหญ่ในภาคเหนือ แม้ว่าคนอีสานจะบริโภคข้าวเหนียวเหมือนกับคนภาคเหนือก็ตาม แต่เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องด้วยการบริโภคข้าวเหนียวของภาคอีสาน มีลักษณะเฉพาะตนที่ต่างไปจากของภาคเหนือ ถึงแม้จะใช้ประโยชน์ในการใส่ข้าวเหนียวเช่นเดียวกัน เครื่องจักสานภาคอีสาน ที่เกี่ยวเนื่องด้วยวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวที่สำคัญ คือ หวดและมวยนึ่งข้าวเหนียว พร้อมภาชนะบรรจุเช่น ก่องข้าว และกระติบข้าว
เครื่องจักสานพื้นบ้านที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ "ตะกร้า" หรือที่ภาษาถิ่นเรียก "กะต้า" หรือ "กะต่า" ซึ่งเป็นภาชนะจักสาน ที่ใช้กันแพร่หลายในภาคอีสาน สำหรับการบรรจุสิ่งของ เช่น ข้าวเปลือก ผัก ผลไม้ ฯลฯ และยังมีเครื่องจักสานที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ซึ่งส่วนมากจะเป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่มากกว่าอย่างอื่น และเครื่องจักสานที่ใช้กันมากในชีวิตประจำวัน ก็เป็นพวกภาชนะต่างๆ เช่น ครุ กระบุง ตะกร้า กระจาด เปลเด็ก เครื่องจักสานที่จำเป็นต่อชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือ เครื่องมือจับและดักสัตว์น้ำ เช่น ไซ ข้อง ตุ้มดักกบ ซ่อน ปุ่มขังปลา ฯลฯ นอกจากนี้มีเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงไหม และการทอผ้า เช่น กะเพียดปั่นฝ้าย กระด้ง เลี้ยงไหม จ่อเลี้ยงไหม เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับขนบประเพณีของชาวอีสาน ได้แก่ ขันเบ็งหมาก ขันกระหย่อง สำหรับใส่ดอกไม้ และเครื่องบูชาต่างๆ และก่องข้าวขวัญ สำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง เป็นต้น
ปัจจุบันนี้ เครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเครื่องจักสานบางอย่างของทางภาคอีสานนั้น ใกล้สูญหายไปแล้ว แม้แต่ในชนบทก็ยังเหลือน้อย หรือแทบไม่หลงเหลืออยู่เลยนอกจากในพิพิธภัณท์ เป็นที่น่าใจหายไม่น้อย เมื่อวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมค่อยๆ ถูกกลืนทีละน้อยๆ จากค่านิยมใหม่ๆ อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าก้าวล้ำทางเทคโนโลยีต่างๆ มีวัสดุทดแทน เช่น พลาสติก เข้ามาแทนที่ไม้ไผ่ หวาย ซึ่งมีกรรมวิธีการผลิตที่ง่ายกว่า ทำได้คราวละมากๆ และมีราคาถูก จึงอดคิดเป็นห่วงไม่ได้ถ้าหากภูมิปัญญา และความภาคภูมิของบรรพบุรุษต้องมาเลือนหายไปอย่างไม่ย้อนคืนใน พ.ศ. นี้ หากไร้การสืบทอดต่อไป
เครื่องจักสานที่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ในสังคมอีสานผู้ชายและผู้หญิงจะแบ่งงานกันทำ “ยามว่างจากงานในนา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน” ดังปรากฏในวรรณกรรมคำสอนเรื่องพระยาคำกอง (สอนไพร่) งานจักสานที่ทำจากไม้ไผ่ สามารถแยกเป็นกลุ่มตามประโยชน์ใช้สอยได้ 2 ประเภท คือ
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เครื่องจักสานได้ถูกออกแบบมาเป็นอย่างแยบยล ตอบสนองการใช้สอยได้เป็นอย่างดี การสานที่ขัดกันทำให้เกิดช่อง ลวดลาย มีมิติ สีสันแบบธรรมชาติ และไม้ไผ่ยังมีกลิ่นเฉพาะตัว
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องสิริมงคล เช่น ดักเงิน ดักโชค เก็บเงิน เป็นต้น
เครื่องจักสานที่เป็นเครื่องมือดัก/จับสัตว์ เป็นเครื่องมือที่ทำจากไม้ไผ่ ได้แก่ ข้อง ไซ ซูด ต้อน ตุ้มบอง ตุ้มปลายอน โด่ง ลอบ จั่น สุ่ม หลี่ ฯลฯ เครื่องมือดักจับสัตว์เหล่านี้ เกิดจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ที่มีหลากหลายก่อนประดิษฐ์เครื่องมือ และยังสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาของชาวบ้านได้หลายอย่าง เช่น ความชาญฉลาดในการเลือกสรรวัตถุดิบ ที่ตนมีความรู้ในด้านคุณสมบัติเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ไผ่นำมาดัดแปลง แปรรูปทำเป็นเครื่องจักสาน นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าทางศิลปะและความงาม ซึ่งมีรูปทรง โครงสร้าง และลวดลายที่งดงามอย่างยิ่ง ยากที่จะหาเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทอื่นเทียบได้
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม รูปทรงและลวดลายเกิดจากการจักสาน เครื่องมือดักและจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีรูปทรงแปลกตา มีเอกลักษณ์ และมีลวดลายที่งดงาม
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม นำไปใช้ประกอบพิธีกรรม เช่น นำไซไปผูกเสาเอกในพิธียกเสาเอก สะท้อนความเชื่อเรื่องสิริมงคล ดักเงิน ดักโชค เก็บเงิน เป็นต้น
[ อ่านเพิ่มเติมจาก : อาชีพและเครื่องมือทำมาหากิน ]
แจ้งให้ทราบ : มีหลายท่านที่สนใจอยากได้ อยากซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านต่างๆ ผลผลิตจากชุมชนที่เรานำเสนอ ขอเรียนให้ทราบว่า ทางเว็บไซต์ประตูสู่อีสานของเราไม่ได้ทำการจำหน่าย หรือทำการตลาดนะครับ ถ้าท่านสนใจก็ไม่ยาก เปิดเว็บไซต์ OtopToday.com แล้วช็อปกันได้เลยครับ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)