foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

liang mod daeng

มดแดง หรือ มดส้ม เป็นมดที่คนไทยรู้จักกันทั่วไป และนำมาใช้ประโยชน์หลายด้านช้านานแล้ว นอกจากการบริโภคเป็นอาหารแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการควบคุมศัตรูพืชบางชนิด หรือใช้เป็นยาตามความเชื่อได้อีกด้วย การนำมดแดงมาเป็นอาหารหรือสร้างรายได้นั้นถือเป็นที่นิยม จึงทำให้มีการเลี้ยงมดแดงกันมากขึ้น

การเลี้ยงมดแดง หรือ สร้างเป็นฟาร์มมดแดง จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายไข่มดแดง พร้อมทั้งยังช่วยลดการใช้สารเคมีซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูงมาก โดยมดแดงช่วยกำจัดศัตรูพืช ตลอดจนยังเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีอีกด้วย

ปัจจุบันนี้ มีการบริโภคไข่มดแดงกันมากขึ้น มีเมนูยอดฮิตหลากหลาย จึงทำให้ไข่มดแดงมีราคาค่อนข้างแพงคือ 300-500 บาทต่อกิโลกรัม (บางแห่งอาจสูงกว่านี้ ด้วยปัจจัยของการหามาจำหน่าย ความต้องการที่มากขึ้น และการขนส่ง) สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน 300-1,000 บาทต่อวัน ทำให้ปัจจุบันไข่มดแดงมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากธรรมชาติและปริมาณที่ได้ค่อนข้างต่ำคือ 10-300 กรัมต่อรังเท่านั้น การแก้ปัญหานี้คือ ต้องมีการเลี้ยงและดูแลทำให้รังมดแดงแต่ละรังมีปริมาณไข่มดแดงมากขึ้น เป็น 500 – 2,000 กรัมต่อรัง

liang mod daeng 01

อย่างไรก็ตาม "ไข่มดแดง" ก็เป็นอาหารที่มีตามฤดูกาล มีการเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาเฉพาะในหน้าแล้ง การเลี้ยงมดแดงจึงเป็นอาชีพเสริมกับการทำเกษตรอื่นๆ คือการทำเกษตรผสมผสานให้มีรายได้ตลอดปีนั่นเอง ไม่สามารถทำเป็นอาชีพเดี่ยวๆ ได้ แต่ก็มีการวิจัยและทดลองเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้น ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปพัฒนาปรับปรุงใช้ประโยชน์ได้

มารู้จัก "มดแดง" กันก่อน

มด เป็นแมลงในอันดับ Hymenoptera ในกลุ่มเดียวกับ ผึ้ง ต่อ และแตน การเจริญเติบโตจะผ่านการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ มีวงจรชีวิต 4 ระยะ คือ ไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย มดอยู่ในวงศ์ Formicidae ลักษณะเด่นที่ใช้ในการจำแนกมดได้แก่ หนวดแบบข้อศอก (geneiculate) และเอว (pedicel) เอวของมด คือ ส่วนอกที่ลดรูป มดแต่ละวงศ์อาจมีส่วนเอว 1–2 ปล้อง และมีลักษณะที่แตกต่างกัน เราจึงมองเห็นสัดส่วนของร่างกายมดมี 4 ส่วนคือ ส่วนหัว (head) ส่วนอก (alitrunk) ส่วนเอว (pedicel) และส่วนท้อง (gaster)

มดแดงที่เรากล่าวถึงนี้ คือ มดแดงส้ม จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Formicinae สกุล Oecophylla ลักษณะเด่นของมดชนิดนี้คือ ส่วนเอวมี 1 ปล้อง ส่วนของกราม (mandible) มีฟัน 10 ซี่ หนวดมีปล้องจำนวน 12 ปล้อง ส่วนท้องยกขึ้นเหนือส่วนอก ทั่วโลกพบมดในสกุล Oecophylla 13 ชนิด ในประเทศไทยมีเพียงหนึ่งชนิด คือ Oecophylla smaragdina และมีชื่อสามัญว่า Weaver ants หรือ Green ants ลักษณะเด่นของมดชนิดนี้ คือ มีขนาดใหญ่ และทำรังบนต้นไม้ แต่มีการสำรวจพบการทำรังในบ้านเรือนด้วยเช่นกัน

liang mod daeng 02

มดแดงส้ม มีพฤติกรรมการสร้างรังที่เป็นเอกลักษณ์ คือ มดจะต่อตัวโดยมดงาน และใช้กรามคาบส่วนประกอบของร่างกายมดภายในรังด้วยกัน เพื่อดึงใบไม้มาชิดติดกัน และเชื่อมขอบใบไม้ภายในและภายนอกด้วยสารจากส่วนท้องของตัวอ่อนมด มาถักทอรังให้เชื่อมคิดกัน ลักษณะของใย มีลักษณะคล้ายใยแมงมุม

มดแดงส้ม เป็นสัตว์กินเนื้อ และอาจเสริมด้วยน้ำหวานจาก เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น และผีเสื้อบางชนิด มดแดงส้มมีวรรณะภายในรังเช่นเดียวกับมดชนิดอื่นๆ คือ มี 3 วรรณะ คือ นางพญา (Queen) ราชา (King) และมดงาน (Workers) มดงานยังแบ่งการทำหน้าที่แตกต่างกันตามขนาดที่ต่างกัน เช่น มดงานขนาดเล็ก มีหน้าที่ดูแลตัวอ่อนและไข่ มดงานขนาดย่อม มีหน้าที่ดูแลซ่อมแซมรังและหาอาหาร ส่วน มดงานขนาดใหญ่ มีหน้าที่หาอาหารและปกป้องรังจากผู้รุกราน มดแดงส้มไม่มีเหล็กในเพื่อปกป้องจากศัตรู แต่พวกมันใช้วิธีกัดและฉีดสารที่มีคุณสมบัติเป็นกรด ที่ชื่อ Formic acid มดจะฉีดสารนี้เพื่อขับไล่ศัตรู หรือฉีดเข้าใส่บาดแผลของศัตรูทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแสบ สารนี้นอกจากมีค่าความเป็นกรดแล้วยังมีกลิ่นฉุน ทำให้ศัตรูร่นถอย

การเลี้ยงมดแดงเอาไข่

การเตรียมพื้นที่เลี้ยงมดแดง

สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงมดแดง พบว่า มดแดงชอบอาศัยบริเวณพื้นที่เปิดโล่ง มีแสงมาก ต้นไม้ได้รับแสงแดดรอบต้น ไม่ร่มทึบหรือมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นมาก ควรเป็นที่ราบและเปิดโล่งมีต้นไม้สูงไม่เกิน 6 เมตร (เพื่อความสะดวกในการเก็บผลผลิต) มดแดงสามารถสร้างรังหรืออาศัยต้นไม้ได้ทุกชนิด แต่มีความเหมาะสมแตกต่างกัน ลักษณะที่เหมาะสมได้แก่ ขนาดใบไม่เล็กหรือใหญ่มากเกินไป ใบต้องไม่หยาบหรือแข็ง มีใบจำนวนมาก ควรเป็นใบเดี่ยวดีกว่าใบประกอบ ต้องไม่ผลัดใบในช่วงหน้าแล้ง เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ และเรือนยอดที่ไม่เบียดชิดหรือรกทึบมากเกินไปจนแดดส่องไม่ถึงพื้น เช่น มะม่วง ชมพูหวาน เงาะ ลองกอง ลําไย เป็นต้น ต้นไม้ที่ไม่เหมาะสม เช่น กระถิน สัก ยางนา ขนุน ไม้ที่ผลัดใบต่างๆ สำหรับภาคอีสานบ้านเฮา ต้นมะม่วง ดูจะเหมาะสมที่สุด ควรมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ๆ

liang mod daeng 03

กำจัดศัตรูของมดแดง

มดแดง ดูเหมือนจะสามารถกัดเราเจ็บๆ ได้ ไม่น่าจะมีศัตรูมาทำลาย ไม่จริงนะครับ! มีสัตว์ที่เป็นอันตรายต่อมดแดงส้มเป็นจำนวนมากเช่น ด้วงดอกไม้อกเหลืองแต้ม หนอนของผีเสื้อมอธ (Moth butterfly) แมงมุมเลียนมด แมงมุมกระโดด ปลวก และมดชนิดอื่นๆ

โดยเฉพาะ หนอนของผีเสื้อมอธตัวอ่อน เป็นศัตรูที่สำคัญของมดแดงส้ม มอธเพศเมียจะหาที่วางไข่ที่เหมาะสมนั่นก็คือ บริเวณต้นไม้ที่มีรังมดแดงอยู่นั่นเอง หนอนจะตามกลิ่นของฟีโรโมนของมดที่ติดอยู่บริเวณเส้นทางเดินของมด จากนั้นมันจะเริ่มปล่อยฟีโรโมนเลียนแบบมด เพื่อแปลงกายปลอมเป็นสมาชิกภายในรัง แล้วจึงมุ่งหน้าเข้าสู่ห้องเก็บตัวอ่อนเพื่อกินตัวอ่อนมดเป็นอาหาร จนเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป แมงมุมก็เช่นกันจากการที่มันมีตารวม (compound eyes) ที่มีประสิทธิภาพสูงมันจึงหลีกเลี่ยงจากการถูกมดโจมตีได้อย่างง่ายดาย จากนั้นจะเข้าไปขโมยตัวอ่อนของมดกินเป็นอาหาร และบางครั้งก็พบว่า มันเข้าโจมตีมดตัวเต็มวัยกินเป็นอาหารด้วยเช่นกัน

liang mod daeng 04

เราจึงต้องทำลายทางเดินของปลวก ที่ทำทางเดินหุ้มลำต้น หรือส่วนของโคนต้นไม้ และกำจัดพวกมดดำบริเวณต้นไม้ที่จะเลี้ยงมดแดงให้หมดก่อนเลี้ยง เพราะมดดำเป็นศัตรูสำคัญของมดแดง โดยมดดำ 1 ตัว สามารถทำลายมดแดงได้ถึง 10 ตัว

การเตรียมที่ใส่อาหารและน้ำให้มดแดง

การทำอุปกรณ์ให้น้ำและอาหารเลี้ยงมดแดงง่ายๆ ใช้ไม้กระดานขนาดประมาณ 16×21 นิ้ว หรือมะพร้าวแห้งผ่าครึ่ง ทำเป็นแท่นให้อาหาร โดยตอกด้วยตะปูหรือผูกมัดคิดเอาไว้เป็นภาชนะใส่อาหารติดกับไม้ยืนต้น คงความเป็นธรรมชาติ และลดผลกระทบจากไอร้อนของแสงแดด วางสูงจากพื้นดินประมาณ 1.50 เมตร เพื่อป้องกันสุนัขไปกินเศษอาหาร

มดแดงจะกินอาหารสดมากกว่าอาหารสุกหรือแห้ง มดแดงจะกินสัตว์ขนาดเล็กที่ใกล้ตาย หรืออ่อนแอ หรือกำลังจะตาย หรือตายใหม่ๆ หรือยังไม่เน่า โดยส่วนมากเป็นแมลงที่อาศัยบริเวณนั้นเป็นหลัก ซึ่งอาหารจากธรรมชาติจะไม่เพียงพอต่ออาณาจักรมดขนาดใหญ่ จึงควรมีการให้อาหารเพิ่ม อาหารที่ใช้เลี้ยงมดแดง ได้แก่ ข้าวสุก เศษเนื้อต่างๆ ปลา แมลงทุกชนิด หอยชนิดต่างๆ ควรสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ให้มดสามารถขนกลับเข้าในรังได้ ในช่วงแรกควรให้ปริมาณมากและค่อนข้างถี่ เพื่อช่วยเร่งให้มดงานสร้างรังขนาดใหญ่

liang mod daeng 05

พร้อมจัดภาชนะใส่น้ำ (ขวดพลาสติก) ผูกยึดหรือแขวนติดกับต้นไม้ใกล้กับอาหาร ควรมีเศษกิ่งไม้หย่อนไว้ภายในขวดให้มดสามารถไต่ลงไปกินน้ำได้สะดวก เมื่อฝูงมดแดงได้กลิ่นอาหารดังกล่าว ก็จะพากันเดินไต่มากินอาหารกันอย่างอุดมสมบูรณ์ และควรให้น้ำตาลเพื่อเป็นแหล่งพลังงานแก่มด (ควรมีความเข้มข้น 80%) โดยเฉพาะหน้าแล้ง เพราะเป็นแหล่งพลังงานของมดแดงที่ต้องทำงานหนักในช่วงนี้ โดยนำน้ำหวานใส่ขวดขนาดเล็ก อุดด้วยสำลีมัดติดกับกิ่งแบบคว่ำลง มดแดงจะมากินน้ำหวานบริเวณลำลี อาหารและน้ำจะช่วยทำให้ราชินีสมบูรณ์สามารถผลิตไข่ได้มากขึ้นต่อปี

สร้างอาณาจักรให้มด

มดแดง เป็นสัตว์สังคม มีการอยู่อาศัยในขอบเขตของตนเรียกว่า อาณาจักร โดยแต่ละอาณาจักรจะครองต้นไม้ระหว่าง 1-30 ต้น เราจึงควรจำกัดขอบเขตของอาณาจักรเป็นกลุ่มๆ เพราะมดแดงต่างอาณาจักรจะกัดกัน ทำให้ต้องสูญเสียบางอาณาจักรได้ แต่ละอาณาจักรต้องแยกออกจากกันชัดเจน ภายในอาณาจักรเดียวกันควรมีการเชื่อมโยงด้วยสะพานเชื่อม เพื่อให้มดแดงเดินไปมาหาสู่กันสะดวกและรวดเร็ว ในกรณีที่ต้นไม้ที่เลี้ยงมีหลายกิ่ง หรือเลี้ยงมดแดงไว้หลายต้น ให้ใช้เชือกมัดโยงจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง และจากอีกต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง หรือใช้กิ่งไม้แห้งพาดไปก็ได้ ถ้าต้นไม้ที่เลี้ยงยังไม่มีมดแดงก็ให้หามดแดงมาปล่อย 

liang mod daeng 06

การนำมดแดงมาปล่อย ให้หารังมดแดงนอกพื้นที่ ยิ่งไกลยิ่งดี เพื่อไม่ให้เกิดเลือดชิด (การผสมพันธุ์ในสายพันธุ์เดียวกัน) เพราะถ้าเลือดชิดจะทำให้การเกิดไข่น้อย หลังจากที่ได้รังมดแดงแล้ว ให้ทำการตัดรังมดแดงใส่ในถุงปุ๋ยรังละถุง นำรังมดแดงที่ตัดมาได้เอาปล่อยในตอนเย็น โดยมัดถุงปุ๋ยที่ใส่มดแดงไว้กับต้นไม้ ตอนเช้าค่อยให้น้ำและอาหาร มดแดงจะไต่ออกมาและสร้างรังใหม่เอง พบว่า อาณาจักรมดแดงที่ให้ปริมาณไข่มากได้ผลดีคือ อาณาจักรที่ครองต้นไม้ระหว่าง 5-8 ต้น หากเกินกว่านั้นประชากรมดจะไม่มากพอที่จะสร้างรังให้ใหญ่ได้

การกระตุ้นการออกไข่ของมดแดง

มดแดงจะเริ่มวางไข่มดแดงตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม และกลายเป็นตัวหนอนและดักแด้ (ที่เรียกว่าไข่มดแดง) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงต้นพฤษภาคมของทุกปี ดังนั้นการเก็บไข่มดแดงจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน รังที่ควรเก็บจะเป็นรังขนาดกลางถึงใหญ่ จากการสังเกตพบว่า รังที่มีไข่มดแดงจะห้อยหรือโน้มลง ส่วนมากเป็นรังขนาดกลางและใหญ่ที่อยู่รอบนอกเรือนยอด รังขนาดเล็กอาจมีบ้างแต่ไม่มาก

ธรรมชาติของมดแดงถ้าไม่มีฝน มดจะไม่สร้างรังและไม่ออกไข่ แต่ถ้ามีฝนเมื่อไรมดจะทำรัง แล้วเริ่มออกไข่ตามธรรมชาติ เทคนิคที่จะกระตุ้นให้มดแดงทำรังก่อนคนอื่นคือ สร้างฝนเทียม ซึ่งควรทำในช่วงฤดูหนาว และฤดูร้อน โดยจะนำเครื่องฉีดพ่นน้ำ พ่นน้ำขึ้นเป็นละอองด้านบนต้นมะม่วงในช่วงตอนเย็น โดยจะทำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อหลอกมดว่า ไกล้ถึงฤดูฝนแล้ว มดก็จะสร้างรังและวางไข่นั่นเอง

liang mod daeng 07

การเก็บไข่มดแดงไม่ควรทำลายรังให้แตกหมดทั้งรัง เพราะมดแดงจะซ่อมแซมรังใหม่และสามารถเก็บได้อีกในคราวหน้า การแหย่ไข่มดแดงให้ใช่ตระกร้าผูกติดปลายไม้ไผ่ แหย่เข้าไปในรังแล้วเขย่า มดแดงและไข่จะร่วงลงไปในตะกร้า จากนั้นนำมาเทลงในกระด้งหรือกระจาดที่โรยด้วยแป้งมันสำปะหลังบริเวณโคนต้นไม้ เกลี่ยให้มดและไข่กระจายออก มดแดงจะไต่ออกไปจากไข่ทันทีโดยไม่คาบเอาไข่ไปด้วย เหตุที่เราวางกระจาดหรือกระด้งไว้ที่โคนต้นไม้ที่เลี้ยงมดแดง ก็เพื่อให้มดแดงจะได้ไต่ขึ้นไปบนต้นไม้และเตรียมสร้างและซ่อมรังต่อไปนั่นเอง

การดูแลหลังเก็บเกี่ยวไข่มดแดง

หลังจากเก็บเกี่ยวไข่มดแดงแล้ว สภาพอาณาจักรจะอ่อนแอลงเพราะมดงานบางส่วนถูกทำลาย ทำให้ง่ายแก่การเข้าทำลายของมดอื่นที่เข้มแข็งกว่า หรือมดแดงที่มีอาณาจักรใหญ่กว่า นอกจากนี้อาหารประเภทเนื้อและน้ำจะขาดแคลนอีกด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องให้อาหารและน้ำอย่างเพียงพอก่อนถึงฤดูฝน โดยปกติช่วงนี้ ต้นไม้จะไม่ค่อยสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นหน้าแล้ง อากาศร้อน จึงควรรดน้ำ ตัดแต่งกิ่งที่แห้งออก เพราะกิ่งแห้งเป็นที่อาศัยของมดชนิดอื่นที่สามารถไล่มดแดงได้

liang mod daeng 08

แนวทางการเพิ่มผลผลิตไข่มดแดง

การที่จะทำให้ผลผลิตของไข่มดแดงเพิ่มปริมาณมากขึ้น หรือมีความสม่ำเสมอจะประกอบด้วยปัจจัย 3 อย่างคือ

  • ต้นไม้ จะต้องมีความอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคมของทุกปี จะต้องแตกใบใหม่ (ยอดอ่อน) เพราะช่วงนี้มดแดงจะเร่งสร้างรังขนาดใหญ่เพื่อไว้เก็บไข่มดแดง ใบควรมีความโปร่งพอควรให้แสงแดดส่องถึง จึงควรตัดแต่งกิ่งให้เป็นทรงพุ่มคุมความสูงอย่าให้เกิน 5-6 เมตร ใบควรเรียงต่อเนื่องกัน เพราะทำให้ง่ายแก่การสร้างรังขนาดใหญ่มาก ถ้ามีใบไม่ต่อเนื่องกันหรืออยู่ห่างๆกัน จะได้รังขนาดเล็กเท่านั้น
  • อาหาร จะต้องให้ถูกช่วง กล่าวคือช่วงที่ต้องให้มาก คือ ช่วงก่อนถึงฤดูวางไข่ ตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม ช่วงฤดูวางไข่ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน และช่วงหลังเก็บไข่มดแดง คือเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ต้องให้อาหารในปริมาณที่มากและบ่อยๆ ช่วงนี้มดแดงต้องการอาหารมากสำหรับสร้างประชากรมดให้มาก เพื่อรองรับการสร้างรังขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็จะทำให้ราชินีมดมีความสมบูรณ์ ถ้าราชินีมดสมบูรณ์จะผลิตไข่ได้มากตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การให้อาหารมากควรกระทำระหว่างเดือนกันยายน-มิถุนายน นั่นคือ ก่อนเก็บไข่มดแดง ระหว่างเก็บไข่มดแดง และหลังเก็บไข่มดแดง ช่วงฤดูฝนไม่ต้องให้บ่อยก็ได้ เพราะหาอาหารได้ง่าย อาหารที่ดี เช่น ปลาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ หรือกุ้งฝอย เป็นต้น
  • ประชากรมดแดง จะสร้างรังขนาดใหญ่มากได้ต้องมีจำนวนมากพอต่อต้น ซึ่งพิจารณาได้จากปริมาณมดแดงที่เดินตามต้น ถ้ามีการเดินน้อยไม่ต่อเนื่อง แสดงว่ายังมีปริมาณไม่มากพอ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้มดแดงเพิ่มประชากร การเพิ่มประชากรมดแดงขึ้นอยู่กับอายุของอาณาจักร และความพร้อมของราชินี โดยต้องได้รับอาหารอย่างเพียงพอแล้วจะผลิตมดแดงออกมามาก โดยเฉพาะก่อนจะถึงฤดูวางไข่มดแดง เพราะจะต้องมีมดแดงมาสร้างรังจำนวนมากเพื่อรองรับไข่มดแดง จะเห็นได้ว่า อาหารมีความสำคัญต่อการเพิ่มจำนวนประชากรมดแดง นอกจากนี้ต้องคอยดูแลอย่าให้ศัตรูธรรมชาติเข้ามารบกวนหรือไล่มดแดงออกจากต้นนั้นไป โดยเฉพาะมดต่างๆที่อาศัยตามกิ่งไม้ตาย ต้องกำจัดออกไปด้วยการตัดแต่งกิ่งแห้งนั้น

ที่มา : การเลี้ยงมดแดงเพื่อการค้า

ข้อห้ามในการเลี้ยงมดแดง

อย่าจุดไฟใต้ต้นไม้ หรือการใช้ขี้เถ้าหว่านบนต้นไม้ และไม่ควรใช้สารเคมีพ่นบริเวณใกล้เคียงที่เป็นแหล่งมดแดง

อาหารชั้นสูง (สอยจากที่สูง)

สำหรับเมนูจานเด็ดที่ถือว่าเป็น "อาหารชั้นสูง" ก็สอยมาจากที่สูงคือ ยอดไม้ ล่ะนะ "ไข่มดแดง" ที่เหล่าสายกินแสวงหาและไม่ควรพลาด ได้แก่ ยำไข่มดแดง ไข่เจียวไข่มดแดง ก้อยไข่มดแดง แกงผักหวานใส่ไข่มดแดง เป็นต้น ส่วนราคาขายไข่มดแดงนั้นต้องบอกว่าราคาดีมากที่เดียว มีราคาที่ กิโลกรัมละ 400-500 บาท บางปีราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาท ซึ่งไข่มดแดงนั้นจะบอกว่า "มีเท่าไรก็ไม่พอขาย" เป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงเลย

liang mod daeng 09

ไข่มดแดง เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของคนชนบทมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยในจำนวนไข่มดแดงปริมาณ 100 กรัม มีไขมัน 2.6 กรัม โปรตีน 8.2 กรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.16 กรัม และวิตามินบีสอง 4.68 มิลลิกรัม เมื่อนำมาเทียบกับไข่ไก่จัดว่าไข่มดแดงมีไขมันน้อยกว่า เนื่องจากไข่ไก่มีไขมันสูงถึง 9.65 กรัม โปรตีน 12.77 กรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.17 มิลลิกรัม และวิตามินบีสอง 0.37 มิลลิกรัม นอกจากนี้ ตัวมดแดงมีกรดน้ำส้มให้รสเปรี้ยว ใช้แทนมะนาวหรือน้ำส้มสายชูได้อีกด้วย

redline

backled1

isan vocation

นอกจากที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรคที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว มนุษย์ยังมีความต้องการเครื่องนุ่มห่มใช้สวมใส่เพื่อปกป้องร่างกายจากสภาวะอากาศ สภาพแวดล้อม ให้มีความปลอดภัย ความสะดวกสบาย ความสุภาพ และเพื่อสะท้อนถึง สังคม ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึง รสนิยมเฉพาะตัวบุคคลด้วย เสื้อผ้าบางชนิดอาจออกแบบให้สวมใส่เฉพาะเพศ (แต่ไม่นับกรณีการแต่งตัวข้ามเพศ) เสื้อผ้าที่ใส่เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ใส่ไว้เพื่อป้องกันร่างกายไม่ให้ได้รับความอันตรายจากสิ่งแวดล้อมอย่างอากาศ แสงแดดที่รุนแรง ความหนาวสุดขั้ว ฝน กันแมลง สารเคมี อาวุธ และอันตรายอย่างอื่น มนุษย์รู้จักการนำวัสดุต่างๆ มาถักทอเป็นผืนผ้า นำมาตัดเย็บ นุ่งห่ม มานานนับพันปี

เครื่องมือในการทอผ้า

ในชุมชนอีสานแบบดั้งเดิม ชาวบ้านทอผ้าใช้เองเป็นการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อให้ได้มาทั้งใยฝ้ายและเส้นไหม สำหรับการถักทอเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งผลิตควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนา ทำไร่ โดยอาศัยแรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก “ยามว่างจากงานในนา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน” เป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นสภาพการดำรงชีวิตและสังคมของชาวอีสานได้ชัดเจน เครื่องมือที่ใช้ทอผ้าเรียกว่า “กี่” เป็นเครื่องมือที่พัฒนาจากการทอผ้าด้วยฟืมเล็กๆ ผูกด้ายเส้นยืนกับต้นไม้หรือเสาเรือน พัฒนามาเป็น "กี่ทอผ้า" ในยุคปัจจุบัน

กี่ทอผ้า

กี่ หรือ หูก เป็นเครื่องมือสำหรับทอผ้า มีหลายขนาดและชนิด แต่มีหลักการพื้นฐานอย่างเดียวกัน คือ การขัดประสานระหว่างด้ายเส้นยืน และด้ายเส้นพุ่ง จนแน่นเป็นเนื้อผ้า คล้ายกับการจักสานลายขัดทั่วไป แต่มีความละเอียดสูงกว่า เนื่องจากเส้นด้ายมีขนาดที่เล็กและละเอียดกว่าตอกไม้ไผ่

กี่ทอผ้า (Loom) ทางภาคเหนือและอีสานบ้านเฮา รวม สปป.ลาว เรียกว่า หูก, โฮงหูก ทางภาคใต้เรียก เก หรือ โหก เป็นเครื่องมือสำหรับทอผ้า ในแต่ละภาคจะมีรูปแบบแตกต่างกันไป มีทั้งแบบเรียบง่าย จนถึงแบบที่มีการแกะสลักลวดลายตามหัวเสา หรือคานกี่อย่างวิจิตรตามวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อมา ทำด้วยไม้มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีสี่เสา มีคานโครงยึดให้แข็งแรง ซึ่งมีลักษณะร่วมคล้ายกับเครื่องมือที่ใช้ทอผ้าของคนทั่วโลก มีขนาดแตกต่างกันตามขนาดหน้าฟืม (ฟันหวีกระแทกเส้นพุ่ง) ที่กำหนดขนาดกว้างของผ้าที่ทอ โครงสร้างของกี่มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ ฟืม ตะกอ รางกระสวย ผัง (ไม้บังคับหน้าผ้า) ไม้กำพั่น (ไม้ม้วนผ้า) คานเหยียบ โดยทั่วไปกี่ทอผ้าแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ กี่พื้นเมือง และกี่กระตุก

kee torpa 03

กี่พื้นเมือง

กี่พื้นเมือง บางทีก็เรียก "กี่กระทบ" เป็นเครื่องทอผ้าแบบดั้งเดิมที่ใช้กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมของไทยมาช้านาน เป็นมรดกที่สำคัญของชาติไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษา 

kee torpa 01

กี่ทอผ้า ในภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นแบบขาตั้งดังภาพประกอบ นิยมทำจากไม้เนื้อแข็ง (ปัจจุบันมีการใช้วัสดุประเภทเหล็กกล่อง และท่อพลาสติกแทนไม้เนื้อแข็ง เนื่องจากมีความทนทาน แข็งแรง และหาได้ง่ายกว่า) มีส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้

  • แม่กี่ คือโครงสี่เหลี่ยมที่รับน้ำหนักหูกด้านล่าง ประกอบด้วยไม้เนื้อแข็งสี่ชิ้นตีประกบ หรือเข้าประกบเป็นโครงสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 2.50 เมตร ขนาดยาว 3 เมตร
  • เสากี่ เป็นเสาสี่ต้นเชื่อมรับโครงสี่เหลี่ยมด้านล่างที่เรียกว่า แม่กี่ และโครงสี่เหลี่ยมตอนบนคือ ขื่อคาน ทำจากไม้เนื้อแข็ง ขนาด 4" x 4" สูง 1.80 - 2.00 เมตร
  • คานและขื่อ เป็นโครงไม้สี่เหลี่ยมด้านบน คานด้านยาวขนาด 2.50-3.00 เมตร ส่วนขื่อด้าน กว้างขนาด 2.50 ม. ทาหน้าที่รับน้าหนักหูกทอผ้าด้วยเชือกโยง เป็นคานไม้พาดเชื่อมต่อระหว่างเสาหลักทั้ง 4 ต้น เครือเส้นด้ายยืนพาดบนไม้คานด้านหน้าและโยงมาผูกไม้คานด้านหลังดึงเส้นยืนให้ตรง
  • ไม้รองนั่ง (กระดานกี่) เป็นแผ่นไม้ที่พาดไว้บนคานไม้ด้านล่างด้านคนทอ เพื่อให้คนทอนั่ง และวางอุปกรณ์การทอ เช่น ตะกร้าใส่ด้าย ใส่หวี ทำจากไม้
    เนื้อแข็งขนาด 11.5" x 8"
  • ไม้ม้วนผ้า หรือไม้กำพั่น หรือไม้กำพัน เป็นท่อนไม้สี่เหลี่ยมที่ปลายทั้งสองข้างเสียบเข้าเดือยที่หลักไม้ด้านใกล้กับผู้ทอ เพื่อม้วนเก็บผ้าที่ทอเสร็จเรียบร้อยเอาไว้ ยาวประมาณ 2.50 เมตร
  • ไม้หาบหูก เป็นไม้ไผ่ทรงกระบอกขนาดกลางยาวพาดคานไม้ เพื่อใช้ผูกเชือกโยงฟืมและรอกที่พยุงตะกอหรือเขาเอาไว้
  • ไม้เหยียบหูก เป็นไม้ไผ่ลำขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 เมตร ผูกโยงกับตะกอหรือเขาสำหรับเหยียบ เพื่อบังคับการสลับขึ้นลงของเครือเส้นด้ายยืน จำนวนไม้เหยียบขึ้นกับจำนวนตะกอที่ใช้ทอผ้า
  • ตะกอ หรือเขา เป็นแผงเส้นด้ายที่ถักเกี่ยวเครือเส้นด้ายยืนเอาไว้ โดยใช้ไม้ไผ่ 2 ซี่เป็นคาน ถ้าเป็นผ้าทอแบบสองตะกอก็จะมีตะกอหรือเขา 2 อัน ซึ่งจะคัดเก็บเครือเส้นด้ายยืนสลับกันเส้นต่อเส้น เพื่อยกเส้นด้ายยืนขึ้นลง ให้กระสวยเส้นด้ายพุ่งผ่านไปสานทอขัดเพื่อให้เกิดลวดลายบนผืนผ้า

kee torpa 05

  • ฟืม (ฟันหวี) เป็นอุปกรณ์การทอที่สำคัญที่อยู่หน้าตะกอหรือเขา ใช้กระทบเส้นด้านพุ่งให้สานทอกับเส้นด้ายยืนให้เป็นผืนผ้า หน้าฟืมจะมีทั้งขนาดยาวและขนาดสั้น ขึ้นกับว่าจะทอผ้าหน้าแคบหรือกว้างสามารถถอดเปลี่ยนได้
  • รอก เป็นอุปกรณ์ช่วยพยุงตะกอหรือเขา โดยผูกโยงไว้กับไม้คานหูก

kee torpa 02

กี่ทอผ้าโบราณ จาก บ้านคำปุน

กี่กระตุก

กี่กระตุก ที่พัฒนาต่อมาจากกี่พื้นเมือง โดยเพิ่มสายกระตุกเข้ามา เพื่อดึงกระสวยให้พุ่งผ่านเส้นยืนแทนการสอดกระสวยด้วยมือ เพื่อให้สามารถทอผ้าได้รวดเร็วขึ้น กี่กระตุกเหมาะสำหรับการทอผ้าพื้น ผ้ามัดหมี่ และผ้าขิดที่มีลวดลายไม่ซับซ้อนมากนัก

kee torpa 04

หลักการทำงานของกี่ทอผ้า

  • ทำให้เกิดช่องว่าง (shedding) โดยสับตะกอหรือเขายกแล้วแยกไหม/ด้ายเส้นยืนออกเป็น 2 หมู่ โดยหมู่หนึ่งยกขึ้นและหมู่หนึ่งดันลงโดยเขาหรือตะกอ ผ่านการเหยียบเชือกดึง เพื่อให้เกิดช่องว่างให้สอดไหม/ด้ายเส้นพุ่งผ่านไปอีกด้าน
  • การสอดไหม/ด้ายเส้นพุ่ง (picking) จะใช้กระสวยส่งไหม/ด้ายเส้นพุ่ง สอดไหม/ด้ายเส้นพุ่งให้พุ่งผ่านช่องว่างที่เปิดเตรียมไว้
  • การกระทบไหม/ด้ายเส้นพุ่ง (battering) เมื่อสอดไหม/ด้ายเส้นพุ่งผ่านแล้ว จะต้องใช้ตัวฟืมกระทบไหม/ด้ายเส้นพุ่งให้เรียงสานขัดกับไหมเส้นยืน จนชิดติดกันแน่นเป็นเนื้อผ้า
  • การเก็บและม้วนผ้าเก็บ (taking up and letting of) เมื่อทอผ้าได้จำนวนหนึ่งแล้วจะต้องมีการม้วนผ้าเก็บเข้าแกนม้วน โดยจะต้องมีการปรับไหม/ด้ายเส้นยืนให้หย่อนก่อนจึงม้วนผ้าเก็บ แล้วผูกให้ตึงแน่นทอต่อไป

รายละเอียดของการทอผ้าด้วยกี่

อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมในการทอผ้า

  • กง หรือ ระวิง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับใส่ไจเส้นด้าย ทั้งไหมและฝ้าย เพื่อเตรียมกรอเข้าพักกับอัก หรือเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของเส้นด้าย เช่น เก็บส่วนที่เป็นขุย ปุ่มปมต่างๆ ก่อนนำไปใช้งาน กง ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กง และหลักตีนกง
    - กง จะมีแกนที่ทำด้วยไม้ไผ่เหลากลม ยาวประมาณ 1-1.5 เมตร ตรงปลายแกนทั้งสองข้างจะมีไม้ไผ่เหลาแบนปลายแหลมเสียบไว้ ในลักษณะไขว้กันเป็นรูปกากบาทหรือ 4 แฉก หรือ 6 แฉก ยึดติดกับแกนกลาง มีเชือกผูกโยงระหว่างแฉก ส่วนนี้จะเป็นส่วนรองรับไจด้าย ปลายแกนจะยื่นยาวต่อจากจุดมัดแฉกเล็กน้อยเพื่อสอดเข้ากับหลักตีนกง
    - หลักตีนกง จะทำด้วยไม้ มีจำนวน 2 ชิ้น มีฐานยึดเพื่อให้ไม้ตั้งสูงได้ในแนวดิ่ง สูงประมาณ 0.8-1 เมตร ที่ปลายหลักจะเจาะรูสำหรับสอดแกนกง ทำให้กงหมุนได้ การวางหลักตีนกงจะวางให้มีระยะห่างพอดีกับกง เพื่อให้หมุนได้สะดวก

kee torpa 06

  • อัก บางแห่งจะเรียก กวัก เป็นเครื่องมือสำหรับคัดด้ายหรือไหม รูปร่างคล้ายระวิง เมื่อต้องการคัดด้ายหรือคัดไหมจะใช้อักสาวไหมออกจาก “กงกวัก” ในขณะสาวไหมหรือด้ายออกจากกงกวัก หากพบเส้นไหมหรือด้ายมี “ขี้ไหม” หรือไหมมีปม เส้นไหมไม่เรียบ ตะปุ่มต่ำ ก็จะใช้ “มีดแกะขี้ไหม” ออก ซึ่งเป็นมีดเล็กๆ เป็นการคัดเส้นไหมให้เรียบงาม อัก ต้องใช้คู่กับ กงกวัก

kee torpa 07

  • หลา และ ไน เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในกระบวนการทอผ้า ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ใช้สำหรับการกรอฝ้ายหรือไหมเข้าหลอดด้ายก่อนนำไปใส่ในกระสวยเพื่อการทอผ้าในขั้นต่อไป ลักษณะโครงสร้างของหลาประกอบด้วย กงล้อขนาดใหญ่ มีขา มีฐานยาวประมาณ 80-100 เซนติเมตร ที่จับสำหรับหมุนด้วยมือ เรียกว่า แขนหลา เพื่อให้กงล้อหมุนรอบตัวเอง กงล้อนี้มีสายพานโยงไปอีกด้านหนึ่ง เรียกว่า สายหลา ส่วนหัวหลาจะอยู่ด้านซ้ายของวงล้อ ที่หัวหลาจะมีแกนเหล็กเล็กๆ เรียก เหล็กไน ที่วางอยู่บนหูหลา เมื่อหมุนกงล้อ เหล็กไนก็จะหมุนตามอย่างเร็ว โครงสร้างของหลาจะทำจากไม้เนื้อแข็ง ส่วนวงล้อนั้นประกอบจากซี่ไม้ไผ่

kee torpa 08

  • หลอดด้ายและกระสวย หลอดทำจากไม้ไผ่ หรือไม้เนื้ออ่อนที่มีแกนกลวง หรือพลาสติก ใช้สำหรับกรอฝ้าย/ไหมเส้นพุ่งให้เป็นม้วนเล็กๆ บรรจุลงในกระสวยเพื่อใช้ในขั้นตอนการทอ สอดเส้นพุ่งเข้าไปในช่องว่างระหว่างเส้นยืน กระสวยมีทั้งแบบบรรจุหลอดด้ายเดี่ยว และหลอดด้ายคู่ในกรณีที่ใช้เส้นพุ่ง 2 เส้น 2 สีสลับกันให้เกิดลวดลายพิเศษ

kee torpa 09

  • หลักเปีย (หลักเผีย) โครงไม้สำหรับค้นฝ้าย/ไหมเตรียมด้ายยืน สามารถเตรียมด้ายยืนยาวประมาณ 20 - 30 เมตร (ปัจจุบัน มีการใช้กี่กระตุกซึ่งทอผ้าได้เร็วและจำนวนมาก จึงมีการทำหลักเปียขนาดใหญ่ เตรียมด้ายยืนได้ยาวกว่า 100 เมตรกันแล้ว)

kee torpa 10

เรียนรู้การทอผ้าแบบเต็มรูปแบบ: เรียนรู้วิถีไทย

สืบสานอนุรักษ์ราชินีผ้าไหมแพรวา บ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ : ทั่วถิ่นแดนไทย

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : คุณค่าผ้าทออีสาน | ผ้าทออีสาน2 | ผ้ากาบบัวอุบลฯ | ผ้าไหมสุรินทร์

redline

backled1

agriculture new normal

เกษตรกรรม และ เกษตรกร ในบ้านเรานี้มีมากมายหลากหลายแบบมาแต่ดึกดำบรรพ์ ทำกันเป็นอาชีพต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นถ่ายทอดกันมา แต่ก็เป็นอาชีพที่แปลกอาชีพหนึ่งที่พบว่า "มักจะเจอทางตันมาโดยตลอด" ตั้งแต่รายได้ที่ย่ำแย่ ผลผลิตราคาตกต่ำ ผลิตมากจนล้นตลาด ถูกชักจูงให้ผลิตตามๆ กันตามข่าวลือ "เขาว่าตัวนี้ราคาดี ตัวนี้มีอนาคต ปลูกหรือเลี้ยงง่าย" แล้วก็แห่ตามๆ กัน (มีคนรวยจริง คือคนที่เริ่มก่อน แล้วขายต้นพันธุ์ ส่วนคนจนก็คือคนที่ทำตามก้นเขาโดยไม่คิดนั่นเอง กรณีศึกษา : มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา กล้วยหอมทอง ฯลฯ) องค์ความรู้ที่มีก็มีอย่างจำกัดทำตามที่เคยทำ ไม่ศึกษาหาวิธีการลดต้นทุน ขาดการคิดวิเคราะห์ มองหาช่องทางการผลิตและการจำหน่าย ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นดังที่เห็น

วันนี้ โลกกำลังเปลี่ยนไปจากเดิมด้วยวิกฤตโควิด-19 เกษตรกรไทยได้เวลาหยุดคิดพิจารณากันใหม่ได้แล้วว่า "อาชีพเกษตรกรรมในยุคสมัยนิวนอร์มอล" ต้องเปลี่ยนแปลง หาทางรอดแบบยั่งยืนกันต่อไป เราจะเป็นเกษตรกรที่ทำตามๆ กันมาแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะ...

ทันทีที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก เกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้อาชีพอื่นๆ ตั้งแต่การขาดแคลนแรงงาน ผลผลิตที่มีมากมายไม่สามารถส่งออกได้ "

ปรากฏการณ์นี้ทำให้เราได้เห็นทั้งสิ่งที่ดีมีประโยชน์ และโอกาสในการที่จะพัฒนาการเกษตรกรรมของประเทศ ให้เป็นไปในทิศทางใหม่ ด้วยสาเหตุ...

การล็อกดาวน์ (ปิดประเทศ) ทำให้คุณภาพอากาศ และธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู เกษตรกรน่าจะใช้ประโยชน์จากดิน น้ำธรรมชาติที่ดีขึ้น ขณะที่แรงงานภาคเกษตรน่าจะเพิ่มขึ้นจากการกลับถิ่นฐาน (ของแรงงานภาคอุตสาหกรรม) คนเหล่านี้มีไม่น้อยเป็นคนรุ่นใหม่ เข้าถึงสื่อโซเชียลได้ สามารถรับรู้ถึงองค์ความรู้ข้อมูลต่างๆ หากกลับไปทำเกษตรก็น่าจะยกระดับของเกษตรกรไปอีกขั้น เพราะสามารถนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับความรู้พื้นฐานด้านเกษตร ที่ส่วนใหญ่ก็มีอยู่ในตัวกันอยู่แล้ว ”

สถานการณ์นี้ จะเป็นตัวเร่งให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยี หรือสื่อโซเชียลได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้บริโภคคำนึงถึงความปลอดภัย สุขอนามัยมากขึ้น เรื่องอาหารปลอดภัย อาหารเป็นยา เกษตรอินทรีย์ บทบาทจะมีค่อนข้างมาก ตลาดจะเปิดกว้างขึ้น ต่อไปเกษตรกรจะต้องพัฒนาเรื่องของมาตรฐาน จนสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

สถานการณ์นี้เองที่ทำให้คนไทยได้บทเรียน ความรู้เพียงด้านเดียวสาขาใดสาขาหนึ่ง ไม่สามารถแก้ปัญหาองค์รวมได้เลย ช่วยสอนให้เราคิดถึงอนาคต เรียนรู้ทักษะการปรับตัวแสวงหาความรู้ใหม่ ประยุกต์กับความรู้ที่มีอยู่เดิม และต่อยอดองค์ความรู้ จากคนที่ไม่เคยคิดปลูกอะไร เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น ซื้อหาเอาก็ได้ เปลี่ยนมาเป็นหาความรู้จากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ในเรื่องการปลูกพืชผักกินเอง การทำอาหารให้ได้โภชนาการสูงสุด ไม่ใช่แค่รสชาติอย่างเดียว สถานการณ์โควิดทำให้เกษตรกรต้องมาคิดใหม่ ต่อไปคงไม่ต้องเน้นเรื่องปริมาณผลผลิต แต่หันมาเน้นของดี มีคุณภาพ ปลอดภัยกับทั้งต่อตัวเกษตรกรผู้ทำการผลิตเองและต่อผู้บริโภคทั่วไปด้วย

agriculture new normal 01

เมื่อตลาดส่วนใหญ่ปิดไม่สามารถค้าขายปกติได้ ช่องทางการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเกษตรกรแบบยั่งยืน ด้วยการเปิดตลาดเแลกเปลี่ยนในชุมชน หรือแลกเปลี่ยนสินค้ากันข้ามภูมิภาค เช่น โครงการปลาและอาหารทะเลจากทางภาคใต้ แลกเปลี่ยนข้าวสารจากทางภาคเหนือ และภาคอีสานที่เกิดขึ้นและได้ผลดี นอกจากนั้นการใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อกระจายสินค้าก็เป็นโอกาสที่สดใสไม่น้อยเลยทีเดียว

เศรษฐกิจพอเพียง กับ New Normal

สถานการณ์อุบัติใหม่หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า "New Normal" นั้นมีผลมากจริงๆ กับทุกประเทศทั่วโลก เพื่อหลายปีก่อนที่พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ของเราได้ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" นั้น หลายคนอาจไม่เข้าใจเพราะดูไกลตัวเองเหลือเกิน ฉันมีเงินฉันจะซื้อจะหายังไงก็ได้ไม่เห็นจะต้องพอเพียงอะไรนี่นา แต่พอวิกฤตโควิด-19 มาเท่านั้นแหละ ทางเลือกใน "นิวนอร์มอล" ของประชาชนส่วนใหญ่ ก็คือ “เศรษฐกิจพอเพียง” นั่นเอง ต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย ใช้ชีวิต จะสุรุ่ยสุร่ายเหมือนเคยไม่ได้แล้ว แม้แต่ยักษ์ที่พวกเราคิดว่าเศรษฐกิจดีในช่วงที่ผ่านมาอย่างประเทศจีน สภาประชาชนจีนในการประชุมครั้งสุดท้ายไม่นานมานี้ ก็มีนโยบายชัดเจนว่า จีนต้อง “พึ่งตนเอง” ให้มากที่สุด ผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศแบบ “พอเพียง” เท่านั้นจึงจะรอด แล้วคนไทยจะยังทำเป็นไม่เข้าใจอยู่อีกหรือ?

และโอกาสนี้จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อเป็น "ประเทศเกษตรกรรมที่ทั้งโลกจะต้องมองในฐานะ 'ประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร' เป็นครัวของโลก ที่มีอาหารอินทรีย์มีคุณภาพ มีความปลอดภัย"

เกษตรกรยุคใหม่ควรใส่ใจ หาความรู้เพิ่มเติม ทดลองหาประสบการณ์ หาข้อดี เพิ่มจุดเด่น ค้นหาข้อเสีย ปรับปรุง ปฏิบัติตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ แล้วจะประสบผลสำเร็จ ผู้เขียนมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจจะหันมาเอาดีตามวิถีใหม่ "เกษตรนิวนอร์มอล" ให้ดูรายการสารคดีที่ชื่อว่า "มหาอำนาจบ้านนา" ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiTBS ช่องดิจิทัลหมายเลข 3 หรือดูรายการย้อนหลังผ่านทางช่อง Youtube ชื่อ "มหาอำนาจบ้านนา" เช่นเดียวกัน ท่านจะได้แนวคิดจากคนที่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรจากแบบเดิมๆ สู่เกษตรอินทรีย์แนวใหม่ ทั้งวิธีการคิด การค้นหา ทดลอง จนประสบผลสำเร็จได้จริงๆ

ไก่งวง : มหาอำนาจบ้านนา

ไก่งวง สัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ

ไก่งวง เป็นสัตว์ปีกจำพวกนก จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับ ไก่ ไก่ฟ้า นกยูง นกกระทา และนกกระจอกเทศ ไก่งวงมีขนาดใหญ่กว่าไก่ทั่วไป หน้าตาผิดแผกไปจากไก่พื้นบ้าน แต่ไก่งวงมีลักษณะเด่นบริเวณหัว เพราะเป็นผิวหนังย่นๆ ไม่มีขนขึ้น ในต่างประเทศผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ (ในอเมริกาและแคนาดา) นิยมรับประทานกันในวันขอบคุณพระเจ้า Thanksgiving day

ปัจจุบัน มีการส่งเสริมการเลี้ยงไก่งวงในภาคอีสาน ว่ากันว่า เริ่มแรก "ไก่งวง" เข้ามาในประเทศไทยโดยทหารอเมริกัน ที่เข้ามาประจำการในฐานทัพที่ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมา (ช่วงสงครามเวียดนามนั่นเอง) การนำเข้ามาจากต่างประเทศขาดความสดใหม่ แช่แข็งมาจึงไม่อร่อย จึงมีการนำเอาลูกไก่งวงเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย

turkey 01

ปัจจุบัน เกษตรกรนิยมเลี้ยงไก่งวงอยู่ 3 สายพันธุ์หลัก คือ

  • พันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอล ไวท์ (Beltsville Small White) มีขนาดตัวปานกลาง และขนาดเล็ก ขนสีขาว หนังสีขาว แข้งและนิ้วเท้าสีชมพูซีด ตาสีน้ำตาล จะงอยปากสีเทาอ่อน มีการเจริญเติบโตในระยะเล็กจนกระทั่งถึงโตเต็มวัยเร็วมาก หน้าอกกว้าง และเป็นที่ยอมรับในเรื่องรสชาติของผู้บริโภค
  • พันธุ์อเมริกัน บรอนซ์ (American Bronze) เป็นไก่งวงพันธุ์หนัก ขนสีบรอนช์ปนน้ำตาลดำ ปลายขนสีขาวเล็กน้อย แข้งและนิ้วเท้าสีเทาอ่อนปนชมพูซีด ตาสีน้ำตาล จะงอยปากสีเทาอ่อน และ
  • พันธุ์ไก่งวงลูกผสม (Cross breed) เกษตรกรได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงไก่งวงอย่างแพร่หลาย ปัจจุบัน จังหวัดมหาสารคาม ถือเป็นแหล่งผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่งวงที่ดีที่สุดของประเทศ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ที่ 4 ได้สนับสนุนการเลี้ยงและพัฒนาแม่พันธุ์ไก่งวงตัวใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “ไก่งวงเมืองตักสิลา” เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงกันแพร่หลายในจังหวัดอื่นๆ เช่น สกลนคร นครพนม เป็นต้น

ไก่งวง ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกให้เกษตรกร เพราะนอกจากให้ผลผลิตเนื้อคุณภาพดี มีโปรตีนสูง และคอเลสเตอรอลต่ำแล้ว ยังสามารถปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับเนื้อไก่ เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคเฉพาะที่มีกำลังซื้อสูง (Niche Market) เพราะราคาต่อตัวนั้นหลักพันบาทขึ้นไปนะครับ ที่สำคัญ การเลี้ยงไก่งวงนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถพึ่งตนเองได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ พึ่งพาปัจจัยภายนอกเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงกันข้ามกับเป็ดและไก่ไข่ที่ต้องอาศัยอาหารเฉพาะ รวมทั้งยารักษาโรคจากบริษัทผู้ผลิตพันธุ์ รวมทั้งการเลี้ยงแบบลูกน้อง (Contact Farm) ส่งต่อให้เจ้าใหญ่ๆ จัดจำหน่าย

turkey 02

ไก่งวง เป็นสัตว์เลี้ยงง่าย สามารถปล่อยให้หาอาหารกินตามธรรมชาติได้ สามารถกินพืชหรือวัสดุในท้องถิ่นได้หลากหลาย เช่น ผักตบชวา หญ้า และเศษพืชผักสวนครัว เป็นต้น แต่ก็มีข้อเสียเหมือนกัน เนื่องจากเป็นสัตว์ปีกที่ไข่ไม่ค่อยเป็นที่เป็นทาง ไข่แล้วไม่สามารถกกให้ออกมาเป็นตัวได้ทั้งหมด อีกทั้งยังมีปัญหาเหยียบกันตายเอง ทำให้เปอร์เซ็นต์รอดตายน้อย และที่สำคัญตอนนี้ตลาดรองรับยังมีน้อยกว่าไก่บ้าน

ความท้าทายใหม่สำหรับเกษตรกรไทย

การเลี้ยงไก่งวง นั้นมีความท้าท้ายมากสำหรับเกษตรกรไทย ด้วยเสน่ห์ของเนื้อไก่งวงที่มีรสชาติอร่อย เรียกว่าในบรรดาสัตว์ปีกด้วยกัน ไม่มีเนื้อสัตว์ไหนที่เทียบได้ อีกทั้งไม่มีเงื่อนไขด้านเวลามากำหนดว่า ต้องจำหน่ายตอนไหน ไก่แก่ ไก่อ่อน ไม่มีผลทางการตลาด ไก่งวงยิ่งแก่ยิ่งเนื้ออร่อย ประเทศไทยสามารถพัฒนาการเลี้ยงทำในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ผสมผสานกับการปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ผลิตส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ อย่าง ประเทศลาว เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

turkey 03

การเลี้ยงไก่งวงจะดูตามความเหมาะสมของปริมาณและพื้นที่ ถ้าเลี้ยงมากต้องทำเป็นโรงเรือนที่แข็งแรงมั่นคง คอกสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงสังกะสี กระเบื้อง หรือหญ้าคา ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก อย่าให้อับชื้น ทำความสะอาดได้ง่าย แต่ละอาทิตย์จะต้องทำความสะอาดคอกเปลี่ยนวัสดุรองพื้น ใช้ปูนขาวโรยฆ่าเชื้อ ล้างอุปกรณ์ ให้น้ำ ให้อาหาร ซึ่งจะทำในช่วงที่ปล่อยไก่งวงเดินออกกำลังกาย ดังนั้น โรงเรือนจะมีลักษณะล้อมด้วยตาข่าย หรือรั้วไม้กว้างๆ แล้วมีโรงเรือนที่มีหลังคาอยู่บริเวณกลางคอก หรือด้านข้างไว้สำหรับให้ไก่งวงได้หลบแดดหลบฝน

และสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ไก่งวงในโรงเรือนคือ ทำคอนให้ไก่งวง เพราะนิสัยของไก่งวงชอบนอนที่สูง เนื่องจากไก่งวงมีพันธุกรรมของไก่ป่า จึงมีร่างกายที่แข็งแรงและทนต่อโรค ลักษณะของคอนนอนจะต้องเป็นไม้กลมๆ ไม่มีเหลี่ยม เช่น ไม้ไผ่ อีกทั้งภายในโรงเรือนจะหากล่องหรือโอ่งดินเผาขนาดเล็ก ไว้สำหรับให้ไก่งวงวางไข่ ซึ่งไก่งวงที่สามารถวางไข่ได้จะมีอายุช่วง 7-8 เดือน โดยจะมีปริมาณไข่ต่อแม่ต่อปี ประมาณ 50-90 ฟอง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่ไก่

ในหนึ่งปีไก่งวงจะออกไข่ 3 รุ่น เมื่อนำมาฟักเลี้ยงจะสามารถจำหน่ายลูกไก่งวงอายุ 8 สัปดาห์ ได้ราคาตัวละ 200 บาท ในกรณีที่ไม่ต้องการลูกไก่ สามารถนำไข่มาประกอบอาหาร หรือจำหน่ายได้อีกในราคาฟองละ 25-30 บาท ไก่งวงจะมีอายุพร้อมขายเป็นไก่งวงเนื้อได้ในระยะ 7-8 เดือน น้ำหนักตัวเฉลี่ยตัวละประมาณ 5 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 150 บาท

ในโรงเรือนขนาดพื้นที่ 3 x 6 เมตร จะสามารถปล่อยไก่งวงเลี้ยงได้ประมาณ 150 ตัว มีทั้งตัวผู้และตัวเมียปนกัน แต่หากเป็นโรงเรือนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะมีอัตราการปล่อยตัวผู้และตัวเมีย ในอัตราส่วนที่ 1:7 ซึ่งการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นั้นดูได้จากนิสัยของไก่ เลือกไก่ที่มีลักษณะที่มีนิสัยเป็นมิตรไมตรี มีเยื่อใย เพราะเวลาที่ไก่งวงกกไข่ต้องสามารถเข้าไปใกล้ได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลที่ไก่งวงวางไข่ เราจำเป็นต้องเก็บไข่ออกมาใส่ตู้ฟักไข่ที่ใช้อยู่ทั่วไป ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น จนกว่าจะฟักออกเป็นตัว ก่อนนำไปอนุบาลจนแข็งแรงและไปปล่อยให้แม่เลี้ยงได้

turkey 04

การเลี้ยงไก่งวง ระยะเสี่ยงที่สุดคือ วัยแรกเกิด ถ้าอนุบาลไม่ดี แค่ยุงกัดตัวเดียว ลูกไก่เป็นฝีดาษตายได้ วิธีแก้ต้องกกให้ความอุ่นลูกไก่นาน 14-21 วัน ยามเช้าใช้แสงแดดช่วย ส่วนกลางคืนให้อยู่ในลังกระดาษ เพื่อลูกไก่แต่ละตัวได้ให้ความอุ่นแก่กัน คอกเลี้ยงต้องสะอาด อากาศถ่ายเทได้ดี แค่นี้ลูกไก่แข็งแรง มีภูมิสู้ยุงได้

อาหารสำหรับเลี้ยงไก่งวง

สำหรับอาหารเลี้ยงไก่งวง เกษตรกรส่วนใหญ่จะผสมเอง โดยใช้หญ้า หญ้าเนเปียร์ (ที่ใช้เลี้ยงวัว) หยวกกล้วย ผักบุ้ง ผักตบชวา (ตัดรากออก) ที่มีอยู่ในพื้นที่ และถ้าต้องการให้ไก่งวงเติบโตเร็ว มีน้ำหนัก เราสามารถทำอาหารเลี้ยงได้เอง เพียงแค่นำผักตบหรือหญ้าเนเปียร์สับ 8 ขีด + หัวอาหารไก่ไข่ 1 ขีด + รำหรือปลายข้าว 1 ขีด + ข้าวเปลือก 1 ขีด นำมาผสมให้เข้ากัน อาจผสมกับมันสำปะหลังและปลาป่นอีก 1 ส่วน มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน เพื่อใช้เป็นอาหารข้นสำหรับไก่งวงได้

turkey 05

นอกจากนี้ ได้มีการนำเอาพืชสมุนไพรต่างๆ ที่ปลูกในสวน เช่น เหงือกปลาหมอ ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน ไพล มาบดและผสมในอาหาร เพื่อบำรุงและสร้างภูมิคุ้มกัน โดยให้อาหารข้นวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า และให้เศษหญ้า เศษผัก เป็นอาหารเสริมในช่วงบ่าย

ปัจจุบัน ไก่งวง สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ลาบไก่งวงสมุนไพร ลาบไก่งวงแซบแบบอีสาน ลาบลวกไก่งวง ลาบย่างไก่งวง ยำไก่งวง ซกเล็กไก่งวง แกงมัสมั่นไก่งวง แกงคั่วไก่งวง ทอดมันไก่งวง ไส้อั่วไก่งวงทอด ไก่งวงต้มมะนาวดอง ต้มข่าไก่งวง ไส้อั่วไก่งวง ไก่งวงทอดกรอบ ไก่งวงรมควัน สเต๊กไก่งวง ก๋วยเตี๋ยวไก่งวง ซึ่งเชื่อแน่ว่าถ้าทุกคนได้ลิ้มชิมรสแล้วต้องยกนิ้วให้ว่า มีความเอร็ดอร่อยรสเลิศจริงๆ

ถ้าจะเลี้ยงไก่งวงสัก 1,000 ตัว จะใช้พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ เลี้ยงด้วยระยะเวลาแค่ 9-12 เดือน หักต้นทุนค่าพันธุ์ไก่ ค่าอาหาร ค่าโรงเรือน สามารถทำกำไรปีละห้าแสนบาทมีให้เห็นได้ กำไรมากกว่าเลี้ยงวัว ไม่ต้องทนรอนาน 3-5 ปี อย่างไรก็ตามเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงสามารถเริ่มต้นแต่น้อยเพื่อการศึกษาวิธีการเลี้ยงและดูแลรักษาในจำนวนน้อยๆ ก่อน สามารถติดต่อหาความรู้เพิ่มเติมได้จาก

  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ที่ 4 กองส่งเสริมและพัฒนาการสัตว์ กรมปศุสัตว์ ถนนมหาสารคาม-วาปีปทุม ตำบลแวงน่าง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์สอบถามที่ 0-4377-7600
  • กลุ่มวิสาหกิจชุมชุนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม 19/1 หมู่ 8 ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม 48000 โทรศัพท์ 085-0149679 (คุณเชษฐา กัญญะพงศ์ ประธานกลุ่ม)

[ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : ลาบไก่งวง ]

redline

backled1

surin thai silk header

สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท
ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม "

ตามคำขวัญของจังหวัดสุรินทร์ข้างต้น จะเห็นว่ามีการชูสิ่งที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดมาหลายอย่าง ถ้าถามผู้คนทั่วไปว่า "เมื่อให้นึกถึงจังหวัดสุรินทร์ จะนึกถึงอะไร?" คำตอบแรกๆ คงเป็น "ช้างสุรินทร์" ถัดมาคงเป็น "ผ้าไหมสุรินทร์" ที่เราจะกล่าวถึงรายละเอียดกันในบทความนี้ จากนั้นถึงจะเป็นเครื่องประดับอย่างประเกือมหรือประคำ (เครื่องเงิน) ไปจนถึงปราสาทหินและอื่นๆ ตามคำขวัญดังที่กล่าวด้านบน

จังหวัดสุรินทร์ ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย แต่ที่มีความเกี่ยวข้องกับลวดลายผ้านั้น มีสำคัญอยู่ 3 ชาติพันธุ์ คือ ชาติพันธุ์เขมร, กูย และลาว ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์จะมีเอกลักษณ์ของลวดลายบนพื้นผ้าแตกต่างกันออกไป ซึ่งผ้าไหมในจังหวัดสุรินทร์นั้น มีทั้งผ้าไหมลายมัดหมี่, ลายยกดอก, ลายขิด, ลายโครงสร้าง, ลายพื้น หรือเทคนิคการสร้างลวดลายแบบผสม โดยนำเทคนิคของผ้าลายมัดหมี่มาทอยกดอก

surin thai silk 03

คนไทยเชื้อสายเขมร นิยมใช้ผ้าไหมซึ่งเป็นลายที่มีเอกลักษณ์ของกลุ่มชน มีรูปแบบลายผ้าที่เรียบง่ายสีสันสวยงาม มีการทอสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ อันได้แก่

ผ้ากระเนียว

ผ้ากระเนียว หรือ ผ้าลายหางกระรอก เป็นผ้าทอที่มีลายเป็นริ้วตรง ใช้ไหมพุ่งที่ควบกันสองสี และไหมยืนเส้นใช้สีเดียวกันยืนพื้น ผ้าชนิดนี้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นผ้าที่มีการรู้จักทอ และใช้นุ่งเป็นลายรุ่นแรกๆ ผ้าในกลุ่มที่ใช้เทคนิคการทอลักษณะนี้ได้แก่ ผ้าจะปันชวร อันลูนซีม (ลายสยาม) ผ้ากระเนียว ผ้าดังกล่าวผู้หญิงทุกวัยนิยมนำนุ่งกันในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นโอกาสสำคัญจะใช้ผ้าดังกล่าวนี้ต่อเชิงผ้านุ่งอย่างสวยงาม 

"ผ้าหางกระรอก" เป็นผ้าทอโบราณที่มีลักษณะลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความประณีตและงดงาม โดยใช้เทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไท คือ "การควบเส้น" หรือคนไทยเรียกว่า "ผ้าหางกระรอก" ในจังหวัดสุรินทร์เรียก “ผ้าโฮลเปราะห์” (โฮลบุรุษ) ภาษาไทยเรียกผ้ามัดหมี่แบบนี้ว่า ผ้าสมปัก​ ผ้าปูม​ บางครั้งเรียก สมปักปูม​ คำว่า โฮล เป็นภาษาเขมร​ แปลว่า ผ้าไหมมัดหมี่​ ซึ่งพ้องเสียงกันกับคำว่า​ "โฮรร" ซึ่งแปลว่า ไหล ลักษณะเนื้อแน่น เส้นไหมเล็กละเอียด เนื้อผ้าจะบางเบา อ่อนนุ่ม สีเขียวด้านหน้าเป็นสีอ่อน อีกด้านเป็นสีเข้มกว่า ลวดลายเป็นแบบฉบับของชาวสุรินทร์ เป็นผ้านุ่งสำหรับผู้ชาย ใช้นุ่งห่มในงานบุญ พิธีสำคัญ งานพิธีมงคลต่างๆ และใช้เป็นผ้านุ่งในโอกาสพิเศษ สำหรับสตรีจะใช้ผ้านุ่งที่ทอแปลงเป็นลายริ้วต่างออกไป เรียกว่า “โฮลแสร็ย”

surin thai silk 02

ผ้าหางกระรอก ถือเป็นผ้าโบราณ ที่พบมากในแถบอีสานใต้ คือ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และนครราชสีมา นอกจากนี้ยังพบในภาคใต้ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และตรัง ด้วย

เทคนิคการทอผ้า โดยใช้ไหมเส้นพุ่ง 2 เส้นควบกัน โดยนำมาตีเกลียวควบเข้าด้วยกันให้เป็นเส้นเดียว โดยใช้อุปกรณ์ในการตีคือ ไน และโบก ผ้าหางกระรอกโดยทั่วไปนิยมใช้สีเหลืองมาควบ เมื่อนำมาทอเป็นเส้นพุ่งบนผืนผ้า จะทำให้ผ้าทอที่เป็นผ้าพื้นมีความสวยงามจากสีเหลืองของไหม เส้นไหมสองเส้นสองสีมาตีเกลียวควบให้เป็นเส้นเดียวกัน เรียกว่า “เส้นควบ”, “เส้นลูกลาย” หรือ “เส้นหางกระรอก” จากนั้นนำมาทอพุ่งขัดกับเส้นยืน ซึ่งใช้สีอีกสีหนึ่งอาจเข้มหรืออ่อนกว่าสีที่ใช้ เพื่อให้เกิดลายขัดเด่นขึ้นมา จะได้ผ้าพื้นที่มีลายเหลือบเล็กๆ ในเนื้อผ้าดูคล้ายจะมีปุยขนอ่อนขึ้นมา เหมือนกับเส้นขนของหางกระรอก จึงเรียกว่า “ผ้าหางกระรอก”

surin thai silk 01

เทคนิคการทอผ้าชนิดนี้ นับเป็นเทคนิคดั้งเดิมของชนเผ่าไท เพราะมีการทอผ้าชนิดนี้ในชนเผ่าไทดั้งเดิม คือ ชาวภูไท และไทลาว เรียกเทคนิคนี้ว่า "การเข็น" ไทยวน เรียกว่า "ปั่นไก" กลุ่มชาวไทพวน เรียกว่า "มะลังไม" หรือ "มับไม" กลุ่มไทภาคกลาง ไทภาคใต้ และไทอีสานทั่วไปเรียกว่า "ผ้าหางกระรอก" ส่วนชาวไทเชื้อสายเขมร และชาวส่วย (กูย) เรียกเป็นภาษาเขมรว่า "กระเนียว" หรือ “กะนีว” ชาวไทยอีสานแต่โบราณจะนำผ้าหางกระรอก หรือบางที่เรียกว่า ผ้าม่วง มานุ่งเป็นโจงกระเบน

ชาวกูย นิยมใช้และทอผ้าไหมควบ สตรีชาวกูยมีความชำนาญในการตีเกลียวเส้นไหม เรียกว่า ละวี หรือ ระวี ตามความเชื่อ เรื่องความกลมเกลียวสามัคคีกันในครอบครัว และสายตระกูลที่นับถือผีด้วยกัน การนำไหมสองสีมาควบกันเรียกว่า “กะนีว” หรือ “ผ้าหางกระรอก” เมื่อนำมาใช้เป็นเส้นพุ่งทอกับเส้นยืน สีพื้นจะทำให้เกิดลายเหลื่อมกันเป็นสีเหลืองคล้ายหางกระรอก ลักษณะของผ้ากะนีวนี้ผิวสัมผัสจะมีความมันระยิบระยับ เมื่อนำไปส่องกับแดดจะแยกสีได้ชัดเจน ผู้ชายไทยกูย นิยมนุ่งผ้าไหมควบ (หะจิกกะน้อบ) สำหรับการนุ่งโจงกระเบน

นอกจากนี้ ชื่อเรียกผ้าชนิดนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ตามรูปลักษณ์ที่มุ่งเน้น เช่น บางพื้นที่เรียกว่า ผ้าวา ผ้ายาว ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะความยาวของผืนผ้าที่ยาวกว่าผ้าถุงเท่าตัว ผ้าลายตาราง หรือผ้าโสร่ง จะมีลักษณะเป็นตาตารางใหญ่ สี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลายสี ทั้งแดง เขียว เหลือง น้ำเงิน สลับกันตลอดทั้งผืน ขีดคั่นระหว่างตาตารางสีใหญ่นั้นด้วย ริ้วขีดคั่นสีแดง หรือสีขาวหรือสีเหลือง เป็นเส้นเล็กๆ ทั้งผืน จะมีหน้ากว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร แล้วเย็บเข้าด้วยกันเป็นถุง คล้ายกับผ้าซิ่นของผู้หญิง โทนสีของผ้าจะมี 2 โทน คือ ผ้าโสร่งแดง จะมีสีสันสดใส สำหรับผู้ชายที่มีอายุยังไม่สูงนัก ไม่เกิน 40 ปี แต่ถ้าเป็นผู้ชายสูงวัยจะใช้ผ้าโทนสีเข้ม เรียกว่า ผ้าโสร่งดำ บางพื้นที่ก็เรียกว่า ผ้าควบ เพราะถือเอาวิธีการทอแบบตีเกลียวควบมาใช้เป็นชื่อเรียก แต่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า ผ้าหางกระรอก มากกว่า

surin thai silk 04

การนำไปใช้ประโยชน์ สมัยโบราณนิยมใช้เป็นผ้านุ่งโจงกระเบนในงานพิธีสำคัญต่างๆ สำหรับผู้ชาย นอกจากนี้ยังเป็นผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมเช่น ใช้ให้นาคนุ่งในงานอุปสมบท ผ้าห่อบาตร และเป็นผ้าปกคลุมโลงศพ ผ้าหางกระรอกจึงเป็นผ้าผืนสำคัญของครอบครัว ที่ผู้เป็นแม่ ยาย ย่า จะทอฝากไว้ให้ลูกหลานด้วยความตั้งใจ หวังฝากฝีมือฝากชื่อไว้กับผืนผ้า เพื่อยามตายไปจะได้ใช้ปกโลงศพ ดังคำกล่าวที่ว่า "ย่านตายไป บ่มีผ้ายาวปกหน้า อยากอายบ้านอายเมืองเพิ่น" ปัจจุบันได้มีการทอผ้าหางกระรอกประยุกต์ให้มีลวดลาย สีสัน สวยงามเหมาะสำหรับนำไป ตัดเย็บ เสื้อผ้า รวมถึงพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าห่ม ฯลฯ

ผ้าลายมัดหมี่

ผ้าลายมัดหมี่ เช่น ผ้าลายโฮล (ลายน้ำไหล) หรือ ผ้าคั่น เป็น เทพีแห่งผ้าไหมเขมร ผ้าโฮล เป็นผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยขแมร์ ถือเป็นลายเอกลักษณ์ของลายผ้าไหมมัดหมี่ จังหวัดสุรินทร์ “โฮล” เป็นคำในภาษาเขมร เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมประเภทหนึ่ง ที่สร้างลวดลายขึ้นมาจากกระบวนการมัดย้อมเส้นไหม ให้เกิดสีสันและลวดลายต่างๆ ก่อน ใช้เส้นไหมน้อย (ส่วนในสุดของเส้นไหม) ในการทอ ทำให้เป็นผ้าไหมมัดหมี่เนื้อแน่น เส้นไหมเล็กละเอียด เนื้อผ้าจะบางเบา เนื้นแน่นเนียน อ่อนนุ่ม ลวดลายสีสันเป็นแบบฉบับของชาวสุรินทร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากศิลปะของเขมร ซึ่งตรงกับคำว่า “ผ้าปูม” ในภาษาไทย “มัดหมี่” ในภาษาลาว และคำว่า IKAT (อิ-กัด) ซึ่งเป็นภาษากลุ่มอินโดนีเซีย-มาลายู ซึ่งชาวตะวันตกมักรู้จัก ผ้ามัดหมี่ ของมาเลย์-อินโดนีเซีย และเรียก IKAT ตามไปด้วย

surin thai silk 08

คำว่า “โฮล” ในภาษาเขมรสุรินทร์สมัยหลังจำกัดความให้มีความหมายแคบลงมาอีก ใช้เรียกเฉพาะเจาะจงถึง ผ้านุ่งที่สร้างจากกระบวนการมัดย้อมเส้นพุ่ง แล้วนำมาทอให้เกิดลวดลายต่างๆ แบบผ้าปูมของขุนนางในราชสำนักสยาม ด้วยวิธีการเฉพาะเรียกว่า จนองโฮล โดยการมัดหมี่ผ้าโฮลนั้น นิยมมัดหมี่ 21 ลํา ซึ่งการมัดหมี่เพียงหนึ่งลาย สามารถทอได้ถึง 4 แบบด้วยกัน ได้แก่ ผ้าโฮลเปราะห์ (ลายโฮลผู้ชาย) ผ้าโฮลแสร็ย (ลายโฮลธรรมดา หรือโฮลผู้หญิง) ผ้าโฮลเกียรติ และผ้าโฮลปะนะ ในการค้นลํามัดหมี่ มัดหมี่โฮลแต่ละลําจะเป็นอิสระต่อกัน การทอจะใช้เทคนิคการทอพิเศษ โดยการทอผ้าให้ลายเฉียงขึ้นเรียกว่า “ปะนะ” การมัดย้อม จะนิยมใช้สีธรรมชาติ และมัดย้อมหลายครั้ง ละเอียดทุกขั้นตอน การย้อมสีผ้าโฮล คือ จะต้องให้ครูทอผ้ามาสอนวิธีการย้อมเสียก่อน เพราะถือกันว่า เป็นผ้าครู ที่จะต้องผ่านกระบวนการครอบบครูเสียก่อน ผ้าโฮลมี 5 สี ได้แก่ สีดํา, แดง, เหลือง, น้ําเงิน และ เขียว ได้จากการย้อมด้วยสีธรรมชาติ เนื้อผ้ามักมี 2 สี ด้านหน้าเป็นสีอ่อน อีกด้านหนึ่งเป็นสีเข้มกว่า

surin thai silk 06

ผ้าโฮลมีกรอบมีเชิงสำหรับบุรุษนุ่ง เรียกว่า “โฮลเปราะห์” สำหรับสตรีใช้นุ่งทอแปลงเป็นลายริ้ว เรียกว่า “โฮลแสร็ย” ปัจจุบันนี้ โฮลเปราะห์ (โฮลสำหรับผู้ชายนุ่ง) แทบหาตัวคนผลิตไม่ได้ และไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างอีกต่อไป คำว่า ”โฮล” ในปัจจุบันแทบจะมีความหมายตกไปอยู่ที่ โฮลแสร็ย (โฮลสตรี) เกือบทั้งหมดเพราะฉะนั้นคำว่า ”โฮล” โดดๆ ในภาษาเขมรสุรินทร์ปัจจุบัน จึงมีความหมายเจาะจงอยู่ในแค่ผ้าโฮลลายริ้วที่สตรีใช้นุ่งเท่านั้น คำเรียก ผ้าโฮลสตรี ชนิดเดียวกันนี้ในภาษาเขมรสุรินทร์ ได้เรียกปลีกย่อยออกไปอีกหลายอย่าง เช้น โฮลปันเตื๊อด (บรรทัด) โฮลปะนะ, โฮลอันลูย

surin thai silk 05

  • โฮลเปราะห์ (โฮลผู้ชาย) เป็นผ้านุ่งสําหรับผู้ชาย ใช้ในงานพิธีกรรมสําคัญ เช่น งานบวช งานแต่งงาน เป็นต้น ลักษณะของผ้าโฮลเปราะฮ์จะทอเป็นลายมัดหมี่เหมือนหมี่โฮลของผู้หญิง เพียงแต่ไม่มีลายริ้วสลับ การทอผ้าโฮลเปราะห์ 1 ผืน จะมีความยาวอย่างน้อย 4 หลา หรือ 3.5 เมตร เพื่อใช้นุ่งเป็นโจงกระเบน นอกจากนั้น ยังใช้เป็นผ้าคลุมบายศรีขนาดใหญ่ในพิธีบวช งานขึ้นบ้านใหม่ และอื่นๆ ได้อีก
  • โฮลแสร็ย (โฮลผู้หญิง) เป็นผ้านุ่งสําหรับผู้หญิง มีลักษณะเป็นลายริ้วสลับสีกับลายมัดหมี่ มีความกว้างประมาณครึ่งนิ้ว สลับกันไปในแนวเส้นพุ่ง ลวดลายที่ปรากฏคล้ายกับใบไผ่ ส่วนลายริ้วนั้นเปรียบเสมือนก้านใบไผ่ เมื่อมองโดยภาพรวมแล้วจะคล้ายเป็นป่าไผ่ มีช่องเขาและลําธารไหลผ่าน ผ้าโฮลแสร็ย ช่างทอต้องมีความชํานาญ ใช้ความอดทน ความละเอียดถี่ถ้วน พิถีพิถัน จึงจะได้ลวดลายที่สวยงาม

surin thai silk 07

ใช้เทคนิคการทอแบบผ้ากระเนียวผสมกับการมัดหมี่ ผ้าโฮลนี้นิยมนำมาต่อเชิง ผ้ามัดหมี่ทั้งผืนส่วนใหญ่จะทอเป็นรูปสัตว์ และรูปพรรณพฤกษาตามจินตนาการ หญิงทุกวัยนิยมนำมานุ่งในโอกาสงานแต่ง หรืองานบุญต่างๆ การทอผ้าแบบนี้แสดงถึงพัฒนาการการทอผ้าแบบดังเดิม แล้วนำมาผสมสานจนเกิดลายผ้าแบบใหม่ขึ้นมาของชาวเขมร

ผ้าทอยกดอก

ผ้าทอยกดอก เช่น ผ้าเก็บ หรือ ผ้าลายลูกแก้ว เป็นการใช้เทคนิคการเพิ่มตะกอให้มากขึ้นกว่าสองตะกอ ลายผ้าที่ได้จะเป็นลายดอกนูนขึ้นมาตลอดทั้งผืน เป็นผ้าทอที่ต้องใช้เทคนิคความสัมพันธ์ในการเหยียบตะกออย่างชำนาญ แต่ทอยากไม่เท่าผ้าละเบิกเพราะใช้ไหมยืนและไหมพุ่งสีเดียวกัน ใช้ในกลุ่มหญิงสูงวัย ซึ่งนิยมนำไปย้อมดำด้วยลูกมะเกลือ แล้วนำไปอบด้วยเครื่องหอมให้ติดกับเนื้อผ้า นำมาเป็นผ้าเบี่ยงไหล่

surin thai silk 09

ผ้าลายอันลูน

ผ้าลายอันลูน หรือ ผ้าลายตาราง ซึ่งใช้ไหมพุ่งและไหมยืนหลายสีแบบเดียวกันทอขัดกัน เกิดเป็นตาราง ถ้ามีขนาดใหญ่เรียกว่า อันลูนธม ถ้าขนาดเล็กเรียกว่า อันลูนตู๊จ เป็นลายผ้าที่รู้จักทอนุ่งรุ่นถัดมา ซึ่งซับซ้อนขึ้นมาหน่อย กลุ่มผ้าทอแบบนี้มีลายผ้าต่างๆ กันเช่น ผ้าสมอ ผ้าสาคู ผ้าดังกล่าวนิยมใช้ในกลุ่มหญิงสูงวัยใช้นุ่งอยู่บ้าน ผ้าอัมปรม ผ้าละเบิก ผ้าสองชนิดนี้นิยมใช้ในกลุ่มหญิงสูงวัย ใช้นุ่งในโอกาสสำคัญ ซึ่งมีการทอที่ยากขึ้นมาอีก โดยเฉพาะผ้าอัมปรมต้องใช้เทคนิคการมัดย้อมเข้ามาทอด้วย ส่วนผ้าละเบิกต้องใช้ตะกอมาก ลายที่ได้จะแปลกตา และผ้าที่ใช้ในผู้ชาย เช่น ผ้าโสร่งใช้นุ่ง ผ้ากลา และผ้าจดอ ใช้พาดไหล่

 surin thai silk 10

ผ้าละเบิก เป็นผ้านุ่งพื้นเมืองประเภทยกดอกลายตารางสี่เหลี่ยม ใช้เส้นยืนหลายๆ สี สีละ 2-4 เส้น เรียงสลับกันไปตามหน้ากว้างฃองผืนผ้า ทอ 4 ตะกอ โดยยกทีละ 2 ตะกอ ลักษณะผ้าเหมือนมีช่องสี่เหลี่ยมเป็นช่วงๆ ดูเผินๆ จะเห็นเป็นลายตาราง ดูใกล้ๆ จะเห็นเป็นลายยกในเนื้อผ้า

ผ้าอัมปรม ผ้านุ่งที่เป็นอาภรณ์ที่ใช้ห่อหุ้มส่วนล่างของร่างกาย ตั้งแต่บั้นเอวลงไป การนุ่งผ้านั้นมีศิลปะการนุ่งที่แตกต่างกันตามกาลเทศะ ความนิยมในกลุ่มที่เห็นว่า มีความสวยงาม มีทั้งนุ่งสั้นเสมอเข่า นุ่งยาวเพียงครึ่งน่อง หรือนุ่งยาวกรอมข้อเท้า หรือต้องการความคล่องตัวขณะทํางานก็นุ่งแบบหยักรั้ง เป็นต้น ในจังหวัดสุรินทร์ มีชนเผ่า 3 กลุ่มได้แก่ เขมร ลาว และ กูย (ส่วย) ซึ่งมีการทอผ้าใช้ในครัวเรือนจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นผ้านุ่ง ผ้าขาวม้า ผ้าสไบ ผ้าสีพื้นและอื่นๆ ทั้ง 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีเอกลักษณ์ของลวดลาย และเทคนิคการทอเป็นของตนเอง

surin thai silk 11

เสื้อผ้าของสตรีของชาวกูย เรียกว่า “ฮั่ว” ส่วนมากสตรีชาวกูยจะสวมใส่เสื้อ และใช้ในทุกโอกาสทั้งงานบุญประเพณี งานพิธีต่างๆ ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล โดยทั่วไปประกอบด้วยเสื้อ และผ้าซิ่น กล่าวคือ เสื้อกูย หรือฮั่วกูย เป็นเสื้อที่ตัดและเย็บด้วยมือ โดยใช้ผ้าไหมยกดอก (แค็บ) สีดําที่ย้อมด้วยเม็ดมะเกลือแขนยาว ปักแซวด้วยเส้นไหมสีขาว สีแดง สีเขียว สีเหลือง หรือสีอื่นๆ ตามความชอบ โดยจะแซวสลับกันไปตามแนวตะเข็บของเสื้อ เช่น ตะเข็บข้าง ตะเข็บวงแขน รอบคอ สาบเสื้อด้านหน้าและชายเสื้อ

ส่วนกระดุมใช้กระดุมเงิน (กะตุมประ) หรือโลหะ หรือร้อยเส้นไหม ผ้าซิ่นหรือผ้านุ่ง สตรีชาวกุยนิยมนุ่งผ้าไหมมัดหมี่ หรือผ้าไหมหลายเข็น (จกระวี) ผ้าซิ่นของสตรีกุย มีส่วนประกอบแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เรียกว่า หัวซิ่น (อัมปรม หรือปลอดจิก) ส่วนที่ 2 คือ ตัวซิ่น ส่วนที่ 3 เรียกว่า ตีนซิ่น (กะปูล หรือเญิงจิก หรืออินเญิง) การแต่งกายของชาวกุยมีลักษณะพิเศษ เสื้อผ้าที่ใช้ในการแต่งกายจะมีทั้งพวกผ้าฝ้าย ซึ่งจะปลูกฝ่ายไว้เพื่อทอเป็นเสื้อ กางเกง ผ้าถุง ผ้าขาวม้า สีที่ย้อมมีสีน้ําเงินได้จากต้นคราม สีดําได้จากผลมะเกลือ สีเหลืองได้จากขมิ้น แก่นขนุน และเข สีแดงได้จากครั่ง

ชาวกุย ก็ยังมีความสามารถในการทอผ้าไหมได้ดี และค่อนข้างซับซ้อนในกระบวนการผลิต จึงทําให้ผ้าไหมของชาวกุยมีราคาแพง ผู้ใช้ผ้าไหมต้องเป็นผู้มีฐานะดีเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปไม่นิยมใช้เพราะดูแลรักษายาก จะใช้เฉพาะกรณีพิเศษเท่านั้น

surin thai silk 12

อัมปรม หรืออัมเปิ้น หรือหัวซิ่น เป็นส่วนประกอบสําคัญของผ้านุ่งอย่างหนึ่ง มีความยาวประมาณ 2 เมตร ถึง 2 เมตรครึ่ง หรือตามความกว้างของผ้านุ่ง กว้าง ประมาณ 6 นิ้ว นิยมพื้นสีแดงทอยกขิตเป็นลวดลายต่างๆ เป็นช่วงๆ เป็นลายตามขวางแต่เมื่อนํามาต่อกับผ้านุ่งหรือผ้าซิ่นด้านบน ลายจะอยู่ในแนวตั้ง ลวดลายที่ปรากฏนิยมทอลายขอ ที่จัดอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ทอขิดเต็มหน้าผ้า ปิดหัวท้ายชุดลายด้วยการขิดเส้นประสีขาว กับสีเหลือง อย่างละ 1 เส้น สําหรับการทอลวดลายต่างๆ เหล่านี้ รูปแบบ สีสัน จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับจินตนาการของช่างทอ

ประโยชน์ของหัวซิ่น คือ ทําให้ผ้านุ่งมีความยาวมากขึ้น เมื่อขมวดหัวซิ่นหรือคาดเข็มขัดแล้ว จะดึงหัวซิ่นให้ยาวออกมาทําเป็นชายพก ใช้เก็บของมีค่า หรือสิ่งของอื่นแทนกระเป๋าถือ และอีกประการหนึ่งคือ ทําให้ได้โชว์ลายผ้านุ่งได้เต็มตัว ชาวกูยเลี้ยงช้างจึงใช้ผ้าอัมเปิ้นนี้ห่อเครื่องรางของขลัง โดยมัดเป็นเปลาะๆ เพื่อแยกเครื่องรางของขลังเป็นส่วนๆ คาดเอวติดตัว เมื่อออกไปคล้องช้างป่า

surin thai silk 13

ในปัจจุบันนักออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย นําอัมปรม หรืออัมเปิ้น หรือหัวซิ่นไปดัดแปลงตกแต่งเสื้อผ้าสมัยใหม่ได้งดงาม เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ยังได้นําไปตัดเย็บเป็นเครื่องใช้สําหรับตกแต่งบ้านเรือนอีกด้วย

redline

backled1

death coffin header

“บรรจุภัณฑ์แห่งความตาย” ในแถบถิ่นลุ่มน้ำโขง

โดย ติ๊ก แสนบุญ

วามตาย คือ กฎของธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ปรากฏอยู่ เป็นสัจจะธรรมในทุกสรรพสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถหลีกหนีได้ และการตายก็คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ลดความอหังการ และยังช่วยบรรเทาอัตตา ตัวกู ของกู รวมถึงพวกกู จนเกิดวลีกินใจ เช่น ยิ่งใหญ่คับฟ้ามาจากไหนก็เล็กกว่าโลง (โลงศพ) หรือวลีที่ชวนให้ปลงสลดซึ่งได้ยินอยู่เสมอๆ ในงานศพ เช่น เกิดมาก็มาแต่ตัวจนเมื่อสิ้นลมตายไป ก็ไปแต่ตัวไม่สามารถเอาอะไรไปได้สักอย่าง (แม้แต่สังขารร่างกายของตัวเอง) ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นลาภยศสรรเสริญที่ไขว่คว้าแย้งชิงมา สุดท้ายก็เหลือเพียงแต่เถ้าถ่าน และคุณงามความดีที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับคนอื่น และสังคม เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้ระลึกนึกถึงตนเอง (ในแง่ดีๆ)

death coffin 08

พิธีเผาศพตามประเพณีพื้นเมืองสองฝั่งโขง ภาพเขียนลายเส้นของชาวยุโรป ช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕

ดังนั้น พิธีกรรม ที่ถือว่าแรกเริ่มสุดของมนุษย์ จึงน่าจะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย โดยเฉพาะการจัดการกับศพซึ่งมีอยู่หลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่ฝังเผา รมควัน อาบน้ำยา ดอง กินทั้งดิบ หรือ สุก (ตามความเชื่อว่า เพื่อสืบทอดสิ่งสำคัญของบรรพบุรุษไว้ให้ลูกหลาน) ปล่อยให้เน่า หรือทิ้งไปเฉยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่านิยมทางวัฒนธรรมที่มนุษย์มีต่อชีวิตและปัจจัยอื่นๆ ทางสังคมวัฒนธรรม เช่น เพศ สถานภาพ อายุ ตำแหน่ง ลักษณะการตายรวมทั้งสภาพแวดล้อมของแต่ละสังคม ที่ทำให้มีพิธีกรรมที่แตกต่างกันไป โดยพิธีกรรมต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อว่า ความตายมิใช่เป็นเพียงจุดสิ้นสุดของชีวิตโดยสมบูรณ์เท่านั้น  แต่ยังคือการเปลี่ยนสภาพจากโลกที่อาศัยอยู่ หรือจากสิ่งที่มีชีวิตอยู่ไปสู่อีกโลกหนึ่ง หรืออีกสภาวะหนึ่ง โดยอาศัยพิธีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพของศพเช่น การปล่อยให้เน่าเปื่อย ให้นกกากินเหลือแต่กระดูก หรือการเผา (ปราณี วงษ์เทศ 2543) และตัวพิธีกรรมได้สร้างบทบาทสถานะภาพใหม่ให้กับผู้ตาย ที่แสดงการแบ่งแยกระหว่างคนตายและคนเป็น ดั่งมีหลักฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้วว่า

ผู้คนในอุษาคเนย์เชื่อว่า คนตายจะไปอยู่ในดินแดนบรรพบุรุษ ภาพสลักบนกลองมโหระทึกชิ้นหนึ่ง แสดงการเดินทางของวิญญาณผู้ตายไปยังดินแดนบรรพบุรุษโดยทางเรือ บรรพบุรุษในดินแดนแห่งนี้คือ "พลังชีวิต" หรือ พลังที่ก่อให้เกิดความงอกงามบนพื้นโลก อาจติดต่อกับลูกหลานในโลกได้โดยผ่านพิธีกรรม และตราบเท่าที่ลูกหลานยังรักษาความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษไว้ พลังชีวิตก็จะหลั่งลงมาแก่ชีวิต และแผ่นดินของลูกหลานต่อไป (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2551)

death coffin 05

ในด้านพัฒนาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี พิธีศพของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญ หรือธรรมดา เครือญาติจะเก็บศพไว้หลายวันหลายคืน เพื่อส่งวิญญาณ โดยกินเลี้ยงกับกินเหล้า แล้วขับลำบอกเล่าเรื่องราวของเผ่าพันธุ์ พิธีศพของไทยที่เก็บศพไว้ฉลองนานวันก็มาจากประเพณีดึกดำบรรพ์ 3,000 ปีมาแล้วอย่างนี้เอง โดยเมื่อครบกำหนดที่ตกลงกัน ก็จะมีการแห่ศพที่อาจห่อหุ้มด้วยเครื่องจักสาน อย่างใบไม้ไปฝังบริเวณที่กำหนด รู้กันว่าเป็นสถานที่เฉพาะที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้าน มีเสาไม้ปักไว้เป็นเครื่องหมายล้อมรอบ ต่อมาใช้แผ่นหินเป็นแท่งเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตามฐานะของชุมชน แท่งหินนี้ คนปัจจุบันเรียก "หินตั้ง" ซึ่งต่อไปเมื่อรับพุทธศาสนาแล้วเรียกว่า เสมาหิน หรือ ใบเสมา ในปัจจุบัน (สุจิตต์ วงษ์เทศ 2549)

โดยคติการทำหลักไม้ หรือ หลักหินตั้ง ที่เป็นเครื่องหมาย เพื่อกำหนดรู้ขอบเขตที่ตั้งบริเวณที่เผ่า หรือบริเวณที่ฝังหม้อกระดูกคนตายดังกล่าวนี้ ยังพบเห็นได้โดยทั่วไปในสังคมชนบททั้งในฝั่ง สปป.ลาว และไทยอีสาน ซึ่งชาวอีสานนิยมเรียกว่าหลักไม้นี้ว่า "หลักเส" (หลักไม้หรือหลักหินดังกล่าวนี้ เดิมทีจะพบเห็นอยู่ตาม ป่าช้า คำนี้เป็นภาษาภาคกลางในภาษาเก่าเรียก ป่าเลว ป่าเห้วหรือป่าเปลว โดยทั้งหมดล้วนมีความหมายว่า ไม่ดี ดั่งคำว่า เลว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน โดยเป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษที่ต้องให้ความเคารพยำเกรง)

death coffin 06

ต่อมาภายหลังมีการปรับเปลี่ยน โดยนำกระดูกคนตายไปเก็บรักษาไว้ที่วัดแทน เนื่องจากในยุคหลังมีการสร้างเมรุเผาศพตามแบบอย่างวัฒนธรรมหลวงในวัด (เพราะคนอีสานจะไม่เก็บกระดูกคนตายไว้ที่บ้าน ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมภาคกลาง) จึงปรากฏ หลักเส อยู่ในพื้นที่วัด และส่งต่อรูปแบบสู่พัฒนาการทางศิลปะงานช่างที่เรียกว่า ธาตุไม้ สำหรับเก็บกระดูกอยู่ตามริมรั้วกำแพงวัด (ปัจจุบันถูกขโมยไปขายอยู่ตาม ร้านค้าของเก่า ริมรั้วตลาดนัดจตุจักรกรุงเทพฯ!?) อันแสดงให้เห็นถึงการสืบทอดคติพิธีศพครั้งที่ 2 เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว

death coffin 04

บรรจุภัณฑ์แห่งความตาย ในด้านรูปแบบมีความหลากหลาย ตามลักษณะท่าทางการเก็บรักษาศพ ไม่ว่าจะเป็นท่านอนเหยียดยาว ซึ่งมีพัฒนาการมากว่า 10,000 ปีมาแล้ว หรือท่านั่งงอเข่า ซึ่งมีมากว่า 3,000 ปี ทั้งหมดได้ก่อเกิดเป็นงานช่าง อย่างเช่น บางเผ่าพันธุ์ที่อยู่ใกล้ลำน้ำหรือทะเล ก็จะทำโลงศพที่มีลักษณะอย่างรูปเรือ ดังปรากฏหลักฐานที่หน้ากลองมะโหระทึก แต่บางเผ่าพันธุ์ทำโลงศพด้วยไม้ที่ขุดเป็นรางหรือโลงไม้ รูปร่างคล้ายเรือหรือรางเลี้ยงหมูในปัจจุบัน เอาศพวางในราง แล้วช่วยกันหามไปไว้ในถ่ำหรือเพิงผาแหล่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ พิธีศพครั้งที่ 2 เริ่มจากครั้งแรกเอาคนตายไปฝังในดินไว้ให้เนื้อหนังเน่าเปื่อย ยุ่ย สลาย ไปกับดินจนเหลือแต่กระดูก แล้วทำครั้งที่ 2 ด้วยการเก็บกระดูกใส่ภาชนะ เช่น ไหหิน ที่ทุ่งไหหินใน สปป.ลาว หม้อดินเผา ใส่กระดูกพบทั่วไปแต่ขนาดใหญ่ พบแถบทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นแบบ “แคปซูล” ประเพณีอย่างนี้พบทั่วไปทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ แล้วสืบถึงยุคทวารวดีพบภาชนะใส่กระดูกที่ทำด้วยหินก็มี ทำด้วยดินเผาแกร่งก็มี ปัจจุบันก็คือ โกศ (เรื่องเดียวกัน.2549)

death coffin 07

ในวิถีสังคมชนเผ่าอย่าง กลุ่มข่า หรือ ขมุ ใน สปป.ลาว และที่เวียดนาม ยังนิยมทำโลงไม้ที่มีการแกะสลักเป็นรูปหัวสัตว์ สัญลักษณ์ทางความเชื่ออย่างรูปพญานาค รูปควาย หรือวัว หรืออย่างในวัฒนธรรมลาวลุ่ม จะนิยมทำโลงศพแบบลักษณะปากผาย ที่เรียกว่า หีบศพ โดยมีการตกแต่งส่วนบนด้วยธาตุบัวเหลี่ยม มียอดนพศูร ซึ่งลักษณะหีบศพดังกล่าวนี้ยังมีรูปแบบคล้ายกับรูปทรงของหีบพระธรรม และส่วนฐานในงานสถาปัตยกรรมที่เรี่ยกว่า ฐานเอวขันปากพาน ซึ่งปรากฏอยู่ในรูปทรงหีบศพ ในวัฒนธรรมลาวทั้งในอีสาน ล้านนา ล้านช้าง ในวัฒนธรรมเขมรก็ปรากฏ โลงศพ แบบที่เรียกว่า โลงถัง บ้างก็เรียกว่า โลงเขมร ซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยมตั้งฉาก (อย่างโรงศพของภาคกลางในปัจจุบัน) ที่ปากโลงไม่ผายออกอย่างวัฒนธรรมลาว

“โลงศพ หีบศพอีสาน”

อัตลักษณ์ร่วมในเชิงช่างสกุลไท-ลาว กับการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมในบริบทใหม่

death coffin 02

ศิลปวัฒนธรรมอีสาน หนึ่งในงานช่างพื้นถิ่นอีสานด้านหัตถกรรมไม้ ที่หลายคนมองข้ามและนึกไม่ถึง ถึงเอกลักษณ์ที่แปลกแตกต่างจากภาคอื่นๆ นั้นก็คือโลงศพหรือหีบศพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนหนีไม่พ้นต้องได้ใช้ในวันใดวันหนึ่งของวาระสุดท้ายในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่จะบรรจุหรือห่อหุ้มสิ่งที่ไม่น่ามอง อันได้แก่สังขารของเราเอง สำหรับสังคมวัฒนธรรมไท-ลาว มีลักษณะร่วมที่เหมือนกันโดยเฉพาะรูปแบบ รายละเอียดอาจจะแปลกแตกต่างกันไปบ้าง ขณะเดียวกันก็มีความละม้ายคล้ายคลึงกัน ซึ่งมีรายละเอียดและชื่อเรียกที่เป็นศัพท์เฉพาะของท้องถิ่น ดังนี้คือ

  • ส่วนฐาน ผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๐.๖๐ เมตร ยาวประมาณ ๑.๘๐-๒.๑๐ เมตร มีลักษณะแบบที่เรียกว่า “ฐานหีบ” มีแม่คีไฟ ๓ ชิ้น (ภาคกลางเรียกส่วนนี้ว่า “ฐานเขียง”)
  • ส่วนตัวเรือนหีบ ภาษาช่างเรียกส่วนนี้ว่า “เอวขันปากพาน” ซึ่งต้องประกอบด้วยส่วนโบกคว่ำ โบกหงาย และส่วนที่เป็นท้องไม้ (ถ้าท้องไม้มีเส้นลวดบัวขนาดใหญ่จะเรียกว่า “ดูกงู”)
  • ส่วนยอด เรียกรวมทั้งหมดนี้ว่า “ตีนหีบ” ซึ่งต้องประกอบด้วย “ปากขัน” หีบน้อยและยอดแบบนพศูล ๓ ยอด (พบมากในแถบเมืองอุบลฯ) ลดหลั่นตามความสูงของหีบ ส่วนยอดนี้บางแห่งนิยมทำแบบ “ยอดปราสาทผึ้ง” คล้ายกับส่วนยอดธาตุปูนพื้นถิ่นอีสาน โดยมีความสูงจากระดับพื้นถึงยอดสูงสุดประมาณ ๒.๒๐ เมตร

death coffin 03

ภาพรวมของรูปทรงหีบศพอีสาน ในด้านสกัดด้านแคบคล้ายกับธาตุปูน ส่วนที่เป็นเอวขัน การผายออกของหีบศพลักษณะนี้คล้ายกับโลงศพแบบพม่า หรือฝาเรือนทางภาคเหนือของไทย การผายออกของฝาจะช่วยในการรับแรงอัดและการถ่ายแรงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเพิ่มจังหวะ (ส่วนเอวขันปากพาน) ในรูปทรงที่สูงชันขึ้น เพิ่มความสง่างามในตำแหน่งที่ตั้ง เพิ่มนัยยะสำคัญให้ในการจัดวางหีบศพกับตัวเมรุ

คติความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องกับการทำโลงศพโดยสังเขป สมัยโบราณรวมถึงปัจจุบันในวิถีชาวบ้าน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยมีอาการหนัก ญาติพี่น้องจะทำโลงศพเพื่อต่อดวงชะตา หรือสะเดาะเคราะห์ให้ผู้ป่วย เมื่อหายก็จะถวายหีบนั้นให้วัดเป็นการทำกุศล ให้กับผู้ยากไร้ที่ไม่มีกำลังทรัพย์ต่อไป อนึ่งการทำโลงศพสมัยก่อนจะใช้ยางบงมาอุดรอยต่อหรือรูรั่ว และใส่ปูนขาวไว้สำหรับดูดซับน้ำเหลืองจากศพ การเผาแบบชาวบ้านในกลุ่ม “ชาวย้อ” มีธรรมเนียมการขอบริจาคฟืนจากทุกๆ  ครอบครัว เรียกว่า “แผ่ฟืน” เมื่อไม้จำนวนพอเพียงแล้วก็จะนำไปกอง ณ ที่เผา ส่วนมากจะเป็น “ป่าแอ้ว” และเคลื่อนศพด้วยการทำคานหาม โดยจัดเตรียมดุ้นไฟชนวนสำหรับเผาศพ ข้าวตอกโปรยหว่านระหว่างทาง น้ำมะพร้าวสำหรับล้างหน้าศพ และจตุปัจจัยไทยทานพระสงฆ์

death coffin 01

อนึ่ง สมเด็จครู ได้กล่าวไว้ในสาส์นสมเด็จ ว่า “เดิมที่เอาฟืนมากองกับพื้นดิน และเอาศพวางบนนั้นและจุดไฟเผา ฟืนที่สุมจะทรุดตัวทำให้ศพเคลื่อนตก ทางอุบลราชธานีเขามีไม้กดศพ เรียกว่า “ไม้ข่มเผง” ๒ อัน เพื่อกันมิให้ศพเคลื่อนเมื่อกองฟืนทรุด...”

อนึ่งในวิถีสังคมปัจจุบันของอีสาน หลายสิ่งหลายอย่างถูกแปรเปลี่ยนและโดนทำลายไป แต่ยังโชคดีอยู่บ้างที่ภูมิปัญญาพื้นถิ่น (หีบศพอีสาน) ยังคงอยู่รอดแม้จะไม่ดีเท่าที่ควรนัก แต่ยังได้รับการอนุรักษ์สืบสานและพัฒนา (ด้านเทคโนโลยีการเก็บรักษาศพ) โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบดั้งเดิม แม้จะถูกปรุงแต่งด้วยลวดลายแบบภาคกลางไปแล้วก็ตาม สำหรับฐานานุศักดิ์ อาจแตกต่างในรูปแบบ เช่น การทำนกหัสดีลิงค์ ซึ่งในปัจจุบันจะทำเฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ของเมือง แต่โดยรูปแบบของหีบศพนั้นไม่ต่างกันมากนัก

 nok hassadee link

การทำพิธีศพบนนกหัสดึลิงค์ของเจ้านายชั้นสูง หรือพระเถระผู้ใหญ่

ส่วนทางภาคเหนือ จะมี เสื้อวัด หรือ ผีเสื้อวัด เป็นผีชั้นสูงที่มีอาคมอันแรงกล้า สามารถปกป้องคุ้มครองชาววัดชาวบ้านให้อยู่ดีมีสุข พูดกันมาว่า เจ้าอาวาส (ตุ๊เจ้า) ที่มีความเก่งกล้าเรื่องคาถาอาคมเมื่อตายคาผ้าเหลือง เมื่อตายลงจะได้เป็น ผีเสื้อวัด ชาวบ้านจะทำหอบรรจุศพตั้งไว้ภายในวัด ซึ่งตำแหน่งตั้งหอเสื้อวัดแต่โราณนั้น นิยมตั้งทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ของเจดีย์ ถ้าวัดไม่มีเจดีย์ก็ทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ของวิหาร เห็นแล้วเกิดศรัทธาดูมั่นคงและมีศิลปะที่งดงาม (เครดิต : ศรีเลา เกษพรหม)

pee suea wat

ผีเสื้อวัด บรรจุภัณฑ์แห่งความตายของพระสงฆ์ผู้มีวิชาอาคมทางภาคเหนือ

[ อ่านเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวข้อง : พิธีกรรมประจำชีวิต - การตาย ]

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)