foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

fai cotton

"ฝ้าย" เป็นพืชที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์จากอดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำเสื้อผ้าจำเป็นต้องมีเส้นใยฝ้ายรวมอยู่ด้วย แม้การผลิตเส้นใยประดิษฐ์จะเจริญก้าวหน้าเพียงใดก็ตาม เสื้อผ้าที่ผลิตจากฝ้ายหรือส่วนผสมของฝ้ายยังคงเป็นที่นิยมอยู่ตลอดกาล เพราะผ้าฝ้ายนั้นสวมใส่สบาย ให้ความอบอุ่นพอเหมาะ ซึมซับเหงื่อและถ่ายเทอากาศดีกว่าเสื้อผ้าจากใยประดิษฐ์ (Nylon)

"ฝ้าย"  เป็นพืชเศรษฐกิจ เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีอากาศร้อน ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย อากาศโปร่ง ไม่ชอบที่ร่มเงาบัง  เส้นใยของฝ้ายดูดความชื้นได้ง่าย เหมาะสำหรับการเป็นเครื่องนุ่งห่มในเมืองร้อน เพราะฝ้ายดูดความชื้นแล้ว ความชื้นจะระเหยกลายเป็นไอ ผู้ที่สวมใส่เสื้อผ้าด้วยผ้าฝ้ายจะรู้สึกเย็นสบาย ฝ้ายจะปลูกในเดือนพฤษภาคมต่อกับเดือนมิถุนายน หรือเดือนกรกฎาคมต่อเดือนสิงหาคม  แล้วแต่ภูมิภาคที่ปลูก  ซึ่งเป็นฤดูฝนเป็นช่วงที่ฝ้ายได้รับฝนดี  ครั้นประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมฝ้ายก็จะแก่และแตกปุย  การปลูกฝ้ายชาวบ้านจะปลููกไปพร้อมๆ กับการปลูกข้าว ระยะเวลาที่ใช้ในการปลูกฝ้ายจนกระทั่งสามารถเก็บปุยได้ ใช้เวลาประมาณ 6 - 7 เดือน ชาวบ้านทุกครัวเรือนสามารถปลูกฝ้ายได้ แล้วนำเส้นใยของฝ้ายมาทอเป็นผืนผ้า สำหรับเป็นเครื่องนุ่งห่มและใช้ในชีวิตประจำวัน

dog fai 01

ความรู้เรื่องฝ้าย

ฝ้าย (Cotton) คือ เส้นใยเก่าแก่ชนิดหนึ่งซึ่งใช้ในการทอผ้ามาแต่สมัยโบราณ โดยหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งบอกให้รู้ว่า มีการปลูกฝ้ายและปั่นฝ้ายเป็นเส้นด้ายมานานแล้ว คือ การขุดพบฝ้ายในซากปรักหักพังอายุประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ที่แหล่งโบราณคดีโมฮันโจ ดาโร (Mohenjo daro) บริเวณแหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุในเขตประเทศปากีสถานปัจจุบัน

ใยฝ้ายได้มาจากส่วนที่ห่อหุ้มเมล็ดของต้นฝ้าย หรือที่เรียกว่า ปุยฝ้าย ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ ฝ้ายมีคุณสมบัติเนื้อนุ่ม โปร่งสบาย ระบายความร้อนได้ดี เนื่องจากฝ้ายมีช่องระหว่างเส้นใย จึงเหมาะกับสภาพอากาศในฤดูร้อน และเมื่อเปียกจะตากแห้งได้เร็ว การใช้ฝ้ายมาใช้งานทำได้โดยนำฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้าย แล้วนำมาท่อเป็นผืนผ้า

dog fai 02

ผ้าฝ้าย หรือเรียกจากคำภาษาอังกฤษของผ้าฝ้ายว่า Cotton เป็นผ้าที่ใช้กันมากที่สุดในบรรดาเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เหมาะสมสำหรับการสวมใส่ในช่วงที่มีอากาศร้อนในฤดูร้อนอย่างประเทศไทย หรือสามารถสวมใส่ได้ทุกวันกับประเทศที่ภูมิอากาศร้อนชื้นทั้งปี เพราะในเนื้อเส้นใยฝ้ายนั้นสามารถซึมซับเหงือ และระบายออกได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เสื้อผ้าฝ้าย 100% จะมีราคาแพง ในปัจจุบันจึงมีเสื้อผ้าฝ้ายที่ทอผสมเส้นใยสังเคราะห์ลงไป เพื่อทำให้ราคาถูกลง แต่คนอีสานบ้านเฮานั้นร่ำรวยวัฒนธรรมจึงสวมใส่เสื้อผ้าฝ้าย 100% ได้อย่างซำบายใจ เพราะปลูกและทอกันเอง

dog fai 05

ผ้าฝ้ายทำมาจากใยฝ้าย ซึ่งได้จากต้นฝ้ายที่สามารถปลูกขึ้นได้ดีในแถบที่มีอากาศอุ่นชื้น และมีแดดจัด เมื่อผลฝ้ายแก่จัดแล้ว ผลจะแตกมีใยเป็นปุยขาว จึงเก็บมาแยกเอาเปลือกและเมล็ดออก แล้วนำไปปั่นเป็นเส้นใยและเส้นด้าย จึงจะสามารถทอเป็นผืนผ้าได้แล้วจึงจะสามารถใช้ประโยนช์จากผ้าฝ้ายได้ โดยการนำมาตัดและเย็บเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอย่างเช่น เสื้อยืด

ฤดูปลูกฝ้าย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่ต้องกำหนด เพราะปลูกฝ้ายก็เพื่อให้ได้ปุยฝ้ายสีขาวสะอาด ฉะนั้นจึงต้องกำหนดให้ฝ้ายไปแก่แตกปุยแตกสมอในเมื่อฝนหยุดแน่นอนแล้ว อายุของฝ้ายที่ปลูกเป็นอุตสาหกรรมโดยทั่วไป ตั้งแต่วันเริ่มงอกถึงวันแตกสมอ ใช้เวลาประมาณ 120 วัน ถ้าปลูกฝ้ายต้นฤดูเกินไป ต้นฝ้ายจะงามก็จริง แต่เมื่อฝ้ายแตกสมอแล้วฝนยังไม่หยุดทำให้ปุยฝ้ายเปียกเสียได้ และถ้าปลูกล่าเกินไปต้นฝ้ายก็จะเล็กได้ผลิตผลต่ำ ฉะนั้น ฤดูกาลสำหรับปลูกฝ้ายจึงต้องเลือกเอาเวลาที่จะให้ผลดีที่สุด เช่น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นท้องที่ที่ฝนหมดเร็วและดินไม่อุ้มน้ำนั้น จะต้องปลูกฝ้ายในระยะปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม จะให้ผลิตผลดี แหล่งปลูกฝ้ายในภาคอีสานมีมากที่จังหวัดเลย นคคราชสีมา และปลูกกระจายอยู่ทั่วไปในจังหวัดอื่นๆ

ให้ฮักแพงกันไว้ เด้อชาวไทย สิเฮืองฮุ่ง
ให้หุงข้าวน้ำ ยามไทบ้านอื่นมา
บุญบ้านเฮามาฮอดแล้ว เสียงแซวๆ คนมาร่วม
รวมพลังเด้อพี่น้อง เสียงกลองฆ้องสนั่นเมือง
สามัคคีกันเอาไว้ โฮมหัวใจให้เป็นหนึ่ง
บุญมาฮอดมาถึง ของบ้านเฮาเทื่อนี้ มีคุณค่าให้จื่อจำ
ให้ตุ้มโฮมกันเอาไว้ บุญบ้านเฮายามใด๋ให้คนส่า
บ่อึดเหล้า อึดยา ผลหมากรากไม้ อาหารพร้อมอยู่สู่แนว ”

                                             อัญญา บุญทอง วงศ์ปัดสา ผู้แต่งกลอน

 

คํากวีข้างบน เป็นบันทึกบรรยายลายผ้า "ฝ้ายมัดหมี่ย้อมคราม" ของตระกูล “วงศ์ปัดสา” ซึ่ง นายบุญทองและนางวัง วงศ์ปัดสา เป็นผู้ให้กำเนิดลายผ้า โดย นางวัง เป็นผู้ทอผ้าและมัดหมี่เป็นลายต่างๆ แล้วผู้สามีคือ นายบุญทอง เป็นผู้แต่งกลอน พร้อมเล่าเรื่องประกอบลายผ้านั้นๆ บทกวีบรรยายลายผ้าลายนี้ชื่อลาย “ตุ้มโฮม” หรือชื่อเต็มว่า “ลายตุ้มโฮม ฮักแพงแบ่งปัน” มีเรื่องเล่าว่า

“เกิดจากการตีกลองร้องป่าว ในสมัยก่อนการรวมตัวของชาวบ้าน เมื่อได้ยินเสียงกลองตุ้มโฮมที่วัด เพื่อจัดงานบุญของทุกปี เพื่อความสามัคคี รักใคร่ปรองดอง ของคนในหมู่บ้าน เวลาค่ำแลงลง ชาวบ้านก็รวมกัน กองประชุมทุกครัวเรือนก็จะส่งลูกชาย เพื่อร่วมแรงร่วมใจกัน การรำครั้งแรกของชาวบ้านกงพะเนียง คือ การรำตุ้มพาง เกิดจากชาวบ้านร่วมกันทำบุญ ตีฆ้องร้องป่าว และจุดธูปเทียน ขอเชิญพญานาคขึ้นมาร่วมบุญ มีนางรำคนหนึ่งเกิดเป็นลมล้มลง แล้วลุกขึ้นมาฟ้อนรำอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ชาวบ้านจึงถามว่า "รำอะไรสวยงามมาก" นางจึงตอบว่า “รำตุ้มพาง” พร้อมแสดงลีลาท่ารำให้ดู”

dog fai 11

ลายตุ้มโฮม จึงมีท่ารำตุ้มพางเป็นเรื่องเล่าประกอบ คําว่า “ตุ้ม” ก็คือเสียงกลองที่ตีดัง “ตุ้ม ตู้มๆๆ” อันเป็นที่มาของคำ “ทุ่ม” ที่บอกโมงยามนั่นเอง คำว่า “โฮม” หมายถึง “รวม” ในภาษาอีสาน "ตุ้มโฮม" จึงหมายถึงสัญญาณการประชุมรวมตัวกันที่วัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของประชาคมชาวบ้านแต่โบราณ

ผ้าฝ้ายมัดหมี่ย้อมครามเมืองเขมราษฎร์ธานี

สาวชาวอีสานในสมัยโบราณมีหน้าที่สำคัญคือ การถักทอเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้งเสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า หรือแม้แต่ผ้าห่ม หมอน ทุกอย่างล้วนต้องใช้ฝีมือและความอดทน แต่สตรีชาวอีสานก็ไม่ได้คร่ำเคร่งกับเรื่องการงานจนลืมเติมจินตนาการและศิลปะลงในผืนผ้าของตัวเอง

“คุณยายอัญญา วงศ์ปัดสา ได้มอบมรดกเป็นหีบใบเก่าที่ไม่มีใครกล้าเปิดดู จนทายาทของท่านลองเปิดดูก็พบผ้าซิ่นมัดหมี่ลายสวยมากมาย ป้าติ๋วเห็นแล้วชอบมากจึงนำมาหัดมัดลายตามที่ท่านเคยทำไว้ เป็นลายมัดหมี่ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และทุกผืนนั้นมีประวัติความเป็นมาของลายเขียนไว้หมด น่าทึ่งที่ผู้หญิงสมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็สามารถคิดลวดลายและเก็บเรื่องราวไว้ได้ในผืนผ้า” ป้าติ๋ว ธนิษฐา วงศ์ปัดสา ปราชญ์ด้านการทอผ้าชาวอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงที่มาของผ้าซิ่นลายสวย

ลวดลายที่ช่างทอผ้านำมามัดหมี่เป็นลายบนผ้าซิ่นนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ธรรมชาติรอบตัว ตลอดจนความเชื่อหรือแม้แต่นิทาน นอกจากผ้าทอ "ลายตุ้มโฮม" แล้ว ยังมีอีกหลายลายที่ได้รับการสืบทอดต่อมา พร้อมเรื่องเล่า อย่าง “ลายนาคน้อย”

dog fai 04

ในปี พ.ศ. 2427 มีเรื่องเล่าขานกันอยู่มิขาดระยะ คือ ชาวบ้านโคกกงพะเนียง ได้พบเห็นนางสองนาง (ไม่ปรากฎชื่อและที่อยู่) มายืมฟืมทอผ้า ในเวลาบ่ายคล้อยเกือบค่ำ ในวันศีล 5 พอดี วันนั้นมีลมพัดโชยมาเยือกเย็นผิดปกติ นางฟางนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน นางทั้งสองสวยผิวขาวเหลือง มีปิ่นปักผม 3 ช่อ ข้างหูทั้งสองข้าง ผมยาวถึงกลางหลัง นางยิ้มและพูดว่า “ข้ามาขอยืมฟืมเจ้าไปทอผ้าสัก 5-6 วันแล้วจะเอามาส่งคืน” นางฟางตอบว่า “ทำไมเร็ว จะทออะไรถึงได้ทอ 5-6 วัน” นางบอกว่า “ข้าจะทอผ้ามัดหมี่ลายนาคน้อย”

“เจ้าให้ยืมเถิด ข้าจะทอลายนาคน้อยมาให้เจ้าดู” แล้วนางฟางก็ถามว่า "บ้านเจ้าอยู่ที่ใด" นางตอบ “อยู่ฝั่งห้วยใกล้ๆ นี่เอง” นางฟางคิดว่าเป็นชาวบ้านท่าปัดซุม ฝั่งลาวนั่งเรือมายืมจึงให้ไป

5 วันต่อมาอากาศอึมครึม ลมเย็นๆ เช่นเดิม เวลาเดิม นางทั้งสองเดินเข้ามา “ข้าเอาฟืมมาส่งแล้ว” นางก็อวดผ้าซิ่น นางฟางรีบเดินมาขอดูใกล้ๆ ก็ตกใจ ลายผ้าเป็นตัวนาคน้อยจริงๆ นางบอกว่า “เจ้าทอลายนี้นะ ข้าจะอวยพร ใส่แล้วชาวบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข”

ถ้าเจ้าเห็นบั้งไฟผุดขึ้นเหนือน้ำ เจ้าอย่าพากันตกใจ คือพญานาคท่านมาอวยพรให้เจ้าอยู่เย็นเป็นสุข อายุมั่นขวัญยืน แล้วนางก็เดินจากไป นางฟางคิดว่าทำไมจึงอวยพรอย่างนี้ จึงรีบชวนนางจันนางยืนแอบตามไปส่องทางดูว่าจะกลับไปบ้านใด นางย่องไปจนถึงฝั่งโขงเห็นสองนางโบกมือลา นางฟางตกใจว่า กูอยู่ในป่ากล้วยแท้ๆ ทำไมนางถึงได้เห็น ภาพที่นางฟางได้เห็นคือ นางเดินลงน้ำ เห็นแต่เส้นผมฟูน้ำหายไป…ฯ”

dog fai 03

"ลายนาคน้อย" ที่เป็นหนึ่งใน 14 ลวดลายเก่าแก่มีปรากฏในบันทึกของบรรพบุรุษที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน ยังมีเรื่องเล่าในแต่ละลายผ้าที่ฝากภูมิประวัติที่เป็นตำนาน น่าศึกษาจดจำ อีกหลายลายเช่นลายที่ชื่อว่า “ลายช่อเทียน”

เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 ของเมืองสยาม ชาวบ้านโคกกงพะเนียงอยู่ในศีลกินในธรรมมาโดยตลอด ผู้ชายก็ออกรบอยู่ไม่ขาด ถ้าทางราชการต้องการก็จะส่งคนที่เก่งฟันดาบคาถาอาคมไปช่วยอยู่มิขาด เมื่อนางนวลตั้งท้องได้ 3 เดือน สามีของนางถูกส่งไปช่วยเหลือราชการแดนไกล เมื่อไปแล้วถูกส่งไปเรื่อยๆ จนถึงเมืองหลวง เพราะสามีนางเก่งกาจวิชาอาคมบู๊บุ๋น นางสวดมนต์ภาวนาเสมอ นางเป็นผู้นำชาวบ้านลงวัดผู้นำขึ้นบทสวด ผู้นำร้องสรภัญญะ เสียงของนางไพเราะ ใสเหมือนระฆัง นางเลี้ยงลูกได้ 9-10 ปี มีทหารขี่ม้าส่งข่าวสารเขียนว่า

ข้สบายดี จะได้กลับบ้านเราแล้ว ให้นำข่าวไปบอกญาติๆ ข้าด้วย คิดถึงทุกชั่วทุกยาม”
                                                                                                                                    ข้าคำหาญ

นางดีใจจนสุดที่จะบรรยาย นางได้จุดเทียนสวดมนต์ด้วยน้ำตา และตั้งใจว่าจะมัดหมี่ลายช่อเทียนเป็นครั้งแรก โดยจำลองเอาเทียนที่ตนไหว้พระสวดมนต์มาทำแนวลายมัดหมี่ นางมัดหมี่เพื่อจะใส่อวดสามีตอนกลับมา นางมัดเวลาพลบค่ำจนถึงไก่ขันจึงเสร็จ แสงเทียนนางสว่างทั้งคืน นางมัดเสร็จภายในคืนเดียว ตื่นเช้ามานางย้อมคราม นางมีเจตนาว่า ถ้าผู้ใดได้ใส่ผ้ามัดหมี่ลายนี้ นางขออวยพร มีกวีประกอบลายช่อเทียนว่า

เบิ่งแสงเทียนส่องไปในผืนผ้า เปรียบกับกาลเวลา
ผู้คอยถ่าสิเมิดห่วง ผู้ไม่อยู่เมืองหลวง เผิ่นสิคืนต่าวด้ง
มาบ้านถิ่นสถาน คนเมืองเขมผู้จากบ้าน ให้คืนมา
บริหารบ้านเมือง ให้ก้าวใหม่ ชีวิตลูกหลานต้องสดใส
นำความวิไลมาฮอดแล้วแสงเทียนได้ดอกฮุ่งเฮืองฯ เด้อ เมืองเขมเด้อ”

นอกจากลายเกี่ยวกับความเชื่อแล้ว ยังมีลายที่เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม เช่น ลายพานไหว้ครู ซึ่งเป็นลายที่ผู้คิดค้นทำขึ้นให้ลูกหลานที่เป็นครูบาอาจารย์ใส่เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีลายรั้วล้อมบ้าน ลายดาวเคียงเดือน ฯลฯ 

บางลายยังเป็นลายผ้าเฉพาะตัวของแต่ละตระกูล ที่ถ่ายทอดส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน เช่น "ผ้าลายหมากไม" ของ ปรียามาศ พวงพันธ์ ที่เป็นลายโบราณประจำตระกูลซึ่งเกิดจากการ "ฟั่น" หรือเอาฝ้ายต่างสีมาทอด้วยกันจนเกิดเป็นลาย ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับสืบต่อกันมา ถ้าเป็นสมัยก่อนทุกบ้านก็ยังทอผ้าใส่กันเองก็ทำสืบทอดกัน เพราะได้เห็นมาจากพ่อแม่ก็เอามาทำต่อ แต่เดี๋ยวนี้คนเขาไม่นิยมทำใส่กันแล้ว ปรียามาศกล่าวว่า ถ้าเราไม่ทำสักวันหนึ่งมันก็จะสูญหายไป ซึ่งการทอผ้าแต่ละประเภทก็มีความยากง่ายต่างกันขึ้นอยู่กับผ้าผืนนั้นเป็นผ้าประเภทอะไร ถ้าเป็นผ้ามัดหมี่หรือผ้าย้อมครามจะมีกรรมวิธีที่ยากและต้องใช้เวลา

สำหรับการสร้างลวดลายบนผ้า ซึ่งเรียกว่า "การมัดหมี่" นั้น มีวิธีทำโดยใช้เชือกฟาง (สมัยดั้งเดิมใช้เชือกกล้วย) มัดบนเส้นฝ้าย เพื่อสร้างลายบนผ้าก่อนจะนำไปย้อมคราม หลังจากปล่อยให้แห้งแล้ว เมื่อแกะเส้นเชือกออก ส่วนที่ไม่ถูกน้ำครามย้อมจะปรากฏเป็นลาย สำหรับนำไปสู่กระบวนการทอผ้าตามปกติ

dog fai 06

นั่นเป็นส่วนของ "การมัดลาย" ทว่ากว่าที่ผ้าฝ้ายจะกลายมาเป็นผ้ามัดหมี่ เพื่อการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าชุดสวยนั้นต้องผ่านขั้นตอนอีกมากมาย ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 เดือนกว่าจะสามารถเก็บดอกนำมา "อิ้ว" เพื่อให้เมล็ดฝ้ายหลุดออก แล้วนำไป "ดีด" ให้ฟู ตีให้แตก ก่อนจะนำมา "ล้อ" จนเป็นปอยฝ้าย แล้ว "เข็น" เป็นเส้น จากนั้นจึงนำมา "เปีย" หรือเรียงเส้นฝ้ายให้ยาวต่อกัน ซึ่งระหว่างกระบวนการนี้ จะต้องมีการแช่ในน้ำข้าวสุก เพื่อให้เส้นฝ้ายแข็งแรงและตากแดดให้แห้ง จึงนำไปสร้างลำผ้าและมัดหมี่ โดยต้องดึงให้แน่นเพื่อกันน้ำครามซึมถูกฝ้ายซึ่งจะทำให้ลายไม่สวย

dog fai 07

ทั้งนี้ การย้อมครามก็ต้องย้อมวันละครั้งจนครบ 8 วัน ตากแดดอีก 2 วัน นำมาล้างอีก 7-8 น้ำจึงจะตัดเชือกฟาง เพื่อนำมาใส่กรงปั่นในกระบวนการทอผ้า โดยการจะให้ผ้ามีความยาวผืนละ 2 เมตร ต้องใช้ฝ้ายถึง 1,400 เส้นไม่ขาดไม่เกิน เบ็ดเสร็จต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ จึงจะได้ผ้ามัดหมี่ที่สนนราคาจำหน่ายถึงผืนละ 1,500 บาท (ทำเอาไม่กล้าต่อรองราคากันเลยทีเดียว เห็นใจชาวบ้านเถอะ)

dog fai 08

ที่บ้านของ ป้าติ๋ว ธนิษฐา วงศ์ปัดสา ปัจจุบันตั้งเป็น "แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบสานวัฒนธรรม" ของ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เปิดให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้กระบวนการทอผ้า ตั้งแต่การปลูกฝ้าย ทำฝ้ายให้กลายเป็นเส้นด้าย การมัดหมี่ ย้อมครามและย้อมสีธรรมชาติต่างๆ ตลอดจนการทอเป็นผืน เพื่อถ่ายทอดให้เด็กๆ ในชุมชนและผู้ที่สนใจได้เรียนรู้

 รายการ ทุ่งแสงตะวัน ตอน ลวดลายเขมราฐ

ถ้าท่านไปเยือนจังหวัดอุบลราชธานี อย่าลืมไปอุดหนุนผลิตภัณฑ์ ผ้าฝ้ายมัดหมี่ สินค้าดีๆ จาก เมืองเขมราษฎร์ธานี กันนะครับ นอกจากการชมทัศนียภาพสวยงามริมโขง รับประทานอาหารอาหารจากปลาน้ำจืดแม่น้ำโขง ชมการแสดงทางวัฒนธรรม และเลือกซื้อสินค้าพื้นเมืองที่มีจำหน่ายได้อีกด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : งานทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐิน

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ : คราม

คราม ชื่อวิทยาศาสตร์: Indigofera tinctoria อยู่ในวงศ์ Leguminosae เป็นไม้พื้นเมืองในเอเชีย เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ฝักตรงหรือโค้งงอเล็กน้อย ใบประกอบแบบขนนก ดอกช่อ ใช้ทำสีย้อม ต้นครามมีกลูโคไซด์อินดิแคน เมื่อนำต้นไปแช่น้ำ สารนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นอินดอกซิล และเมื่อถูกอากาศจะถูกเปลี่ยนเป็นอินดิโก-บลู ให้สีคราม ใช้เป็นยารักษาอาการทางประสาท บรรเทาอาการปวดแผลที่เกิดในบริเวณเยื่ออ่อน

kram 01

คนสมัยโบราณนิยมนำกิ่งครามทั้งใบมาแช่น้ำด่าง เพื่อหมักเอาน้ำคราม มาย้อมผ้า สีที่ได้คือสีน้ำเงินเข้ม เรียกว่า สีคราม นั่นเอง แต่ต้องย้อมซ้ำหลายครั้ง ครั้งแรกๆ อาจได้เป็นสีฟ้าเข้ม ในการหมักนั้นมีกรรมวิธีที่เรียกว่าการ 'เลี้ยงคราม' หากทำไม่ถูกขั้นตอน ครามจะไม่ให้สี เรียกว่า 'ตาย' น้ำสีที่ยังไม่สมบูรณ์จะเห็นเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อโดนอากาศ จะเข้มขึ้นจนเป็นสีน้ำเงิน ถึงสีครามในที่สุด ชาวอีสานเรียก สีคราม ว่า สีนิล สีหม้อ หรือสีหม้อนิล ชาวอีสานนิยมนำไปย้อมผ้า และมัดเป็นลาย เรียกว่า ผ้าย้อมคราม

เทคนิควิธีการย้อมสีคราม

การย้อมสีจากคราม จะตัดต้นครามมาม้วนและมัดเป็นฟ่อนๆ นำไปแช่น้ำไว้ในภาชนะที่เตรียมไว้ประมาณ 2-3 วัน จนใบครามเปื่อย จึงแก้มัดครามออกเพื่อให้ใบครามหลุดออกจากลำต้น นำลำต้นทิ้งไป เอาปูนขาวในอัตราส่วนที่เหมาะสมกันกับน้ำที่แช่ครามผสมลงไปแทนต้นคราม จากนั้นนำเอาขี้เถ้าซึ่งได้จากเหง้ากล้วยเผาจนดำ หรือน้ำปูนขาว (ปูนจากเปลือกหอย) ผสมลงไป แล้วกดทับให้ครามจมน้ำ ไม่ให้ทำปฏิกิริยากับอากาศและพลิกกลับครามทุกวัน แช่ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 วัน หรือสังเกตน้ำที่หมักครามมีสีเหลือง รินน้ำสีเหลืองทิ้งไป จะได้น้ำสีครามตามต้องการ อาจใช้ผ้าขาวบางกรองเพื่อจะได้น้ำสีครามที่ละเอียด

kram 02

การนำน้ำครามไปย้อมเส้นใย ควรปรับค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ให้เหมาะสมประมาณ 9.7 โดยใช้น้ำด่างธรรมชาติและน้ำมดแดง จากนั้นนำเส้นใยมาย้อมแบบย้อมเย็น การย้อมครามอีกวิธีหนึ่งเป็นวิธีการย้อมที่รวดเร็วได้แก่ การนำเอาครามเปียก ก้อนคราม หรือผงครามมาย้อมเส้นใย โดยใช้สารละลายด่างโซดาไฟละลายเนื้อครามแล้วเติมสารพวก Reducing agent เช่น น้ำตาลร่วมกับผงเหม็น (Sodium hydrosulfite) จนน้ำครามเป็นสีเชียวเหลือง และมีฟองสีน้ำเงิน ปรับความเป็นกรดด่าง โดยการเติมกรดน้ำส้มให้ pH น้ำย้อมอยู่ที่ 6.1-6.5 แล้วนำเส้นใยมาย้อมด้วยกรรมวิธีการย้อมเย็น นานประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อครบนำเส้นใยมาล้างด้วยน้ำสะอาด จากนั้นนำเส้นใยมาย้อมทับอีกครั้งจะได้สีน้ำเงินหรือสีฟ้าเข้ม

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)