คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
วันนี้อยากเล่าเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับฅนอีสานบ้านเฮา ในเรื่อง "การมีครอบครัว การครองรักครองเรือน" กันสักหน่อย เพราะปัจจุบันนี้ประเพณีดีๆ แบบในอดีตเริ่มจะเลือนหายตายจาก เพราะต่างก็หันไปนิยมเอาประเพณีแบบทางภาคกลาง หรือแบบชาวตะวันตกมาใช้กันหมดแล้ว (เพราะอารยธรรมจากดินแดนต่างๆ นั้นได้ถูกการสื่อสารสมัยใหม่รุกเข้ามามากจนตั้งรับไม่ทัน ทั้งจากสื่อภาพยนตร์ สื่อโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทำให้เกิดเห็นต่าง ชอบใจ เข้าใจว่ามันทันสมัยมากกว่า รวมทั้งมันดูมีหน้าตา ดูเท่ ทันสมัยกว่าด้วย) จนไม่มีใครกล่าวถึงเรื่องพิธีการสู่ขอ การหมั้น การแต่งดองกันแบบอีสานแท้ๆ นั้นเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน
โบราณอีสานนั้นเชื่อกันว่า หนุ่ม-สาว ที่จะได้ครองคู่อยู่สองกันนั้นจะต้องมี "ดวงสมพงษ์คู่กัน" หรือมี "สายแนน" กันมาแต่ชาติปางก่อน ถ้าใครเป็นแฟนละครเรื่องนาคี 2 คงจะจำเพลง "สายแนนหัวใจ" ของ ก้อง ห้วยไร่ ที่มีตอนหนึ่งว่า
…คือจั่งภาพเหล่านี้เคยเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็จำบ่ได้ว่าเกิดขึ้นตอนใด๋ อยู่ในความทรงจำหรือว่าแค่ฝันไป ทั้งที่หัวใจบ่เคยเชื่อเรื่องแบบนี้เลย… ”
ซึ่งเนื้อหาสื่อถึงความรู้สึกตอนเจอกันครั้งแรกของหนุ่ม-สาว แต่กลับรู้สึกคุ้นเคยกันมานาน ทั้งที่ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน และเป็นสิ่งที่ไม่อาจหาคำตอบให้กับตัวเองได้ แปรเปลี่ยนไปเป็นความรัก “สายแนนหัวใจ” จึงเป็นเพลงลูกทุ่งอีสาน ที่นำเสนอความหมายของว่าสายแนนได้อย่างน่าสนใจ
คำว่า “สายแนน” ในภาษาอีสาน หมายถึง คู่สร้างคู่สม เนื้อคู่ สายใยในชาติก่อน ซึ่งมักจะมาพร้อมกับคำว่า “สายมิ่ง” ที่มีความหมายเดียวกัน ดูได้จากสำนวนคำผญาที่กล่าวไว้ว่า “กกมิ่งกกแนน สายมิ่งสายแนน” ดังที่คุณพ่อ ดร.ปรีชา พิณทอง ได้ให้ความหมายไว้ใน สารานุกรมภาษอีสาน-ไทย-อังกฤษ ไว้ว่า
สายแนน น. คู่สร้างคู่สม คู่ครองที่เคยร่วมกันมาหลายภพหลายชาติ เรียก สายแนน สายมิ่งสายแนน สายบุพเพสันนิวาส กกแนน ก็ว่า. spouse, the same spouse of many reincarnations.
กกแนน น. คู่ครองที่เคยอยู่กินกันมาหลายภพหลายชาติ หรือที่โบราณเรียกว่าบุพเพสันนิวาสนั้น เรียก กกแนน กกมิ่ง กกแนน สายมิ่ง สายแนน ก็เรียก อย่างว่า อันหนึ่งกกแนนเจ้าขูลูบาบ่าวทังอ่อนน้อยยังเกี้ยวกอดกันบ่เด (ขูลู). the same spouse of many reincarnations. "
ชาวอีสานแต่ดั่งเดิมมีคติความเชื่อที่ว่า ความรักเกิดจากฟ้า (แถน) เป็นผู้กำหนดถึงความเหมาะสมของคนทั้งคู่ โดยมีกุศลผลบุญในอดีตชาติเป็นเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถคาดเดาได้ นอกจากต้องทำพิธีกรรมเพื่อถามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนฟ้า จึงนำไปสู่การประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า “เสี่ยงสายแนน”
การเสี่ยงสายแนน เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของทางภาคอีสาน ที่มีความเกี่ยวข้องกับ “พญาแถน” เทวดาผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ ใช้เสี่ยงทายเพื่อดูความสมพงษ์ของคู่บ่าวสาว และเป็นประเพณีของกลุ่มไทลาวโบราณที่เคยมีมาก่อน ปัจจุบันได้สูญหายไปจากสังคมของชาวอีสานแล้ว เหลือปรากฏอยู่ในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่อง “ขูลู-นางอั้ว” หรือตำนานรัก “โรเมโอ แอนด์ จูเลียต แห่งแดนอีสาน”
วรรณกรรมเรื่อง "ขูลูนางอั้ว" ในฉบับที่จัดพิมพ์โดย โรงพิมพ์ศิริธรรม ของคุณพ่อ ดร.ปรีชา พิณทอง บรรยายถึงพิธีกรรมนี้ เป็นฉากที่ นางพิมพากาสี แม่ของท้าวขูลู ยกขบวนจากเมืองกาสี แล้วชักชวนให้นางจันทาแม่ของนางอั้ว ทำพิธีเสี่ยงสายแนน เพื่อดูว่าลูกๆ ของตนเป็นคู่แท้ของกันและกันหรือไม่
การประกอบพิธีเสี่ยงสายแนน ผู้ประกอบพิธีเป็นคนทรงหญิง เรียกว่า “แม่ม้อน” ซึ่งในพิธีมีอยู่หลายคน คอยทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อสื่อสาร โดยมีผีเป็นสื่อกลางระหว่าง แม่ม้อนกับพญาแถน เพื่อถามในสิ่งที่อยากรู้ ระหว่างนั้นแม่ม้อนจะขับร้อง ฟ้อนรำ ตามดนตรี ปี่ แคน ฆ้อง กลอง ที่บรรเลงไปด้วย และเมื่อพญาแถนทราบถึงจุดประสงค์ของพิธี พร้อมกับเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดมาถวายจากผีที่เป็นสื่อกลาง พญาแถนก็จะพาผีไปดูคู่ครองของแต่ละคน ซึ่งมีลักษณะเป็นลำต้นพันเกี่ยวกันเป็นคู่เรียกว่า “กกแนน” ในสวนแนนบนสวรรค์
หากกกแนนเกี่ยวพันกันตั้งแต่โคนจรดปลาย ก็แสดงว่าเป็นคู่ครองกัน แต่ถ้ากกแนนเกี่ยวพันกันแต่ปลายแตกออกจากกัน ก็หมายถึงเป็นเนื้อคู่แต่ก็อยู่ด้วยกันได้ไม่นาน หรือไม่ได้ครองคู่กันในชาตินี้ เมื่อทราบผลจากสิ่งที่เห็น ผีจะลงมารายงานให้กับแม่ม้อนทราบ เพื่อนำเรื่องไปรายงานให้กับเจ้าของพิธี เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการเสี่ยงสายแนน
ในวันต่อมาหลังจากประกอบพิธีเสี่ยงสายแนนแล้ว จะมีการ “แข่งกอน” เพื่อยืนยันผลการเสี่ยงทายของคนทั้งคู่ หลังจากได้รับคำตอบจากพิธีในวันแรก โดยหนุ่มสาวจะยืนเรียงแถวกันคนละฝั่ง ผลัดกันโยนกอนผลัดกันรับกอน กอนที่ใช้โยนนั้นทำจากไม้ขนาดพอดีมือ มีเส้นฝ้ายหรือไหมผูกเป็นหาง ประดับประดาอย่างสวยงาม หากคู่ใดโยนรับ-ส่งกอนไม่ตกหล่นถือว่าคู่นั้นเป็นคู่กัน
ผู้บ่าวผู้สาวชาวอีสาน จิตรกรรมฝาผนังวัดป่าเรไรย์ จังหวัดมหาสารคาม
ภาพจากหนังสือ ฮูบแต้ม ในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง สำนักพิมพ์มติชน
เรื่องขูลูนางอั้วทำให้เราทราบถึงพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ที่เคยเกิดขึ้นในวัฒนธรรมอีสานโบราณ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่า “สายแนน” มาจากไหน และมีลักษณะเป็นอย่างไร
สายแนน จึงอาจเปรียบได้กับบุพเพสันนิวาสในรูปแบบสายสัมพันธ์ ที่พันเกี่ยวกันมาแต่ชาติปางก่อนของชาวอีสาน ในคำจำกัดความที่ว่า “สายแนนหัวใจ”
ชายหญิงที่สมสู่อยู่ร่วมกันโดยฐานะเป็นผัวเมียกัน เรียกว่า คู่ครอง โบราณแยกคู่ครองไว้ 2 พวก คือ พวกหนึ่งเคยอยู่ร่วมในชาติปางก่อน (สายแนน) อีกพวกหนึ่งได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในปัจจุบัน การเลือกคู่ครองตาม "หนังสือธรรมดาสอนโลก" ว่าไว้ดังนี้
การเลือกคู่ครองหากไม่สามารถเว้นได้จากสาเหตุข้างบน ถ้าเลือกได้ดีทำได้ถูก มีความรักความเข้าใจที่ดีต่อกัน ซื่อสัตย์มั่นคงต่อกัน ก็จะมีความสุขความเจริญ อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง ถึงทุกข์จนมาก่อน ก็จะมั่งมีกลายเป็นเศรษฐีไปก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่คู่ครองนั้นจะมีความรักสมัครสมาน ถูกต้องปรองดองกันได้น้อยมากเพียงใด หากเลือกแล้วแต่ไม่ได้ดี หรือหาดีไม่ได้ถือว่าเป็นกรรมของเราอยู่ก็ไม่ดี หนีก็ไม่รอด ให้ถือว่า กกมิ่งแขวน กกแนนห้อย ดังภาษิตโบราณว่า "ชะตามาตกนี่จำหนีก็ได้อยู่ แผ่นดินท่อหมากบ้า แผ่นฟ้าท่อด้งหม้อน ขอเมี้ยนกระดูกดอม"
ลักษณะของชาย ชายที่ดีต้องประกอบด้วยลักษณะดังนี้
ลักษณะของหญิง หญิงที่ดีต้องประกอบด้วยลักษณะดังนี้
ดังภาษิตว่า "หญิงใดสมบูรณ์ด้วยเฮือนสามน้ำสี่ เป็นหญิงดีเลิศล้ำสมควรแท้แม่เฮือน" [ อ่านเพิ่มเติม : เฮือน 3 น้ำ 4 ]
ในปัจจุบัน หลายคนอาจจะคุ้นชินกับภาพของการแต่งงานตามแบบชาวตะวันตก ที่มีทั้งการตัดเค้กก้อนใหญ่ รินแชมเปญ หรือโยนช่อดอกไม้ให้สาวคนที่คาดว่าจะได้แต่งงานเป็นคนต่อไป แต่ใครจะรู้ว่าแท้ที่จริงชาวไทยเราเองก็มีประเพณีการแต่งงานที่เป็นแบบเฉพาะดั้งเดิม และสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อย่างประเพณีการแต่งงานของชาวอีสาน ซึ่งชาวอีสานเรียกขานประเพณีแต่งงานนี้ว่า "ประเพณีกินดอง" ซึ่ง "ดอง" มาจาก "การสมสู่อยู่ร่วมกันของชายหญิง" ส่วน "กิน" ก็มาจากการไปร่วมรับประทานอาหารเฉลิมฉลอง ดังนั้น "กินดอง" จึงหมายถึงการไปร่วมงานมงคลเพื่อเป็นสักขีพยานในการครองคู่กันของคู่บ่าว-สาว ซึ่งในอดีตก็มีเพียงญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือของทั้งสองฝ่ายเท่านั้นเองที่มาร่วมงาน
ในการแต่งงานนั้นจะมีชื่อเรียกอยู่ 2 แบบ คือ อาวหมงคล และ วิวาหมงคล ความต่างกันคือ
ขั้นตอนในการจัดพิธีแต่งงานแบบชาวอีสานแท้ๆ นั้นค่อนข้างจะมีความซับซ้อนอยู่ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยความหมายลึกซึ้งในทุกขั้นตอน ก็ขอเล่าเอาเป็นฉบับย่อๆ ก็มีขั้นตอนดังนี้
จะแต่งงานทั้งทีก็ต้องไปสู่ขอให้เป็นเรื่องเป็นราว เพื่อบอกให้ญาติทั้งสองฝ่ายรับรู้ การสู่ขอ หรือเรียกว่า การโอม (บางพื้นที่เรียกว่า การขอเมีย) ที่ถูกต้องตามประเพณีของชาวอีสานคือ การที่ฝ่ายชายต้องพาผู้ใหญ่มาเป็นเถ้าแก่สู่ขอฝ่ายหญิง แต่จะไปตัวเปล่าก็ไม่ได้ จะต้องเตรียมสิ่งของสำคัญประกอบด้วย ขันใส่หมากจีบ พลูพัน พร้อมด้วยเงินอีก 3 บาท (ซึ่งถือว่าเป็นเลขมงคล) ซึ่งเรียกกันว่า "เงินไขปาก" จากนั้นพ่อแม่ฝ่ายหญิงก็จะหยิบหมากพลูในขันมาเคี้ยว 2 คำพอเป็นพิธี ก่อนที่จะพูดคุยตกลงเรื่องสินสอดกันในลำดับต่อไป
หลังจากที่ทำการสู่ขอและตกลงเรื่องฤกษ์งามยามดีกันเรียบร้อย ก็ถึงเวลาพูดคุยกันเรื่องสินสอดทองหมั้น ซึ่งในภาษาอีสานเรียกกันว่า "ค่าดอง" ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้หญิง (แม่) ทั้งสองฝ่ายที่จะตกลงเจรจากัน เมื่อตกลงกันได้แล้วระหว่างที่รอให้ถึงวันหมั้นหรือวันแต่งงาน ฝ่ายชายก็มีหน้าที่ตระเตรียมเงินทองมาเป็นค่าดอง ส่วนฝ่ายหญิงก็มีหน้าที่จัดเตรียมสถานที่ ที่นอนหมอนมุ้งและของรับไหว้ต่างๆ (ในภาษาอีสานเรียกของ "สมมา" หรือ "สมา")
หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า วันมือเต้า และ วันมื้อโฮม คือวันทำอะไร
เมื่อถึงวันแต่งงาน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเคลื่อนขบวนขันหมากไปที่บ้านของฝ่ายหญิง นำขบวนโดย "เจ้าโคตร" ซึ่งควรจะเป็นผู้ที่อาวุโสที่สุดในครอบครัวของฝ่ายชาย ตามด้วยเจ้าบ่าว มีพาขวัญ (พานบายศรี) ซึ่งต้องถือโดยหญิงสาวที่บริสุทธิ์เท่านั้น ถัดมาจึงค่อยเป็นขันเหล้า ขันหมากพลู ขนมนมเนย และญาติพี่น้องฝ่ายเจ้าบ่าวตามลำดับ ระหว่างเคลื่อนขบวนก็จะมีการบรรเลงเพลงฟ้อนรำไปด้วย เพื่อสร้างความสนุกสนานครึกครื้น และเป็นการประกาศให้ชาวบ้านแถวนั้นรู้ว่ากำลังจะมีงานแต่งงาน เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว เจ้าโคตรและเจ้าบ่าวจะต้องทำการล้างเท้าบนหินลับมีดที่ปูรองด้วยใบตอง ถือว่าเป็นการแสดงความเคารพ (เห็นสมัยหลัง จะมีการให้เด็กที่เป็นน้องหริอลูกหลานฝ่ายเจ้าสาวตักน้ำล้างเท้าให้เจ้าโคตรและเจ้าบ่าว ซึ่งฝ่ายเจ้าบ่าวต้องมีของ(ซอง)กำนัลแก่เด็กๆ ด้วย อันนี้ก็ธรรมเนียมในสมัยหลังๆ)
เมื่อเข้าไปในบ้านของฝ่ายหญิงได้แล้ว (กว่าจะผ่านได้ต้องหมดซอง/เหล้า เพื่อกำนัลให้เปิดกั้นประตูเงินประตูทองหลายชั้น น่าจะเป็นธรรมเนียมภายหลัง) ก็ถึงขั้นตอนที่ฝ่ายชายจะทำการส่งมอบสินสอด ให้ญาติทางฝ่ายหญิงเป็นผู้นับ และโปรยเมล็ดข้าวเปลือก ถั่ว และงา ลงบนสินสอด ซึ่งถือว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีความเป็นสิริมงคล เงินทองจะได้งอกเงยดังเช่นเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ เมื่อเสร็จสิ้นญาติฝ่ายเจ้าสาวจะพาเจ้าบ่าวไปที่ "ห้องส้วม" (ห้องหอ) เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่า เจ้าบ่าวจะต้องมานอนกับเจ้าสาวที่ห้องนี้ ขณะเดียวกันญาติของฝ่ายเจ้าบ่าวที่เป็นผู้หญิงก็จะพาเจ้าสาวไปที่ห้องเพื่อรอทำพิธีสู่ขวัญ
สำหรับพิธีสู่ขวัญนั้นเป็นพิธีที่จะต้องกระทำโดย หมอสูตร หรือหมอพราหมณ์ ชาวบ้านเรียก "พ่อหมอสูด หรือพราหมณ" ซึ่งจะทำการสวดอัญเชิญเทวดาอารักษ์มาอวยพรให้แก่บ่าวสาว บ่าวสาวจะต้องนั่งเคียงคู่กัน โดยเจ้าสาวจะนั่งทางฝั่งซ้ายของเจ้าบ่าว เมื่อสวดเรียบร้อยหมอสูตร หรือหมอพราหมณ์จะนำไข่ต้มบนยอดพาขวัญ (บายศรี) มาแบ่งครึ่ง เพื่อให้บ่าวสาวกินกันคนละครึ่งฟอง เรียกว่า "ไข่ท้าว" กับ "ไข่นาง" จากนั้นก็ผูกข้อไม้ข้อมือให้ทั้งสอง ซึ่งถัดมาผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานทุกคนจะต้องผูกข้อมือให้บ่าว-สาว พร้อมกับกล่าวคำอวยพรไปด้วย จึงจะถือว่าเสร็จสิ้นพิธีสู่ขวัญ
นอกจากจะกราบไหว้ญาติผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความเคารพและขอขมาแล้วนั้น ตามประเพณีของชาวอีสานดั้งเดิม บ่าวสาวจะต้องมอบของแด่ผู้ใหญ่ด้วย สิ่งของที่ต้องมอบให้คือ ผ้าโสร่ง 1 ผืน เสื้อผู้ชาย 1 ตัว ให้แก่พ่อของทั้งสองฝ่าย และผ้าซิ่น 1 ผืน พร้อมด้วยเสื้อผู้หญิงอีกหนึ่งตัว ให้แก่แม่ของทั้งสองฝ่าย พร้อมด้วยใบและดอกรักที่มัดห่อเทียนขาวด้วยด้ายขวัญ จากนั้นผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ก็จะอบรมสั่งสอนในเรื่องของการครองเรือนต่อไป รวมทั้งญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถืออื่นๆ ก็จะได้รับการขอขมาจากบ่าวสาวและรับพรเช่นกัน
ในส่วนของพิธีส่งตัวนั้น ไม่ได้มีความแตกต่างจากพิธีแต่งงานของภาคอื่นๆ มากนัก เริ่มต้นตั้งแต่การปูที่นอน จะต้องให้ผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่เป็นผู้ปูที่นอนให้ โดยจะจัดวางหมอนของเจ้าบ่าวไว้ทางด้านขวา ในตำแหน่งที่สูงกว่าหมอนของเจ้าสาวในด้านซ้ายเล็กน้อย จากนั้นผู้ใหญ่ทั้งสองจึงทำพิธีนอนเอาฤกษ์ ทำเป็นหลับฝันได้รับแก้วแหวนเงินทองค่าล้ำ ทำเสียงไก่ขันแล้วลุกมาเล่าความฝันสู่กันฟัง ก่อนจะชวนกันไปจูงมือคู่บ่าวสาวเข้ามาในห้องหอที่จัดเตรียมไว้ เมื่อให้โอวาทแก่คู่บ่าวสาว ในการครองรักครองเรือนจนเรียบร้อย ก็ถือว่าเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานตามแบบฉบับของชาวอีสานแล้ว (ส่วนการโปรยเงินทองเป็นแบงต์ เป็นเหรียญให้คู่บ่าวสาวได้ช่วยกันเก็บว่าใครจะได้มากกว่า แต่ก็ต้องมอบให้ฝ่ายหญิงเก็บกำ นั่นก็เป็นธรรมเนียมในสมัยหลังๆ ดอกเด้อ ผู้ชายจะได้มากน้อยก็ต้องมอบให้ฝ่ายหญิงอยู่ดีนั่นแหละ)
ชาวชนบทอีสานนิยมสร้างที่อยู่อาศัยด้วยวัสดุที่หาได้ง่าย สร้างแบบหยาบๆ เพียงเพื่อการอยู่อาศัยชั่วคราว เพียงพอสำหรับการอยู่อาศัยของครอบครัวเดี่ยวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าชาวอีสานจะมีวิถีการปลูกเรือนอาศัยที่เรียบง่ายไม่เรื่องมาก แต่แท้จริงแล้วการครอบครอง “เรือน” หรือ “เรือนใหญ่” ซึ่งน่าจะหมายถึง ที่อยู่อาศัยที่มีบริเวณกว้าง และมีความคงทนถาวร ก็เป็นความความมุ่งหวัง และเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งของชาวอีสานในอดีตเช่นกัน
“เรือนใหญ่” ต้องมีห้องอะไรบ้าง?
เรือนใหญ่ หรือเรือนประธานต้องมีห้อง 3 ห้อง อันได้แก่ ห้องเปิง (ห้องผีหรือห้องพระ) ห้องกลาง (ห้องนอนพ่อและแม่) และห้องส้วม (อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นห้องสุขานะ เดี๋ยวอธิบายให้ทราบ)
เมื่อหลายปีก่อนมีคำถาม มาจากเยาวชนรุ่นหลัง (ลูกอีสานบ้านเฮานี่หละ) ว่า ได้เบิ่งรายการ "เกมทศกัณฑ์ ยกสยาม" ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี ว่ามีการถามถึงความหมายคำศัพท์ภาษาอีสานว่า "ส้วม" หมายถึงอะไร ในคำตอบวันนั้นเฉลยว่า หมายถึง "ห้องนอน" คนรุ่นผู้ใหญ่อย่างรุ่นผมนี่ คงไม่สงสัยอะไร แต่รุ่นหลังข้องใจมาก ถึงกับก่นด่ารายการ และตัวพิธีกร คุณปัญญา นิรันดร์กุล ว่าไปเอาคำเฉลยมาจากไหน ไม่เคยได้ยินมาก่อน "แบบนี้ดูถูกคนอีสานชัดๆ"
ผมเลยตอบไปว่า "เขาดูถูกเราจริงๆ ดูไม่ผิดเลย คำตอบคือ ส้วม หมายถึง ห้องนอน ถูกต้องแล้วคร๊าบ..!!! แต่ห้องนอนที่ว่านี่เฉพาะเจาะจง ต้องเป็นห้องนอนของลูกสาวและลูกเขยนะครับ คงจะเคยได้ยินภาษิตที่ว่า มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน อย่าเข้าใจว่า "สิมีไผแวะมาขี้ใส่ส้วม แล้วบ่ล้างเด้อ..."
ความหมายของภาษิตนี่หมายถึง ต้องคอยระมัดระวัง ไม่ให้ไอ้หนุ่มหน้าไหนมาแอบเจาะไข่แดงลูกสาว ก่อนเวลาอันสมควร เพราะถ้าเฝ้าไม่ดีอาจมีเสียงนินทาว่าร้ายในภายหลังได้ มาที่คำว่า "ส้วม" จากหนังสือสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง ให้ความหมายของส้วมดังนี้
ห้องส้วม ในเรือนอีสานไม่ได้หมายถึงห้องน้ำ หรือห้องสำหรับถ่ายหนักเบา ตามที่เข้าใจในสังคมปัจจุบันแต่หมายถึง “ห้องนอน” เป็นห้องสำหรับให้ลูกผู้หญิงที่โตเป็นสาวแล้วนอนรวมกัน สำหรับลูกที่ยังเล็กๆ ให้นอนรวมกับพ่อแม่ หรือบางครั้งก็นอนรวมกับพี่ๆ ตามความสะดวกของแต่ละบ้าน ส่วนลูกชายนั้นไม่มีห้องที่แน่นอน จะให้ไปนอนห้องไหนเรือนใครก็ตามสบาย เพราะถือว่าไม่เสียหายในทางสังคมเท่าลูกสาว
ห้องส้วม จะถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “บ่อนนอนพี่อ้าย” หรือที่แปลได้ว่า “ห้องนอนพี่เขย” เมื่อลูกสาวคนโตแต่งงาน และฝ่ายชายย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านฝ่ายหญิงตามธรรมเนียมการแต่งเขยเข้าบ้านของชาวอีสาน โดยห้องที่ฝ่ายชายจะใช้อาศัยร่วมกับลูกสาวคนโตของบ้านนี้ก็คือ ห้องส้วม หลังจากที่ลูกเขยคนโตของบ้านย้ายเข้ามาอยู่ในห้องส้วมแล้ว ลูกสาวคนอื่นๆ ก็ต้องย้ายไปนอนที่ห้องกลางของพ่อแม่ และพ่อแม่ก็ต้องย้ายไปนอนที่หน้าห้องกลางไม่ก็ที่ห้องเปิงเลย
จะเห็นได้ว่า เมื่อแต่งเข้าเขยคนหนึ่ง ก็ต้องขยับขยายย้ายที่นอนกันทั้งบ้าน ดังนั้นคำถามที่ตามมาคือ "ถ้าลูกสาวคนถัดมาแต่งเขยเข้ามาอีกคน พ่อแม่และลูกคนอื่นๆ จะย้ายไปนอนที่ไหนได้อีก? เพราะห้องส้วมก็มีเพียงห้องเดียว"
ปัญหาข้อนี้ ชาวอีสานมีทางแก้ไขตามผญาภาษิตที่กล่าวว่า “น้ำใหม่เข้า น้ำเก่าออก” หมายถึง หากมีเขยใหม่เข้ามาอยู่ร่วมเรือนแล้ว เขยเก่าก็ต้องแยกเรือนออกไปทำมาหากิน สร้างเนื้อสร้างตัวใหม่เอง โดยพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะมอบที่นาให้เป็นทุน ดังนั้น "น้ำใหม่ไล่น้ำเก่า" ในที่นี้ก็หมายถึง "เขยใหม่ไล่เขยเก่า" ไล่กันต่อไปเรื่อยๆ นั่นเอง
ข้อมูลจากบทความ : “ส้วม ห้องนอนในเรือนอีสาน” เขียนโดย สมชาย นิลอาธิ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2535
ครอบครัวขยายเริ่มด้วยการอาศัย "ตูบต่อเล้า" ก่อนมีบ้านเฮือนถาวรต่อไป
เมื่อเขยเก่าแยกครอบครัวออกไปเพื่อเริ่มต้นสร้างฐานะนั้น ก็จะได้ที่นามาจากพ่อตา-แม่ยายมาเท่านั้น ส่วนเรือนก็อาจจะยังไม่มีกำลังในการสร้างให้มั่นคงแข็งแรงได้ ก็มักจะสร้างแบบชั่วคราวก่อน โดยอาศัยการต่อเติมจากเล้าเข้า (ยุ้งข้าว) เรียกเฮือนนี้ว่า "ตูบต่อเล้า" เมื่อได้ลงแรงทำนาไปแล้วสัก 2-3 ปี ระหว่างนั้นก็จะได้ตระเตรียมไม้เนื้อแข็งไว้ทำเสา คาน ขื่อ ตง ฝาผนัง หาใบหญ้าแฝกมาทำไพหญ้าไว้มุงหลังคา เมื่อพร้อมแล้วก็จะหาแรงเพื่อนบ้านในการลงแขกสร้างบ้านหลังใหม่ของตนเองต่อไป
ประเพณีอีสาน “แตกบ้าน” ไม่ใช่ “บ้านแตก” พ่อแม่ ญาติพี่น้องยังปรองดองสามัคคีกันดีอยู่ คำว่า “แตกบ้าน” หมายถึง การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปหาที่อยู่แห่งใหม่ เนื่องจากที่อยู่เดิมนั้นเกิดเหตุเภทภัย มีสิ่งอวมงคลต่างๆ เกิดขึ้น ผู้คนอยู่ไม่เป็นสุขหรือเกิดโรคระบาดรุนแรงในชุมชน เช่น โรคห่า (อหิวาต์) ฯลฯ สาเหตุเหล่านี้ผู้คนจึงต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน เพื่อไปหาที่อยู่ที่ทำกินแห่งใหม่ ชาวอีสานเรียกว่า แตกบ้าน หรือ ไปหาบ้านใหม่
แต่ประเพณีแตกบ้านของชาวอีสานนั้นไม่ได้หมายถึงว่า ต้องอพยพไปอยู่อย่างถาวร ประเพณีแตกบ้าน คือ การอพยพชั่วคราวตามประเพณีความเชื่อ ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ในอดีตจะไม่มีพิธีทางสงฆ์มาเกี่ยวข้อง แต่ปัจจุบันนิยมนิมนต์พระสงฆ์ ไปฉันภัตตาหารเพลเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มูลเหตุมาจากชาวบ้านเชื่อว่า "ถ้าปีใดวันขึ้นหรือแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันอังคาร หรือ ขึ้นหรือแรม 5 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันอังคาร ในปีนั้นต้องมีการแตกบ้าน โดยเชื่อว่าวันนั้นคือวันแข็ง วันร้อน, วันอุบาทว์, วันโลกาวินาศ, วันไม่เป็นมงคล และจะทำการสิ่งใดก็ไม่ดีไม่งาม จึงมีการทำพิธีแตกบ้าน ย้ายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว เพื่อแก้เคล็ดให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข"
เมื่อถึงวันดังกล่าวมาบรรจบกัน ปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้นำทางพิธีกรรม จะป่าวประกาศให้ชาวบ้านรับรู้ว่า วันนี้ต้องมีการแตกบ้านตามประเพณี (ผู้สูงอายุที่ไปไหนไม่สะดวกก็ให้เฝ้าบ้าน) ให้พากันเตรียมตัวเตรียมข้าวของเสบียง และเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค เมื่อทุกอย่างพร้อมสรรพ ปราชญ์ชาวบ้านจะอุปโลกน์สมมุติให้ผู้สูงอายุคนหนึ่ง นุ่งผ้าขาว ห่มขาว สะพายย่าม ถือดาบ มาเรียกคนในหมู่บ้านแล้วพูดว่า
ให้เจ้าไปอยู่ยั้งบึงใหญ่นทีทอง ที่นั่นเป็นสถานซุ่มเย็นเลิงเรื่อย จนว่าแสงสูรย์เศร้ามัวเมาคล้อยค่ำ ยามตูดซ้ายสาแล้วค่อยมา ”
แปลว่า "ให้พากันย้ายไปอยู่ที่ริมหนองน้ำเพราะที่นั่นอุดมสมบูรณ์ ให้อยู่จนกระทั่งเย็นจึงค่อยกลับมา"
จากนั้นผู้สูงอายุก็จะพาลูกหลานเดินทางออกจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออก และหาที่พักใกล้แหล่งน้ำ หรือหนองน้ำ กลุ่มผู้ชายก็จะออกไปหาอาหารที่มีในท้องถิ่นนั้น เช่น แย้ กระปอม นก ปลา กุ้ง หอย ฯลฯ ส่วนกลุ่มผู้หญิงก็จะเตรียมทำอาหาร ประเภท ส้มตำ ต้มหอย ปิ้งกะปอมทำก้อย ต้มปลา เพื่อรอชาวบ้านมารับประทานร่วมกันเป็นวงใหญ่ (เป็นการโฮมไทบ้านกินเข้าป่านำกันนั่นเอง) ช่วงเวลาพักผ่อนมีการเล่นพนันเพื่อความสนุกสนานด้วย อาทิ ไพ่ ไฮโล ไก่ชน เป็นต้น เป็นภาพบรรยากาศที่ได้เห็นความสมัครสมานสามัคคี เปี่ยมด้วยความฮักแพงแบ่งปัน ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของของชุมชนอีสาน
เมื่อถึงตอนเย็นได้เวลากลับ จะมีปราชญ์ชาวบ้าน (ท่านเดิม) แต่งชุดพราหมณ์นุ่งขาวห่มขาวสะพายย่ามและถือดาบ เดินไปเรียกชาวบ้านกลับ (เสมือนหนึ่งมีผู้มีบุญมาเชิญกลับบ้าน) เมื่อพ่อพราหมณ์เดินมาถึง ชาวบ้านก็จะสมมุติถามขึ้นว่า
พ่อเอ้ย แม่นเจ้าลุกแต่ห้องสถานถิ่นแดนใด ใจประสงค์สันน้อจั่งล่วงมาทางนี้ พวกข้าหนีเข็ญเข้าฮอดสะพังเซาฮ่ม แตกบ้านมาอยู่นี้แต่เช้าดอกนา... ”
แปลว่า "พ่อเอ้ย ท่านมาจากไหนถึงได้มาทางนี้ พวกข้าพเจ้าแตกบ้านจึงพากันหนีร้อนมาพึ่งเย็นอยู่ที่นี่"
พ่อพราหมณ์จะตอบกลับว่า “กูนี้มาแต่บ้านอยู่ซุมกินเย็น บัดนี้เข็ญกายหนีจากไปไกลแล้ว แม่นว่าโภยภัยฮ้ายอันตรายบังเบียด หรือว่าผีโขมดฮ้ายกะไปพร้อมพร่ำกัน ให้สูคืนเมือบ้านที่อยู่ภูมิสถาน ที่นั่นโสภางามศีลธรรมจริงแท้ ให้สูคืนเมือถ้อนฮอดยามแลงมันสิค่ำ พ่อนี้มาบอกเจ้าให้ฟ้าวต่าวเมีย ดอกนา ไปๆลูกหลานเอ้ย เมือบ้านเมือเฮียน โพยพะยาดกายไปแล้ว บาดนี้ให้อยู่ดีมีแฮง” แปลว่า เรามาจากบ้านที่มีความอยู่เย็นเป็นสุข เหตุเภทภัยอันตรายสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลาย ได้หายไปหมดสิ้นแล้ว ให้พวกท่านพากันกลับบ้าน และต่อไปนี้ขอให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วยเถิด
จากนั้นชาวบ้านก็พากันเดินทางกลับบ้าน มีการเป่าแคนร้องลำอย่างสนุกสนาน เมื่อมาถึงบ้านคนที่เฝ้าบ้านไม่ได้ไปด้วยก็ให้พูดว่า “พึ่งมาถึงเหมือนกัน” ห้ามบอกว่าอยู่นี่ไม่ได้ไปไหนเด็ดขาด ถือเป็นอันเสร็จพิธีแตกบ้านของชุมชนอีสาน
การแตกบ้านของชุมชนอีสานคือความเชื่อของผู้คนในท้องถิ่น ที่มีการยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน ถึงแม้ในปัจจุบันเป็นยุคเทคโนโลยีที่เจริญแล้ว ผู้คนก็ยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมนี้อยู่ ซึ่งได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่คอยเกื้อกูลกันอย่างไม่เสื่อมคลาย
อ้างอิง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : การเลือกคู่ครอง | การแต่งงานแบบอีสาน | แซนการ์ แต่งงานอีสานใต้ | ซัตเต แต่งงานชาวกุย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)