foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

santar kmer wedding

การแต่งงาน เป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชีวิตคนทุกคนในโลกใบนี้ ทั้งในประเทศไทยภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันตก-ตะวันออก และภาคอีสาน เพราะเป็นวันแห่งการสร้างสถาบันครอบครัว สร้างอาชีพ สร้างทายาทของวงศ์ตระกูลให้ดำรงอยู่ สืบสายสกุลรุ่นสู่รุ่น ซึ่งการจัดการตามประเพณีแต่ละถิ่นที่ก็จะมีพิธีกรรม ขั้นตอน แตกต่างกันออกไป ในบทความนี้จะกล่าวถึง การจัดงานแต่งงานตามแบบพี่น้องอีสานใต้ (ที่มีเชื้อสายเขมรในประเทศไทย) เรียกว่า พิธีแซนการ์

พิธีแซนการ์

การจัดงานแต่งงานตามแบบประเพณีเขมร จะนิยมจัดขึ้นในช่วงตั้งแต่ เดือนแคปะกุล - เดือนแคเจต (เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนเมษายน) การเตรียมงานในสมัยเมื่อ 20 - 30 กว่าปีก่อน ถือเป็นงานพิธีที่ยุ่งยากและพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ต้องเตรียมงานกันข้ามปีเลยทีเดียว ในสมัยปัจจุบันช่วงเวลาในการจัดงานแต่งงานอาจทำได้ตลอดทั้งปี ยกเว้นเฉพาะช่วงเข้าพรรษา และเดือนห้าเท่านั้น

santar kmer 06

ในธรรมเนียมโบราณนั้น "ช่วงเข้าพรรษาคือช่วงห้ามจัดงานแต่งงาน" เพราะแต่เดิมช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ท่านจะไม่รับกิจนิมนต์ จะจำพรรษาแต่ในวัด เนื่องด้วยการเดินทางไม่สะดวกสบายอย่างในปัจจุบัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านจึงบัญญัติไว้ว่า ห้ามภิกษุจาริกไปยังที่ต่างๆ ในระหว่างพรรษาเพราะการเดินทางจะเหยียบย่ำพืชพันธ์ในไร่นาชาวบ้านให้เกิดความเสียหาย ตามธรรมเนียมโบราณเพื่อความเป็นสิริมงคลในงานแต่งงาน ผู้รดน้ำสังข์คือพระสงฆ์ และต้องมีจำนวนเลขคู่จึงจะเป็นมงคล ทำให้พระสงฆ์ท่านเดือดร้อนในการเดินทาง ซึ่งอาจกินเวลาหลายวันหรือข้ามวันนั่นเอง จึงไม่มีการจัดงานแต่งงานในช่วงนี้ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปก็อาจจะเห็นการจัดงานกันอยู่ ด้วยเหตุผลว่า "ถ้ายืดออกไปเด็กที่เกิดมาจะมีอายุครรภ์ไม่ครบ 9 เดือนกระมัง" (ความเห็นนี้เป็นของอาวทิดหมูเด้อครับ 🙂) ส่วนการห้ามทำพิธีแต่งงานในเดือนห้าหรือเดือนเมษายน ข้อห้ามนี้น่าจะเกี่ยวกับความร้อนแห่งฤดูกาล และแห้งแล้งไม่เหมาะสมนัก การแต่งงานทำให้ร้อนรนไม่เป็นมงคล ครอบครัวอาจแตกแยกได้ (แต่สมัยนี้แต่งงานในห้องแอร์โรงแรมใหญ่อาจจะไม่ร้อนเหมือนในอดีต)

แต่ละคู่รัก บ่าว-สาว ที่จะจัดพิธีแซนการ์ (หรือแต่งงาน) จะกำหนดงานให้มีจำนวน 2 - 3 วัน โดยแบ่งเป็น "วันรวมญาติพี่น้อง" หรือ "วันสุขดิบ", "วันแต่ง" และ "วันส่งตัว" (ตามความเหมาะสม ช่วงหลังๆ รวบรัดเหลือแค่ 2 วัน โดยรวมวันแต่งกับวันส่งตัวเข้าด้วยกัน)

ในสมัยโบราณ การเลือกคู่ครองมักจะเกิดจากการหมั้นหมาย การเลือกให้โดยญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เห็นพ้องต้องกันมาก่อน ที่เรียกกันว่า "การคลุมถุงชน" อาจจะเป็นเพราะการต้องดำรงเผ่าพันธุ์ในกลุ่มที่เหมาะสมทางด้านชนชั้น หรือฐานะที่เสมอกันก็เป็นได้ แต่หนุ่ม-สาวไทยในปัจจุบัน (ทุกภาค รวมทั้งในกลุ่มเขมรอีสานใต้ด้วย) มีอิสระในการเลือกคู่ครองด้วยตนเอง เมื่อรักใคร่ชอบพอกันแน่นอนแล้ว ก็จะบอกให้ญาติผู้ใหญ่รับรู้ โดยพ่อ-แม่ฝ่ายชายก็จะไปเยี่ยมเยียน เพื่อทำความคุ้นเคยกับทางฝ่ายหญิง จากนั้นก็จะส่งเฒ่าแก่ไปทำการ "ซูร์" (หมั้น) เริ่มต้นด้วยการทาบทามด้วย เหล้า 1 ขวด หมากพลู 1 พาน เทียน 1 คู่ ทางฝ่ายหญิงเมื่อพอใจยินดีก็จะเรียกค่าสินสอด (ตามความพอใจ) เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้ว ก็จะนัดวันดีเพื่อทำพิธีแต่งงานต่อไป

 

กันตรึมร่มเย็น ประยูรญาติน้อย มงคลจองได

การเตรียมตัวเจ้าสาว

ฝ่ายเจ้าสาว จะเตรียมทำฟูก (ที่นอน) หมอน ผ้าสมมา (ผ้าไหว้ขอขมา) ญาติผู้ใหญ่ให้ครบ (สมัยโบราณนั้น ต้องมีการทอผ้า ต่ำหูก ตัดเย็บ ใช้เวลาหลายเดือน กว่าจะแล้วเสร็จ แต่ปัจจุบันสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ทันใจกว่า) เตรียมเจียนหมาก ตากแห้งไว้เป็นของชำร่วย เพื่อแจกญาติพี่น้อง ตัวเจ้าสาวเองต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน (ทอผ้า เย็บผ้า ในสมัยก่อน) ก่อนถึง "ไงแซนการ์" หรือ "วันแต่ง"

การเตรียมตัวเจ้าบ่าว

ทางฝ่ายเจ้าบ่าว ก็ต้องเตรียมหมากแห้งไว้แจกแขกเช่นกัน ทำบายศรีสู่ขวัญเจ้าสาว เตรียม "จำแน็ย" คือ อาหารสด (ประกอบด้วยเนื้อ หมู ไก่ ปลา) ผักต่างๆ ฯลฯ ตามแต่ฝ่ายเจ้าสาวจะเรียกร้อง เพื่อนำไปใช้ในวันงานสำหรับการจัดเลี้ยงแขก รวมทั้งเงินทองค่าสินสอดด้วยให้พร้อม

จูนจำแน็ย (วันสุกดิบ)

ก่อนวันแต่ง 1 วัน เจ้าบ่าวต้องส่งขบวนสัมภาระ "จำแน็ย" (อาหารสด เนื้อ หมู เป็ด ไก่ ผักต่างๆ สำหรับการประกอบอาหารเลี้ยงแขก ตามคำขอฝ่ายเจ้าสาว) เหล่านี้ไปยังบ้านเจ้าสาว ถ้าเกิดมีลางร้าย (เตรียมไม่พร้อม ไม่พอ หรือเกิดอุบัติเหตุ) ก็อาจจะเลิก หรือเลื่อนวันแต่งงานออกไปก่อนก็ได้

ไงแซน (วันพิธีแต่งงาน)

ที่บ้านเจ้าสาว ต้องมี "พราหมณ์" หรือ "อาจารย์" เจ้าพิธีผู้ดำเนินการด้านพิธีกรรม มาเตรียมการดังนี้

  • บายศรี หรือ บายแสร็ย พร้อมเครื่องบริวาร มีดอกไม้ เทียน ข้าวต้มมัด กล้วย ขนมตามความพอใจ มีด้ายผูกข้อมือ (เมาะจองได)

bai sri

  • ปะรำพิธี มีเสากลางตกแต่งด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อยและดอกไม้ สำหรับเซ่นสรวงเทพ มี "ปะต็วล" แขวนหัวเสา (ปะต็วล เป็นภาชนะที่ทำจากหวายหรือไม้ไผ่ จักสานให้เป็นรูปทรงกรวย ขอบบนเป็นหยักโค้ง 6 หยัก มีด้ามยาวประมาณ 1 ศอก เป็นอุปกรณ์สำหรับการเซ่นสรวงเทพยดา) ปัจจุบัน เพื่อความสะดวกอาจใช้ตัวบ้านแทนปะรำพิธี แต่ต้องมีเสากลางบ้าน (ถ้าไม่มีจะแก้ไขด้วยการนำไม้ไผ่มาตั้งตรงกลางบ้านแทน เพื่อแขวนปะต็วล)

santar kmer 07

  • บอนเจาะกราบ (ฟูกนั่งสำหรับบ่าว-สาว) บนฟูกจะวางหมอนหันไปทาง "ปะต็วล" วางเครื่องบริวารที่เตรียมไว้โดยรอบ เช่น พาน ผ้าไหม เงิน หมากพลู กรวย ดอกไม้ ขันข้าวขวัญ (ข้าวสุกปั้น ไข่ต้ม มีกรวยใบตองคว่ำไว้) ขันน้ำมนต์ เป็นต้น
  • การแห่ขันหมาก ขบวนขันหมากฝ่ายเจ้าบ่าว นำหน้าด้วยพราหมณ์ มีมโหรีนำหน้าขบวน แห่พานบายศรี เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษ พร้อมบริวาร ถาดขนม สินสอด ขันหมาก และเต่า เข้ามายังปะรำพิธีที่บ้านเจ้าสาว ซึ่งได้จัดเตรียมไว้แล้ว โดยต้องเดินรอบปะรำ 3 รอบ พราหมณ์ฝ่ายเจ้าบ่าวจะตกลงต่อรองกันกับพราหมณ์ฝ่ายเจ้าสาว เพื่อขอเข้าไปนั่งในปะรำพิธี

santar kmer 01

เพลงกันตรึมแห่ขันหมากจะดังขึ้น พร้อมกับขบวนฟ้อนรำของฝ่ายเจ้าสาวอย่างสนุกสนาน พอได้เวลาพราหมณ์ฝ่ายเจ้าสาว จะขอนับค่าสินสอดที่เรียกว่า ขันสลา (ขันหมาก) และข้าวของเครื่องใช้ ขนม นม เนย ว่าครบตามที่กำหนดหรือไม่ (ของเหล่านี้พ่อแม่จะต้องแบกรับขึ้นไปบนบ้าน) และขณะทำพิธีห้ามพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเข้ามายุ่งเกี่ยว หรือเข้าใกล้ภายในปะรำพิธีโดยเด็ดขาด ในเวลาขณะนี้จะเป็นพิธีสำคัญของพราหมณ์ โดยเริ่มให้เจ้าบ่าว-เจ้าสาวไหว้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อให้รับทราบเครือญาติสายตระกูล

santar kmer 02

  • การเข้าสู่ปะรำพิธี ทางญาติฝ่ายหญิงจะมารับ และนำเข้าสู่ปะรำพิธี เบิกตัวเจ้าสาว เมื่อเข้านั่งเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเป็นการมอบของกำนัน ที่เจ้าบ่าว-เจ้าสาวจะมอบให้แก่ญาติฝ่ายตรงกันข้ามคือ หมากพลูบุหรี่ เหล้ารินให้จิบ แล้วญาติจะตอบแทนด้วยเงินเล็กๆ น้อยๆ แก่เจ้าบ่าว-เจ้าสาวในพิธี ไหว้เรียกว่า "พิธีสัมเปี๊ยะ" คือ พิธีไหว้นั่นเอง จากนั้นเฒ่าแก่ฝ่ายชายจะมอบ "เฮ็บ" และ "ท็อง" คือ พานหมากพลู พ่อแม่เจ้าสาวก็จะรับและแก้ห่อผ้าออกหยิบกิน เพื่อเป็นการยอมรับ
  • เจาะกราบ บ่าวสาวลงนั่งบนฟูก กราบอาจารย์ (หรือพ่อพราหมณ์) แล้ววางมือคว่ำลงบนเต้าปูนเหนือหมอน เจ้าบ่าววางมือทับบนหลังมือเจ้าสาว
  • การเซ่นผี อาจารย์หรือพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีจุดเทียน เชิญผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่น ผู้เฒ่าจะมารินน้ำรินเหล้าใส่เครื่องเซ่น แล้วยกออกไป
  • การสู่ขวัญเจ้าบ่าวเจ้าสาว ที่เรียกว่า "เฮาปลึงมงกวลจองได" หมายถึง การสู่ขวัญผูกข้อมือ โดยพราหมณ์สู่ขวัญเป็นภาษาเขมร และมีการโปรยข้าวสารเรียกขวัญ ตามด้วย "พิธีประจีร์" และ ผูกข้อมือจากญาติๆ การเรียกขวัญ อาจารย์จะสวดให้พร แล้วหยิบด้ายมงคลมาปั่นบนหลังมือแล้วปัดรังควานออกจากตัว โยนด้ายทิ้ง
    หลังจากนั้น อาจารย์จะบอกให้บ่าวสาวหงายมือขึ้น ครั้งนี้มือเจ้าบ่าวจะอยู่ล่าง ญาติพี่น้องจะเข้ามาใช้มือรองรับศอกเจ้าบ่าวไว้ อาจารย์จะใช้ด้ายมงคลปั่นข้อมือบ่าวสาว โดยหันเข้าหาตัว 19 ครั้ง ผู้ร่วมงานจะร้องแซ่ซ้องพร้อมกันว่า "โม…เยอ…" พอเสร็จอาจารย์จะยืนขึ้นเซ่นสรวงเทวดาบนปะต็วล ทุกคนจะร้องรับ "เจ…ยอง…เจ เป็ง…ยอง…เป็ง" อาจารย์จะหยิบอาหาร เครื่องเซ่นมาป้อนบ่าวสาวคนละคำ จากนั้นแขกเหรื่อก็เข้ามาผูกข้อมือ อวยชัยให้พร ให้เงินของขวัญ แล้วจึงกินเลี้ยงกัน

santar kmer 03

  • ส่งตัวเจ้าสาว เจ้าสาวหาบน้ำ เจ้าบ่าวแบกฟืน หางขบวนช่วยกันแบกฟูก หมอนและผ้าไหว้ พาแห่ไปบ้านเจ้าบ่าว มอบหมากพลูขอทางผ่าน ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรับน้ำและฟืนไป เจ้าบ่าวเกี่ยวก้อยเจ้าสาวขึ้นเรือน
  • การขึ้นเรือน ญาติฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นมาล้างเท้าให้คู่บ่าวสาวก่อน แล้วให้เหยียบบนกระเชอใส่ข้าวเปลือก เหล้า ผ้าขาว และขวาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองเป็นสุข พอขึ้นเรือนแล้ว ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะนำน้ำขมิ้นและหม้อข้าวเก่ามาให้เจ้าสาวล้างก้นหม้อ แสดงความยินยอมพร้อมใจจะเป็นแม่ศรีเรือน แล้วมอบฟูกหมอนให้พ่อแม่เจ้าบ่าว

santar kmer 04

จากนั้นจะเป็นพิธีกรรมของพราหมณ์ท่ามกลางเพื่อนเจ้าบ่าว-เจ้าสาว และญาติพี่น้องที่อยู่ในเรือนหอ ส่วนกิจกรรมที่ปะรำพิธีจะปัดกวาดจัดเตรียมที่จะยกสำรับ เครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษมาเซ่นให้ทราบว่า ลูกหลานแต่งงาน ของสิ่งนี้เรี่ยกว่า "สแนแซน" (เครื่องเซ่น) โดยมีญาติฝ่ายชายและหญิงมาร่วมพิธี

  • หลังจากนั้น เจ้าบ่าวจะต้องกลับไปบ้านของตนเพื่อเตรียมการในช่วงบ่าย ที่เจ้าสาวจะแห่ไปทำพิธีไหว้ของสมมามอบแก่ญาติฝ่ายชาย โดยขบวนของเจ้าสาวจะพร้อมด้วยเครื่องไหว้ เป็นฟูกหมอนผ้าไหมจัดเป็นชุดตามจำนวนของญาติฝ่ายชายที่จะมอบ เรียกว่า "สำรับสมา" หมายถึงของไว้หรือของสมมา และเจ้าสาวต้องหาบน้ำขมิ้นน้ำหอมไปอาบให้พ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวใน "พิธีงูดตึก" (อาบน้ำ) เมื่อมาถึงบ้านเจ้าบ่าวเพลงกันตรึมดังขึ้น และขบวนฟ้อนรำของฝ่ายหญิงฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนานบริเวณลานบ้าน การอาบน้ำให้พ่อแม่ฝ่ายชาย ต้องจุดเทียนกราบพ่อแม่ก่อน แล้วนำน้ำที่เจ้าสาวหาบมาจากบ้านมาอาบให้พ่อแม่ แล้วมอบผ้าสมมาให้ผลัดเปลี่ยนนุ่งห่มใหม่
  • ไหว้และมอบผ้าสมมาให้ญาติเจ้าบ่าว ซึ่งจะได้รับเงินของขวัญตอบแทนจนคุ้มราคา
  • ไหว้เจ้าบ่าว (พละกันเลาะ) เจ้าสาวไหว้ด้วยโสร่ง เสื้อขาวคอกลม พร้อมสไบสองผืน เจ้าบ่าวจะมอบของขวัญให้ เมื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ เจ้าสาวจัดขนม ผลไม้ น้ำ เหล้าให้กิน
  • การเสี่ยงทาย จะมีสำรับอาหารตั้งไว้ให้บ่าวสาวตักป้อนกันและกัน ใครตักข้าวก่อนตักกับข้าว แสดงว่ารู้จักอดออม ประหยัด ใครตักกับก่อนแสดงว่าฟุ่มเฟือย ทางญาติจะเตือนฝ่ายหญิงให้รู้จักอดออมให้มาก

santar kmer 05

  • จากนั้นพรามหมณ์ก็จัดทำพิธีให้เจ้าสาวจุ่มคว้านมือลงในหม้อดิน ปิดปากหม้อด้วยใบตอง โดยภายในมีแหวนทองเป็นของกำนัลแก่ฝ่ายเจ้าสาว และตามด้วยพิธีโยนไม้คานข้ามศรีษะของเจ้าบ่าวเจ้าสาวไปด้านหลัง ซึ่งข้างหลังจะมีคนคอยรับ เชื่อว่าใครรับได้จะเป็นคนต่อไปที่จะได้แต่งงาน คล้ายกับการรับช่อดอกไม้ในพิธีของคริสต์

จะเห็นว่าการแต่งงานของชาวอีสานใต้นั้น เน้นการขอบคุณและระลึกถึงเทพ ผีบรรพบุรุษ และยังไม่ละทิ้งตำนานและความเชื่อเรื่องความรักของเจและยอง จะพบว่า "ปะต็วล" เป็นสัญลักษณ์เด่นที่สุดในปะรำพิธี (โรงเรือน) และในขบวนแห่นั้น "เต่า" เป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงจัดเข้าเป็นส่วนประกอบของการแห่ และที่สำคัญคือ "ตัญญูปะกำ" เป็นเครื่องเซ่นผีบรรพบุรุษที่จะลืมไม่ได้ในพิธีแซนการ์ เพราะพิธีการจะเน้นการระลึกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : การเลือกคู่ครอง | การแต่งงานแบบอีสาน | แซนการ์ แต่งงานอีสานใต้ | ซัตเต แต่งงานชาวกุย

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)