คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
โดย ติ๊ก แสนบุญ
ความตาย คือ กฎของธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ปรากฏอยู่ เป็นสัจจะธรรมในทุกสรรพสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถหลีกหนีได้ และการตายก็คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ลดความอหังการ และยังช่วยบรรเทาอัตตา ตัวกู ของกู รวมถึงพวกกู จนเกิดวลีกินใจ เช่น ยิ่งใหญ่คับฟ้ามาจากไหนก็เล็กกว่าโลง (โลงศพ) หรือวลีที่ชวนให้ปลงสลดซึ่งได้ยินอยู่เสมอๆ ในงานศพ เช่น เกิดมาก็มาแต่ตัวจนเมื่อสิ้นลมตายไป ก็ไปแต่ตัวไม่สามารถเอาอะไรไปได้สักอย่าง (แม้แต่สังขารร่างกายของตัวเอง) ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นลาภยศสรรเสริญที่ไขว่คว้าแย้งชิงมา สุดท้ายก็เหลือเพียงแต่เถ้าถ่าน และคุณงามความดีที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับคนอื่น และสังคม เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้ระลึกนึกถึงตนเอง (ในแง่ดีๆ)
พิธีเผาศพตามประเพณีพื้นเมืองสองฝั่งโขง ภาพเขียนลายเส้นของชาวยุโรป ช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕
ดังนั้น พิธีกรรม ที่ถือว่าแรกเริ่มสุดของมนุษย์ จึงน่าจะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย โดยเฉพาะการจัดการกับศพซึ่งมีอยู่หลากหลายรูปแบบ นับตั้งแต่ฝังเผา รมควัน อาบน้ำยา ดอง กินทั้งดิบ หรือ สุก (ตามความเชื่อว่า เพื่อสืบทอดสิ่งสำคัญของบรรพบุรุษไว้ให้ลูกหลาน) ปล่อยให้เน่า หรือทิ้งไปเฉยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่านิยมทางวัฒนธรรมที่มนุษย์มีต่อชีวิตและปัจจัยอื่นๆ ทางสังคมวัฒนธรรม เช่น เพศ สถานภาพ อายุ ตำแหน่ง ลักษณะการตายรวมทั้งสภาพแวดล้อมของแต่ละสังคม ที่ทำให้มีพิธีกรรมที่แตกต่างกันไป โดยพิธีกรรมต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อว่า ความตายมิใช่เป็นเพียงจุดสิ้นสุดของชีวิตโดยสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังคือการเปลี่ยนสภาพจากโลกที่อาศัยอยู่ หรือจากสิ่งที่มีชีวิตอยู่ไปสู่อีกโลกหนึ่ง หรืออีกสภาวะหนึ่ง โดยอาศัยพิธีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพของศพเช่น การปล่อยให้เน่าเปื่อย ให้นกกากินเหลือแต่กระดูก หรือการเผา (ปราณี วงษ์เทศ 2543) และตัวพิธีกรรมได้สร้างบทบาทสถานะภาพใหม่ให้กับผู้ตาย ที่แสดงการแบ่งแยกระหว่างคนตายและคนเป็น ดั่งมีหลักฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้วว่า
ผู้คนในอุษาคเนย์เชื่อว่า คนตายจะไปอยู่ในดินแดนบรรพบุรุษ ภาพสลักบนกลองมโหระทึกชิ้นหนึ่ง แสดงการเดินทางของวิญญาณผู้ตายไปยังดินแดนบรรพบุรุษโดยทางเรือ บรรพบุรุษในดินแดนแห่งนี้คือ "พลังชีวิต" หรือ พลังที่ก่อให้เกิดความงอกงามบนพื้นโลก อาจติดต่อกับลูกหลานในโลกได้โดยผ่านพิธีกรรม และตราบเท่าที่ลูกหลานยังรักษาความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษไว้ พลังชีวิตก็จะหลั่งลงมาแก่ชีวิต และแผ่นดินของลูกหลานต่อไป (นิธิ เอียวศรีวงศ์ 2551)
ในด้านพัฒนาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี พิธีศพของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญ หรือธรรมดา เครือญาติจะเก็บศพไว้หลายวันหลายคืน เพื่อส่งวิญญาณ โดยกินเลี้ยงกับกินเหล้า แล้วขับลำบอกเล่าเรื่องราวของเผ่าพันธุ์ พิธีศพของไทยที่เก็บศพไว้ฉลองนานวันก็มาจากประเพณีดึกดำบรรพ์ 3,000 ปีมาแล้วอย่างนี้เอง โดยเมื่อครบกำหนดที่ตกลงกัน ก็จะมีการแห่ศพที่อาจห่อหุ้มด้วยเครื่องจักสาน อย่างใบไม้ไปฝังบริเวณที่กำหนด รู้กันว่าเป็นสถานที่เฉพาะที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้าน มีเสาไม้ปักไว้เป็นเครื่องหมายล้อมรอบ ต่อมาใช้แผ่นหินเป็นแท่งเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตามฐานะของชุมชน แท่งหินนี้ คนปัจจุบันเรียก "หินตั้ง" ซึ่งต่อไปเมื่อรับพุทธศาสนาแล้วเรียกว่า เสมาหิน หรือ ใบเสมา ในปัจจุบัน (สุจิตต์ วงษ์เทศ 2549)
โดยคติการทำหลักไม้ หรือ หลักหินตั้ง ที่เป็นเครื่องหมาย เพื่อกำหนดรู้ขอบเขตที่ตั้งบริเวณที่เผ่า หรือบริเวณที่ฝังหม้อกระดูกคนตายดังกล่าวนี้ ยังพบเห็นได้โดยทั่วไปในสังคมชนบททั้งในฝั่ง สปป.ลาว และไทยอีสาน ซึ่งชาวอีสานนิยมเรียกว่าหลักไม้นี้ว่า "หลักเส" (หลักไม้หรือหลักหินดังกล่าวนี้ เดิมทีจะพบเห็นอยู่ตาม ป่าช้า คำนี้เป็นภาษาภาคกลางในภาษาเก่าเรียก ป่าเลว ป่าเห้วหรือป่าเปลว โดยทั้งหมดล้วนมีความหมายว่า ไม่ดี ดั่งคำว่า เลว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน โดยเป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษที่ต้องให้ความเคารพยำเกรง)
ต่อมาภายหลังมีการปรับเปลี่ยน โดยนำกระดูกคนตายไปเก็บรักษาไว้ที่วัดแทน เนื่องจากในยุคหลังมีการสร้างเมรุเผาศพตามแบบอย่างวัฒนธรรมหลวงในวัด (เพราะคนอีสานจะไม่เก็บกระดูกคนตายไว้ที่บ้าน ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมภาคกลาง) จึงปรากฏ หลักเส อยู่ในพื้นที่วัด และส่งต่อรูปแบบสู่พัฒนาการทางศิลปะงานช่างที่เรียกว่า ธาตุไม้ สำหรับเก็บกระดูกอยู่ตามริมรั้วกำแพงวัด (ปัจจุบันถูกขโมยไปขายอยู่ตาม ร้านค้าของเก่า ริมรั้วตลาดนัดจตุจักรกรุงเทพฯ!?) อันแสดงให้เห็นถึงการสืบทอดคติพิธีศพครั้งที่ 2 เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว
บรรจุภัณฑ์แห่งความตาย ในด้านรูปแบบมีความหลากหลาย ตามลักษณะท่าทางการเก็บรักษาศพ ไม่ว่าจะเป็นท่านอนเหยียดยาว ซึ่งมีพัฒนาการมากว่า 10,000 ปีมาแล้ว หรือท่านั่งงอเข่า ซึ่งมีมากว่า 3,000 ปี ทั้งหมดได้ก่อเกิดเป็นงานช่าง อย่างเช่น บางเผ่าพันธุ์ที่อยู่ใกล้ลำน้ำหรือทะเล ก็จะทำโลงศพที่มีลักษณะอย่างรูปเรือ ดังปรากฏหลักฐานที่หน้ากลองมะโหระทึก แต่บางเผ่าพันธุ์ทำโลงศพด้วยไม้ที่ขุดเป็นรางหรือโลงไม้ รูปร่างคล้ายเรือหรือรางเลี้ยงหมูในปัจจุบัน เอาศพวางในราง แล้วช่วยกันหามไปไว้ในถ่ำหรือเพิงผาแหล่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ พิธีศพครั้งที่ 2 เริ่มจากครั้งแรกเอาคนตายไปฝังในดินไว้ให้เนื้อหนังเน่าเปื่อย ยุ่ย สลาย ไปกับดินจนเหลือแต่กระดูก แล้วทำครั้งที่ 2 ด้วยการเก็บกระดูกใส่ภาชนะ เช่น ไหหิน ที่ทุ่งไหหินใน สปป.ลาว หม้อดินเผา ใส่กระดูกพบทั่วไปแต่ขนาดใหญ่ พบแถบทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นแบบ “แคปซูล” ประเพณีอย่างนี้พบทั่วไปทั้งผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ แล้วสืบถึงยุคทวารวดีพบภาชนะใส่กระดูกที่ทำด้วยหินก็มี ทำด้วยดินเผาแกร่งก็มี ปัจจุบันก็คือ โกศ (เรื่องเดียวกัน.2549)
ในวิถีสังคมชนเผ่าอย่าง กลุ่มข่า หรือ ขมุ ใน สปป.ลาว และที่เวียดนาม ยังนิยมทำโลงไม้ที่มีการแกะสลักเป็นรูปหัวสัตว์ สัญลักษณ์ทางความเชื่ออย่างรูปพญานาค รูปควาย หรือวัว หรืออย่างในวัฒนธรรมลาวลุ่ม จะนิยมทำโลงศพแบบลักษณะปากผาย ที่เรียกว่า หีบศพ โดยมีการตกแต่งส่วนบนด้วยธาตุบัวเหลี่ยม มียอดนพศูร ซึ่งลักษณะหีบศพดังกล่าวนี้ยังมีรูปแบบคล้ายกับรูปทรงของหีบพระธรรม และส่วนฐานในงานสถาปัตยกรรมที่เรี่ยกว่า ฐานเอวขันปากพาน ซึ่งปรากฏอยู่ในรูปทรงหีบศพ ในวัฒนธรรมลาวทั้งในอีสาน ล้านนา ล้านช้าง ในวัฒนธรรมเขมรก็ปรากฏ โลงศพ แบบที่เรียกว่า โลงถัง บ้างก็เรียกว่า โลงเขมร ซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยมตั้งฉาก (อย่างโรงศพของภาคกลางในปัจจุบัน) ที่ปากโลงไม่ผายออกอย่างวัฒนธรรมลาว
อัตลักษณ์ร่วมในเชิงช่างสกุลไท-ลาว กับการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมในบริบทใหม่
ศิลปวัฒนธรรมอีสาน หนึ่งในงานช่างพื้นถิ่นอีสานด้านหัตถกรรมไม้ ที่หลายคนมองข้ามและนึกไม่ถึง ถึงเอกลักษณ์ที่แปลกแตกต่างจากภาคอื่นๆ นั้นก็คือโลงศพหรือหีบศพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนหนีไม่พ้นต้องได้ใช้ในวันใดวันหนึ่งของวาระสุดท้ายในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่จะบรรจุหรือห่อหุ้มสิ่งที่ไม่น่ามอง อันได้แก่สังขารของเราเอง สำหรับสังคมวัฒนธรรมไท-ลาว มีลักษณะร่วมที่เหมือนกันโดยเฉพาะรูปแบบ รายละเอียดอาจจะแปลกแตกต่างกันไปบ้าง ขณะเดียวกันก็มีความละม้ายคล้ายคลึงกัน ซึ่งมีรายละเอียดและชื่อเรียกที่เป็นศัพท์เฉพาะของท้องถิ่น ดังนี้คือ
ภาพรวมของรูปทรงหีบศพอีสาน ในด้านสกัดด้านแคบคล้ายกับธาตุปูน ส่วนที่เป็นเอวขัน การผายออกของหีบศพลักษณะนี้คล้ายกับโลงศพแบบพม่า หรือฝาเรือนทางภาคเหนือของไทย การผายออกของฝาจะช่วยในการรับแรงอัดและการถ่ายแรงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเพิ่มจังหวะ (ส่วนเอวขันปากพาน) ในรูปทรงที่สูงชันขึ้น เพิ่มความสง่างามในตำแหน่งที่ตั้ง เพิ่มนัยยะสำคัญให้ในการจัดวางหีบศพกับตัวเมรุ
คติความเชื่ออันเกี่ยวเนื่องกับการทำโลงศพโดยสังเขป สมัยโบราณรวมถึงปัจจุบันในวิถีชาวบ้าน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยมีอาการหนัก ญาติพี่น้องจะทำโลงศพเพื่อต่อดวงชะตา หรือสะเดาะเคราะห์ให้ผู้ป่วย เมื่อหายก็จะถวายหีบนั้นให้วัดเป็นการทำกุศล ให้กับผู้ยากไร้ที่ไม่มีกำลังทรัพย์ต่อไป อนึ่งการทำโลงศพสมัยก่อนจะใช้ยางบงมาอุดรอยต่อหรือรูรั่ว และใส่ปูนขาวไว้สำหรับดูดซับน้ำเหลืองจากศพ การเผาแบบชาวบ้านในกลุ่ม “ชาวย้อ” มีธรรมเนียมการขอบริจาคฟืนจากทุกๆ ครอบครัว เรียกว่า “แผ่ฟืน” เมื่อไม้จำนวนพอเพียงแล้วก็จะนำไปกอง ณ ที่เผา ส่วนมากจะเป็น “ป่าแอ้ว” และเคลื่อนศพด้วยการทำคานหาม โดยจัดเตรียมดุ้นไฟชนวนสำหรับเผาศพ ข้าวตอกโปรยหว่านระหว่างทาง น้ำมะพร้าวสำหรับล้างหน้าศพ และจตุปัจจัยไทยทานพระสงฆ์
อนึ่ง สมเด็จครู ได้กล่าวไว้ในสาส์นสมเด็จ ว่า “เดิมที่เอาฟืนมากองกับพื้นดิน และเอาศพวางบนนั้นและจุดไฟเผา ฟืนที่สุมจะทรุดตัวทำให้ศพเคลื่อนตก ทางอุบลราชธานีเขามีไม้กดศพ เรียกว่า “ไม้ข่มเผง” ๒ อัน เพื่อกันมิให้ศพเคลื่อนเมื่อกองฟืนทรุด...”
อนึ่งในวิถีสังคมปัจจุบันของอีสาน หลายสิ่งหลายอย่างถูกแปรเปลี่ยนและโดนทำลายไป แต่ยังโชคดีอยู่บ้างที่ภูมิปัญญาพื้นถิ่น (หีบศพอีสาน) ยังคงอยู่รอดแม้จะไม่ดีเท่าที่ควรนัก แต่ยังได้รับการอนุรักษ์สืบสานและพัฒนา (ด้านเทคโนโลยีการเก็บรักษาศพ) โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบดั้งเดิม แม้จะถูกปรุงแต่งด้วยลวดลายแบบภาคกลางไปแล้วก็ตาม สำหรับฐานานุศักดิ์ อาจแตกต่างในรูปแบบ เช่น การทำนกหัสดีลิงค์ ซึ่งในปัจจุบันจะทำเฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ของเมือง แต่โดยรูปแบบของหีบศพนั้นไม่ต่างกันมากนัก
การทำพิธีศพบนนกหัสดึลิงค์ของเจ้านายชั้นสูง หรือพระเถระผู้ใหญ่
ส่วนทางภาคเหนือ จะมี เสื้อวัด หรือ ผีเสื้อวัด เป็นผีชั้นสูงที่มีอาคมอันแรงกล้า สามารถปกป้องคุ้มครองชาววัดชาวบ้านให้อยู่ดีมีสุข พูดกันมาว่า เจ้าอาวาส (ตุ๊เจ้า) ที่มีความเก่งกล้าเรื่องคาถาอาคมเมื่อตายคาผ้าเหลือง เมื่อตายลงจะได้เป็น ผีเสื้อวัด ชาวบ้านจะทำหอบรรจุศพตั้งไว้ภายในวัด ซึ่งตำแหน่งตั้งหอเสื้อวัดแต่โราณนั้น นิยมตั้งทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ของเจดีย์ ถ้าวัดไม่มีเจดีย์ก็ทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ของวิหาร เห็นแล้วเกิดศรัทธาดูมั่นคงและมีศิลปะที่งดงาม (เครดิต : ศรีเลา เกษพรหม)
ผีเสื้อวัด บรรจุภัณฑ์แห่งความตายของพระสงฆ์ผู้มีวิชาอาคมทางภาคเหนือ
[ อ่านเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวข้อง : พิธีกรรมประจำชีวิต - การตาย ]
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)