คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท
ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม "
ตามคำขวัญของจังหวัดสุรินทร์ข้างต้น จะเห็นว่ามีการชูสิ่งที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดมาหลายอย่าง ถ้าถามผู้คนทั่วไปว่า "เมื่อให้นึกถึงจังหวัดสุรินทร์ จะนึกถึงอะไร?" คำตอบแรกๆ คงเป็น "ช้างสุรินทร์" ถัดมาคงเป็น "ผ้าไหมสุรินทร์" ที่เราจะกล่าวถึงรายละเอียดกันในบทความนี้ จากนั้นถึงจะเป็นเครื่องประดับอย่างประเกือมหรือประคำ (เครื่องเงิน) ไปจนถึงปราสาทหินและอื่นๆ ตามคำขวัญดังที่กล่าวด้านบน
จังหวัดสุรินทร์ ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย แต่ที่มีความเกี่ยวข้องกับลวดลายผ้านั้น มีสำคัญอยู่ 3 ชาติพันธุ์ คือ ชาติพันธุ์เขมร, กูย และลาว ซึ่งแต่ละชาติพันธุ์จะมีเอกลักษณ์ของลวดลายบนพื้นผ้าแตกต่างกันออกไป ซึ่งผ้าไหมในจังหวัดสุรินทร์นั้น มีทั้งผ้าไหมลายมัดหมี่, ลายยกดอก, ลายขิด, ลายโครงสร้าง, ลายพื้น หรือเทคนิคการสร้างลวดลายแบบผสม โดยนำเทคนิคของผ้าลายมัดหมี่มาทอยกดอก
คนไทยเชื้อสายเขมร นิยมใช้ผ้าไหมซึ่งเป็นลายที่มีเอกลักษณ์ของกลุ่มชน มีรูปแบบลายผ้าที่เรียบง่ายสีสันสวยงาม มีการทอสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ อันได้แก่
ผ้ากระเนียว หรือ ผ้าลายหางกระรอก เป็นผ้าทอที่มีลายเป็นริ้วตรง ใช้ไหมพุ่งที่ควบกันสองสี และไหมยืนเส้นใช้สีเดียวกันยืนพื้น ผ้าชนิดนี้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นผ้าที่มีการรู้จักทอ และใช้นุ่งเป็นลายรุ่นแรกๆ ผ้าในกลุ่มที่ใช้เทคนิคการทอลักษณะนี้ได้แก่ ผ้าจะปันชวร อันลูนซีม (ลายสยาม) ผ้ากระเนียว ผ้าดังกล่าวผู้หญิงทุกวัยนิยมนำนุ่งกันในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นโอกาสสำคัญจะใช้ผ้าดังกล่าวนี้ต่อเชิงผ้านุ่งอย่างสวยงาม
"ผ้าหางกระรอก" เป็นผ้าทอโบราณที่มีลักษณะลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความประณีตและงดงาม โดยใช้เทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไท คือ "การควบเส้น" หรือคนไทยเรียกว่า "ผ้าหางกระรอก" ในจังหวัดสุรินทร์เรียก “ผ้าโฮลเปราะห์” (โฮลบุรุษ) ภาษาไทยเรียกผ้ามัดหมี่แบบนี้ว่า ผ้าสมปัก ผ้าปูม บางครั้งเรียก สมปักปูม คำว่า โฮล เป็นภาษาเขมร แปลว่า ผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งพ้องเสียงกันกับคำว่า "โฮรร" ซึ่งแปลว่า ไหล ลักษณะเนื้อแน่น เส้นไหมเล็กละเอียด เนื้อผ้าจะบางเบา อ่อนนุ่ม สีเขียวด้านหน้าเป็นสีอ่อน อีกด้านเป็นสีเข้มกว่า ลวดลายเป็นแบบฉบับของชาวสุรินทร์ เป็นผ้านุ่งสำหรับผู้ชาย ใช้นุ่งห่มในงานบุญ พิธีสำคัญ งานพิธีมงคลต่างๆ และใช้เป็นผ้านุ่งในโอกาสพิเศษ สำหรับสตรีจะใช้ผ้านุ่งที่ทอแปลงเป็นลายริ้วต่างออกไป เรียกว่า “โฮลแสร็ย”
ผ้าหางกระรอก ถือเป็นผ้าโบราณ ที่พบมากในแถบอีสานใต้ คือ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และนครราชสีมา นอกจากนี้ยังพบในภาคใต้ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และตรัง ด้วย
เทคนิคการทอผ้า โดยใช้ไหมเส้นพุ่ง 2 เส้นควบกัน โดยนำมาตีเกลียวควบเข้าด้วยกันให้เป็นเส้นเดียว โดยใช้อุปกรณ์ในการตีคือ ไน และโบก ผ้าหางกระรอกโดยทั่วไปนิยมใช้สีเหลืองมาควบ เมื่อนำมาทอเป็นเส้นพุ่งบนผืนผ้า จะทำให้ผ้าทอที่เป็นผ้าพื้นมีความสวยงามจากสีเหลืองของไหม เส้นไหมสองเส้นสองสีมาตีเกลียวควบให้เป็นเส้นเดียวกัน เรียกว่า “เส้นควบ”, “เส้นลูกลาย” หรือ “เส้นหางกระรอก” จากนั้นนำมาทอพุ่งขัดกับเส้นยืน ซึ่งใช้สีอีกสีหนึ่งอาจเข้มหรืออ่อนกว่าสีที่ใช้ เพื่อให้เกิดลายขัดเด่นขึ้นมา จะได้ผ้าพื้นที่มีลายเหลือบเล็กๆ ในเนื้อผ้าดูคล้ายจะมีปุยขนอ่อนขึ้นมา เหมือนกับเส้นขนของหางกระรอก จึงเรียกว่า “ผ้าหางกระรอก”
เทคนิคการทอผ้าชนิดนี้ นับเป็นเทคนิคดั้งเดิมของชนเผ่าไท เพราะมีการทอผ้าชนิดนี้ในชนเผ่าไทดั้งเดิม คือ ชาวภูไท และไทลาว เรียกเทคนิคนี้ว่า "การเข็น" ไทยวน เรียกว่า "ปั่นไก" กลุ่มชาวไทพวน เรียกว่า "มะลังไม" หรือ "มับไม" กลุ่มไทภาคกลาง ไทภาคใต้ และไทอีสานทั่วไปเรียกว่า "ผ้าหางกระรอก" ส่วนชาวไทเชื้อสายเขมร และชาวส่วย (กูย) เรียกเป็นภาษาเขมรว่า "กระเนียว" หรือ “กะนีว” ชาวไทยอีสานแต่โบราณจะนำผ้าหางกระรอก หรือบางที่เรียกว่า ผ้าม่วง มานุ่งเป็นโจงกระเบน
ชาวกูย นิยมใช้และทอผ้าไหมควบ สตรีชาวกูยมีความชำนาญในการตีเกลียวเส้นไหม เรียกว่า ละวี หรือ ระวี ตามความเชื่อ เรื่องความกลมเกลียวสามัคคีกันในครอบครัว และสายตระกูลที่นับถือผีด้วยกัน การนำไหมสองสีมาควบกันเรียกว่า “กะนีว” หรือ “ผ้าหางกระรอก” เมื่อนำมาใช้เป็นเส้นพุ่งทอกับเส้นยืน สีพื้นจะทำให้เกิดลายเหลื่อมกันเป็นสีเหลืองคล้ายหางกระรอก ลักษณะของผ้ากะนีวนี้ผิวสัมผัสจะมีความมันระยิบระยับ เมื่อนำไปส่องกับแดดจะแยกสีได้ชัดเจน ผู้ชายไทยกูย นิยมนุ่งผ้าไหมควบ (หะจิกกะน้อบ) สำหรับการนุ่งโจงกระเบน
นอกจากนี้ ชื่อเรียกผ้าชนิดนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ตามรูปลักษณ์ที่มุ่งเน้น เช่น บางพื้นที่เรียกว่า ผ้าวา ผ้ายาว ซึ่งเป็นการเรียกตามลักษณะความยาวของผืนผ้าที่ยาวกว่าผ้าถุงเท่าตัว ผ้าลายตาราง หรือผ้าโสร่ง จะมีลักษณะเป็นตาตารางใหญ่ สี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลายสี ทั้งแดง เขียว เหลือง น้ำเงิน สลับกันตลอดทั้งผืน ขีดคั่นระหว่างตาตารางสีใหญ่นั้นด้วย ริ้วขีดคั่นสีแดง หรือสีขาวหรือสีเหลือง เป็นเส้นเล็กๆ ทั้งผืน จะมีหน้ากว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร แล้วเย็บเข้าด้วยกันเป็นถุง คล้ายกับผ้าซิ่นของผู้หญิง โทนสีของผ้าจะมี 2 โทน คือ ผ้าโสร่งแดง จะมีสีสันสดใส สำหรับผู้ชายที่มีอายุยังไม่สูงนัก ไม่เกิน 40 ปี แต่ถ้าเป็นผู้ชายสูงวัยจะใช้ผ้าโทนสีเข้ม เรียกว่า ผ้าโสร่งดำ บางพื้นที่ก็เรียกว่า ผ้าควบ เพราะถือเอาวิธีการทอแบบตีเกลียวควบมาใช้เป็นชื่อเรียก แต่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า ผ้าหางกระรอก มากกว่า
การนำไปใช้ประโยชน์ สมัยโบราณนิยมใช้เป็นผ้านุ่งโจงกระเบนในงานพิธีสำคัญต่างๆ สำหรับผู้ชาย นอกจากนี้ยังเป็นผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมเช่น ใช้ให้นาคนุ่งในงานอุปสมบท ผ้าห่อบาตร และเป็นผ้าปกคลุมโลงศพ ผ้าหางกระรอกจึงเป็นผ้าผืนสำคัญของครอบครัว ที่ผู้เป็นแม่ ยาย ย่า จะทอฝากไว้ให้ลูกหลานด้วยความตั้งใจ หวังฝากฝีมือฝากชื่อไว้กับผืนผ้า เพื่อยามตายไปจะได้ใช้ปกโลงศพ ดังคำกล่าวที่ว่า "ย่านตายไป บ่มีผ้ายาวปกหน้า อยากอายบ้านอายเมืองเพิ่น" ปัจจุบันได้มีการทอผ้าหางกระรอกประยุกต์ให้มีลวดลาย สีสัน สวยงามเหมาะสำหรับนำไป ตัดเย็บ เสื้อผ้า รวมถึงพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าห่ม ฯลฯ
ผ้าลายมัดหมี่ เช่น ผ้าลายโฮล (ลายน้ำไหล) หรือ ผ้าคั่น เป็น เทพีแห่งผ้าไหมเขมร ผ้าโฮล เป็นผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยขแมร์ ถือเป็นลายเอกลักษณ์ของลายผ้าไหมมัดหมี่ จังหวัดสุรินทร์ “โฮล” เป็นคำในภาษาเขมร เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมประเภทหนึ่ง ที่สร้างลวดลายขึ้นมาจากกระบวนการมัดย้อมเส้นไหม ให้เกิดสีสันและลวดลายต่างๆ ก่อน ใช้เส้นไหมน้อย (ส่วนในสุดของเส้นไหม) ในการทอ ทำให้เป็นผ้าไหมมัดหมี่เนื้อแน่น เส้นไหมเล็กละเอียด เนื้อผ้าจะบางเบา เนื้นแน่นเนียน อ่อนนุ่ม ลวดลายสีสันเป็นแบบฉบับของชาวสุรินทร์ ซึ่งได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากศิลปะของเขมร ซึ่งตรงกับคำว่า “ผ้าปูม” ในภาษาไทย “มัดหมี่” ในภาษาลาว และคำว่า IKAT (อิ-กัด) ซึ่งเป็นภาษากลุ่มอินโดนีเซีย-มาลายู ซึ่งชาวตะวันตกมักรู้จัก ผ้ามัดหมี่ ของมาเลย์-อินโดนีเซีย และเรียก IKAT ตามไปด้วย
คำว่า “โฮล” ในภาษาเขมรสุรินทร์สมัยหลังจำกัดความให้มีความหมายแคบลงมาอีก ใช้เรียกเฉพาะเจาะจงถึง ผ้านุ่งที่สร้างจากกระบวนการมัดย้อมเส้นพุ่ง แล้วนำมาทอให้เกิดลวดลายต่างๆ แบบผ้าปูมของขุนนางในราชสำนักสยาม ด้วยวิธีการเฉพาะเรียกว่า จนองโฮล โดยการมัดหมี่ผ้าโฮลนั้น นิยมมัดหมี่ 21 ลํา ซึ่งการมัดหมี่เพียงหนึ่งลาย สามารถทอได้ถึง 4 แบบด้วยกัน ได้แก่ ผ้าโฮลเปราะห์ (ลายโฮลผู้ชาย) ผ้าโฮลแสร็ย (ลายโฮลธรรมดา หรือโฮลผู้หญิง) ผ้าโฮลเกียรติ และผ้าโฮลปะนะ ในการค้นลํามัดหมี่ มัดหมี่โฮลแต่ละลําจะเป็นอิสระต่อกัน การทอจะใช้เทคนิคการทอพิเศษ โดยการทอผ้าให้ลายเฉียงขึ้นเรียกว่า “ปะนะ” การมัดย้อม จะนิยมใช้สีธรรมชาติ และมัดย้อมหลายครั้ง ละเอียดทุกขั้นตอน การย้อมสีผ้าโฮล คือ จะต้องให้ครูทอผ้ามาสอนวิธีการย้อมเสียก่อน เพราะถือกันว่า เป็นผ้าครู ที่จะต้องผ่านกระบวนการครอบบครูเสียก่อน ผ้าโฮลมี 5 สี ได้แก่ สีดํา, แดง, เหลือง, น้ําเงิน และ เขียว ได้จากการย้อมด้วยสีธรรมชาติ เนื้อผ้ามักมี 2 สี ด้านหน้าเป็นสีอ่อน อีกด้านหนึ่งเป็นสีเข้มกว่า
ผ้าโฮลมีกรอบมีเชิงสำหรับบุรุษนุ่ง เรียกว่า “โฮลเปราะห์” สำหรับสตรีใช้นุ่งทอแปลงเป็นลายริ้ว เรียกว่า “โฮลแสร็ย” ปัจจุบันนี้ โฮลเปราะห์ (โฮลสำหรับผู้ชายนุ่ง) แทบหาตัวคนผลิตไม่ได้ และไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างอีกต่อไป คำว่า ”โฮล” ในปัจจุบันแทบจะมีความหมายตกไปอยู่ที่ โฮลแสร็ย (โฮลสตรี) เกือบทั้งหมดเพราะฉะนั้นคำว่า ”โฮล” โดดๆ ในภาษาเขมรสุรินทร์ปัจจุบัน จึงมีความหมายเจาะจงอยู่ในแค่ผ้าโฮลลายริ้วที่สตรีใช้นุ่งเท่านั้น คำเรียก ผ้าโฮลสตรี ชนิดเดียวกันนี้ในภาษาเขมรสุรินทร์ ได้เรียกปลีกย่อยออกไปอีกหลายอย่าง เช้น โฮลปันเตื๊อด (บรรทัด) โฮลปะนะ, โฮลอันลูย
ใช้เทคนิคการทอแบบผ้ากระเนียวผสมกับการมัดหมี่ ผ้าโฮลนี้นิยมนำมาต่อเชิง ผ้ามัดหมี่ทั้งผืนส่วนใหญ่จะทอเป็นรูปสัตว์ และรูปพรรณพฤกษาตามจินตนาการ หญิงทุกวัยนิยมนำมานุ่งในโอกาสงานแต่ง หรืองานบุญต่างๆ การทอผ้าแบบนี้แสดงถึงพัฒนาการการทอผ้าแบบดังเดิม แล้วนำมาผสมสานจนเกิดลายผ้าแบบใหม่ขึ้นมาของชาวเขมร
ผ้าทอยกดอก เช่น ผ้าเก็บ หรือ ผ้าลายลูกแก้ว เป็นการใช้เทคนิคการเพิ่มตะกอให้มากขึ้นกว่าสองตะกอ ลายผ้าที่ได้จะเป็นลายดอกนูนขึ้นมาตลอดทั้งผืน เป็นผ้าทอที่ต้องใช้เทคนิคความสัมพันธ์ในการเหยียบตะกออย่างชำนาญ แต่ทอยากไม่เท่าผ้าละเบิกเพราะใช้ไหมยืนและไหมพุ่งสีเดียวกัน ใช้ในกลุ่มหญิงสูงวัย ซึ่งนิยมนำไปย้อมดำด้วยลูกมะเกลือ แล้วนำไปอบด้วยเครื่องหอมให้ติดกับเนื้อผ้า นำมาเป็นผ้าเบี่ยงไหล่
ผ้าลายอันลูน หรือ ผ้าลายตาราง ซึ่งใช้ไหมพุ่งและไหมยืนหลายสีแบบเดียวกันทอขัดกัน เกิดเป็นตาราง ถ้ามีขนาดใหญ่เรียกว่า อันลูนธม ถ้าขนาดเล็กเรียกว่า อันลูนตู๊จ เป็นลายผ้าที่รู้จักทอนุ่งรุ่นถัดมา ซึ่งซับซ้อนขึ้นมาหน่อย กลุ่มผ้าทอแบบนี้มีลายผ้าต่างๆ กันเช่น ผ้าสมอ ผ้าสาคู ผ้าดังกล่าวนิยมใช้ในกลุ่มหญิงสูงวัยใช้นุ่งอยู่บ้าน ผ้าอัมปรม ผ้าละเบิก ผ้าสองชนิดนี้นิยมใช้ในกลุ่มหญิงสูงวัย ใช้นุ่งในโอกาสสำคัญ ซึ่งมีการทอที่ยากขึ้นมาอีก โดยเฉพาะผ้าอัมปรมต้องใช้เทคนิคการมัดย้อมเข้ามาทอด้วย ส่วนผ้าละเบิกต้องใช้ตะกอมาก ลายที่ได้จะแปลกตา และผ้าที่ใช้ในผู้ชาย เช่น ผ้าโสร่งใช้นุ่ง ผ้ากลา และผ้าจดอ ใช้พาดไหล่
ผ้าละเบิก เป็นผ้านุ่งพื้นเมืองประเภทยกดอกลายตารางสี่เหลี่ยม ใช้เส้นยืนหลายๆ สี สีละ 2-4 เส้น เรียงสลับกันไปตามหน้ากว้างฃองผืนผ้า ทอ 4 ตะกอ โดยยกทีละ 2 ตะกอ ลักษณะผ้าเหมือนมีช่องสี่เหลี่ยมเป็นช่วงๆ ดูเผินๆ จะเห็นเป็นลายตาราง ดูใกล้ๆ จะเห็นเป็นลายยกในเนื้อผ้า
ผ้าอัมปรม ผ้านุ่งที่เป็นอาภรณ์ที่ใช้ห่อหุ้มส่วนล่างของร่างกาย ตั้งแต่บั้นเอวลงไป การนุ่งผ้านั้นมีศิลปะการนุ่งที่แตกต่างกันตามกาลเทศะ ความนิยมในกลุ่มที่เห็นว่า มีความสวยงาม มีทั้งนุ่งสั้นเสมอเข่า นุ่งยาวเพียงครึ่งน่อง หรือนุ่งยาวกรอมข้อเท้า หรือต้องการความคล่องตัวขณะทํางานก็นุ่งแบบหยักรั้ง เป็นต้น ในจังหวัดสุรินทร์ มีชนเผ่า 3 กลุ่มได้แก่ เขมร ลาว และ กูย (ส่วย) ซึ่งมีการทอผ้าใช้ในครัวเรือนจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นผ้านุ่ง ผ้าขาวม้า ผ้าสไบ ผ้าสีพื้นและอื่นๆ ทั้ง 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีเอกลักษณ์ของลวดลาย และเทคนิคการทอเป็นของตนเอง
เสื้อผ้าของสตรีของชาวกูย เรียกว่า “ฮั่ว” ส่วนมากสตรีชาวกูยจะสวมใส่เสื้อ และใช้ในทุกโอกาสทั้งงานบุญประเพณี งานพิธีต่างๆ ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล โดยทั่วไปประกอบด้วยเสื้อ และผ้าซิ่น กล่าวคือ เสื้อกูย หรือฮั่วกูย เป็นเสื้อที่ตัดและเย็บด้วยมือ โดยใช้ผ้าไหมยกดอก (แค็บ) สีดําที่ย้อมด้วยเม็ดมะเกลือแขนยาว ปักแซวด้วยเส้นไหมสีขาว สีแดง สีเขียว สีเหลือง หรือสีอื่นๆ ตามความชอบ โดยจะแซวสลับกันไปตามแนวตะเข็บของเสื้อ เช่น ตะเข็บข้าง ตะเข็บวงแขน รอบคอ สาบเสื้อด้านหน้าและชายเสื้อ
ส่วนกระดุมใช้กระดุมเงิน (กะตุมประ) หรือโลหะ หรือร้อยเส้นไหม ผ้าซิ่นหรือผ้านุ่ง สตรีชาวกุยนิยมนุ่งผ้าไหมมัดหมี่ หรือผ้าไหมหลายเข็น (จกระวี) ผ้าซิ่นของสตรีกุย มีส่วนประกอบแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เรียกว่า หัวซิ่น (อัมปรม หรือปลอดจิก) ส่วนที่ 2 คือ ตัวซิ่น ส่วนที่ 3 เรียกว่า ตีนซิ่น (กะปูล หรือเญิงจิก หรืออินเญิง) การแต่งกายของชาวกุยมีลักษณะพิเศษ เสื้อผ้าที่ใช้ในการแต่งกายจะมีทั้งพวกผ้าฝ้าย ซึ่งจะปลูกฝ่ายไว้เพื่อทอเป็นเสื้อ กางเกง ผ้าถุง ผ้าขาวม้า สีที่ย้อมมีสีน้ําเงินได้จากต้นคราม สีดําได้จากผลมะเกลือ สีเหลืองได้จากขมิ้น แก่นขนุน และเข สีแดงได้จากครั่ง
ชาวกุย ก็ยังมีความสามารถในการทอผ้าไหมได้ดี และค่อนข้างซับซ้อนในกระบวนการผลิต จึงทําให้ผ้าไหมของชาวกุยมีราคาแพง ผู้ใช้ผ้าไหมต้องเป็นผู้มีฐานะดีเท่านั้น ชาวบ้านทั่วไปไม่นิยมใช้เพราะดูแลรักษายาก จะใช้เฉพาะกรณีพิเศษเท่านั้น
อัมปรม หรืออัมเปิ้น หรือหัวซิ่น เป็นส่วนประกอบสําคัญของผ้านุ่งอย่างหนึ่ง มีความยาวประมาณ 2 เมตร ถึง 2 เมตรครึ่ง หรือตามความกว้างของผ้านุ่ง กว้าง ประมาณ 6 นิ้ว นิยมพื้นสีแดงทอยกขิตเป็นลวดลายต่างๆ เป็นช่วงๆ เป็นลายตามขวางแต่เมื่อนํามาต่อกับผ้านุ่งหรือผ้าซิ่นด้านบน ลายจะอยู่ในแนวตั้ง ลวดลายที่ปรากฏนิยมทอลายขอ ที่จัดอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ทอขิดเต็มหน้าผ้า ปิดหัวท้ายชุดลายด้วยการขิดเส้นประสีขาว กับสีเหลือง อย่างละ 1 เส้น สําหรับการทอลวดลายต่างๆ เหล่านี้ รูปแบบ สีสัน จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับจินตนาการของช่างทอ
ประโยชน์ของหัวซิ่น คือ ทําให้ผ้านุ่งมีความยาวมากขึ้น เมื่อขมวดหัวซิ่นหรือคาดเข็มขัดแล้ว จะดึงหัวซิ่นให้ยาวออกมาทําเป็นชายพก ใช้เก็บของมีค่า หรือสิ่งของอื่นแทนกระเป๋าถือ และอีกประการหนึ่งคือ ทําให้ได้โชว์ลายผ้านุ่งได้เต็มตัว ชาวกูยเลี้ยงช้างจึงใช้ผ้าอัมเปิ้นนี้ห่อเครื่องรางของขลัง โดยมัดเป็นเปลาะๆ เพื่อแยกเครื่องรางของขลังเป็นส่วนๆ คาดเอวติดตัว เมื่อออกไปคล้องช้างป่า
ในปัจจุบันนักออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย นําอัมปรม หรืออัมเปิ้น หรือหัวซิ่นไปดัดแปลงตกแต่งเสื้อผ้าสมัยใหม่ได้งดงาม เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร นอกจากนี้ยังได้นําไปตัดเย็บเป็นเครื่องใช้สําหรับตกแต่งบ้านเรือนอีกด้วย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)