foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว หิมะตกหนัก อากาศหนาวสุดขั้ว บางแห่งถึงขั้นติดลบ 46 องศาเซลเซียส ประเทศไทยเฮากะบ่หยอกคือกัน ทางตอนเหนือลดลงถึงศูนย์องศา เกิดแม่คะนิ้ง (น้ำค้่างแข็งบนยอดหญ้ากันแล้ว) ในช่วงวันที่ 10-13 มกราคมนี้ อุณหภูมิจะลดลงอีกมาก 5-7 องศา ในภาคเหนือและภาคอีสานบ้านเฮา รักษาสุขภาพกันดีๆ เด้อ อย่าสิเจ็บสิไข้ ซำบายดีครับ ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

ปลาแดก, ปลาร้า

ปลาร้า ชาวอีสานเรียกปลาร้าว่า "ปลาแดก" เป็นอาหารหลักและเป็นเครื่องปรุงรสในวัฒนธรรมอาหารอีสานเกือบทุกประเภท และรับประทานได้ทุกมื้อ จนมีผู้กล่าวว่า ปลาร้า เป็น "วิญญาณที่ ๕ ของชาวอีสาน" คือ ข้าวเหนียว ลาบ ส้มตำ หมอลำ และปลาแดก ถือเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารที่สำคัญ ปลาที่เหลือจากการกินสดจะนำมาทำปลาร้า ในภาคอีสานส่วนมากนิยมใช้ปลาตัวเล็ก เช่น ปลาขาว ปลาสร้อย ปลากระดี่ ในการหมักเป็นปลาร้าซึ่งต้องเป็นปลาที่สดใหม่ ควักไส้  ล้างน้ำ ทำความสะอาดอย่างดี ถ้าเป็นปลาที่มีเกล็ดต้องขอดเกล็ดออกให้หมดก่อน แล้วล้างน้ำให้สะอาด คลุกเกลือแล้วนำมาคลุกผสม กับข้าวคั่วหรือรำก่อน การหมักปลาร้าเป็นสูตรเฉพาะของแต่ละคน บางสูตรหมักเกลือไว้ 1 คืน แล้วจึงนำมาคลุกกับรำอ่อน ซึ่งบางคนอาจจะคั่วรำก่อน หรือคลุกกับข้าวคั่ว แล้วจึงบรรจุใส่ภาชนะที่แห้งสะอาด กดให้แน่น เรียกว่า "แดก" แล้วปิดให้สนิทหมักไว้อย่างน้อย 3 เดือน จึงรับประทานได้

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ปลาร้าเป็นอาหารขึ้นชื่อของชาวอีสาน และใช้ปรุงรสอาหารอีสานทุกประเภทมีกลิ่นแรงเฉพาะตัว

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สะท้อนภูมิปัญญาการถนอมอาหารของชาวอีสาน

pla dag header 1

โดย ชุมพล แนวจำปา : อดีต ศึกษานิเทศก์ 9 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขตที่ 2

คำว่า "ปลาแดก" ในภาษาอีสาน ตรงกับคำว่า "ปลาร้า" ในภาษาไทยกลาง แต่ในความเป็นจริง ปลาแดกของชาวอีสาน กับ ปลาร้าของชาวไทยกลาง นั้นมีความแตกต่างกัน อย่างน้อยก็แตกต่างกันในส่วนประกอบ และวิธีการทำ และอาจจะแตกต่างกันในบทบาทต่อชีวิตเจ้าของมันด้วย ส่วนประกอบของปลาแดกที่เป็นหลักมี 3 อย่างคือ

  1. ปลา ที่นำมาทำปลาแดก ปลานี้จะเป็นปลาสดหรือปลาที่ไม่สดจนเกือบจะเน่าก็ได้
  2. รำข้าว หากจะให้เป็นปลาแดกขนานแท้และดั้งเดิม ควรจะเป็นรำข้าวซ้อมมือ
  3. เกลือ ปลาแดกขนานแท้ต้องเป็นเกลือที่ได้จากการต้มในท้องถิ่น (เกลือสินเธาว์) ไม่ใช่เกลือจากน้ำทะเล

pladak hiวิธีการและขั้นตอนในการทำปลาแดก

โดยสรุปแล้วก็ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน คือ เอาปลามาคลุกเคล้ากับเกลือ และรำข้าว ในปริมาณที่เหมาะสม เก็บไว้ในไหที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้แมลงวันเข้าไปไข่ใส่ปลาแดก เพราะหากแมลงวันไข่ใส่เมื่อใด ก็จะมีตัวหนอนเกิดขึ้น แต่ถึงแม้จะมี ตัวหนอน ก็ไม่ได้หมายความว่าปลาแดกนั้น สกปรก จนรับประทานไม่ได้ ปลาแดกที่มีตัวหนอนก็เป็นปลาแดกที่ดีได้เหมือนกัน (ไหปลาแดก ในภาพจะมีปากเป็นร่องไว้ใส่น้ำ ด้านบนจะปิดด้วยห่อผ้าใส่ขี้เถ้าไว้ภายใน เพื่อให้สนิทกับปากไห ที่มีน้ำหล่อด้านข้างกันการวางไข่ของแมลงวัน)

สำหรับ ปลา ที่นำมาทำปลาแดกนั้น หากมีตัวโตๆ หรือค่อนข้างโต จะต้องสับให้เป็นชิ้นๆ ให้เล็กลง เพื่อให้ความเค็มแทรกซึมเข้าไปในเนื้อปลาได้อย่างทั่วถึง

ระยะเวลาในการหมักปลาแดกจะตกประมาณ 7 - 8 เดือน ก็สามารถนำออกมารับประทานหรือปรุงอาหารได้ หากเร็วเกินไปปลาแดกก็จะมีกลิ่นคาว โดยทั่วไปมักหมักไว้ประมาณหนึ่งปี

หากหมักได้ระยะเวลานาน ปลาแดกจะออกสีแดงๆ ส่งกลิ่นหอม แต่หากใส่เกลือไม่พอ กลิ่นของปลาแดกก็จะแปลกออกไปอีกแบบหนึ่ง เรียกปลาแดกชนิดนี้ว่า "ปลาแดกต่วง" เหมาะสำหรับนำไปปรุงส้มตำ แต่ไม่เหมาะสำหรับนำไปรับประทานหรือปรุงอาหารอย่างอื่น

ปลาแดกต่วง นี้ถือว่าเป็นปลาแดกคุณภาพต่ำ ให้ประโยชน์ใช้สอยได้น้อย ไม่นิยมนำไปแลกเปลี่ยนหรือเป็นของฝาก อีกทั้งราคา (มูลค่าในการแลกเปลี่ยน) ก็ต่ำด้วย

ปลาแดกนี้สามารถเก็บไว้ได้นานตลอดไป แต่โดยมากก็จะนำไปรับประทาน ปรุงอาหาร หรือแลกเปลี่ยนจนหมด เมื่อมีปลาแดกรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ในปีถัดไป

ส่วนวิธีการ และขั้นตอน ในการทำปลาร้าของชาวไทยภาคกลางนั้น จะแตกต่างจากปลาแดกของชาวอีสาน ส่วนประกอบของปลาร้าที่เป็นหลักมี 3 อย่างคือ

1) ปลาที่นำมาทำปลาร้า   2) เกลือ   3) ข้าวคั่ว (บดละเอียด)

วิธีการทำ คือ จะเอาปลามาคลุกเคล้ากับเกลือแล้วหมักไว้ก่อน เมื่อหมักได้ที่แล้ว จึงเอาข้าวคั่วใส่แล้วหมักต่อ ก็จะเป็นปลาร้าของชาวไทยกลาง

"แดก" ไม่ใช่คำหยาบ

คำว่า "แดก" ในภาษาอีสานเป็น "คำกิริยา" หมายถึง การดันหรือยัดสิ่งหนึ่งเข้าไปในอีกสิ่งหนึ่ง หากจะนำเอาคำว่าแดกมาวิเคราะห์ความหมายตรงๆ ของคำว่า "ปลาแดก" ก็คงหมายถึง การดัน หรือยัดปลาแดกลงไปในไหนั่นเอง

แต่จากการสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ชาวบ้านอีสานหลายคน ได้ให้ความหมายของคำว่า "แดก" ว่ามาจากคำว่า "แหลก" คือปลาที่นำมาทำปลาแดกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาเล็กปลาน้อย หรือหากมีปลาที่ตัวใหญ่หน่อยก็จะต้องสับให้ "แหลก" เพื่อให้เข้าน้ำ เข้าเกลือ ได้อย่างทั่วตัวปลา ฉะนั้น ปลาที่นำมาทำปลาแดกจึงมีลักษณะที่ "แหลก" แต่ชาวอีสานหลายพื้นที่ออกเสียงตัวอักษร "ร", "ล" กับอักษร "ด" กลับกัน จึงทำให้ "ปลาแหลก" กลายเป็น "ปลาแดก" ในที่สุด

ดังนั้น คำว่า "แดก" ในภาษาอีสานจึงไม่ใช่คำหยาบที่หมายถึง "รับประทาน" อย่างในภาษาไทยกลาง และดูเหมือนคำว่า "แดก" จะไม่มีที่ใช้ในความหมายอื่นอีกแล้วในภาษาอีสาน นอกจากความหมายที่กล่าวแล้วข้างต้น

ส่วนคำไม่สุภาพที่ชาวอีสานใช้ในความหมายของ "รับประทาน" นั้นคือคำว่า "ซีแตก" หรือ "สิแตก" ซึ่งตรงกับคำว่า "แดก" ในภาษาไทยกลางนั่นเอง

แดก น. ปลาร้า ปลาที่คลุกเกลือกับรำ ตำแล้วใส่ในไห เรียก ปลาแดก อย่างว่า ทางหลวงกว้างสังมาเทียวแต่ทางขอก หมกปลาแดกตั้งโจ้โก้ สังมาจ้ำตั้งแต่ตอง (ผญา). fermented fish sauce."

แดก ก. ทิ่ม แทง ตำ อย่างว่า ตีเจ็บแล้วแสนสิออยกะปานด่า แม่นว่าเว้าจ้อยจ้อยก็ปานไม้แดกตา (ผญา) อย่าได้หม้นแค่งฮั้ว เฮียวไม้ชิแดกตา (ย่า). to jab into, stab, pound."

แดก ก. กินเกินประมาณ เรียกว่า แดก หรือว่า สิแตกแดกตับ ก็ว่า. to over eat."

จาก : สารานุกรมภาษาอีสาน - ไทย - อังกฤษ

"ปลาแดก" กับความมั่นคงในชีวิต

ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของความมั่นคงในการดำรงชีวิตของชาวอีสานก็คือ การมีอาหารกินได้ตลอดปี หากมีอาหารเก็บกักไว้กินได้ตลอดปี นั่นหมายถึงความรู้สึกมั่นคงในการดำรงชีวิตของชาวอีสาน

สิ่งสำคัญ 2 สิ่งที่ทำให้ชาวนาอีสานมีอาหารกินได้ตลอดปีคือ ข้าว กับ ปลาแดก

สำหรับ ข้าว นั้นเป็นอันเข้าใจได้ว่า การได้ข้าวในปริมาณที่มากพอที่จะใช้บริโภคได้ตลอดปี และมีเหลือสำหรับการแลกเปลี่ยนกับปัจจัยในการดำรงชีวิตอื่นๆ ที่อาจจะขาดไปในบางครั้ง

ในส่วนของ ปลาแดก นั้นจะมีช่วงหนึ่งในตอนปลายฤดูการปักดำ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของฤดูฝน เป็นเวลาที่ปลาจะกลับลงสู่แม่น้ำลำคลอง เพื่อหนีความแห้งแล้งของฤดูแล้งที่กำลังจะตามมา ช่วงฝนสุดท้ายนี้ชาวอีสานเรียกว่า "ปลาลง" ชาวอีสานจะรีบดักปลาที่กำลัง "ลง" จากนาข้าวไปยังแหล่งน้ำใหญ่ เป็นช่วงที่ชาวนาจะได้ปลาแดกกันเกือบทุกครอบครัว ปลาแดกนี้จะต้องมีปริมาณที่มากพอในการบริโภคตลอดทั้งปี จนกว่าจะมีปลาแดกใหม่เข้ามาแทนที่

pla kon

ปลาแดก มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของชาวอีสานมาก สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้หลายอย่าง นับตั้งแต่การนำมารับประทานกับข้าวเหนียวได้เลย โดยมีพริกขี้หนู หอม และผักต่างๆ เป็นส่วนประกอบ หรือจะนำมาสับให้ละเอียด ใส่เครื่องปรุง เช่น หอม ตะไคร้ พริกสด มะนาว ใบมะกรูด ก็จะได้ "ลาบปลาแดก" ถ้านำมาทรงเครื่องหมกใบตองแล้วนำไปตั้งไฟ ก็จะได้ "หมกปลาแดก"

นอกจากนำมาเป็นอาหารโดยตัวของมันเองแล้ว อาหารอีสานทุกอย่างไล่ไปตั้งแต่ แจ่ว (น้ำพริก) ส้มตำ แกงคั่ว อ่อม อ๋อ หมก ป่น ลาบ ก้อย ฯลฯ ปลาแดกจะมีส่วนร่วมอยู่ในอาหารอีสานทุกอย่าง หากขาดปลาแดกเป็นส่วนประกอบแล้ว ก็ไม่อาจเรียกว่าเป็น "อาหารอีสาน" ฉบับแท้ได้เลย แกงหน่อไม้ หรือป่นปลา ที่ไม่ได้ใส่ปลาแดกนั้น ต่อให้คนปรุงฝีมือดีเลิศปานใดก็ไม่อาจมีรสชาติที่แท้จริงได้เลย

นอกจากบริโภคเองในครอบครัวแล้ว ปลาแดก ยังเป็น ของฝากที่ดี ด้วย เมื่อญาติพี่น้องไปมาหาสู่กัน สิ่งที่ชาวบ้านอีสานนิยมฝากติดไม้ติดมือไปด้วยก็คือ ปลาแดก ชาวบ้านที่มีฝีมือขึ้นชื่อในการทำปลาแดกในหมู่บ้านหนึ่งนั้น ย่อมเป็นที่รับรู้กันทั่วไป

ในระบบเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตัวเอง ชาวบ้านจะผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ในครอบครัวเกือบทุกอย่าง ชาวบ้านมีความเพียงพอในตัวเอง พึ่งพาผลผลิตจากภายนอกเป็นส่วนน้อย คือพึ่งพาภายนอกเฉพาะส่วนที่ชุมชนผลิตเองไม่ได้ เช่น เกลือ เครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็ก เป็นต้น

สภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ระบบการแลกเปลี่ยนจะเป็นแบบแลกของ เงินตรายังไม่มีบทบาทในชีวิตของชาวบ้าน สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่เป็นตัวหลักของชาวอีสาน ในระบบเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตัวเองคือ ข้าว กับ ปลาแดก เพราะการมีข้าวกับปลาแดกในปริมาณที่มากพอ ย่อมประกันได้ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่รอดได้ตลอดปีโดยไม่อดตาย แต่หากขาดปัจจัยอื่นๆ เหลือ เช่น เกลือ หอม พืชผักผลไม้หรือเครื่องใช้อื่นๆ ก็จะนำข้าวหรือปลาแดก (ซึ่งแล้วแต่ว่าส่วนไหนจะเป็นส่วนเกินมากกว่ากัน) นำไปแลกเปลี่ยนกับปัจจัยอื่นๆ ที่ขาดไป

ดังนั้น ปลาแดก นอกจากจะมีไว้เพื่อรับประทาน หรือเป็นส่วนประกอบของอาหารทุกอย่างแล้ว ยังเป็นสื่อกลางสำคัญในการแลกเปลี่ยนที่เป็นที่ยอมรับกันในท้องถิ่น เป็นมาตรฐานสำคัญอันหนึ่งในการกำหนดอัตราการแลกเปลี่ยน (นอกจากข้าวเปลือก) เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต และเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวจะต้องมี

เพลงลาว สหายอุดร "ไหปลาแดก"

มีคำกล่าวที่มักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า "ผู้ใดทำลายไหปลาแดก ผู้นั้นบ่อนทำลายประเทศชาติ" และมีคำกล่าวอีกคำหนึ่งว่า "ที่ใดมีไหปลาแดก ที่นั่นเป็นลาว" เรามักจะได้ฟังคำกล่าวข้างต้นไปในทำนองตลกขบขัน แต่ในความเป็นจริงที่อยู่ลึกๆ ในความหมายของคำทั้งสองนั้น เป็นสิ่งที่จริงจังมากเกินกว่าจะทำให้เกิดความตลกขบขันได้

"ที่ใดมีไหปลาแดก ที่นั่นเป็นลาว" หมายความว่า ปลาแดกนั้นเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมการกินของชาวอีสาน (รวมทั้งพี่น้องทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง สปป. ลาว ด้วย) เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในปัจจัยสี่อย่างของชาวนาอีสาน ฉะนั้นหากจะมองว่าบ้านใดเป็นอีสานแท้หรือไม่ ต้องดูว่า ในบ้านมีไหปลาแดกหรือเปล่า ชาวอีสานจำนวนมากที่ได้เปลี่ยนชีวิตของตนเองมาเป็นคนเมือง รับเอาวัฒนธรรมการกินของส่วนกลางอย่างเต็มที่ ลืมไหปลาแดกที่เคยมีบทบาทในการผดุงความมั่นคงในชีวิตของชาวอีสานในอดีต

รายการ "เลาะลุยลาว" EP46 : เส้นทางสายปลาแดก

"ผู้ใดทำลายไหปลาแดก ผู้นั้นบ่อนทำลายประเทศชาติ" คำว่า "ทำลายไหปลาแดก" นี้ มีความหมายลุ่มลึกกว่าการทำให้ไหปลาแดกแตก การทำลายไหปลาแดก ในที่นี้หมายถึง การเปลี่ยนวัฒนธรรมการกินของชาวอีสานแบบดั้งเดิม มาเป็นวัฒนธรรมการบริโภคแบบคนเมือง เป็นการละทิ้งรากเหง้าของตัวเอง เป็นการเอาชีวิตของคนและชุมชนไปแขวนไว้กับเงินตรา หลงใหลสิ่งแปลกใหม่ที่เป็นของนอก นั่นหมายถึงความมั่นคงในการดำรงชีวิตของเขาได้เปลี่ยนไป หลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตของชุมชนจะยึดอยู่กับเงินตรา แทนแรงยึดเหนี่ยวภายในชุมชน (หมู่บ้าน)

pladaeg sab

ยุคเผชิญหน้า "น้ำปลา-ปลาแดก"

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจาก "เศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงตัวเอง เป็นเศรษฐกิจเพื่อการค้า" ได้เกิดแก่ชุมชนหมู่บ้านอีสานอย่าง กว้างขวาง ภายหลังจากการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเกือบทุกหมู่บ้านมีถนนตัดเข้าไปถึง

ถนนที่ตัดเข้าไปยังหมู่บ้านได้นำเอาสินค้าใหม่ๆ หลากหลายชนิดเข้าไปสัมผัสกับชีวิตชนบทอีสาน เครื่องกินของใช้หลายอย่างที่ชาวบ้านเคยผลิตเองใช้เอง ก็เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อขาย เพิ่มเข้าไปในการผลิตเพื่อเลี้ยงตัวเอง เพื่อให้มีส่วนเกินสำหรับนำไปขายให้ได้เงินมาซื้อสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ที่ประดังเข้ามาในหมู่บ้าน สื่อมวลชนต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ตลอดจนพ่อค้าชาวจีนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้เข้าไปมีบทบาทในการปลุกระดมเพื่อสร้างแนวคิด โลกทัศน์ค่านิยมในการบริโภคแบบคนเมืองให้กับชนบทอีสาน เงินตราได้เข้าไปมีบทบาทในชีวิตของชาวอีสานถึงขนาดที่เป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ปริมาณของความสุขความทุกข์นั้นวัดกันด้วยจำนวนเงิน

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดังกล่าว เข้าไปกระทบชีวิตของชาวอีสานอย่างมากมาย มากมายจนหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ ไม่สามารถจะอธิบายผลกระทบมันได้ทั้งหมด ในบรรดาผลกระทบทั้งมวลนั้น "ปลาแดก" ก็ได้รับผลกระทบอันนั้นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปลาแดกที่เคยยืนโดดเด่นในฐานะเป็นส่วนสำคัญในอาหารทุกอย่าง เป็นคำข้าวทุกคำ ของชาวอีสานได้ลดบทบาทลงอย่างรวดเร็ว

น้ำปลาชนิดต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม ได้เข้าไปแสดงบทบาทแข่งกับ
ปลาแดกของชาวอีสาน "

แต่ถึงแม้ว่าบทบาทของน้ำปลานั้น ไม่มีทางที่จะไปแทนที่ปลาแดกได้อย่างแท้จริงก็ตาม แต่น้ำปลาก็เป็นสัญลักษณ์ของคนเมือง เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย จึงทำให้สายตาภายนอกที่มองเข้าไปในชนบทอีสานมองว่า ปลาแดก เป็น ของเก่า ล้าสมัย ไม่สะอาด ขณะนี้กำลังมีการโฆษณาวิธีการทำน้ำปลาจากปลาแดก ซึ่งนั่นหมายถึงการให้ความสำคัญน้ำปลาก่อนปลาแดก

ปลาแดก มิได้หมายความเพียงเป็นตัวแทนของความเค็มอย่างเดียวกับน้ำปลา เพราะลำพังความ "เค็ม" นั้น เกลือ ได้ทำหน้าที่ของมันเต็มที่อยู่แล้ว แต่ปลาแดกมีความหมายต่อชีวิตของชุมชนมากกว่าความ "เค็ม" แม้แต่ที่มาของปลาแดกก็แตกต่างจากน้ำปลาอย่างชัดเจน "น้ำปลา" ในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดก็อาจจะไม่ได้เกิดมาจากน้ำปลาล้วนๆ เหมือนน้ำปลาดีราคาแพง เพราะพบว่า "น้ำปลา" เกรดต่ำๆ ที่เร่ขายตามหมู่บ้านชนบทห่างไกล อาจทำมาจากน้ำต้มกระดูกสัตว์ในน้ำเกลือ ผสมกับหัวน้ำปลาดีเล็กน้อยเพียงเท่านั้น ซึ่งมีคุณค่าและรสชาติด้อยกว่าน้ำปลาแดกที่เราเอามาต้มแล้วกรองใช้เองเสียอีก

ที่มาของปลาแดก ไม่เกี่ยวข้องกับเงินตราเลย แม้แต่บาทเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็นปลา เกลือ รำข้าว ล้วนแล้วแต่อยู่ในวิสัยที่ชาวบ้านสามารถผลิตได้ด้วยตนเองทั้งสิ้น แต่น้ำปลานั้นมีที่มาจาก "เงินตรา" อย่างแท้จริง

วิจัยยกระดับ "ปลาร้า" ให้โกอินเตอร์

"บทส่งท้าย"

ปลาแดก ได้ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงในการดำรงชีวิตของพี่น้องชาวอีสานมาอย่างยาวนาน ภายใต้ ระบบเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงตัวเอง ตราบจนกระทั่งระบบเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปเป็น เศรษฐกิจแบบการค้า ที่เงินตราได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของชาวนาอีสาน บทบาทของปลาแดกได้เปลี่ยนแปลงไป มีชาวนาอีสานทำปลาแดกขาย เพิ่มเข้าไปในการทำเพื่อบริโภคเองในครอบครัว และมีชาวบ้านอีกหลายคนที่ไม่ได้ทำปลาแดกเอง แต่จะหาปลาแดกมาโดยการซื้อด้วยเงิน

บทบาทของปลาแดกเพื่อความมั่นคง เพื่อความอยู่รอดของชาวบ้านอีสานได้เปลี่ยนไป ปลาแดกกลายเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวนาอีสาน ยิ่งลูกหลานคนรุ่นใหม่ของชาวอีสาน ที่ซึมซับเอาวัฒนธรรมจากส่วนกลาง โดยระบบการศึกษา จากสื่อมวลชน และจากการเดินทางไปมาหาสู่กัน โดยการสัมผัสกับวัฒนธรรมจากภายนอกโดยตรง ก็ยิ่งลดบทบาทของปลาแดกให้น้อยลงไปอีก จนเป็นส่วนที่ไม่ค่อยจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน และพร้อมที่จะลืมมันเสียเมื่อใดก็ได้ เหมือนกับที่ปลาร้าของไทยกลางก็เป็นส่วนเล็กๆ ในชีวิตของเขาเช่นเดียวกัน

ในอนาคตข้างหน้า จะมีลูกหลานสักกี่คนที่ยังรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของ "ปลาแดก" ในอดีต

ที่มา : ชุมพล แนวจำปา, วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 13 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535

รู้หรือไม่?

ในปลาร้า 100 กรัม มีปริมาณโปรตีนประมาณ 17 กรัม ซึ่งสูงพอๆ กับเนื้อสัตว์ทั่วไปที่เรากิน รวมถึงมีแคลเซียมอีกด้วย โดยเฉพาะการนำไปแปรรูปเป็นปลาร้าสับที่กินได้ทั้งก้าง ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณแคลเซียมให้มากขึ้น แต่ถ้าหากกินปริมาณมากเกินไป อาจได้รับโซเดียมมากเกินไป จะมีผลต่อความดันและไต ปลาร้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ คือปลาร้าสุก เท่านั้น การกินปลาร้าดิบ เสี่ยงต่อการเป็นพยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตัวจี๊ดที่จะส่งผลเสียต่อร่างกายต่อไป และการกินปลาร้าซ้ำไปซ้ำมา อาจจะทำให้มีโอกาสได้รับสาร "ไนโตรซามีน" ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งมากขึ้นตามไปด้วย

ข้อมูล : สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง [ ปลาร้า : เครื่องปรุงรสอีสาน | การทำอาหารจากปลาร้า | วิญญาณ ๕ ของชาวอีสาน | เค็มบักนัด ]

เรื่องราวของชาวอีสาน : อัตลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)