foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

pramothai header

หนังประโมทัย : อัตลักษณ์อีสาน

หนังประโมทัยอีสาน คือ หนังตะลุงของคนภาคอีสาน มีชื่อเรียกต่างๆ กันไปหลายชื่อ เช่น หนังปราโมทัย หนังประโมทัย หนังบักตื้อ หรือ หนังบักป่องบักแก้ว ซึ่งสองชื่อหลังนี้มาจากชื่อของรูปตัวตลกเอกของเรื่อง การแสดงหนังประโมทัยเกิดขึ้นจาก การแผ่ขยายวัฒนธรรมหนังตะลุงของภาคใต้ มายังยังภาคอีสาน จากการที่คนอีสานเดินทางไปทำงานต่างถิ่น หรือค้าขายยังต่างถิ่น เช่น นายฮ้อยที่นำคณะต้อนวัวควายไปขายยังภาคกลาง และนำแรงงานอีสานไปรับจ้างทั่วไป ได้พบเห็นหนังตะลุงชอบจึงคิดนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสิ่งที่ตนชอบคือ "หมอลำ" โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงจนเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ นั่นคือ การนำหมอลำกับหนังตะลุงมารวมกัน

องค์ประกอบของการแสดงหนังประโมทัยที่สำคัญคือ ผู้เชิดตัวหนัง โรงและจอหนัง บทพากย์บทเจรจา ดนตรีประกอบ ตลอดจนแสงเสียงที่ใช้ในการแสดง นิยมแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ แต่ต่อมาได้มีการนำวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานมาแสดงด้วย เช่น สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น ท้าวก่ำกาดำ ขูลูนางอั้ว การแสดงหนังประโมทัยเรื่องวรรณคดีอีสานนั้น จะแสดงเหมือนหมอลำผสมหนังตะลุง คือ ตัวพระ แม้จะพากย์และเจรจาเป็นภาษาไทยกลาง แต่ก็สามารถร้องหมอลำได้ด้วย ตัวนาง เล่นแบบหมอลำ เจรจาด้วยภาษาอีสาน การเล่นลักษณะนี้พบได้ทางจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี

pramothai 13

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม ตัวหนังสำหรับเชิดวาดด้วยความอิสระ ตัวละครสำคัญมีความประณีตตามลักษณะหนังตะลุง และหนังใหญ่ แต่สัดส่วนไม่ผอมเพรียว ส่วนตัวตลกไม่วิจิตรบรรจงมากนัก สร้างความรู้สึกตลกสนุกสนานและมีชีวิตชีวา ตัวหนังลงสีแดง สีดำ และสีเขียว การแสดงเน้นความสนุกสนาน ตลกโปกฮา มีลักษณะผสมระหว่างหนังตะลุงและหมอลำ

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม ผสมผสานการแสดงแบบภาคใต้ให้เข้ากับความเป็นพื้นบ้านอีสานได้อย่างลงตัว เรื่องที่นำมาเล่นช่วยสืบทอดวรรณกรรมพื้นบ้านและการแสดงหลายๆ ด้าน

pramothai 01หนังปราโมทัย หรือ หนังตะลุงอีสาน นั้น มีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ เช่น หนังปะโมทัย หนังประโมทัย หนังปราโมทัย หนังบักตื้อ และหนังบักป่องบักแก้ว คำว่า หนังปราโมทัย น่าจะมาจากคำว่า ปราโมทย์ ซึ่งหมายถึง ความบันเทิงใจ ความปลื้มใจ ส่วนคำว่า ประโมทัย และ ปะโมทัย สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นชื่อของคณะหนังตะลุง หรือเป็นการออกเสียงของคนอีสานที่มักจะไม่มีการออกเสียงควบกล้ำ "ปร" กลายเป็น "ป" ก็ได้ ส่วนหนังบักตื้อ และหนังบักป่อง บักแก้ว มาจากชื่อของตัวตลก (ตัวหนัง)

หนังปราโมทัย ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวบ้าน เป็นการละเล่นซึ่งผสมผสานกัน ระหว่างหนังตะลุงกับหมอลำ โดยตัวที่เป็นตัวเอก ตัวพระ ตัวนาง หรือ เป็นตัวเจ้า จะพูดจาภาษากลาง ตัวตลก เหล่าเสนาอำมาตย์ จะพูดเจรจาเป็นภาษาอีสาน เรื่องที่นำมาแสดงก็จะเอาวรรณกรรมพื้นบ้านมาแสดง เช่น สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น การะเกษ ผาแดงนางไอ่ ท้าวก่ำกาดำ รวมทั้งวรรณคดีเอกอย่าง รามเกียรติ์

pramothai 02หนังปะโมทัยอีสานนั้น มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลางแห่งแรก คณะหนังปะโมทัยคณะเก่าแก่ที่สุดคือ คณะฟ้าบ้านทุ่ง ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2469 ซึ่งหนังตะลุงอีสานคณะอื่นๆ ต่างก็ล้วนสืบทอดมาจากคณะนี้ทั้งนั้น (อ้างถึง : วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุบลราชธานี. 2542 : 178)   คณะหนังปราโมทัยที่เก่าแก่รองลงมาได้แก่ คณะบุญมี ซึ่งมาจากจังหวัดอุบลราชธานี แต่มาตั้งคณะขึ้นในจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. 2476   คณะประกาศสามัคคี ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2490   นอกจากนี้ยังมีคณะ ช. ถนอมศิลป์ บ้านโคกไพลี ตำบลโพธิ์ทอง กิ่งอำเภอศรีสมเด็จ คณะ ป. บันเทิงศิลป์ บ้านสีแก้ว ตำบลสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด คณะหนังปะโมทัยของผู้ใหญ่ถัง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

จากการสำรวจวิจัยพบว่า ยังมีคณะหนังประโมทัยอยู่ใน 13 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ อุดรธานี มุกดาหาร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร บุรีรัมย์ และนครราชสีมา (สำรวจปี พ.ศ. 2553) โดย จังหวัดร้อยเอ็ดมีมากที่สุด 13 คณะ ยโสธรมี 7 คณะ ขอนแก่นมี 6 คณะ อุบลราชธานีมี 5 คณะ อุดรธานีและมหาสารคามมีจังหวัดละ 3 คณะ

ลักษณะของตัวหนังประโมทัย

ตัวหนังจะมีขนาดสูงประมาณ 1-2 ฟุต ทำด้วยหนังวัวหรือหนังควาย (ปัจจุบัน ผู้เขียนพบว่า ใช้แผ่นพลาสติกหนาทดแทนแล้วเพราะหาได้ง่ายกว่า ราคาไม่แพง) หนังแต่ละตัวจะเป็นตัวละครลอยตัวเดียว ไม่มีฉากประกอบ มือข้างหนึ่งเคลื่อนไหวได้ ยกเว้นตัวตลกจะมีแขนเคลื่อนไหวได้ทั้งสองข้าง และปากขยับขึ้นลงเหมือนพูดได้

ตัวหนังจะเป็นภาพด้านข้างในส่วนหัว แต่ส่วนลำตัวมองเห็นแขนขาได้ครบทั้งสองข้าง บางตัวจะทำเป็นพิเศษเพื่อให้ดูเคลื่อนไหวเหมือนคนจริงมากขึ้น ตัวหนังประโมทัยมีความวิจิตรพิสดารน้อยกว่า หนังตะลุงภาคใต้ และหนังใหญ่ภาคกลาง แต่ตัวตลกมีรูปร่างเหมือนคนธรรมดามากกว่าตัวตลกของหนังตะลุงภาคใต้ เช่น บักตื้อ บักแก้ว บักป่อง บักแหมบ เป็นต้น (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. 2525 : 179-180)

แต่ละคณะจะมีจำนวนตัวหนังไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะมีประมาณ 30-100 ตัว ซึ่งตัวหนังจะแยกเป็น 3 ฝ่าย คือ

  • ฝ่ายพระหรือฝ่ายธรรมะในเรื่อง เช่น กษัตริย์ มเหสี พระเอก (เจ้าชาย) นางเอก (เจ้าหญิง) ถ้าเป็นเรื่องรามเกียรติ์ก็จะได้แก่ พระราม พระลักษณ์ นางสีดา หนุมาน สุครีพ องคต เป็นต้น
  • ฝ่ายยักษ์หรือฝ่ายอธรรม (ตัวร้ายในเรื่อง) ได้แก่ ทศกัณฐ์ นางมณโฑ ไมยราพ กุมภกรรณ ฯลฯ
  • ฝ่ายตัวตลกหรือคนรับใช้ เป็นตัวชูโรงสร้างความสนุกสนาน ดึงผู้ชมให้อยู่หมัดตลอดการแสดง ซึ่งคนอีสานคิดขึ้นมาโดยเอารูปแบบความสนุกสนานของตนเองเป็นที่ตั้ง ที่ขาดไม่ได้ในทุกคณะคือ  บักป่อง บักแก้ว บักแหมบ นางจุมจี นางจุมจ่อ เป็นต้น
  • ตัวหนังพิเศษที่ทุกคณะต้องมีคือ ฤาษี ที่ถือเป็นครูด้านการแสดงรูปเงาที่สืบทอดจากอินเดีย (เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์) และ ปลัดตื้อ ผู้เป็นครูหนังจากภาคใต้ ตัวหนังทั้งสองตัวนี้ถือเป็นตัวหนังศักดิ์สิทธิที่ห้ามมิให้ผู้หญิงแตะต้องโดยเด็ดขาด

pramothai 14

โรงหนังและจอหนัง

โรงหนังที่ใช้แสดงจะสร้างเป็นโรงยกพื้น สูงประมาณเอวของผู้ใหญ่ มีหลังคาสูงและมีจอซึ่งทำด้วยผ้าขาว ขนาดกว้าง (สูง) ประมาณ 1.30 เมตร และยาวประมาณ 3.50 เมตร ขนาดของโรงมีความกว้างยาวที่จะบรรจุได้ทั้งตัวหนัง ผู้พากษ์ ผู้เชิดตัวหนัง และนักดนตรีทั้งหมด ในสมัยโบราณอาจใช้เวทีหมอลำ เวทีมวย ศาลากลางบ้าน ศาลาการเปรียญวัด โดยใช้ผ้าล้อมเป็นขอบเขตของโรงกั้นส่วนคณะแสดงกับผู้ชมก็ได้

แสงไฟที่ใช้ส่องตัวหนังแรกๆ ใช้ขี้ไต้ (ขี้กระบอง) ซึ่งทำจากน้ำมันยางผสมกับขี้ขอนดอก (ไม้ผุ) หรือขี้เลื่อย เพื่อให้เกิดแสงสว่างแสดงรูปเงาขึ้นบนจอ ต่อมาใช้ตะเกียงเจ้าพายุแทน ปัจจุบันจะใช้หลอดไฟฟ้ากลมขนาด 100 watts จำนวน 1-3 หลอดแขวนให้อยู่ระหว่างผู้เชิดกับตัวหนัง

จำนวนนักแสดงในคณะ

คณะหนังปราโมทัยคณะหนึ่ง จะมีจำนวนประมาณ 5 - 10 คน เป็นคนเชิดหนัง 2 - 3 คน ซึ่งจะทำหน้าที่พากย์และเจรจาด้วย แต่ก็มีบางคณะที่มีคนทำหน้าที่เชิดอย่างเดียว โดยมีคนเจรจาแยกเป็นชายจริง หญิงแท้ ต่างหาก มีนักดนตรีประมาณ 3 - 5 คน เครื่องดนตรีจะประกอบด้วย ระนาดเอก 1 ราง ตะโพน 1 ใบ ฉิ่ง 1 คู่ ต่อมามีการนำเอา พิณ แคน ซอ คีย์บอร์ด กลอง ฉิ่งฉาบ เข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดความไพเราะเร้าใจขึ้น ทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาคล้ายกับหมอลำนั่นเอง คณะหนังตะลุงที่ผม (ผู้ทำเว็บไซต์) ได้รู้จัก และเคยเฝ้าดูการละเล่นมาตั้งแต่เด็กจนหนุ่มคือ คณะ ฟ.บันเบิงศิลป์ แต่ช่วงหลังก็หายไปคงจะเลิกกิจการไปแล้ว

วิถีทั่วไทย ThaiPBS : ความสำเร็จของครูหนังประโมทัย

ความเชื่อเกี่ยวกับการแสดง 

ความเชื่อของผู้เล่นหนังปราโมทัยนั้น มีข้อห้ามต่างๆ ที่ถือเป็นเรื่องเคร่งครัด อย่างเช่น ห้ามตั้งโรงหนังหันหน้าไปทางทิศตะวันตกโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อกันว่าเป็นทิศอัปมงคล จะทำให้การแสดงตกต่ำไม่รุ่งเรือง ก่อนการแสดงทุกครั้งต้องระลึกถึงครูอาจารย์ของแต่ละคณะ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คณะ และทำให้ผู้ชมนิยมชมชอบ หากเดินทางไปแสดงหนังแลกข้าวจากหมู่บ้านอื่น ก็ต้องไม่ออกเดินทางไปในวันพระแรมและขึ้น 15 ค่ำ หัวหน้าคณะหนังต้องนำดอกไม้ธูปเทียนมาทำพิธีบูชาหน้าที่บันไดบ้านเสียก่อน และต้องหันหน้าไปทางทิศเหนือ เมื่อกล่าวคาถาจบก็ต้องกลั้นลมหายใจพร้อมกับกระทืบเท้าข้างขวาอีก 3 ครั้ง การเก็บตัวหนังให้เก็บตัวฤาษีอยู่บนสุด ตามด้วยตัวตลก บักตื้อ บักป่อง บักแก้ว บักแหมบ แล้วจึงเป็นตัวพระตัวนางอยู่ล่างสุด ต้องเก็บตัวหนังในที่สูงเพื่อป้องกันการเดินข้าม ในระหว่างการแสดงห้ามมิให้บุคคลภายนอกแตะต้องตัวหนังโดยเด็ดขาด

วิธีการและขั้นตอนการแสดง 

การแสดงหนังปราโมทัยเริ่มเวลา 2-3 ทุ่ม จบประมาณ 6 ทุ่ม ถึงตี 1 หรือตี 2 ก่อนเริ่มการแสดงหัวหน้าคณะทำพิธีไหว้ครู เพื่อคารวะครูบาอาจารย์ และขอให้การแสดงในครั้งนี้ราบรื่น เป็นไปด้วยดี และให้เป็นที่นิยมของผู้ชม หัวหน้าคณะประนมมือยกขึ้นเหนือศีรษะสวดบริกรรมคาถา "ยกอ้อ ยอครู"

สิ่งของสำหรับพิธีกรรมไหว้ครู (เครื่องคาย) ของพ่อคำตา อินทร์สีดา ได้แก่ ขันธ์ห้า (ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่) เหล้าขาว 1 ขวด ไข่ดิบ 1 ลูก เงิน 12 บาท ถ้าถุง 1 ผืน และแป้ง 1 กระป๋อง

ขั้นตอนการไหว้ครู

pramothai 08หัวหน้าคณะได้จัดเตรียมเครื่องคาย สำหรับไหว้ครู รวมทั้งตัวหนังตะลุง การไหว้ครูนั้นมีหัวหน้าคณะและลูกวงบางส่วนร่วมพิธีไหว้ครู เรียกว่า "พิธียกอ้อ ยอครู" โดยนำตัวหนังที่เด่นๆ (ตัวพระ ตัวนาง และตัวตลกสำคัญ) มาวางไว้ด้านหน้าเครื่องคาย รวมเครื่องคายทั้งหมดใส่ถาด แล้วผู้นำยกอ้อ ยอครู จุดเทียน 1 คู่ กราบ 3 ครั้ง เพื่อคารวะครูบาอาจารย์ และทั้งตัวหนังตะลุงที่ถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ด้วย (ซึ่งจะใช้ตัวฤาษีเป็นตัวแทน) ยกเครื่องคายขึ้นสูงประมาณจมูกของผู้กล่าวยกอ้อ ยกครู แล้วผู้กล่าวนำสวดบริกรรมคาถา วางเครื่องคายลง แล้วทาแป้งที่ใบหน้าของผู้นำยกอ้อ ยอครู แล้วส่งแป้งต่อๆ ไปให้ลูกวงทาที่ใบหน้าด้วยทุกคน

ขั้นตอนการเชิดหนังประโมทัย

ก่อนการแสดง มีการเตรียมตัวหนังที่ใช้ในการแสดง โดยปักตัวละครไว้ที่ต้นกล้วยที่มัดไว้ห้อยหัวทิ้งลงข้างล่าง ดนตรีเริ่มบรรเลง นักแสดงเริ่มจัดฉากละครตัวหนังที่ตนรับผิดชอบ เรียงไปจนเต็มฉาก ก่อนการโหมโรงก็มีผู้แสดงประกอบจำนวนหนึ่งมาเต้นประกอบดนตรี อยู่ด้านข้างซ้าย-ขวาของเวที 1 เพลง แล้วเริ่มการโหมโรงต่อ

การออกโรง หรือการโหมโรง โดยการตีระนาด ซึ่งหัวหน้าคณะเป็นคนตีระนาดบรรเลงเพลง และร้อง เออ... พร้อมกับการตีระนาดสลับกันไป-มา ในเนื้อหามีคำขอขมาครูบาอาจารย์ เมื่อจบการขอขมาครูอาจารย์และออกแขกแล้ว นักแสดงแต่ละคนก็จะเชิดตัวหนังทีละตัวตามเนื้อเรื่องที่ใช้แสดง ตั้งแต่ตัวพระตัวนางไปเรื่อยๆ จนหมด สลับกับการเล่นดนตรี ตัวหนังที่แสดงชูโรงซึ่งเป็นตัวเอกตลอดกาลของหนังประโมทัย คือ ตัวหนัง "ปลัดตื้อ" นั่นเอง

หนังปราโมทัย : ตำนานที่ต้องสืบสานต่อลมหายใจ

pramothai 03เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมาได้ทราบข่าวจากแม่ยายว่า จะมีคณะหนังปราโมทัยมาแสดงที่ วัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ ใกล้บ้านมาก จึงไม่พลาดที่จะต้องไปชมรำลึกถึงความหลัง ว่าหนังปราโมทัยเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ผมรู้จักกับวันนี้ต่างกันอย่างไรหนอ

ผิดคาดตั้งแต่เข้าไปในบริเวณวัดแล้วครับ เพราะได้ยินแต่เสียงดนตรีสไตล์ลำซิ่ง กลองชุด กีตาร์ เบส ม่วนหลาย สายตาเหลือบไปเห็นจอหนังปราโมทัยแน่ๆ แต่ดนตรีนี่ซิมันขัดแย้งอดีต

pramothai 04มองดูบริเวณหน้าจอ มีผู้คนจำนวนไม่น้อย (ดูวัยก็เลยสามสิบห้าขึ้นไป เสียเป็นส่วนใหญ่ เด็กเล็กๆ มีบ้าง แต่ไม่เห็นมีวัยจ๊าบส์เลยแฮะ) แต่พอดูด้านข้างโรงทำไมคนตรึมเลยล่ะ ทั้งหนุ่มทั้งแก่ชูคอกันเพียบเลย

จะไม่ให้ตรึมได้ไง เพราะด้านหลังโรงคือ กลุ่มของนักดนตรี เจ้าของเสียงเมื่อสักครู่ กำลังบรรเลงอย่างมันในอารมณ์ทีเดียว ด้วยเครื่องดนตรีสมัยใหม่ เพลงและกลอนลำสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลอนลำซิ่งของ ประสาน เวียงสีมา เมียผู้ใหญ่บ้าน กับอีกหลายเพลงฮิต พอมองดูไปที่จอเหล่านักเชิดวัยซิ่ง (คะเนด้วยสายตา 45 ขึ้นทั้งนั้น) กำลังชักเชือกให้สาวซิ่งบนจอยักย้าย ส่ายสะโพก อย่างสนุกสนาน

pramothai 05ผมยังอดที่จะขยับเท้าตามไปด้วยไม่ได้เลย แน่แล้วนี่คือการสืบสานต่อลมหายใจให้กับ หนังปราโมทัย อีกเฮือก ไม่ต่างจาก "หมอลำคู่" ที่พัฒนามาเป็น "หมอลำซิ่ง" หนังปราโมทัยก็ย่อมจะต้องเป็นหนังปราโมทัยซิ่ง เพื่อความอยู่รอดเช่นเดียวกัน

การแสดงหน้าม่านด้วยความสนุกสนานนี่ ดำเนินไปอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ได้เวลาที่การแสดงตามรูปแบบหนังปราโมทัยดั้งเดิมจะเริ่มต้น เรื่องราวที่นำมาแสดงในวันนี้ก็ยังคงเป็นวรรณกรรมเอก "รามเกียรติ์" เหมือนเมื่อครั้งอดีต เพียงแต่จะจับตอนใดมาแสดงตามความเหมาะสม (กับสถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้น จะได้แทรกมุขตลกโปกฮาได้)

ลักษณะการแสดงของหนังปราโมทัยของชาวอีสาน ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ จะใช้ภาษาไทยกลาง (ค่อนข้างแปร่งๆ ตามประสาบ้านเฮาครับ ลิ้นมันจะแข็งๆ หน่อย) ส่วนเหล่าเสนา อำมาตย์ ทหาร และชาวบ้านจะใช้ภาษาอีสาน ผู้ให้เสียงในคณะนี้จะมีนายหนังที่สามารถในเรื่องบทกลอนเป็นผู้นำเรื่อง ส่วนตัวละครอื่นๆ จะมีทั้งชายจริง หญิงแท้ ช่วยกันประมาณ 3 คน ที่เหลือจะเป็นเพียงผู้เชิดหนัง ให้แสดงบทบาทตามเสียงพากย์

หนังประโมทัย คณะพ่อคำตา อินทร์สีดา จุงหวัดอุดรธานี

มุมมอง : ของคนร่วมสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงในวันนี้

pramothai 06ผมค่อนข้างจะผิดหวังกับตัวหนังมากครับ ไม่มีรายละเอียด ฝีมือการตัดหนัง ฉลุลวดลาย ไม่ถึงศิลปะของลวดลายไทยแบบดั้งเดิม แม้แต่สีสันก็ฉูดฉาดเกินจริง และไม่ตรงกับความหมายของตัวละคร ตามแบบแผนศิลปกรรมไทยดั้งเดิมครับ (เพราะผมถูกเคี่ยวเรื่องศิลปะไทยจาก ท่านอาจารย์จุลทัศน์ พยัคฆรานนท์ มามาก ในสมัยเรียนที่ มศว. ประสานมิตร เลยตาถึงนิดหน่อยครับ)

ตัวละครที่เป็นเสนาและตัวตลก ซึ่งจะต้องมีการชัก และเชิดท่าทางการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ทำได้อย่างหยาบๆ เท่านั้นเอง แต่ผมก็ยังให้ความชื่นชมของผู้สืบสานต่อลมหายใจให้กับ หนังปราโมทัยกลุ่มนี้อยู่ครับ

pramothai 07เพราะนี่คือ "ฝีมือแบบชาวบ้าน" จริงๆ ไม่ได้รับการปรึกษาจากผู้รู้เพียงแต่จดจำสืบทอดกันมา ไม่ได้เรียนศิลปะไทยจากที่ใดมาก่อน ทำกันเพราะใจรักจริงๆ ก็ต้องยกย่องชื่นชมครับ

เครื่องดนตรีดั้งเดิม ระนาดเอก ตะโพน ฉิ่ง ยังคงอยู่ครับสำหรับการดำเนินเรื่องของตัวเอก (ตัวพระ ตัวนางและยักษ์) แต่ทัพเสริมนี่มีทั้งกลองชุด กีตาร์ เบส คีย์บอร์ด มาช่วยเสริม ซึ่งจะใช้ในตอนที่ตัวตลกออกมาดำเนินเรื่องแก้ง่วงช่วงดึกๆ

ลักษณะของการแสดงในวันนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแล้วก็จริง แต่การจะดึงดูดให้ผู้ชมยังคงอยู่กับหนังปราโมทัยได้ตลอดทั้งคืน เหมือนเมื่อครั้งอดีตคงเป็นเรื่องยากเสียแล้ว เพราะจุดน่าสนใจมีน้อยมาก สู้การแสดงของหมอลำซิ่งไม่ได้ ทำไมหรือ?

pramothai 09หมอลำหมู่หรือแม้แต่หมอลำซิ่ง ผู้ชมได้รับความสนุกสนานทั้งเสียงดนตรี เสียงร้องและเสียงลำ ส่วนสายตาก็ได้ชื่นชมท่าทางการฟ้อนของผู้รำ (ที่อาจมีการสวมชุดที่ออกจะวาบหวาม ออกอาการหวาดเสียวนิดๆ ด้วย)

ในขณะที่หนังปราโมทัยนั้น ผู้ชมได้ยินเสียงครึกครื้นจากเสียงดนตรี แต่สายตาเห็นแต่ "เงาตัวหนัง" เต้นกระย่องกระแย่งอยู่หน้าจอ มันขาดรสชาติอยู่นะครับ ถ้าเนื้อหาการแสดงไม่ดึงดูดใจ ให้ตรึงผู้ชมอยู่กับที่ได้ โอกาสที่คนดูจะลุกไปก่อนเที่ยงคืนก็มีสูงมาก อย่าง "หนังตะลุงภาคใต้" ที่ยังคงอยู้ได้นั้นมีแรงดึงดูดคือ "พลังทางการเมือง" ความสนใจของผู้คนชาวใต้ต่อปัญหาสังคมมีมาก ทำให้นายหนังมีโอกาสฉวยเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะนั้นมาบอกเล่าได้ ด้วยการทำให้ไอ้เท่งเล่าผ่านความตลกขบขันออกมา มีการสอดแทรกการแสดงให้ตลกได้เป็นระยะๆ นั่นเอง แต่สำหรับคนอีสานแล้ว คงจะยากอยู่พอสมควรในเรื่องนี้ เพราะพวกเรามักจะไม่ค่อยพูดกัน เรื่องของเจ้านายเพิ่น! พ่ะนะ

ผมยังคงมองไม่ออกว่าจะปรับเปลี่ยนในรูปใด จึงจะสานต่อให้หนังปราโมทัยยังคงอยู่ได้ ให้มีการแสดงแพร่หลายออกไป ได้แต่เอาใจช่วยนำมาเสนอให้ท่านทั้งหลายได้รู้จักกัน

ผมไม่มีโอกาสได้สนทนากับนายหนัง หรือ หัวหน้าคณะ เลย เพราะติดการแสดงตลอดเวลา (คณะเดินทางมาถึงงานช้า เพราะหลงทางไม่เคยมา พอมาถึงก็ติดตั้งอุปกรณ์แสดงกันเลย) ได้สอบถามจากนักดนตรี และคณะผู้ร่วมงาน ก็ทราบเพียงว่า มาจาก "บ้านโพนทัน" อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ทั้งหมดเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน ได้รับการสอนแนะนำจากหัวหน้าคณะ ช่วยกันทำและฝึกซ้อม ออกแสดงรับงานทั่วไป ไม่แน่ใจว่าจะยังคงอยู่ได้นานอีกเท่าใด เพราะหลังๆ ก็ไม่ค่อยมีงานมากนัก

 หนังตะลุงน้องเดียว ทางภาคใต้

บันทึกสุดท้าย :  

นับว่าเป็นโอกาสดีที่ผมได้ทราบข่าวนี้ และไปบันทึกภาพและเหตุการณ์นี้ไว้ ซึ่งหลายๆ ท่านอาจจะนึกถึงและโหยหาอดีต แต่ก็ยากที่จะได้ชม ก็ต้องฝากไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานอื่นๆ) ที่จะต้องช่วยกันหาทางอนุรักษ์สืบสานไว้ให้ลูกหลานเราได้ชม ได้ศึกษาถึงความงดงามของศิลปการแสดง "หนังปราโมทัย" นี้

ผมเคยขับรถผ่านไปทางยโสธร พบว่าแถว "บ้านโพนทัน" (ใกล้แยกบ้านศรีฐาน-กระจาย) ถนนแจ้งสนิท ตำบลลุมพุก อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ก่อนถึงตัวเมืองยโสธรประมาณ 10 กิโลเมตรเศษ มีอาคารติดป้ายว่า "พิพิธภัณฑ์หนังปราโมทัย" แต่แวะไปครั้งใดก็ไม่เห็นเปิดสักที ตรงนั้นก็ไม่มีผู้คนให้สอบถามด้วย ใครมีข้อมูลช่วยส่งข่าวหน่อยนะครับ  มีเอกสารทางวิชาการมาฝาก เผื่อใครจะศึกษาและนำไปอนุรักษ์เผยแพร่ต่อ หนังประโมทัย : ศิลปการแสดงอีสานที่กำลังเลือนหายไป

รายการ "ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร : หนังบักตื้อ" ทางช่อง ThaiPBS

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 ได้มีโอกาสชมสารคดีจากทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว ผ่านทาง Facebook กินที่นี่ เที่ยวที่นี่ ได้นำเอาสารคดี รายการ "เลาะลุยลาว" ตอน หนังบักตื้อ-มหรสพที่ถูกลิม (ລາຍການເລາະລຸຍລາວ ຕອນ: ໜັງບັກຕື້-ມະຫໍລະສົບທີ່ຖືກລືມ) ซึ่งกล่าวว่า

ມາຍ້ອນລະນຶກເຖິງການສະແດງມະຫໍລະສົບສຸດມ່ວນຊື່ນໃນອາດີດທີ່ຫລາຍໆ
ຄົນອາດຄິດຮອດຄິດເຖິງ ເຊັ່ນ ການປູສາດນັ່ງຊົມຫນັງບັກຕື້ (ຫນັງປະລັດຕື້)​
ກັບພໍ່ແມ່ ຫລືພໍ່ຕູ້ແມ່ຕູ້ຢູ່ຕາມວັດວາ ເຖິງແມ່ນວ່າປັດຈຸບັນຍຸກສະໄຫມຈະປ່ຽນໄປ ແລະມີການສະແດງທີ່ຫລາກຫລາຍ ມາບຽດບັງຫນັງບັກຕື້ອອກໄປຈາກເວທີ ແຕ່ກໍຍັງມີປະຊາຊົນຄົນຮາກຫຍ້າກຸ່ມຫນຶ່ງທີ່ພະຍາຍາມຮັກສາການສະແດງ
ພື້ນບ້ານນີ້ໄວ້ຢ່າງສຸດຄວາມສາມາດ
"


มาย้อนระลึกถึงการแสดงมหรสพสุดม่วนซื่นในอดีตที่หลายๆ
คนอาจคิดฮอดคิดถึง เช่น การปูสาดนั่งชมหนังบักตื้อ (หนังปลัดตื้อ)
กับพ่อแม่ หรือพ่อตู้แม่ตู้ตามวัดวา ถึงแม้นว่าปัจจุบันยุคสมัยจะเปลี่ยนไป
และมีการแสดงที่หลากหลาย มาเบียดบังหนังบักตื้อออกไปจากเวที
แต่ก็ยังมีประชาชนคนรากหญ้ากลุ่มหนึ่งที่พยายามรักษาการแสดง
พื้นบ้านนี้ไว้อย่างสุดความสามารถ

ລາຍການເລາະລຸຍລາວ ຕອນ: ໜັງບັກຕື້-ມະຫໍລະສົບທີ່ຖືກລືມ
รายการ "เลาะลุยลาว" ตอน หนังบักตื้อ-มหรสพที่ถูกลิม

พบว่า การแสดงหนังบักตื้อ ของลาวนี้ เป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมมาจากการแสดง "หนังปราโมทัย" หรือ "หนังปลัดตื้อ" ในฝั่งประเทศไทย โดยได้ถูกนำไปเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2493 โดยชาวไทยชื่อ นายจันทร์ จันทร์ไพเราะ จากอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ในขณะที่บวชเป็นพระภิกษุได้จาริกไปจำพรรษาที่ เมืองจำพอน แขวงสวรรณเขต ต่อมาได้ลาสิกขา และได้แต่งงานมีครอบครัวกับหญิงชาวลาว ได้นำชุดตัวหนังปลัดตื้อหรือหนังปราโมทัยไปด้วย ปกตินายจันทร์มีอาชีพเป็นช่างก่อสร้างบ้านเรือน แต่ในช่วงว่างงานได้นำเอา "หนังปลัดตื้อ" ไปแสดงตามหมู่บ้านต่างๆ ในแขวงสวรรณเขต และใกล้เคียง จนมีชื่อเสียงโด่งดังนานกว่า 30 ปี ในภายหลังท่านผู้นี้ได้กลับไปบวชอีกครั้งที่ วัดไชยมุงคุล เมืองไกรสอนพรหมวิหาร แขวงสวรรณเขต ในภายหลัง ตัวหนังปลัดตื้อชุดดั้งเดิม ได้ถูกบูชาจากวัดออกไปเก็บรักษาไว้ที่ แผนกแถลงข่าววัฒนธรรมและท่องเที่ยว แขวงสวรรณเขต เพื่อลงทะเบียนเป็นมรดกท้องถิ่น


เรื่องน่ารู้ : อัตลักษณ์ของท้องถิ่นอีสาน

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)