คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องราว "ความอาถรรพณ์ของคืนพระจันทร์เต็มดวง" ถือเป็นวัฒนธรรมความเชื่อที่มีกันอยู่ทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ และความลี้ลับ หรือเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัว มักจะเกิดขึ้นในคืนพระจันทร์เต็มดวงแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ฝรั่ง แขก จีน ไทย หรือแม้กระทั่ง ขแมร์ ลาว กูย ก็ไม่ต่างกัน ในประเทศไทยก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า คนไทยเชื้อสายจีนและเวียดนามมีพิธีไหว้พระจันทร์กันเป็นประจําทุกปี แต่ไม่ค่อยมีใครได้ยินว่า มีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการไหว้พระจันทร์ของชาวขแมร์ หรือเขมร ทั้งๆ ที่ความเชื่อเหล่านี้มีมาหลายชั่วอายุคนแต่โบราณกาล
พิธีกรรมความเชื่อในการบูชาพระจันทร์ของชาวเขมร เป็นปรัชญาที่สอนให้คนรู้จักความรักความสามัคคี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักการแบ่งปัน รู้จักประมาณตน มีเหตุมีผล รู้จักสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองด้วยความไม่ประมาท ซึ่งล้วนแต่เป็นแนวทางในการดําเนินชีวิต ที่จะนําไปสู่วิถีการพึ่งตนเองแบบพอเพียง และความเป็นศิริมงคลของพี่น้องชาวเขมรในพื้นที่อีสานใต้มานาน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าชุมชนชาวขแมร์ในเขตอีสานใต้ส่วนใหญ่ได้ละทิ้งพิธีกรรมนี้ไปนานกว่า 50-60 ปี มีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ที่ชุมชนบ้านขนาดมอญ ตําบลตาตุม อําเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์
“ปะออกเปรี้ยะแค” ตามการออกเสียงของชาวสุรินทร์ หรือ "ปังอ๊อกเปรี๊ยะแค" ชาวบ้านขแมร์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษเรียกขาน แปลตามตัวอักษรในภาษาเขมรถิ่นไทย คือ 'ปะอ๊อก' หรือ 'ปังอ๊อก' แปลว่า กรอก หรือ ป้อน 'เปรี้ยะ' แปลว่า พระ เขมรออกเสียงว่า เปรี๊ยะ เช่น พระพุทธ เขมรพูดว่า เปรี๊ยะปุทธ์ ส่วน 'แค' แปลว่า ดวงจันทร์ หรือ พระจันทร์ เมื่อรวมกันแล้ว "ปะออกเปรี้ยะแค" จึงแปลว่า “กรอกพระจันทร์” หรือ “ป้อนพระจันทร์” สิ่งที่ป้อนนั่นคือ "ข้าวเม่า" และจะป้อนในคืนพระจันทร์เต็มดวงในเดือน 12 (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12) และมีความเชื่อกันว่า ข้าวเม่า ที่กรอกเข้าปากผู้เข้าร่วมพิธีนี้ เป็นเหมือนอาหารทิพย์ ที่ใครได้กินจะมีความเป็นศิริมงคล แคล้วคลาดจากสิ่งเลวร้าย เป็นประเพณีสำคัญอีกหนึ่งประเพณีของทางประเทศกัมพูชา (เขมรต่ำ) ซึ่งเรียกว่า "บอน อม ตุก (ពិធីបុណ្យអុំទូក)" หรือเทศกาลน้ำ
จากเรื่อง "พออกพระแข" ของ นายสมฤทธิ์ สหุนาฬ ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นกวีชนบท และคนดีศีขรภูมิ (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ที่บันทึกไว้ในหนังสือ ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระครูพิบูลวรการ (ปิ่น ที่ปคุโณ) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2532 ณ เมรุวัดปราสาท ตําบลระแงง อําเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ได้เขียนไว้ในหน้า 48-51 ความว่า
“เดือนสิบสอง ข้าวเหนียวพันธุ์เบาจําพวก 'ข้าวบังเอว' กําลังโน้มรวงเริ่มสุก เหลืองพอเหมาะกับการตําข้าวเม่า กรอบอร่อย การทําบุญตักบาตรข้าวเม่า จึงเกิดขึ้นเป็นธรรมเนียมประเพณี สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่การตักบาตรข้าวเม่านั้น เขาทํากันในเวลากลางคืน เมื่อพระจันทร์วันเพ็ญเดือนสิบสองอยู่ตรงศีรษะพอดี
กลางลานวัดจะปักเสาสองต้น สูงท่วมศีรษะห่างกันราว 2 เมตร มีไม้กลมๆ เป็นราวสูงเพียงตา ที่ราวติดเทียนขี้ผึ้ง ผูกราวติดไว้กับเสาหลวมๆ พอหมุนได้ไม่ติดขัด ที่ทางเหล่านี้ มีมัคทายกร่วมกับพระในวัดช่วยกันตระเตรียมไว้แล้วตั้งแต่ช่วงบ่าย ฯลฯ
สามทุ่มล่วงแล้ว พระจันทร์เต็มดวงพ้นปลายไม้ สว่างไสวดุจกลางวัน ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาว และเด็กๆ ถือขัน แบกกระเฌอ หรือถ้วยโถ โอชาม ที่บรรจุข้าวเม่ากับกล้วยสุก มากันคนละหวีสองหวีตามมีตามเกิดไปชุมนุมกันที่ลานวัด หนุ่มสาวแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยสดงดงามเพื่อประกวดประชันกัน
ห่างจากที่ตั้งเสาพิธีพอประมาณ จะปูด้วยเสื่อสาด ลาดด้วยผ้าขาว ตั้งบาตรไว้เรียงราย ได้เวลาใกล้เที่ยงคืน นิมนต์พระเข้าประจําที่ สมาทานศีล สวดมนต์ ผู้คนจะยกขันขึ้นอธิฐานขอให้กุศลผลบุญจงมีแก่บุพการี แล้วบรรจงใส่บาตรข้าวเม่ากันจนทั่วถึง ผู้คนจะกระจายกันนั่งรายรอบที่ตั้งเสาพิธีอยู่ห่างๆ ปล่อยเสาพิธีสถานให้เป็นลานกว้างวงกลมในเขตพิธีกรรม รอกําหนดประกอบพิธีกรรม”
พอถึงวันขึ้น 15 ค่ําเดือน 12 หนุ่มสาวจะพากันออกไปเกี่ยวข้าวใหม่ เอามาใส่กระดังแล้วย่ำด้วยเท้าให้หลุดจากรวง เพื่อให้ได้ข้าวเปลือกมาคั่วให้สุกทั่วเมล็ด แล้วเอามาใส่ครกไม้ ตํา-ควัก ด้วยไม้พายจนได้เป็น "ข้าวเม่า" เตรียมไว้สําหรับการตักบาตรเข้าเม่า อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษกันทุกบ้าน
เสร็จแล้วก็จะหากล้วย น้ําผึ้ง มะพร้าว น้ําตาล เท่าที่พอจะหาได้เพื่อเตรียมไว้ เมื่อได้ของครบ แล้วก็จะเอาขี้ผึ้ง (ต้องเป็นขี้ผึ้งแท้เท่านั้น) มาฝั้นทําเป็นเทียนคนละ 1 เล่ม วัดความยาวให้ได้รอบศีรษะของตัวเอง เป็นความเชื่อว่าเทียนแต่ละเล่มจะเป็นเหมือนดวงชะตา หรือตัวแทนของผู้เป็นเจ้าของ ที่จะจุดเพื่อบูชาพระจันทร์ และเป็นการเสริมดวงชะตาบารมีของตัวเองด้วย
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็อาบน้ําชําระล้างเนื้อตัวให้สะอาด ตกค่ําทั้งหนุ่ม-สาว พ่อเฒ่าแม่เฒ่า เด็กๆ ในหมู่บ้านก็จะนําสิ่งของที่ตรียมไว้ไปวัด หนุ่มสาวก็จะนัดกันไปลอยกระทงริมสระน้ำ พระสงฆ์ร่วมกับพ่อเฒ่าแม่เฒ่าก็จะเอาเทียนขี้ผึ้งทั้งหมดมารวมกัน แล้วแบ่งออกเป็น 12 ส่วนเท่าๆ กัน แต่ละส่วนจะนำมาพันกันเป็น 1 แท่ง ก็จะได้เทียนขี้ผึ้งแท้ ขนาดสั้นบ้าง ยาวบ้าง เล็กบ้างใหญ่บ้าง จํานวน 12 แท่ง ที่จะใช้ในพิธีกรรม โดยจะมีตาพรมกับยายโสร สองผัวเมีย (สมมุติขึ้นมา) จะเป็นผู้นําในการประกอบพิธี
พิธีปะอ็อกเปรี๊ยะแค เป็นการเสริมสร้างสิริมงคลแก่ชีวิต และเสี่ยงทายว่า เดือนไหนจะมีฝน เดือนไหนจะแล้ง เพื่อให้ลูกหลานได้เตรียมตัวรับสถานการณ์ได้โดยไม่เดือดร้อนในวันข้างหน้า ส่วน 'ข้าวเม่า' ที่พากันนํามาตักบาตร เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะคลุกรวมกัน แล้วแบ่งปันกันกินคนละหนึ่งอุ้งมือ แต่สําหรับผู้หญิงที่กําลังตั้งครรภ์ จะได้รับส่วนแบ่งมากกว่าคนอื่นอีกเท่าตัว เพราะเราจะเผื่อแผ่ไปให้อีกคนที่อยู่ในท้องด้วย และจะมีอีกอย่างหนึ่งที่หนุ่มๆ ต้องการมากก็คือ น้ําตาเทียน ที่หยดลงบนใบตอง หลังจากการทําพิธีเสร็จแล้ว เพราะมีความเชื่อกันว่า ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง ที่ให้คุณในด้านเมตตามหานิยม ใครได้ไปเวลาจะออกจากบ้านก็นํามาสีปาก จะทําให้การเจรจาทุกอย่างสําเร็จลุล่วงไปด้วยดี มีแต่คนรักคนหลง โดยเฉพาะเวลาจีบสาวๆ
เมื่อถึงเที่ยงคืน จะมีบุรุษผู้สูงอายุผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม นุ่งขาวห่มขาว ถือไม้เท้ายาว มีบุรุษสะพายย่ามเป็นลูกศิษย์ติดตามมาด้วยผู้หนึ่ง เดินจากภายนอกเข้ามาในบริเวณพิธีสถาน กระทําซุ่มเสียงกระแอมกระไอ เดินสู่สถานพิธีตั้งเสา พอปรากฎเห็นโดดเด่นเป็นจุดสนใจ จึงหยุดยืนอยู่ท่ามกลางผู้คนที่มาร่วมชุมนุม
แล้วผู้ใหญ่ในกลุ่มคนหนึ่ง (ซึ่งได้กําหนดตัวไว้แล้ว) จะถามร้องถามขึ้นว่า “นั่นใคร” บุรุษชีปะขาวจะตอบว่า “เราเอง” ผู้ถามก็จะถามอีกว่า “เราเองนะคือใคร มาจากไหน มีธุระอะไร” บุรุษชีปะขาวจะตอบว่า “เราคือ ตาพรหม** มาจากสํานักเขนาะตาพรหม มาที่นี่เพราะได้ยินเสียงเอะอะอึงคนึง ไม่รู้ว่าพวกท่านกระทําการสิ่งใดกัน ชะรอยจะพากันทําบาป ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอะไรกันขึ้นกระมังเราจึงเข้ามาดู”
ผู้เป็นใหญ่ในกลุ่มจะแจกแจงว่า “เราไม่ได้กระทําบาปหยาบช้า ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอะไร วันนี้เรามาชุมนุมกันทําบุญ จะประกอบพิธีไหว้พระจันทร์ ถ้าท่านเป็นตาพรหมท่านมีความรู้เรื่องนี้ไหม” ชีปะขาวจึงตอบว่า “เราพอจะรู้บ้าง” ผู้เป็นใหญ่จะกล่าวว่า “ถ้าท่านรู้ข้อธรรมในเรื่องนี้ จงแสดงธรรมให้พวกเราฟังก่อน เราจึงจะเชื่อถือ” ชีปะขาวจึงถามว่า “จะให้แสดงธรรมข้อใด” ผู้เป็นใหญ่ตอบว่า "ว่านะโมให้เรา ฟังก่อนก็แล้วกัน”
ตาพรหมจะติดตลก แกล้งว่านะโมผิดๆ เพื่อแทรกบทตลกให้เป็นที่ฮือฮา ผู้เป็นใหญ่จะกล่าวว่า “ท่านว่าข้อธรรมไม่ถูก ท่านไม่ใช่ตาพรหมที่แท้จริง ชะรอยท่านจะเป็นผู้ประสงค์ร้าย ปลอมแปลงเข้ามาเพื่อทํามิดีมิร้าย” ได้เฮฮากันเป็นคํารบสอง เมื่อถึงรอบที่สาม จึงสวดนะโมได้ถูกต้องครบถ้วนกระบวนความ ผู้คนทั้งหลายจึงกล่าวรับรองว่า “จริงท่านคือตาพรหมตัวจริง” แล้วขอเชิญท่านเป็นประธานในพิธีพาพวกเราไหว้พระจันทร์ นําสวดคาถาบวงสรวงสังเวยแก่พระจันทร์เถิด
ตาพรหมจะบอกให้ทุกคนพนมมือ แล้วจุดเทียนชัย 12 เล่ม ที่ติดไว้บนราวพาดเสาพิธีกรรม นําใบตองกล้วยตานีที่ยังอ่อนๆ ปลอดตําหนิ ปราศจากริ้วรอยแตกปริ มาวางเรียงกับพื้นดินใต้ราวเทียนชัย เพื่อรองรับน้ําตาเทียนไว้เสี่ยงทาย บอกให้ทุกคนคอยกล่าวคําบวงสรวงสังเวยพร้อมกัน โดยตาพรหมนําสวดนะโม 3 จบกล่าวบวงสรวงให้ทุกคนว่าตาม ตามด้วยคาถาบูชาพระจันทร์ ดังนี้ “เนียง จันทรา เปรียะมหาอูด็อมเปรี้ยะเอ็นเซวย เซาะ เซวยอ็อบภิรมณ์เปรี้ยะมหาอุดอมก็วงเลอพิเมียน” (เจ้าแม่จันทรา พระมหาอุดม พระอินทร์เสวยสุย เสวยภิรมณ์ พระมหาอุดมสถิตเหนือพิมาน) กล่าวจบ 1 รอบ ตาพรหมจะให้กราบ ทุกคนจะหมอบกราบพร้อมกันสงบนิ่ง
**ตาพรหม หมายถึง พระพรหมผู้สร้างโลกและสรรพสัตว์ ตามคติศาสนาพราหมณ์ ที่เชื่อกันว่า พระพรหม จะลงมาดูแลปกป้องชาวโลกทุกปี เพื่อไม่ให้สรรพสิ่งที่ทรงสร้างถูกทําลาย ตาพรหม ในพิธี จึงเป็นตัวสมมุติแทนองค์พระพรหมผู้เป็นเจ้า ที่จะลงมาร่วมในพิธีไหว้พระ
การบูชาพระจันทร์เสร็จสิ้น ตาพรหมก็จะหมุนราวไม้ไผ่ให้เทียนที่กําลังติดไฟชี้ปลายลงดิน จากนั้นผู้ช่วยของตาพรหมก็จะยกใบตองกล้วยที่มีน้ําตาเทียนขึ้นมาทํานาย โดยถือเอาต้นใบเป็นต้นปี กลางใบ เป็นกลางปี และปลายใบเป็นปลายปี หยดเทียนหนาในตําแหน่งใด ก็เชื่อว่าฝนจะตกชุกในเดือนนั้นส่วน น้ําตาเทียนชายหนุ่มทั้งหลายจะแบ่งกันไปเก็บไว้เป็นสิริมงคล โดยเชื่อกันว่าให้คุณด้านเมตตามหานิยม
ทํานายเสร็จ ตาพรหมและลูกศิษย์ จะได้รับการถวายข้าวเม่า 1 ขัน กล้วย 1 หวี คนละ 1 ชุด ตาพรหมจะอวยพรให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข ประสบโชคลาภ ทํามาหากินได้อุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งกําชับให้ทุกคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เลี้ยงดูกันให้ดี มีความรักสมัครสมานสามัคคี มีความเห็นอกเห็นใจกัน เตรียมตัวเตรียมใจ พร้อมรับสถานการณ์ของดินฟ้าอากาศในแต่ละเดือน จะได้ไม่เกิดความอดอยากยากจน พร้อมกับบอกลาแล้วก็เดินจากไป
ฝ่ายพระสงฆ์จะบรรยายธรรมต่ออีกสักครู่ เมื่อสมควรแก่เวลาแล้วก็ถวายปัจจัยไทยทาน มัคทายกจัดบาตรเข้าเม่า พร้อมกับกล้วย มะพร้าว น้ําตาล น้ําผึ้ง ขึ้นกุฏิ แบ่งส่วนหนึ่งไว้เลี้ยงดูกันในหมู่ผู้ไปร่วมในพิธี ที่ยังคงนั่งรอกันอย่างเป็นระเบียบ ช่วงนี้มัคทายกและผู้ใหญ่จะช่วยกันแจกจ่ายข้าวเม่า และกล้วยน้ําว้าสุกให้กินกันอย่างถ้วนหน้า
โดยให้ผู้ร่วมในพิธี นั่งเงยหน้า หันเข้าหาพระจันทร์ คนแจกก็จะร้องบอกให้เงยหน้า อ้าปาก แล้วก็เอาข้าวเม่ากรอกเข้าปาก ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ โดยสตรีที่กําลังตั้งครรภ จะได้รับส่วนแบ่งเพิ่มอีก 1 ส่วน สําหรับอีก 1 ชีวิตที่อยู่ในท้อง การกระทํานี้เองที่เรียกว่า “ปะออกเปรี้ยะแค” ซึ่งแปลตามตัวอักษร คือ ปะอ๊อก แปลว่า กรอก หรือ ป้อน เปรี้ยะ แปลว่า พระ แค แปลว่า ดวงจันทร์ หรือ พระจันทร์ ปะออกเปรี้ยะแค จึงแปลว่า “กรอกพระจันทร์” หรือ “ป้อนพระจันทร์”
พิธีการบูชาพระจันทร์นี้ จะกระทำทุกๆ วันเพ็ญเดือน 12 ของแต่ละปี เป็นอารยธรรมที่ได้รับจากอินเดีย เข้าสู่ราชสํานักขอมโบราณ ก่อนจะแพร่หลายมาถึงภูมิภาคนี้นั่นเอง
ยังมีประเพณีนี้ในชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์เขมร บ้านพราน ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีความเชื่อแบบเดียวกัน แต่จะมีความแตกต่างในจำนวนของจำนวนเทียนที่ใช้จุดจะมีน้อยกว่าเพียง 8 เล่ม ซึ่งเทียนทั้ง 8 เล่ม เป็นสัญลักษณ์ของฤดูกาลในรอบเดือนที่สำคัญต่อการทำการเกษตรกรรมคือ
การประกอบพิธีกรรมการเสี่ยงทายฤดูกาลจากน้ำตาเทียนนี้ จะสังเกตน้ำตาเทียนที่หยดออกจากเทียนที่มีการหมุน โดยสังเกตว่า หากน้ำตาเทียนค่อยๆ หยดจากเทียนเล่มไหนก็แสดงว่าช่วงของเดือนนั้น จะเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับ ลม ฟ้า (เมฆ) และ ฝน (น้ำ) อย่างไร ถ้าเทียนเล่มไหนมีน้ำตาเทียนหยดถี่ การกระพริบของไฟแรงหรือดับไป ก็แสดงว่าฝนจะตกมากและมีลมแรง ถ้าหากเทียนเล่มไหนมีน้ำตาเทียนหยดน้อย ไฟไม่กระพริบ ก็แสดงว่าฝนไม่ค่อยตก หรืออาจจะแล้งในช่วงเดือนนั้นและไม่มีลมพัด ขณะที่หากไส้เทียนเผาไหม้ตกลงเป็นประกายไฟ ก็หมายถึงจะมีฝนฟ้าคะนองมากจนอาจเกิดอุทกภัยขึ้นได้
ประเพณีปังอ๊อกเปรี๊ยะแค ที่ทำกันอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เขมร ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ในบางหมู่บ้าน ตำบล ของอำเภอไพรบึง และอำเภอขุนหาญ มีอุปกรณ์ที่จะต้องเตรียมใช้ในการประกอบพิธี ดังนี้คือ
เมื่อใกล้เที่ยงคืน กรรมการวัดและมัคทายกจะนำเอาครก สาก และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เตรียมไว้ไปตั้งสนามกลางแจ้ง ซึ่งจะมีบริเวณที่คนดูได้มากๆ (พิธีนี่ต้องทำกลางแจ้ง) โดยตั้งครกลูกหนึ่งทางทิศเหนือ อีกลูกหนึ่งตั้งทางทิศใต้ ระยะห่างกันประมาณหนึ่งเมตรเศษๆ เอาสากตำข้าววางพาดที่ปากครก แล้วเอาเทียนขี้ผึ้งแท้ (ขนาดใหญ่–ยาวเท่ากัน) จำนวน 8 เล่ม ติดกับสากตำข้าวโดยให้ตั้งฉากขึ้น แล้วเอาใบตองกล้วย 2 ก้าน วางกับพื้นใต้สากระหว่างครกทั้งสอง (เพื่อรองรับน้ำตาเทียนซึ่งจะหยดลง) จัดหนุ่มสาว 8 คน จัดเป็นจำนวน 4 คู่ โดยให้จับสากด้านทิศใต้ 2 คู่ และจับสากด้านทิศเหนืออีก 2 แล้วให้ชายหญิงแต่ละคู่เอาช้อนตักข้าวเม่าในจานป้อนซึ่งกันและกัน (ชายป้อนหญิง หญิงป้อนชาย) ป้อนข้าวเม่าเสร็จแล้วป้อนกล้วยสุข สุดท้ายจึงเอาน้ำมะพร้าวอ่อนให้ดื่มร่วมกัน
ปังอ๊อกเปรี๊ยะแค ประเพณีป้อนข้าวพระจันทร์
ชาวบ้านจะมีการสังเกตพระจันทร์ หรือดวงจันทร์บนท้องฟ้าว่า ใกล้จะตรงศีรษะแล้วหรือยัง ถ้าเห็นว่าใกล้จะตรงแล้ว ก็ให้พิธีกรหรือมัคทายกกล่าวสวดชุมนุมเทวดา (สัคเค กาเม จะ รูเปฯ) เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธ์ยิ่งขึ้น
เมื่อมองดูท้องฟ้าเห็นพระจันทร์อยู่ตรงศีรษะ ให้จุดเทียนชนวน 8 เล่ม ยื่นให้หนุ่มสาวทั้ง 8 คน (ข้างละ 4 คน) ให้หนุ่มสาวเอาเทียนชนวน จุดเทียนขี้ผึ้งที่ติดสากไว้แล้วพร้อมๆ กัน เมื่อเห็นว่าเทียนทุกเล่มติดไฟแล้ว ให้หนุ่มสาวหมุนสากโดยเริ่มหมุนเวียนขวา ขึ้น–ลง ช้าๆ เทียนแต่ละเล่มจะลุกไหม้ ขณะที่หมุนสากลงด้านล่าง เทียนก็จะเกิดหยดน้ำตาเทียนลงบนใบตองกล้วย ให้หนุ่มสาวหมุนสากตำข้าวที่มีเทียนชนวนติดอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าเทียนจะลุกไหม้หมด
เทียนที่ติดบนสากตำข้าวทั้ง 8 เล่มนั้น เป็นเครื่องหมายของเดือนที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลที่มีฝนตก และช่วงก่อนที่จะเข้าสู่การเก็บเกี่ยวรวมจำนวน 8 เดือน เริ่มนับเอาเดือน 5 (ปีใหม่โบราณ หรือเดือนเมษายน) ถึงเดือน 12 (เดือนพฤศจิกายน) โดยนับจากทิศใต้เป็นเล่มที่ 1 (เริ่มจากเดือน 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12) ตามลำตับ ที่ต้องนับจากด้านทิศใต้ เพราะฤดูฝน ลมมรสุมจะพัดจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ
ขณะที่เริ่มหมุนสาก ขึ้น–ลง พระสงฆ์สามเณรจะมีการสวดชัยมงคลคาถา (ชยันโต) สวดไปจนกว่าเทียนจะลุกไหม้หมด จึงหยุดหมุนสาก พระสงฆ์สวดต่อด้วย ภะวะตุ สัพพะมังคะลังฯ เสร็จพิธีก็จะมีการทำนายให้ผู้ร่วมพิธีทราบ ส่วนน้ำตาเทียนที่หยดลงบนใบตองกล้วย ถือว่าเป็นของดี เอาไปทำเป็นสีผึ้งเสน่ห์ (นวดเสน่ห์) ผสมน้ำมันจันทน์ทาสีปาก ทาหน้า เป็นเสน่ห์ให้คนรักดีนักแล (แต่ต้องให้อาจารย์หมอเสน่ห์ทำให้) ชาวบ้านอยากได้กันมาก เมื่อเสร็จพิธีต้องยื้อแย่งกันชุนละมุนวุ่นวายไปหมด เพื่อให้ได้น้ำตาเทียนที่หยดลงใบตอง
ในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยี พยากรณ์ฝนฟ้าอากาศ ชาวบ้านตลิ่งชัน ที่จังหวัดสุพรรณบุรี พึ่งพาพิธีเสี่ยงทายเทียน ซึ่งจัดเพียงครั้งเดียวในรอบปี ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จะมีพิธีไหว้พระแข (พระจันทร์) ในค่ำคืนเดียวกัน ปัจจุบันพิธีกรรมโบราณนี้ยังอยู่ สะท้อนความเชื่อของชุมชนที่สืบเชื้อสายเขมรแต่มาอยู่อาศัยในภาคกลางของประเทศไทย
เสี่ยงทายฝนผ่านพิธีไหว้พระแข ชาวบ้านตลิ่งชัน ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)