คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ด้วยอาณาเขตที่กว้างขวางของภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนในภาคอีสานนั้น มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และสภาพวิถีชีวิต ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ คือ ส่วนที่มีวัฒนธรรมภาษา กูย เขมร ในพื้นที่บริเวณกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์) และส่วนที่มีวัฒนธรรมภาษาไทลาว ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนมากบริเวณกลุ่มจังหวัดในเขตอีสานตอนเหนือ (ซึ่งในพื้นที่นี้ ก็ยังมีชาติพันธุ์กลุ่มย่อยออกไปอีกหลายกลุ่ม เช่น ภูไท ไทญ้อ ไทโส้ แสก เหวียดเกี่ยว ฯลฯ)
ชาวอีสานกับความเชื่อเรื่อง "ผี" มีความสัมพันธ์กันในลักษณะการพึ่งพาอาศัย ตามบทบาทหน้าที่ของผีแต่ละประเภท ด้วยการขอพรและต่อรองในสิ่งที่ต้องการหรือการบนบาน ชาวอีสานเรียกการบนบานว่า “การบ๋า” เป็นการขอให้ผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือให้ได้รับความสำเร็จในเรื่องต่างๆ มักจะบนบานในเรื่องลาภยศชื่อเสียง ความสำเร็จในหน้าที่การงาน ความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย โดยต้องแจ้งเวลา สถานที่ และสิ่งที่จะนำมาตอบแทนแลกเปลี่ยน หากประสบความสำเร็จ นอกจากนั้น โดยทั่วไปชาวอีสานมักจะบนบานเกี่ยวกับ ฝน ปริมาณน้ำ อากาศในฤดูทำนา บนเพื่อไม่ให้ติดทหารเกณฑ์ การบนเพื่อให้การค้าขายได้กำไร บนเพื่อให้สอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือสอบบรรจุข้าราชการได้ การกล่าวขอพรในโอกาสที่จะต้องมีการเดินทาง ย้ายถิ่นฐาน หรือย้ายเข้ามาในหมู่บ้าน การแต่งงานมีครอบครัวใหม่ เป็นต้น เมื่อประสบผลสำเร็จตามความประสงค์ก็จะตอบแทนผี ด้วยการแสดงความเคารพผ่านเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ หรือมอบสิ่งของ อาหาร หรือมหรสพให้ตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งถ้าไม่ทำตามที่บ๋าหรือบนบานก็จะ "ผิดผี" ทำให้เกิดเหตุร้ายต่างๆ ตามมาได้
ความเชื่อเรื่อง "ผี" เกิดขึ้นจากความไม่รู้ของมนุษย์ และความไม่รู้นั่นเองที่เป็นที่มาของ 'ความกลัว' มนุษย์กลัวความมืดมิด เพราะไม่รู้ว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในความมืดนั้น และสิ่งที่มนุษย์กลัวมากที่สุดในความมืดก็คือ ดวงวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว ที่พวกเราเรียกกันว่า "ผี" นั่นเอง ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงของคนในชุมชน เป็นศูนย์รวมจิตใจ ความรักสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชนจากการเคารพนับถือ ผีปู่ย่า-ตายาย บรรพบุรุษ เกิดการเซ่นสรวงบูชาร่วมกันขึ้น
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและภาษา แต่วิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในภาคอีสานก็ยังคงเป็น 'ชุมชนเกษตรกรรม' มาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีปฏิสัมพันธ์กับระบบชีวภาพ ภูมิภาคอีสานมีความผูกพันกับธรรมชาติ และมีการถ่ายทอดแนวคิด ภูมิปัญญา คติ ความเชื่อ จนเป็นแบบแผนการดำรงชีวิตที่สำคัญของชุมชน หลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีปฏิบัติของชาวอีสานคือ การประกอบพิธีกรรมที่เคร่งครัด อาทิ การบูชาสิ่งลี้ลับตามความเชื่อ เทวดาอารักษ์ ตลอดจนผีสางนางไม้ อย่างจริงจัง โดยมีการเซ่นสรวงบูชาตามฤดูกาลของความเชื่อ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติภารกิจทางศาสนา ด้วยมีความเชื่อว่าการกระทำนี้จะส่งผลให้เกิดความคุ้มครองจากภยันอันตราย เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อธรรมชาติ รวมทั้งบรรพบุรุษ
ความเชื่อเรื่อง 'ผี' ของชาวอีสาน เป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องผีที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจมาช้านาน ผีสำหรับชาวอีสานนั้นจะดำรงอยู่ในทุกสภาวะของการมีชีวิต บางครั้งก็กระตุ้นให้เกิดความสนใจในฐานะผู้พิทักษ์ หรือผู้ช่วยเหลือ บางครั้งก็มุ่งร้ายหมายขวัญ ชาวอีสานเชื่อว่า ผีเป็นสิ่งที่มีพลังอำนาจ มีฤทธิ์สามารถบันดาลทั้งความทุกข์ความสุข ความสมหวังและความสิ้นหวังให้แก่มนุษย์ได้ การบวงสรวงและการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ จึงเป็นรูปแบบของการสร้างสรรค์ โดยผ่านกระบวนการปลูกฝัง การบอกต่อ การขัดเกลาทางสังคม และผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผนวกเข้ากับความเชื่อดั้งเดิมที่ติดแน่นอยู่กับวิถีชีวิตของชาวอีสาน พิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีจึงได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ด้วยความสำนึกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องส่งต่อแก่บุตรหลาน เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวปฏิบัติที่ถูกต้องตามประเพณีและความเชื่อที่มีมาแต่อดีต
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในวิถีชีวิตของชุมชนชาวอีสานนั้น มีลักษณะของความเชื่อที่เป็นการผสมผสานระหว่าง พุทธศาสนาแบบชาวบ้าน และความเชื่อเรื่องผี ซึ่งแสดงออกในรูปของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ และตัวบุคคล โดยพิธีกรรมและประเพณีที่เกี่ยวกับผี จะแสดงออกในลักษณะของการเซ่นสรวง ไม่ว่าจะเป็นผีแบบดีหรือผีแบบร้าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความสุข สงบ ในการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการบำบัดรักษาโรค แต่พิธีกรรมและประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จะแสดงออกในรูปของสัญลักษณ์แห่งความดีงาม เป็นที่พึ่งทางจิตใจ เป็นหนทางแห่งการหลุดพ้น อันเป็นส่วนสำคัญที่คนในชุมชนยึดถือและปฏิบัติ อาทิ การทำบุญตามหลักพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา และการฟังธรรม แต่ในอีกมุมหนึ่งของพิธีกรรมและประเพณีจะเป็นการผสมผสานของความเชื่อระหว่างผี พราหมณ์ พุทธ โดยมักเป็นความเชื่อในอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาทิ ความเชื่อในพระพุทธรูป พระธรรม โดยมีพระสงฆ์เป็นสื่อกลางในการส่งผ่านความเชื่อนี้สู่คนในชุมชน ความเชื่อผสมผสานในลักษณะนี้แสดงออกในรูปการสืบชะตา สะเดาะเคราะห์ สวดมนต์คาถา เป็นต้น
ความเชื่อเรื่อง 'ผี' ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ในบริบทของสังคมอีสานเชื่อว่า มีคู่กับสังคมมาอย่างช้านาน และได้กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมระหว่างความเชื่อ และความสัมพันธ์ของการดำรงชีวิต เสมือนว่าเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน โดยเฉพาะความเชื่อของชาวอีสานที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ระบบอำนาจทางธรรมชาติ หรืออำนาจที่เหนือธรรมชาติ ในวัฒนธรรมอีสานความเชื่อเรื่องผี จึงกลายเป็นสัญลักษณ์เชิงอำนาจ ที่เกี่ยวข้องกับบริบทและความสัมพันธ์ทางสังคมที่สร้างสมและสืบทอดมาจนเป็น “วัฒนธรรมแห่งความเชื่อ” ความเชื่อเรื่องผีของชุมชนอีสาน เป็นผีที่มีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน ผีเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นและศรัทธา ในวิถีการดำรงชีวิตของชาวอีสานมีความเชื่อเรื่องผีเข้าไปปะปนอยู่มาก อาทิ ผีนา ผีป่า ผีเขา ผีบ้าน ผีหมู่บ้าน ผีปู่ย่าตายาย ผีดอนเจ้าปู่ ผีตาแฮก ผีฟ้า ผีแถน และผีอื่นๆ หรือแม้กระทั่งผีที่เกิดจากการกระทำของบุคคล อาทิ ผีปอบ เป็นต้น
ในบริบทสังคมอีสาน ความเชื่อเรื่องผี ได้ผสานร่วมกับ ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา จนบางครั้งไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ชัดเจนว่า การประกอบพิธีกรรมของชาวอีสาน พิธีกรรมใดเป็นพิธีกรรมของผี และพิธีกรรมใดเป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความเชื่อเรื่องผีของชาวอีสานดำรงไปพร้อมๆ กับการประกอบอาชีพตามวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ที่อ้างอิงกับสภาพของธรรมชาติดินฟ้าอากาศ ซึ่งกระบวนการผลิตทางการเกษตรจะได้ผลดีหรือไม่นั้น ขึ้นกับการดลบันดาลของผี อาทิ การเชื่อว่า 'ผีแถน' เป็นผู้ดลบันดาลให้เกิดน้ำในการเกษตรหรือการทำนา ดังนั้นก่อนที่ชาวอีสานจะลงมือในการเพาะปลูกข้าว จะต้องมีการประกอบพิธีกรรมบวงสรวงผีพญาแถน และก่อนลงมือหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ชาวอีสานจะประกอบพิธีกรรมไหว้ผีนา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันในชุมชนว่า 'ผีตาแฮก' โดยมีความเชื่อว่า ผีตาแฮกจะช่วยดลบันดาลให้ข้าวมีความเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ และต่อมาเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ชาวบ้านชุมชนอีสานก็จะทำพิธีกรรมสู่ขวัญลานนวดข้าว หรือสู่ขวัญข้าวเพื่อเป็นสิริมงคล ก่อนที่จะถึงฤดูกาลทำนาในรอบปีต่อไป
แม้ว่าสังคมโลกจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมากเพียงใดก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อใดก็ตามที่เกิดปรากฏการณ์แปลกประหลาดกับคนในหมู่บ้าน หรือชุมชน และสมาชิกในชุมชนไม่สามารถหาคำตอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีคนในหมู่บ้านเกิดอาการเจ็บป่วยแบบไร้สาเหตุ และได้พยายามรักษาในทางวิทยาศาสตร์ (กินยาแผนปัจจุบันตามหมอสั่ง) จนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาได้ สิ่งสุดท้ายที่คนในชุมชนอีสานจะต้องนึกถึงก็คือ เกิดจากการกระทำของภูติผี อาจถูกคุณไสย อาจเกิดจากการล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือคนป่วยอาจเคยกระทำการใดๆ อันเป็นการล่วงเกิน หรือเป็นเหตุให้อำนาจเหนือธรรมชาติไม่พอใจ จะโดยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม (สำหรับบางคนอาจเจตนากระทำ เพราะไม่เชื่อหรือศรัทธา) โดยญาติจะต้องรีบเชิญคนดี มีวิชามา “ถอนคุณไสย” ให้ หรือแก้ไขโดยการขอขมาและทำให้ภูตผีเหล่านั้นพึงพอใจ
ถ้าลองแบ่งกลุ่มความเชื่อเรื่องผีออกไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ ก็จะมองเห็นความเชื่อมโยงในความเชื่อของแต่ละกลุ่ม ที่มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกัน รวมทั้งวิธีปฏิบัติตามความเชื่อต่อผีเหล่านั้น แยกออกมาได้พอสังเขปดังนี้
ชาวไทยเชื้อสายคะแมร์ หรือเขมร ที่อาศัยในบริเวณอีสานใต้ จะมีความเชื่อเรื่องผี และนับถือผีมาก่อนที่จะนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ โดยเรียกผีว่า "โขมจ" และแบ่งผีออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
ผีเหล่านี้ทำให้คนได้รับผลกระทบจากผีทำร้ายในหลายลักษณะ ได้แก่ ความเจ็บป่วย (คมอจเทอ) ผีเข้า (คมอจโจล) หรือ ผิดผี (ค็อฮคมอจ) ซึ่งถ้าถูกผีทำให้เจ็บป่วยต้องทำพิธีเซ่นไหว้เรียกว่า “แซนคมอจ” โดยใช้อาจารย์เจ้าพิธีกรรมเป็นผู้ช่วยเหลือดำเนินการ ถ้าผีสิงในร่างก็ต้องใช้อาจารย์ที่มีเวทมนตร์คาถามาขับไล่ผีที่เรียกว่า “หมอผี” เป็นต้น
วิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายคะแมร์มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ 'ผี' ตั้งแต่เกิดจนตาย ความเชื่อเรื่องผีทำให้สายสัมพันธ์ในครอบครัวสนิทแนบแน่นขึ้น เพราะในช่วงเดือนสิบตามจันทรคติของทุกปี เหล่าคนไทยเชื้อสายเขมรจะทำพิธี "แซนโฎนตา" เพื่อแสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพชนผู้ล่วงลับ (ผีดี) ลูกหลานไม่ว่าจะไปทำหน้าที่การงานอยู่แห่งหนใด ก็จะพากันกลับบ้านเพื่อเข้าร่วมพิธีนี้ให้จงได้
ความเชื่อเรื่องผีทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เพราะในแต่ละชุมชนในช่วงเข้าสู่ฤดูทำนาในเดือน 6 ก็จะทำพิธี "แซนเนียะตา" เพราะมีความเชื่อกันว่าต่างก็มีเนียะตาคนเดียวกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจ ความเชื่อเรื่องผีช่วยสร้างบ้านแปงเมือง เห็นได้จากการยกวีรบุรุษผู้เก่งกล้าในท้องถิ่นขึ้นเป็นผีบ้าน ผีเมือง เช่น พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง หรืออีกนามคือ เชียงปุม อดีตเจ้าเมืองสุรินทร์ เป็นต้น ซึ่งมีการเซ่นสรวงกันทุกปีมิได้ขาด
ส่วนการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่ทำตามแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่หาย ชาวเขมรเชื่อว่า ก็น่าจะมาจากอำนาจที่มองไม่เห็นกระทำให้มีเหตุร้าย ดังนั้นเมื่อมีเหตุให้เป็นไปแล้ว คนส่วนใหญ่ในชุมชนเขมรก็มักนึกถึง 'ร่างทรง' หรือ 'แม่มะม็วด' เพราะเชื่อว่า สามารถทำนายทายทักและหาวิธีแก้ไขให้ทุกอย่างคลี่คลายลงได้ เหตุนี้จึงต้องจัดให้มี พิธีกรรมการโจลมะม็วด จึงเป็นสื่อกลางเพียงอย่างเดียว ที่คนในชุมชนเขมรจะนำมาใช้เป็นสื่อกลาง เพื่อติดต่อสื่อสารกับอำนาจเหล่านั้น อันจะนำไปสู่หนทางแก้ไขความผิดพลาดได้ทันท่วงทีและถูกทาง
ความเชื่อเรื่องผีของคนไทยเชื้อสายกูย (หรือ กวย หรือ ส่วย หรือเยอ) ที่อาศัยอยู่ในเขตอีสานใต้เช่นเดียวกับชาวคะแมร์หรือเขมร ก็เชื่อในเรื่องผีเช่นเดียวกัน โดยเรียกผีว่า "กะโมจ" "มาร" หรือ "คอล" และยังแบ่งผีออกเป็น 3 กลุ่มเช่นเดียวกันง
เช่นเดียวกับคนไทยเชื้อสายเขมรมีการจัดพิธี "แซนยะจุ๊" เหมือนกับพิธีแซนเนียะตา มีการเล่นผีมอ หรือแกล มอ เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เหมือนกับคนไทยเชื้อสายเขมรมีการทำพิธีรำมม็วด แต่มีผีอยู่ชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะในกลุ่มชาวไทยกูยเท่านั้นคือ "ผีปะกำอะจึง" ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในกลุ่มที่เลี้ยงช้างเท่านั้น ไม่พบในกลุ่มชาวกูยที่ทำนาหรือตีเหล็กแต่อย่างใด (คำว่า "ปะกำ" หมายถึง เชือกหนัง ที่ทำมาจากหนังควาย ส่วนคำว่า "อะจึง" นั้นเป็นภาษากูยแปลว่า ช้าง ปะกำอาจึง จึงแปลว่า เชือกคล้องช้าง)
ซึ่งชาวกูยจะกระทำพิธีไหว้ผีปะกำอาจึงก่อนออกไปคล้องช้าง หรือเมื่อคล้องช้างได้แล้วก็จะเซ่นไหว้อีกครั้ง หรือเมื่อต้องนำช้างออกไปจากหมู่บ้านไปทำงานที่อื่นๆ ก็ต้องทำการเซ่นไหว้ก่อน ปัจจุบันมีการเซ่นไว้ในพิธีแต่งงานด้วย จึงทำให้ความเชื่อเรื่องผีปะกำจึงยังดำรงอยู่ แม้ว่าคนไทยเชื้อสายกูยหลายๆ ครอบครัวจะเลิกเลี้ยงช้างไปแล้วก็ตาม และยังคงนิยมการทำพิธีแต่งงานบนหลังช้าง (พิธีซัตเต) กันอยู่ รวมทั้งการแห่นาคไปบวชด้วยช้าง [ อ่านเพิ่มเติม : หมู่บ้านช้าง ]
ในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว เมื่อกล่าวถึง ผี หรือวิญญาณ จะมี 2 ความหมาย ความหมายแรก ผี คือ วิญญาณผู้ที่ล่วงลับไปแล้วแต่ยังไม่ได้ไปเกิดในภพใหม่ เพราะต้องคอยปกปักรักษา คุ้มครองลูกหลานและคนในสายตระกูล ส่วนความหมายที่สอง หมายถึง วิญญาณที่ปรากฏทั่วไปซึ่งมีทั้งให้คุณและโทษแก่มนุษย์ มีการจำแนกผีออกเป็น 3 ประเภท เช่นเดียวกัน
ความเชื่อเรื่องผีของคนในกลุ่มไทยลาวนี้ ก่อให้เกิดพิธีกรรมมากมาย เพื่อการเซ่นสรวง บูชา บัดพลี และวิงวอน ให้ผีที่ตนนับถือได้ช่วยเหลือให้พ้นจากเหตุร้ายต่างๆ และดลบันดาลให้ชีวิตประสบแต่ความสุข ความเจริญ สมหวังในสิ่งที่มุ่งมาดปรารถนา ซึ่งพิธีกรรมทั้งหลายเหล่านี้จะสามารถแยกย่อยเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
ในภาคอีสานยังมีกลุ่มชาติพันธุ์คนไทยญวณ หรือไทยเชื้อสายเวียดนาม (เหวียดเกี่ยว) อพยพเข้ามาอยู่อาศัยด้วยทางอีสานเหนือหลายจังหวัด เช่น หนองคาย อุดรธานี นครพนม สกลนคร มุกดาหาร และอุบลราชธานี ก็พบว่า มีความเชื่อเกี่ยวกับผี ภาษาเวียดนามเรียกว่า มา (ma) มีการให้ความเคารพกราบไหว้บูชามากที่สุดคือ "ผีบรรพบุรุษ" เนื่องจากมีความเชื่อว่า การมีหิ้งบูชาเพื่อไหว้บรรพบุรุษในบ้านเ ป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว การกราบไหว้บนบานก็เพื่อให้ท่านช่วยปกปักรักษา และดูแลลูกหลานให้ปลอดภัย มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า และยังมีการไหว้ผีอื่นๆ เช่น ผีบ้าน ผีเรือนหรือเทพธรณี (คนไทยเรียก พระแม่ธรณี) จะมีไหว้เพียงบางกลุ่มเท่านั้น (ซึ่งแตกต่างจากในประเทศเวียดนามที่ยังคงไหว้กันอยู่) ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีอื่นๆ เช่น ผีประจำหมู่บ้าน ก็มักจะทำตามความเชื่อแบบกลุ่มคนไทย รวมทั้ง การทรงเจ้า ก็จะมีทำเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น เรียกว่าวัฒนธรรมเลื่อนไหลไปตามชุมชนรอบข้าง
แต่ในส่วนพิธีกรรมที่ชาวเหวียดเกี่ยวอนุรักษ์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นคือ พิธีฌาปนกิจศพ นั้นยังคงกระทำอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งการทำพิธีศพของชาวเวียดนามจะไม่มีการเผา แต่ใช้การฝังแทน เพราะต้องการให้วิญญาณกลับไปบ้านเพื่ออยู่คุ้มครองลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข นอกจากนั้นก็ยังนับถือเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า เถิ่น (thân) หรือ แถ็งห์ (thà'nh)
ในทุกกลุ่มชนชาติพันธุ์ในภาคอีสาน เวลาที่มีความทุกข์ทางกาย ทางใจ ก็มักจะไปพึ่งผี บนบานสารกล่าวขอให้ผีช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บทางกาย และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กลุ้มรุมทำร้ายจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเงิน หรือแม้กระทั่งความรัก โดยจะต้องมีสิ่งตอบแทนผีเล็กๆ น้อยๆ ตามที่คนได้สัญญาไว้กับผี (ติดสินบนผี) ทำให้เกิดพิธีกรรมต่างๆ ขึ้น "
แต่ผีหลอกยังไม่น่าลัวเท่ากับคนด้วยกันหลอกกันเอง คนที่อาศัยความไม่รู้ สร้างความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ขึ้น เพื่อกดคอมนุษย์ด้วยกันเองดังเช่นทุกวันนี้สิที่น่ากลัวเอามากๆ ยิ่งกว่าผีใดๆ โปรดมีวิจารณญาณกันด้วยนะครับว่า สิ่งใดน่าเชื่อถือ (เพราะสมัยโลกออนไลน์ สังคมก้มหน้า ขีดเขี่ยหน้าจอ นี่หลอกกันง่ายและมากมายสุดๆ กอร์ปกับความโลภก็ยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียเป็นเงินแสน เงินล้าน ดังที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ ระวังกันให้ดี)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ผีปอบ ผีแม่หม้าย | พิธีกรรมการโจลมะม็วด
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)