คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษา | ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานแห่เทียน
งานประเพณีแห่เทียนพรรษา เป็นงานประเพณีที่รวมความผูกพันของชุมชนท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่การที่ชาวบ้านร่วมบริจาคเทียน เอามาหลอมหล่อเป็นเทียนเล่มใหญ่เล่มเดียวกัน เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่คณะไปในตัว การสรรหาภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีฝีมือทางช่าง มีความรู้ ความชำนาญในเรื่อง การทำลวดลายไทย การแกะสลักลวดลายลงบนต้นเทียน การทำเทียนให้เป็นลายไทย แล้วนำไปติดบนต้นเทียน การประดับด้วยผ้าฝ้าย ผ้าไหม ดอกไม้สด ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของช่างในท้องถิ่น
ส่วนการจัดขบวนแห่ก็ล้วนแต่ใช้ของพื้นเมือง เช่น เครื่องแต่งกายของขบวนฟ้อน จะใช้ผ้าพื้นเมืองเป็นหลัก การฟ้อนรำจะใช้ท่ารำที่ดัดแปลงมาจาก วิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน เป็นท่ารำในรูปแบบของศิลปะที่งดงาม ดนตรีประกอบก็เป็นเครื่องดนตรีประจำถิ่น ผสมเข้ากับการขับร้องที่สนุกสนานเร้าใจ ทำให้งานประเพณีนี้ยิ่งใหญ่ ประชาชนต่างเฝ้ารอคอยกันทุกปี คอยดูว่า ชุมชนใดจะนำเอาของดีๆ มาอวดประชันกันในงานนี้
ศิลปะการฟ้อนรำที่นิยมนำมาประกอบการแสดงในขบวนแห่ คือ การรำเซิ้งต่างๆ เช่น เซิ้งกระลอ เซิ้งกระติบ เซิ้งสวิง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ซึ่งดัดแปลงมาจากการประกอบสัมมาอาชีพในวิถีชีวิตประจำวันทั้งสิ้น [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง ]
งานแห่เทียนพรรษา เป็นงานที่ทำให้คนวัยรุ่น หนุ่ม-สาว ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่การเข้าเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือ เป็นลูกมือช่างของทางวัดในการแกะสลัก ทำลวดลายต้นเทียน ค้นคว้าหาวิธีการทำเทียนพรรษาให้วิจิตรพิศดาร งดงาม แต่ประหยัด การเข้าร่วมในขบวนแห่จะเป็นการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เช่น การเล่นดนตรีพื้นบ้าน โปงลาง หรือเป่าแคน จะมีทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาว ส่วนขบวนฟ้อนรำ จะใช้เด็กๆ รุ่นเยาว์ ถึงวัยหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงวัย ซึ่งคาดหวังได้ว่า ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น จะสืบทอดต่อไปอีกยาวไกล
เหมิดที่บุญคนเฒ่าสกุลวงศ์ตกต่ำ สมัยใหม่ มาปล้ำสกุลเฒ่าแตกกระเด็น
คือบ่ตามครอง เฒ่าโบราณเฮามันลำบาก มันสิทุกข์ยากย้อน ทอนท้ออยู่บ่ดี "
สุภาษิตอีสานบทนี้ บอกให้ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่ดีงาม ที่ชุมชนถือปฏิบัติร่วมกัน เป็นวัฒนธรรมที่ดีของชุมชนมาแต่อดีต หากไม่รักษาไว้ให้คงอยู่ ปล่อยให้วัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ชุมชน ของเราจะอยู่เป็นสุขได้อย่างไรกัน
ขอบคุณภาพประกอบจาก GuideUbon.com
หมายเหตุปิดท้าย : วันนี้ผมย้อนนึกไปถึงสมัยเมื่อยังเป็นเด็กเรียนชั้นประถมศึกษา งานแห่เทียนพรรษายังแยกกันทำในแต่ละท้องที่ (จัดแยกกันในแต่ละอำเภอ) ไม่ใช่งานใหญ่อย่างนี้ ต้นเทียนเกิดจากใจศรัทธาของญาติโยม ที่ซื้อเทียนเหลืองเล่มใหญ่นำมามัดรวมกันรอบแกนไม้ไผ่ มัดด้วยเชือกหรือด้าย หุ้มด้วยการตัดกระดาษเงินกระดาษทองเป็นลวดลาย ตั้งบนเกวียนแห่ไปรอบหมู่บ้าน แล้วนำถวายที่คุ้มวัดใกล้บ้าน ประโยชน์ของเทียนนั้นยังคงสมบูรณ์เต็มร้อย พระเณรได้แกะเทียนเล่มเล็กเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ตลอดพรรษา แต่วันนี้เทียนเล่มใหญ่ที่แกะสลักวิจิตรงดงามนั้น หลังจากผ่านการแห่แหนรอบเมืองแล้ว กลับถูกปล่อยปละละเลยให้ฝุ่นเกาะจนครบขวบปีจึงจะถูกปัดฝุ่นนำมาบูรณะใหม่อีกครั้ง
รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน สืบสายลายเทียน
พ.ศ.นี้ เราลองมาเปลี่ยนจาก เทียนเล่มใหญ่ เป็น หลอดฟลูออเรสเซนต์ กันดีไหมนะ? ถวายต้นเทียนแล้ว พระท่านยังจะได้ใช้ประโยชน์จากหลอดไฟเหล่านั้นได้ ทุกวันนี้พอถึงฤดูเข้าพรรษา ผมและครอบครัวก็จะถวายหลอดไฟฟ้า กับปัจจัยสำหรับเป็นค่ากระแสไฟฟ้าเข้าท่ากว่ากันเยอะครับ หลบจากกระพี้เอาแก่นของความจริงกันดีไหมครับ ไม่ทราบจะทิ่มแทงใจใครบ้างก็ไม่ทราบนะครับ แต่ผมก็คิดว่าเข้าท่ากว่าการทำงานประเพณี กระพี้ของต้นเทียนกันอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังอย่างในปัจจุบันนี้
การนำเสนอเรื่องเทียนพรรษาผ่านมาหลายปีครับ เมื่อวานนี้ (เขียนเมื่อ : 13 กรกฎาคม 2546) ได้ร่วมเดินชมต้นเทียนที่นำมาตั้งแสดงให้ประชาชนได้ชม บริเวณรอบทุ่งศรีเมืองอุบลราชธานี สัมผัสกับบรรยากาศของความอลังการ และตื่นตาตื่นใจของต้นเทียน และผู้คนต่างถิ่น ที่ต่างก็กล่าวขวัญถึงความวิจิตรพิสดารของการแกะสลักลวดลายลงบนขี้ผึ้ง การติดลายอันวิจิตรลงบนลำเทียนและส่วนประกอบต่างๆ
แต่สำหรับคนพื้นถิ่นอย่างผม กลับมองเห็นอีกภาพหนึ่งที่หดหู่ใจยิ่ง จากการจัดงานประเพณีที่ไม่ใช่ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างนี้ ที่นับวันจะยิ่งห่างไกลออกไปทุกที เพราะการขายประเพณีเป็นสินค้าหลัก และไม่ยอมถามคนพื้นถิ่นว่า แก่นของประเพณีนี้ที่แท้จริงคืออะไร ผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านได้แต่บ่นเสียดายความงดงามของประเพณีที่สูญหาย พูด(เขียน)อย่างนี้บางท่านอาจจะงงๆ อยู่ ลองมาไล่เรียงกันเป็นข้อๆ ดูซิครับ
มูลค่ามหาศาลของการจัดทำต้นเทียน ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี (ในปีนี้ต้นเทียนระดับรางวัลชนะเลิศนั้น อยู่ที่หลักสองแสนบาทขึ้นไป) ส่วนที่หนึ่งนั้น มาจากค่าขี้ผึ้งแท้ (ผึ้งบริสุทธิ์) ที่จะต้องนำมาผสมกับเทียนเก่าในปีที่แล้ว (ที่แห้งแข็ง เปราะ ร่อน) เพื่อให้มีความเหนียวเพียงพอจนสามารถแกะสลัก หรืออัดลงแบบพิมพ์ เพื่อให้เกิดลายได้ ในอัตราส่วนตั้งแต่ 40% ขึ้นไป ในขณะที่ต้นเทียนนี้ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในพิธีกรรมระหว่างเข้าพรรษาได้เลย (ไม่ได้ถูกนำไปจุดเป็นเทียนจำนำพรรษาตลอด 3 เดือน ดังที่เคยมีมาในอดีต ด้วยความใหญ่โตมโหราฬจนยกเข้าไปในพระอุโบสถไม่ได้ และไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้จุดไฟได้ แกนกลางเป็นท่อนเหล็กหุ้มด้วยปูนพลาสเตอร์ให้มั่นคง)
ส่วนที่สอง เป็น "ค่าจ้างช่างทำเทียน" เพราะเป็นงานฝีมือที่ต้องทุ่มเทจิตใจแข่งกับเวลาอันจำกัด เพียงระยะเวลาหนึ่งเดือน (ใช้ช่างฝีมือทีมละประมาณ 15 - 25 คน) เท่าที่ทราบค่าจ้างอยู่ระหว่าง 80,000 ถึง 120,000 บาท (ถ้าเทียบกับเนื้องานแล้วไม่มาก) เราจึงได้เห็นส่วนประกอบของต้นเทียน (บรรดารูปปั้นองค์ประกอบรอบๆ ต้นเทียน เป็นเรื่องราวต่างๆ) วิจิตรตระการตากว่าลำต้นเทียน เพื่อแลกกับรางวัลที่หนึ่งประมาณหนึ่งแสนบาท (เงินรางวัลที่ได้รับน้อยกว่าการลงทุนทำต้นเทียนเกินครึ่ง)
ถ้าต้องการรักษาประเพณีและประหยัดค่าใช้จ่าย ตามความเห็นที่ผมสรุปมาจากการพูดคุยกับผู้เฒ่า ผู้แก่ ตามคุ้มวัดต่างๆ ก็คือ เราจะต้องหันมาส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ฝีมือของชาวบ้าน พระ-เณร ด้วยการทำต้นเทียนแบบโบราณที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และก็พิสูจน์ได้จากความชื่นชมที่นักท่องเที่ยวมีต่อต้นเทียนวัดหนองปลาปากในปีนี้ (รูปด้านบน ปี 2546)
นี่คือฝีมือของชุมชนพื้นถิ่น ที่ทำต้นเทียนเพื่ออนุรักษ์ประเณีอันดีงาม อย่างแท้จริง ต้นทุนต่ำ และใช้ประโยชน์คุ้มค่าจากต้นเทียน ที่นำเทียนเป็นเล่มๆ มาผูกมัดรวมกัน (หลังการแห่นำกลับไปจุดในพิธีกรรมเข้าพรรษาได้) ตกแต่งด้วยใบตอง และพานบายศรีอันวิจิตรงดงาม น่าทึ่งมากๆ ครับ
และข้อมูลล่าสุดคือ มีเทศกาลงานแห่เทียนพรรษาที่ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ที่จะจัดงานขึ้นก่อนในตัวจังหวัดอุบลราชธานี 1 วัน ที่บริเวณลานเอนกประสงค์ แก่งสะพือ จะเป็นการอนุรักษ์การจัดเทียนพรรษาแบบโบราณ ดังรูปประกอบด้านบนและล่างนี้ งดงามมากครับ
ขอบคุณภาพประกอบจาก GuideUbon.com
ปีนี้ (2546) เป็นปีที่น่าเศร้าใจจริงๆ ครับ บริเวณรอบๆ ต้นเทียนเราน่าจะได้ยืนชมต้นเทียนด้วยความสะดวกสบาย ทางเดินที่กว้างขวางรองรับนักท่องเที่ยว แต่โดนยึดพื้นที่ด้วยบรรดาหาบเร่แบกะดินเต็มไปหมด ไม่เว้นแม้แต่ช่องว่างระหว่างต้นเทียนแต่ละต้น มองไปที่ริมฟุตบาทเจอป้ายประกาศ ห้ามวางหาบเร่แผงลอย ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท ตรงป้ายไม่มีใครวางจริงๆ ครับ แต่ที่อื่นๆ วางกันเพียบไม่เห็นมีใครมาปรามหรือจับปรับเลย (ป้ายมันจับไผบ่เป็นเด้อ แล้วผู้ขายกะบ่อ่านป้าย หรืออ่านบ่ออก หรืออ่านออกแต่หน้ามึน กะบ่ฮู้คือกัน)
ผมอนาถใจไปกว่านั้นอีกคือ ความไม่เท่าเทียมกันของบริเวณจัดวางต้นเทียน ไฟแสงสว่างทางจังหวัดหรือเทศบาลน่าจะจัดให้กับทุกๆ วัดเท่าเทียมกัน บางวัดด้วยความตั้งใจนำต้นเทียนมาจากต่างอำเภอด้วยอยากสนับสนุนการจัดงานให้ยิ่งใหญ่ แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลเลย (ปล่อยให้อยู่ในมุมมืดมากทางด้านมุมทุ่งศรีเมืองใกล้ศาลจังหวัด) บางท่านนึกว่าหมดต้นเทียนแล้วเลยไม่เดินไปดูด้วยซ้ำ ปีหน้าจะมาหรือไม่หนอ?
เรื่องขบวนแห่นี้ขอมองต่างมุมหน่อยนะครับ การให้สถานศึกษาจัดขบวนแห่ ฟ้อนรำสวยงามก็ดีอยู่หรอกครับ แต่อยากให้มีขบวนแห่พื้นบ้าน ที่แตกต่างด้วยใจศรัทธาต่อคุ้มวัดของเขาเองบ้างจะดีไหม? ทำไมต้องกำหนดด้วยว่า ขบวนนี้ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะสูญหายไปดื้อๆ อย่างน่าเสียดายนะครับ สถานศึกษาส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปที่จำนวนผู้แสดง ความอลังการของชุดที่สวมใส่ การร่ายรำที่ผู้ฝึกสอนถนัด ไม่มีการค้นคว้าประยุกต์เอาศิลปะการฟ้อนพื้นฐิ่นมาใช้เลย นี่ก็น่าเสียดายครับ
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องของผู้สนับสนุน หรือสปอนเซอร์จัดงาน รู้สึกจะทุ่มเทกันมากไปด้วยป้ายที่ติดรอบๆ ทุกมุมเมือง จนนึกไปว่า นี่เขาจะจัดงานแสดงสินค้าโรงงานอุตสาหกรรมกันหรือไร? ทั้งเครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำเมา บะหมี่หลากรส ก็ไม่ว่ากัน ถ้าคุณจะช่วยประดับธงทิวธรรมจักรที่แสดงว่า จะมีงานประเพณีทางพุทธศาสนาให้มากกว่านี้ (เท่าที่ผมตระเวณไม่มีสักผืนครับแม้แต่รอบๆ งาน)
ที่น่าเศร้าใจกว่านั้นก็คือ วันอาสาฬหบูชา ทางราชการรณรงค์ให้เลิกดื่มเหล้า และน้ำเมาทั้งหลาย (รวมร้านอาหาร คาราโอเกะ) แต่แทบไม่เชื่อสายตาว่า รอบๆ บริเวณงานมีร้านขายเครื่องดื่มรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์ สัตว์ป่าขนาดใหญ่ และยี่ห้อที่แชมป์โลกเสียมวยขายกันเกลื่อนงาน (ขัดแย้งกันอย่างยิ่ง น่าเกลียดที่สุดด้วย ผิดทั้งสามัญสำนึกและกฎหมายแต่ไม่มีใครสนใจ)
หลังจากตระเวณรอบๆ งานก็ขอฝากภาพที่ผมได้เก็บไว้บางส่วนให้ท่านได้ชื่นชมกันครับ ปีหน้าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นก็ได้
ก็คงจะเป็นบทเรียนให้กับผู้จัดงานในปีต่อๆ ไปครับ ผมไม่อยากให้ต้นเทียนพรรษาถูกกล่าวถึง เฉพาะในงานเทศกาลนี้เท่านั้น อยากให้มีแหล่งเก็บรวบรวมคุณค่าของเทียนพรรษา ที่นักท่องเที่ยวสามารถมาชื่นชมได้ทุกเมื่อ ที่มาเยือนอุบลราชธานี ...
ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีหลายจังหวัดเลยทีเดียว ที่ได้ริเริ่มจัดให้มีงานประเพณีแห่เทียนพรรษาขนาดใหญ่ เพื่อเน้นไปที่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นหลัก วัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น เป็นเรื่องรอง (หรืออาจจะไม่คิดถึงเลยก็มีมั๊ง) อย่างเช่น จังหวัดนครราชสีมา สุพรรณบุรี ถึงกับมีการวางเงินมัดจำจ้าง ช่างทำเทียนจากอุบลราชธานี ไว้ล่วงหน้าเป็นรายปีเลยทีเดียว ก็ทำให้กระจายรายได้แก่ ช่างรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก ได้ไปสร้างผลงานในต่างถิ่นจนเป็นที่รู้จัก แต่ผู้จัดการงานประเพณีนี้ ลองย้อนหวนกลับคิดถึง รากเหง้า ประเพณี ภูมิปัญญา ของบ้านเกิดตัวเองกันบ้างดีไหมครับ ผมว่า "มันน่าจะมีอะไรซ่อนคุณค่าไว้อยู่ ถ้าเราจะค้นหานำมันออกมาแสดงต่อชุมชน"
กำเนิดและวิวัฒนาการเทียนพรรษา | ภูมิปัญญาชาวบ้านในงานแห่เทียน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)