foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

dance header

bulletการฟ้อนพื้นบ้านแบบต่างๆ

ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

fon silapa cheep

 

การฟ้อนศิลปาชีพ นับเนื่องได้ว่า พัฒนาขึ้นมาจากการประชุมของยูเนสโก (UNESCO) เมื่อราวปี พ.ศ. 2513 เพื่อที่จะส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประจำภาคในท้องถิ่นต่างๆ จึงได้มีการนำเอาการประกอบอาชีพต่างๆ มาจัดทำเป้นชุดฟ้อนขึ้น การฟ้อนศิลปาชีพนี้จะสะท้อนให้เห็นขั้นตอนในการประกอบอาชีพนั้นๆ

ชุดฟ้อนศิลปาชีพ นี้มีการแสดงในหลายภาค เช่น ในภาคเหนือก็มี ฟ้อนสาวไหม จ้องบ่อสร้าง ในภาคตะวันออกก็มี ระบำข้าวหลามหนองมน ระบำพัดพนัสนิคม ระบำทอผ้า ระบำศิลปาชีพ ส่วนในภาคใต้มีระบำสิลปาชีพที่มีชื่อเสียงมาก คือ ระบำปาเต๊ะ ระบำทำตาลบ้านระโนด ระบำร่อนแร่ ระบำปั้นหม้อ ส่วนในภาคอีสานก็เช่นเดียวกัน มีการประดิษฐ์ระบำศิลปาชีพขึ้นมาในหลายๆ รูปแบบด้วยกัน ซึ่งระบำศิลปาชีพของอีสานนั้น จะเน้นให้เห็นถึงอาชีพหลักของชาวอีสานนั้นก็คืออาชีพการทอผ้า

farmer thai

ชาวอีสานส่วนใหญ่มีอาชีพทางเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา เพราะฉะนั้นหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ชาวอีสานก็จะว่างจากการทำงานก็จะทำอาชีพรอง เช่น การทอผ้า การจักสาน การทอเสื่อ ฯลฯ ซึ่งพอจะทำให้มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นได้ อาชีพรองที่ชาวอีสานทำกันในแทบทุกจังหวัดของภาคอีสาน คือ การทอผ้า ดังนั้นชุดฟ้อนของภาคอีสานจึงมีชุดฟ้อนศิลปาชีพ ที่เกี่ยวกับการทอผ้ามากที่สุด เช่น รำตำหูกผูกขิด เซิ้งสาวไหม ฟ้อนเก็บฝ้าย ฟ้อนเข็นฝ้าย และฟ้อนแพรวา ฟ้อนอาชีพจึงเป็นการอนุรักษ์อาชีพของชาวอีสาน และเป็นการเผยแพร่ให้คนในท้องถิ่นอื่น เห็นความสำคัญของหัตถกรรมพื้นบ้านอีกด้วย ฟ้อนศิลปาชีพอีสานมีหลายชุดด้วยกัน

fon silapa cheep

farmer thai 2

3diamondรำต่ำหูกผูกขิด

การทอผ้าขิด เป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากซับซ้อนเป็นอย่างมาก ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการทอผ้าขิด ชาวอีสานจึงถือว่าผ้าขิด เป็นของสูงจะใช้ในพิธีสำคัญๆ เท่านั้น เช่น พิธีแต่งงาน เป็นต้น อุปกรณ์ที่สำคัญในการทอผ้าลายขิด

  1. ด้าย ในสมัยก่อนด้ายที่จะนำมาทอผ้า ไม่ว่าจะทอผ้าชนิดใดก็ตามผู้ทอจะต้องปลูกฝ้ายเอง แล้วนำฝ้ายมาผ่านกรรมวิธีต่างๆ จนได้เป็นเส้นด้ายออกมา แล้วจะนำมาย้อมสี ส่วนมากจะย้อมเป็นสีดำ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ผ้าย้อมหม้อนิล"
  2. หลอดปั่นด้าย ใช้วัสดุที่หาง่ายๆ ไม่สิ้นเปลือง เช่น ไม้ลำปอ ที่มีขนาดพองาม มีรูกลวงข้างในพอที่จะสอดไส้ใส่กระสวยได้ หลอดปั่นด้ายมี 2 ขนาด และใช้ต่างกัน คือ ขนาดสั้นยาวประมาณ 2 นิ้ว ใช้สำหรับกระสวยที่จะทอผ้า วันหนึ่งๆ ประมาณ 10 - 20 หลอดขนาดความยาวนั้นใช้สำหรับค้นด้ายใส่หลักเผือ เพื่อเอามาทำเป็นเครือหูกใส่ฟืมทอ
  3. กระสวย คือ เครื่องมือใส่หลอดด้าย ทำด้วยไม้เนื้อแข็งขัดมัน เพื่อสะดวกในการสอดเข้าไปในผืนผ้า ขนาดความยาว 14 - 16 นิ้ว หนา 2 ซ.ม. เจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงกลางกระสวยกว้างประมาณ 15 - 17 ซ.ม. ส่วนปลายทั้งสองข้างของกระสวยนั้นทำคล้ายเรือขุดคือเหลาให้งอนขึ้นทั้งสองข้าง เพื่อสะดวกในการสอดด้ายพุ่งเข้าไปในฟืมทวี
  4. อัก เป็นอุปกรณ์สำหรับเก็บเส้นด้าย
  5. กง เป็นอุปกรณ์ใส่ด้าย "ปอย" เพื่อจะสาวใส่อัก
  6. ไน ใช้สำหรับปั่นด้ายใส่หลอด เพื่อจะนำไปทอหูกบางทีเรียกว่า "หลา"
  7. หลักเผือ คือที่ค้นหูก การค้นหูกคือการนำด้ายจาก "อัก" ต่างๆ มาเกาะกับหลักเผือ แล้วสาวด้ายกลับไปกลับมา เพื่อให้ได้หูกยาวตามต้องการ การสาวด้ายไปตามหลักต่างๆ นี้ ด้ายจะขาดไม่ได้ ถ้าขาดก็ต้องต่อใหม่ แล้วสาวไปจนครบจำนวนเส้นตามต้องการ หลักเผือทำด้วยไม้ทั้งสี่ด้านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 150 ซ.ม. ยาวประมาณ 200 ซ.ม. ทั้งสองด้านทำเป็นเดือยให้สูงขึ้นประมาณ 4 นิ้ว ระยะห่างระหว่างเดือยห่างกันประมาณ 4 นิ้ว จะทำกี่เดือยก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมและพอใจของผู้ทอ
  8. ฟืม (ฟันหวี) คือเครื่องมือทอผ้าสำหรับการกระแทกให้เส้นด้ายทอเรียงตัวกันชิดแน่นในเนื้อผ้า มีหลายขนาดแล้วแต่ความต้องการขนาดของความกว้างของหน้าผ้า เริ่มตั้งแต่ 12 นิ้ว ไปจนถึง 42 นิ้ว
hook kee
  1. เขา (ไม้เก็บเขา) คือเส้นต้ายที่ถักขึ้นเพื่อกันเส้นด้ายยืน (เครือหูก) ให้อยู่คงที่ในตำแหน่งตรงกับฟันหวีในฟืม เขาแต่ละเส้นจะเก็บด้ายไว้ 1 เส้น จึงมีจำนวนมากเท่ากับขนาดของฟืม
  2. กี่ คือโครงสร้างสำหรับขึ้งด้ายใส่หูก และรองรับชุดฟืมหวีและเขา ทำด้วยไม้เนื้อแข็งเปนโครงสร้างที่แข็งแรง สามารถรับน้ำหนักของคนนั่งทอได้ สามารถยกเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ เพื่อให้สะดวกแก่การทอ
  3. แปรงหวีหูก คือแปรงทำด้วยเส้นใยต้นตาล ทำเป็นแปรงโตๆ ใช้ในการหวีเส้นด้าย ทำให้ทอง่ายขึ้นด้ายจะไม่ยุ่งหรือพันกัน
  4. ไม้เก็บขิด คือไม้ทำเป็นพื้นแบนๆ กว้างประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตร ทำด้วยไม้ไผ่ ปลายของไม้เก็บขิดนี้จะแหลมข้างหนึ่ง เพื่อสะดวกในการเก็บด้ายตามลวดลายที่กำหนดไว้แล้ว
  5. ไม้ค้ำขิด คือไม้ที่ทำเป็นพื้นแบนๆ เหมือนกับไม้เก็บขิดแต่จะมีความกว้างมากกว่าประมาณ 5 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตร ปลายแหลมข้างหนึ่งเหมือนกัน ใช้สำหรับค้ำยกเส้นด้ายตามลวดลายที่ออกแบบไว้ให้สูงขึ้นเพื่อสอดกระสวยด้ายสีต่างๆ สร้างลวดลายให้ผ้าขิด จะใช้งานร่วมกันกับไม้เก็บขิด
  6. ไม้ไขว้ (ไม้ขนัด) คือไม้เล็กๆ 2 อัน กว้างประมาณ 1 ซ.ม. ยาวประมาณ 1 เมตร ใช้สอดด้ายเครือหูกให้ไขว้กันข้างบน และข้างล่าง เพื่อกันด้ายเครือหูกยุ่ง ทำด้วยไม้ไผ่เหลากลมๆ เพื่อสะดวกในการร้อยด้ายหรือเชือกใช้สำหรับขัดเส้นยืนให้เป็นลายขิด
  7. ไม้เหยียบหูก คือไม้ไผ่กลมๆ 2 อันยาวประมาณ 1 เมตร สำหรับสอดใส่ในเชือกร้อยเขา (ตะกรอ) ของฟันหวี ลงข้างล่างให้ผู้ทอหูกเหยียบให้เส้นด้ายเครือหูกเปิดอ้าขึ้นอ้าลงตามแรงเหยียบ เพื่อสอดกระสวยด้ายเส้นตั้งผ่านจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง แล้วกระแทกด้วยฟืมหวีให้แน่น การเหยียบสลับกันแต่ละครั้งก็จะสอดกระสวยจากด้านหนึ่งไปด้านหนึ่งสลับไปมา
  8. ไม้หาบหูก คือไม้ที่แข็งแรงสำหรับสอดหูเชือกที่ร้อยฟืมและเขาแขวนไว้บนกี่ บางทีเรียก ไม้หาบลูกกลิ้ง ทำจากไม้ไผ่ขนาดใหญ่พอประมาณ แข็งแรง ความยาวมากกว่าความกว้างของกี่ โดยทั่วไปยาวประมาณ 180 ซ.ม.
  9. ไม้ลายขิด เป็นไม้ไผ่เหลากลมๆ เล็กๆ ความยาวประมาณ 1 เมตร สำหรับใช้สอดในด้ายหูกเพื่อกำหนดลายขิด มีจำนวนเท่ากับลายขิดที่ออกแบบไว้
  10. ไม้กำพั้น (ไม้ม้วนผ้า) เป็นไม้เนื้อแข็งขนาดประมาณ 2.5 x 2.5 นิ้ว ปลายข้างหนึ่งเหลาให้กลม อีกข้างหนึ่งเป็นรูปเหลี่ยม เพื่อกันไม่ให้ลื่นพลิกคลายตัวออกไป ใช้สำหรับม้วนเก็บผ้าที่ทอเสร็จแล้ว จะอยู่ถัดจากฟืม (ฟันหวี) มาทางผู้ทอ
hook kee 2

ขบวนการในการเตรียมฝ้ายก่อนทอ

  1. การเลือกซื้อด้าย ก่อนที่จะทำสิ่งอื่นใดในการทอผ้าลายขิด เราจะต้องทำการเลือกซื้อด้ายสีต่างๆ ตามที่เราชอบ เช่น สีเหลือง สีส้ม สีชมพู สีดำ สีฟ้า แต่สีที่จะขาดไม่ได้คือสีขาว ที่ใช้เป็นสีพื้นตามความกว้างความยาวของหูก ตามที่เราต้องการ
  2. การฆ่าด้าย ด้ายที่ซื้อมาจะนำไปทอเลยทันทีไม่ได้ ต้องทำให้ด้ายมีความคงทนและเส้นเรียบเสมอกัน ด้วยการนำมาฆ่า กล่าวคือ ต้มข้าวเจ้าเละๆ เทน้ำต้มข้าวลงไปในด้ายคลุกให้เข้ากันแล้วนำไป "ทก" โดยสอดด้ายใส่ในไม้กั้นประตูบ้าน กระแทกไม้นั้นไปเรื่อยๆ ด้ายจะแยกกันออกเรียงเส้นด้ายดียิ่งขึ้น นำด้ายไปตากให้แห้ง เป็นเสร็จกระบวนการฆ่าด้าย
  3. การกวักด้าย นำด้ายที่ฆ่าแล้วตากแห้งใส่ลงไปใน "กง" กวักด้ายออกจากกงให้เข้าไปอยู่ในอัก โดยการหมุนอักไปเรื่อยๆ ด้ายจากกงก็จะเคลื่อนที่ออกมาเข้าสู่อักตามต้องการ เมื่อกวักด้ายเสร็จแล้ว เราก็จะได้ด้ายไปอยู่ในอักหลายๆ อัก
  4. การค้นหูก เป็นขั้นตอนของการนำด้ายออกจากอักใส่ลงในไม้หลักเผือ เพื่อให้ได้ความยาวของหูกตามที่ต้องการ โดยนำด้ายใส่ลงในเดือยของหลักเผือวนจากซ้ายไปขวาไปมาเรื่อยๆ จนได้ความยาวตามต้องการ
  5. การปั่นหลอด เป็นการปั่นด้ายจากกงใส่หลอด บรรจุในกระสวย เพื่อทำการทอเป็นด้ายเส้นพุ่ง
  6. การสืบหูก เป็นการนำด้ายที่ค้นหูกเรียบร้อยแล้วมาต่อเข้ากับเขาหูก ด้วยการใช้นิ้วมือหมุนปลายด้ายให้พันติดกัน โดยใช้ข้าวสุกช่วย
  7. การกางหูก หลังจากเตรียมสิ่งต่างๆ แล้ว ก็ถึงขั้นกางหูก ส่วนใหญ่นิยมกางใต้ถุนบ้านเพื่อสะดวกในการทอหูก ไม่ต้องกลัวฝนตก แดดออก ทอได้ตลอดเวลา
  8. การทอ ในการทอผ้าลายขิดจะเป็นการทอผ้าทางยืน ยาวตามความต้องการของผู้ทอ การทอผ้าขิดต่างจากการทอผ้าอื่นตรงที่จะต้องมีไม้แบนๆ ประมาณ 2 นิ้วครึ่งช่วย นอกจากนี้จะมีไม้เล็ก ขนาดก้านมะพร้าว เป็นไม้สอดตามไม้เก็บขิดอีก 20 - 30 อัน ขั้นแรกจะใช้กระสวยสอดไปตามธรรมดาก่อน โดยใช้สีตามต้องการ พอถึงตอนที่เป็นลายขิดถ้าต้องการให้ด้ายกี่โผล่ก็สอดไม้คั่น ถ้าต้องการให้ด้ายขาวโผล่ก็สอดไม้ลง สอดกระสวยและกระตุกฟืม ก็จะได้ลายขิดตามต้องการ

ลายขิด มีอยู่มากมายแต่แบ่งออกเป็นลายใหญ่ๆ ได้ 4 ประเภท คือ ขิดลายสัตว์ ขิดลายพันธุ์ไม้ ขิดลายสิ่งของ เครื่องใช้ และขิดลายเบ็ดเตล็ด

การแสดงชุด "รำต่ำหูกผูกขิด" เป็นการแสดงให้เห็นขั้นตอนต่างๆ ในการทอผ้าลายขิด ตั้งแต่เริ่มเก็บฝ้าย การกวักฝ้าย การค้นหูก การปั่นด้าย จนกระทั่งทอเป็นผืน

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงหญิงล้วน เสื้อแขนกระบอกคอกลมนุ่งซิ่น ใช้ผ้าผูกเอว เกล้ามวยทัดดอกไม้

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ใช้ลายลำเพลิน และทำนองเซิ้ง

 

3diamondฟ้อนทอเสื่อบ้านแพง

ชาวบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีอาชีพหลักในการทำนา ส่วนอาชีพรองที่ทำชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านคือ การทอเสื่อกก "กก" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ไหล ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการทอเสื่อนั้น ชาวบ้านแพงจะปลูกเอง โดยนำหน่อกกไปปลูกบนผักตบชวาที่นำมามัดรวมกันเป็นเกาะ ลอยน้ำกลบด้วยดินโคลน และหาไม้ค้ำไว้ไม่ให้ผักตบชวาลอยไปตามน้ำ การปลูกลักษณะนี้จะได้กกที่มีความสมบูรณ์ มีคุณภาพดีและสามารถเก็บเกี่ยวกกได้ตลอดทั้งปี

kok keb kiew tor

เมื่อกกโตเต็มที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ชาวบ้านใช้เคียวเกี่ยวกกโดยเกี่ยวลำต้นจนติดดินให้เหลือตอสั้นที่สุด เมื่อได้มาแล้วก็คัดขนาด นำไป "สอย" คือการจักกกให้เป็นเส้นๆ โดยใช้มีดตอก เอาเฉพาะเปลือกข้างนอกให้มีเนื้อสีขาวๆ ข้างในติดเล็กน้อย นำไปตากจนแห้ง แล้วนำไปย้อมสีและตากแดดอีกครั้ง ก่อนนำไปทอเป็นผืน โดยใช้คนสองคน คนหนึ่งทำหน้าที่สอดกกทีละเส้นให้เส้นหัวและเส้นหางกกสลับกันไป อีกคนหนึ่งจะเป็นคนกระแทกฟึมให้เส้นกกชิดกันแน่น เมื่อเส็จแล้วก็นำไป "ไพ" คือการพับเก็บริมเสื่อทั้งสองข้างให้เรียบร้อยสวยงาม

kok yom tor

ฟ้อนทอเสือบ้านแพง ได้แรงบันดาลใจมาจากอาชีพการทอเสื่อของชาวบ้านแพง ซึ่งวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ โดยอาจารย์พัชราภรณ์ จันทร์เหลือง และอาจารย์สนอง จิตรโคกกรวด เป็นผู้คิดค้นท่ารำเป็นชุดฟ้อนขึ้น ต่อมาอาจารย์ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม) ได้ร่วมปรับปรุงชุดฟ้อนให้สวยงามยิ่งขึ้น และเปลี่ยนทำนองเพลงเป็นลาวแพนน้อย และเพิ่มทำนองลำเพลินและเซิ้งบั้งไฟเข้าไปในปี พ.ศ. 2531 เพื่อให้ดนตรีประกอบมีสีสันทั้งเร็วและช้า

การแสดงชุด "ฟ้อนทอเสือบ้านแพง" ท่าฟ้อนก็ประดิษฐ์ดัดแปลงมาจาก การนำกกไปปลูก เกี่ยวกก สอยกก (หรือจักกก) นำกกไปตาก พรมน้ำกก ย้อมสีกก ตากกก ต่ำกก (หรือทอกก) จนเป็นผืน

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงหญิงล้วน ห่มผ้าแถบสีสด จับจีบหน้าอกด้านซ้าย นุ่งผ้าถุงยาวสีพื้นมีเชิง คาดเอวด้วยผ้าขิด ผมเกล้ามวยติดดอกไม้สีเหลือง

เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ประกอบกัน 3 ทำนองคือ ทำนองเพลงลาวแพนน้อย ทั้งจังหวะช้าและเร็ว ลายลำเพลินและลายเซิ้งบั้งไฟ

รำทอเสื่อกกบ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย

 

blueline

next green คลิกไปอ่าน  การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง

 

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)