คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
กล่าวกันว่า "ชาวอีสานนั้นมีวิญญาณของศิลปินอยู่เต็มเปี่ยม" ซึ่งชาวอีสานในแต่ละหมู่ แต่ละกลุ่มชนก็คิดประดิษฐ์เครื่องบันเทิงใจแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะภาคอีสานนั้น มีเครื่องดนตรีในรูปลักษณ์พิเศษของตนเองมาช้านาน และดนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาชั่วลูกหลาน เป็นมรดกตกทอด ชาวอีสานนั้นมีมรดกทางด้านศิลปะ การดนตรี และฟ้อนรำหลากหลายรูปแบบที่สุด กลุ่มวัฒนธรรมของภาคอีสานจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
ทำให้ภาคอีสานมีดนตรีและการฟ้อนรำที่หลากหลาย การฟ้อนเพื่อความสนุกสนาน นับเป็นชุดฟ้อนเบ็ดเตล็ดที่มีมากกว่าการฟ้อนในกลุ่มอื่นๆ จึงรวบรวมเฉพาะชุดฟ้อนที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเท่านั้น และในที่นี้ก็ไม่นับรวมการฟ้อนรำแบบกรมสรรพสามิต (ฟ้อนขี้เมา) เอาไว้แต่อย่างใด เพราะรูปแบบการร่ายรำจะขึ้นกับปริมาณดีกรีเป็นหลักไม่แน่นอน (ฮา)
ประวัติความเป็นมาของแคน
แคน เป็นเครื่องดนตรีเก่าแก่ของชาวอีสาน เป็นเอกลักษณ์ด้านดนตรีตัวแทนความเป็นคนอีสาน มีเสียงอันเป็นธรรมชาติ มีความไพเราะลึกซึ้งกินใจ ดังในวรรณคดี "ท้าวก่ำกาดำ ได้กล่าวถึงความไพเราะของแคนไว้อย่างมีอารมณ์ว่า
"ท้าวก็เป่าจ้อยๆ อ้อยอิ่งกินนารี เสียงแคนดังม่วนแม้งพอล้มหลุดตายไปนั้น ปรากฏดังม่วนก้องในเมืองอ้อยอิ่น สาวฮามน้อยวางหลามาเบิ่ง บางผ่องปะหลาไว้วางไปทั้งก็มี ฝูงคนเฒ่าเหงานอนหายส่วง ฝูงพ่อฮ้างคิดฮ่ำคะนิงเมีย เป็นที่อัศจรรย์แท้เสียงแคนท้าวก่ำ ฝูงกินข้าวคาคอค้างอยู่ บ่มีไผไออิจามไอสงัดอยู่" |
บุญมีเลยเป่าแถลงดังก้อง ท้าวก็เป่าจ้อยๆ คือเสียงเสพเมือสวรรค์ เป็นที่ใจม่วนดิ้นดอมท้าวเป่าแคน เข่าก็บบฟั่งฟ้าวตีนต้องถือตอ บางผ่องเสื้อผ้าหลุดออกซ้ำเลยเต้นแล่นไปก็มี สาวแม่ฮ้างคะนิงโอ้อ่าวผัว เหลือทนทุกข์อยู่ผู้เดียวนอนแล้ง ไผได้ฟังม่วนแม้งใจสล่างหว่างเว ฝูงอาบน้ำปะผ้าแล่นมา อ่านรายละเอียดเรื่อง แคน เพิ่มเติม
|
การประดิษฐ์ชุดฟ้อนซึ่งอาศัยแคนเป็นองค์ประกอบขึ้น ได้ชื่อว่า เซิ้งแคน เป็นการฟ้อนประกอบการเป่าแคน โดยแบ่งการฟ้อนออกเป็น 2 ฝ่ายชายหญิง ฝ่ายชายเป่าแคนไปด้วยลีลาการเกี้ยวพาราสี การเซิ้งแคนเป็นการฟ้อนที่เป็นอิสระแต่ละคู่ ฉะนั้นจึงมีความสนุกสนานแปลกตาในลวดลายของการเซิ้ง และการเป่าแคน และยังมีชุดฟ้อนแคน ซึงทางกรมศิลปากรได้จัดทำเป็นชุดฟ้อน โดยใช้ทำนองลาวดวงเดือนและออกซุ้มลาวแพน
ทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม โดยอาจารย์ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ เห็นว่าน่าจะมีการประยุกต์ทำนองฟ้อนและเซิ้งเข้าอยู่ในชุดเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสวยงามแปลกตา และเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาคอีสาน ซึ่งได้รับสืบทอดวัฒนธรรมของล้านช้าง และภาคเหนือ ซึ่งได้รับสืบทอดวัฒนธรรมของล้านนา จึงประดิษฐ์ชุดฟ้อนขึ้นโดยอาศัย "แคน" เป็นสื่อให้ชื่อว่า "ฟ้อนเซิ้งแคน" โดยใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใช้ในทำนองเซิ้งบั้งไฟ และเพลงลาวดวงเดือน และออกซุ้มลาวแพน
เครื่องแต่งกาย
ฝ่ายหญิงใช้ชุดเซิ้งพื้นเมืองอีสาน คือ สวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งซิ่นพื้นเมือง ห่มผ้าสไบ ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ ฝ่ายชายสวมเสื้อคอกลม นุ่งโจงกระเบนด้วยผ้าขาวม้าพื้นเมืองอีสาน และใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว
เครื่องดนตรี
ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน โดยใช้ลายเซิ้งบั้งไฟเพลงลาวดวงเดือนและออกซุ้มของเพลงลาวแพน
เซิ้งแคน โดย นาฏยศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ชาวอีสานแต่โบราณมีประเพณีการไป "เล่นสาว" หรือไป "เว้าสาว" ในการไปเล่นสาวของชายหนุ่มชาวอีสานนั้นจะเกี่ยวเนื่องกับประเพณีลงข่วง ในช่วงหน้าหนาวหรือหน้าแล้ง หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในตอนกลางคืนหญิงสาวชาวอีสานก็จะมาร่วมกัน "เข็นฝ้าย" ซึ่งมีเพลงกล่อมเด็กที่กล่าวถึงแม่ร้างเข็นฝ้ายอยู่ว่า
"นอนสาเด้อหล่าหลับตาแม่สิกล่อม นอนอู่แก้วหลับแล้วแม่สิกวย แม่สิไปเข็นฝ้ายเดือนหงายเว้าผู้บ่าว สิไปหาพ่อน้ามาเลี้ยงให้ใหญ่สูง ลุงและป้าอาวอาเพิ่นบ่เบิ่ง เพิ่นได้กินปลาบึกตัวเท่าหัวเรือก็บ่ได้กินนำเพิ่น เพิ่นได้กินปลาเสือตัวเท่าหัวช้างก็บ่ได้กินน้ำเพิ่น ได้กินแต่ปลาขาวขี้ก้างชาวบ้านเพิ่นให้ทาน เหลียวขึ้นไปมีแต่ดาวกับเดือนเต็มฟ้า ไผสิมาเกี่ยวหญ้ามุงหลังคาให้ลูกอยู่บุญชูแม่นี่เอย" |
ซึ่งหญิงสาวจะเริ่มเข็นฝ้ายประมาณ 1 - 2 ทุ่ม หลังจากกินข้าวเย็นแล้ว ส่วนการไปเล่นสาวของชายหนุ่มอีสานนั้น จะเริ่มประมาณ 3 - 4 ทุ่ม ชายหนุ่มทั้งบ้านเดียวกันและต่างบ้านก็จะชวนกันเดินเป็นกลุ่มๆ มีการดีดพิณ และเป่าแคนไปตามทาง ในทำนองเพลงพื้นบ้านอีสาน กลุ่มของชายหนุ่มจะตระเวนไปตามข่วงต่างๆ ในหมู่บ้าน เมื่อไปถึงจะแยกย้ายนั่งคุยกับหญิงสาว การสนทนากันหรือ "เว้าสาว" นั้น จะมีการจ่ายผญา คือการสนทนาเกียวพาราสีกันด้วยภาษาเฉพาะ เรียกว่า ผญาเครือ หรือ ผญาเกี้ยว ซึ่งมีลักษณะลีลาจังหวะสัมผัสอันไพเราะงดงามทั้งความหมายของถ้อยคำที่มีความหมายลึกซึ้งคมคาย เช่น
ชาย : | โอนอหล้าเอ้ย การที่มามื้อนี่ความกกว่าอยากได้ฝ้าย ความปลายว่าอยากได้ลูกสาวเพิ่น อันเจ้าผู้ขันหมากแก้วลายเครือดอกผักแว่น สิไปตั้งแล่นแค่นอยู่ตีนส่วมผู้ใดนอ |
หญิง : | อ้ายเอย น้องผู้ขันหมากแก้วลายเครือผักแว่น หวังว่าสิไปตั้งแล่นแค่นอยู่ตีนส่วมบ่าวพี่ชาย... นี่แล้ว |
ชาย : | ย่านบ่จริงจังหมากหว้าสีชมพูจั่งว่า ย่านคือตอกมัดกล้าดำนาแล้วเหยียบใส่ตม... นั่นแล้ว |
หญิง : | คันบ่จริงน้องบ่เว้า คันบ่เอาน้องบ่ว่า สัจจาน้องว่าแล้วสิมายม้างแม่บ่เป็น... เด้อ้าย |
ชาย : | สัจจาผู้หญิงนี้บ่มีจริงจักเทื่อ ชาติดอกเดื่อมันบ่บานอยู่ต้นตออ้ายบ่เชื่อคน... ดอกนา |
หญิง : | กกจิกมันมีหลายต้น กกตาลมันมีหลายง่า สัจจะน้องได้ว่าแล้ว สิมายม้างบ่เป็น... ดอกอ้าย |
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ผญา ได้ที่นี่... |
ภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูมหาสารคาม จึงได้ทำชุดฟ้อนขึ้นเพื่อแสดงถึงการเล่นสาว หรือ เว้าสาว หรือ เกี้ยวสาว ของชาวอีสานขึ้น
เครื่องแต่งกาย
ฝ่ายหญิงแต่งกายชุดผู้ไท โดยสวมเสื้อดำขลิบแดงเข้ารูป แขนกระบอก ผ่าหน้า นุ่งซิ่นดำมีเชิงยาวกรอมเท้า ห่มสไบเฉียงทิ้งชายด้านขวา เกล้าผมมวยผูกผ้าแดง ฝ่ายชายจะถือแคน โดยสวมเสื้อคอกลมผ่าหน้าแขนสั้นสีดำขลิบแดง นุ่งโจงกระเบนทิ้งชายด้านหนึ่ง มัดผ้าแดงที่ศรีษะ
เครื่องดนตรี
ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ลายผู้ไท ฝ่ายชายมีอุปกรณ์ประกอบการแสดงคือ แคน
คลิกไปอ่าน ดนตรีประกอบการฟ้อนภาคอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)