ดนตรีประกอบการฟ้อนภาคอีสาน
ดนตรีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการฟ้อนซึ่งจะขาดเสียมิได้ เพราะดนตรีนอกจากจะให้การฟ้อนเกิดความพร้อมเพรียงกันแล้ว ดนตรียังเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้ฟ้อนรู้สึกต้องการฟ้อน และฟ้อนได้อย่างมีความสุข ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนนั้น มีตั้งแต่ดนตรีชิ้นเดียวอย่างเสียงกระทบของสาก เสียงกลอง จนถึงการผสมวง มีเครื่องดนตรีหลายๆ ชิ้นประกอบกัน ดนตรีอีสานแบ่งออกตามกลุ่มวัฒนธรรมดังนี้
วัฒนธรรมกลุ่มอีสานเหนือ
วัฒนธรรมกลุ่มอีสานเหนือ หรือกลุ่มไทยลาว หรือกลุ่มหมอลำหมอแคน ซึ่งสืบทอดวัฒนธรรมมาจากลุ่มแม่น้ำโขง เครื่องดนตรีในกลุ่มนี้มีหลายประเภท ถ้าแบ่งประเภทโดยยึดการใช้หรือการเล่นดนตรีนั้นๆ ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
- ประเภทเครื่องดีด เครื่องดนตรีประเภทใช้ดีด ได้แก่
- พิณพื้นเมือง ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปเช่น ซุง ซึง หมากจับปี่ หมากตดโต่ง หมากตับเต่ง เป็นต้น พิณทำด้วยไม้ เช่น ไม้ขนุน เพราะมีน้ำหนักเบาและให้เสียงทุ้มกังวานไพเราะกว่าไม้ชนิดอื่น มีรูปร่างคล้ายกีตาร์แต่ฝีมือหยาบกว่า พิณอาจจะมี 2 สาย 3 สาย หรือ 4 สายก็ได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 คู่ เป็นสายเอก 2 สาย และสายทุ้ม 2 สาย ดั้งเดิมใช้สายลวดเบรครถจักรยานเพราะคงทนและให้เสียงดังกว่าสายชนิดอื่น แต่ในปัจจุบันนิยมใช้สายกีตาร์แทน การขึ้นสายไม่มีระบบแน่นอน นมหรือขั้น (Fret) ที่ใช้นิ้วกดบังคับระดับเสียงจะไม่ฝังตายตัวเหมือนกีตาร์ หรือแมนโดลิน (ไม่ตายตัว ใช้การเลื่อนขั้นไปมาด้วยการติดกับขี้สูด (ชันโรง)) การเล่นก็เล่นเป็นเพลงเรียกว่า ลาย โดยมากพิณจะเล่นคู่กันกับแคน
- หุนหรือหืน เป็นเครื่องดีดที่ทำด้วยไม้ไผ่ ซึ่งชาวภาคกลางเรียกว่า จ้องหน่อง เวลาดีดต้องใช้ปากคาบไว้ที่กระพุ้งแก้ม ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเครื่องขยายเสียง หุนจะมีเสียงค่อนข้างเบา ดังนั้นจะดีดให้เป็นทำนองชัดเจนได้ยาก
- โกย คือ หุนหรือจ้องหน่องที่ทำด้วยโลหะ นิยมเล่นกันในหมู่ผู้หญิงผู้ไทสมัยโบราณ
- ไหซองหรือพิณไห เป็นพิณที่ทำมาจากไหน้ำปลาหรือไหใส่ปลาร้า นิยมทำเป็นชุดๆ ละหลายใบโดยมีขนาดลดหลั่นกัน ตรงปากไหใช้เส้นยางหนังสติกหรือเส้นยางที่ตัดมาจากยางในของรถจักรยานผูกและขึงผ่านให้ได้เสียงประสานกัน โดยทำหน้าที่ให้เสียงทุ้มคล้ายกีตาร์เบสของฝรั่ง
- ประเภทเครื่องสี หมายถึง เครื่องดนตรีที่มีสายสีด้วยคันชัก หรือเครื่องสายตามการเรียกในภาคกลาง เรียก ซออีสาน ประกอบด้วย
- ซอพื้นเมือง แตกต่างจากซออื่นๆ เพราะซอพื้นเมืองของภาคอีสานแทนที่จะทำด้วยไม้กับกะลามะพร้าว แต่กลับทำด้วยไม้กับปี๊บหรือกระป๋อง ในบางครั้งก็เรียกว่า ซอปี๊บ หรือ ซอกระป๋อง ซอชนิดนี้มีอยู่ 2 สาย คันชักที่ใช้สีนั้นทำเช่นเดียวกับซอสามสาย คันชักของซอปี๊บจะอยู่ข้างนอก วิธีการสีเช่นเดียวกับซอสามสายหรือไวโอลิน การเล่นเพลงเช่นเดียวกับพิณ
- ซอไม้ไผ่ หรือ ซอบั้ง ทำด้วยไม้ไผ่หนึ่งปล้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณสองถึงสามนิ้ว ถากผิวออกจนเหลือกระบอกบางๆ เจาะรูให้เกิดโพรงเสียง ขึ้นสายสองสายไปตามยาวของปล้องไม้ไผ่ แล้วสีด้วยคันชัก ซอไม้ไผ่มีข้อเสียที่เสียงเบาเกินไป
- ประเภทเครื่องตี หมายถึง เครื่องดนตรีประเภทตีดำเนินทำนอง ได้แก่
- โปงลาง มีลักษณะคล้ายระนาดแต่มีขนาดใหญ่ เดิมทีโปงลางเป็นชื่อของกระดึงที่แขวนคอวัวต่าง เป็นสัญญาณระหว่างการเดินทางไปค้าขาย ส่วนโปงที่เป็นเครื่องดนตรีเดิมชาวบ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์เรียกว่า "ขอลอ" โปงลางทำจากไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้หมากเหลื่อม ไม้สมอป่า ไม้พยุง ไม้ประดู่ ไม้ขนุน แต่ที่นิยมว่าให้เสียงไพเราะที่สุดได้แก่ ไม้มะหาด ที่ตายยืนต้นมาแล้วประมาณ 3 ปี
โปงลางจะประกอบด้วยลูกระนาด หรือไม้ท่อนโตขนาดแขน จำนวน 12 ท่อน เรียงจากขนาดใหญ่ไปหาเล็ก หรือระดับเสียงต่ำไปหาสูง ท่อนยาวที่สุดประมาณฟุตครึ่ง และสั้นที่สุดประมาณ 1 ฟุต ถากตรงกลางให้บางเพื่อปรับระดับเสียง แล้วใช้เชือกร้อยเป็นผืนไม่ต้องใช้รางอย่างระนาด แต่ใช้แขวนไว้กับหลักหรือเสาแต่ไม่ให้ท่อนล่างชิดพื้น เสียงโปงลางประกอบด้วยเสียงห้า คือ เสียง โด เร มี ซอล ลา ในการตีโปงลางนิยมใช้คนบรรเลง 2 คน แต่ละคนใช้ไม้ตีสองอัน คนหนึ่งตีเสียงทำนองเพลงตามลายต่างๆ เช่นเดียวกับพิณหรือแคน อีกคนหนึ่งตีเสียงเสริมประสาน
- กลอง ในภาคอีสานมีกลองที่ใช้ในการบรรเลงดนตรีประกอบจังหวะหลายประเภท เช่น
- กลองยาวหรือกลองหาง เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว ตัวกลองทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้มะม่วง ตอนหน้าใหญ่ตอนท้ายมีลักษณะเรียว มีหลายขนาดตรงกลางของหน้ากลองจะติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้าถ่วงเสียงตัวกลองยาวนั้น
- กลองเส็ง หรือ กลองกิ่ง หรือ กลองแต้ เป็นกลองคู่ประเภทหน้าเดียว นิยมใช้สำหรับการแข่งขันประลองความดังกัน หรืออาจใช้สำหรับตีในงานบุญต่างๆ เช่น งานบุญบั้งไฟ การตีกลองเส็งจะใช้ไม้ตีซึ่งนิยมใช้ไม้เค็ง (ไม้หยี) เพราะเหนียวและทนทานกว่าไม้ชนิดอื่นๆ
- กลองตุ้ม เป็นกลองสองหน้าคล้ายกับตะโพน แต่ต่างจากตะโพนตรงที่หน้ากลองตุ้มทั้งสองหน้ามีขนาดเท่ากัน ส่วนใหญ่ใช้ตีประกอบกับกลองยาวในขบวนแห่หรือขบวนฟ้อนในเทศกาลต่างๆ
- กลองตึ้ง เป็นกลองรำมะนาขนาดใหญ่ที่ใช้ในวงกลองยาว เวลาตีต้องใช้คนสองคนหาม และให้คนที่หามอยู่ข้างหลังเป็นคนตีไปด้วย
- กลองกาบบั้ง หรือ กลองกาบเบื้อง เป็นกลองรำมะนาเป็นกลองหน้าเดียวหรือเบื้องเดียว นิยมใช้ตีผสมวงกับกลองตุ้มและกลองยาว
- ผ่างฮาด หรือ ฆ้องโหม่ง แบบโบราณชนิดที่ไม่มีปุ่มนูนตรงกลางเหมือนฆ้องทั่วๆ ไป คือแผ่นหน้าของผ่างฮาดจะเรียบเสมอกันหมด นิยมใช้ตีผสมกับเครื่องกำกับจังหวะในขบวนฟ้อนผู้ไท ฟ้อนเซิ้งบั้งไฟ
- หมากกับแก๊บ หรือ หมากก๊อบแก๊บ หรือ กรับคู่ เป็นกรับพื้นเมืองอีสานทำด้วยไม้ธรรมดาสองชิ้น จักเป็นร่องฟันใช้ครูดหรือกรีดตามจังหวะ
นอกจากเครื่องดนตรีเหล่านี้แล้ว ยังมีเครื่องดนตรีประเภทตีทำด้วยโลหะอีกหลายชิ้น เช่น ฉิ่ง ฉาบ ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า สิ่ง แส่ง
|
|
ผ่างฮาด กลอง |
แคน โหวด |
- ประเภทเครื่องเป่า
- แคน เครื่องเป่าที่เรารู้จักกันดีและแพร่หลาย เป็นเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวอีสาน [ รายละเอียดเกี่ยวกับแคนเพิ่มเติมคลิกที่นี่ ] เสียงของแคนมีความไพเราะแสดงได้ทั้งอารมณ์สนุกสนาน เศร้าสร้อย การเป่าแคนจะมีท่วงทำนองซึ่งเรียกกันว่า ลายแคน เช่น ลายสุดสะแนน ลายลมพัดไผ่ ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ฯลฯ
- โหวต เป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยลูกแคนแต่ไม่มีลิ้น โดยนำเอากู่แคนจำนวนประมาณ 7 ถึง 12 อัน มาตัดให้ได้ขนาดลดหลั่นกันให้ปลายทั้งสองข้างเปิด ปลายด้านล่างใช้ขี้สูตรปิดให้สนิท ส่วนปลายบนเปิดไว้สำหรับเป็นรูเป่า โดยนำเอากู่แคนมารวมกันเข้ากับแกนไม้ไผ่ที่อยู่ตรงกลาง จัดลุกแคนล้อมรอบในลักษณะทรงกลม ตรงหัวโหวตใช้ขี้สูตรก่อเป็นรูปกรวยแหลม เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับจรดฝีปากด้านล่าง และให้โหวตหมุนได้รอบทิศเวลาเป่า [ รายละเอียดของโหวดเพิ่มเติมคลิกที่นี่ ]
- ปี่ผู้ไท เป็นปี่ที่ทำจากไม้กู่แคน โดยเอากู่แคนมาปล้องหนึ่งตัดโดยเปิดปลายข้างหนึ่ง และขังข้ออีกด้านหนึ่งตรงปลายด้านที่บั้งข้อเจาะช่องสำหรับใส่ลิ้นที่ทำด้วยทองเหลือง เจาะรูเยื่อ 1 รู และรูนับ 5 รู ปรับเสียงให้เท่ากับเสียงแคน
ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงการฟ้อนของอีสานเหนือดั้งเดิม จะใช้เครื่องดนตรีหลักเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งชนิดเดียว เช่น ฟ้อนผีฟ้า ฟ้อนผีหมอ จะใช้แคน ฟ้อนกลองตุ้มจะใช้กลองตุ้มอย่างเดียว แต่ในการแสดงชุดที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในยุคหลังจะใช้ดนตรีลักษณะผสมวงหลายชิ้น เช่น พิณ แคน โปงลาง กลอง ฯลฯ ผสมกัน
เพลงพื้นเมืองอีสานเหนือ
ทำนองเพลงพื้นบ้านอีสานเหนือเป็นทำนองสั้นๆ และวนเวียนกลับไปกลับมาซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 3 ตอน คือ
- ตอนเกริ่น เป็นการอารัมภบทของเพลงเพื่อให้ผู้ฟังเตรียมพร้อมที่จะฟังต่อไป
- ตอนทำนองหลัก คือทำนองของเพลงว่าเป็นลายใดหรือเพลงใด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละลาย
- ตอนทำนองย่อย เป็นทำนองที่ใช้บันไดเสียงเดียวกับทำนองหลัก แต่จะดำเนินทำนองให้แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นลูกเล่นของนักดนตรี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้บรรเลง
ดังนั้นในการบรรเลงเพลงพื้นเมืองอีสานนั้น ในขั้นแรกจะเริ่มด้วยการเกริ่นเสียก่อน แล้วจึงดำเนินทำนองหลักอาจจะกลับไปหลับมา ดังนั้นการบรรเลงเพลงพื้นบ้านอีสานจะใช้ทำนองหลักเป็นตัวแกนในการบรรเลง
วงโปงลางศิลป์อีสาน 2559 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ประเภทของเพลงพื้นเมืองอีสานเหนือ
- เพลงบรรเลง เป็นเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีบรรเลงล้วนๆ ในสมัยก่อนจะไม่มีการร่วมบรรเลง ดังนั้นจึงเป็นการบรรเลงดนตรีเดี่ยวๆ เช่น เดี่ยวพิณ เดี่ยวแคน เดี่ยวซอ แต่ปัจจุบันนิยมการบรรเลงร่วมกันโดยบรรเลงลายต่างๆ เช่น ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายโปงลาง ลายลมพัดไผ่ ลายกาเต้นก้อน ฯลฯ
- เพลงร้อง หมายถึงการขับร้องโดยมีการบรรเลงดนตรีประกอบ ซึ่งชาวอีสานเรียกการร้องเพลงว่า ลำ ผู้ขับร้องเรียกว่า หมอลำ พัฒนาการของหมอลำเป็นไปอย่างไม่หยุดยั้งจากการลำเดี่ยว เป็นลำคู่ ลำหมู่ (หลายคน) มีดนตรีสากลเข้ามาเสริมให้เกิดความคึกคัก กลายเป็นลำเพลิน และลำซิ่งในที่สุด เพลงหมอลำ หรือลูกทุ่งหมอลำเป็นที่รู้จักกันทั่วไปด้วยศิลปินพื้นบ้าน เช่น พรศักดิ์ ส่องแสง จินตหรา พูนลาภ ศิริพร อำไพพงษ์ สมหมายน้อย ดวงเจริญ นกน้อย อุไรพร เป็นต้น รายละเอียดของหมอลำคลิกที่นี่
คลิกไปอ่าน เครื่องแต่งกายสำหรับชุดฟ้อนภาคอีสาน