คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
กุบ ในภาษาของชาวอีสานแปลว่า หมวก เซิ้งกุบ เป็นชุดการแสดงที่ได้นำลีลาชีวิตของชาวอีสานพื้นบ้านมาแสดง ในรูปลักษณ์ที่แปลกตาไปจากชุดอื่นๆ โดยทางวิทยาลัยครูมหาสารคามได้ดัดแปลงสภาพชีวิตพื้นบ้านอีสาน ซึ่งในฤดูฝนชาวบ้านจะดำนา พอตกค่ำอาจจะมีฝนรินๆ ชาวอีสานก็จะเตรียมอุปกรณ์ออกไปจับกบ โดยถือตะเกียงที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่และไม้สำหรับตีกบ การฟ้อนชุด "เซิ้งกุบ" นี้จึงได้นำลีลาขั้นตอนของการออกไปจับกบมาประยุกต์ เป็นชุดฟ้อนขึ้นอย่างงดงาม แปลกตา
เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงสวมชุดพื้นเมืองอีสาน โดยสวมเสื้อแขนกระบอกสีคล้ำ นุ่งผ้าซิ่นพื้นเมือง สวมหมวกงอบ ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วยสั้น สวมเสื้อม่อฮ่อม มือถือตะเกียงและไม้ตีกบ
อุปกรณ์สำหรับการแสดง หมวกงอบ ตะเกียง กระบอกไม้ไผ่ ไม้สำหรับตีกบ
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ทำนองเซิ้ง
ดอนสวรรค์ เป็นเกาะใหญ่อยู่กลางหนองหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นเกาะที่มีความงดงามตามธรรมชาติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสำคัญของจังหวัดสกลนคร โดยเฉพาะในเวลาเย็น หนุ่มสาวชาวบ้านต่างพากันไปพายเรือเที่ยวชมทิวทัศน์อันงดงามของเกาะดอนสวรรค์เป็นจำนวนมาก ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสกลนคร จึงจัดทำเป็นชุดฟ้อนขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงความงดงามของเกาะดอนสวรรค์ โดยฟ้อนตามบทร้องและดนตรี
เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้หญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลม ห่มสไบ นุ่งซิ่นสั้นคลุมเข่า เกล้าผมมวยทัดดอกไม้
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองเพลงผู้ไทยน้อย และเพลงเซิ้งแข่งเรือ
เซิ้งสาวน้อยเลียบดอนสวรรค์
เซิ้งสวิง เป็นการละเล่นพื้นบ้านของภาคอีสาน ซึ่งเป็นการละเล่นเพื่อการส่งเสริมทางด้านจิตใจของประชาชนในท้องถิ่น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เซิ้งสวิงเป็นชุดฟ้อนที่มีความสนุกสนาน โดยดัดแปลงท่าฟ้อนจากการที่ชาวบ้านอีสานออกไปหาปลา โดยมี "สวิง" เป็นเครื่องมือหลักในการหาปลาของชาวบ้าน ซึ่งมีอาชีพในการจับสัตว์น้ำ นอกจากมีสวิงแล้วยังมี "ข้อง" ซึ่งเป็นภาชนะสำหรับใส่ปลาที่จับได้
เซิ้งสวิง มีการประยุกต์กันมาเรื่อยๆ และในปี พ.ศ. 2515 ทางกรมศิลปากรจึงได้นำท่าฟ้อนของท้องถิ่นมาปรับปรุงให้มีท่วงท่ากระฉับกระเฉงขึ้น ท่าฟ้อนจะแสดงให้เห็นถึงการออกไปหาปลา การช้อนปลา จับปลา และการรื่นเริงใจ เมื่อหาปลาได้มากๆ ผู้แสดงฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ถือสวิงไปช้อนปลา ส่วนฝ่ายชายจะนำข้องไปคอยใส่ปลาที่ฝ่ายหญิงจับได้
เซิ้งสวิง
เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอกคอกลม นุ่งซิ่นมัดหมี่ เกล้าผมมวยทัดดอกไม้ ฝ่ายชายสวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย เอาผ้าขาวม้าคาดพุง
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานในจังหวะเซิ้ง
เซิ้งกระติบข้าว เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมเซิ้งอีสานจริงๆ ไม่มีท่าทางอะไร มีแต่กินเหล้า ยกมือไม้สะเปะสะปะให้เข้ากับจังหวะเสียงกลองไปตามใจ (มีผู้นิยามว่า ฟ้อนตามแบบกรมสรรพสามิต) โดยไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม นอกจากให้เข้าจังหวะกลอง ตบมือไปตามเรื่องตามฤทธิ์เหล้า
ในราว พ.ศ. 2507 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ ๙) ต้องการการแสดงของภาคอีสาน เพื่อต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าอะเลียนา และเจ้าหญิงบีทริกซ์ แห่งประเทศเนเธอแลนด์ จึงมีการนำเอาเพลงอีสานคือ หมอลำจังหวะช้าเร็ว โดยมีท่าถวายบังคม ท่านกบิน ท่าเดิน ท่าดูดาว ท่าม้วนตัว ท่าสนุกสนาน ท่าปั้นข้าวเหนียว ท่าโปรยดอกไม้ ท่าบังแสงอาทิตย์ ท่าเตี้ย (รำเตี้ย) และในการแต่งกายครั้งแรกนั้นจะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง แต่ไม่มีใครยอมห้อยกระติบข้าวเพราะเห็นว่ารุงรัง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) เสด็จทอดพระเนตร พระองค์จึงรับสั่งให้ใครสักคนหนึ่งลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าวแล้วจะเป็นอย่างไร? คุณหญิงเบญจวรรณ อรวรรณ เป็นผู้ทดลองรำดู ครั้งแรกไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สองรำโดยห้อยกระติบข้าวทุกคนก็คิดว่า กำลังน่ารัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า "น่าเอ็นดูดีนี่" ผู้รำทุกคนก็พากันรีบห้อยกระติบข้าวกันใหญ่ทางไหล่ขวาทุกคน การเซิ้งครั้งนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เรียกชื่อว่า "เซิ้งอีสาน" ต่อมามีผู้นำเซิ้งอีสานไปแสดงกันทั่วไปแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "เซิ้งกระติบข้าว"
เซิ้งกระติบข้าว
เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีพื้น นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ห่มผ้าสไบเฉียง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ห้อยกระติบข้าวทางไหล่ขวา
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ทำนองเซิ้ง
อุปกรณ์การแสดง กระติบข้าว
คลิกไปอ่าน ดนตรีประกอบการฟ้อนภาคอีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)