คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
อาชีพทอเสื่อ เป็นอาชีพเสริมอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ซึ่งรวมทั้งอีสานเหนือและอีสานใต้ ทางอีสานเหนือที่มีการทอเสื่อกันแพร่หลายก็ได้แก่ที่ บ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย และบ้านท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ส่วนทางอีสานใต้ที่หมู่บ้านโคกเมือง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นหมู่บ้านที่ได้รับยกย่องว่าทอเสื่อได้สวยที่สุดในเขตอีสานใต้ ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์เห็นว่าเป็นรูปแบบที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการดึงเอาอาชีพพื้นบ้านมาจัดแสดงในรูปแบบของการฟ้อนประกอบดนตรีพื้นเมืองของอีสานใต้ คือ วงกันตรึม
เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงนุ่งซิ่นพื้นเมืองของอีสานใต้ สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลม ห่มสไบทับ ผมเกล้ามวยติดดอกไม้ ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาสามส่วน สวมเสื้อคอกลมใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว และสวมหมวก
อุปกรณ์การแสดง เสื่อผืนเล็กๆ ซึ่งเขียนชื่อย่อของวิทยาลัยครูบุรีรัมย์
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใต้คือ วงกันตรึม ใช้เพลงชื่อว่า แฮเนี๊ยก (แห่นาค) ซึ่งมีจังหวัดคล้ายๆ ทำนองเซิ้งของอีสานเหนือ
ชาวย้อ เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่อาศัยกระจายทั่วไปในจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสาน เช่น ในจังหวัดนครพนม อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม มุกดาหาร และสกลนคร ชาวย้อในจังหวัดสกลนคร นอกจากจะมีอาชีพในการทำไร่ทำนาแล้ว ยังมีการทอผ้าและทอเสื่อไว้ใช้ในเวลาว่างจากการทำไร่นา ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสกลนคร จึงประดิษฐ์ชุดฟ้อน "เซิ้งสาวย้อต่ำสาด" ขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีการต่างๆ ในการต่ำสาด หรือการทอเสื่อ
เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงเป็นหญิงล้วนตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป โดยแต่งกายแบบชาวย้อคือ นุ่งซิ่น มัดหมี่ทบชายข้างหนึ่ง ใช้ผ้าขาวม้าห่มแบบผ้าแถบ ผมเกล้ามวย
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ใช้เพลงชื่อว่า เพลงตังหวาย และเพลงเต้ยหัวโนนตาล
ลำดับขั้นตอนการแสดง เริ่มตั้งแต่สาวชาวย้อชวนกันออกไปหาต้นกกหรือต้นผือ เมื่อได้แล้วจะแบกกกกลับบ้าน นำมาซอยกก แล้วนำกกไปตาก เมื่อกกแห้งได้ที่ก็นำไปย้อมสี แล้วจึงนำไปทอหรือต่ำสาด เมื่อได้เป็นผืนแล้วก็จะนำไปตัดริมให้เรียบ
ชาวบ้านหม้อ ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่นครราชสีมา โดยอาศัยอยู่แถบบริเวณอำเภอพิมาย อำเภอบัวใหญ่ อำเภอโนนสูง อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบอาชีพค้าขายสินค้าประเภทผ้าแพร ถ้วยชาม และเครื่องปั้นดินเผา ได้เดินทางมาขายที่จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม พบว่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดมหาสารคามมีหนองน้ำและดินดิบมากมาย จึงมาตั้งรกรากที่นี่ ได้ทำการปั้นหม้อและเครื่องมือเครื่องใช้ดินเผาอื่นๆ เช่น ครก ถ้วย ฯลฯ ปรากฏว่ามีผู้นิยมกันมากจนทำให้มีชื่อเสียง จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านหม้อ"
อุปกรณ์ในการปั้นหม้อมีดังนี้ ดินเชื้อ ดินดิบ แกลบ น้ำ ไม้กลิ้ง ไม้ตีราบ ไม้สักลาย หินดุ ครกหรือแท่นไม้ หนังควาย ถุงพลาสติก เขิงหรือตะแกรง ค้อนทุบดิน อ่างใส่น้ำเวลาปั้นและครกมอง
ขั้นตอนการปั้นหม้อ
รำปั้นหม้อ จึงได้แนวคิดจากวิธีการปั้นหม้อ ซึ่งมีเอกลักษณ์และยังคงวิธีการอันดั้งเดิม ซึ่งแตกต่างจากการปั้นหม้อสมัยใหม่ และในปัจจุบันยังคงทำสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ ทางวิทยาลัยคณาสวัสดิ์ โดยอาจารย์สนอง จิตโคกกรวด และอาจารย์พัชราภรณ์ จันทร์เหลือง จึงได้ประดิษฐ์ชุดรำปั้นหม้อขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนของอาชีพที่ควรอนุรักษ์ไว้ของชาวมหาสารคาม
เครื่องแต่งกาย ฝ่ายชายจะใส่เสื้อม่อฮ่อมกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนสีพื้น ใช้ผ้าขาวม้ารัดอกและโพกศีรษะ ซึ่งเป้นลักษณะการแต่งกายของชาวโคราชเดิม
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน โดยใช้ลายลำเพลิน
ลำดับขั้นตอนของการแสดง ขบวนการฟ้อนเริ่มจากการที่ชายหนุ่มไปขนดินมาให้ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงจะเริ่มกระบวนการปั้นจนให้เป็นรูปหม้อ และฝ่ายชายจะนำฟืนมาเพื่อเตรียมเผาหม้อ ในระหว่างที่รอให้เผาหม้อให้เรียบร้อยจะมีการเกี้ยวพาราสีกัน
ฟ้อนปั้นหม้อดินถิ่นสารคาม
ระบำปั้นหม้อ นี้ทางภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูสุรินทร์ได้จัดทำขึ้นเป็นชุดฟ้อน โดยนักศึกษาระดับปริญญาตรี อคป. รุ่น 7 ได้เขียนขึ้นเป็นวิทยานิพนธ์ เดิมเป็นลีลาท่วงทำนองสำเนียงลาว ทางภาควิชานาฏศิลป์จึงได้นำมาปรับปรุงให้เป็นสำเนียงเขมรสุรินทร์ ให้เหมาะสมกับอาชีพของชาวบ้านใหม่ ตำบลคอโด อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
ลำดับขั้นตอนการแสดง ท่าฟ้อนเริ่มตั้งแต่การขุดดิน นำดินมาร่อน นำดินมานวดจนได้ที่แล้วจึงนำมาปั้นขึ้นเป็นรูปหม้อเสร็จแล้วเขียนลายปากหม้อ นำหม้อไปเผาจนดินสุก เมื่อดินแกร่งจึงนำไปจำหน่ายและใช้สอยต่อไป
ฟ้อนเข็นฝ้าย - เซิ้งสาวไหม - ฟ้อนแพรวา - เซิ้งข้าวปุ้น | รำบ้านประโดก - เซิ้งปลาจ่อม - เซิ้งแหย่ไข่มดแดง - เรือมศรีผไทสมันต์
คลิกไปอ่าน การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)