คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปการฟ้อนรำของชาวอีสาน มีหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละถิ่น ตามอิทธิพลของกลุ่มชนพื้นเมืองในละแวกนั้นๆ เช่น ทางอีสานใต้ก็จะมีอิทธิพลของเขมรปะปนอยู่มาก ทางด้านเหนือก็มีอิทธิพลจากทางล้านช้าง ทางสกลนคร นครพนม มุกดาหารก็มีชนเผ่าพื้นเมืองในถิ่นนั้นเช่น ย้อ โซ้ ภูไท อย่างไรก็ตามเราก็พอจะจำแนกการฟ้อนออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
สังคมและวัฒนธรรมแถบลุ่มแม่น้ำโขง ยังคงยึดมั่นกับความเชื่อในเรื่องภูติ ผี วิญญาณ ผีฟ้า ผีแถน ผีปู่ย่าตายาย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ดังนั้น ลูกหลานที่สืบทอดความเชื่อนี้ จะต้องให้ความเคารพและเซ่นสังเวย เพื่อบูชาเป็นประจำทุกๆ ปี ซึ่งเชื่อว่า เมื่อได้ทำการเซ่นสังเวยตามพิธีกรรมแล้ว จะทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นได้รับผลดี ถ้าไม่ปฏิบัติแล้วจะให้ร้ายแก่ผู้ไม่ปฏิบัติ ดังนั้น จึงมีการฟ้อนเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผี วิญญาณ นั้นพึงพอใจ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข การฟ้อนเพื่อเซ่นสรวงบัดพลีหรือบูชานั้น สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
สภาวะทางธรรมชาติเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเองพร้อมกับมนุษย์ เช่น ป่าเขา แมกไม้ สายลม แสงแดด สายธาร พืชพันธ์ธัญญาหาร และสัตว์โลกทั้งหลาย สรรพสิ่งเหล่านี้มีลักษณะอันให้คุณให้โทษเป็นวิสัยธรรมดา ภาคอีสานได้รับโทษจากธรรมชาติมาเป็นเวลาช้านาน แต่คนอีสานและชุมชนก็ยังคงอยู่เพื่อท้าทายลมแล้ง
ชาวอีสานมีความเชื่อดั้งเดิมว่า ธรรมชาติทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ผืนน้ำ พืช สัตว์ มนุษย์ อุบัติขึ้นในโลกด้วยอำนาจแห่งผีฟ้าหรือผีแถน ผีจึงให้ชีวิต คุ้มครองชีวิต และทำลายชีวิตด้วย ผู้ที่หวังความสุขหรือเมื่อประสบปัญหาเจ็บป่วยทางกาย และทางใจจึงมีพิธีกรรมอัญเชิญผีฟ้าลงมาขจัดเหตุแก้ไขให้ชีวิตเป็นปกติสุข ดังนั้น เมื่อเกิดความแปรปรวนทางธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด ฯลฯ จึงเชื่อว่าเป็นอำนาจของผีฟ้า ผีแถน โดยเฉพาะชาวอีสานมีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าเกิดภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง จึงมีพิธีกรรมเพื่อขอคำพยากรณ์ขึ้นเพื่อเสี่ยงทายว่าในปีนั้นๆ ฟ้าฝนจะดีหรือไม่?
ชุดฟ้อนเพื่อเสี่ยงทาย จึงสืบเนื่องมาจากพิธีกรรมในการเสี่ยงทาย หรือการขอฟ้าขอฝนของชาวอีสาน ชุดฟ้อนเพื่อเสี่ยงทายมีอยู่ 4 ชุด ได้แก่
ประเพณีอีสานมีความสำคัญต่อชีวิตของชาวอีสาน ซึ่งมีฮีต 12 คอง 14 เป็นหลักในการดำเนินชีวิต บุญบั้งไฟหรือบุญเดือนหกเป็นประเณีที่มีส่วนในการสร้างเสริมกำลังใจแก่ชาวบ้าน และเป็นการเตรียมพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวอีสาน จุดประสงค์ใหญ่ของการมีงานบุญบั้งไฟ ก็เพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล จะได้ใช้น้ำในการทำนา เพื่อให้พืชพันธุ์ธัญญาหารมีความอุดมสมบูรณ์ การจุดบั้งไฟโดยมีความเชื่อว่า
การเซิ้งบั้งไฟ เป็นการฟ้อนประกอบการขับกาพย์ กาพย์เซิ้งบั้งไฟมีทั้งกาพย์เซิ้งเล่านิทานหรือตำนาน เช่น ตำนานผาแดงนางไอ่ ตำนานพญาคันคาก หรือเล่านิทานท้องถิ่น เช่น นิทานเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ และกาพย์เซิ้งประเภทคำสอน เช่น กาพย์เซิ้งพระมุณี นอกจากนี้ยังมีกาพย์เซิ้งขอบริจาคจตุปัจจัย กาพย์เซิ้งอวยพร กาพย์เซิ้งประเภทตลกหยาบโลน เป็นต้น
ระยะเวลาในการเซิ้งบั้งไฟแบ่งออกเป็น 4 ช่วง คือ การเซิ้งบั้งไฟบอกบุญ ช่วงเตรียมงาน การเซิ้งบั้งไฟในวันงาน การเซิ้งบั้งไฟในวันจุดบั้งไฟ และการเซิ้งบั้งไฟหลังจุดบั้งไฟแล้ว
การฟ้อนเซิ้งบั้งไฟ นั้นอาจจะเป็นผู้หญิงล้วน หรือหญิงและชายก็ได้ ท่าฟ้อนเซิ้งบั้งไฟนั้นมีมากมายหลายท่า เช่น ท่าฟ้อนของคุ้มบ้านใต้สามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มี 6 ท่าคือ ท่าไหว้ครู ท่านาคพ่นน้ำ ท่าม้วนเชือก ท่าแงงคีง (ท่าชมโฉมตัวเอง) ท่าส่อนฮวก (การช้อนลูกอ๊อด ลูกกบ) ท่ายูงรำแพน
ส่วนท่าฟ้อนเซิ้งบั้งไฟของบ้านท่าศรีธรรม อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มี 13 ท่า คือ ท่าไหว้ครู ท่าเกี่ยวข้าว ท่าทวยเทพ ท่าแหวกม่านเข้าหอ ท่าเอิ้นบ่าว - แหลวเสิ่น (ลักษณะของหญิงสาวเรียกชายหนุ่ม) ท่าปะแป้ง ท่าเสือขึ้นภู ท่าปอบผีฟ้า-กาตบปีก ท่าบัวหุบ-บัวบาน ท่าสามก้าว ท่างามเดือน ท่าแผลงศร
เครื่องแต่งกาย
เครื่องดนตรี
ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานประกอบไปด้วย กลองตุ้ม พังฮาด กลองยาว รำมะนา ฆ้องเหม่ง ฉิ่ง ฉาบ กั๊บแก๊บ ซึ่งจะเล่นลายเซิ้งบั้งไฟ
พิธีเต้าแม่นางด้ง หรือ แห่แม่นางด้ง เป็นพิธีการทางไสยศาสตร์เพื่อขอฝน เมื่อฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล โดยใช้กระด้งเป็นอุปกรณ์สำคัญ จัดเตรียมอุปกรณ์ดังนี้ ใช้กระด้ง 2 ใบ ไม้คาน 2 คู่ แว่น หวี ข้าวปั้น กำไลมือ แหวนของหญิงหม้ายลงในกระด้ง แล้วเอากระด้งอีกใบหนึ่งครอบเข้าข้างบน มัดติดกับไม้คานเป็นรูปกากบาท เตรียมหาหลักมา 2 หลัก สมมุติให้หลักหนึ่งเป็นหลักแล้ง อีกหลักหนึ่งเป็นหลักฝน
หัวหน้าผู้ทำพิธีจะเตรียมขันธ์ 5 และเหล้าก้อง ไข่หน่วย ป่าวสัคเค อัญเชิญเทวดามาชุมนุมอธิษฐานขอให้ฝนตก ให้สองคนจับไม้คาน ซึ่งผู้จับจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้ หัวหน้าผู้ทำพิธีจะนำชาวบ้านกล่าวคำเวิ้งแม่นางด้งเป็นวรรคๆ ไป ถ้าว่าจนจบแล้วกระด้งยังไม่เคลื่อนไหวก็อาจจะเปลี่ยนผู้จับไม้คาน ถ้าหากกระด้งเคลื่อนที่ไปตีหลักแล้งก็จะแล้ง หากแม่นางด้งเคลื่นที่ไปตีหลักฝน ฝนก็จะตกในเร็ววัน การเต้าแม่นางด้งนี้นอกจากจะทำเพื่อขอฝนแล้ว ก็สามารถทำเพื่อขับภูติผีปีศาจก็ได้ หรือของใครหายไม่รู้ว่าใครเอาไปก็เต้าแม่นางด้งเพื่อหาของก็ได้ ตัวอย่างคำเซิ้งแม่นางด้ง
เต้าอิแม่นางด้ง มาเวียนนี้ได้สองสามฮอบ ตักตุลี่แมงมี่ตุลา มาสู้แดดหรือมาสู้ฝน เสียงเคียงแม่นเขียดจ่อง อ่องล่องแม่นเขียดจ่านา เชิญทั้งคกไม้บาก มาสูญด้งเยอ ด้งน้อยๆ ฮ่อนข้าวกินขาวอีสาวก็มี มีทั้งหวีเขาควายป่ายเกล้า มีทั้งเหล้าไหใหญ่ฮับแกน เต้นเยอด้ง เป่อเคอเยอด้ง ฝนบ่ตกข่าวไฮ่ตามคาเหมิดแล้ว แฮ้งอยู่ป่าโฮมโครงเหมิดแล้ว น้ำใสขาวให้สูพากันอาบ ฝนตกลงแต่เทิงภูค่อย กลิ้งกันลงสูพันกันลง เสมอดังพันสาด เสมอกันแล้วฝนแก้วเลียนลำ สาวไทเวียงเต่าแม่นางด้ง เต้นเยอด้ง เป่อเคอเยอด้ง มาเป่งน้ำเดือนเก้าใส่นา |
โล้งโค้งเสมอดั่งกงเกวียน มาคอบนี้ได้สองสามที พาสาวหลงเข้าดงกำแมด มากำฮนนำแม่เขียดไต้ ซักไซ้แม่เขียดเหลือ หลังชาแม่นพญาคันคาก เชิญทั้งสากไม้แดงมาสูญด้งเยอ มีทั้งหวีเขาควายป่ายปลาย มีทั้งเหล้าไหหลวงฮับไถ่ แขนวงมาแต่เถิงวีด้ง มาปิ่นวัดปิ่นเวียนเดี๋ยวนี้ ฝนบ่ตกข้าวนาตายแล้งเหมิดแล้ว หมากม่วยสุกคาเครือเหมิดแล้ว เห็นหอยตาบกี้มขึ้นเมือบก น้ำย้อยลงภูหอภูโฮง ตาดแต่นี้เท่าฮอดเสอเพอ มานำกูนี้ให้ฝนฮวยลง เต้นเยอด้งเป่อเสอเยอด้ง มาเป่งน้ำเดือนหกใส่เข้า กุ๊ก กุ๊ กุ๊ก กุ๊ |
เซิ้งนางด้ง จึงเป็นการนำเอาพิธีขอฝนขอฟ้าดังกล่าว มาจัดทำเป็นชุดแสดง โดยเลียนแบบการแสดงคงได้แบบอย่างมาจากชุดรำแม่นางด้งของภาคกลาง
เครื่องแต่งกาย
ผู้ชายสวมเสื้อคอกลม นุ่งโสร่งใช้ผ้าขาวม้ามัดเอว ผู้หญิงที่เป็นนางด้ง 1 คน จะใช้ผ้าขิดรัดหน้าอก นุ่งซิ่น ผู้หญิงที่ฟ้อนประกอบจะใช้ผ้าขิดรัดหน้าอกและนุ่งซิ่นเช่นเดียวกัน
เครื่องดนตรี
ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ใช้ทำนองเซิ้งบั้งไฟ
อุปกรณ์สำหรับการแสดง
มีกระด้ง 2 ใบคว่ำประกบใส่กัน แล้วเอาไม้คานมัดเป็นรูปกากบาท
ลำดับขั้นตอนการแสดง
ผู้แสดงจะออกมาพร้อมกัน โดยให้นางด้งเดินตามผู้ชายซึ่งถือไม้คานและกระด้งออกมา มีการตอกหลักขอฝนและหลักแล้ง พร้อมกับฟ้อนประกอบการเซิ้งนางด้งเพื่อขอฝน
ฟ้อนแม่นางด้ง
พิธีดึงครกดึงสาก หรือ โยนครกโยนสาก เป็นพิธีทางไสยศาสตร์ที่กระทำเพื่อขอฝน โดยมีครกและสากที่ใช้ในครัวเป็นอุปกรณ์สำคัญ พิธีดึงครกดึงสากเป็นพิธีที่มีลักษณะง่ายๆ ไม่ซับซ้อน คือเอาครกและสากผูกด้วยเชือกอย่างละเส้นแบ่งผู้ดึงให้เท่ากัน จะเป็นหยิงหรือชายก็ตาม โดยให้มีจำนวนเท่าๆ กัน จับปลายเชือกคนละด้าน แต่งเครื่องคายขันธ์ห้า สักการะบูชาเทวดาขอน้ำฝน ป่าวสัคเคเทวดาแล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าฝนจะตกขอให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้แพ้ (แพ้ ในภาษาอีสานหมายถึง ชนะ) ถ้าฝนจะแล้งขอให้ฝ่ายชายเป็นผู้แพ้ จากนั้นเริ่มดึงครกดึงสากจนปรากฏผลว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้หรือชนะ ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ฝนฟ้าในปีนั้นจะเป็นไปตามการตั้งจิตอธิษฐาน
การฟ้อนดึงครกดึงสาก ได้แรงบันดาลใจในพิธีกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพชีวิตของคนอีสาน ที่มีอาชีพทางเกษตรกรรม ที่ต้องอาศัยฝนฟ้าจากธรรมชาติ ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด โดย อาจารย์ทองคำ ไทยกล้า และ อาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์ คิดลายทำนองเพลง อาจารย์ฉวีวรรณ ดำเนิน สร้างเครื่องแต่งกาย โดยมีอาจารย์ทองจันทร์ สังฆะมณี ปรับปรุงตกแต่งจัดฟอร์ม คัดเลือกลาย บรรจุเพลง การแต่งกาย และความกลมกลืนในรูปแบบศิลปะโดยอาจารย์จีรพล เพชรสม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2526 ท่าฟ้อนได้จากท่าธรรมชาติและผสมกับแม่ท่าของหมอลำ ซึ่งได้ลีลาเร้าใจและงดงามไปอีกแบบหนึ่ง
เครื่องแต่งกาย
ผู้แสดงชาย จะสวมเสื้อม่อฮ่อมนุ่งโสร่ง จำนวน 4 คน ผู้แสดงหญิง แต่งตัวชุดพื้นเมืองโดยใช้ขิดรัดหน้าอก นุ่งซิ่นพื้นเมือง ใช้ผ้าพันรอบเอว 1 คน แสดงเป็นจุดศูนย์กลางของเชือก และผู้แสดงหญิงที่แสดงเป็นผู้ดึงเชือกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ประมาณฝ่ายละ 5-6 คนอสวมเสื้อคอกลมแขนกระบอก นุ่งโจงกระเบนผ้ามัดหมี่ ใช้ผ้าแถบพันเอว ใช้ผ้าขาวม้าสอดใต้ระหว่างขามาผูกไว้ที่เอวทางด้านหน้าและหลัง ส่วนผมเกล้ามวยใช้ผ้าพันรอบมวย
เครื่องดนตรี
ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ทำนองผู้ไท (กาฬสินธุ์) ทำนองคอนสวัน
ลำดับขั้นตอนการแสดง
ฟ้อนดึงครกดึงสาก
พิธีเต้าแม่นางข้อง หรือ พิธีเต้าเชียงของ เป็นพิธีโบราณพิธีหนึ่งใช้ขับไล่ภูติผีปีศาจ โดยอาศัยข้องซึ่งเป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่ชนิดหนึ่งใช้สำหรับบรรจุสัตว์น้ำ เช่น ปลา กบ หรือแมลง ส่วน "เชียง" เป็นคำในภาษาอีสาน หมายถึง ผู้ที่เคยบวชเป็นสามเณรแล้วลาสิกขาบทออกมา ซึ่งภาคกลางเรียกว่า "ทิด" แต่ชาวอีสานเรียกว่า "เชียง" (ความรู้เพิ่มเติม)
พิธีทำเชียงข้อง เริ่มต้นจากการนำเอาข้องมาตกแต่งให้มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคน โดยเอากะลามะพร้าวครอบลงบนปากข้อง จัดการมัดกะลาให้ติดแน่นกับข้องใช้ไม้ 2 - 4 อันมัดข้างๆ เพื่อใช้เป็นที่จับเรียกว่า ขา ใช้ผ้าแดงผุกที่ปากข้องทำเป็นเสื้อผ้า เขียนหน้าเขียนตาและปากที่กะลามะพร้าว
การปลุกเชียงข้องต้องใช้ หมอธรรม ซึ่งหมอธรรมจะจัดเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ธูป เทียน เงิน 6 สลึง เหล้าก้อง ไข่หน่วย ซวยสี่ ซิ่นผืน แพรวา เอาเครื่องสักการะลงในข้องแล้วตั้งจิตอธิษฐานป่าวสัคเค เชิญเทวดามาสิงในข้อง โดยหมอธรรมจะเลือกคนที่มีร่างกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง สองคนทำพิธีเสกเป่าไปด้วย พร้อมกันนั้นก็ให้คนทั้งสองจับเซียงข้อง พอเซียงข้องได้รับการเสกเป่าก็จะเริ่มแสดงอาการดิ้น คือ จะแกว่งตัวไปมา โยนตัวไปซ้ายทีขวาที หรือพาคนจับลุกเดินหรือวิ่ง
ชาวบ้านต้องการทราบเรื่องอะไรก็จะซักถาม เช่น ฝนจะตกหรือไม่ หากตกขอให้สูญหรือสั่น หากไม่ตกให้สงบนิ่ง เชียงข้องจะมีอาการตามที่ผู้ถามบอก และถ้าต้องการให้เชียงข้องไล่ผีแม่แล้งให้พ้นไปจากหมู่บ้าน เชียงข้องจะนำคนที่จับไปยังสถานที่มีผีแม่แล้งอาศัย ชาวบ้านจะถืออาวุธต่างๆ เช่น มีด หอก ดาบ ตามไปเพื่อขู่ให้แม่ผีแล้งหนีไป
นอกจากนี้ เชียงข้องยังช่วยตามหาผีปอบ และขับไล่ผีปอบออกไปจากหมู่บ้าน หรือหาของหาย เชียงข้องสามารถหาของที่ถูกขโมยหรือของที่หายไปได้ ถ้าหาไม่พบก็จะบอกทิศทางหรือแนวทางที่จะตามหาของคืนมาได้ การทำพิธีเต้าเชียงข้องอาจจะใช้เวลานานเกือบตลอดวัน แต่ในบางครั้งก็ใช้เวลาเพียงชั่วโมงหรือสองชั่วโมงเท่านั้น
การรำเชียงข้องได้แรงบันดาลใจจากพิธีกรรมดังกล่าว ซึ่งการเซิ้งเชียงข้องเป็นการสะท้อนภาพของพิธีกรรม ความเชื่อต่างๆ ของชาวอีสานออกมาในรูปแบบของการแสดง ประดิษฐ์ท่าฟ้อนโดยอาจารย์ฝ่ายนาฏศิลป์พื้นเมือง วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด ในปี พ.ศ. 2524
เครื่องแต่งกาย
ผู้แสดงใช้ผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ถือเชียงข้อง แต่งกายโดยใช้ผ้าแถบรัดอก นุ่งโจงกระเบน ใช้ผ้าขาวม้าพาดสอดใต้หว่างขาไปผูกกับเอวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ใช้ผู้ชาย ๋ 1 คน แต่งชุดแสดงเป็นหมอธรรม
เครื่องดนตรี
ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ลายแมงตับเต่า
ลำดับขั้นตอนการแสดง
เซิ้งเชียงข้อง
คลิกไปอ่าน การฟ้อนศิลปาชีพ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)