คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ผูกเสี่ยว เป็นประเพณีเก่าแก่และสำคัญของชาวอีสาน โดยพ่อแม่จะนำลูกหลานที่รักกันมาผูกแขนป็นเพื่อนกัน คำว่า "เสี่ยว" ในภาษาอีสานมีความหมายว่า "เพื่อนรัก หรือ เพื่อนตาย" ประดุจมีชีวิตเดียวกัน จึงต้องมีความซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน มีความผูกพันกันด้านจิตใจอย่างจริงจังและเต็มใจ ไม่มีสิ่งใดจะมาพรากจากกันได้แม้แต่ความตาย ในพิธีผูกเสี่ยวจะมีผู้อาวุโสที่เป็นที่เคารพนับถือมาเป็นสักขีพยาน หลังผู้ทำพิธีกล่าวคำว่า "สักเค" ให้จองเกลอ (คู่ที่ผูกเสี่ยว) กล่าวคำสาบานโดยมีความหมายว่า "เราทั้งสองมาสาบานต่อกันว่าจะซื่อสัตย์ต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าใครคิดคดทรยศต่อกันขอให้คนนั้นต้องมีอันเป็นไป" จากนั้นจะดื่มน้ำสาบานต่อหน้าผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้ประกอบพิธีก็ผูกข้อมือให้แก่คู่จองเกลอก็เป็นอันเสร็จพิธี
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เป็นประเพณีเก่าแก่และเป็นภูมิปัญญาที่ทำให้สังคมของชาวอีสานเข้มแข็ง เป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเสี่ยวหรือเพื่อนรักเพื่อนตาย และเครือญาติของทั้งสองฝ่าย
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การมีเพื่อนตายที่มีความรัก ความจริงใจ ความเข้าใจต่อกันเป็นอย่างดี
ประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว การผูกเสี่ยว คือ การสัญญาที่จะเป็นเพื่อนรัก ร่วมเป็นร่วมตาย โดยมีสักขีพยาน การผูกเสี่ยวนิยมกระทำระหว่างชายกับชาย หรือหญิงกับหญิงที่วัยใกล้เคียงกัน และลักษณะนิสัยใจคอที่คล้ายคลึงกัน โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะเป็นผู้ทาบทาม ขอผูกเสี่ยวกัน เรียกว่า "แฮกเสี่ยว" เมื่อตกลงก็จะผูกเสี่ยวโดยใช้ฝ้ายมงคล ผูกข้อมือของแต่ละคนเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่คู่เสี่ยว บางแห่งก่อนจะผูกเสี่ยวจะจัดพิธีสู่ขวัญ ให้ศีล ให้พร อบรมสั่งสอนให้แก่คู่เสี่ยวฮักนับถือกัน ตลอดถึงพ่อแม่ พี่น้อง และวงศาคณาญาติของกันและกัน ให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันตลอดไป ตอนนี้เรียกว่า "ขอดเสี่ยว" หลังจากนั้นก็จะมีการเลี้ยงข้าวปลาอาหารกันตามสมควรแก่ฐานะ
เสี่ยว หมายถึง สหาย, มิตร, เพื่อน, เกลอ (friend, buddy, comrade.) คนที่มีรูปร่างหรือ นิสัยใจคอเหมือนกันหรือเกิดไล่เลี่ยกัน พ่อแม่ผูกให้เป็นมิตรกัน เรียกว่า "ผูกเสี่ยว" ซึ่งเขาทั้งสองจะผูกสมัครรักใคร่ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลจนวันตาย หรือจะเรียกว่า "เป็นเพื่อนตาย" ก็ยังได้
เสี่ยว น. สหาย มิตร เพื่อน เกลอ คนที่มีรูปร่างหรือนิสัยใจคอเหมือนกันหรือเกิดไล่เลี่ยกัน พ่อแม่ผูกให้เป็นมิตรกัน เรียก เสี่ยว อย่างว่า โขโนเจ้าพรานสวงสองเสี่ยว (กาไก). friend, buddy, comrade. "
คำว่า "บักเสี่ยว" ที่คนในภาคอื่นๆ นำมาใช้เรียกคนอีสานอย่างดูถูกดูแคลน (ในความหมาย ไม่เป็นท่า เด๋อๆ ด๋าๆ) จึงไม่ถูกต้อง เพราะ คำว่า "บัก" เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อชายที่มีอายุเสมอกัน หรือต่ำกว่ากันว่า บักสี บักสา บักมี บักมา (นายสี, นายสา, นายมี, นายมา) ถือเป็นคำพูดพื้นๆ ไม่หยาบคายแต่อย่างใด คำว่า "บักสี่ยว" จึงหมายถึงการเรียกว่า ไอ้เพื่อนเกลอ เท่านั้นเอง
ความเป็นมาของประเพณีผูกเสี่ยวไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่า การผูกเสี่ยวเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด จากหลักฐานที่ปรากฎพอจะสืบค้นหลักฐานอ้างอิงเกี่ยวกับผูกเสี่ยวมีอยู่ 2 ทาง คือ
1. ด้านวรรณคดี พบข้อความในวรรณคดีอีสานกล่าวถึงคำ "เสี่ยว" อยู่หลายแห่ง เช่น
อันว่าบิดาพระพ่อพญาภายพุ้น ฮ้อยว่าจักไปหาเจ้าสหายแพงเป็นเสี่ยว"
(พระลักพระลาม)
สั่งเล่ามาล่วงม้างพญากล้าพ่อพระองค์กุมพลเจ้าสุริวงเป็นเสี่ยว"
(สุริยวง)
2. ด้านประวัติศาสตร์ อาจารย์จารุบุตร เรืองสุวรรณ ได้กล่าวไว้ว่า
ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสำรวจประชาชนไทยที่มี วัน เดือน ปี เกิดตรงกับวันพระราชสมภพ เพื่อขึ้นบัญชีเป็น "สหชาติ" โดยเฉพาะรัชกาลที่ 7 นั้น ได้พระราชทานเหรียญมงคลเป็นที่ระลึกแก่ "สหชาติ" คือเพื่อนร่วมวันเกิดด้วย"
ในพงศาวดารล้านนาไทย ปรากฏว่า พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนเม็งราย พ่อขุนงำเมือง ได้จัดให้มีพิธีกรรมปฏิญาณตนเป็น "สหาย" หรือ "เสี่ยว" กัน โดยกรีดเลือดลงในจอกสุรา แล้วทรงดื่มเลือดของกันและกัน พร้อมกับกราบไหว้เทพาอารักษ์ให้เป็นพยาน จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญของการผูกเสี่ยว
ฟ้อนผูกเสี่ยว สาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พิธีกรรม การผูกเสี่ยวทำให้เกิดมิตรภาพต่อเนื่องกันยาวนาน และไม่ขาดสาย ในหมู่บ้านต่างๆ อาจมีวิธีผูกเสี่ยวแตกต่างกันออกไป แต่มีจุดประสงค์ตรงกันคือ "มิตรภาพที่ยั่งยืน" วิธีผูกเสี่ยวประมวลได้ 5 ลักษณะ คือ
อุปกรณ์ที่สำคัญมี พานบายศรี อาจเป็นบายศรี 3 ชั้น 5 ชั้น หรือ 7 ชั้น และมีเครื่องประกอบภายในพานอีกหลายอย่าง คือ สุรา 1 ขวด ไข่ไก่ต้ม 1 ฟอง ข้าวต้มมัด 4 ห่อ กล้วยสุก 4 ผล ข้าวเหนียวนึ่ง 1 ปั้น ใบพืชที่เป็นมงคล เช่น ใบคูน ใบเงิน ใบทอง ใบยอ ดอกรัก และที่ขาดไม่ได้คือ ฝ้ายผูกแขน
เชิญแขกมงคลมาร่วมพิธี คู่เสี่ยว นั่งล้อมพานบายศรี หมอพราหมณ์เริ่มพิธีด้วยการจุดเทียนที่พานบายศรี อัญเชิญเทวดาลงมาเป็นสักขีพยาน กล่าวถึงงานบายศรีสู่ขวัญเนื่องในโอกาสต่างๆ เช่น งานมงคลสมรส มีบุตรใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ การเลื่อนยศ การผูกเสี่ยว การบวชนาค ฯลฯ แล้วกล่าวคำอัญเชิญขวัญตามโอกาส เมื่อถึงบทเชิญขวัญ ผู้ร่วมพิธีจะตะโกนเรียกขวัญของผู้ร่วมพิธีให้มาอยู่กับเนื้อกับตัวว่า "มาเยอขวัญเยอ มาเยอขวัญเอย"
สู่ขวัญจบแล้ว หมอพราหมณ์และแขกจะนำด้ายมงคลผูกข้อมือของคู่เสี่ยว พร้อมทั้งให้ศีลให้พร ให้รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่อจากนั้นคู่เสี่ยวก็จะผูกข้อมือซึ่งกันและกัน เป็นอันเสร็จพิธี
การผูกเสี่ยว เป็นการสร้างความเป็นเพื่อน สร้างความรัก ความผูกพัน ความนับถือกันให้เกิดขึ้นในหมู่ชน ความรักความผูกพันดังกล่าวไม่จำกัดอยู่เฉพาะผู้เป็นเสี่ยวกันเท่านั้น แต่แผ่กระจายไปถึงพ่อ-แม่ ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายด้วย
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา "พิธีผูกเสี่ยว" ได้ถูกกำหนดให้มีขึ้นในงาน "เทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว แะงานกาชาด" ของจังหวัดขอนแก่น จนถึงปัจจุบัน
ประเพณีผูกเสี่ยว วัฒนธรรมอีสาน
นิทานกลอนลำ (ลำเพลิน) ตอน ผูกเสี่ยว
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)