คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ผีตาโขน เป็นการละเล่นในงานบุญประเพณีใหญ่ที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งเกี่ยวโยงกับพระธาตุศรีสองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย จัดเป็นงานบุญที่สำคัญเพราะอยู่ในฮีต 12 ตรงกับเดือน 7 แม้ว่าการจะมีการละเล่นผีตาโขนที่อื่นๆ ในอีสานบ้าง แต่ขบวนแห่ผีตาโขนจัดขึ้นที่บริเวณวัดโพนชัย และหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย นั้นเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ว่าเป็นประเพณีที่ใกล้เคียงกับการบูชาบรรพบุรุษของอาณาจักรล้านช้าง อีกที่มาหนึ่งกล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรัก จึงพากันแห่แหนแฝงตนมากับชาวบ้าน เพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" และกลายเป็น "ผีตาโขน" อย่างในปัจจุบัน
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เครื่องแต่งกายของผีตาโขนมีเอกลักษณ์ สีสันสดใส สะดุดตา มีการนำวัสดุท้องถิ่นอย่าง "หวดนึ่งข้าวเหนียว" มาตกแต่งเป็นหน้าตาผีและนำมาสวมหัว ลีลาท่าทางในการเต้นสนุกสนาน
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การระลึกถึงวิญญาณผีบรรพชน ความศักดิ์สิทธื์ที่น่าเกรงขาม และการละเล่นที่นำพาให้เกิดความสนุกสนาน
ประเพณีเล่นผีตาโขน เป็นประเพณีที่ชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ถือปฏิบัติสืบต่อกันอย่างยาวนาน ผู้ที่สวมบทบาทเป็นผีตาโขนนั้นจะต้องสวมหน้ากากที่น่าเกลียดน่ากลัว ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียว แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส ออกเดินร่วมขบวนไปกับขบวนแห่ ซึ่งจะจัดร่วมไปกับงานบุญหลวง ที่วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
คำว่า “ผีตาโขน” นั้นสันนิษฐานได้อยู่ 2 ทาง คือ หนึ่ง มีที่มาจากเรื่องราวของ พระเวสสันดรชาดก ว่า เมื่อพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเสด็จออกจากป่า กลับคืนสู่เมืองนั้น บรรดาผีป่าและสิงสาราสัตว์ทั้งหลายต่างพากันแฝงเร้นมากับชาวบ้าน เพื่อรอส่งพระเวสสันดรกลับบ้านกลับเมือง จึงเรียกกันว่า "ผีตามคน" จนกระทั่งเพี้ยนเสียงมาเป็น ผีตาโขน
อีกทางหนึ่ง คือ เชื่อว่าประเพณีผีตาโขน เป็นการละเล่นเพื่อบวงสรวงบูชาดวงวิญญาณบรรพชน เนื่องจากชาวด่านซ้ายเชื่อกันว่า บรรพชนที่เสียชีวิตไปแล้วจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์หรือความหายนะกับบ้านเมืองได้ เพื่อให้เป็นที่พอใจของดวงวิญณาณบรรพชน ชาวบ้านจึงจัดให้มีการละเล่นผีตาโขนขึ้น เป็นสีสันแห่งการเฉลิมฉลองในงานบุญหลวงและโดยเฉพาะในพิธีอันเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง ตามฮีตเดือนสี่ (บุญผะเหวด) ของชาวอีสาน ซึ่งชาวด่านซ้าย ได้รวมเอางานบุญฮีตเดือนสี่ (บุญผะเหวด) ฮีตเดือนห้า (บุญสงกรานต์) ฮีตเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และฮีตเดือนเจ็ด (บุญซำฮะ) มาจัดขึ้นพร้อมกันในช่วงเดือนเจ็ดของทุกปี ซึ่งมักจะอยู่ระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงช่วงต้นเดือนกรกฏาคมของทุกปี
รายการทีวีชุมชน ตอน ผีตามคน
ผีตาโขน ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่ และผีตาโขนเล็ก
ประเพณีบุญหลวงและการละเล่น ผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย
ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้ จะแต่งกายด้วยผ้าสีสันสดใสให้คล้ายผีและปีศาจ ใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ทำจากกาบมะพร้าวแกะสลัก และมีการตกแต่งวาดลวดลายลงบนหน้ากากเป็นรูปผีต่างๆ ให้ดูน่ากลัว มีการเจาะช่องตา จมูก ปาก และใบหู และนำเอาหวดนึ่งข้าวเหนียวมาสวมศีรษะ โดยกดด้านล่างหวดให้เป็นรอยบุ๋มเหมือนหมวก แต่งแต้มด้วยสีสันต่างๆ ให้ดูน่ากลัว หงายปากหวดขึ้นเพื่อสวมลงบนศีรษะ ส่วนชุดจะใช้เศษผ้าหลากสีมาเย็บต่อกันเป็นชุดยาวสวมคลุมทั้งตัว
นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ประกอบในการละเล่นอีก 2 ชิ้น คือ “หมากกระแหล่ง” หรือกระดึงแขวนคอวัว นำมาแขวนเอว ใช้เขย่าให้เกิดเสียงดังเวลาเดิน และ “อาวุธประจำกาย” ของผีตาโขน ซึ่งหลักๆ คือ ดาบไม้ ซึ่งไม่ได้เอาไว้รบกันแต่เอาไว้ควงหลอกล่อ และไล่จิ้มก้นสาวๆ ซึ่งก็จะร้องวิ๊ดว้ายหนีกันจ้าละหวั่น ทั้งอายทั้งขำ แต่ไม่มีใครถือสา เพราะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา
เหตุที่วิ่งหนีเพราะปลายดาบนั้นแกะสลักเป็น รูปอวัยวะเพศชาย หรือ “ปลัดขิก” แถมยังทาสีแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด การเล่นแบบนี้ไม่ถือเป็นเรื่องหยาบ หรือลามก แถมยังสร้างสีสันความสนุกสนานให้กับชาวบ้าน และผู้ที่มาร่วมงานประเพณีเป็นอย่างมาก เพราะมีความเชื่อกันว่า หากเล่นตลกและนำอวัยวะเพศชายหญิงมาเล่นมาโชว์ในพิธีแห่และงานบุญบั้งไฟ จะทำให้พญาแถนพอใจ ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์
การเล่นผีตาโขนนั้นจะเล่นกันเฉพาะในงาน ประเพณีบุญหลวง ที่จะจัดขึ้นในเดือน 8 (ตามปฏิทินไทย) นิยมจัดงาน 3 วัน ด้วยกัน
วันแรก ชาวด่านซ้ายจะเรียกวันนี้ว่า วันรวม หรือ วันโฮม ชาวบ้านจะช่วยกันสร้างหออุปคุตต์ขึ้นก่อน ในบริเวณระหว่างลำน้ำหมันกับลำน้ำศอก เริ่มพิธีตอนเช้า 04.00 - 05.00 น. คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้า ขันแปด (พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อนิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพมาก และมักเนรมิตกายอยู่ในมหาสมุทร เพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้ เกิดความสุข สวัสดี เมื่อถึงแล้วผู้อันเชิญต้องกล่าวพระคาถา และให้อีกคนลงไปในน้ำ งมก้อนหินใต้น้ำขึ้นมาถามว่า "ใช่พระอุปคุตต์หรือไม่" ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งตอบว่า "ไม่ใช่"
พอก้อนหินก้อนที่ 3 ให้ตอบว่า "ใช่ นั่นแหละ พระอุปคุตต์ที่แท้จริง" เมื่อได้พระอุปคุตต์มาแล้วก็นำใส่พาน แล้วนำขบวนกลับไปที่หอพระอุปคุตต์ ทำการทักขิณาวัฏ 3 รอบ มีการยิงปืนและจุดประทัด ซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับ หรือ อยู่ตามที่ต่างๆ ก็จะมาร่วมขบวนด้วยความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับเสียงหมากกระแหล่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้เสียงดัง
วันที่สอง จะเป็นพิธีอัญเชิญพระอุปคุตต์เข้ามาประดิษฐานภายในวัด ด้วยเชื่อกันว่า การอัญเชิญตัวแทนพระอุปคุตต์เข้ามาประดิษฐานในวัด จะช่วยป้องกันเหตุเภทภัยต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นในงานได้ ในขบวนประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ พระสงฆ์ 4 รูป นั่งบนแคร่หาม ตามด้วย เจ้าพ่อกวนนั่งอยู่บนกระบอกบั้งไฟ ท้ายขบวนเป็นเจ้าแม่นางเทียมกับบริวาร ชาวบ้านและเหล่าผีตาโขนเดินตามเสด็จไปรอบเมือง ในวันนี้จะมีพิธีจุดบั้งไฟบูชา ขบวนแห่ผีตาโขนออกมาร่ายร่ำ ประกอบเครื่องดนตรีพื้นเมืองอย่างสนุกสนานไปตลอดเส้นทางจนกระทั่งถึงวัด เป็นการแสดงการเซิ้งผีโขน
ก่อนตะวันตกดิน สำหรับคนที่เล่นเป็น ผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมด และนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนปีหน้าฟ้าใหม่แล้วค่อยทำเล่นกันใหม่
วันที่สาม จะเป็นวันประกอบพิธีทางศาสนา และอุทิศบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด ฟังเทศน์มหาชาติ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด
ผู้เขียนเมื่อไปเยือนพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน วัดโพนชัย อำเภอด่าซ้าย จังหวัดเลย
ปัจจุบัน ประเพณีเล่นผีตาโขน นอกจากจะเป็นประเพณีที่ชาวด่านซ้ายช่วยกันอนุรักษ์ไว้ เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนแล้ว ประเพณีนี้ยังช่วยกระตุ้นในเรื่องของการท่องเที่ยว นำเม็ดเงิน ชื่อเสียงมาสู่จังหวัดเลยเป็นประจำทุกปี
เที่ยวงานผีตาโขน ประเพณีที่มีหนึ่งเดียวในโลก | ตะลอนข่าวสุดสัปดาห์
ประเพณีการละเล่นผีตาโขน นี้ ในทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านของเรา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในเมืองปากลาย และเมืองไชยะบุรี เรียกการละเล่นนี้ว่า "บุญแห่ผีโขน - ບຸນແຫ່ຜີໂຂນ" จึงขอนำมาเสนอให้ทุกท่านได้เห็นความเหมือนและความต่างดังนี้
ເລາະລຸຍລາວ EP18 ຊາຍຜູ້ສືບທອດຜີໂຂນ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)