คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในแถบอุษาคเนย์นั้น มักจะมีการประดับ "ธงชัย" ร่วมด้วย เพราะความเชื่อเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานั้น ล้วนได้รับอิทธิพลจากทั้งจีนและอินเดีย พุทธศาสนาจึงได้รับการผนวกเข้ากับ ศาสนาพรามหณ์ และศาสนาผี อันเป็นความเชื่อของท้องถิ่น สังเกตได้จากประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันต่อๆ มา แม้จะใช้ภาษาเรียกด้วยชื่อที่แตกต่างกัน แต่ประเพณีก็มีความคล้ายคลึงกัน เกี่ยวโยงกับช่วงเวลาสำคัญในห้วงเดียวกันอยู่มาก เช่น ประเพณีการเทศน์มหาชาติ มีทั้งในไทย กัมพูชา ลาวและพม่า นอกจากประเพณีดังกล่าวแล้ว เครื่องประกอบพิธีกรรมก็มีความคล้ายคลึงกัน เช่น ธรรมมาส ใบลาน และธงชัย ซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและพิธีการสำคัญของผู้คนเสมอมา
คำว่า ธง-ธุง-ทุง-ตุง มาจากรากศัพท์เดียวกัน ในภาษาบาลีใช้คำว่า "ธช" ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า "ธฺวชฺ" แปลตามศัพท์ว่า “ผ้าที่สะบัดไป” หมายถึง ธงทั่วไปซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องแสดง, เครื่องสังเกต ธง จึงเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งสะบัดไหวในอากาศ เพื่อใช้เป็นเครื่องหมาย เครื่องแสดง เครื่องสังเกตให้กับมนุษย์ในเผ่าชนของโลก ทั้งในอดีตกาลมาจนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่องมาช้านาน หน้าที่ของธงในปัจจุบันแม้จะไม่ผิดแผกแตกต่างจากเดิม แต่ก็มีพัฒนาการทั้งทางด้านรูปแบบสีสันเป็นจำนวนมากหลากหลาย ตามพื้นที่ตามแต่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์หากแต่ผืนธง และ เสาธง ยังคงเป็นองค์ประกอบหลักอย่างที่เคยเป็นมาแต่ในอดีต
เมื่ออาณาจักรต่างๆ ในอุษาคเนย์รับมาใช้ จึงปรับเปลี่ยนไปตามความถนัดของการออกเสียงในท้องถิ่นของตนเอง ทางภาคกลางเรียก "ธง" ภาคอีสานจะเรียกว่า "ธุง" ภาคเหนือเรียกว่า "ตุง" ชาวไทยใหญ่เรียกว่า "ตำข่อน" ในพม่าเรียกว่า "ตะขุ่น" ส่วนทาง สปป.ลาว จะเรียกว่า "ทง" หรือ "ทุง" ซึ่งในภาษาอีสานและภาษาลาวมีความคล้ายคลึงกัน ใช้คำว่า ธุง / ทุง ออกเสียงเหมือนกัน แต่ด้วยภาษาลาวไม่มี “ธ” ทำให้ใช้ “ท” เป็นตัวอักษรแทน “ธ” ซึ่งภาษาอีสานใช้พยัญชนะแบบไทย จึงใช้ “ธ” เป็นพยัญชนะเท่านั้น ในด้านความหมายและการออกเสียงถือได้ว่า ทั้งสองคำนี้ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด
ภาคอีสานในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ธง หรือ ธุง มีบทบาทในวิถีวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก นอกจากพบในประเพณีพิธีกรรมแล้ว ยังพบธงอยู่ในวรรณกรรมต่างๆ ทั้งประเภทนิทาน วรรณกรรมตำนาน วรรณกรรมคำสอน ที่จารในเอกสารใบลานเป็นจำนวนมาก เช่น ท้าวฮุ่งขุนเจือง คัชชนาม อุรังคธาตุ ปู่สอนหลาน ธรรมดาสอนโลก เป็นต้น มักปรากฏในฉากขบวนแห่ ฉากการสู้รบ และมีบางคำศัพท์เกี่ยวกับธงได้สูญหายไป เช่น "ประคือ" อันหมายถึงธงประเภทหนึ่ง ยังมีวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่งคือ "สลองอานิสงส์" ได้กล่าวถึงที่มาของธงในพุทธศาสนา ประเภทของธง การใช้ในลักษณะต่างๆ และอานิสงส์ของการถวายธง โดยเขียนตามขนบภาษาถิ่นคือ ใช้อักษร "ท" แทน "ธ" เช่น ทุงกระดาษ, ทุงซาย, ทุงไซ, ทุงทอง, ทุงเผิ่ง, ทุงฝ้าย, ทุงเหล็ก เป็นต้น โดยคนอีสานมักจะจารทั้งตัวอักษรธรรม และไทยน้อย ด้วย ท ผสมสระ อุ และมี ง เป็นตัวสะกด ดังตัวอย่าง
ทุง น. ธง ธงเรียก ทุง ทุงทำด้วยกระดาษเรียก ทุงกระดาษ ที่ทำด้วยผ้าเรียก ทุงผ้า ที่ทอด้วยผ้าใช้ไม้ไผ่สาน เรียก ทุงช่อ ที่ทำเพื่อใช้ในเวลารบ เรียก ทุงชัย อย่างว่า มีทังทุงทองพร้อมทุงชัยทุงกระดาษ(เวส) ทุงสะอาดเหลื้อมทุงเบิกไกวลม (กา) ทุงหยาดเหลื้อมเหลือท่งเงินยาง แมนก็ยอสมคามเคียดชูชิงม้าง ลุงบ่วางโสมแก้วสองศรีเสียง่าย ฮุ่งค่ำอ้างเถิงท้าวที่เซ็ง(ฮุ่ง). Flag.
ปะคือ น. ร่ม ฉัตร อย่างว่า ถัดนั้นไทปะคือตั้งเลียนถันแสนติ่ว (กา) ม้าแอบคุ้นคอสอดสะเนียนทอง นายนักการเขาแต่งดีดาเมี้ยน ปะคือคำตั้งเหนือหัวหอนนาค นายนั่งป้องยังหุ้มเครื่องคำ (สังข์) เฟื่องเฟื่องกั้งคชฮ่มพานคำ พังเพียรทรงอินทรีย์ย่างผายผันย้อง ธรรม์ยำท้าวเนาในปะคือมาศ บ่ฮู้กี่ส่ำถ้องถนิมแกว่งจำมร (ฮุ่ง). umbrella, parasol.
ที่มา : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
แต่พบในเชิงอรรถอธิบายคำศัพท์โบราณ ในหนังสือที่ปริวรรตวรรณกรรมหลายเล่ม ได้ให้ความหมายของ "ปะคือ" ว่า "ธง" และหากเมื่อสังเกตตามลักษณะในการแกว่งไกว เคลื่อนไหวของปะคือแล้ว น่าจะมีความหมายถึง ธง มากกว่า ร่ม หรือ ฉัตร [ อ่านเพิ่มเติมจาก : เอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง ทุง ปะคือ ]
ธุง เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสานมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าสามารถใช้ป้องกันสิ่งเลวร้ายหรือสิ่งไม่ดีที่มองไม่เห็น ภูตผีวิญญาณต่างๆ ที่จะมารบกวนงานบุญ หากเห็นธุงแล้วจะถอยออกไป พร้อมกันนั้น ยังเป็นการบอกกล่าวบวงสรวงเทพยดาในพื้นที่ว่ามีการทำบุญ และมีพิธีการสำคัญให้มาช่วยปกป้องคุ้มครอง
ธุงของอีสานนิยมทอเป็นผืนยาวๆ มีรูปสัตว์หรือรูปภาพต่างๆ ตามความเชื่อบนผืนธุง เช่น จระเข้ เสือ ตะขาบ นางเงือก เทวดา และอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการดัดแปลงวัสดุธรรมชาติอื่นมาเป็นธุงด้วย เช่น ลูกปัดจากเมล็ดพืช ไม้แกะรูปทรงต่างๆ เส้นใยของพืชนำมาถักทอ เป็นต้น
ทั้งนี้ วิทยา วุฒิไธสง (2561) ได้แบ่งประเภทของธุงอีสาน 6 ประเภท ดังนี้
การถวายธุง ถือได้ว่าเป็นการสร้างบุญกุศล เมื่อถวายธุงแล้วจะได้บุญ จะได้เกาะชายผ้าธุงขึ้นสวรรค์ และอุทิศกุศลผลบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการนำข้าวต้ม เงิน มาแขวนหางธุง เพื่ออุทิศให้กับคนตาย หรือแขวนหางธุงเพื่อนำพาตนขึ้นสวรรค์ นอกจากนี้ยังเชื่อว่า การทานธุงในชาตินี้เพื่อเป็นอานิสงส์ในชาติหน้า เช่น ถ้าชาตินี้รูปร่างไม่สูง ชาติหน้าจะได้สูง และการถวายธุงทุกเดือนเมษายนในช่วงสงกรานต์ ยังเชื่อว่าจะทำให้ได้บุญ ได้ความงาม และความร่มเย็นเป็นสุข
ธุงผะเหวดอีสาน ที่เป็นงานหัตถกรรมถักทอลวดลายลงบนผืนผ้าที่ต้องอนุรักษ์และฟื้นฟูไว้ก่อนจะสูญหาย
มะยัง ภันเต อิมินา ธะชะปะฎาเกนะ
ระตะนัตตะยัง อภิปูเชมะ อะยัง
ธะชะปะฎาเกนะ ระตะนัตตะยะบูชา อัมหากัง
ทีฆะรัตตัง หิตายะ พุขายะ สังวัตตะตุฯ
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายบูชาซึ่งพระรัตนตรัย ด้วยแผ่นผ้านี้
การบูชาพระรัตนตรัยด้วยแผ่นผ้านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย
จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญฯ
ในปัจจุบัน แม้จะยังมีการทำทุง ปักทุง ในงานบุญกันอยู่แต่ก็เหลือไม่มากนัก ด้วยสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่มีเวลาในการจัดทำหรือสืบสานต่อ ขาดผู้นำและสั่งสอนสืบทอด จึงมีการริเริ่มในการจัดเป็นงานเทศกาลใหญ่ ด้วยการเอาวัฒนธรรมในอดีตนี้มาฟื้นฟูให้มีความยิ่งใหญ่ มีความสวยงาม เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เข้ากับยุคสมัยใช้สื่อโซเชียล บันทึกความสวยงามออกอวดโชว์กัน
เช่น ใน งานมาฆปูรมี ณ พระธาตุยาคู ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น เป็น “ทะเลธุงใยแมงมุม” สีสันสดใสงดงาม ผูกเป็นธงยาวกับเสาไม้ไผ่ เรียงกันเป็นทางยาวสุดสายตา มีพระธาตุยาคูตั้งเป็นฉากสง่างามอยู่เบื้องหลัง
ธุงใยแมงมุม มีทั้งประเภท 4 ด้านหรือ 6 ด้าน ทำมาจากเส้นไหมหรือเส้นด้าย ที่มีหลากหลายสีสันมัดกับไม้ไผ่ที่เหลาแล้ว แต่จะกำหนดขนาด มัดและม้วนจนเป็นวงรอบคล้ายใยแมงมุมที่โยงไปโยงมา เป็นความเชื่อถึงการเชื่อมโยงวิญญาณ บุญกุศล ไปสู่ภพหลังความตายได้
อีกทั้งธุงใยแมงมุม ยังสะท้อนความเชื่อหลายอย่างด้วยกัน ทั้งตำนาน เรื่อง พระยาคันคาก เมื่อครั้งไปปราบพระยาแถนที่ไม่ยอมให้ฝนแก่โลกมนุษย์ ทำให้พระยาคันคากต้องไปรบ คราวนั้น ได้รับความร่วมมือจากบริวารที่เป็นสัตว์มากมาย ที่ช่วยสร้างถนนเชื่อมโยงจากโลกไปสวรรค์ ดินแดนแห่งพระยาแถน สัตว์ที่ว่ามี "แมงมุม" รวมอยู่ด้วย ที่ชักใยและเชื่อมโยงให้ถนนร่วมกับสัตว์อื่นๆ สร้างจนถึงสวรรค์แดนพระยาแถนได้ และคราวนั้น พระยาคันคากก็ต่อสู้ได้ชัยชนะ
อันเป็นกุศโลบาย หมายถึง สายใยนำสู่พระธรรม เป็นบุญเป็นกุศลให้คนที่ประดิษฐ์ธุงแมงมุมถวายเป็นพุทธบูชา ได้ยึดเกาะสายใยนี้สู่ภพแห่งพระศรีอริยเมตไตรยหรือสู่นิพพาน นันเอง
อีกที่หนึ่งที่เริ่มการอนุรักษ์ธุงอีสานคือ จังหวัดนครพนม ที่ วัดพระธาตูพนมวรมหาวิหาร โดยใช้พื้นที่บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมฯ ตั้งเป็นทะเลธุงที่ชาวบ้านใจแต่ละชุมชน นำมาประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศานา เมื่อยามถูกลมพัดก็จะสะบัดไหวในอากาศ และอีกวัดคือ วัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง ที่อยู่ใกล้ๆ กัน ในงานบูชาพระธาตุพนม ช่วงวันมาฆะบูชาของทุกปี
คนอีสานนิยมทอธุงถวายเป็นเครื่องบูชาและอุทิศถวายมาช้านาน ด้วยความเชื่อที่ว่า การถวายธุงนั้น เป็นการสร้างกุศลให้แก่ตนเอง และยังได้อุทิศกุศลผลบุญให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า คนอีสานมีความเชื่อเกี่ยวกับธุงใน 2 ลักษณะ คือ
ความเชื่อเกี่ยวกับธุง เป็นความเชื่อส่วนบุคคล อาจไม่เหมือนกัน เช่น
[ อ่านความรู้เพิ่มเติม : ธุงอีสาน ]
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)