foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

jole mamuad header

“การโจลมะม็วด” เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่คนในชุมชนเขมร ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ หรือแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สาธารณรัฐกัมพูชาประชาธิปไตย ยังคงถือปฏิบัติสืบต่อกันมา แม้ว่าสังคมโลกจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมากเพียงใดก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อใดก็ตามที่เกิดปรากฏการณ์แปลกประหลาดกับคนในหมู่บ้าน หรือชุมชน และสมาชิกในชุมชนไม่สามารถหาคำตอบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีคนในหมู่บ้านเกิดอาการเจ็บป่วยแบบไร้สาเหตุ และได้พยายามรักษาในทางวิทยาศาสตร์ จนถึงที่สุดแล้วก็ไม่สามารถรักษาได้ สิ่งสุดท้ายที่คนในชุมชนจะต้องนึกถึงก็คือ เกิดจากการกระทำของครูกำเนิด อาจถูกคุณไสย อาจเกิดจากการล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือคนป่วยอาจเคยกระทำการใดๆ อันเป็นการล่วงเกิน หรือเป็นเหตุให้อำนาจเหนือธรรมชาติไม่พอใจ จะโดยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม (สำหรับบางคนอาจเจตนากระทำ เพราะไม่เชื่อหรือศรัทธา) โดยญาติจะต้องรีบเชิญคนดีมีวิชามา “ถอนคุณไสย” ให้ หรือแก้ไขโดยการขอขมาและทำให้ภูตผีเหล่านั้นพึงพอใจ

jole mamuad 01

ปกติคนในชุมชนเขมรมักจะมีความเชื่อร่วมกันว่า อะไรก็ตามที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ก็น่าจะมาจากอำนาจที่มองไม่เห็นกระทำให้มีเหตุร้าย ดังนั้นเมื่อมีเหตุให้เป็นไปแล้ว คนส่วนใหญ่ในชุมชนเขมรก็มักนึกถึง 'ร่างทรง' หรือ 'แม่มะม็วด' เพราะเชื่อว่า สามารถทำนายทายทักและหาวิธีแก้ไขให้ทุกอย่างคลี่คลายลงได้ เหตุนี้ พิธีกรรมการโจลมะม็วด จึงเป็นสื่อกลางเพียงอย่างเดียว ที่คนในชุมชนเขมรจะนำมาใช้เป็นสื่อกลาง เพื่อติดต่อสื่อสารกับอำนาจเหล่านั้น อันจะนำไปสู่หนทางแก้ไขความผิดพลาดได้ทันท่วงทีและถูกทาง เช่น ขอขมาลาโทษ เซ่นสรวงบูชา หรือการทำสิ่งต่างๆ ตามที่ร่างทรง (แม่มะม็วด) แนะนำให้ปฏิบัติ ปัจจุบันพบว่า พิธีกรรมการโจลมะม็วด ยังคงอยู่ควบคู่กับคนในชุมชนเขมร จังหวัดสุรินทร์อย่างเหนียวแน่น ไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังคงอยู่คู่ หมู่บ้านปรือเกียน ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ และชุมชนละแวกใกล้เคียง เห็นได้จากในชุมชนยังใช้พิธีกรรมนี้รักษาคนในครอบครัว และญาติที่เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุอยู่เนืองๆ แม้ว่าความเจริญทางวิทยาศาสตร์จะรุดหน้าไปมากก็ตาม ซึ่งก็ทำให้คิดได้ว่า นั่นน่าจะเป็นเพราะพิธีกรรมนี้ยังคงมีบทบาทหน้าที่บางประการต่อชุมชนนั่นเอง

ความหมายและความสำคัญ

พิธีกรรมการโจลมะม็วด (“โจล–มะ-ม๊วด” หรือ รำผีฟ้า หรือ แม่มด) หมายถึง การเข้าทรงเพื่อทำการรักษาโรค คำว่า โจล แปลว่า เข้า (ทรง) มะม็วด แปลว่า แม่มด ดังนั้น โจลมะม็วด จึงหมายถึง การเข้าทรงแม่มด โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ ทำการรักษาโรค ของสังคมชาวเขมรในแถบอีสานใต้ และเป็นการทำนายทายทัก หาสาเหตุการเจ็บป่วย ตามวิถีแบบดั้งเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาการป่วยที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ แต่ชาวบ้านมักเชื่อว่า การที่หาสาเหตุไม่ได้อาจเป็นเพราะการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น เกิดจากการกระทำของ ครูกำเนิด (กรูกำเนิต) อาจถูกคุณไสย อาจเกิดจากการล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งอาจเพราะมีวิญญาณร้ายสิงสู่ เป็นต้น ดังนั้นญาติพี่น้องจึงได้เชิญ “แม่มะม็วด” มาประกอบพิธีกรรม เพื่อหาที่มาและเป็นการขจัดปัดเป่าสิ่งเลวร้าย หรือขอขมาลาโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ป่วย (หมายรวมถึงคนในครอบครัว และญาติพี่น้อง) อาจล่วงเกินโดยไม่เจตนา ทั้งนี้จะใช้ดนตรีเป็นสื่อในการประกอบพิธี รวมทั้งเพื่อเป็นการบูชาและสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ป่วยทางหนึ่งด้วย

jole mamuad 02

คนในชุมชนเขมรนิยมรักษาโรคด้วยพิธีกรรมการโจลมะม็วด เพราะมีความเชื่อว่า จะสามารถแก้ไขเรื่องร้ายกลายเป็นเรื่องดีได้ ซึ่งการรักษาด้วยพิธีนี้มักจะใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว อาการป่วยไม่ดีขึ้น โดยมีร่างทรงซึ่งเรียกว่า แม่มะม็วด หรือ ครูมะม็วด ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาตินั้นๆ เพื่อแสวงหาวิธีการรักษาผู้ป่วย

โดยปกติแล้วคนในชุมชนเขมรซึ่งประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก จะยังคงเชื่อถือประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะเชื่อเรื่อง ฝนฟ้า จึงมีการจัดพิธีกรรมโจลมะม็วด เพื่อขอฝนในช่วงวาระการเข้าสู่ฤดูการทำนา ส่วนบางครอบครัวบางสายตระกูลเชื่อถือบรรพบุรุษมาก เชื่อว่ามนุษย์เกิดมามีครูกำเนิดติดตัว จึงได้ทำ "จวมกรู" อันเป็นสัญลักษณ์แทน ครูกำเนิด ไว้ประจำบ้าน (เพื่อบูชา) เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นในบ้านก็มักจะสันนิษฐานว่า ครูกำเนิดเป็นสาเหตุ ดังนั้นจึงจะต้องเล่นมะม็วดให้ครูกำเนิดได้สนุกสนาน (คนเขมรเชื่อว่า ครูกำเนิดชอบร่ายรำและเสียงดนตรี) ไม่มารบกวนบุคคลในครอบครัวในสายตระกูล หรือในหมู่บ้าน การโจลมะม็วด ที่นิยมกันในปัจจุบัน พบในแถบอำเภอเมืองเป็นส่วนใหญ่ และมีประปรายตามอำเภอต่างๆ ที่มีชาวสุรินทร์ที่พูดภาษาเขมรอาศัยอยู่

ระยะเวลาและการเตรียมการก่อนการประกอบพิธีกรรม

การกำหนดระยะเวลาประกอบพิธีโจลมะม็วดนั้น ปกติแล้วจะต้องเป็นไปตามหลักการของการประกอบพิธีกรรมคือ ระหว่างเดือนสาม คือ มาฆะ (ภาษาเขมร เรียกว่า แคเมี้ยกทม) เดือนสี่ คือ ผลาคุณ (ภาษาเขมร เรียกว่า แคปะกุล) และเดือนห้า (ภาษาเขมรเรียกว่า แคแจด) ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการเสี่ยงทายที่เรียกว่า การโบล (การทำนายโรคภัย) ซึ่งหมายถึงวิธีการหาสาเหตุของการเจ็บป่วยของผู้ป่วย โดย ผู้เสี่ยงทาย (เนียะโบล) จะรับพานเครื่องยกครู แล้วใช้มือขวาจับเส้นด้ายที่แขวนเต้าปูน ส่วนมือซ้ายมีข้าวสารที่ฝ่ามือรองรับใต้เต้าปูน ซึ่งผู้เสี่ยงทายจะร่ายเวทมนตร์คาถา ถ้าสาเหตุการเจ็บป่วยเกิดจากผี เต้าปูนจะแกว่งไปมา ถือเป็นคำตอบ ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านจะมี ผู้เสี่ยงทาย หรือ เนียะโบล ที่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน หากผู้เสี่ยงทายบอกว่า จะต้องประกอบพิธีกรรมโจลมะม็วดเพื่อจะได้ทราบสาเหตุการเจ็บป่วยที่แท้จริง ญาติพี่น้องของผู้ป่วยก็ต้องประกอบพิธีตามวันเวลาที่ผู้เสี่ยงทายระบุ ยกเว้นวันพระ

jole mamuad 03

ซึ่งก่อนวันได้ฤกษ์ต้องมีการเตรียมการจัดเเจงข้าวของ เชิญเเขก ญาติ คณะแม่มะม็วด ที่เคยผ่าน การโจลมะม็วด ในเครือญาติ ต้องเชิญมาให้หมดเท่าที่จะทำได้ และมีการเตรียม ปะรำพิธี หรือ ตะซาล (เป็นภาษาท้องถิ่นสุรินทร์อ่านว่า ตะ-ซาล แปลว่าโรงเรือนสำหรับประกอบพิธี) สำหรับการประกอบพิธีกรรม จากการสัมภาษณ์ทราบว่า แต่ก่อนหากจะสร้างปะรำพิธีขึ้นมา ชาวบ้านจะมาลงแรงช่วยกัน วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างก็สามารถหาได้ในท้องถิ่น การทำตะซาลนั้นได้มีการเอาเสาไม้ที่มีง่ามจำนวน 9 ต้น โดยจะมีเสาตรงกลางปะรำสำหรับผูก "ประต็วล" แล้วเอาไม้พาดเป็นขื่อบนง่าม หลังจากนั้นจะใช้ทางมะพร้าวสดผ่าเป็น 2 ซีกมุงหลังคาวางซ้อนๆ กัน แต่ปัจจุบันนี้ทางมะพร้าวเริ่มหายาก เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลาเจ้าภาพก็จะใช้วิธีกางเต็นท์แทน อย่างไรก็ตามก็ต้องอาศัยความร่วมมือ และน้ำใจของผู้ชายในหมู่บ้านมาช่วยเตรียมสถานที่ นอกจากนี้ ด้วยระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมที่ค่อนข้างยาวนาน (ไม่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมง) เจ้าภาพจึงมักจะขอแรงเพื่อนบ้าน (โดยเฉพาะผู้หญิง) มาช่วยทำบข้าวสำหรับเลี้ยงแขก ทั้งคณะแม่มะม็วด นักดนตรี ญาติพี่น้อง และชาวบ้านผู้มาร่วมในพิธี

jole mamuad 04

"ประต็วล" ซึ่งเป็นภาชนะทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นรูปกรวย ใช้สำหรับใส่เครื่องเซ่นสรวงเทพยดา ภายในประต็วลจะมีเครื่องเซ่นไหว้ ได้แก่ ไก่ต้ม 1 ตัว ขนมข้าวต้ม กรวยที่ใส่ดอกไม้ 5 อัน เทียน 2 เล่ม ส่วนด้านล่างที่อยู่ติดกับพื้นดินจะวางกระเชอใส่ข้าวเปลือก บริเวณที่นั่งทรงปูด้วยฟูกแบบครึ่งท่อน มีผ้าขาวปูทับไว้อีกชั้นหนึ่ง ข้างบนผ้าขาวมีบายศรีปากชามวางอยู่ด้านซ้ายและขวา มี "จวม" หรือ "จวมกรู" 2 คู่ เป็นกระทงบูชาครูต้นกำเนิด

องค์ประกอบของพิธีกรรม

ผู้ประกอบพิธี (ครูมะม็วด) ในจังหวัดสุรินทร์มีหลายคน ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งคือ แม่ณี (นางอรุณี นาคชาติ) ส่วนแม่มะม็วดในหมู่บ้านปรือเกียนที่เป็นที่รู้จักคือ นางเคลียง ดวงเดียว และนางสุคนธ์ ฉายกล้า แม่มะม็วด คือ ผู้ได้รับการสืบทอดมาจากครูมะม็วดคนก่อนที่ได้ล่วงลับไปแล้ว มีลักษณะคล้ายการสืบทอดวิชาเช่น กรณี นางสุคนธ์ ฉายกล้า ก่อนที่จะมีองค์เข้าสู่ร่าง ก็ไม่รู้ว่าตนเองเป็นอะไร เจ็บออดๆ แอดๆ บางครั้งก็ปวดหัว บางครั้งก็ปวดท้อง บางครั้งก็เจ็บหน้าอก บางครั้งก็เหนื่อยเพลีย ลุกไม่ไหว ไปหาหมอแผนปัจจุบันเพื่อตรวจอย่างละเอียด เอ็กซเรย์ และเจาะเลือดตรวจ ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ อาการที่หนักที่สุดคือรู้สึกว่าตนเองคล้ายเป็นประสาท บางคนก็หาว่าบ้า หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง ร้องเพลงบ้าง

jole mamuad 05

อยู่มาวันหนึ่งรู้สึกว่า ตนเองเจ็บหน้าอก และปวดท้องอย่างรุนแรง เหมือนมีคนเอามีดปลายแหลมมาแทงเข้าร่าง ไม่มีเรี่ยวแรง แม้แต่จะพูดกับใคร สามีและลูกๆ รวมทั้งชาวบ้านจึงได้พาไปส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง หลังจากหมอฉีดยาให้เข็มหนึ่งก็ให้กลับบ้าน เพราะหมอเห็นว่าร่างกายปกติดีทุกอย่าง ไม่มีโรคภัยอะไร แต่นางสุคนธ์ก็ยังรู้สึกว่า ตัวเองกำลังจะตายทุกครั้งที่กลับมาที่บ้าน เมื่อทุกคนเห็นว่าอาการหนักก็พาไปโรงพยาบาลอีกเป็นอย่างนี้หลายครั้งแต่อาการก็ไม่ดีขึ้น จนในที่สุดก็ต้องหันไปพึ่งวิธีแบบชาวบ้านคือ การให้คนทรงทำนายทายทัก เพราะเห็นว่าเป็นหนทางสุดท้าย คนทรงได้ทำนายว่า มีองค์ลงมาประทับในร่างนางสุคนธ์ 2 องค์ และจะต้องทำพิธีรับองค์ จึงจะได้หายจากอาการเจ็บปวดดังกล่าว หลังจากทำพิธีรับองค์ นางก็หายจากการเจ็บป่วยทุกอย่าง และกลายเป็นร่างทรง (แม่มะม็วด) มาจนทุกวันนี้ ส่วนพิธีการรับองค์นั้นคล้ายกับการเล่นมะม็วด การจัดรับองค์นั้นก็คือ องค์เทพทุกองค์ ปู่ย่าตายาย และมีการจัดบูชาเจ้ากรรมนายเวรด้วย

ผู้ร่วมพิธีกรรม

ในที่นี้จะมีสองส่วน ส่วนแรกคือ คนในครอบครัว ญาติพี่น้องในตระกูล และเพื่อนบ้านในชุมชน ซึ่งมักจะนับถือผีบรรพบุรุษเดียวกันเป็นผู้มาร่วมพิธีกรรม โดยอาจนำ "จวมกรู" ของตนเอง และเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น มะพร้าว ผัก พริก ปลาแห้ง หอม กระเทียม ข้าวสาร เงิน ฯลฯ มาช่วยเจ้าภาพ เพื่อใช้ประกอบอาหารหรือทำสิ่งของเพื่อเซ่นบวงสรวงผีบรรพบุรุษในการโจลมะม็วด ส่วนที่สองคือ ผู้ป่วย ผู้ป่วยนั้นจะถูกกำหนดให้นั่ง หรือนอนอยู่ในบริเวณปะรำพิธี หรืออยู่ในที่พักอาศัยตามความเหมาะสม

นักดนตรี

นักดนตรี ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก แต่ก่อนเจ้าภาพจะเชิญ หรือขอความอนุเคราะห์คนในหมู่บ้าน ที่มีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรี มาช่วยเล่นดนตรีให้ แต่ปัจจุบันนักดนตรีมักจะได้รับการว่าจ้างมาจากหมู่บ้านอื่น บางครั้งก็เป็นทีมงานมาพร้อมกับแม่มะม็วดอยู่แล้ว เจ้าภาพไม่ต้องไปทาบทาม หรือเชิญมาเอง แต่ว่าเจ้าภาพจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด เครื่องดนตรีและท่วงทำนองเพลงที่ใช้ มีดังนี้

  • เครื่องดนตรี หากเป็นชุดใหญ่ จะประกอบด้วย มีโทน 2 ใบ ตะโพน 1 ใบ ซออู้ขนาดกลาง 1 คัน ปี่อ้อ 1 เลา ปี่ชลัย 1 เลา ฉิ่ง 1 คู่ และ กรับ 1 คู่ ซึ่งต้อง ใช้ผู้เล่นดนตรี 8 คน ถ้าเล่นธรรมดาเป็นวงเล็กมีเพียง 4 คน คือ กลอง 2 คน ซออู้ 1 คน และคนตีกลองก็ทำหน้าที่ร้องด้วย จากการสัมภาษณ์ทราบเพิ่มเติมว่า สมัยก่อนเครื่องดนตรีมีเพียงแค่ กลอง ฆ้อง คนเจรียง (คนร้อง) อย่างละคนเท่านั้น แต่แถบจังหวัดสุรินทร์มีการใช้ ซอ (ตรัว) ปี่อ้อ เข้ามาประสมวง และได้นำ "แคน" ในวัฒนธรรมของชาวอีสานตอนบนมาใช้ด้วย จึงเกิดการผสมผสานด้านเครื่องดนตรี แต่บทเพลงที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นทำนองดั้งเดิมในวัฒนธรรมเขมรแถบอีสานใต้เป็นสำคัญ

jole mamuad 06

  • ทำนองและจังหวะดนตรี ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมจะเป็นท่วงทำนองมาตรฐานตามลำดับดังนี้ ทำนองและจังหวะไหว้ครู ดนตรีจะใช้ทำนอง “ซแร็ยซเติว” บรรเลง ทำนองและจังหวะไหว้ครูผู้เข้ามะม็วด เรียกว่า “โจลมะม็วด” ใช้ทำนองเพลง “เพลียง” บรรเลง ทำนองและจังหวะออกรำตามลีลาของแม่ครู มักใช้เพลง “บันแซร” บรรเลง ทำนองและจังหวะรำดาบ ใช้ทำนองเพลง “กาบเป” บรรเลง ทำองและจังหวะรำที่เป็นรูปแบบ ใช้ทำนองเพลง “เซียม มลบโดง อันซอง ซแนญนูบ” บรรเลง ทำนองและจังหวะเบ็ดเตล็ดประกอบท่ารำของมะม็วด ใช้ทำนองเพลง “ตัมเรีย ทม็วนพลุ ตระเทาะทม็วลแพล” บรรเลง และจบด้วยจังหวะ “ซาปดาน” คือ การเลิกรา และจบการประกอบพิธีกรรม

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม

ในพิธีกรรมโจลมะม็วดนั้น จากการสังเกตการณ์ 3 ครั้ง พบว่า กรณีที่ นางอรุณี นาคชาติ เป็นผู้นำหรือเจ้าพิธี จะเริ่มต้นพิธีด้วยการกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยในเบื้องต้นแล้ว จากนั้นก็จะบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ อาทิ เทพเจ้าทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พระพรหม พระศิวะ พระอิศวร พระแม่ลักษมี พระอินทร์ พระแม่อุมา แม่โพสพ นางกวัก ฯลฯ หากเทพเจ้าบางองค์เป็นองค์เดียวกับที่ผู้ป่วย และคนในครอบครัวนับถือ ก็จะมีการนำสัญลักษณ์ของเทพเหล่านั้นมาร่วมร่ายรำในพิธีด้วย ซึ่งการบูชาเช่นนี้อาจมองได้ว่า เป็นการขอพรขอขวัญกำลังใจให้การประกอบพิธีกรรมเป็นไปด้วยดี และยังเป็นการขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ได้ตามปกป้องคุ้มครอง ตัวแม่มะม็วด ผู้ป่วย คนในครอบครัว ญาติ และ ผู้เข้าร่วมในพิธีกรรมทุกคนด้วย

jole mamuad 07

ทั้งนี้หากขณะที่มีการประกอบพิธีกรรมปรากฏว่า ผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลีย ยกแขนขาไม่ขึ้น แม่มะม็วดจะทำพิธี “เฮาปลึง” หรือ เรียกขวัญ เพราะเชื่อว่าขวัญของคนป่วยคนนั้นไม่อยู่ในตัวตน จะต้องทำพิธีเรียกขวัญกลับมา ในการ เรียกขวัญ (เฮาปลึง) นั้น แม่ครูมะม็วดจะเชิญเทพมาเข้าร่าง ซึ่งมักจะอ้างอิงเทพแห่งการแพทย์และพยาบาล (พระโพธิสัตว์) ช่วงเวลาของการประทับร่างทรงจะเห็นว่า ครูมะม็วดจะร้องเพลง เชิญชวนให้ขวัญที่หายไปจากร่างผู้ป่วยกลับมา (ร้องเป็นภาษาเขมร) ซึ่งการร้องเรียกขวัญของแม่ครูมะม็วดจะใช้เวลานานมาก มีการพรรณนาถึงความทุกข์ร้อน อาการเจ็บไข้ของผู้ป่วย พรรณนาถึงสถานที่ที่ขวัญไปอยู่แล้วไม่สบาย ให้กลับมาคืนรูปเดิมเพื่อความสบายใจทุกฝ่าย เมื่อแม่ครูร้องจบลง ดนตรีที่บรรเลงหยุดลงเช่นกัน ผู้ร่วมพิธีทั้งหลายก็ร่วมกันตะโกนอย่างแซ่ซ้องเรียกหา “ขวัญ” ให้คืนร่างตามแม่ครูมะม็วด แล้วก็ผูกข้อมือให้คนป่วย ต่อจากการพรรณนาหาขวัญ เรียกขวัญมาแล้ว

อนึ่ง ขณะที่แม่ครูมะม็วดประกอบพิธีกรรมให้องค์มาประทับร่าง (องค์ที่ว่าอาจจะเป็นครูกำเนิด ผีบรรพบุรุษ สิ่งอื่นใดที่มาทำให้เกิดการเจ็บป่วย) นั้น คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และคนเฒ่าคนแก่ที่นั่งอยู่ในปะรำพิธีจะตั้งคำถามเป็นระยะๆ ว่า เหตุใดผู้ป่วยจึงเจ็บไข้และมีอาการเช่นนี้ (ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่ามีอาการอย่างไรก็จะช่วยกันพูดออกมา) และถามต่อว่าต้องทำอย่างไรจึงหายดี เช่น กรณีของผู้ป่วยรายหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่ามีผีปู่ตาประจำหมู่บ้านมาประทับร่าง ท่านก็จะบอกว่า คนป่วยเคยพูดจาลบหลู่ท่าน บางรายก็ไปปัสสาวะรดอาณาบริเวณที่ท่านพำนักโดยไม่ให้ความยำเกรง ท่านโกรธจึงบันดาลให้เจ็บป่วย เมื่อได้ยินเช่นนั้นร่างทรงบริวาร ญาติและชาวบ้านที่นั่งอยู่ในพิธีก็จะถามว่า แล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร ในบางรายผู้ที่ประทับร่างก็บอกวิธีแก้ไขโดยการต้องถวายของเซ่นให้ ณ ขณะนั้น ได้แก่ หมาก พลู ยาสูบ เหล้าขาว หรือ น้ำหวาน เป็นต้น ส่วนใหญ่ญาติๆ ผู้ป่วยมีการเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้แล้ว ก็สามารถยกถวายได้ทันที หากท่านได้สูบยา เคี้ยวหมาก ดื่มเหล้า หรือ หรือรับประทานสิ่งที่ต้องการ ก็จะตอบว่า พอใจแล้วก็จะออกจากร่างทรงไป แต่ในบางรายผู้ที่มาประทับร่างแม่ครูมะม็วดอาจต้องการที่จะร้องรำทำเพลงร่วมกับคนป่วยและญาติ

jole mamuad 08

ฝ่ายนักดนตรีก็ต้องบรรเลงเพลงที่องค์ชอบ และเล่นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งท่านพอใจ ในบางรายหากองค์ต้องการให้ญาติพี่น้องลุกรำด้วยกัน ทุกคนก็ต้องลุกรำตามที่ขอ ในขณะที่บางรายกุมารทองมาประทับร่างก็บอกว่า อยากทานขนม อยากดื่มน้ำแดง ก็ต้องถวายให้ หรือหากต้องการให้เจ้าของบ้านตั้งศาลให้ได้ประทับอยู่ในอาณาบริเวณบ้านของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยก็ต้องทำทันทีหลังเสร็จสิ้นพิธีกรรม จากการร่วมสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ผู้ร่วมในพิธีกรรมทราบว่า องค์ที่มักเข้ามาประทับร่างแม่ครูมะม็วด ได้แก่ ครูกำเนิดของผู้ป่วย ผีบรรพบุรุษ ผีปู่ตาประจำหมู่บ้าน ผีไร่ผีนา ฤาษี นางกวัก แม่โพสพ กุมารทอง หรือญาติของผู้ป่วยที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นต้น

จากการสัมภาษณ์อดีตผู้ป่วยรายหนึ่ง ได้บอกว่า ตอนที่ป่วยนั้นก็ไม่ทราบว่า ไปทำอะไรผิดมา แต่เมื่อแม่ครูมะม็วดได้รับการประทับร่างและบอกว่า ตนไปฟันจอมปลวกใหญ่ในที่นา โดยไม่ได้มีการบอกกล่าว ทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ที่จอมปลวกนั้นไม่พอใจ จึงบันดาลให้เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อได้ทราบวิธีแก้ไขว่าต้องมีการเซ่นไหว้ขอขมา หลังจากประกอบพิธีกรรมเสร็จ ญาติพี่น้องก็ได้เตรียมเครื่องเซ่นไหว้ไปขอขมาบริเวณที่เคยเป็นจอมปลวกทันที จากนั้นไม่นานผู้ป่วยก็อาการดีขึ้น และหายเป็นปกติในที่สุด จากการสัมภาษณ์ผู้ที่เคยป่วยไข้หลายราย ก็ได้รับคำตอบในทำนองเดียวกันว่า หลังประกอบพิธีแล้วอาการป่วยก็จะทุเลาขึ้น หลายรายก็หายจากอาการป่วยอย่างเหลือเชื่อ

จากนั้นก็ประกอบพิธีกรรมตามลำดับขั้นคือ แม่ครูมะม็วดจะทำหน้าที่เป็นเจ้าพิธี เป็นผู้รำดาบเรียกว่า รำกาบเป (กาบ มาจากภาษาเขมร แปลว่า ฟัน, เป แปลว่า กระทงกาบกล้วย) เพื่อขับไล่เสนียดจัญไร ไม่ให้เข้ามาขัดขวางการประกอบพิธีกรรม และหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ต้องทำหน้าที่เข้าทรงครั้งสุดท้ายก่อนเสร็จพิธีโจลมะม็วดในครั้งนั้น ซึ่งเรียกว่า การซาปดาน ทั้งนี้จะต้องมีผู้ประกอบพิธีกรรมคนอื่นๆ ที่เรียกว่า บริวาร ซึ่งสามารถเข้าทรงได้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้อาวุโส เช่น ครูมะม็วด มาเข้าทรงร่วมกันในพิธีกับครูมะม็วดด้วย ส่วนคนที่ร่วมในพิธีก็จะนำด้ายสายสิญจน์มาผูกข้อมือคนป่วย และร่วมเรียกขวัญไปพร้อมด้วยอีกครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

jole mamuad 09

พิธีกรรมการโจลมะม็วด นับว่าเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจของคนในชุมชน เพราะสามารถสร้างความอบอุ่นและปลอดภัยแก่คนในหมู่บ้านได้ ในยามที่คนเราต้องการหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดด้านร่างกาย ทางใจ และความตาย อาจกล่าวได้ว่า พิธีกรรมการโจลมะม็วด สามารถช่วยให้ชาวบ้านได้หนีจากความเจ็บปวดทางใจได้ทางหนึ่ง กล่าวคือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจในยามที่มีปัญหา และไม่สามารถหาทางออกได้ จากการสัมภาษณ์คนในชุมชนได้ทราบว่า คนในชุมชนมีความแตกต่างหลายด้านทั้งในแง่ความคิด ความเชื่อ และสิ่งของที่บูชา แต่คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านต่างมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างเดียวกัน คือ การนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยดูแลรักษาตนเองและหมู่บ้าน ดังปรากฏว่า มีการบูชาศาลปู่ตาประจำหมู่บ้านร่วมกัน ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี การเคารพต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน หรือการร่วมกันมาให้กำลังใจผู้ป่วย เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมการโจลมะม็วดในครอบครัวใด ครอบครัวหนึ่ง การกระทำเช่นนี้สามารถสะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านในชุมชนมีเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจร่วมกัน ทั้งการยอมรับนับถือในสิ่งที่มีตัวตน เช่น พระสงฆ์ และในสิ่งที่ไม่ตัวตน เช่น ผี เทวดา ศาลปู่ตา (ตาจ้ะเสราะ) ประจำหมู่บ้าน เป็นต้น

ไม่ว่าจะมีเหตุผลหรือไม่ก็ตาม แต่ถือได้ว่า พิธีกรรมการโจลมะม็วด สามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เป็นที่ยอมรับกันในชุมชนเขมรหมู่บ้านปรือเกียนได้เป็นอย่างดี และจากความเชื่อความศรัทธาต่อสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ชาวบ้านก็จะหาทางแสดงออกมา จนเกิดเป็นพิธีกรรมที่สอดคล้องกับความเชื่อของตน เช่น ประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้ประจำปี หรือประกอบพิธีกรรมการโจลมะม็วดในก่อนถึงฤดูการดำนา หรือในยามที่เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้สามารถเป็นเครื่องชี้บอกถึงความเชื่อของชาวบ้านได้ โดยการส่งผ่านมาสู่พิธีกรรมการขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ตนอาจจะทำการลบหลู่ดูหมิ่น จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รวมไปถึงการได้มีโอกาสตอบแทนโดยการเซ่นไหว้ รวมทั้งการขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นช่วยประทานพรให้ตนเองและชาวบานอยเย็นเป็นสุข พิธีกรรมการโจลมะม็วดจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน อย่างน้อยการที่แม่ครูมะม็วด (เจ้าพิธี) และแม่มะม็วดคนอื่นๆ รับองค์มาประทับในร่าง ชาวบ้านก็รู้สึกอุ่นใจว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาคอยปกป้องคุ้มครอง ส่วนผู้ป่วยที่ป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุรวมไปถึงญาติก็รู้สึกอุ่นใจที่พิธีกรรมดังกล่าว สามารถช่วยไขข้อข้องใจในอาการเจ็บป่วยได้ ทำให้ญาติและผู้ป่วยมีกำลังใจว่าอาการเจ็บป่วยจะดีขึ้น จึงนับว่า พิธีกรรมการโจลมะม็วด ได้แสดงบทบาทหน้าที่ในฐานะที่เป็นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

บทบาทหน้าที่ เครื่องมือในการรวมความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน

การประกอบพิธีกรรมการโจลมะม็วด เพื่อรักษาคนป่วยแต่ละครั้งนั้น ลูก หลานที่ทำงานอยู่ในที่ห่างไกล จะต้องเดินทางกลับมาร่วมในพิธีด้วยเสมอ เพื่อเป็นการให้กำลังใจคนป่วย และมาร่วมรับฟังสาเหตุเพื่อจะได้แก้ไขร่วมกัน จากการสัมภาษณ์คนในครอบครัวของผู้ป่วยรายหนึ่ง ทำให้ทราบความรู้สึกของคนที่เป็นพ่อแม่ว่า “มีความสุขที่ได้เห็นลูกหลานกลับมาร่วมงานกันอย่างพร้อมหน้า มาให้กำลังใจพ่อ และมาปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากตนเอง ตลอดจนคนในครอบครัวด้วย เพราะมีโอกาสไม่มากนักที่จะได้พบลูกหลานของตนเอง นอกจากวันหยุดสำคัญประจำปี”

ส่วนลูกหลานก็กล่าวว่า “จำเป็นต้องมา เพราะหากไม่มา อาจทำให้ผีปู่ย่าตายายไม่พอใจได้ ที่สำญคืออยากให้พ่อหายจากอาการเจ็บป่วยที่เป็นมานานแล้ว เมื่อแพทย์สมัยใหม่รักษาไม่หาย ก็คงต้องพึ่งพาวิธีการแบบโบราณ ซึ่งปฏิบัติกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ แม้ใครไม่เชื่อก็ไม่ควรลบหลู่ ไม่หายก็ไม่เป็นไรถือว่าได้ลองแล้ว หากหายขึ้นมาก็นับเป็นความโชคดีที่สุด”

โจลมะม็วด (โจน-มะ-ม็วด) พิธีกรรมความเชื่อรักษาโรค

พิธีกรรมการโจลมะม็วด นอกจากจะทำให้ลูกหลานได้กลับมาานอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เพื่อสร้างกำลังใจแก่ผู้ป่วยแล้ว ความร่วมมือร่วมใจกันของชาวบ้านหรือผู้ที่มาร่วมงาน ก็ทำให้เห็นถึงพลังความสามัคคี ความห่วงใยในสุขทุกข์ของคนในชุมชนเดียวกันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การที่ชาวบ้านต่างก็นำปัจจัยมาช่วยอาจเป็นเงินทอง ข้าวสาร อาหารแห้ง พืช ผัก ผลไม้ ติดมือมาให้บ้านเจ้าภาพ ก็แสดงให้เห็นถึงน้ำใจอันงดงามของชาวบ้าน ซึ่งข้าวสารที่ชาวบ้านนำมานั้นส่วนใหญ่จะใช้ในการประกอบพิธี ส่วนหนึ่งก็นำใช้ในการขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากตัวผู้ป่วย และผู้ที่ร่วมอยู่ในพิธีกรรมก็จะร่วมทำไปพร้อมกันด้วย (เรียกว่า การปจีร)

นอกจากนี้คนอื่นๆ ยังได้กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ต้องการมาให้กำลังใจผู้ป่วย ในขณะเดียวกันก็อยากให้แม่มะม็วดขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปจากตน และคนในครอบครัวด้วยจึงเต็มใจมาร่วมงาน ซึ่งแต่ละคนก็ตั้งใจที่จะร่วมพิธีกรรมตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ก่อนทราบว่าจะใช้เวลาประกอบพิธีกรรมตั้งแต่บ่ายจนกระทั่งรุ่งเช้าของอีกวัน (ไม่นับช่วงเตรียมงาน) แต่ปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 7-8 ชั่วโมง โดยเริ่มจาก 6 โมงเย็น หรือ 1 ทุ่ม และเสร็จสิ้นประมาณ 2 หรือ 3 นาฬิกาของอีกวัน เท่าที่สังเกตทุกคนที่ร่วมงานไม่มีผู้ใดแสดงทีท่าว่าเบื่อหน่าย หรือรีบกลับไปนอน ยิ่งดึกยิ่งพบว่าหลายคนลุกขึ้นมาร่วมรำไปพร้อมกับแม่มะม็วดอย่างสนุกสนาน ซึ่งการแสดงออกของชาวบ้านทำให้เห็นว่า พิธีกรรมการโจลมะม็วด ได้แสดงบทบาทในด้านการเป็นเครื่องมือในการรวมตัวกันของลูกหลาน และเป็นแหล่งรวมความสามัคคีของคนในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี เหนือสิ่งอื่นใด การปฏิบัติและการเสียสละของชาวบ้านสามารถสะท้อนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของกลุ่มชน และเป็นเสมือนแหล่งรวมคนให้มีกิจกรรมร่วมกันอย่างชัดเจน

ข้อมูล : อาจารย์สารภี ขาวดี
อาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาไทยและการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : เรือมม็วด (การรำบวงสรวงบูชา) | ความเชื่อเรื่องผีในชุมชนอีสาน

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)