foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

hae nang maew

"ฝน" เป็นชีวาของทุกชีวิตในโลก ทุกชีวิตในโลกถ้าปราศจากความชุ่มฉ่ำของสายฝนย่อมเหี่ยวเฉา ถ้าขาดฝนตกมีแต่ความแห้งแล้งพืชพันธุ์ธัญญาหารก็เหี่ยวแห้ง เมื่อแห้งแล้วก็ตาย เหล่าสรรพสัตว์ก็ขาดแคลนอาหาร ล้มตาย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเรียกได้ว่า "น้ำฝนเป็นชีวาของทุกชีวิตในโลก"

สาเหตุที่ฝนไม่ตก ท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า "น้ำฝนนั้นเป็นน้ำของเทวดา" ดังมีศัพท์บาลีว่า เทโว ซึ่งแปลว่า น้ำฝน เป็นเอกลักษณ์ของความดี ความบริสุทธิ์ สิ่งแวดล้อมเป็นพิษมากๆ ควันและละอองเขม่าน้ำมัน ห่อหุ้มโลกทำให้เป็นภัยแก่มนุษย์ ผู้ที่จะล้างอากาศได้ทำให้ละอองพิษพวกนั้นตกลงดิน ทำให้อากาศสะอาดคือ "เทโว" หรือ "ฝน" นั่นเอง ดังจะเห็นได้จากเมื่อฝนหยุดตกใหม่ๆ อากาศจะสดชื่น ระงมไปด้วยเสียงของกบ เขียด สาเหตุที่ฝนไม่ตกด้วยเหตุ

    1. เพราะความแปรปรวนทางอากาศ
    2. มนุษย์หันหลังให้ศีลธรรม
    3. ผู้ปกครองประเทศไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม

ดังนั้น ถ้ามนุษย์อยากให้เทวะคือน้ำฝนที่ดีไม่ใช่ดีเปรสชั่น มาเยี่ยมตามกาลเวลา มนุษย์ก็ควรตั้งอยู่ในศีลในธรรม เพราะคนที่มีศีลมีธรรมท่านจึงเรียกว่า "เทวะ" ทั้งๆ ที่เป็นคน เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ เทวะคือฝน กับเทวะคือคนผู้มีคุณธรรม ย่อมจะมาหากันเพราะเป็นเล่ากอแห่งเทวะด้วยกัน เหมือนพระย่อมไปพักกับพระ เป็นต้น

แต่ถ้าเกิดอาเภทผิดแผกจากฤดูกาล ฝนไม่ตกตรงตามเวลา ท่านก็ให้ทำพิธีขอฝน ซึ่งจะได้หรือไม่ได้ก็ต้องลองเสี่ยงดู การขอฝนตามประเพณีท่านให้ทำดังนี้

bulletแห่นางแมว

ให้คัดเลือกแมวลักษณะดี สายพันธุ์สีสวาด เพศเมีย 1-3 ตัว ใส่กระทอ กระบุง หรือตะกร้า ออกแห่ไปรอบๆ หมู่บ้าน ฝนก็จะตกลงมาภายใน 3 วัน 7 วัน สาเหตุที่ต้องเลือกแมวสีสวาดก็เพราะคนโบราณมองว่า ขนสีเทา คล้ายกับสีเมฆฝน บางแห่งอาจจะใช้แมวดำแทน มีคนหาม ตั้งคายขัน 5 หาม ประกอบพิธีป่าวสัคเค เทวา เชิญเทวดาลงมาบอกกล่าวขอน้ำฝนกับเทวดาว่า จะขอฝนด้วยการใช้พิธีแห่นางแมว แล้วสั่งให้พวกหามแมวแห่เซิ้งไปตามถนนในหมู่บ้าน มีคนทั้งชาย หญิง และเด็กเดินถือดอกไม้ตามไปถึงเรือนหลังไหน คนในเรือนหลังนั้นก็เอาน้ำสาดมาใส่ทั้งแมวและคน เล่นเอาทั้งแมวทั้งคนหนาวไปตามๆ กัน ในบางแห่งจะมีการผูกเอวคนหัวล้าน 2 คน ทำฮึดฮัดจะชนกันตามกระบวนไปด้วย บางจุดก็หยุดให้หัวล้านชนกัน สลับคำเซิ้งชาวก็บ้านจะเอาน้ำรดแสดงไปเรื่อยๆ ดังนี้

hae nang maew2

คำเซิ้งนางแมว เซิ้งอันนี้เผิ่นว่า เซิ้งนางแมว ย่างเป็นแถวกะนางแมวออกก่อน ไปตามบ่อนกะตามซอกตามซอย ไปบ่ถอยกะขอฝนขอฟ้า เฮาคอยถ้าให้ฝนเทลงมา ตามประสาแมวโพงแมวเป้า แมวดำกินปลาย่าง แมวด่างกินปลาแห้ง ฝนฟ้าแล้ง กะขอฟ้าขอฝน ขอน้ำมนต์กะรดหัวแมวบ้าง (ชาวบ้านก็สาดน้ำลงใส่)

เทลงมากะฝนเทลงมา ท่วมไฮ่ท่วมนา ท่วมฮูปลาไหล
ท่วมไม้โสงเสง หัวล้านชนกันฝนเทลงมา (ซ้ำ) "

จะเซิ้งอย่างนี้เริ่มจาก 3 โมงเย็นจนถึง 2 ทุ่ม หรือรอบหมู่บ้านแล้วหยุด พอหยุดไม่นานฝนก็จะตก มีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่าตามมา (ความเชื่อโบราณนะครับ)

ฟ้อนแห่นางแมว โดย นาฏยศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

hae nang maew
สมัยก่อนใช้แมวจริง สมัยนี้กลัว พรบ.ทารุณกรรมสัตว์ ใช้โดราเอมอนแทน ฝนเลยบ่ค่อยตก

ปรัชญากับความเชื่อจากแมว : รายการ Spirit of Asia ทางช่อง ThaiPBS
สารคดีเกี่ยวกับแมว การแห่นางแมว กับเซิ้งแม่นางด้ง

bulletเต้าแม่นางด้ง

ในบางหมู่บ้าน จะมีการเซิ้งขอฝนแตกต่างออกไป เต้าแม่นางด้ง เป็นประเพณีที่นำเอาอุปกรณ์บางอย่างจากบ้านแม่หม้าย (ผัวตาย) หรือแม่ฮ้าง (ผัวหย่า) มาดังนี้

  1. กระด้ง 2 ใบ ไม้คาน 4 อัน (ผูกมัดไขว้ตีนกาบนปากกระด้ง แล้วเอาเชือกมัดหัวไม้คานติดกับกระด้งทั้ง 4 ด้านไว้ให้แน่น)
  2. แว่น (กระจกเงา) หวี แป้ง ปลอกมือ ข้าวปั้น 1 ปั้น และขัน 5 (ดอกไม้ 5 คู่ เทียน 5 คู่)
  3. เหล้าก้อง ไข่หน่วย ทั้งหมดจากข้อ 2 ถึง 3 แต่งใส่กระด้งใบที่หนึ่งเอาไว้ข้างสนาม
  4. เอาหลักมา 2 หลัก ฝังไว้ตรงข้ามกัน ห่างกันประมาณ 5 หรือ 10 วา และหลัก 2 หลักนี้ ไม่จำเป็นต้องเอามาจากบ้านแม่ฮ้าง เอากระด้งใบที่สอง ที่จะใช้ประกอบพิธีนี้ วางไว้ตรงกลางระหว่างหลักทั้งสอง หลักที่หนึ่งเรียกว่า หลักแล้ง หลักที่สองเรียกว่า หลักฝน

mae nang dong

สถานที่ดำเนินการมักจะทำภายในวัด หรือบริเวณศาลากลางบ้าน เวลาประมาณ 2 ทุ่ม พิธีกรก็จะมาประกอบพิธี โดยให้ผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ 2 คน จับที่หัวไม้คาน ที่ปากกระด้งคนละด้าน แล้วนำว่า เซิ้งแม่นางด้ง ทุกคนในที่นั้นก็จะว่าตาม

พอจบแล้ว ถ้ากระด้งไม่กระดุกกระดิกเลย ถือว่าแม่นางด้งไม่ชอบคนจับ ต้องเปลี่ยนคู่ใหม่ แล้วว่าคำเซิ้งจนกว่ากระด้งจะกระดุกกระดิก แล้วนำคนจับลอยไปตีหลักไหน ถ้าตีหลักแล้งฝนก็แล้ง ถ้าตีหลักฝนฝนก็จะไม่แล้ง พิธีนางด้งนี้เป็นการขอฝนในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือจะใช้เสี่ยงทายหาคนหาย ของหายก็แม่นมาก เหมือนกันกับนางข้องนั่นเอง

คำเซิ้งแม่นางด้ง

เต้าแม่นางด้ง เฮ็ดโล้งโค้งเสมอดังกงเกวียน มาเวียนนี้ได้สองสามฮอบ มาคอบนี้ได้สองสามที ตักตุลีแมงหวี่ตุลา พาสาวหลงเข้าดงกำแมด มาสู่แดดหรือมาสู่ฝน มากำฮนนำแม่เขียดใต้ เฮ็ดซักไซ้นั่นแม่นเขียดเหลือง มีแต่เสียงนั่นแม่นเขียดจ่อง ลอยอ่องล่องนั่นแม่นเขียดจานา หลังซาๆ นั่นแม่นเขียดคันคาก ขอเชิญคกไม้บากมาสูนด้งเยอ สากไม้แดงมาสูนด้งเยอ เชิญทั้งแองข้าวหม่าให้มาสูนด้งเยอ

ด้งน้อยๆ ฮ่อนข้าวกินขาว อีสาวๆ กะให้มานั่งอ้อม เขาควายพร้อมเอามาเฮ็ดเป็นหวี เหล้าไหดีเอามาต้อนฮับไถ่ เหล่าไหใหญ่เอามาต้อนฮับแถน แขนลงมาแต่เทิงวีด้ง เต้นเยอด้งเปอเคอด้ง มาปิ่นวัดเดียวนี้ ปิ่นเวียนเดียวนี้ ฝนบ่ตกข้าวไฮ่ตายคา ฝนบ่มาข้าวนาตายแล้ง ฝูงหมู่แฮ้งลงซากลงโคลง ดินเป็นผงของตายเหมิดแล้ว น้ำเต้าแก้วไหลหลั่งลงมา มานำกูให้เหมิดให้เสี้ยง สาวไทเวียงเต้าแม่นางด้ง เต้นเยอด้งเปอเคอเยอด้ง เต้นเยอด้งเปอเคอเยอด้ง มาสูมาให้สูมาเฮวเฮ่ง มาเป่งน้ำเดือนเก้าเข้านา เทลงมากะฝนเทลงมา

การเข้าทรงนางด้ง เผยแพร่โดย อาจารย์สันติ อภัยราช

bulletสวดคาถาปลาค่อขอฝน

มีตำนานกล่าวไว้ว่า ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นปลาค่อ (ปลาช่อน) แต่พระองค์ไม่เคยกินปลาเล็ก สัตว์เล็ก เคย กินตะไคร้น้ำและสาหร่ายอย่างอื่นแทน ครั้นฝนแล้ง น้ำแห้งปลาอื่นกำลังจะตาย พระโพธิสัตว์จึงโผล่ขึ้นมาจากเปลือกตม แหงนมองดูฟ้า แล้วตั้งสัจจะวาจาว่า "ดูกร เมฆฝน แม้ข้าพเจ้าเป็นปลา ข้าพเจ้าก็ไม่ได้กินปลาและบังเบียดปลา บัดนี้เพื่อนร่วมชาติและตัวข้าพเจ้ากำลังทุกข์หนัก และกำลังจะตายเพราะขาดน้ำ ด้วยอานุภาพแห่งศีลบารมี และสัจจบารมีขอฝนจงตกลงมาให้ชีวิตชีวาแก่เราด้วยเถิด" ครั้นจบสัจจะวาจาของโพธิสัตว์ ฝนก็ตกลงมาอย่างงดงาม ไม่มีฟ้าร้อง ฟ้าแลบ และฟ้าผ่าเลย

การสวดคาถาปลาค่อขอฝน ของ ชาวบ้านที่จังหวัดบุรีรัมย์

วิธีทำ ให้แต่งการมงคลเหมือนการสวดมงคลทั่วไป นิมนต์ภิกษุจำนวนคี่ คือ 5 รูป 7 รูปหรือ 9 รูป มาสวดคาถาขอฝน ให้สวด 7 วัน เป็นคาถาขอฝน วันละ 3 รอบก็พอ เพื่อให้ได้ผผลให้ญาติโยมที่มาร่วมพิธีรับศีลทุกครั้ง เฉพาะคนแก่ให้จำศีลเข้าพิธีทั้ง 7 วันจนจบพิธี สำหรับพระสวดวันแรกให้ตั้งมงคลก่อน แล้วสวดคาถาขอฝนสุดท้าย อีก 6 วันหลังให้สวด นะโม ฯลฯ และพุทธัง สรณัง คัชฉามิ ฯลฯ ทุติยัมปิ ตะติยัมปิ ฯลฯ แล้วสวดคาถาขอฝนเลยวันละ 3จบ แล้วฝนจะตกดี ตกงามไม่มีฟ้าผ่าน่าสพรึงกลัวแล

มัจฉราชจริยาคาถา คาถาปลาช่อน

(มัจฉชาดก ที่มาของคาถาปลาช่อนขอฝน)

ปุนะ ปะรัง ยะทา โหมิ                     มัจฉะราชา มะหาสะเร
อุณเห สุริยะสันตา                            เปสะเร อุทะกัง ขียะถะ
ตะโต กากา จะ คิชฌา จะ                 กังกากุลาละเสนะกัง
ภักขายันติ ทิวารัตติง                       มัชเฌ อุปะนิสีทิยะ
เอวัง จินเตสะหัง ตัตถะ                   สะหะ ญาติภิ ปิฏฐิโต
เกนะ นุ โข อุปาเยนะ                       ญาติ ทุกขา ปะโมจะยัง
วิจินตะยิตะวา ธัมมัฏฐัง                   สัจจัง อัททะสะ วัสสะยัง
สะเจ ฐัตะวา ปะโมเจสิง                  ญาตีนัง ตัง อะติกขะยะ
อะนุสสะริตะวา สะตัง                    ธัมมัง ปะระมัตถัง วิจินตะยัง
อะกาสิง สัจจะกิริยัง ยัง                   โลเก ธุวะสัสสะตัง
ยะโต สะรามิ อัตตานัง                    ยะโต ปัตโตสะมิ วิญญุตัง
นาภิชานามิ สัญจิจจะ                      เอกะปาณิมหิ หิงสิตา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                    ปะชุนโน อะภิวัสสะตุ
อะภิตถะนายัง ปะชุนนะ                 นิธิง กากัสสะ นาสะยะ
กากัง โสกายะ รันเชหิ                     มัจเฉ โสกา ปะโมจะยะ
สะหะ กะเต สัจจะวะเร                   ปะชุนโน อะภิวัสสิยะ
ถลัง นินนัญจะ ปูเรนโต                  ขะเณนะ อะภิวัสสิยะ
เอวะรูปัง สัจจะกิริยัง                       กัตะวา วิริยะมุตตะมัง
วัสสาเปสิง มะหาเมฆัง                    สัจจะเตชะพะลัสสิโต
สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ                    เอสา เม สัจจะปาระมีติ ฯ
     มัจฉะราชา จะริยา นิฏฐิตาฯ

คำแปล

ในกาลเมื่อเราเป็นพระยาปลาอยู่ในสระใหญ่ น้ำในสระแห้งขอดเพราะแสงพระอาทิตย์ในฤดูร้อน ที่นั้นกาแร้งนกกระสา นกตะกรุมและเหยี่ยว มาคอยจับปลากินทั้งกลางวันกลางคืน ในกาลนั้น เราคิดอย่างนี้ว่า เรากับหมู่ญาติถูกบีบคั้น จะพึงเปลื้องหมู่ญาติให้พ้นจากทุกข์ได้ด้วยอุบายอะไรหนอ เราคิดแล้วได้เห็นความสัตย์อันเป็นอรรถเป็นธรรมว่า เป็นที่พึ่งของหมู่ญาติได้ เราตั้งอยู่ในความสัตย์แล้ว จะเปลื้องความพินาศใหญ่ของหมู่ญาตินั้นได้ เรานึกถึงธรรมของสัตบุรุษ คิดถึงการไม่เบียดเบียนสัตว์ อันตั้งอยู่ในเที่ยงแท้ในโลก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งได้ แล้วได้กระทำสัจกิริยาว่า ตั้งแต่เราระลึกตนได้ ตั้งแต่เรารู้ความมาจนถึงบัดนี้ เราไม่รู้สึกว่าแกล้งเบียดเบียนสัตว์แม้ตัวหนึ่งให้ได้รับความลำบากเลย ด้วยสัจวาจานี้ ขอเมฆจงยังฝนให้ตกห่าใหญ่แน่ะเมฆ ท่านจงเปล่งสายฟ้าคำรามให้ฝนตกจงทำขุมทรัพย์ของกาให้พินาศไป ท่านจงยังกาให้เดือดร้อนด้วยความโศก จงปลดเปลื้องฝูงปลาจากความโศก พร้อมกับเมื่อเราทำสัจกิริยา เมฆส่งเสียงสนั่นครั่นครื้น ยังฝนให้ตกครู่เดียว ก็เต็มเปี่ยมทั้งที่ดอนและที่ลุ่มครั้นเราทำความเพียรอย่างสูงสุด อันเป็นความสัตย์อย่างประเสริฐเห็นปานนี้แล้วอาศัยกำลังอานุภาพความสัตย์ จึงยังฝนให้ตกห่าใหญ่ผู้เสมอด้วยความสัตย์ของเราไม่มีนี้เป็นสัจบารมีของเราฉะนี้แล.

bulletเทศน์พญาคันคาก (คางคก)

ตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาคันคาก เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองชมภู พระบิดามีพระนามว่า พระเจ้าเอกราช พระมารดาคือ สีดา เมื่อทรงเจริญวัยพระราชบิดาทรงมอบสมบัติให้ ต่อมาได้เกิดฝนแล้งผู้คนสัตว์ได้อดอยากล้มตายกันมาก พญาคันคากจึงสั่งให้พญานาคเอาหินก่อขึ้นไปเมืองแถน สั่งให้ปลวกเอาดินฉาบทาไม่ให้หินพัง ทำเป็นทางไปรบแถน ทำอยู่ 3 เดือนจึงเสร็จ จึงได้เกณฑ์พลอากาศ มี หงส์ แตน ต่อ ผึ้ง ทางน้ำคือ ปลา ทางบก คือ ช้าง ม้า รบอยู่ 2 ปี พญาคันคากจึงชนะ แล้วมีบัญชาให้แถนส่งฝนให้ตามฤดูกาล

วิธีทำ ใหขุดสระมีขนาดพอสมควร เอาน้ำมาใส่ เอาจอก แหน มาใส่ เอาปลาและเต่มาปล่อย เอาบัวมาปลูก ตามขอบสระให้ทำรูปช้าง ม้า วัว ควาย ผึ้ง ต่อ แตน กบ เขียด อึ่งอ่าง แล้วจัดเครื่องฮ้อย หมากฮ้อยจอกหนึ่ง เมี่ยงฮ้อยจอกหนึ่ง ข้าวตอกฮ้อยจอกหนึ่ง (หมายถึงอย่างละ 100 อันรวมเข้าใส่ในจอก ขนาดใหญ่พอบรรจุได้ เช่น ข้าวตอกฮ้อยหนึ่งจอก หมายความว่า ข้าวตอกแตกบ้านเราร้อยดอก (เม็ด) ใส่ไว้ 1 จอก เป็นต้น)

น้ำส้มป่อยหนึ่งขัน ขัน 5 ขัน 8 พระสงฆ์ 5-7-9 รูป ตามแต่จะนิมนต์ แต่อยู่ในจำนวนนี้ ห้ามคู่ ชาวบ้านโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่นุ่งขาวห่มขาว บวชชีพราหมณ์ฟังพระสวดและเทศน์ พญาคันคากอยู่ 3 วัน 3 คืน ทุกคนตั้งจิตอธิษฐานขอให้ฝนตก ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล และตกอย่างงาม คือเป็นสัมมาธรัง ปะเวสสันโต ซึ่งแปลว่า หลั่งธารน้ำ ฝนลงมางามๆ ไม่มีฟ้าผ่าน่าสพรึงกลัวแล

paya kankak

ตำนาน "พญาคันคาก"

พระยาหลวงเอกราชและนางสีดา ปกครองเมืองอินทปัตถ์มานาน ประชาชนมีความสุขสมบูรณ์กันถ้วนหน้า พระโพธิสัตว์ได้ถือกำเนิดในครรภ์นางสีดาในร่างของ คันคาก (คางคก)

ในคืนหนึ่งนางสีดาฝันว่า ดวงอาทิตย์ได้ตกลงมาจากฟากฟ้า แล้วลอยเข้ามาในปากของนาง เมื่อนางกลืนลงท้อง เนื้อตัวของนางได้กลายเป็นสีเหลืองสดใสประดุจดังทองคำ ในความฝันยังแสดงให้เห็นว่า "นางมีอิทธิฤทธิ์สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้" นางได้เหาะไปยังเขาพระสุเมรุแล้ว จึงเดินทางกลับมายังปราสาทราชวังในเมืองอินทปัตถ์ดังเดิม ครั้นสะดุ้งตื่นนางได้เล่าความฝันถวายแก่ พระยาหลวงเอกราช พระสวามี พระยาหลวงล่วงรู้ในนิมิตความฝันว่าพระองค์จะมีโอรสที่จะสืบราชสมบัติต่อไป

เมื่อครบสิบสองเดือนนางสีดาได้ให้กำเนิดกุมารเป็น ตัวคันคาก (คางคก) มีรูปร่างเหลืองอร่ามดั่งทองคำ พระยาหลวงเอกราชดีใจมาก ได้สั่งให้จัดหาอู่ทองคำมาให้นอน และจัดหาแม่นมมาดูแลอย่างใกล้ชิด ต่อมาท้าวคันคากเจริญวัยเป็นหนุ่ม อายุได้ 20 ปี คิดอยากจะมีคู่ครอง พระบิดาได้พยายามหาผู้ที่เหมาะสมมาให้แต่ก็หาไม่ได้ ด้วยมีเหตุขัดข้องที่ท้าวคันคากมีรูปกายที่อัปลักษณ์ ผิดแผกไปจากมนุษย์คนอื่นๆ พระยาหลวงเอกราชรู้สึกสงสารโอรสเป็นอันมากจึงปลอบใจว่า "ขอให้สร้างสมบุญบารมีต่อไปอีก จนกว่าจะกลายร่างเป็นมนุษย์เมื่อใด จะยกทรัพย์สมบัติให้ปกครองบ้านเมืองสืบต่อไป" ท้าวคันคากจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า "หากตนมีบุญบารมี ขอให้ได้หญิงงามมาเป็นคู่ครอง"

ดังนั้น พระอินทร์จึงได้ลงมาเนรมิตปราสาทแก้วไว้กลางเมือง ปราสาทนี้มีขนาดใหญ่โตมาก มีเสาเป็นหมื่นๆ ต้น มีห้องใหญ่น้อยจำนวนหนึ่งพันห้อง พร้อมทั้งเครื่องประดับตกแต่ง ปราสาทหลังนี้เต็มไปด้วยอัญมณีที่มีค่ายิ่ง นอกจากนี้ พระอินทร์ได้ให้นางแก้วมาเป็นชายาท้าวคันคาก และได้เนรมิตกายท้าวคันคากให้มีรูปกายงดงามอีกด้วย เสร็จแล้วพระอินทร์จึงเสด็จกลับสู่สวรรค์อันเป็นที่ประทับของพระองค์

ท้าวคันคากและนางแก้ว อาศัยอยู่ในปราสาทที่พระอินทร์เนรมิตงามดังไพชยนต์ปราสาทแห่งนี้ ต่อมาเมื่อพระยาหลวงเอกราชและนางสีดาทราบข่าว ได้เสด็จมาเยี่ยมยังปราสาท พร้อมทั้งได้จัดทำพิธีอภิเษกให้ ท้าวคันคากเป็นเจ้าเมืองปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์สืบไป นับตั้งแต่พญาคันคากขึ้นครองเมือง บรรดาพญาทั้งหลาย ตลอดจนบรรดาสัตว์เดรัจฉานได้เข้ามาขอเป็นบริวารอีกมากมาย

พระยาแถน ทราบว่า พญาคันคากได้ขึ้นครองเมืองจึงคิดอิจฉาและไม่พอใจ จึงคิดหาทางกลั่นแกล้ง แต่ก็รู้ดีว่า พญาคันคากมีบุญญาธิการและมีอิทธิฤทธิ์มากเกรงจะเป็นภัยแก่ตน จึงได้วางแผนการโดยที่ไม่ให้ฝนตกลงมายังมนุษยโลก ทำให้สิ่งมีชีวิตเดือดร้อนกันไปทั่วพิภพ นานถึง 7 ปี พญาคันคากไม่ทราบว่าจะหาทางแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร จึงลงไปยังใต้พิภพเพื่อปรึกษากับพญานาค พญาหลวงนาโคบอกกับพญาคันคากว่า "พระยาแถนประทับอยู่ยังปราสาทเมืองยุคันธร ที่เมืองนี้มีแม่น้ำคงคาอันกว้างใหญ่ไพศาล พระยาแถนมีหน้าที่ดูแลรักษาแม่น้ำยุคันธรแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีเขาสัตบริภัณฑ์ตั้งอยู่รายล้อมเขาพระสุเมรุถึง 7 ลูก เมื่อครบกำหนดเวลา บรรดานาคจะลงมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาล แต่บัดนี้พระยาแถนไม่ยอมให้นาคลงไปเล่นน้ำดังแต่ก่อน จึงทำให้เมืองมนุษย์แห้งแล้ง ผู้คน สัตว์ และพืช ล้มตายเป็นอันมาก"

พญาคันคากได้ฟังดังนั้น จึงคิดหาทางไปเมืองแถน ได้ไปตามพวกครุฑ นาค ปลวก มาก่อภูเขา เพื่อทำทางขึ้นไปรบกับพระยาแถน เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อมสรรพแล้ว จึงยกพลไปรบกับพระยาแถน โดยต่างฝ่ายต่างก็มีคาถาอาคม พญาคันคากได้ร่ายเวทมนตร์ให้บังเกิดมีกบ เขียด อย่างมากมาย ทำให้ชาวเมืองแถนตกใจกลัวเป็นอย่างยิ่ง พระยาแถนเองก็ใช้คาถาอาคมเป่าให้เกิดมีงูร้ายมากมายหลายชนิด เพื่อมาจับกบและเขียดกิน พญาคันคากได้ให้ครุฑและกามาจิกกินงูที่เกิดจากอาคมพระยาแถน จนกระทั่งงูเหล่านั้นต้องล้มตาย พระยาแถนจึงให้สุนัขมาวิ่งไล่จับครุฑและกากินเป็นอาหาร พญาคันคากได้ให้เสือโคร่งออกมาจับสุนัขกิน พระยาแถนได้ยิงธนูให้กลายเป็นห่าฝนหอกดาบตกลงมาเสียบคนล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาครุฑได้ให้เสือโคร่งออกมาจับสุนัขกิน พระยาแถนได้ยิงธนูให้กลายเป็นห่าฝนหอกดาบ ตกลงมาเสียบคนล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาครุฑได้เนรมิตปีกให้แผ่กว้างเพื่อกำบังห่าฝนหอกดาบ และมีการร่ายเวทมนตร์คาถาอาคมให้ผู้คนที่ล้มตายกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

การสู้รบกันระหว่างพญาคันคากกับพระยาแถนเป็นไปอย่างดุเดือด ต่างคนต่างก็มีคาถาอาคม เพื่อต่อสู้กับศัตรูอย่างฉกาจฉกรรจ์ ปรากฏว่าไม่มีใครแพ้ใครชนะ จึงได้มาชนช้างกัน ในที่สุดพระยาแถนแพ้พญาคันคาก พญาคันคากจึงมีบัญชาให้พระยาแถนยอมให้นาคมาเล่นน้ำ ฝนจะได้ตกบนพื้นพิภพดังเดิม ครั้งนี้นับเป็นการสู้รบที่เรียกว่า มหายุทธ เลยทีเดียว ต่อมาสัตว์ต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นศัตรูกันนับตั้งแต่นั้นมา

ที่มา : นายผ่าน วงศ์อ้วน ได้ปริวรรตจากตัวอักษรไทยน้อย จำนวน 5 ผูก มาเป็นอักษรไทยปัจจุบัน
พิมพ์เผยแพร่โดย : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม วิทยาลัยครูมหาสารคาม จำนวน 89 หน้า
(เอกสารอัดสำเนา) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2525

นอกจากวิธีการขอฝนดังกล่าวมาแล้วนั้น ยังมีประเพณีการดึงครก ดึงสาก การแห่ข้าวพันก้อน ประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นความเชื่อและศรัทธาของแต่ละพื้นถิ่นแตกต่างกันไป ล้วนแต่มีความเชื่อว่า ฝนจะตกลงมาถูกต้องตามกาลเวลาอันสมควร

blueline

 [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง ฮีตเดือนหก บุญบั้งไฟ | นิทานพื้นบ้าน พญาคันคาก ]

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)