foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

wan sart header

ประวัติความเป็นมา

สารท มาจากคำบาลี หมายถึง ฤดูใบไม้ร่วง ภาษาสันสกฤตเป็น ศารท คำว่า สารท และ ศารท หมายถึง การทำบุญเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากมีความเชื่อว่า ระยะนี้เป็นระยะที่ยมบาลปล่อยเปรตให้มาเยี่ยมบ้านเดิมของตน เพื่อรับส่วนบุญที่ญาติจะอุทิศให้ ลูกหลานญาติพี่น้องมีความเชื่อว่า "ญาติของตนที่ตายแล้วอาจจะไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่อดอยาก" จึงทำบุญอุทิศให้ โดยหวังว่าเมื่อวิญญาณได้รับอนุโมทนาส่วนบุญแล้ว จะได้พ้นจากภูมิอันทุกข์ทรมานนั้นไปเกิดในภูมิใหม่ที่ดีกว่านั้น

san donta3

สารท คำนี้อ่านออกเสียงพ้องกับคำว่า ศราทธ์ ซึ่งเป็นพิธีส่งดวงวิญญาณขึ้นสวรรค์ของชาวฮินดู กระทำโดยลูกชายของผู้ตายซึ่งมีภรรยาร่วมพิธีด้วย พิธีศราทธ์ แปลว่า พิธีที่ทำด้วยศรัทธา ถือความเชื่อความมุ่งมั่นวิริยอุตสาหะจริงๆ ของญาติผู้ตาย เพราะทำกันตลอดเวลา คือ อาจจะทำทุกวันในปีแรกแห่งการตาย พิธีนี้ชื่อเรียกอกอย่างหนึ่งว่า สบิณฑนะ คือ พิธีถวายข้าวบิณฑ์ หรือก้อนข้าวสังเวยวิญญาณผู้ตาย เมื่อวิญญาณมีกำลังพอที่จะเดินทางไปสู่ปรโลกได้

ชาวฮินดูเชื่อว่า ร่างกายของคนตายนั้นสูญสลายไปเสียแล้ว เพราะถูกเผาหรือฝัง วิญญาณจึงอยู่ในสภาพเปรต วนเวียนอยู่ตามสถานที่ที่เคยอาศัย ไม่สามารถเดินทางไปสู่ปรโลกได้ เพราะไม่มีประสาทสัมผัส ไม่มีกำลัง ดังนั้นญาติจึงทำพิธีถวายข้าวบิณฑ์ แด่วิญญาณในพิธีศพ 4 ครั้ง และหลังจากวันตายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 10 ทุกวัน ในวันที่ 11 เป็นพิธีศราทธ์ครั้งใหญ่ มีการกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญให้ผู้ตาย ญาติพากันสวดวิงวอนให้พระเจ้าช่วยเปรตให้พ้นจากทุกข์

ญาติปล่อยวัวหนุ่มสาวคู่หนึ่ง โดยประทับตราตรีศูล และจัดพิธีแต่งงานให้วัวทั้งคู่ ขอพรจากวัว ซึ่งเป็นตัวแทนของพระเจ้า แล้วปล่อยไป มีการเลี้ยงอาหารแก่พราหมณ์ 11 คนหลังจากนั้น ญาติก็จะทำพิธีศราทธ์ทุกวันหรือเดือนละ 4 ครั้ง 2 ครั้ง หรือ 1 ครั้ง แล้วแต่ศรัทธา ข้าวบิณฑ์ ที่ใช้ในพิธีคือ ก้อนข้าวกลมๆ ขนาดเท่าผลมะตูม 6 ก้อน ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำนมโคใส่ในใบตองหรือภาชนะ มีจอกน้ำตั้งไว้ด้วย

ที่ยกเอาพิธีศราทธ์มาให้รับทราบนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า พิธีศราทธ์ของฮินดูไม่ใช่พิธีเดียวกันกับพิธีสารทของไทย ซึ่งหมายถึงฤดูกาลทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย แต่พิธีสารทไม่ใช่เทศกาล ส่วนพิธีทำบุญให้วิญญาณผู้ตายของฮินดูที่เป็นเทศกาลในช่วงเวลาเดียวกับ เทศกาลสารทนี้ก็มี คือ พิธีทำบุญเปตมาส มีขึ้นในวันข้างแรมของเดือนภัทรบท ประมาณเดือนสิงหาคม กันยายน เป็นพิธีทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษและสมาชิกครอบครัวที่ตายไปแล้ว มีการสังเวยน้ำแก่วิญญาณผู้ตายในวันดิถี คือ วันทางจันทรคติที่ตรงกับวันตายของผู้ล่วงลับในช่วงเวลาแห่งเทศกาลนี้

บางบ้านก็เชิญพราหมณ์มาทำพิธีด้วย จตุปัจจัยที่ใช้เป็นวัตถุสังเวย ได้แก่ เงิน ข้าวสุก นมเปรี้ยว พืชผล ผัก และอาหารคาวหวานอื่นๆ ให้พราหมณ์ และมีการเชื้อเชิญวิญญาณของผู้ตายในรอบปีนี้มาสิงสถิตร่วมกับวิญญาณของ บรรพบุรุษอื่นๆ ณ มุมหนึ่งของบ้านด้วย

สำหรับเทศกาลสารทของไทยเอง ปรากฏมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงพิธีสารทว่า ในวันเพ็ญเดือน 10 เป็นวันเริ่ม พระราชพิธีภัทรบท พระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จออกวัดหน้าพระธาตุทรงอังภาสพระภิกษุสงฆ์ด้วยข้าวมธุปายาสยาคุ ทรงบูชาพระรัตนตรัยด้วยพวงมาลาและธงหลากสี ทรงถวายอัฐบริขาร และกิลานเภสัช แด่พระภิกษุสงฆ์ แล้วทรงอุทิศพระราชกุศลแด่พระญาติที่ล่วงลับ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเช่นนี้เป็นเวลา 3 วัน ในวันที่ 3 เสด็จเทวาลัยของพราหมณ์ ทรงเสี่ยงพราหมณ์มากกว่าร้อยคน ด้วยข้าวมธุปายาสและยาคู เป็นเวลา 2 วัน ทรงถวายผ้าสาฎกแด่พราหมณ์ทุกคน

ส่วนสาธุชนชาวพระนครก็ปฏิบัติพิธีสารท ทำนองเดียวกับพระราชพิธีภัทรบท ทั้งพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์ เป็นที่น่าสังเกตว่า พิธีภัทรบทของชาวสุโขทัยโบราณมีลักษณะคล้ายกันกับ พิธีเปตมาส ของชาวฮินดูในอินเดียในปัจจุบันนี้มาก จึงพอสรุปได้ว่า พิธีภัทรบทได้เค้ามาจากพิธีเปตมาส เช่นเดียวกับพิธีจองเปรียงของชาวสุโขทัย โบราณ ได้เค้ามาจากพิธีปวาลีของชาวฮินดูนั่นเอง

san donta

เทศกาลสารทไทย เป็นเทศกาลที่มีปฏิบัติกันในภาคกลาง ส่วนภาคที่มีพิธีคล้ายๆ กัน เช่น กิ๋นก๋วยสลาก ในภาคเหนือ บุญข้าวประดับดิน และ บุญข้าวสาก ในภาคอีสาน บูชาข้าวบิณฑ์ ในภาคใต้ สำหรับพิธีสารทของไทยภาคกลางมีขึ้นในวันสิ้นเดือนสิบ ชาวบ้านจะนำอาหารคาวไปเลี้ยงพระ ส่วนอาหารหวานมีแต่กระยาสารทกับกล้วยไข่เท่านั้น

มีการตักบาตรธารณะ คือ ชาวบ้านใส่บาตรด้วยกระยาสารทห่อด้วยใบตองกับกล้วยไข่ แต่บางแห่งก็จะไม่แยกกัน คงใส่ข้าวรวมลงในบาตรด้วย เมื่อพระฉันข้าวเช้าเสร็จก็ฉันกระยาสารทเป็นของหวาน และฉันกล้วยไข่กลั้วคอไปด้วย พระยาอนุมานราชธน เล่าไว้ว่า "เมื่อสมัยก่อนเมื่อใกล้ถึงวันสารท ชาวบ้านทุกบ้านก็กวนกระยาสารท โดยมีส่วนผสมของข้าวเม่า ข้างตอก ถั่ว งา มะพร้าว และน้ำตาล กวนให้เข้ากันบนเตาไฟจนเหนียวเป็นปึก เมื่อเย็นลงจะกรอบ แล้วห่อด้วยใบตองเป็นห่อๆ เพื่อนำไปตักบาตรและแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ถ้าจะให้กระยาสารทเหนี่ยวดีก็ใส่แบะแซ (น้ำผึ้งขาว) เข้าไปด้วย"

เหตุการณ์ในอดีเกี่ยวกับเทศกาลสารทนี้ ถูกพรรณนาไว้อย่างเพราะพริ้งในนิราศเดือนว่า ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท ใส่อังคาสโภชนากระยาหาร กระยาสารท กล้วยไข่ใส่โตกพาน พวกชาวบ้านทั่วหน้าธารณะเจ้างามคมห่มสีชุลีนบ แล้วจับจบทัพพีน้อมศีรษะหยิบข้าวของกระยาสารทใส่บาตรพระธารณะเสร็จสรรพกลับมาเรือน

san donta2

สำหรับ วันสารทของชาวสุรินทร์ จะมีความแตกต่างออกไป คือ วันสารท ชาวสุรินทร์ เรียกว่า แขเบ็ณฑ์ ถือว่าเป็นพิธีสำคัญสำหรับชีวิต สำหรับเดือนสิบชาวสุรินทร์เรียกว่า แขพ้อดระบ็อด เพี้ยนจากคำว่า ภัทรบท เช่นกัน จุดประสงค์ คือการทำบุญและรำลึกถึง และการแสดงกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวสุรินทร์เชื่อว่า ปู่ ย่า ตา ทวด ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น ถ้ายังไม่ได้เกิดที่อื่น วิญญาณจะยังคงอยู่รักษาดูแลทุกข์สุขของลูกหลาน หรือบางทีไปเกิดเป็น ปรทัตตูปชีขีเปรต คือ เปรตที่อยู่ด้วยบุญกุศลที่บรรดาญาติอุทิศไปจากโลกนี้เป็นอาหาร

พิธีสารทหรือพิธีแขเบ็ณฑ์นี้ แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ สารทเล็กและสารทใหญ่ เรียกว่า เบ็ณฑ์ตูจและเบ็ณฑ์ธม

เบ็ณฑ์ตูจ ตกในวันขึ้น 15 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนต่างจัดแจงเตรียมงานอย่างจริงเอาจังทีเดียว แต่ละครอบครัวล้วนแต่มีตัวแทนไปวัด ทั้งนั้นตอนนี้คนแก่ก็สนทนาธรรมะ หนุ่มๆ สาวๆ ก็จะฉวยโอกาสตอนนี้พบปะสังสรรค์การไปร่วมงานที่วัดในระยะนี้ บรรดาพ่อบ้านแม่เรือนจะพากันถือศีลอย่างเคร่งครัด บางคนรับศีล 8 หรือศีล 5ก็ได้ตามศรัทธาและโอกาส ชาวสุรินทร์เรียกว่า กันซง (กัน คือ ปฏิบัติ ถือ ซง คือ พระสงฆ์) รวมแล้วหมายถึงการปฏิบัติพระภิกษุสงฆ์นั่นเอง

สำหรับประเพณีกันซงนี้ พระเณรในวัดจะลงศาลาทุกวัน แล้วจัดเวรกันตั้งแต่พระเถระจนถึงสามเณรมาให้ศีล บางครั้งก็จะจัดเวรกันเทศน์ตามลำดับ เป็นวิธีการที่ดีประการหนึ่งที่จะฝึก พระ เณร ในอันที่จะแสดงออกและทำประโยชน์ให้แก่สังคม ในการเผยแพร่ศาสนา

ในตอนค่ำนับจากวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 หากผ่านไปที่เมืองสุรินทร์จะได้ยินเสียงกลองชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกลองยาว 2 ลูก ตีประโคม ณ สถานที่ชุมนุม เสียงไพเราะ เรียกกลองนี้ว่า สะกวรเบ็ณฑ์ คือ กลองสารท นั่นเอง จะตีกลองนี้ได้ก็ในเดือนสารทเท่านั้น เมื่อสิ้นเทศกาลก็จะเลิกตี บางทีก็มีสังคีตดีดสีตีเป่าขับประโคม มีเครื่องเป่าชนิดหนึ่งเรียกว่า แป็ยฮังโกง เป็นปี่ที่ทำด้วยไม้รวก เสียงทุ้มประสานเสียงกับ แป็ยเยียล (ปี่เล็ก) และ บิณ (ตรัว) มีลักษณะเหมือนกีตาร์ เสียงไพเราะจับใจมาก

ในยามดึกสงัด เมื่อได้ยินเสียงดนตรีเหล่านี้แล้วก็จะรู้สึกซาบซึ้งวิเวก วังเวง เป็นเสียงคล้ายเชิญชวนชาวบ้านว่า มาถือถึงเดือนสารทแล้ว มาทำบุญกันเถิดครั้งถึงแรม 14 ค่ำ เมื่อได้บำเพ็ญวัตร หรือ กันซง สิ้นสุดลงแล้วก็ถึงวันสุกดิบ อันเป็นวันที่สำคัญยิ่ง ทุกบ้านจะจัดเตรียมข้าวต้มและอาหารคาวหวานอื่นๆ เพื่อสังเวยเซ่นสรวงดวงวิญญาณของบรรพชน และนำไปวัดในวันรุ่งขึ้นต่อไป

ต่างก็ตระเตรียมสิ่งของต่างๆ มีภาชนะสำหรับใส่ของ ภาชนะนั้นก็ต้องเลือกที่สวยงามมีค่า เช่น ถาดเงิน ขันเงิน พานเงิน หรือถาดทองสำริด แต่โดยทั่วไปแล้วมักใช้กระเชอซึ่งสานด้วยไม้ไผ่ เรียกว่า "กันเจอโดนตา" แล้วก็ตกแต่งสำรับอันมีผลหมากรากไม้ อาทิเช่น เผือก มัน สาคู อย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่ที่ขึ้นหน้าที่สุดก็คือ ข้าวต้มและกล้วยเกือบทุกชนิด

ข้าวต้มของชาวสุรินทร์นั้นห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อน บางทีก็มีกล้วยน้ำว้าและถั่วเป็นไส้ มีความยาว 7-8 นิ้ว ชาวสุรินทร์ เรียกว่า อันซอม หรือ อันซอมเบ็ณฑ์ คือ ข้าวต้มในเดือนสารทนั่นเอง แต่ละครอบครัวทำเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพื่อนำไปถวายพระแล้วเลี้ยงกันเองในครอบครัว (ในชนบทไม่นิยมทำกระยาสารทกัน)

san donta5

นอกจากเครื่องเซ่นดังกล่าวแล้วก็มีอีก สิ่งหนึ่งซึ่งขาดเสียไม่ได้ คือ บายเบ็ณฑ์ หรือก้อนข้าวนั่นอง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บายบัตรโบร จากศัพท์สันสกฤตว่า บัตรบรม ซึ่งหมายถึง ก้อนข้าวที่จะเป็นเครื่องเซ่นแก่บุรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว บ้างปั้นเป็นก้อนรวมกับถั่วงา ก้อนใหญ่ประมาณเท่ากับลูกหมากแล้วฝังเหรียญ 50 สตางค์ หรือเหรียญสลึงพอให้แลเห็น เหรียญนี้จะนำไปถวายพระต่อไป ก้อนข้าวนั้นไม่แน่นอนนัก บางคนก็ใช้ 49 ก้อน โดยถือตามที่นางสุชาดา ปั้นถวายพระพุทธเจ้า แต่บางทีก็มากหรือน้อยกว่านั้นก็มี ทั้งนี้แล้วแต่ฐานะของครอบครัว และก้อนข้าวนี้จะใส่รวมกับของสังเวยอื่นๆ เพื่อเอาไปให้พระสวดรัตนสูตร ระงับโรคภัย แล้วก็เอาก้อนข้าวทั้งหมดนี้ไปทิ้งตามท้องนาของตน เพื่อให้มดและปลากิน โดยถือกันว่าเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนาให้งอกงามสมบูรณ์

นอกจากนี้ยังกล่าวคำอุทิศแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นส่วนแห่งเปรตพลีอีกโสดหนึ่งด้วย งานที่วัดในยามเย็นวันนี้ กลองใหญ่ที่วัดจะกระหึ่มเสียงก้องกังวานไปทั่วหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนาฟ้ากว้างอันเต็มไปด้วยต้นข้าว ซึ่งกำลังงอกงาม หลังจากเสียงกลองที่วัดได้เงียบลงไป กลองสารทที่บ้านก็ประดังเสียงกึกก้อง ชาวบ้านทั้งผู้เฒ่าและหนุ่มสาวต่างพากันไปแห่พนมหมากที่วัด

การแห่พนมหมาก หรือเรียกว่า แห่ผกา แห่กันเป็นหมู่ แต่ละหมู่บ้านก็แห่ไปตามหมู่บ้านของตนไปทุกๆ หลังคาเรือน ไปถึงหน้าบ้านใครก็ต้อนรับ แสดงความดีอกดีใจเลี้ยงกันตามฐานะ นอกนั้นก็บริจาคจตุปัจจัยไทยธรรม ครั้นได้แห่ไปทั่วแล้วก็แห่ไปรวมกันที่วัด ณ ที่นั้นก็นิมนต์สมภารวัดขึ้นธรรมาสน์ ทำคานหาม แห่นำขบวนโดยรอบโบสถ์ การแห่นี้ก็มีการร่ายรำทำเพลงสนุกสนานรื่นเริง ดอกไม้สำคัญที่ประดับเข้าไปในขบวนแห่ คือ ดอกกัลปพฤกษ์ ซึ่งในหน้านี้จะบานสะพรั่งไปทั่วท้องทุ่งอันเวิ้งว้าง

san donta6

ยามพลบค่ำในวันแรม 14 ค่ำนี้ ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ทุกคนในครอบครัวจะต้องกลับมาถึงบ้านก่อนประกอบพิธีเซ่นสรวง และต้องมาพร้อมหน้ากันในวันนี้ เมื่อทุกคนกลับจากการทำงานพร้อมกันแล้ว แต่ละครอบครัวก็ไปนั่งพร้อมเพรียงกัน ณ สถานที่จัดเซ่นวิญญาณของบุรพชน โดยถือว่าวิญญาณของปู่ ย่า ตา ทวด ท่านได้มานั่ง ณ เบื้องหน้าลูกหลานพร้อมแล้ว ทุกคนตั้งแต่พ่อบ้านต่างนั่งคุกเข่า ถ้ามีธูปเทียนก็จุดแล้วกราบลงครั้งหนึ่ง พ่อบ้านหรือผู้ปกครองในบ้านนั้นกล่าวขอขมาลาโทษต่อบรรพบุรุษทั้งหลาย มารับเซ่นสรวงสังเวย เมื่อเซ่นสรวงสิ้นสุดลงแล้ว บางทีผู้ใหญ่ในตระกูลนั้นๆ ก็อบรมสั่งสอนลูกหลาน ของตนให้ประพฤติชอบให้มีมารยาทเป็นระเบียบเรียบร้อย พูดจาไพเราะอ่อนโยน และให้ตั้งตนอยู่ตามฐานะ ในเย็นวันนี้บางที่ก็จะเลี้ยงกันสนุกสนานเฮฮา

รุ่งขึ้นทำพิธี จะโดนตา ที่วัด เสียงระฆังวัดประสานกับกลองใหญ่ก้องกังวาน ท่ามกลางความมืดในย่ำรุ่งของวันแรม 15 ค่ำ อีกวาระหนึ่ง เพื่อให้พระลงทำวัตรสวดมนต์เช้า และปลุกชาวบ้านให้ เตรียมตัวไปประกอบพิธีเซ่นวิญญาณบรรพบุรุษที่วัดอีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาวต่างพากันหาบหิ้วสิ่งของของตนไปวัดก่อนรุ่งอรุณ เอาของเซ่นเมื่อค่ำวานนี้ไปทั้งหมด ไปทำพิธีที่วัดอีกครั้งหนึ่ง ครั้งถึงวัด แล้วแบ่งข้าวของออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งไว้ถวายพระ และอีกส่วนหนึ่งไว้เซ่นวิญญาณบรรพบุรุษ

san donta4

พิธีจะโดนตา นั้น คำว่า จะ แปลว่า เท โดนตา แปลว่า ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ บรรพบุรุษ คงหมายความว่า วันนี้เทกระจาดกระเชออุทิศให้คุณตาคุณยายทีเดียว ขณะที่พระสงฆ์กำลังทำวัตรในพระอุโบสถ ชาวบ้านก็ถือสรรพสิ่งที่แบ่งเพื่อเซ่นนั้น ประทักษิณรอบอุโบสถ ครั้นได้เวลาสางซึ่งเป็นเวลารุ่งอรุณ (ชาวบ้านเรียกว่า ประเฮียม เยียกชะโงก ถือว่าเป็นวันและเวลาที่บรรดาวิญญาณของบรรพบุรุษของตนมองดู หรือค้นหาญาติมิตรหรือลูกหลานของตนว่า ได้มาอุทิศส่วนกุศลให้แก่ตนบ้างหรือไม่)

เชื่อกันว่า วิญญาณบรรพบุรุษ หรือ โดนตา ถ้ามาในวันนั้นไม่เห็นลูกหลาน หรือพี่น้องของตนมาบำเพ็ญบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เหมือนคนอื่นแล้ว ก็จะเที่ยวร้องไห้คร่ำครวญไปเจ็ดวันเจ็ดคืน และเมื่อไม่พบญาติของตน ไม่ได้กินข้าวปลาอาหาร ก็จะซูบผอมกลับไปเสวยวิบากกรรมของตนต่อไป เมื่อประทักษิณแล้วก็เอาของเหล่านั้นไปเทรวมกัน ณ สถานที่ ที่จัดไว้ซึ่งถือเป็นการเสียสละและรำลึกถึงบุญคุณของบุพการี อันเป็นการแสดงออกซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรม อีกด้วย

จะทำพิธีนี้ได้ก็ต่อเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว อันเป็นเวลาแสงเงินแสงทองต่อกัน เรียกเวลานี้ว่า เงียเลีย ประเฮียม เมื่อได้นำของไปถวายและได้รับศีลรับพรพระแล้ว กลองสารทก็เริ่มดังเป็นจังหวะอีกครั้งหนึ่ง ณ ลานวัด ทุกคนจะรู้แก่ใจว่า ดูมวยวัดกันเถิด มวยในวันนี้เรียกว่า ดัลเบ็ณฑ์ (ดัล คือ ชก, มวย) โดยเอาลานวัดเป็นเวที ได้เปรียบคู่ตั้งแต่เย็นวานนี้ หลังจากแห่พนมหมากหรือแห่ผกาแล้ว แต่บางที่ถ้าเปรียบคู่แล้วก็ขึ้นชกในทันที เรียกชกในครั้งนี้ว่า ชกถวายพระหรือจะถือว่าให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษชมก็ได้ แต่ชกไม่เกิน 3 ยก เป็นการประลองผีมือกันเพื่อความรื่นเริง

บางที่ก็เป็นมวยประเภทศึกชิงนางก็มี คือ ได้โกรธเคืองแค้นกันมานาน ตั้งแต่ตรุษสงกรานต์ในเรื่องชิงนางกัน ถ้าเรื่องนี้ล่วงรู้ถึงผู้ใหญ่เข้าก็จะจับตัวมาลองดีกันวันนี้ เพื่อให้คนรักได้ชมว่าใครดีกว่าใคร ครั้นการชกได้สิ้นสุดลงแล้ว กรรมการหรือผู้เป็นประธานในที่นั้นก็จะให้คืนดีกัน แนะนำพร่ำสอน ไม่ให้ทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุแห่งสตรี

รายการทีวีชุมชน ช่อง ThaiPBS ตอน พิธีแซนโฎนตา

บางที่มีมวยคู่สูงอายุ เป็นมวยชั้นครู (หัวล้านชนกัน) ผู้เปรียบคู่ต้องมีคุณสมบัติพิเศษ คือ อายุต้อง 40 ล่วงแล้ว หน้าผากค่อนข้างกว้าง กติกาการชกต้องใช้หัวเท่านั้นความจริงไม่ใช่ชกแต่ ชน ห้ามใช้มือและเท้า เป็นที่น่าเสียดายมวยรุ่นนี้บัดนี้หายากเสียแล้ว เมื่อเสียงหัวเราะแสดงความรื่นเริงค่อยๆ สงบลง กลองสารทก็ลดเสียงลงเป็นลำดับ ทุกสิ่งทุกอย่างเงียบสงบลงตามเดิม นั่นเป็นเครื่องหมายว่า สารท หรือ แขเบ็ณฑ์ ได้สิ้นสุดลงแล้ว คงเหลือแต่ข้าวต้มกองใหญ่ ซึ่งเป็นหน้าที่เด็กวัดจะช่วยกันจัดการต่อไป

ที่มา : http://www.surinrelations.org/
เฉลิมชัย ถึงดี สพป.สุรินทร์ เขต 3 รวบรวม
 

redline

 [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง ฮีตเดือนสิบ บุญข้าวสาก ]

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)