foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

huad kao neaw

นอีสานนิยมในการบริโภคข้าวเหนียวกันมานาน มีอุปกรณ์ในครัวเรือนที่ใช้ในการนึ่ง บรรจุ ข้าวเหนียวให้มีความเหนียวนุ่ม ร้อนอยู่ได้นาน ผ่านการคิดใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ในการจัดทำอุปกรณ์เหล่านี้ขึ้นมาใช้งานในชีวิตประจำวัน ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบันยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ เช่น ก่องข้าว กระติ๊บข้าวเหนียว แต่อุปกรณ์บางชิ้นก็เริ่มสูญหายไปตามยุคสมัย เพราะวัสดุในการจัดทำหายาก ราคาแพงขึ้น หรือใช้เวลานานในการทำ อย่างเช่น โบมส่ายข้าว ไม้ค้อนด้าม ก็แทนที่ด้วยกระด้งไม้ไผ่ และถาดสังกะสีในปัจจุบัน แต่ยังมีอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่งที่ยังคงอยู่และใช้งานในปัจจุบัน คือ หวด มวย ไหนึ่งข้าวเหนียว

หวดนึ่งข้าวเหนียว

หวด ก็เป็นเครื่องใช้อย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านทุกวัน จะต้องใช้หวดนึ่งข้าวเป็นประจำ การนึ่งข้าวเหนียวด้วยหวดนั้น นับว่าเป็นวิธีง่ายและสะดวกที่สุด ดังนั้น หวดนึ่งข้าว จึงเป็นเครื่องใช้ที่ชาวบ้าน (ผู้ผลิต) สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวโดยทำเป็นอาชีพเสริมได้ เพราะนอกจากจะใช้หวดนึ่งข้าวแล้ว ยังสามารถดัดแปลงหวดเป็นเครื่องใช้อย่างอื่นได้ด้วย เช่น นำไปประดิษฐ์ตกแต่งเป็นโคมไฟตกแต่งร้านค้า ประดิษฐ์เป็นหน้ากากแสดงในการแห่ผีตาโขน และอื่นๆ ได้อีกมากมาย

หวดนึ่งข้าวเหนียว วิถีชาวอีสาน

หวด เป็นภาชนะที่ใช้ในการนึ่งข้าวเหนียว ที่พบเห็นได้ทั่วไปใน ภาคเหนือ ภาคอีสานของไทย และในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา ทำจากไม้หรือไม้ไผ่ ที่มีชื่อเรียกต่างๆ กันดังนี้

huad kao neaw 01

ไหข้าว ทำมาจากการขุดไม้ทั้งท่อนให้กลวง (รองส่วนล่างด้วยไม้ไผ่ฝาขัดแตะ)

1. ไหข้าว ทำจากการขุดไม้ทั้งลำต้นให้เป็นตัวหวดและฝาปิด (ท่อนบน) สำหรับใส่ข้าวในการนึ่ง ท่อนล่างเป็นไม้เนื้อแข็งหนา เพื่อบรรจุน้ำสำหรับต้มให้ร้อน ใช้กับเตาฟืน ข้าวที่นึ่งสุกจะได้กลิ่นหอมจากไม้ที่ใช้ทำหวด และกลิ่นควันไฟจากฟืนด้วย สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็กพบว่า มีการใช้หม้อดินเผาในท่อนล่างที่ทนการไหม้ไฟได้ดีกว่า แต่ก็เปราะแตกง่าย การใช้งานต้องระวังมากกว่าแบบเป็นไม้ (ดินเผาถ้าทำให้หนาก็จะหนัก แม่บ้านยกลำบากอีก) ยังมีใช้กันในภาคเหนือ ตัวหวดทำด้วยไม้สัก สมัยต่อมาก็พัฒนาจากไม้มาเป็นเหล็กและอลูมิเนียมที่เบากว่า (ผู้เขียนพบว่า มีขายและนิยมใช้กันมากใน สปป. ลาว) และคงพัฒนามาเป็น "ซึง" เพื่อนึ่งสิ่งต่างๆ ในปัจจุบัน แต่ไม่นิยมนำมานึ่งข้าวเหนียวแล้ว

การนึ่งข้าวโดยใช้ไหข้าว ของ ชาวล้านนา

huad kao neaw 02

มวยนึ่งข้าว สานด้วยไม้ไผ่ 2-3 ชั้น หนาทนทานมาก

2. มวยนึ่งข้าว จะสานจากไม้ไผ่สองถึงสามชั้น ด้านบนกว้างกว่าด้านล่าง มีขอบไม้ไผ่โดยรอบเพื่อทำให้แข็งแรง ไม่ขาดง่ายในการยกหวดขึ้นลง ส่วนล่างที่เล็กกว่าจะมีวงรัศมีน้อยกว่าปากหม้อ มีแผ่นลิ้นสานด้วยไม่ไผ่ลายขัดรอง เพื่อกันไม่ให้ข้าวเหนียวร่วงลงน้ำ และจะมีรูจากการสานที่ไอน้ำสามารถลอดผ่านขึ้นมาให้ข้าวเหนียวสุกได้โดยทั่วถึง สามารถเปลี่ยนแผ่นลิ้นได้ถ้าขาดหรือชำรุด มวยจึงใช้งานได้นาน (แต่ราคาแพงเพราะทำยากกว่าหวด จึงไม่ค่อยเห็นกันมากนักในปัจจุบัน เว้นแต่หมู่บ้านที่ยังสามารถสานมวยได้เอง)

วิธีทำมวยนึ่งข้าวเหนียว

huad kao neaw 03

3. หวดนึ่งข้าว สานด้วยไม้ไผ่เช่นเดียวกับมวย แต่สานเพียง 1-2 ชั้น ขึ้นรูปจากด้านล่างไปด้านบน แล้วเก็บขอบให้ดูเรียบร้อย ไม่ค่อยทนมากนัก ใช้ไปนานๆ ขอบด้านบนจะชำรุดขาดวิ่น ส่วนก้นหวดที่เป็นรอยพับก็มักจะทะลุ อันเนื่องมาจากตอกไม้ไผ่ที่ใช้สานส่วนนั้นถูกหักงอให้มีรูปทรงเฉพาะ เมื่อใช้งานโดนความร้อนมากๆ นานเข้าก็จะขาด และอาจเป็นเพราะการใช้งานเมื่ออุ่นข้าวเหนียวอีกครั้ง ข้าวเหนียวมักจะติดที่ก้นหวดหากไม่พรมน้ำให่ชุ่มก่อน เมื่อตอนเทข้าวเหนียวออกจากหวดใส่โบม เพื่อสว่ายให้คลายความร้อนและลดปรืมาณไอน้ำ จะยังมีข้าวเหนียวบางส่วนที่ติดอยู่ก้นหวด ก็จะถูกไม่ค้อนด้าม (ไม้ส่ายข้าว) ขูดเอาข้าวออกจากหวดทำให้ก้นหวดบริเวณนั้นทะลุได้ ยิ่งสมัยหลังๆ เห็นสาวๆ เอาช้อนสแตนเลสขูดข้าวก้นหวดก็ยิ่งขาดเร็วไปอีก

huad kao neaw 04

หวดนึ่งข้าวเหนียว สานจากไม้ไผ่ชั้นเดียวจึงไม่ค่อยทนทานนัก

วิธีการทำหวดนึ่งข้าว

อุปกรณ์ในการทำหวด ประกอบด้วย ไม้ไผ่ พร้า มีดตอก และเศษผ้า (พันมือในการเหลาเส้นตอก กันเสี้ยนไม้ตำมือ)

วัตถุดิบ คือ ไม้ไผ่ ในอดีตใช้ไม้ไผ่พุงที่ขึ้นอยู่ตามเชิงเขา เพราะมีข้อที่ยาวเหมาะกับการสานหวด ตอนหลังมีการกำหนดเขตอุทยานที่มีการห้ามตัดไม้ในเขตสงวน จึงมีการนำมาปลูกในที่นา สวน ปลูกเองในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง ใช้ไม้ไผ่บ้านอายุประมาณ 3 ปี มีข้อยาวซึ่งจะทำให้ได้ตอกที่ไม่มีข้อตรงกลาง เป็นไม้ไผ่ที่แก่พอดี ไม่หดตัว มอดไม่กิน (อาจใช้วิธีการรมควันช่วยกำจัดมอด) สานด้วยไม่ไผ่ 2 ชั้น 3 ชั้น เพื่อเสริมความแข็งแรง คงทนถาวร ด้วยการสานเย็บติดก้นหวดอีกชั้นหนึ่ง เน้นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ปลอดสารเคมี

ใช้เลื่อยตัดไม้ไผ่ออกให้เป็นปล้องๆ โดยทิ้งส่วนที่เป็นข้อ ความยาวของไม้ไผ่ที่เลื่อยนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของหวด เช่น ถ้าสานหวดใหญ่จะตัดไม้ให้ยาว 35 นิ้ว หวดขนาดกลาง 30 นิ้ว หวดขนาดเล็ก 25 นิ้ว เป็นต้น

ใช้พร้าผ่าไม้ไผ่เป็นซีก (ชาวบ้านเรียก กีบ) ขนาดความกว้างของซีกไม้ไผ่ ถ้าหวดขนาดใหญ่ กว้าง 0.8 ซม. หวดขนาดกลาง กว้าง 0.6 ซม. หวดขนาดเล็ก กว้าง 0.5 ซม.

การจักส่วยตอก คือ การเหลาซีกไม้ไผ่เพื่อลบคมของซีกไม้ตรงกลางออก แล้วเหลาหัวท้ายของซีกไม้ให้เรียวลง โดยใช้มีดตอก (ส่วย ภาษาอีสานคือ การทำปลายให้แหลม)

การจักตอก คือ การเอาส่วนที่เป็นเนื้อไม้และเปลือกไม้ไผ่ (ติวไม้) แยกออกจากกันซีกหนึ่งจะจักเป็นเส้นตอกได้ ประมาณ 8 - 10 เส้น การจักตอกสำหรับสานหวด ควรหาไม้ไผ่ที่ค่อนข้างอ่อน ความยาวของเส้นตอก ทำตามขนาดที่กล่าวข้างต้น

นำเส้นตอกที่จักเสร็จแล้วผึ่งแดดให้แห้ง ถ้าเป็นฤดูฝนก็ใช้วิธีรมควัน จะทำให้ไม่มีราขึ้นและกำจัดมอดด้วย การผึ่งแดดใช้เวลา 2 - 3 วันถ้ารมควันก็ให้สังเกตดูสีของเส้นตอกว่าเป็นสีน้ำตาล ก็ถือว่าใช้ได้ เมื่อเส้นตอกผึ่งแดดหรือรมควันได้ที่แล้วมัดตอกเป็นมัดๆ ตามความยาวของเส้นตอกแต่ละขนาดไว้ 

รายการที่นี่บ้านเรา : คอแลน แดนหวด

FAQ : คำถามที่มีการสอบถามผู้เขียนบ่อยๆ คือ ต้องการติดต่อสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ หวดนึ่งข้าวเหนียว โปรดติดต่อโดยตรงตามที่อยู่ดังนี้

  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านสานหวดบ้านแสงอุดม เลขที่ 12 หมู่ที่ 12 ถนน - ตำบลคอแลน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี โทรศัพท์ : 045-334007

ขั้นตอนการสานหวด

การก่อตัวหวด นำเส้นตอกที่ผ่านกระบวนการผึ่งแดดและแช่น้ำจนได้ที่แล้วมาสานหวด โดยเริ่มต้นจากการสานส่วนที่เป็นก้นหวดก่อน วางเส้นตอกในแนวตั้ง 4 เส้น แนวนอน 8 เส้น สานขัดเป็นลาย 3 โดยเริ่มจากจุดกึ่งกลาง สานไปข้างละ 13 ขัด ซึ่งความยาวหรือสั้นของเส้นตอกขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้สาน การสานจะนับเป็นบี (การนับช่วงลายตอกในระหว่างการสานที่มีการยกตอกขึ้น 3 เส้นและสานทับเส้นตอก 3 เส้น) ในแต่ละบีจะมีเส้นตอกอยู่สามเส้น

การไป่หวด เมื่อสานส่วนของก้นหวดได้ตามขนาดแล้วก็ทำการหักมุมเป็น 2 มุม จากนั้นก็ทำ การไป่หวด การไป่ หมายถึง การสานเปลี่ยนลายจากลายของส่วนก้นหวดเป็นลายตัวหวด ซึ่งการไป่นี้จะเป็นช่วงของการกำหนดขนาดของหวดให้ได้ขนาดตามต้องการด้วยการยกตอก 3 เส้นขึ้น แล้วคว่ำตอก 3 เส้นลง แต่จะไม่เป็นวิธีการที่ตายตัวนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดและทักษะผู้สานว่าจะสานไปในแนวเดียวกันหรือไม่

การใส่ลายตัวหวด การใส่ลายตัวหวดเป็นขั้นตอนการสานตัวหวดต่อจาการไป่หวด ซึ่งการใส่ลายตัวหวดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมหรือขนาดของหวด ส่วนมากนิยมใช้เส้นตอก จำนวน 10 เส้น จะได้หวดที่มีขนาดพอดี ซึ่งในขั้นตอนนี้ขณะที่กำลังสานหวดควรจะพรมน้ำเป็นระยะ เพื่อให้เส้นตอกมีความอ่อนตัว นุ่ม สานง่าย ซึ่งจะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์หวดไม้ไผ่ที่มีความแน่นแข็งแรงและคงทน

การใส่ไพกาวหวด เป็นขั้นตอนที่ทำหลังจากสานตัวหวดจนได้ขนาด และความสูงของหวดตามที่ต้องการ และความเหมาะสมแล้ว โดยขึ้นอยู่กับความถนัดและทักษะของผู้สานแต่ละคนว่า จะใส่ไพกาวในลักษณะแบบใด (ไพกาว คือการทำขอบหวดด้านบนให้แข็งแรงนั่นเอง) ซึ่งลักษณะของเส้นตอกที่นำมาสานไพกาวมีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ กลมๆ โดยผู้สานจะจักตอกให้มีลักษณะกลมเรียบเนียนเส้นเล็กๆ หวด 1 ใบ จะใช้ตอกชนิดนี้ประมาณ 6 เส้น ขนาดเท่าๆ กันนำมาสานแบบยก 3 คว่ำ 3 ไปเรื่อยๆ จนรอบตัวหวด เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นตอกที่สานตัวหวดหลุดออกจากกันได้ง่าย เพิ่มความแข็งแรงให้กับผลิตภัณฑ์หวดไม้ไผ่และเพื่อความสวยงาม

การม้วนหวด เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสานหวด โดยตัดเส้นตอกที่ยาวเกินไปทิ้งก่อน แล้วจึงม้วนเก็บส่วนของเส้นตอกที่ยังคงเหลือจากการสานตัวหวด ให้เกิดความเรียบร้อยและสวยงามของหวด จะทำในลักษณะการแบ่งกึ่งกลางของตัวหวดออกเป็นสองข้างตามลายสาน โดยรวบตอกแต่ข้างรวมกันแล้วบิดให้แน่น จากนั้นจึงทำการม้วนหรือเก็บตอกให้ดูเรียบร้อยสวยงาม และปลอดภัยจากเสี้ยนไม้ หรือความคมของปลายตอกในระหว่างการใช้งานของผู้บริโภค

huad kao neaw 05

เมื่อ "หวดคลาสสิก" มาพบกับ "เทคโนโลยี"

huad rachapat 01"หวดนึ่งข้าวเหนียว" ทำมาจากไม้ไผ่ นอกจากความคลาสสิกที่เกิดมาเนิ่นนานจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่ทำให้ข้าวเหนียวมีความหอมจากกลิ่นไม้ไผ่ เหนียวนุ่มนาน ไม่เปียกแฉะด้วยไอน้ำ ถ้าเราสามารถใช้หม้อหุงข้าวยุคใหม่มาใช้หุงข้าวเหนียวได้คงจะดีไม่น้อยใช่ไหมครับ แล้วก็มีนวัตกรรมใหม่เช่นนี้จริงๆ ในชื่อว่า "หวดรัชภัฏ"

สำหรับคนเมือง หรือ คนรุ่นใหม่ การนึ่งข้าวเหนียวกินเอง คงเป็นเรื่องลำบากไม่น้อย เพราะขั้นตอนยุ่งยากและต้องชำนาญจึงจะนึ่งได้สุกกำลังดี แต่ด้วยความคิดและผลงานของคนภาคตะวันออก ที่ต้องไปใช้ชีวิตเป็น "เขย" อยู่ที่อุบลราชธานี ได้ยกระดับ "หวดนึ่งข้าว" เครื่องจักสานเป็น “หวดอัตโนมัติ” สามารถนึ่งข้าวเหนียวได้ในหม้อหุงข้าวไฟฟ้าทั่วไป ช่วยเพิ่มความสะดวก ง่ายดาย แถมยังได้กลิ่นหอมของไม้ไผ่เหมือนใช้หวดแบบในอดีต ถือเป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับ "เครื่องใช้ไฟฟ้า" ยุคปัจจุบัน ตอบความต้องการคนเมืองได้เป็นอย่างดี

นายรัชภัฏ พรพันธุ์ เจ้าของไอเดีย เล่าแรงบันดาลใจมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แม้จะมาใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี นานหลายปี แต่ไม่สามารถหุงข้าวเหนียวที่อร่อยเองได้ เพราะขั้นตอนยุ่งยาก “ผมเป็นคนภาคตะวันออก ย้ายมาอยู่อุบลฯ บ้านภรรยา ลูกชายคนเล็กบอก "พ่อหุงข้าวเหนียวให้ทานหน่อย" แต่ผมหุงไม่เป็น เลยไปสอบถามคนรู้จักในหมู่บ้านว่า เขาหุงข้าวเหนียวกันยังไง ใช้เวลา หรือสัดส่วนข้าวกับนํ้าเท่าไหร่ แต่ไม่มีใครตอบชัดเจนได้ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาในการพลิกข้าวเหนียว เมื่อถึงเวลาที่ข้าวด้านล่างสุกแล้วต้องทำการพลิกข้าวให้ด้านบนลงไปแทนด้านล่าง รูปทรงที่ออกแบบมาของหวดนั้นเป็นทรงกรวย ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้ที่ไม่ชำนาญ”

เริ่มจากต้องติดไฟเตาถ่าน โดยใช้อุปกรณ์หุง คือ “หม้อนึ่ง” กับ “หวด” (ภาชนะอย่างหนึ่งสําหรับนึ่งของ) ก่อนการนึ่งต้องมีการแช่ข้าวเหนียวไว้ก่อน ซึ่งใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 1-3 ชั่วโมง (แล้วแต่เป็นข้าวเหนียวใหม่ หรือเก่า)  ขณะนึ่งยังต้องพลิกข้าวด้านบนลงมาอยู่ด้านล่าง เพื่อให้ข้าวเหนียวสุกเสมอกัน ถ้าไม่ชำนาญ ข้าวเหนียวอาจดิบ แฉะหรือไหม้ได้ ในขณะที่หากจะนึ่งโดยใช้หม้อนึ่งข้าวเหนียวไฟฟ้าที่มีขายตามท้องตลาด แม้จะสะดวก แต่ข้าวเหนียวจะไม่มีกลิ่นหอมของไผ่เหมือนการนึ่งด้วยหวดแบบต้นตำรับ

huad rachapat 02

หวดไม้ไผ่ "รัชภัฏ" ใช้นึ่งข้าวเหนียวได้ด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า

“ผมเชื่อว่า คนเมืองส่วนใหญ่ หุงข้าวเหนียวไม่เป็น อีกทั้งผมเห็นว่า คนภาคอีสานและภาคเหนือ จำนวนประชากรรวมกันเกินครึ่งของประเทศ ซึ่งคนกลุ่มนี้นิยมกินข้าวเหนียวเป็นหลัก ดังนั้น ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์นี้น่าจะมีสูง โอกาสประสบความสำเร็จทางการตลาดจึงมีความเป็นไปได้” รัชภัฏ กล่าวและเล่าต่อว่า หวดอัตโนมัติ เป็นงานจักสานเชิงนวัตกรรม ได้รับความช่วยเหลือและปรึกษาจากหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ โดย ดร.ศักดิ์ชาย สิกขา หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีลักษณะคล้ายมวยนึ่งข้าวในอดีต แต่ปรับรูปทรงใหม่ให้ขนาดเตี้ย และเล็กกว่า เพื่อวางในหม้อหุงข้าวไฟฟ้าได้เหมาะสม ส่วนฐานทำจากก้านตาล เหมือนฐานของกระติบ มีประโยชน์ช่วยยกข้าวให้มีระดับสูงเหนือระดับน้ำที่ใช้นึ่ง และด้านพื้นหวด สานไผ่เป็นแบบก้นหอย มีช่องให้ไอน้ำสามารถผ่านขึ้นมาได้ สำหรับการใช้งาน

คุณรัชภัฏ อธิบายว่า เพียงแค่นำข้าวเหนียวแช่น้ำประมาณ 1-3 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับว่า เป็นข้าวใหม่หรือข้าวเก่า) จากนั้น นำข้าวเหนียวใส่ลงในหวดอัตโนมัติ แล้วนำไปวางลงในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เติมน้ำประมาณ 2 ถ้วยตวง หรือประมาณ 1 ข้อนิ้ว จากนั้นปิดฝา กดปุ่มหุงเหมือนการหุงข้าวสวยในหม้อไฟฟ้าปกติ ประมาณ 20-25 นาที จะได้ข้าวเหนียวที่สุกเสมอกัน และมีกลิ่นหอมไม้ไผ่เหมือนแบบดั้งเดิมด้วย

“การหุงด้วยหม้อไฟฟ้า เป็นระบบปิด ดังนั้น ไอน้ำจะวนเวียนจากทุกทิศทุกทางอยู่ภายในตัวหม้อ ช่วยให้ข้าวเหนียวสุกเสมอกันทั้งหมด โดยไม่ต้องพลิกข้าวไปมาขณะนึ่ง อีกทั้ง ไม่มีการปนเปื้อนจากภายนอก ด้วยคุณสมบัติของไม้ไผ่ให้กลิ่นหอม และยังช่วยดูดซับความชื้น ทำให้ข้าวเหนียวไม่เปียกแฉะ เรียงเป็นเม็ดมันวาว” เจ้าของไอเดียเสริม

huad rachapat 03

ในด้านการผลิต ยังมีส่วนช่วยสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น โดยว่าจ้างชาวบ้านใน “บ้านหนองขอน” จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเดิมยึดอาชีพสานกระติบ แต่ต่อมาถูกกดราคา จนต้องห่างหายจากอาชีพนี้ไป กระทั่งทุกวันนี้ ได้กลับมามีรายได้จากการรับจ้างสานหวดอัตโนมัติ

สำหรับวัสดุที่ใช้สาน คือ ไม้ไผ่สีสุก อายุ 2-4 ปี ซึ่งเนื้อไม้มีความเหนียวกำลังดี นำมาเหลาเป็นเส้นบางๆ หรือที่เรียกกว่า “จักตอก” แล้วนำมาต้มกับสารส้ม เพื่อทำความสะอาด และยังช่วยป้องกันมอดและรา อีกทั้ง ช่วยให้ไม้ไผ่สีสันสวยขึ้น จากนั้นนำไปเก็บในตู้เย็นเพื่อรักษาความชื้น เตรียมไว้สานต่อไป

หวดอัตโนมัติได้จดสิทธิบัตร รวมถึงจดเครื่องหมายการค้า ชื่อ “รัชภัฏ” ไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้มีจำหน่าย 3 ขนาด ได้แก่ 1) ขนาดเล็ก ราคา 120 บาท เหมาะกับหม้อหุงข้าวไฟฟ้าขนาด 1 ลิตร 2) ขนาดกลาง ราคา 140 บาท เหมาะกับหม้อขนาด 1.8 ลิตร และ 3) ขนาดใหญ่ ราคา 200 บาท เหมาะกับหม้อขนาด 2.2 ลิตร สามารถใช้ได้กับหม้อหุงข้าวไฟฟ้าทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ อายุการใช้งานประมาณ 1 ปี สามารถสั่งซื้อได้ที่ คุณรัชภัฏ พรพันธุ์ โทร 06-2927-3126

 

ดูรายละเอียดจากคลิบบนจากรายการ "สมรภูมิไอเดีย" และปิดท้ายด้วยสารคดีจาก ค่ายทีวีบูรพา ชุด อาโนเวชั่น ช่วยชาติ ตอน ยอดมนุษย์พลังข้าวเหนียว (หวดรัชภัฏ) ด้านล่างอีก 4 ตอน เชิญทัศนาได้เลย

ยอดมนุษย์พลังข้าวเหนียว (หวดรัชภัฏ) ตอนที่ 1

ยอดมนุษย์พลังข้าวเหนียว (หวดรัชภัฏ) ตอนที่ 2

ยอดมนุษย์พลังข้าวเหนียว (หวดรัชภัฏ) ตอนที่ 3

ยอดมนุษย์พลังข้าวเหนียว (หวดรัชภัฏ) ตอนที่ 4

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : วิญญาณ ๕ ชาวอีสาน | กระติบข้าว-ก่องข้าว | โบมส่ายข้าวเหนียว |

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)