foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

homeuse header

นอีสานในอดีตนั้นมีเครื่องใช้ไม้สอยมากมาย เนื่องจากธรรมชาติในพื้นถิ่นเต็มไปด้วยอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ป่าไม้หลากหลาย น้ำท่าบริบูรณ์ จึงมีการคิดค้นสร้างเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ มาใช้งานซึ่งมีทั้งคุณค่าความสวยงาม อรรถประโยชน์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความทันสมัยยุคพลาสติกเข้ามา เครื่องใช้ในอดีตก็เริ่มจางหายไปตามกาลเวลา เรามาย้อนอดีตกันว่ามีอะไรบ้าง

โฮง : กะบอง (ขี้ไต้, ไต้)

kabong

โฮงกะบอง น. ที่สำหรับวางกะไต้ เพื่อจุดไฟให้มีแสงสว่าง เรียก โฮงกะบอง สร้างบ้านเรือนแล้วยังขาดโฮงกะบอง โบราณถือว่ายังสร้างไม่สำเร็จ อย่างว่า สร้างเฮือนแล้วยังโฮง (ภาษิต). stand for holding lit torch. "

ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ  โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

โฮง คือ ขาตั้งกะบอง (ขี้ไต้) เพื่อให้แสงสว่างในยามค่ำคืน มีฐานเป็นไม้หนาขุดร่องรองรับขี้ไต้ ขาทำเป็นง่ามไว้รองรับตัวกะบอง (ดังภาพ) ในชนบทเมื่อครั้งอดีตกาลยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีตะเกียงน้ำมัน เทียนไข (มีก็ต้องซื้อหาราคาแพง) ชาวบ้านจึงทำกะบองไว้จุดไฟให้แสงสว่างยามค่ำคืน

กะบอง มีความหมายตรงกับ "ไต้" หรือ "ขี้ไต้" ของภาคกลาง ใช้สำหรับจุดไฟให้แสงสว่างในเวลาค่ำคืนแทนตะเกียง หรือไฟฟ้าในปัจจุบัน กะบอง ทำด้วยไม้ผุ หรือไม้ขอนดอก (ไม้ผุที่เป็นขุยตามขอนไม้ล้ม ภาษาลาวทางเวียงจันทน์ เอิ้นว่า "โดก" คือขอนไม้ผุ) คลุกเคล้ากับน้ำมันยางซึ่งได้จากต้นยางนา (ไม้ยางที่ใช้สร้างบ้านเรือน) นำมาปั้นให้เป็นแท่งกลม ยาวประมาณ 1 ศอก เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 นิ้วฟุต ใช้เปลือกไม้หรือใบไม้ขนาดใหญ่ เช่น ใบพลวง ใบจิก หรือใบต้นยางนาห่อมัดด้วยตอก หรือเชือกเป็นเปลาะๆ กะบองจำนวน 1 อัน เรียกว่า 1 เล่ม ถ้ามัดรวมกันเป็นมัดๆ ละ 10 เล่ม เรียกว่า 1 ลืม หรือ 1 หลึม

กะบอง ในภาคอีสานมี 4 ชนิด

  1. กะบองขี้ยาง คือ กะบองที่ทำจากไม้ขอนดอกคลุกกับน้ำมันยางจากต้นยางนา แล้วห่อหุ้มด้วยใบไม้ หรือเปลือกไม้มัดเป็นเปลาะๆ เรียกว่า กะบองขี้ยาง
  2. กะบองขี้ซี้ หรือ ขี้ซี คือ กะบองที่ทำจากไม้ขอนดอกคลุกกับชัน (ภาษาอีสานเรียกว่า ขี้ซี้หรือขี้ซี) โดยนำชันมาป่นให้ละเอียด คลุกเคล้ากับไม้ขอนดอก แล้วห่อหุ้มด้วยเปลือกไม้ หรือใบไม้ เรียกว่า กะบองขี้ซี้
  3. กะบองขี้ตก คือ กะบองที่ทำจากยางพลวง (ต้นไม้ขนาดใหญ่มียางเหมือนต้นยางนา) ที่ตกลงมาคลุกกับขุยไม้พลวง นำขุยไม้พลวงบริเวณโคนต้นพลวงที่ปนอยู่กับยางพลวง มาห่อหุ้มด้วยเปลือกไม้หรือใบไม้ดังกล่าว เรียกว่า กะบองขี้ตก
  4. กะบองขี้ควง คือ กะบองที่ทำด้วยรังแมลงคล้ายชันโรง คลุกกับไม้ขี้ขอน แล้วนำมาห่อหุ้มด้วยเปลือกไม้หรือใบไม้ดังกล่าว เรียกว่า กะบองขี้ควง

hong krabong

การจุดไต้ภาษาอีสาน เรียกว่า "ไต้กะบอง" (ไต้ แปลว่า จุดไฟ) ขณะที่ไต้กะบองจะทำฐานรองรับขี้ไต้ และมีที่เสียบไต้เรียกว่า "เขียงกะบอง" หรือ "โฮงกะบอง" ทำเป็นกระบะไม้ขนาดกว้าง 8 นิ้ว ยาง 12-16 นิ้ว สะดวกในการย้ายที่ และขี้ไต้ไม่ตกเรี่ยราดบนพื้นเรือน ป้องกันไฟไหม้บ้านเรือนได้ (เป็นภูมิปัญญาอีสาน)

ในสมัยผู้เขียนเป็นเด็กน้อยเรียนหนังสือชันประถม ก.กา นั้น ครูใหญ่ที่โรงเรียนมีวิธีพิสูจน์ว่า "ไผอ่านหนังสือเฮียน เฮ็ดการบ้านอยู่เฮือน ยามมื้อแลงได้ โดยให้เด็กน้อยจก (ล้วง) ในฮูดัง (รูจมูก) ถ้ามีเขม่าควันสีดำๆ ติดมือออกมา แสดงว่า ทำจริง ถ้าไม่มีก็เป็นการขี้ตั๋ว (โกหก) ครู" เพราะว่า ถ้าไต้กระบองหรือจุดตะเกียงน้ำมันก๊าด (บ้านไผมีฐานะ) ก็จะพบว่า เขม่าจากควันกะบอง หรือตะเกียงเข้าไปติดในขนจมูกนั่นเอง ครูใหญ่กะแม่นฉลาดคัก อาวทิดหมูกะบ่ได้อ่านดอกแค่ไปนอนข้างโฮงกระบองให้ฮูดังดำไปตั๋วครู 🤣😂😁

kabong 2

การทำน้ำมันยางนั้น คนหาน้ำมันยางจากต้นยางนา จะหาต้นยางในป่าที่ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มจำนวนมากๆ ใช้ขวานบ่อง (เจาะ) ต้นยางให้เป็นช่องลึกขนาด 8 นิ้วฟุต กว้างยาวประมาณ 8 นิ้วฟุต หากต้นยางใหญ่อาจจะบ่องรูใหญ่กว่านี้ การบ่องต้นยางนี้จะบ่องจำนวนมาก 50-60 ต้น เมื่อบ่องต้นยางได้จำนวนดังกล่าว คนหาน้ำมันยางจะใช้เศษใบไม้จุดไฟในหลุมต้นยางที่บ่องไว้ทุกต้น มักจะจุดในตอนกลางวัน ปล่อยทิ้งไว้จนไฟดับไปเอง

ซีรีส์วิถีคน ThaiPBS ตอน "ขี้ไต้ยางนา ขุมทรัพย์จากป่า" บ้านสร้างถ่อใน อำนาจเจริญ

วันรุ่งขึ้นจะมีน้ำมันยางจำนวนมากไหลออกมาขังอยู่ในหลุมที่บ่องไว้ จะใช้กะลา หรือ ใบไม้ช้อนเอาน้ำมันยางใส่ในภาชนะที่เตรียมมา หากมีต้นยางนาจำนวนมากดังกล่าวข้างต้น จะได้น้ำมันยางประมาณวันละ 5-6 ปีบ เมื่อตักน้ำมันยางแล้วก็จะจุดไฟในหลุมยางที่บ่องไว้อีก ปล่อยให้ไฟดับไป วันรุ่งขึ้นก็มาตักน้ำมันยางได้อีก การหาน้ำมันยางจะทำดังกล่าวจนหมดฤดูแล้ง หรือจนกว่าต้นยางให้น้ำมันยางจำนวนลดลง ก็จะหยุดชั่วคราว น้ำมันยางในชนบทสมัยอดีตมีความต้องการมาก เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ทำกะบอง (ไต้) ใช้ยาเรือ ใช้ยาครุตักน้ำ หรือภาชนะใส่น้ำอื่นๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมทำร่ม กระดาษ ทำหมวก ฯลฯ

วิธีทำขี้ไต้ หรือ ขี้กระบอง สำหรับจุดไฟให้แสงสว่างในอดีต

ที่มาข้อมูล : ธวัช ปุณโณทก : หนังสือสารานุกรมไทยภาคอีสาน เล่ม 1

โบม : กระโบม

โบม (ถาดไม้) : ภาชนะ

โบม กระโบม หมายถึง ภาชนะชนิดหนึ่งทําด้วยไม้มีลักษณะกลมแบน เครื่องใช้ในครัวเรือนของชาวบ้านชนบทอีสาน ใช้สำหรับส่ายข้าว หรือ ใช้สำหรับสงข้าวเหนียวนึ่งเสร็จใหม่ๆ โดยจะนำข้าวเหนียวนึ่งสุกเทออกจาก หวด หรือ มวย ใส่ลงใน โบม แล้วจึง สง เพื่อให้ไอน้ำในข้าวนึ่งและความร้อนระเหยออกไปบางส่วน จากนั้นจึงนำไปใส่ลงใน กระติบข้าว หรือ ก่องข้าว เพื่อไม่ให้ข้าวเปียกแฉะ ซึ่งจะทำให้ข้าวบูดหรือเสียง่าย

ในบางท้องที่เรียกว่า โบม บ้างเรียก บม หรือ กระโบมส่ายข้าว ก็เรียก ทางจังหวัดเลย เรียก อัวะ หากขนาดเล็ก เรียก กะบอม กะบง และกระบาย หรือในถิ่นอื่นๆ มีเรียก อั๊วะ กั๊วข้าว เขียน กระเขียน หรืออ่างไม้ ในท้องถิ่นอื่นใช้สำหรับนวดข้าวให้อ่อนนุ่ม หรือใช้นวดแป้งทำขนมจีน

bom

ความหมายของคำในภาษาอีสาน

กระบอม น.
ภาชนะที่ขุดเป็นร่อง มีรูปกลม ใช้สำหรับสงข้าวเหนียวเวลานึ่งสุกแล้ว เรียก กระบอม กระโบม ก็ว่า. large, wooden platter onto which freshly steamed glutinous rice is dumped out and stirred to release steam before it is put into serving baskets.
กระโบม น.
ชื่อภาชนะชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้ขุดเป็นร่อง รูปกลม มีขอบในตัว สำหรับรองหย่งข้าวเหนียวนึ่ง. large, wooden platter onto which freshly steamed glutinous rice is dumped out and stirred to release steam before it is put into serving baskets.
กะบาย น.
ชื่อภาชนะไม้ขุดชนิดหนึ่งมีลักษณะกลมแบน มีเดือยสำหรับจับ ใช้หย่งข้าวเหนียวเวลานึ่งสุกแล้วเรียก กะบาย กะโบม โบมส่ายเข้า ก็ว่า. large, wooden platter onto which freshly steamed glutinous rice is dumped out and stirred to release steam before it is put into serving baskets.
กะบม น.
ภาชนะที่ทำด้วยไม้รูปกลม ด้านหลังแบน ด้านหน้าขุดลึก 2-3 เซนติเมตร ใช้สำหรับสง (ส่าย) ข้าวเหนียวนึ่ง ด้านหลังใช้รองสำรับได้ เรียก บม กะโบม ก็ว่า. large, wooden platter onto which freshly steamed glutinous rice is dumped out and stirred to release steam before it is put into serving baskets.
สว่าย ก.
สง หย่ง สงข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วเทลงในถาดหรือในกระโบม เรียก สว่ายเข้า ส่ายเข้า ก็ว่า. to pour out (freshly streamed rice) on a special large board and lift and turn it to release steam.

bom 4

ประโยชน์ทั่วไปนอกจากส่ายข้าว

ใช้เป็นที่รองนวดสำหรับทำอาหาร เช่น นวดทำขนมจีน (หรือ ทำข้าวปุ้น) ก่อนจะบีบเป็นเส้น  ใช้เป็นที่รองสำหรับคั้นส้มผัก (ทำผักดอง) หรือทำข้าวหมาก ใช้เป็นพาข้าว ภาชนะรองพาข้าวเพื่อทำสำหรับข้าว

ส่วนประกอบของโบม

  • ตัวบม เป็นไม้ นิยมใช้ไม้แคน (ตะเคียน) ไม้แดง ไม้เค็ง (เขลงหรือนางดำ) ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 24 นิ้ว เลื่อยให้เป็นแผ่นขนาดหนาประมาณ 2 นิ้ว จากนั้นก็แปรรูปให้มีลักษณะกลมหรือแบบเหลี่ยมก็ได้ ขุดเซาะร่องให้กลมลึกลงไปในเนื้อไม้ประมาณ 1 นิ้ว เพื่อส่ายข้าว (สงข้าว) ได้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงกลม บม ประมาณ 20 นิ้ว
  • แขนบม เป็นเดือยยาวยื่นออกจากตัวบมด้านใดด้านหนึ่ง ขนาดพอเหมาะมือ สำหรับจับถือเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวก

การใช้โบมนั้นเมื่อล้างให้สะอาดแล้ว ต้องผึ่งลมให้แห้งจะได้ไม่ขึ้นรา ห้ามตากแดดโดยตรงอาจทำให้ไม้แตกได้ วันเวลาผันผ่าน ธรรมชาติป่าไม้เริ่มร่อยหลอ ชาวบ้านก็หันมาใช้ไม้ไผ่จักสานเป็นกระด้งใช้แทนกระโบม และต่อมาก็กลายเป็นถาดสังกะสีดังที่เห็นในปัจจุบัน เพราะหาซื้อได้ง่ายกว่านั่นเอง (งานหัตถกรรมเริ่มมีน้อยลง มีคนสืบสานการทำน้อยลง และมีราคาสูงขึ้น)

bom 2

ส่ายข้าวชาวอีสาน กับกระโบมไม้โบราณ

ไม้ค้นด้าม ไม้ส่ายเข้า

อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับโบมคือ ไม้ส่ายเข้า หรือไม้ค้นด้าม เมื่อเรานึ่งข้าวเหนียวสุกแล้ว ก็จะนำโบมมาวางใช้น้ำพรมที่กระโบมลูบให้ทั่ว เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวเหนียวติดพื้นโบม เทข้าวเหนียวลงในโบมใช้ไม้ค้นด้ามส่ายข้าวเหนียว (คน/พลิกข้าวเหนียวไปมา) ระบายไอน้ำออกพอประมาณ โดยสังเกตได้จากไม่มีน้ำที่เกิดจากการกลั่นตัวของไอน้ำมาจับที่ข้าวเหนียวและที่โบม แล้วปั้นคลึงข้าวเหนียวเป็นก้อนขนาดเท่ากระติบใส่ลงไปในกระติบข้าวให้พอดี ได้ข้าวเหนียว หอมๆ แซ่บๆ สิจ้ำป่น จ้ำแจ่ว หรือกินกับลาบงัว คั่วไก่ หรือตำหมากฮุ่งกะแซบคือกันเด้อ

bom 3

 การส่ายข้าวเหนียวด้วย กะโบม

กระต่ายขูดมะพร้าว

กระต่ายขูดมะพร้าว หรือ ง้อง เป็นเครื่องมือสำหรับขูดมะพร้าวที่ยังไม่ได้กะเทาะเปลือกออก เดิมทีการขูดเนื้อมะพร้าวคั้นกะทิ จะใช้ช้อนทำจากกะลามะพร้าวขูดให้เป็นฝอย ต่อมาทำเป็นฟันซี่โดยรอบ บางแห่งใช้ซีกไม้ไผ่บากรอยเป็นซี่สำหรับขูดมะพร้าว จนกระทั่งเมื่อมีการใช้เหล็กมาทำของใช้ในครัวเรือน จึงได้ตีเหล็กแผ่นบางๆ ตัดรูปโค้งมน ใช้ตะไบถู ทำซี่ละเอียดที่ปลายเหล็กคมเรียกว่า "ฟันกระต่าย" หรือ "เหล็กง้อง" นำส่วนเหล็กขูดฟันกระต่ายนี้ไปประกบ หรือเข้าเดือยกับรูปตัวสัตว์ที่เตรียมไว้จนเป็นกระต่ายขูดมะพร้าว

กระต่าย น. เครื่องมือขูดมะพร้าว ทำด้วยไม้กลมหรือแบนก็ได้ ที่ปลายฝังเหล็กเรียก กระต่ายขูดหมากพร้าว อย่างว่า ชื่ออยู่ครัว ตัวลี้อยู่ในป่า (ปัญหา) ไม้แท้แท้สังมาเอิ้นว่าสัตว์ เอากะโป๋งุมหัวกัดกินพวดพวด (ปัญหา). coconut grater tool.

 

ง้อง น. เหล็กแหลมงอ มีด้ามถือ ใช้แกว่งครูดในโคนเพื่อเกาะปลาหลด เรียก ง้องเกาะปลาหลด อีกอย่างหนึ่งเหล็กมีฟันเป็นซี่ ๆ เหมือนขวานฟ้าผ่า สำหรับใช้ขูดมะพร้าว เรียก ง้องขูดหมากพร้าว กระต่ายขูดหมากพร้าว ก็ว่า. curved metal scraper. "

 

ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ  โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

kratai kood maprao 1

การเรียกชื่อ "กระต่ายขูดมะพร้าว" อาจเนื่องมาจากฟันที่ใช้ขูดเนื้อมะพร้าวมีลักษณะเป็นซี่ยาวเหมือนฟันกระต่าย ประกอบกับการทำโครงไม้ซึ่งใช้เสียบฟันขูดและนั่งเวลาขูดมะพร้าว มักทำเป็นตัวกระต่ายมากกว่าสัตว์ประเภทอื่น แม้ว่าจะมีการประดิดประดอยโครงไม้เป็นตัวเต่า แมว สุนัข และนก เป็นต้น ก็ยังเรียกกันว่า "กระต่ายขูดมะพร้าว" อยู่ดี

นอกจากคำว่า "กระต่ายขูดมะพร้าว" ยังมีคำอื่นอีก เช่น คำว่า "เหล็กขูด" ที่พูดกันมากในภาคใต้ของประเทศไทย และยังมีคำว่า "แมว" หรือ "งอง" ที่พูดกันมากในภาคเหนือของประเทศไทย คงเรียกตามรูปร่างลักษณะของเหล็กขูด ซึ่งมีรูปงอ "กองงอง" เป็นต้น โดยเมื่อดูความนิยมใช้คำศัพท์ "กระต่ายขูดมะพร้าว" ที่นิยมกันมากกว่า "เหล็กขูด"

kratai kood maprao 2

วิธีการขูดมะพร้าว

ท่าทางขูดมะพร้าวของผู้ชายและผู้หญิงมีความแตกต่างกัน โดยหากผู้ชายเป็นคนขูด มักจะนิยมนั่งคร่อมกระต่ายขูดมะพร้าว ในขณะที่ผู้หญิงจะนั่งไพล่หรือนั่งพับขาไปทางด้านใดด้านหนึ่งของกระต่ายขูดมะพร้าว วิธีการขูดมะพร้าวของชาวบ้านจะขูดเบาๆ ไม่กดแรงเกินไป เพราะจะทำให้ได้เนื้อมะพร้าวหยาบ ชิ้นใหญ่คั้นกะทิยาก หากขูดเบาๆ แล้วเนื้อมะพร้าวจะเป็นฝอยละเอียด คั้นน้ำกะทิง่ายและได้ปริมาณมากกว่าด้วย

ปกติการขูดมะพร้าวใช้ปรุงอาหารเฉพาะครอบครัว ต้องขูดในระหว่างเตรียมอาหารขณะนั้น ไม่นิยมขูดเนื้อมะพร้าวไว้ล่วงหน้านานๆ เพราะจะทำให้เนื้อมะพร้าวเหม็นบูด (มีกลิ่นหืน) ถ้ามีการทำบุญเลี้ยงพระ งานบวช งานแต่งงาน หรืองานศพ ชาวบ้านซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกันจะมาช่วยขูดมะพร้าวไว้จำนวนมาก เมื่อใช้ปรุงอะไรก็หยิบใช้ได้ทันที อาหารคาวหวานอร่อยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกะทิมะพร้าวด้วย หากมีกะทิมันหรือที่เรียกว่า “แก่กะทิ” คือ คั้นกะทิปรุงอาหาร ชาวบ้านจะชอบเพราะมีรสดี นั่นเอง

kratai kood maprao 3

การขูดมะพร้าวโดยใช้กระต่ายขูดนับวันจะน้อยลง เพราะมีเครื่องมือขูดมะพร้าวชนิดใช้มือหมุน และแรงเครื่องยนต์เข้ามาแทนที่ ไปตลาดบอกแม่ค้าว่าจะเอากี่กิโล รอประเดี๋ยวเดียวก็ได้มะพร้าวขูดพร้อมนำไปคั้นกระทิแล้ว ส่วนชาวบ้านก็ไม่ค่อยทำโครงไม้เป็นรูปสัตว์ชนิดอื่นอีก เพราะไม่มีเวลาประดิดประดอย เพียงแต่ใช้เหล็กแผ่นๆ ทำเป็นเหล็กขูด และมีขาตั้งพื้นเชื่อมติดเป็นแผ่นเดียวกันเท่านั้น (ทำม้ารองนั่งด้วยไม้ธรรมดา ติดเหล็กขูดเข้าไปก็ใช้ได้แล้ว เหมือนในรูปที่เด็กนั่งขูด)

"การทำกระต่ายขูดมะพร้าว" รายการทุกทิศทั่วไทย ThaiPBS

 

ครุไม้ไผ่ : ภาชนะใส่น้ำ

เดี๋ยวนี้หายากแล้วกับ "ครุไม้ไผ่" เพราะมีครุถังเหล็ก ครุถังพลาสติก ราคาถูกมาแทนที่ "ครุ" คือ ภาชนะตักน้ำของชาวอีสาน ซึ่งสานมาจากไม้ไผ่แล้วนำมาลงน้ำมันยางผสมกับชัน (ภาษาอีสานเรียก ขี้ซี) มาทาโดยรอบทั้งด้านนอกด้านใน ปล่อยให้แห้ง สามารถเก็บกักน้ำได้เป็นอย่างดี

ครุ น. ถังตักน้ำ ถังตักน้ำที่สานด้วยไม้ไผ่ ทาชันผสมน้ำมันยาง เรียก คุ ทำด้วยไม้ไผ่เรียก คุไม้ไผ่ ทำด้วยสังกะสีเรียก คุสังกะสี. pail, bucket. "

 

ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ  โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

บางแห่งเรียก "กะป่อม" เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ทาชันเหมือนครุตักน้ำ แต่ทรงสูงก้นแหลม ใช้สำหรับหย่อนตักน้ำในบ่อลึก บางท้องถิ่นในภาคอีสานเรียก “แคง” ก็มี เรียก “ป่อม” ก็มี ส่วนภาคเหนือเรียกภาชนะชนิดเดียวกันนี้ว่า “น้ำถุ้ง” (รูปร่างป้อมเตี้ยกว่ากะป่อมอีสาน ส่วนหูใช้ไม้ตรึงติดกันเป็นรูปสามเหลี่ยม เพื่อให้ล้มตะแคงให้น้ำไหลเข้าได้ง่าย แต่หูของภาคอีสานจะใช้ไม้ไผ่โค้งต่อออกมาเป็นวงสำหรับหิ้ว)

krumaipai kapom

"กะป่อม" คือ ครุตักน้ำในบ่อ มีขนาดย่อมกว่าครุ ก้นกลมรูปร่างเป็นทรงครึ่งวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากกะป่อมประมาณ 1 ฟุต สานด้วยไม้ไผ่เหมือนครุใส่น้ำ (ครุก้นสี่เหลี่ยมสำหรับวางตั้งได้) ทาด้วยชัน (กันน้ำรั่ว) ส่วนกะป่อมจะก้นกลมแหลม เพื่อที่จะให้กะป่อมล้มลงบนผิวน้ำในบ่อลึกได้เอง ส่วนงวงหรือหูนั้นทำด้วยไม้ไผ่ขนาดหนาประมาณ 1 นิ้วฟุต หรือ ไม้กลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้วฟุต ต่อยึดกับตัวกะป่อมให้มั่นคง

nam sang

การใช้งานกะป่อม จะใช้เชือกผูกติดกับงวงกะป่อม หย่อนลงไปในบ่อน้ำ (ภาษาอีสานเรียก น้ำส่าง ถ้ามีขอบเป็นไม้โดยรอบแบบรูปด้านซ้ายมือเรียก ส่างแซ่ง) กะป่อมจะล้มตัวบนผิวน้ำจนน้ำเต็มกะป่อม คนตักน้ำก็จะสาวกะป่อมขึ้นมา มีน้ำเต็มกะป่อม นำน้ำใส่ในภาชนะอื่นๆ หรือครุใส่น้ำเพื่อหาบน้ำกลับไปใช้สอยที่บ้าน และใช้กะป่อมตักน้ำในบ่ออีก บางแห่งใช้คันไม้สำหรับเกี่ยวกะป่อมตอนตักน้ำในบ่อลึก เรียกว่า “คันกะป่อม” หรือ “คันป่อม”

deknoi hab nam

ในสมัยต่อมา ครุตักน้ำและกะป่อมไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากหาคนสานได้ยากขึ้น และมีราคาแพงกว่าถังน้ำสังกะสี หรือถังน้ำพลาสติกราคาถูก (งานหัตถกรรมเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ความพยายาม และความสนใจ ตั้งใจจริงเท่านั้น จึงมีน้อยคนที่คิดจะทำและสานต่อจากบรรพบุรุษ) ปัจจุบันครุไม้ไผ่จึงกลายไปเป็นของที่ระลึกเสียมากกว่านำมาใช้สอยกันในชีวิตประจำวันแล้ว

nam sang2
ถังเหล็ก แกลลอนพลาสติก มาแทนครุไม้ไผ่เกือบหมดสิ้นแล้ว

เกร็ดความรู้ "การหาตาน้ำ" ขุดส่าง

"วิธีการหาตาน้ำของชาวอีสานในอดีตก่อนขุดส่าง"
(เกร็ดความรู้จากภาพยนตร์ นายฮ้อยเลือดอีสาน)

ในอดีต "การขุดส่าง" เพื่อทำบ่อน้ำนั้น ใช่ว่าจะขุดลงไปแล้วน้ำจะผุดขึ้นมาเลย โดยเฉพาะการขุดส่างไว้บนโคก ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้งจากน้ำ โอกาสที่จะขุดลงไปแล้วเจอน้ำนั้นน้อยมาก ดังนั้น เราอาจจะเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน (ปู่ย่า-ตายาย) เล่าให้ฟังถึงเรื่องการเดิน "หาบคุขี้ซี" ไปตักน้ำมาใช้ในแต่ละวันตามโคกต่างๆ ที่มีการขุดส่างเอาไว้ บางโคกอาจจะไกลจากเฮือนหลายกิโลเมตร บางโคกอาจจะอยู่ใกล้หมู่บ้าน เช่น ส่างแส่งโคกป่ากุง ส่างแส่งโคกป่าแก ส่างแส่งโคกขี้เหล็ก ฯลฯ (คนอีสานจะตั้งชื่อสถานที่ตามลักษณะของภูมิประเทศและต้นไม้ที่มีมากหรือเป็นจุดเด่นในบริเวณ แม้การตั้งชื่อหมู่บ้านก็ด้วย) และส่างเก็บน้ำก็เป็นสิ่งที่ชาวบ้านร่วมแรงรวมใจขุดช่วยกัน จนมีวลีที่พูดกันเล่นว่า "ไผบ่ขุดบ่ให้ตักนำ"

nam sang3

เมื่อขุดเสร็จแล้ว "ส่าง" จะมีชื่อเรียกตามลักษณะการตกแต่ง เช่น ส่างที่การใส่ไม้กั้นทั้งสี่ด้าน ทำเป็นผนังลงไปและโผล่พ้นดินขึ้นมา เรียกว่า ส่างแส่ง คำว่า "แส่ง" ในภาษาอีสาน คือ ไม้ที่นำมากั้นดินทรุด หรือ เป็นสิ่งกำบังไม่ให้สิ่งอื่นรุกล้ำเข้าไปในสิ่งที่อยู่ในแส่ง เช่น แส่งฮ้านผัก กันไก่ไม่ให้เข้าไปเขี่ยผัก การใส่แส่งให้ส่างน้ำก็เพื่อไม่ให้ดินผนังส่างตกลงไปในบ่อ เดียวบ่อจะตื่นและไปอุดตาน้ำ ส่วนแส่งที่โผล่พ้นดินขึ้นมานั้นก็เพื่อไม่ให้สัตว์ หมู หมา วัว ควาย เดินตกส่าง บางส่างอาจจะใส่แส่งด้วยการปั้นดินขึ้น เรียกว่า ส่างแส่งดิน

แต่ประเด็นที่น่าสนใจและอยากนำเสนอผู้อ่านคือ "คนอีสานในอดีตนั้นรู้ได้อย่างไรว่า ตรงไหนมีตาน้ำ" มันเป็นไปไม่ได้ที่จะขุดดินแบบสุ่มเอา แบบมั่วๆขุดลึกตั้ง 3- 7 เมตร บางที่ 9 เมตรก็ยังมี แสดงว่า ต้องมีวิธีในการดูและเสาะหาแหล่งตาน้ำในพื้นที่อันแห้งแล้งอย่างเช่น โคก เป็นต้น

คนอีสานในอดีตมีภูมิปัญญาที่สั่งสมและตกทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะเรื่องน้ำ นั้นคือวิธีการหาตาน้ำเพื่อขุดส่าง

1. ดูจากต้นไม้

  • ดูจากต้นไม้เล็ก ต้นตองหมอง หรือ กระโดนจาน ต้นพังคี ต้นไม้เหล่านี้เกิดบนโคกแต่จะอาศัยเกิดขึ้นตรงที่มีตาน้ำ หากขุดบริเวณที่ต้นไม้ชนิดนี้เกิด ขุดลงไปตามรากจะพบตาน้ำ
  • ดูจากต้นไม้ใหญ่ ต้นจิก ต้นฮัง ที่เกิดเองตามธรรมชาติและมักเกิดขึ้นอยู่ตามโคก เพราะต้นไม้เหล่านี้ เป็นต้นไม้ทนแล้ง รากลึกหยั่งถึงตาน้ำ แผ่นดินแล้ง ไฟใหม้ก็ไม่ตาย ดังนั้นจึงมีการขุดส่างใต้ต้นจิก ต้นฮัง เพราะด้านล่างอาจมีตาน้ำ

2. ด้วยภาชนะ คือ คุขี้ซี คุขี้ซีนอกจากจะเป็นภาชนะที่คู่กันกับส่าง เพื่อใช้ตักและหาบน้ำแล้วยังสามารถหาตาน้ำได้

  • คู่ขี้ซี คือ ตะกร้าไม้ไผ่สานแล้วทาด้วยยางไม้ที่แห้งแล้ว น้ำมาบดเป็นผงผสมน้ำมันจากต้นยางหรือผสมน้ำมันก๊าซ น้ำมันมะพร้าวก็ได้ เรียกว่า ขี้ซี นำมาทาตะกร้าไม่ไผ่สาน เพื่ออุดรอยรั่วก็จะสามารถกับเก็บน้ำได้ เรียกว่า คุขี้ซี แล้ว "คุขี้ซี" ที่ว่านี้หาตาน้ำได้อย่างไร? วิธีคือ เอาคุขี้ซีมาตัดฮวงจับ หรือหูหิ้วออก คุจะต้องไม่รั่วจากนั้นนำคุขี้ซีไปวางคว่ำไว้ในพื้นที่ที่คิดว่าจะมีตาน้ำ ถางหญ้าออกก่อนวาง เมื่อวางคว่ำไว้แล้วให้นำดินถมขอบคุเอาไว้ไม่ให้อากาศเข้าไป น้ำกิงไม้มาปกคลุมคุเอาไว้ จากนั้นวันสองวันมาเปิดดู หากเห็นว่ามีไอน้ำหรือความชื้นขึ้นที่คุด้านในก็แสดงว่าตรงนั้นมีตาน้ำ ก็จะลงมือขุด

วัฒนธรรมการตักน้ำของคนอีสานในอดีต ทำให้เกิดเรื่องราวมากมายแตกแขนงออกไป เช่น การจีบพลอดรักกันของหนุ่ม-สาว การไปตักน้ำส่างเป็นโอกาสให้หนุ่มได้พบรัก หนุ่มบางคนไปดักรอพบสาวที่น้ำส่าง บางคู่นัดกันที่ส่าง ต้องตื่นแต่เช้า หรือตื่นแต่ดึกเพื่อไปนั่งรอน้ำออกส่าง บางครั้งน้ำไม่ออกส่าง ผู้ชายก็จะลงไปขุดตาน้ำ เพราะดินอาจจะไปอุดตาน้ำเอาไว้

nam sang4

เมื่อน้ำออกบ่อพอที่จะตักได้แล้ว ฝ่ายผู้หญิงก็จะต้องตักน้ำให้ผู้ชายไว้อาบก่อน มันเป็นธรรมเนียม ถึงสาวจะไม่ชอบผู้ชายคนนั้นก็ตาม เมื่อเขามาจีบ จะต้องตักน้ำให้เขาอาบก่อน เป็นมารยาททางสังคม เกิดเป็น "เนินสาวเซา" หมายถึง เนินที่สาวๆ หาบน้ำมาแล้วเมื่อย ก็จะหยุดพักกลางทาง สถานที่หยุดพักน้ำนั้น เรียกว่า เนินสาวเซา คำว่า เซา แปลว่า หยุด หนุ่มๆ ก็จะไปรอจีบสาวที่เนินสาวเซา บางคนก็อาสาหาบน้ำให้สาวที่ตนชอบจนถึงบ้าน เกิดเป็นตำนานรักเล่าให้ลูกหลานได้ฟังกันต่อๆ มา

 

 โฮงกะบอง/ขี้ไต้ | โบม | กระต่ายขูดมะพร้าว | ครุไม้ไผ่ | ครกมอง | โม่หิน (โม่แป้ง) | ตะเกียงเจ้าพายุ | กระบวย ไหปลาแดก

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)