คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
แฟนๆ ของวงดนตรีลูกทุ่งพูดอีสาน "เพชรพิณทอง" ของ นพดล ดวงพร น่าจะเคยได้ยินชื่อนักแต่งเพลงเบื้องหลังของวงดนตรีวงนี้ที่ นพดล ดวงพร กล่าวถึงเสมอๆ ว่าผู้แต่งเพลงนี้คือ อาจารย์สัญญา จุฬาพร วันนี้เรามาทำความรู้จักกับนักร้องและนักประพันธ์เพลงท่านนี้กัน
สัญญา จุฬาพร หรือชื่อจริงคือ นายสวัสดิ์ สิงประสิทธิ์ หรือ สันต์ ศิลประสิทธิ์ คือ คนเดียวกัน เกิดวันที่ 14 มิถุนายน พุทธศักราช 2476 เกิดในครอบครัวคนจน บิดา-มารดา นายเจียม และนางศรีนวล สิงประสิทธิ์ เชื้อสายทางบิดามาจากเมืองจีน เชื้อสายทางมารดามาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ มีพี่น้องร่วมท้อง 3 คน ที่ ตำบลกกบก อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น (ตัวบ้านที่เกิดปัจจุบัน ไม่หลงเหลือซากและเค้าเดิม ว่ากันว่าบ้านท่านอยู่แถว ร้านศึกษาภัณฑ์ ที่อยู่ตรงข้ามสวนรัชดานุสรณ์ นั่นเองครอบครัว) ประกอบอาชีพเยี่ยงเดียวกับครอบครัว “เจ๊ก” (คนจีน) ทั่วไปในเมืองใหญ่ คือ ค้าขายในตลาด ปัจจุบันคือ ตลาดสดขอนแก่น สมัยก่อนข้างๆ ตลาดสดยังเป็นโรงภาพยนตร์ อาชีพของครอบครัวคือ ขายขนม แต่ไม่ได้ทำให้ฐานะทางครอบครัวดีนัก ในวัยเด็กระเหเร่ร่อนหลังจากจบชั้น ป.1-2 ที่โรงเรียนเทศบาล 2 สวนสนุก
เมื่อลูกๆ โตขึ้นครอบครัวก็ยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่าย และยิ่งทวีภาระให้กับพ่อแม่ จนกระทั่งพี่สาวไปแต่งงานกับพนักงานรถไฟ และย้ายไปประจำตามสถานีต่างๆ วิถีของลูกรถไฟ และล่าสุดย้ายลงใต้ไปอยู่ สถานีรถไฟทุ่งสง สวัสดิ์จึงได้ตามพี่สาวไปเรียนระดับชั้น ป. 2-3 ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชั้น ป.4 เรียนที่จังหวัดตรัง (ย้ายตามพี่เขย) แล้วมาต่อชั้น ม.1-5 ที่โรงเรียนสงเคราะห์ประชา จังหวัดสงขลา ยังไม่จบมัธยมปลาย มีเหตุให้ต้องออกกกลางคัน
ต่อมา แม่ได้เดินทางจากจังหวัดขอนแก่นไปขออาศัยอยู่กับพี่สาวและพี่เขยด้วย ทำให้ครอบครัวพี่สาวและพี่เขยมีปัญหามากขึ้นอีก (เรื่องความเป็นอยู่และค่าใช้จ่าย) เขาจึงตัดสินใจเดินทางจากใต้เพื่อหวังจะไปทำงานที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว กับเพื่อนอีกคนหนึ่งชื่อ สุชาติ โดยพอไปถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองที่หนองคาย ไม่มีเอกสารใดๆ ไปแสดงจึงได้ถูกส่งตัวกลับไม่ได้ไปทำงานที่เมืองลาวตามความฝัน
ขาไปที่ว่าลำบากแล้ว แต่ขากลับกลับยิ่งหนักหน่วงกว่า เพราะขาไปมีความฝันเป็นแรงขับเคลื่อน ส่วนขากลับมีแต่ความผิดหวังเป็นเพื่อนร่วมทาง ไหนจะต้องกลับไปสู่สภาพเดิม ๆ และยิ่งความผิดที่หนีออกจากบ้าน คงเป็นข้อหาหนักรออยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องกลับปักษ์ใต้ไปสู้กับความเป็นจริง
แต่การจะกลับไปสู่ความเลวร้ายก็ใช่ว่าจะง่ายดาย ทั้งคู่ต้องเอาแรงเข้าแลก เพื่อหาเงินเป็นค่าเดินทางและค่าอยู่ค่ากินระหว่างทาง ต้องรับจ้างขุดดิน ตัดไม้ และงานใช้แรงงานสารพัดตลอดรายทางตั้งแต่อีสาน-สงขลา โดยใช้เวลาเดินทางไปและกลับร่วม 3 เดือน และประสบการณ์ช่วงนี้เองที่เขาได้เอามาเป็นวัตถุดิบในการเขียนเพลง
และพอกลับถึงบ้าน สวัสดิ์เข้าเรียนต่อในโรงเรียนเดิมอีกครั้งจนจบ พร้อมกับสอบเข้าเป็นตำรวจ สอบผ่านแต่ต้องรอผล (เพราะมีการทุจริตในการสอบ ทางการระงับผลเพื่อทำการสอบสวน) เจ้าตัวไม่อยากรอนาน จึงเดินหน้าเข้าเมืองกรุงอีกครั้ง มุ่งตามฝัน เพราะฝันลึก ๆ ของเขาอยากเป็นนักร้อง
ได้มาหาที่พักพิงที่วัดสิริอำมาตย์ หลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ แถบคลองหลอด หลังศาลอาญา สนามหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีพระและลูกศิษย์เป็นชาวปักษ์ใต้จำพรรษาและอยู่กันมาก จากนั้นก็เดินไปอีกซอย และตรงไปที่ซอยอำนาจศิริ ที่สำนักงานของวงดนตรีของ ครูล้วน (ล้วน ควันธรรม) นักร้องดังแห่งยุค ด้วยเสียงเพลงที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง เจ้าของเสียงอมตะมากหลาย แม้ในปัจจุบัน และแม้ตัวครูจะลาโลกไปนาน แต่เสียงเพลงของ ครูล้วน ควันธรรม ก็ยังอยู่คู่วงการและผู้ฟังชาวไทย เช่นเพลง แหวนประดับก้อย คำปฏิญาณ เสียงกระซิบสั่ง ค่ำแล้วในฤดูหนาว ผีเสื้อกับดอกไม้ เพลินเพลงเช้า ระกำดวงจิต พรานเบ็ด ใจเป็นห่วง เป็นต้น
ครูล้วนรับสวัสดิ์ไว้เป็น “คนถือกระเป๋า” มีหน้าที่ล้างรถ วิ่งซื้อของ ส่งจดหมาย ตลอดจนติดตามครูไปงานรับเชิญ ขณะเดียวกัน เขาได้ฝึกหัดเรียนโน้ตดนตรีสากลจากครูล้วนพอได้แนวทาง ซึ่งขณะนั้น เป็นช่วงที่ครูล้วนลาออกจากวงดนตรีกรมโฆษณาการ ที่ก่อตั้งโดย หลวงสุขุมนัยประดิษฐ เมื่อ พ.ศ. 2482 โดยครูเป็นนักร้องแรกร่วมรุ่นกับ รุจี อุทัยกร, มัณฑนา โมรากุล
ครูล้วนตั้งวงดนตรีของตัวเอง เป็น วงดนตรีแชมเบอร์ มิวสิก ขนาด 4 คน มีงานเล่นประจำที่ศาลาเฉลิมกรุง และตระเวนเล่นตามวิกทั่วไป หน้าที่ของคนถือกระเป๋าจึงพอมีความสำคัญอยู่บ้าง ขณะเดียวกัน ครูล้วนก็ดัดแปลงดนตรีประกอบหนังตะลุงของภาคใต้ ให้เข้ากับจังหวะสากล เรียกว่า “ตะลุงเทมโป้”
สำหรับสวัสดิ์แล้ว แม้ครูจะมีชื่อเสียงและมีความสามารถ แต่ก็ไม่ตอบโจทย์ของเขา เขาอยากเป็นนักร้อง อยากมีชื่อเสียง และอยากมีเงิน เขาถือกระเป๋าให้ครูล้วนอยู่ได้ไม่นานก็ลาออก เมื่อเห็นว่า สมยศ ทัศนพันธ์ กำลังเป็นนักร้องดาวรุ่งพุ่งแรง เจ้าของเสียงเพลง เซียมซีเสี่ยงรัก รอยแผลเก่า น้ำตาผู้ชาย ดาวร่วง รักครั้งแรก ขวัญอ่อน เกร็ดแก้ว เป็นต้น นักร้องและนักแต่งเพลงประจำกองดุริยางค์ทหารเรือ ผู้ชื่นชอบเพลงของ ครูล้วน ควันธรรม โดยใช้เพลง “บางปู” ของครูล้วนสมัครเข้ากองดุริยางค์ฯ และได้รับการบรรจุเข้ารับราชการรุ่นเดียวกับ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, เสน่ห์ โกมารชุน, สมศักดิ์ เทพานนท์ และ ปิติ เปลี่ยนสายสืบ
สวัสดิ์อยู่กับสมยศในตำแหน่งเดิมกับที่เคยอยู่กับครูล้วน คือ คนถือกระเป๋า แต่ได้เขยิบฐานะเข้าใกล้วงการเพลง ด้วยการเป็นผู้จดบันทึกเพลงที่สมยศประพันธ์ และนานเข้าเขาก็ช่วย “พี่ยศ” แต่งเพลง และมีหลายเพลงที่เขามีส่วนร่วมในการประพันธ์แต่ไม่มีชื่อร่วม ซึ่งเขารู้สึกคุ้มค่าและพอใจในฐานะความเป็นอยู่ และอยู่กับสมยศยาวร่วม 10 ปี ซึ่งในระยะหลังที่สมยศรับราชการจนมียศเป็นเรือตรี และลาออกจากราชการในที่สุด แล้วตั้งวงดนตรี สมยศ ทัศนพันธ์ และออกเดินสายทั่วประเทศ
ความจำเจ ผสมปนเป กับกระแสความนิยมของสมยศตกต่ำลงทุกขณะ เขาเริ่มมีปากเสียง ทะเลาะเบาะแว้งกับสมยศ ประสาคนรักใคร่ และอยู่กันมายาวนาน จนที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากวงดนตรี บ่ายหน้าสู่อีสาน เปลี่ยนอาชีพชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ คือเป็น ชาวไร่ข้าวโพด โดยไปอยู่กับทหารสรรพาวุธจากสงขลา ที่ไปรับราชการที่กรมสรรพาวุธที่ปากช่อง และมีไร่ข้าวโพด
“ทำไร่ไม่รุ่ง” การทำไร่ที่อาศัยพันธุ์ข้าวโพด ปุ๋ย ยา จากนายทุน แล้วขายผลผลิตเมื่อเก็บเกี่ยว อันเป็นการทำไร่แบบพันธสัญญา แบบไทยๆ ที่เปิดโอกาสให้นายทุนเอาเปรียบเกษตรกร และไม่มีทางที่เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้ สวัสดิ์ สิงประสิทธิ์ ทนก้มหน้าทำไร่ข้าวโพดอยู่เพียงปีเดียวก็เริ่มมองหาทางออกให้ชีวิต
เมื่อวงดนตรีจุฬารัตน์ ของ ครูมงคล อมาตยกุล มีนักร้องชูโรงอย่าง ทูล ทองใจ, พร ภิรมย์ กำลังดังสุดขีด ปอง ปรีดา ที่โด่งดังมานมนาน “กุงกาดิน” ชื่อนักร้องของ ครูนคร ถนอมทรัพย์ พร้อมด้วย วันทนา สังข์กังวาน ประจวบ จำปาทอง ขณะที่ยังไม่มีแววของนายห้าง ได้เดินสายมาทำการแสดงที่โรงภาพยนตร์ที่ปากช่อง เขาจึงนำเพลงที่แต่งไว้ในช่วงที่ทำไร่ และร้องคร่าวๆ ให้ “ครูมงคล” ฟัง เพลงนี้คือเพลง กระท่อมชาวไร่ เนื้อร้องมีว่า
..พี่นี้ไม่มีสมบัติพัสถาน ที่จะบันดาลวิมานห้องหอ มีเพียงกระท่อมไม้ไผ่ ของชาวไร่มอซอ…."
เมื่อครูมงคลตอบตกลง เขาจึงอำลาไร่ข้าวโพดเข้ากรุง ตรงไปที่สำนักงานย่านวัดโบสถ์ สามเสนและร่วมงานกับวงดนตรีจุฬารัตน์ และที่นี่ ครูมงคล ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น “สัญญา จุฬาพร” และที่นี่อีกเช่นกัน ที่ทำให้สัญญา จุฬาพร ได้รู้จักกับ “นพดล ดวงพร” ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักร้องในวงจุฬารัตน์ สัญญา จุฬาพร ได้แต่งเพลงให้กับ นพดล ดวงพร ซึ่งเป็นเพลงที่ได้เค้าทำนองมาจากลาว ที่นำมาให้โดยตัวนพดล จนเป็นเพลง "หนุ่มอุบล" ดังเนื้อร้องมีว่า
… เดือนหก นกกาเหว่ามันฮ้อง ยูงทองออกมาร้องรำแพน จากถิ่นหากินไกลแดน นกยูงรำแพนจากแดนมาไกล.. "
ด้วยความชื่นชอบงานประพันธ์ และบทเพลงมาตั้งแต่ยังเด็ก จึงมีผลงานซึ่งเป็นบทเพลงจำนวนมาก เพลงแรกที่ได้รับบันทึกเสียงคือ “น้ำมนต์น้ำตา” โดย สมยศ ทัศนพันธ์ เป็นผู้ขับร้อง และมีโอกาสร่วมแต่งเพลงกับครูสมยศอีกหลายเพลง เป็นต้นว่า “ทำคุณได้โทษโปรดสัตว์ได้บาป” “เสียงขลุ่ยระทม” และยังได้ขับร้องบันทึกเสียงเพลงแรก ชื่อ “วิญญาณรัก” และ “ป่าเหนือรำรึก” สมัยนั้นถือว่าสำเร็จพอประมาณ ผลงานสร้างชื่อที่มีคนรู้จักแต่งโดยใช้ชื่อ ส.จุฬาพร สัญญา จุฬาพร คือ เพลง “แม่” หรือ “พระคุณแม่” “ลาก่อนบางกอก” “ซามาคักแท้น้อ” ซึ่งขับร้องโดย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ “เซิ้งสวิง” “หนุ่มเมืองเลย” ขับร้องโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ “ดำขี่หลี” “อีสานบ้านเฮา” ขับร้องโดย นกน้อย อุไรพร “หนุ่มอุบล” และ “พ่อหม้ายเมียหนี” นพดล ดวงพร เป็นผู้ขับร้อง และยังมีอีกหลายเพลง
สัญญา จุฬาพร สามารถนำรูปแบบเพลงพื้นบ้าน รวมถึงหมอลำ มาประยุกต์เป็นลูกทุ่งได้อย่างกลมกลืน เป็นเอกลักษณ์สะท้อนแนวคิดท้องถิ่นนิยม อันเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่บริสุทธิ์งานของท่านจึงมีกลิ่นไอความเป็นท้องถิ่นพื้นบ้านอย่างมีเสน่ห์ชวนฟังเป็นที่สุด
นายสัญญา สิงประสิทธิ์ ได้รับเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ ประเภทประพันธ์ (ลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช 2551 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อเวลา 17.20 น. วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา วงการลูกทุ่งสูญเสีย ครูสัญญา จุฬาพร ในวัย 90 ปี ด้วยโรคชราและโรคแทรกซ้อน หลังจากเกิดอาการท้องเสีย อาเจียนและญาตินำส่งโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ญาติตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่ศาลา1 วัดเขียนเขต ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี สวดพระอภิธรรมวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2566 เวลา18.00 น. ฌาปนกิจวันที่16 พฤษภาคม 2566 เวลา 16.00 น.
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)