คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นกน้อย อุไรพร หรือ นางอุไร สีหะวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2500 ที่บ้านจอม ตำบลยางชุมน้อย อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบุตรของนายสม และนางผัน สีหะวงศ์ จบการศึกษาภาคบังคับ ป.4 ด้วยคะแนนเป็นที่หนึ่งของชั้น คุณครูประจำชั้นมาหานายสมนางผันถึงบ้าน แล้วแนะนำว่า พ่อแม่น่าจะส่งอุไรให้ได้เรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้น เพราะเด็กคนนี้มีแววจะไปได้ดี อ่านชัด เขียนคล่อง กล้าแสดงออก แต่คุณครูก็ต้องหอบความปรารถนาดีกลับไป เมื่อนายสมกับนางผันบอกว่า "ไม่มีปัญญา ทุกวันนี้ก็ทำไร่ทำนาหากินไปวันๆ จะเอาเงินทองที่ไหนส่งเสียเมื่อเรียนสูงยิ่งขึ้นไป" และที่สำคัญ อุไรเป็นเด็กผู้หญิง จะไปอยู่ต่างถิ่นต่างแดนอย่างไรได้ ญาติพี่น้องในเมืองก็ไม่มีซักคน
เป็นศิลปินลูกทุ่งหมอลำ นกน้อยเริ่มต้นการเข้าสู่วงการบันเทิง โดยเข้าประกวดร้องเพลงที่สถานีวิทยุ จนเธอกวาดรางวัลชนะเลิศมาทุกเวที ด้วยคะแนนที่เป็นเอกฉันท์ปราศจากข้อกังขา และได้เข้ามาอยู่ในวงการดนตรีกับ วงดนตรีเพชรพิณทอง ของพ่อนพดล ดวงพร ในตำแหน่งหางเครื่อง และได้เป็นนักร้องของวงในเวลาต่อมา
ซึ่งเพลงที่ได้รับการบันทึกเสียงคือ "นกจ๋า" ได้รับความนิยมสูงสุด เจ้าของวง "พ่อนพดล ดวงพร" ตั้งชื่อใหม่ให้เป็น "นกน้อย อุไรพร" ซึ่งที่มาของชื่อนั้นได้มาจากการนำเอาเพลง "นกจ๋า" มาเป็นเหมือนตัวแทนก็คือ "นกน้อย" และเอาชื่อจริงคือ "อุไร" มาบวกกับคำสุดท้ายของนามสกุลของนพดล คือคำว่า "พร" มารวมกันจนกลายเป็น "นกน้อย อุไรพร" นั่นเอง
เมื่อปี พุทธศักราช 2518 ย้ายมาสังกัด "บ้านพักทัมใจ" โดย อาวทิดหลอด "มัยกิจ ฉิมหลวง" นักจัดรายการทางสถานีวิทยุชื่อดังในจังหวัดอุดรธานี และได้แต่งงานกันในที่สุด
หลังจากนั้นก็ตั้งวงดนตรี "นกน้อย อุไรพร" แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมและขาดทุน เนื่องจากไม่มีการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอน ซึ่งเป็นการนำนิทานพื้นบ้าน หรือเรื่องเล่ามาเล่นกันเป็นเรื่องราว แล้วแทรกการร้องเพลงไว้ด้วย จึงเป็นจุดด้อยที่ทำให้ไม่มีใครว่าจ้าง
หลังจากพักวงไปได้ไม่นาน จึงปรับการแสดงและการจัดวงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ภายใต้ชื่อวง "เสียงอิสาน" หลังจากเริ่มวงครั้งใหม่ 10 ปีต่อมา เป็นระยะเวลาที่บ่มเพาะประสบการณ์ของวง ทำให้เป็นที่นิยมกันมากในแถบถาคอีสาน จนมีงานจ้างทั่วประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยจุดเด่นใหญ่ที่ทำให้ผู้ชมติดตามและสนใจนั่นคือ "ตลกหน้าเวที" พร้อมนักแสดงนับ 500 ชีวิต และการแสดงที่หลากหลายทั้งดนตรีลูกทุ่ง ตลกหน้าเวที การแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอน และชุดการแสดงที่อลังการบนเวทีขนาดใหญ่
เรื่องราวที่เข้ากันได้อย่างลงตัว หลังจากยกเครื่องปรับปรุงทีมงานการแสดงได้ไม่นานนัก วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำคณะ "เสียงอิสาน" ก็ได้รับการกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางเป็นไฟลามทุ่ง การจับจองคิวการแสดงต้องจองกันข้ามปีเลยทีเดียว
การแสดงทั้งหมดนำทีมโดย นกน้อย อุไรพร และลูกวงที่สำคัญอย่าง ลูกแพร-ไหมไทย อุไรพร, ปอยฝ้าย มาลัยพร, คำมอส พรขุนเดช, น้องแป้ง ณัฐธิดา, ดาวทอง, ดาวน้อย, ดาวตลก, ดาวรุ่ง และอีกมากมายที่มาสลับปรับเปลี่ยนทีมงานตามกาลเวลา
เมื่อร้องลำจนเก่งแล้ว นกน้อย อุไรพร จึงลองหัดแต่งกลอนลำ ร้องเอง ต่อมาก็แต่งให้นักแสดงในวงนำไปร้อง ลำเรื่องต่อกลอนของคณะเสียงอิสาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ฮอยปานดำ, ฮอยปูนแดง, วงเวียนชีวิต และอีกหลายๆ เรื่อง ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของ นกน้อย อุไรพร
ชื่อเสียงของคณะเสียงอิสานเริ่มขยายวงกว้างเป็นไฟลามทุ่ง ด้วยทีมงานที่ยิ่งใหญ่ ขบวนคอนวอย (รถบัสแะรถบรรทุกที่ขนส่งนักร้อง เวทีการแสดง ระบบไฟแสง-เสียง) ที่ยาวเหยียด เวทีขนาดใหญ่หลายชั้น ประดับด้วยไฟแสงสีเสียงตระการตา พร้อมทั้งการแสดงอันตื่นตาตื่นใจ และรูปแบบของเวทีขนาดใหญ่ แบบใหม่โดยใช้รถ 6 ล้อ 2 คันกางปีกออก แล้วก็จัดยกสเต็ป(ชั้น)ใช้ระบบไฮดรอดริกส์ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง และรูปแบบการแสดงใหม่ๆ ของลูกวงนับร้อยชีวิต ชุดประกอบการแสดงเป็นคันรถขนาดใหญ่
ปัจจุบัน นกน้อย อุไรพร ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ราชินีหมอลำในยุคปัจจุบัน" อีกคนหนึ่ง
นกจ๋า - นกน้อย อุไรพร
ศิลปินมรดกอีสาน : นางอุไร ฉิมหลวง (นกน้อย อุไรพร)
สาขาศิลปะการแสดง ประเภทหมอลำเรื่องต่อกลอน ประจำปีพุทธศักราช 2561
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)