คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันอยู่ที่ บ้านคำแคน ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ) พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานอีกรูปหนึ่งแห่งภาคอีสาน ที่มีวัตรปฏิบัติเป็นที่น่าเลื่อมใส
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เกิดในสกุล นรมาส เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 ตรงกับวันเสาร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ที่เลขที่ 28 หมู่ที่ 12 บ้านแหล่งมันแกว ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) บิดาท่านชื่อ ลา มารดาชื่อ แหวะ สกุลเดิม วงศ์จันทร์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คนท่านเป็นบุตรคนที่ 6
บรรพบุรุษของท่านอพยพมาจากเวียงจันทน์ สปป.ลาว เป็นอุปฮาดของเมืองเวียงจันทน์ เมื่อมีภัยสงครามเกิดขึ้น เวียงจันทน์แตก อุปฮาดผู้เป็นต้นตระกูลก็พาครอบครัวอพยพมา ครั้งแรกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลหนองวัวลำภู ต่อมาย้ายถิ่นฐานบ้านช่อง กระทั่งท้ายที่สุดมาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี
บิดามีอาชีพทำนา และมีความรู้ทางด้านสมุนไพรมาก เพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงได้อาศัยเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย คือเป็นหมอประจำหมู่บ้าน เป็นที่รักใคร่นับถือ และได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งบิดาของท่านก็ดำรงตำแหน่งนี้มาตลอดจนถึงแก่กรรม ขณะนั้นท่านอายุได้ 16 ปี
ช่วงวัยเด็กท่านได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนบ้านโคกกลาง ตำบลมะยาง อำเภออำนาจเจริญ และเข้าไปศึกษาในระดับมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัด ชีวิตการเรียนของท่านสอบได้ที่ 1 มาตลอด ได้รับคำชมเชยยกย่องจากครูบาอาจารย์ ทั้งในด้านการเรียน และในด้านความประพฤติ จนครูเชื่อถือรักใคร่ ให้ช่วยสอนเพื่อนนักเรียนแทนครูตลอด เป็นประจำทุกชั้นเรียน
เมื่อท่านอายุได้ 14-15 ปี ได้พบพระธุดงค์ มาปักกลดอยู่ใกล้บ้านก็บังเกิดความเลื่อมใสตั้งปณิธานว่าต่อไปจะบวชอย่างท่านบ้าง พระธุดงค์ได้มอบหนังสือ “ไตรสรณาคมน์” ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แห่งวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา มาให้ หนังสือนี้นอกจากสอนให้พุทธศาสนิกชน รู้จักการเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริงแล้ว ได้สอนวิธีปฏิบัติภาวนาด้วย
ท่านบังเกิดความคิดเลื่อมใสศรัทธา จึงจะลองปฏิบัติตามหนังสือนั้น เริ่มสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรต่อ แล้วนั่งสมาธิหัดบริกรรม “พุทโธ ...พุทโธ...พุทโธ” จนกระทั่งปรากฏว่าจิตรวม จิตกับกายแยกกัน ไม่เหมือนกัน จิตอยู่เฉพาะจิต กายอยู่เฉพาะกาย เวทนาใดก็ไม่มีปรากฏเลย
ท่านเล่าว่า เวลานั้นก็ไม่รู้จักอะไรลึกซึ้ง ด้วยหัดเอง ทำเอง ทำตามลำพังคนเดียว ไม่มีผู้รู้มาสอนให้ก้าวหน้าขึ้น ได้แต่รู้สึกว่า นั่งสมาธิแล้วก็สบายดี กายเบา จิตขาวนิ่มนวลผ่องใส เหมือนนั่งนอนอยู่อากาศอันนิ่มนวล ทำให้จิตใจดูดดื่มมาก นึกอยากจะภาวนาเสมอๆ ถ้าวันไหนใจไม่สบาย ก็ต้องเข้าที่นั่งภาวนา สงบใจเสมอ
ภายหลังระหว่างทำงานได้รับหนังสือ “จตุราลักษณ์” ของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล มาอ่านเพิ่มเติมสติปัญญาอีก เมื่อท่านอ่านไปถึง มรณานุสติ จิตก็สลดสังเวชว่า เราก็ต้องมีตายอยู่นั่นเอง และในหนังสือนั้น ท่านพระอาจารย์เสาร์ฯ ก็ได้ย้ำถึงเรื่องกรรมว่า
คนเราต่างมีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เมื่อยังมีชีวิตอยู่ กรรมนั้นจักเป็นทายาทให้เราได้รับผลกรรมนั้นต่อๆ ไป คือ หมายความว่า กรรมต่างจำแนกสัตว์ให้เป็นไปต่างๆ นานา ให้เลว ให้ดี ให้ชั่ว ให้ประเสริฐ
เมื่ออ่านกันถึงตอนนี้ ท่านก็บังเกิดความสลดสังเวชใจอย่างยิ่ง นึกว่า คนเราที่เกิดมา ถ้าไม่ประกอบคุณงามความดี ก็ไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตของตน และไม่มีโอกาส ที่จะได้รับความสุขต่อไปในชาติหน้าอีก ศรัทธาในพระศาสนาก็เพิ่มพูนขึ้น
กล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้มีนิสัยฝักใฝ่ในทางธรรมะมาแต่เด็ก นอกจากการวิ่งเล่นซุกซน สนุกสนานตามวิสัยเด็กน้อยแล้ว สำหรับนิสัยทางสร้างบาปสร้างกรรมไม่มีเลย ท่านเล่าเสมอว่า ท่านไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ส่วนการหยิบฉวยลักขโมยนั้น แม้แต่เข็มสักเล่มเดียว ก็ไม่เคยหยิบฉวยของใครเลย
เมื่อเรียนจบชั้น ม.6 สมัครเข้ารับราชการที่ กรมทางหลวงแผ่นดิน อยู่นานถึง 4 ปี จนอายุครบ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทฝ่ายมหานิกาย ที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ โดยมีหลวงพ่อบุ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “จวน กลฺยาณธมฺโม”
พรรษาแรก สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี ระหว่างที่บวชเป็นพระบ้านอยู่นั้น ท่านปรารถนาจะออกธุดงค์ เจริญรอยตามพระธุดงคกัมมัฏฐาน ที่เคยกราบคารวะเมื่อยังเด็ก จึงคิดจะญัตติเป็น 'ธรรมยุต' เพื่อออกธุดงค์ เมื่อไปขอลาอุปัชฌาย์ ท่านไม่ให้ญัตติ ให้สึกเสียก่อน ท่านจึงตัดสินใจลาสิกขาบทออกมาเป็นฆราวาสก่อนชั่วคราว
ออกมาประกอบอาชีพเป็นช่างเย็บผ้า ทำงานขยันขันแข็งหามรุ่งหามค่ำจนล้มป่วยหนัก เมื่อหายป่วย ท่านได้เดินทางไปแสวงหาอาจารย์ฝ่ายธรรมยุตกัมมัฏฐาน ได้มาพบที่สำนักวัดป่าสำราญนิเวศน์ อำเภออำนาจเจริญ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ท่านพระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌายะ ท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ อุปัชฌาย์เพิ่งได้รับแต่งตั้งและมาบวชท่านเป็นองค์แรก จึงตั้งฉายาให้ท่านว่า “กุลเชฏโฐ” แปลว่า พี่ชายใหญ่ที่สุดของวงศ์ตระกูลนี้ องค์ที่สองที่อุปัชฌาย์บวชต่อมา คือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมมวโร แห่งวัดป่าแก้ว บ้านชุมพล ซึ่งท่านอาจารย์จวนได้มานั่งหัตถบาถอยู่ด้วย
เริ่มปฏิบัติกัมมัฏฐานโดยบริกรรมด้วยคำว่า “พุทโธ” และงดฉันอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิด ฉันแต่มังสวิรัติอย่างเดียว ด้วยเป็นอาหารธรรมชาติ ทำให้จิตใจเบาสบาย คลายความกำหนัดในกามคุณ ไม่ตกเป็นทาสของลิ้น
ต่อมาท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปยังมุกดาหาร และไปนมัสการพระธาตุพนม ระหว่างทางอาศัยที่พบเห็นเจริญอสุภกัมมัฏฐาน พิจารณาเห็นความจริงในเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นตามลำดับ และเดินทางแสวงวิเวกไปเรื่อย หยุดพักตามป่าช้าแต่เพียงลำพัง ด้วยจิตใจอันกล้าหาญ
ในช่วงระหว่างจำพรรษาที่วัดบ้านนาจิกดอนเมย บ้านหนองปลิง ตำบลนาจิก อำเภออำนาจเจริญ ท่านปฏิบัติกัมมัฏฐานด้วยการไม่หลับนอนตลอดระยะเวลา 3 เดือน และฉันอาหารมังสวิรัติ ปรากฏว่าทำสำเร็จได้ผลดีในทางกำลังใจ และมีสติสัมปชัญญะเข้มแข็ง สามารถใช้สติควบคุมจิตได้ดีขึ้น ตามหลักมหาสติปัฏฐานนอกจากนี้ ยังออกเที่ยวแสวงวิเวกบำเพ็ญเพียร ตามป่าเขาลำเนาไพรแถบเทือกเขาภูพาน ธุดงค์ขึ้นไปทางเชียงใหม่และเชียงตุงด้วย
พระอริยคุณคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ได้พาพระอาจารย์จวนมาฝากไว้กับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร หลวงปู่มั่น อบรมสั่งสอนพระอาจารย์จวนว่า การปฏิบัติกัมมัฏฐานต้องมุ่งมรรคผลนิพพาน ต้องมีความเพียร ตั้งสัจจะทำจริงอย่างเด็ดเดี่ยว อีกทั้งยังสอนให้พิจารณากายคตาสติ คือให้ใช้สติเพ่งพิจารณาในร่างกายมีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น ให้เห็นว่าเป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียด ต้องคอยบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา
พระอาจารย์จวนปฏิบัติตามคำแนะนำของหลวงปู่มั่น สามารถรวมจิตใจให้สงบลงได้คล่องแคล่ว รวดเร็ว ถูกนิสัย นั่งสมาธิได้ตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง จนจิตผ่องใสสว่างโพลงเป็นปรากฏมหัศจรรย์ยิ่ง ท่านได้ออกธุดงค์ไปยังที่ต่างๆ ทั่วภาคอีสานจนไปถึงทางภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าพักที่วัดเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่ พักผ่อนวิเวกที่วัดนี้ประมาณ 3 เดือน คืนหนึ่งขณะนั่งภาวนาในโบสถ์มีนิมิตเกิดขึ้นว่า มีพระเถระรูปหนึ่งได้มาให้โอวาทตักเตือนว่า
ท่านจวน ถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่เขานั้น ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ ”
ท่านได้มาพิจารณาดู 'แผ่นดิน' แปลว่า ให้มีความหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน เมื่อถูกกระทบกระเทือนจากอารมณ์ก็อย่าวอกแวก ตั้งใจให้เป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวฟุ้งซ่าน ท่านจึงได้กราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นว่า
“กราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง เกล้ากระผมได้นั่งภาวนาแล้วเกิดนิมิต ปรากฏพระเถระผู้ใหญ่มาตักเตือนว่า – ท่านจวน ถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่เขานั้น ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ... ดังนี้ เกล้ากระผมเป็นผู้มีสติปัญญาน้อย ไม่สามารถจะรู้ว่าอะไรเป็นแผ่นดิน ขอนิมนต์พ่อแม่ครูอาจารย์โปรดประทานให้โอวามตักเตือนด้วย”
ท่านพระอาจารย์มั่นได้ตอบจดหมายมาว่า “ถึงท่านจวนที่อาลัยยิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้แนะนำให้ท่านนั้น ขอให้ท่านจงตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติดำเนินไปตามคำที่ผมแนะนำ อย่าได้ประมาทเพื่อจะได้เป็นเกียรติยศแก่พระพุทธศาสนาต่อไป”
ท่านมีความปรารถนาจะเดินธุดงค์ไปให้ถึงประเทศอินเดีย ระหว่างเตรียมตัวเดินทาง ท่านได้อธิษฐานจิตดูว่า ถ้าสมควรจะได้ไปอินเดีย ขอให้ได้นิมิตที่ดี ถ้าไม่ควรไป ขอให้ได้นิมิตที่ร้าย อยู่ต่อมาท่านจึงได้นิมิตว่า
"ปรากฏเห็นพระพุทธเจ้า พระอานนท์ พระมหากัสสปะ และช้าง เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จไป พระอานนท์เสด็จตามห่างประมาณ 10 เมตร องค์สุดท้ายคือ พระมหากัสสปะ ตามหลังมาเป็นช้างตัวใหญ่ ช้างนั้นพอเดินมาถึงท่านอาจารย์ ก็วิ่งตรงเข้ามาจะทำร้าย ท่านได้วิ่งหนีขึ้นต้นโพธิ์ ช้างจึงทำอะไรไม่ได้ เมื่อช้างไปแล้ว ท่านจึงลงมาจากต้นโพธิ์ ที่ใต้ต้นโพธิ์มีอาสนะพร้อมทั้งหมอนและหนังสือวางอยู่ ท่านจึงลงมานั่งที่อาสนะและอ่านหนังสือ"
เมื่อตื่นจากนิมิต ท่านจึงมาพิจารณาเห็นว่า แม้นิมิตตอนต้นที่เห็นพระพุทธเจ้าจะเป็นมงคล แต่ตอนกลางนั้น แสดงถึงอุปสรรค จึงไม่ควรไปอินเดีย จึงตัดสินใจเดินทางกลับจากเชียงตุง นั่งรถไฟกลับจังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อกลับมาอุบลราชธานีแล้ว ได้ไปรับมารดามาบวชเป็นชีที่วัดป่าบ้านเหล่ามันแกว ท่านพระอาจารย์มั่นได้จัดให้ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านเดิม เพื่อสงเคราะห์โยมมารดา และท่านยังได้สั่งกำชับว่า “เมื่อออกพรรษาแล้ว ให้รีบกลับมาหาผมนะ เดี๋ยวจะไม่ทันผม” เพราะท่านอาจารย์มั่นกำหนดอายุของท่านไว้ 80 ปีเท่านั้น และปีนั้นท่านอาจารย์มั่นมีอายุได้ 80 ปีพอดี
หลังออกพรรษาปีนั้น ตั้งใจจะกลับไปหาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พอมาถึงบ้านดงมะอี่ มีญาติมาส่งข่าวว่า โยมมารดาและพี่ชายเจ็บหนัก จึงต้องเดินทางกลับ อยู่พยาบาลได้ 1 เดือน พี่ชายได้ถึงแก่กรรม ต่อมาโยมมารดาก็ได้เสียชีวิตลงอีก จึงได้จัดการฌาปนกิจท่านทั้งสองเป็นที่เรียบร้อย ท่านได้รีบเดินทางไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น แต่ไม่ทันเห็นใจ เพราะท่านได้มรณภาพเสียก่อนแล้ว ได้แต่ไปช่วยงานฌาปนกิจศพของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เป็นเวลาเดือนเศษ
ช่วงพรรษาที่ 11-13 ได้ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมร่วมกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย ที่ดงหม้อทอง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร พรรษาที่ 17 (ปี พ.ศ. 2502) ได้อกธุดงค์เข้าสู่กลางดงศรีชมภู อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เป็นดินแดนอันสงบสงัดวังเวงใจ สภาพที่เห็นคล้ายซากเมืองโบราณ มนุษย์ถือว่าเป็นถิ่นอาถรรพ์มีภูติผีปีศาจสิงอยู่มากมาย เมื่อธุดงค์เข้าไปอยู่ในถ้ำจันทร์ พระอาจารย์จวนฝึกจิตใจให้เข้าสู่ร่องรอยของพระโยคาวจร นั่งสมาธิปากเหวลึกให้จิตสงบ สร้างตบะให้แก่กล้า
หลังอยู่จำพรรษาที่ถ้ำจันทร์นาน 4 ปี พระอาจารย์จวนแสวงวิเวกมาทางภูสิงห์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย บำเพ็ญเพียรอยู่ 1 พรรษา ก่อนมุ่งหน้าไปยังภูวัว
พรรษาที่ 27 (พ.ศ.2512) พระอาจารย์จวนอยู่ที่ ภูทอก อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย (ในขณะนั้น) คำว่า ภูทอก ในภาษาอีสานนั้น แปลว่า ภูเขาโดดเดี่ยว ที่นี่จะมีภูเขาอยู่ 2 ลูก ด้วยกัน คือ ภูทอกใหญ่ และ ภูทอกน้อย ส่วนที่สามารถชมได้คือ ภูทอกน้อย ส่วนภูทอกใหญ่จะอยู่ห่างออกไป และยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม โดยปักกลดอยู่ที่ถ้ำเชิงเขา บริเวณรอบๆ เป็นป่าทึบ รกชัฏ มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ เบื้องต้นภูทอกยังไม่มีแอ่งเก็บน้ำ สมัยนั้นต้องอดน้ำ อาศัยฝนที่ค้างอยู่ตามแอ่งหิน อาหารการขบฉัน อาศัยบิณฑบาตจากชาวบ้านนาคำแคน ซึ่งได้อพยพไปอยู่ใหม่ๆ ประมาณ 10 หลังคาเรือน การบิณฑบาตขาดแคลนมาก ตามมีตามได้ พอเข้าหน้าแล้ง ท่านได้ขอให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างทำนบกั้นน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ และขึ้นมาปลูกกระต๊อบอยู่ชั่วคราวที่โขดหินตีนเขาชั้น 2
ปีแรกที่จำพรรษาอยู่ที่ภูทอก มีพระ 3 องค์ ผ้าขาวน้อย 1 องค์ ปลูกกระต๊อบชั่วคราวพออาศัยได้ 4 หลัง ทุกองค์ต่างทำความเพียรอย่างเต็มที่ เวลาพลบค่ำ ท่านอาจารย์ขึ้นไปนอนบนชั้น 5 โดยปีนขึ้นตามเครือเขาเถาวัลย์ ตามรากไม้ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นถ้ำวิหารพระ สมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ มีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น
ในระหว่างกลางพรรษาที่ 27 ได้ชักชวนญาติโยมทำบันไดขึ้นเขาชั้นที่ 5 และชั้นที่ 6 จนสำเร็จ ทำอยู่ประมาณ 2 เดือนกับ 10 วัน จึงเสร็จเรียบร้อย การสร้างบันไดนี้สำเร็จในกลางพรรษา ได้อาศัยศรัทธาญาติโยมและชาวบ้านใกล้เคียงช่วยกันคนละเล็กละน้อย ช่วยกำลังแรง ส่วนกำลังทรัพย์ไม่มี เพราะต่างเป็นคนยากจน มีแต่ศรัทธาเท่านั้น
จากนั้นได้เริ่มพัฒนาภูทอกน้อย เป็นวัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อําเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันเป็น จังหวัดบึงกาฬ) โดยทำสะพานขึ้นลงบนยอดเขาให้สามารถเดินขึ้นลงโดยสะดวก นอกจากได้ก่อสร้างในวัดแล้ว ยังได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านใกล้เคียงอีกด้วย โดยได้สร้างทำนบกั้นน้ำให้แก่ชาวบ้าน 6 ทำนบ และในปี 2523 ได้เริ่มทำถนนรอบภูเขา 3 ลูก คือ ภูทอกน้อย ภูทอกใหญ่ และภูสิงห์น้อย ซึ่งต่างก็เป็นสำนักสงฆ์ของวัด เพื่อเป็นการกั้นเขตแดนวัด จะได้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด และยังเป็นการสงวนป่าไม่อีกด้วย (เมื่อท่านอาจารย์จวนมรณภาพแล้ว งานนี้ยังค้างอยู่ ทางวัดได้ทำต่อจนแล้วเสร็จ รวมทั้งทำนบน้ำแห่งใหม่ในหมู่บ้านด้วย
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2523 ด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินของบริษัทเดินอากาศไทย (การบินไทย ในปัจจุบัน) ตก ณ ท้องนาทุ่งรังสิต หมู่ที่ 4 ตําบลคลองหลวง อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ผู้โดยสารเสียชีวิต 40 ราย พร้อมกับ พระอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม , พระอาจารย์วัน อุตฺตโม , พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร , พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม
และพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ สิริรวมอายุ 59 ปี 5 เดือน 18 วัน พรรษา 38 สร้างความเศร้าสลดแก่คณะศิษยานุศิษย์เป็นยิ่งนัก ถิอว่าเป็นการสูญเสียครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ไปพร้อมกันทีเดียวถึง 5 รูปด้วยกัน ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียของวงการสงฆ์ครั้งใหญ่ของเมืองไทย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)