คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
พระครูวิมลธรรมรัตน์ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกท่านว่า หลวงพ่อบุญเสริม ธมฺมปาโล นามเดิมของท่านคือ นายบุญเสริม อุกาพรหม เป็นบุตรชายลำดับที่ 4 ในจำนวนบุตร-ธิดา 9 คน ของ นายเกลี้ยง อุกาพรหม และ นางเต้า อุกาพรหม (สกุลเดิม ดวงบุปผา) เกิดวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2489 ณ บ้านหนองตาโผ่น บ้านเลขที่ 125 ถนนกันทรลักษ์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จาก โรงเรียนบ้านหนองตาโผ่น (ปัจจุบันเป็น โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่น มิตรภาพที่ ๕) และเข้าเรียนต่อในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-7 ณ โรงเรียนวารินชำราบ
บิดา-มารดา ของท่านเป็นคนขยันขันแข็งทำมาหากิน มีอาชีพค้าขายในตลาดสดเทศบาลตำบลวารินชำราบ ท่านจึงเข้าไปช่วยทางบ้านค้าขายในตลาดสดเป็นประจำ
ในช่วงหลังจากจบการศึกษา ในระดับประถมศึกษาปีที่ 7 ช่วงวัยรุ่น ท่านมีโอกาสได้พบกับ พระอาจารย์ฉลวย ซึ่งเป็นเพื่อนสหธรรมิกกับหลวงปู่ชา สุภัทโท ที่ได้จาริกแสวงบุญมาถึงอำเภอวารินชำราบ บิดาของท่าน (ตาเกลี้ยง) ได้มีโอกาสพบสนทนาธรรมด้วย จึงได้เอ่ยปากฝากลูกชายให้บวชเณร เพื่อศึกษาธรรมะในเบื้องต้น ท่านจึงได้บวชติดตามพระอาจารย์ฉลวยไปศึกษาธรรมะ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นานถึง 3 พรรษา แต่ด้วยเหตุที่พ่อเกลี้ยงมีความสนใจในพระพุทธศาสนา จึงได้เข้าวัดเพื่อศึกษาธรรมะ แม่ต้องหาเลี้ยงลูกเพียงลำพัง
ท่านจึงได้ตัดสินใจลาสิกขาบท กลับมาช่วยแม่ทำงานหาเงินเลี้ยงน้องๆ ขายสินค้าทุกชนิดแล้วแต่แม่จะจัดการมาให้ บางครั้งท่านก็หาสินค้ามาขายเสียเอง เงินกำไรที่ได้ก็เอามารวบรวมให้แม่ บางครั้งท่านไปกับคาราวานขายสินค้าไปตามต่างจังหวัดถึง นครพนม สกลนคร อุดรธานี มหาสารคาม ขอนแก่น เมื่อกลับมาท่านจะส่งเงินให้แม่ทุกครั้ง
มีอยู่ครั้งหนึ่งเกิดความผิดหวัง ด้วยความรู้สึกน้อยใจแม่ ท่านได้แอบนำเงินที่ได้จากการขายสินค้าไปเป็นค่าเดินทาง หนีแม่ไปกรุงเทพฯ เพื่อตามหาพี่ชายคนโต และคิดว่าจะไปหางานทำในกรุงเทพฯ แต่กลับต้องไปเลี้ยงหลานให้พี่ชายแทน สุดท้ายจึงหาวิธีหาเงินเป็นค่าเดินทางกลับบ้านที่อำเภอวารินชำราบอีกครั้ง ด้วยความสำนึกในบุญคุณของพ่อแม่ และกลับมาเรียนตัดผมกับพ่อ เพื่อเป็นนักตัดผมมืออาชีพ และนักออกแบบทรงผมฝีมือดี
เพื่อความก้าวหน้าของครอบครัว พ่อแม่ได้พาลูกๆ ที่โตแล้ว เข้าไปเช่าบ้านในตัวเมือง บ้านเลขที่ 21/7 ถนนกันทรลักษ์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (แถวห้าแยกวงกลม วารินฯ) ห่างจากบ้านสวนหนองตาโผ่น ไปประมาณ 1 กิโลเมตร และเปิดกิจการร้านตัดผม มีพ่อ (ตาเกลี้ยง) เป็นหลักให้ โดยมีลูกชาย คือ นายบุญส่ง นายบุญเสริม เป็นนายช่างรอง มีช่างในร้านอีก 3-4 คน นับเป็นร้านตัดผมที่มีชื่อเสียงเลื่องลือพอสมควรในเมืองวารินชำราบ และเป็นร้านแรกที่มีพัดลม (โดยใช้ผ้าผืนใหญ่ๆ ติดขึงบนเพดานเพื่อพัดโบกไปมาให้แขกที่มาตัดผม)
ส่วนพี่น้องคนอื่นๆ ไปค้าขายในตลาดสดวารินชำราบ เป็นครอบครัวที่อยู่ท่ามกลางคนจีนแคระ แต้จิ๋ว จนทำให้นายบุญเสริมพูดภาษาจีนได้ดี ทั้งจีนแคระ และจีนแต้จิ๋ว ด้วยความเป็นผู้มีอัธยาศัยดี ทำให้ท่านมีเพื่อนมากมาย ทั้งเพื่อนในวัยเดียวกัน รุ่นน้อง วัยรุ่นหลายรุ่น ท่านมีเรื่องเล่ามากมายไม่จบไม่สิ้น อารมณ์ดี หลายคนเข้ามารอคอยในร้าน ไม่ได้มาตัดผม แต่มารอฟังว่า "วันนี้พี่เสริมจะเล่าอะไรให้ฟัง"
ถึงช่วงหนึ่งของชีวิต ท่านได้ไปประกวดร้องเพลงที่ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ในแนวเพลงไทยสากล หลังจากนั้นท่านเริ่มเป็นที่รู้จักกันในฐานะนักร้อง และได้เป็นนักร้องประจำวงดนตรี ชื่อวง Spider ของ พันเอกสุบัน คงนิล (อดีตนายทหารดุริยางค์ มทบ. 22) รับใช้พี่น้องชาวอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงนานหลายปี เป็นพิธีกรทอล์คโชว์ ชอบการแสดง เป็นจำอวดหน้าเวทีคอนเสิร์ต จนมีชื่อเสียงพอตัว โดยยังคงเป็นช่างตัดผมขวัญใจวัยรุ่นในตอนกลางวัน และเป็น นักร้อง รับงานร้องเพลงตอนกลางคืน จนสุดท้ายท่านได้ร่วมกันตั้งวงดนตรีสตริงกับเพื่อนรัก (เฮียเตี้ย โรงหนังวารินภาพยนตร์) ชื่อวง Big Ant รับงานทั่วไป อยู่นานประมาณ 3 ปี
ความทีท่านเป็นเพื่อนกับเฮียเตี้ยแห่งโรงหนังวารินภาพยนตร์ วันใดที่นักพากย์หนังไม่มา หรือมาไม่ทันรอบฉาย ท่านก็ต้องไปรับงานพากย์หนังเพิ่มอีก นี่คือที่มาของการเป็น "นักพากย์หนัง" ประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตก็ได้เพิ่มอีกอาชีพหนึ่งคือ การทำหนังเร่ ซึ่งเป็นการฉายหนังล้อมผ้านี้ จะต้องทำทุกอย่าง ทั้งพากย์เอง คุมการฉาย การล้อมผ้าเอง นี่คือ การเป็นนักบริหารจัดการ ท่านไม่เคยพัก จนท่านต้องทิ้งอาชีพช่างตัดผมไปโดยปริยาย
ในขณะที่ พ่อ-แม่ มีความเลื่อมใสในทางธรรม ได้เข้าไปปฏิบัติเป็นโยมอุปัฐากที่วัดหนองป่าพงโดยสมบูรณ์ แต่การทำมาหากินยังไม่สิ้น ท่านพาน้องๆ ค้าขาย ทำมาหากินไปเรื่อยๆ ไม่หยุดนิ่ง กิจการหนังเร่เริ่มสะดุดหยุดตัวลง นักพากย์ตกงานเพราะช่วงนั้นมีภาพยนตร์ 35 ม.ม. เสียงในฟิล์มออกมา เครื่องฉายขนาด 16 ม.ม. ต้องปรับเปลี่ยน สุดท้าย บริษัทหนังเร่ใหญ่จากจังหวัดสุรินทร์ได้ให้โอกาสท่าน ได้เข้าร่วมงานเป็นผู้จัดการหนังเร่ ประจำสาขาที่ จังหวัดศรีสะเกษ และได้เพิ่มสาขาในอำเภอวารินชำราบ อีก 1 สาขา ท่านทำหนังเร่ต่อมา 4 - 5 ปี ก็ต้องหยุด เพราะแม่ไม่สบาย ส่วนพ่อเกลี้ยงได้จาริกแสวงบุญไปกับ หลวงปู่ชา สุภัทโท ไปเรื่อยๆ ครอบครัวจึงได้ย้ายกลับมาอยู่รวมกันที่บ้านหนองตาโผ่น เป็นครอบครัวใหญ่อีกครั้ง
ปี 2533 นางสาวพิสมัย อุกาพรหม (น้องสาวคนที่ 6) ได้เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต พ่อไปแสวงบุญที่ วัดป่าคล้อเจริญธรรม อำเภอน้ำยืน แม่ที่ป่วยจึงไม่มีใครดูแล ท่านจึงลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการบริษัทหนังเร่ เพื่อมาดูแลแม่ โดยไปร้องเพลงที่ซีซอไนต์คลับในเวลากลางคืน และกลางวันดูแลแม่ที่ไม่สบาย น้องที่เป็นครูที่โรงเรียนสตรีสิริเกศ ต้องเดินทางไปกลับ อุบล - ศรีสะเกษ เพื่อเปลี่ยนกันมาดูแลแม่
สุดท้ายท่านสงสารโยมแม่มาก จึงตั้งใจอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่า หากโยมแม่ของท่านหายจากการเจ็บป่วยเดินได้ จะบวชพระอีกครั้ง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แม่ ปรากฏว่า โยมแม่มีสุขภาพดีแข็งแรงขึ้น สามารถลุกเดินได้ ท่านจึงต้องทำตามคำอธิษฐานนั้นโดยตั้งใจว่าจะบวชสักหนึ่งพรรษา ซึ่งเจ้อ๋า (ร้านวารินเบเกอรี่) ได้พาท่านไปบวชที่วัดป่าใหญ่ (วัดมหาวนาราม) โดยท่านเจ้าอาวาสเป็นอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วได้มาจำพรรษาที่วัดหนองป่าพง และมีโอกาสได้บริบาล ท่านหลวงปู่ชา สุภัทโท ซึ่งอาพาธอยู่ในขณะนั้น
คุณแม่ท่านอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนท่านก็ยังคงติดวัด และบวชต่อไม่มีวี่แววว่าจะลาสิกขาบท ความห่วงหมดไปเพราะน้องที่เป็นครู ได้กลับมาสร้างบ้านให้พ่อกับแม่ในปี พ.ศ. 2535 และย้ายมาประจำที่ โรงเรียนโนนค้อวิทยาคม อำเภอโนนคูณ ศรีสะเกษ สามารถกลับมาดูแลพ่อ-แม่แทนท่านได้ และในปี 2536 ท่านได้แวะมาบอกที่บ้านกับพ่อใหญ่สา ว่าท่านจะไปอยู่ที่วัดป่ากัทลิวัน บ้านสวนกล้วย (ส่วนใหญ่เรียกจนติดปากว่าท่านอยู่ วัดป่าบ้านสวนกล้วย จนทุกวันนี้)
หลวงพ่อบุญเสริม ธมฺมปาโล ท่านมีความสามารถในการเทศนาสั่งสอนญาติโยม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพให้ได้รับธรรมะตามหลักศาสนาด้วยความสนุกสนาน เฮฮา เพราะในอดีตท่านคือ นักพากย์ภาพยนตร์ มากความสามารถ เป็นนักร้องที่สามารถร้องเพลงและสื่อสารได้หลายภาษา ท่านจึงนำเอาความสามารถพิเศษนี้มาสอดแทรกในการเทศนาโปรดญาติโยม ท่านมีกุศโลบายในการชักนำให้ชาวบ้านรอบวัดหันมาสนใจช่วยเหลือพัฒนาวัด ชักจูงลูกหลานในวัยเยาว์ให้มาบวชเรียนและสนใจในธรรมะ ท่านได้เทศน์สั่งสอนโปรดญาติโยมในทุกสาขาอาชีพอย่างสม่ำเสมอ มีโครงการพัฒนาเยาวชนให้พ้นปลอดจากยาเสพติด เดินทางไปเทศนาตามกิจนิมนต์ทั่วประเทศ
อบรมคณะครูอาจารย์ วัดป่ากัทลิวัน (วัดป่าสวนกล้วย) 5 เมษายน 2543
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 พระครูวิมลธรรมรัตน์ (หลวงพ่อบุญเสริม ธมฺมปาโล) แห่ง วัดป่ากัทลิวัน สาขา 6 วัดหนองป่าพง (วัดป่าสวนกล้วย) ตำบลสวนกล้วย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้มรณะภาพลงแล้ว ด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ที่โรงพยาบาลบุณฑริก อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี หลังรับกิจนิมนต์แสดงธรรมเทศนาที่ อำเภอบุณฑริก และนำสรีระสังขารมาจัดการงานศพอยู่ที่วัดป่ากัทลิวัน (วัดป่าสวนกล้วย) รวมอายุ 67 ปี 7 เดือน 4 วัน
พระธรรมเทศนาบนเวทีหมอลำ โดยหลวงพ่อบุญเสริม ธมฺมปาโล
ณ วัดใหม่ทองสว่าง จังหวัดอุบลราชธานี (มกราคม 2554)
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)