คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
หลวงปู่แสงจันทร์ จันดะโชโต นามเดิมชื่อ นายแสง ดีหอม เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2467 อำเภอฟ้าหยาด จังหวัดอุบลราชธานี (17 เมษายน 2482 กระทรวงมหาดไทย เปลี่ยนชื่อ อำเภอฟ้าหยาด เป็น อำเภอมหาชนะชัย และต่อมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2515 อำเภอมหาชนะชัย ย้ายไปขึ้นกับจังหวัดยโสธร จนถึงปัจจุบัน) อุปสมบทเมื่ออายุ 24 ปี วันที่ 10 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2493 ณ วัดศรีจันทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมี พระพิศาลสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสุพจน์ อุตฺตโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดศรี จนฺทรณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ (ตามที่ปรากฏในใบสุทธิ)
ท่านได้จำพรรษาและได้ศึกษาหลักธรรมกับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และวิเวกธุดงค์ทั้งในประเทศไทย ลาว และพม่า อีกด้วย นับว่าท่านเป็นพระสุปฏิปันโน ศิษย์ในองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ หลวงปู่คำดี ปภาโส หลวงปู่หาบุญมี สิริธโร และหลวงปู่บัว สิริปุณโณ องค์ท่านเป็นผู้มากไปด้วยความเพียรและเป็นผู้ไม่ติดถิ่น เปรียบกับหยดน้ำบนใบบัว ที่ไม่ติดใบบัวฉันนั้น อุปมาอุปมัยกับ ผู้สิ้นกิเลศ หรือเรียกว่า พระขีนาสพ องค์หลวงปู่สอ วัดป่าหนองแสง ได้เคยยกย่องไว้ว่า "หลวงปู่แสงเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัตชอบองค์หนึ่ง" ท่านเปรียบเสมือนแสงธรรมแห่งอำนาจเจริญ ที่ปกคลุมเมืองอำนาจเจริญให้ร่มเย็นเป็นสุข
หลวงปู่ท่านได้เมตตาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2557 ว่า สมัยที่ท่านหนุ่มๆ ท่านได้เดินทางไปธุดงค์ที่ จังหวัดอุดรธานี เพื่อที่จะไปปักกลดที่วัดร้างแห่งหนึ่ง ทางที่จะไปนั้นต้องนั่งเรือข้ามห้วย ห้วยนี้ชื่อว่า “ห้วยหลวง” ขณะที่หลวงปู่ท่านกำลังนั่งเรืออยู่นั้น เรือได้เกิดพลิกคว่ำ ทำให้บาตรของหลวงปู่ได้หล่นน้ำ ซึ่งในบาตรนั้นได้มีสูจิบัตรพระอยู่ด้วย ทำให้สูจิบัตรของหลวงปู่ท่านได้ลอยหายไปกับกระแสน้ำ
หลวงปู่ท่านก็แปลกใจว่า ทำไมจู่ๆ เรือถึงได้เกิดพลิกคว่ำได้ ท่านจึงได้ใช้จิตเพ่งพิจารณาดูจึงพบว่า เป็นวิญญาณเจ้าที่ ที่ยังวนเวียนหวงสมบัติ เพราะที่ใต้หนองน้ำนั้นได้มีสมบัติฝังอยู่ หลวงปู่ท่านจึงได้เอ่ยวาจาว่า “อาตมาเป็นพระ เป็นผู้ทรงศีลจะทำอะไรให้ดูดีๆ หน่อย ประสาสมบัติแค่นี้ ไม่มีอะไรทำให้เกิดความอยากได้หรอก ต่อให้มากกว่านี้อาตมาก็ไม่เอา เจตนาเพียงแค่ข้ามหนองน้ำนี้ไปเพื่อที่จะไปปักกลดเท่านั้นเอง" หลังจากนั้นหลวงปู่ก็ได้ไปทำสูจิบัตรพระใบใหม่ เพราะสูจิบัตรพระใบเก่าได้หล่นหายไปในหนองน้ำนั้นแล้ว หลังจากทำสูจิบัตรพระใบใหม่เสร็จ หลวงปู่ท่านจึงมาเห็นในภายหลังว่า ได้พิมพ์ฉายาให้ท่านผิดเป็นฉายา “ญาณวโร” โดยแท้จริงแล้วหลวงปู่ท่านได้ใช้ฉายา “จันดะโชโต” มาตั้งแต่ต้น
จึงทำให้หลวงปู่ได้ใช้ฉายา "ญาณวโร" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นับเป็นเวลาหลายสิบปี จนล่วงมาปี พ.ศ. 2557 หลวงปู่ท่านได้มอบหมายให้ พระอาจารย์สะเทือน เจ้าอาวาสวัดป่าวังเลิง จังหวัดมหาสารคาม ให้ดำเนินการในการเปลี่ยนฉายาของหลวงปู่กลับมาเหมือนเดิม จาก “ญาณวโร” เป็น “จันดะโชโต” ซึ่งเป็นฉายาที่แท้จริงของหลวงปู่ และหลวงปู่ยังได้กล่าวอีกว่า “จันดะโชโต” มีความหมายว่า “ผู้ที่รุ่งเรือง”
..ให้เชื่อกรรม คือการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คนเราเกิดมาแล้วต้องตายกันทั้งนั้น เกิดมาแล้วให้รู้จักสร้างสมคุณงามความดี คนบาป เวลาตายทรมาน คนดีมีศีลธรรม เวลาตายๆแบบสงบ ใครๆก็ต่างสรรเสริญ ยกย่องในคุณงามความดี คนก็แห่แหนไปร่วมงานมาก เพราะความดีที่สร้างไว้ คนเรากลัวแต่ความตาย ไม่กลัวความเกิด เพราะความเกิดนั่นแหละ ทำให้ต้องตาย บางคนก็ตายตั้งแต่คลอดก็มีถมไป ได้เกิดมาก็ให้รู้จักสร้างสมคุณงามความดี บางคนสว่างมา แล้วมืดไป บางคนมืดมาแล้วสว่างไป… ”
มีเรื่องเล่าว่า ก่อนที่จะมีการตั้ง วัดป่าอรัญญาวิเวก หลวงปู่แสงได้เดินธุดงค์มาถึงป่าใกล้บ้านไก่คำในช่วงพลบค่ำ ก็เลยพักปักกลดค้างแรมที่นี่ ระหว่างที่นั่งสมาธิอยู่ในกลดพบลูกแก้วเปล่งประกายแสงสีเขียว ขนาดเท่าผลส้มลอยมาจากต้นไม้ใหญ่ห่างจากท่านประมาณ 20 เมตร แล้วลอยวนเวียนรอบกลด 3 รอบจึงลอยกลับต้นไม้ใหญ่หายวับไป
รุ่งเช้าชาวบ้านไก่คำนำอาหาร คาว หวาน มาถวายพ้อมนิมนต์ท่านให้อยู่ที่นี่ โดยให้เหตุผลว่า อยากให้ป่าเหลืออยู่ เพราะมีชาวบ้านบางคนเข้ามาตัดไม้บ้างแล้ว หลวงปู่แสงท่านตอบตกลง ซึ่งรวมระยะเวลากว่า 20 ปีที่ท่านได้ดูแลรักษาป่าไม้ให้มีสภาพเดิมทุกอย่าง ว่ากันว่า หากใครลักลอบเข้าไปตัดไม้ในเขตวัด ภายใน 3 วันก็จะเจ็บป่วย บางคนถึงกับเสียชีวิต จนชาวบ้านขยาดไม่กล้าเข้าตัดไม้เลยและเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่
วัดป่าอรัญญาวิเวก ปัจจุบันมีพื้นที่ราว 300 ไร่ มีสภาพป่าไม้อุดมสมบูรณ์ จากความตั้งใจในการอนุรักษ์ผืนป่าของหลวงปู่แสง และลูกศิษย์ จนชาวบ้านเรียกว่า “พระพิทักษ์ป่า” ซึ่งวัดแห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คธรรมแห่งจังหวัดอำนาจเจริญ ที่ผู้มีศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนาไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
กระทั่งปี 2550 หลวงปู่แสงได้บอกกับบรรดาลูกศิษย์ว่า จะไปปกป้องรักษาป่าข่า ที่บ้านฆ้อง ตำบลหนองข่า อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งป่าไม้เหลือน้อยเต็มทีแล้ว โดยใช้เวลาร่วม 3 ปีที่หลวงปู่แสงเข้าไปพัฒนามีความเจริญในระดับหนึ่ง และจัดตั้งเป็นวัดป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
หลวงปู่แสง จันดะโชโต (ญาณวโร) ปัจจุบันสิริอายุปีที่ 97 พรรษา 75 (บางคนเล่าว่าจริง ๆ แล้วท่านอายุ 105 ปี เพราะสมัยนั้นแจ้งเกิดช้า) จำพรรษา ที่ วัดป่าดงสว่างธรรม บ้านดงสว่าง ตำบลโคกนาโก อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)