คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล ชื่อเดิมของท่านคือ “หมุน แก้วปักปิ่น” (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น “ศรีสงคราม”) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ปีชวด พ.ศ. 2437 ในช่วงรัชกาลที่ 5 ณ บ้านจาน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ บิดาชื่อ “ดี” มารดาชื่อ “อั๊ว” มีพี่น้อง 9 คน ท่านเป็นคนที่ 7 มีอาชีพทำไร่ทำนา เป็นเด็กยากจน แต่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ต่อมาบิดามารดาเห็นแววทางด้านพระพุทธศาสนา จึงให้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 14 ปี และนำไปฝากกับพระอาจารย์สีดา เจ้าอาวาสวัดบ้านจาน ซึ่งเป็นพระที่เชี่ยวชาญด้านกรรมฐาน และมีวิชาอาคมที่เก่งมาก
ในปี 2460 ขณะอายุได้ 23 ปีได้เข้าอุปสมบทหมู่จำนวน 9 รูป โดยหลวงปู่เป็นรูปที่ 9 โดยมีโยมลุงของท่านเป็นเจ้าภาพ โดยมีหลวงพ่อสีดา เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเพ็ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และหลวงพ่อผุย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับรับฉายาว่า "ฐิตสีโล" แปลว่า "ผู้มีศีลตั้งมั่น"
หลังจากบวชแล้วได้จำพรรษาที่วัดบ้านจาน ศึกษาเล่าเรียนอักษรไทย อักษรขอม ฝึกกัมมัฎฐานในหมวดสมถะ และวิปัสสนากรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์ต่างๆ ในแถบนั้นเป็นเวลา 4 ปีเต็ม จากนั้นท่านมีความคิดว่า จะต้องแสวงหาครูบาอาจารย์อื่นๆ เพื่อศึกษาคันถธุระและวิปัสสนาธุระในชั้นที่สูงๆ ขึ้นไปอีก จึงออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ และร่ำเรียนวิชาอาคมกับพระเถระชื่อดังหลายรูป เกือบทั่วประเทศจนถึงประเทศลาว มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย
ปี พ.ศ.2464 หลวงปู่หมุน เริ่มออกศึกษาแสวงหาประสบการณ์โดยได้ร่ำเรียนทั้งเวทย์วิทยา และสมถกรรมฐานจากครูบาอาจารย์หลายสำนัก การเดินทางในสมัยนั้นเป็นที่ลำบากยากเย็น ต้องเดินเท้าเปล่าผจญภัยจากผีป่า หรือสัตว์ร้ายนานัปการ แต่หลวงปู่มิได้ย่อท้อ ได้เดินทางไปศึกษาวิชาอาคมที่ สำนักตักศิลาแห่งบ้านจิกใหญ่ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี กระทั่งศึกษาคัมภีร์มหาพุทธาคม อันเป็นแม่บทของคัมภีร์ปถมัง คัมภีร์อิทธิเจ คัมภีร์มหาราช คัมภีร์ตรีนิสิงเห ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งอำนาจจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำราพิชัยสงคราม เช่น คัมภีร์นิติประกาศิต คัมภีร์ธนูรเวทว่าด้วยการแต่งเครื่องครอบมนตร์ในสงคราม เป็นต้น
ในช่วงปี 2475-2482 เมื่อหลวงปู่สำเร็จการศึกษาวิชาการต่างๆ ก็เก็บบริขารออกธุดงค์ป่าผ่านถิ่นทุรกันดารในชนบทโดยเท้าเปล่า มายังกรุงเทพฯ ในระยะแรกหลวงปู่เข้าพักที่ วัดเทพธิดาราม เป็นการชั่วคราว โดยมีครูทองอินทร์ เป็นครูสอนของวัดเทพธิดาราม เป็นผู้เอื้อเฟื้อจัดหาที่พำนักให้ ท่านได้ให้หลวงปู่อยู่ที่วัดอรุณราชวราราม พำนักอยู่กับพระพิมลธรรม (นาค) ศิษย์สายสมเด็จพระสังฆราชแพ โอกาสนี้หลวงปู่ได้ร่ำเรียนวิชาคัมภีร์มูลกัจจายน์สูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรโบราณอันเก่าแก่ของคณะสงฆ์ไทย ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นตำราที่ละเอียดลึกซึ้ง แตกฉานพระบาลีว่าด้วยคัมภีร์อรรถกถายากยิ่งที่จะมีผู้เรียนได้สำเร็จ ปัจจุบันวิชานี้ได้ยกเลิกไปแล้ว
หลวงปู่หมุน ได้เข้าสอบวิชามูลกัจจายน์นั้น ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งการสอบในสมัยนั้นมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธาน และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เป็นประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์ และพระเถราจารย์เป็นผู้ทดสอบด้วย โดยมีการถามตอบแบบมุขปาฐะ (ปากเปล่า) ถ้าถามตอบบาลีผิดเกิน 3 คำ ให้ปรับเป็นตกทันที ด้วยความรู้ความสามารถที่แตกฉานในคัมภีร์ หลวงปู่สามารถสอบได้เปรียญธรรมถึง 5 ประโยคในคราวเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นหลวงปู่ได้ใช้วิชาความรู้อย่างคุ้มค่า โดยได้เป็นครูสอนมูลกัจจายน์อยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม (ฝั่งธนบุรี) เป็นเวลานานหลายปี มีลูกศิษย์มากมาย นอกจากนี้ในช่วงหนึ่งหลวงปู่มาพักกับสมเด็จพระสังฆราชแพ ที่วัดสุทัศน์ฯ และได้ศึกษาวิชาบางอย่างกับสมเด็จพระสังฆราชแพอีกด้วย
จากนั้นก็เก็บบริขารเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์ทองดี ที่มาจาก อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ในสมัยนั้น ปัจจุบันเป็น จังหวัดบึงกาฬ) ได้ธุดงค์ไปทางภาคเหนือเข้าเขตพม่าเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นก็เดินเท้าเปล่าลงภาคใต้ไปพำนักกับพระอาจารย์ทิม วัดช้างไห้ เพื่อปฎิบัติกรรมฐาน และแลกเปลี่ยนวิชาอาถรรพณ์เวทมนต์กับพระอาจารย์ทิมอยู่ ประมาณปีกว่าๆ ก่อนธุดงค์เข้าเขตประเทศมาเลเซีย เพื่อจะเรียนวิชากับพ่อท่านครน วัดบางแซะ ใช้เวลาธุดงค์อยู่ถึง 7 วัน แต่ไม่พบจึงตัดสินใจกลับวัดช้างให้ ต่อจากนั้นก็ได้เรียนวิชาจากพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้ของที่ระลึกจากพ่อท่านคล้ายคือ ชานหมากเม็ดใหญ่เป็นที่ระลึก จากนั้นก็เดินธุดงค์เรื่อยมาจนกลับสู่เขตอีสานอีกครั้ง และได้พบกับหลวงปู่สี ฉันทสิริ ในป่าแถบจังหวัดหนองคาย และได้วิชาลบผงสีจากหลวงปู่สี ซึ่งได้รับสืบทอดมาจากสมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆังโฆษิตาราม
ช่วงที่ท่านธุดงค์แถบอุบลราชธานีได้พบกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และขอเรียนข้อวัตรปฏิบัติในพระกรรมฐาน แต่ไม่ได้ร่วมคณะธุดงค์ เพราะท่านอยู่นิกายมหายาน หลวงปู่เคยเล่าประวัติในช่วงธุดงค์ให้กับพระภิกษุที่เป็นหลานของท่านว่า เคยได้เป็นศิษย์หลวงปู่มั่นอยู่พักหนึ่ง ในช่วงที่หลวงปู่ต้องการเจริญสมณธรรม เป็นธรรมอันล้ำลึกยากยิ่งที่ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงจะล่วงรู้ถึงอารมณ์ของวิปัสสนานี้ได้ หลวงปู่หมุนได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์มั่นอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็แสวงหาความวิเวกเพื่อประพฤติปฏิบัติต่อไป จนกระทั่งหลวงปู่แตกฉาน เชี่ยวชาญ ครั้งนั้นหลวงปู่หมุนได้ศึกษาธรรมจนที่สหธรรมมิกที่เป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น รู้จักสนิทสนมกับหลวงปู่ทุกองค์ เช่น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นต้น
ในตอนที่หลวงปู่หมุนไปกราบนมัสการ หลวงปู่มั่น ท่ามกลางศิษย์สายกองทัพธรรม ในขณะสนทนาธรรมหลวงปู่มั่นได้ปรารภกับหลวงปู่หมุนว่า "ท่านหมุน ท่านเก่งพอตัวอยู่แล้ว หากไม่เจอกันหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปริยัติ ปฏิบัติ และปฎิเวธให้สอบถามท่านแหวนได้ เพราะเขาเก่งมาก"
หลวงปู่มั่นได้มอบของที่ระลึกให้หลวงปู่หมุน 2 อย่าง คือ แผ่นจารอักขระใบลาน ม้วนเป็นลูกอมกลมๆ เขียนเป็นภาษาขอมว่า เย ธมมา เหตุปภวา ฯลฯ เป็นต้น และธนบัตรรัชกาลที่ 8 พร้อมลายเซ็นหลวงปู่มั่น ภายหลังหลวงปู่ได้มอบให้โยมแม่ท่านไป ต่อมาหลวงปู่มีความกังขาสงสัยในกัมมัฏฐานในเรื่องของ จตุธาตุวัฏฐาน ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติในธาตุทั้ง 4 เป็นมูลฐานของอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ จึงได้เดินทางไปกราบของความรู้เพิ่มเติมจาก หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ก็ได้รับความกระจ่าง จากนั้นก็ธุดงค์ต่อไป ท่านยังได้ร่ำเรียนวิชาจาก พระอาจารย์สิงห์ วัดป่าสาลวัน หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา
ต่อมาไม่นานก็ได้ร่ำเรียนวิชามีดหมอมหาปราบ จากหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว และหลวงพ่อเงิน วัดมะปรางค์หลวง ซึ่งวิชานี้หลวงพ่อเดิม พุทธสโร วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์ ก็เรียนจากหลวงพ่อขำและหลวงพ่อเงิน เช่นกัน นอกจากนี้ในช่วงที่หลวงปู่ธุดงค์มาสู่ภาคตะวันออกแถบจันทบุรี ท่านได้พำนักอยู่กับ หลวงพ่อสอน วัดเสิงสาง กระทั่งหลวงพ่อสอนไว้ใจให้วิชาอาคมและครอบครูให้กับหลวงปู่
หลวงปู่หมุนนับเป็นหนึ่งในทายาท ผู้สืบสายเวทวิทยาพุทธาคม ในสายสมเด็จลุนแห่งนครจำปาศักดิ์ ราชอาณาจักรลาว ที่ยังดำรงขันธ์อยู่ในปัจจุบัน โดยสมเด็จลุนเป็นที่เลื่องลือในคุณธรรมและอภิญญาอภินิหาร อาทิ สามารถเดินบนน้ำได้ ย่นระยะทางได้ แปลงร่างได้ เดินทะลุภูเขาได้กล่าวกันว่า ภิกษุสงฆ์ยุคก่อนโน้นต่างดั้นด้นสืบเสาะหาสมเด็จลุน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษามหาวิทยาคม ตลอดจนวิปัสสนากรรมฐาน หลวงปู่หมุนเองก็ดั้นด้นธุดงค์ผ่านอุบลราชธานีเข้าประเทศลาว เพื่อสืบเสาะสมเด็จลุน แต่ไม่พบตัว จึงมาพักอยู่กับหลวงพ่อมหาเพ็ง วัดลำดวน ในช่วงนั้นหลวงปู่ได้ใช้เวลาค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฏก ในเรื่องพระวินัยปิฏก และพระอภิธรรม ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงการเจริญกัมฏฐานล้วนๆ ประมาณ 2 เดือนกว่า แล้วก็ออกธุดงค์กลับสู่ประเทศไทยเข้ากรุงเทพฯ มาพักนักที่วัดหงส์รัตนาราม
ต่อมาธุดงค์ไปทางอีสานเข้าสู่ประเทศลาวอีกหลายครั้ง จนกระทั่งท่านมีอายุ 30 ปีกว่าแล้ว คราวนั้นหลวงปู่ได้พบกับฆราวาสชื่อ อาจารย์ฉันท์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นเหลนของสมเด็จลุน ที่จังหวัดนครพนม โดยเรียนวิชาจากอาจารย์ฉันท์จนหมดภูมิแล้ว อาจารย์ท่านจึงได้แนะนำฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ดำ เหลนของสมเด็จลุนปรมาจารย์ใหญ่ที่สืบสายเวทวิทยาพุทธาคมในสายสมเด็จลุน
ในการฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่ดำนั้น มีกฎเกณฑ์รายละเอียดมากทั้งยังต้องทดสอบภูมิปัญญา และอำนาจของกระแสจิตที่ต้องเข้มแข็งพอที่จะเรียนวิชาของท่านได้ ในรุ่นที่หลวงปู่ฝากตัวเป็นศิษย์นั้นมีมากกว่า 50 รูป แต่หลวงปู่ดำท่านทดสอบวิชา แล้วคัดออกจนเหลือแค่ 3 รูป มีหลวงปู่หมุน หลวงพ่อสงฆ์ (วัดม่วง ลพบุรี) และอีกรูปหลวงปู่ลืมชื่อไปแล้ว สำหรับพิธีครอบครูของหลวงปู่ดำนั้น มีของยกครูที่หลวงปู่จำได้อย่างแม่นยำคือ 1. ผ้าไตรจีวร 2. บาตร 3. ทองคำหนัก 10 บาท (สำหรับทองคำ จะคืนให้เมื่อเรียนจบ) และมีข้อห้ามประการสำคัญอีกคือ ห้ามสึกตลอดชีวิต ถ้าสึกไปชีวิตก็จะหาไม่
ในการครอบวิชานี้ถือว่าเป็นสุดยอดเคล็ดวิชา วิทยาคม ในสายของสมเด็จลุน แห่งนครจำปาศักดิ์ ซึ่งกว่าจะเรียนจบต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะบำเพ็ญเพียรอย่างมาก ได้จำวัดพักผ่อนวันละ 4 ชั่วโมงเท่านั้น อาหารต้องฉันมื้อเดียว และขั้นตอนสุดท้ายที่จะสำเร็จวิชานี้จะมีการทดสอบอย่างพิสดาร
อย่างไรก็ตาม เป็นที่เชื่อกันว่า หลวงปู่หมุน ท่านสำเร็จวิชาสำเร็จธาตุ 4 มาจากสายสมเด็จลุน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าวิชาสายนี้ลึกลับเกินปุถุชนคนธรรมดาจะเรียนได้สำเร็จ ผู้ที่จะเข้าถึงได้ต้องเป็นผู้ที่มีบารมีมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เพราะการควบคุมธาตุ 4 ได้นั้นผู้ที่จะสามารถทำการนี้ได้ต้องสำเร็จจตุตฌานเป็นบาทฐานในการทำ และยังต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของกสิณจตุธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟอีกด้วย
หลังจากนั้น หลวงปู่หมุนก็กลับมาจำพรรษา ที่วัดบ้านจาน จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และพระอุปัชฌาย์ รับสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน ที่ "พระครูหมุน ฐิตสีโล" หลวงปู่ได้ปฎิบัติศาสนกิจตามที่ได้รับมอบหมายเป็นเวลาถึง 20 ปี จึงลาออกจากทุกตำแหน่ง ต้องการใช้ชีวิตที่เหลือบำเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติพระวิปัสสนาธุระ อย่างเดียว
ประมาณปี 2487 ในช่วงที่หลวงปู่อายุ 50 ปี ท่านเก็บบริวารออกธุดงค์บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าดงดิบ โดยลำพังแต่ผู้เดียว และในช่วงนี้เองที่หลวงปู่ได้พบกับ อาจารย์จ่อยและอาจารย์ขวัญ วัดป่าหนองหล่ม ในระหว่างที่หลวงปู่ธุดงค์โดยบังเอิญ อาจารย์ทั้ง 2 จึงได้นิมนต์หลวงปู่โปรดญาติโยมที่ วัดป่าหนองหล่ม หลังจากที่หลวงปู่หมุนเดินธุดงค์แสวงหาธรรม อยู่หลายสิบปี ประมาณปี 2520 ท่านจึงกลับมายังวัดบ้านจาน ซึ่งวัดบ้านจานในยามนั้น มีอายุกว่า 200 ปี อยู่ในสภาพทรุดโทรม ท่านจึงได้พัฒนาวัด สร้างอุโบสถขึ้นมา ด้วยหยาดเหงื่อและแรงจิต ทำให้อุโบสถเสร็จสมบูรณ์ในเวลาอันสั้น
นอกจากนี้ท่านยังได้ช่วยเหลือลูกศิษย์และสหธรรมิก อีกหลายวัดเช่น วัดป่าหนองหล่ม, วัดโนนผึ้ง, วัดซับลำใย, และคณะศิษย์วัดสุทัศน์ฯ ในการสร้างถาวรวัตถุของวัด จนเป็นที่มาของ วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมในหลายรุ่นต่อมา ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังแทบทุกรุ่น ที่ท่านจัดสร้างขึ้น จึงเป็นที่นิยมในหมู่ศิษยานุศิษย์ ด้วยเชื่อในพลังแห่งบุญฤทธิ์จิตตานุภาพของท่าน
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2546 เวลา 07.30 น. หลวงปู่หมุน ฐิตสีโล พระอมตะเถระ 5 แผ่นดิน แห่งวัดบ้านจาน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคชราบนกุฎิ สิริอายุ 109 ปี 87 พรรษา โดยสรีระของท่านไม่เน่าไม่เปื่อย
ตลอดชีวิตแห่งการครองเพศบรรพชิต อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ก็ได้อุทิศตน ปฏิบัติตนตามแนวทางแห่งคำสอนของพระศาสดาอันพึงจะกระทำ สมกับฉายานามอันได้รับเมื่อครั้งอุปสมทบคือ "ฐิตสีโล" แปลความว่า ผู้ตั้งมั่นในศีล 85 พรรษาแห่งการครองผ้ากาสาวพัตร ศึกษาเล่าเรียน พระธรรมวินัยออกจาริกธุดงค์ ในช่วงบั้นปลายท่านได้สร้างวัตถุมงคลหลายชิ้น
ท่านเป็นผู้ตั้งสัจจะตั้งแต่เริ่มบวชเรียนว่า "จะไม่สร้างและร่วมปลุกเสกวัตถุมงคลใดๆ จนกว่าจะอายุเกิน 100 ปี" โดยท่านได้ให้เหตุผลว่า "เพื่อให้หมดซึ่งกิเลสตัณหา และให้มีญาณสมาบัติที่แก่กล้า" วัตถุมงคลของท่านจึงออกตอนอายุเกิน 100 ปีแล้ว ทั้งสิ้น ท่านได้กล่าวว่า "วัตถุมงคลของฉัน หากแม้นตายไปอีกสิบปี จะมีค่ามากกว่าเพชรนิลจินดา และจะหายากยิ่ง”
วัตถุมงคลที่ท่านสร้าง จึงไม่เป็นสองรองจากสำนักใด เช่น ตะกรุดเชือกเขียว ที่ท่านถักเอง จารเอง กว่าจะได้แต่ละดอกต้องสวดอัดตามฤกษ์ผานาทีที่เหมาะสม ท่านที่สนใจก็ลองสืบเสาะหาดูกันครับ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)