foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

candle 2018

รวมภาพกิจกรรมความสวยงามจาก งานประเพณีแห่เทียนพรรษา ปี ๒๕๖๑ "ฮีตศรัทธา ราชธานีแห่งเทียน" นำมาฝากไว้ให้ได้ชื่นชม ขอบคุณเจ้าของภาพถ่ายทั้งหมดมา ณ ที่นี้

เทียนพรรษาแบบโบราณ

รวมภาพความสวยงามของ "เทียนพรรษาแบบโบราณ" การอนุรักษ์รูปแบบการทำต้นเทียนในอดีตแบบโบราณ เป็นการนำเทียนเล่มสีเหลืองมาผูกมัดรอบแกนไม้ไผ่ ตกแต่งรอยต่อระหว่างเทียนแต่ละชั้นด้วยกระดาษเงิน กระดาษทอง ที่ฉลุลวดลายไทยที่สวยงามติดโดยรอบ จากนั้นทำการตกแต่งรอบต้นเทียนด้วยงานฝีมือจากใบตอง กาบกล้วย ใบเตย และวัสดุธรรมชาติอื่นๆ ให้เป็นรูปร่างต่างๆ ที่สวยงาม ภาพเหล่านี้ได้รับความอนุเคราะห์มาจาก ดร.เรวัตร สิงห์เรือง จากงานแห่เทียนพรรษาโบราณของชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาของทุกปี ก่อนงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัด 1 วัน ขอบคุณเจ้าของภาพทุกท่านนะครับ (คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย และสามารถดูแบบสไลด์โชว์ได้ครับ)

ประติมากรรมเทียนนานาชาติ

การจัดงานแห่เทียนพรรษาของอุบลราชธานี ทุกปีจะมีการเชิญศิลปินจากชาติต่างๆ มาร่วมแกะสลักเทียน ตามคติความเชื่อ ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติต่างๆ เพื่อร่วมจัดแสดงในงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ในชื่อ "ประติมากรรมเทียนนานาชาติ Ubon WAX" ณ บริเวณลานหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุบลราชธานี โดยกิจกรรมจะจัดให้มีขึ้นก่อนวันแห่เทียนในแต่ละปีล่วงหน้า 1 สัปดาห์ และจะมีการแสดงด้านศิลปะวัฒนธรรมของไทยให้ได้ชมประกอบด้วย ขอขอบคุณ "นายเต้าทึง" คุณกตภัน สุขสันติ์ แก้วสง่า เจ้าของภาพทั้งหมด ไปชมภาพสวยๆ เพิ่มเติมที่ เฟซบุ๊คของนายเต้าทึง ได้เลยครับ (คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย และสามารถดูแบบสไลด์โชว์ได้ครับ)

 

รวมความงามแห่ง "ฮีตศรัทธา ราชธานีแห่งเทียน"back greenหน้าที่ 1 | หน้าที่ 2 next green

redline

backled1

pee ta kon header

ผีตาโขน

ผีตาโขน เป็นการละเล่นในงานบุญประเพณีใหญ่ที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งเกี่ยวโยงกับพระธาตุศรีสองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย จัดเป็นงานบุญที่สำคัญเพราะอยู่ในฮีต 12 ตรงกับเดือน 7 แม้ว่าการจะมีการละเล่นผีตาโขนที่อื่นๆ ในอีสานบ้าง แต่ขบวนแห่ผีตาโขนจัดขึ้นที่บริเวณวัดโพนชัย และหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย นั้นเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ว่าเป็นประเพณีที่ใกล้เคียงกับการบูชาบรรพบุรุษของอาณาจักรล้านช้าง อีกที่มาหนึ่งกล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรัก จึงพากันแห่แหนแฝงตนมากับชาวบ้าน เพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" และกลายเป็น "ผีตาโขน" อย่างในปัจจุบัน

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เครื่องแต่งกายของผีตาโขนมีเอกลักษณ์ สีสันสดใส สะดุดตา มีการนำวัสดุท้องถิ่นอย่าง "หวดนึ่งข้าวเหนียว" มาตกแต่งเป็นหน้าตาผีและนำมาสวมหัว ลีลาท่าทางในการเต้นสนุกสนาน

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การระลึกถึงวิญญาณผีบรรพชน ความศักดิ์สิทธื์ที่น่าเกรงขาม และการละเล่นที่นำพาให้เกิดความสนุกสนาน

ประเพณีเล่นผีตาโขน เป็นประเพณีที่ชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ถือปฏิบัติสืบต่อกันอย่างยาวนาน ผู้ที่สวมบทบาทเป็นผีตาโขนนั้นจะต้องสวมหน้ากากที่น่าเกลียดน่ากลัว ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียว แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส ออกเดินร่วมขบวนไปกับขบวนแห่ ซึ่งจะจัดร่วมไปกับงานบุญหลวง ที่วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

pee ta kon 03

คำว่า “ผีตาโขน” นั้นสันนิษฐานได้อยู่ 2 ทาง คือ หนึ่ง มีที่มาจากเรื่องราวของ พระเวสสันดรชาดก ว่า เมื่อพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเสด็จออกจากป่า กลับคืนสู่เมืองนั้น บรรดาผีป่าและสิงสาราสัตว์ทั้งหลายต่างพากันแฝงเร้นมากับชาวบ้าน เพื่อรอส่งพระเวสสันดรกลับบ้านกลับเมือง จึงเรียกกันว่า "ผีตามคน" จนกระทั่งเพี้ยนเสียงมาเป็น ผีตาโขน

อีกทางหนึ่ง คือ เชื่อว่าประเพณีผีตาโขน เป็นการละเล่นเพื่อบวงสรวงบูชาดวงวิญญาณบรรพชน เนื่องจากชาวด่านซ้ายเชื่อกันว่า บรรพชนที่เสียชีวิตไปแล้วจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์หรือความหายนะกับบ้านเมืองได้ เพื่อให้เป็นที่พอใจของดวงวิญณาณบรรพชน ชาวบ้านจึงจัดให้มีการละเล่นผีตาโขนขึ้น เป็นสีสันแห่งการเฉลิมฉลองในงานบุญหลวงและโดยเฉพาะในพิธีอันเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง ตามฮีตเดือนสี่ (บุญผะเหวด) ของชาวอีสาน ซึ่งชาวด่านซ้าย ได้รวมเอางานบุญฮีตเดือนสี่ (บุญผะเหวด) ฮีตเดือนห้า (บุญสงกรานต์) ฮีตเดือนหก (บุญบั้งไฟ) และฮีตเดือนเจ็ด (บุญซำฮะ) มาจัดขึ้นพร้อมกันในช่วงเดือนเจ็ดของทุกปี ซึ่งมักจะอยู่ระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงช่วงต้นเดือนกรกฏาคมของทุกปี

รายการทีวีชุมชน ตอน ผีตามคน

ชนิดของผีตาโขน

ผีตาโขน ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่ และผีตาโขนเล็ก

pee ta kon 01

  • ผีตาโขนใหญ่ จะมีลักษณะเป็นหุ่นที่ขึ้นรูปจากโครงไม้ไผ่สานที่มีขนาดใหญ่ แล้วห่อคลุมด้วยผ้าหรือกระดาษสี มีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดา ประมาณ 2 เท่า ประดับตกแต่งรูปร่างเป็นเพศชายและหญิงด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น มีการประดับอวัยวะเพศที่แสดงออกถึงความเป็นชายและหญิงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นตามความเชื่อในสมัยโบราณที่สื่อว่า อวัยวะเพศของมนุษย์จะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่ความคิดพิเรนหรือทะลึ่งของผู้ที่เข้ามาร่วมเล่นแต่อย่างใด การจัดงานแต่ละปีจะมีการทำผีตาโขนใหญ่เพื่อร่วมขบวนแห่เพียง 1 คู่ เท่านั้น คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำ การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปี หรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี

pee ta kon 02

  • ผีตาโขนเล็ก ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วม เพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจ ใส่หน้ากากขนาดใหญ่ เครื่องแต่งกายของผีตาโขน ส่วนใหญ่มักประกอบด้วยส่วนประกอบของหัว หรือที่เรียกว่า หน้ากาก นั้น ทำด้วย "หวด" หรือภาชนะที่ใช้นึ่งข้าวเหนียว ซึ่งเป็นส่วนด้านบนดูคล้ายหมวก ส่วนหน้านั้นทำจากโคนก้านมะพร้าว นำมาตัดปาดให้เป็นรูปหน้ากากและเจาะช่องตา จมูกนั้นทำจากไม้เนื้ออ่อน แกะให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตามแต่จินตนาการของผู้สร้างสรรค์ โดยทำเป็นลักษณะยาว แหลมคล้ายงวงช้าง ส่วนเขานั้นทำจากปลีมะพร้าวแห้ง โดยนำส่วนประกอบต่างๆ มาเย็บติดเข้าไว้ด้วยกัน และทาสีสันวาดลวดลายไปบนด้านหน้าของหน้ากากนั้นๆ หลังจากนั้นจะเย็บเศษผ้าติดไว้บริเวณด้านบน (หลัง) เพื่อให้คลุมส่วนคอของผู้ใส่ไปจนถึงไหล่

ประเพณีบุญหลวงและการละเล่น ผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย

การแต่งกาย และการละเล่นผีตาโขน

ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้ จะแต่งกายด้วยผ้าสีสันสดใสให้คล้ายผีและปีศาจ ใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ทำจากกาบมะพร้าวแกะสลัก และมีการตกแต่งวาดลวดลายลงบนหน้ากากเป็นรูปผีต่างๆ ให้ดูน่ากลัว มีการเจาะช่องตา จมูก ปาก และใบหู และนำเอาหวดนึ่งข้าวเหนียวมาสวมศีรษะ โดยกดด้านล่างหวดให้เป็นรอยบุ๋มเหมือนหมวก แต่งแต้มด้วยสีสันต่างๆ ให้ดูน่ากลัว หงายปากหวดขึ้นเพื่อสวมลงบนศีรษะ ส่วนชุดจะใช้เศษผ้าหลากสีมาเย็บต่อกันเป็นชุดยาวสวมคลุมทั้งตัว

pee ta kon 05

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ประกอบในการละเล่นอีก 2 ชิ้น คือ “หมากกระแหล่ง” หรือกระดึงแขวนคอวัว นำมาแขวนเอว ใช้เขย่าให้เกิดเสียงดังเวลาเดิน และ “อาวุธประจำกาย” ของผีตาโขน ซึ่งหลักๆ คือ ดาบไม้ ซึ่งไม่ได้เอาไว้รบกันแต่เอาไว้ควงหลอกล่อ และไล่จิ้มก้นสาวๆ ซึ่งก็จะร้องวิ๊ดว้ายหนีกันจ้าละหวั่น ทั้งอายทั้งขำ แต่ไม่มีใครถือสา เพราะเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา

pee ta kon 06

เหตุที่วิ่งหนีเพราะปลายดาบนั้นแกะสลักเป็น รูปอวัยวะเพศชาย หรือ “ปลัดขิก” แถมยังทาสีแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด การเล่นแบบนี้ไม่ถือเป็นเรื่องหยาบ หรือลามก แถมยังสร้างสีสันความสนุกสนานให้กับชาวบ้าน และผู้ที่มาร่วมงานประเพณีเป็นอย่างมาก เพราะมีความเชื่อกันว่า หากเล่นตลกและนำอวัยวะเพศชายหญิงมาเล่นมาโชว์ในพิธีแห่และงานบุญบั้งไฟ จะทำให้พญาแถนพอใจ ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์

pee ta kon 07

การเล่นผีตาโขนนั้นจะเล่นกันเฉพาะในงาน ประเพณีบุญหลวง ที่จะจัดขึ้นในเดือน 8 (ตามปฏิทินไทย) นิยมจัดงาน 3 วัน ด้วยกัน

วันแรก ชาวด่านซ้ายจะเรียกวันนี้ว่า วันรวม หรือ วันโฮม ชาวบ้านจะช่วยกันสร้างหออุปคุตต์ขึ้นก่อน ในบริเวณระหว่างลำน้ำหมันกับลำน้ำศอก เริ่มพิธีตอนเช้า 04.00 - 05.00 น. คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้า ขันแปด (พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อนิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพมาก และมักเนรมิตกายอยู่ในมหาสมุทร เพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้ เกิดความสุข สวัสดี เมื่อถึงแล้วผู้อันเชิญต้องกล่าวพระคาถา และให้อีกคนลงไปในน้ำ งมก้อนหินใต้น้ำขึ้นมาถามว่า "ใช่พระอุปคุตต์หรือไม่" ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งตอบว่า "ไม่ใช่"

พอก้อนหินก้อนที่ 3 ให้ตอบว่า "ใช่ นั่นแหละ พระอุปคุตต์ที่แท้จริง" เมื่อได้พระอุปคุตต์มาแล้วก็นำใส่พาน แล้วนำขบวนกลับไปที่หอพระอุปคุตต์ ทำการทักขิณาวัฏ 3 รอบ มีการยิงปืนและจุดประทัด ซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับ หรือ อยู่ตามที่ต่างๆ ก็จะมาร่วมขบวนด้วยความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับเสียงหมากกระแหล่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้เสียงดัง

pee ta kon 03

วันที่สอง จะเป็นพิธีอัญเชิญพระอุปคุตต์เข้ามาประดิษฐานภายในวัด ด้วยเชื่อกันว่า การอัญเชิญตัวแทนพระอุปคุตต์เข้ามาประดิษฐานในวัด จะช่วยป้องกันเหตุเภทภัยต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้นในงานได้ ในขบวนประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ พระสงฆ์ 4 รูป นั่งบนแคร่หาม ตามด้วย เจ้าพ่อกวนนั่งอยู่บนกระบอกบั้งไฟ ท้ายขบวนเป็นเจ้าแม่นางเทียมกับบริวาร ชาวบ้านและเหล่าผีตาโขนเดินตามเสด็จไปรอบเมือง ในวันนี้จะมีพิธีจุดบั้งไฟบูชา ขบวนแห่ผีตาโขนออกมาร่ายร่ำ ประกอบเครื่องดนตรีพื้นเมืองอย่างสนุกสนานไปตลอดเส้นทางจนกระทั่งถึงวัด เป็นการแสดงการเซิ้งผีโขน

ก่อนตะวันตกดิน สำหรับคนที่เล่นเป็น ผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมด และนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนปีหน้าฟ้าใหม่แล้วค่อยทำเล่นกันใหม่

pee ta kon 04

วันที่สาม จะเป็นวันประกอบพิธีทางศาสนา และอุทิศบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด ฟังเทศน์มหาชาติ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด

pee ta kon 08
ผู้เขียนเมื่อไปเยือนพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน วัดโพนชัย อำเภอด่าซ้าย จังหวัดเลย

ปัจจุบัน ประเพณีเล่นผีตาโขน นอกจากจะเป็นประเพณีที่ชาวด่านซ้ายช่วยกันอนุรักษ์ไว้ เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนแล้ว ประเพณีนี้ยังช่วยกระตุ้นในเรื่องของการท่องเที่ยว นำเม็ดเงิน ชื่อเสียงมาสู่จังหวัดเลยเป็นประจำทุกปี

เที่ยวงานผีตาโขน ประเพณีที่มีหนึ่งเดียวในโลก | ตะลอนข่าวสุดสัปดาห์

ประเพณีการละเล่นผีตาโขน นี้ ในทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านของเรา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในเมืองปากลาย และเมืองไชยะบุรี เรียกการละเล่นนี้ว่า "บุญแห่ผีโขน - ບຸນແຫ່ຜີໂຂນ" จึงขอนำมาเสนอให้ทุกท่านได้เห็นความเหมือนและความต่างดังนี้

ເລາະລຸຍລາວ EP18 ຊາຍຜູ້ສືບທອດຜີໂຂນ

เรียนรู้เรื่องราวชาวอีสาน : อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน

redline

backled1

pook siew header

ผูกเสี่ยว

ผูกเสี่ยว เป็นประเพณีเก่าแก่และสำคัญของชาวอีสาน โดยพ่อแม่จะนำลูกหลานที่รักกันมาผูกแขนป็นเพื่อนกัน คำว่า "เสี่ยว" ในภาษาอีสานมีความหมายว่า "เพื่อนรัก หรือ เพื่อนตาย" ประดุจมีชีวิตเดียวกัน จึงต้องมีความซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน มีความผูกพันกันด้านจิตใจอย่างจริงจังและเต็มใจ ไม่มีสิ่งใดจะมาพรากจากกันได้แม้แต่ความตาย ในพิธีผูกเสี่ยวจะมีผู้อาวุโสที่เป็นที่เคารพนับถือมาเป็นสักขีพยาน หลังผู้ทำพิธีกล่าวคำว่า "สักเค" ให้จองเกลอ (คู่ที่ผูกเสี่ยว) กล่าวคำสาบานโดยมีความหมายว่า "เราทั้งสองมาสาบานต่อกันว่าจะซื่อสัตย์ต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้าใครคิดคดทรยศต่อกันขอให้คนนั้นต้องมีอันเป็นไป" จากนั้นจะดื่มน้ำสาบานต่อหน้าผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้ประกอบพิธีก็ผูกข้อมือให้แก่คู่จองเกลอก็เป็นอันเสร็จพิธี

ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม เป็นประเพณีเก่าแก่และเป็นภูมิปัญญาที่ทำให้สังคมของชาวอีสานเข้มแข็ง เป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเสี่ยวหรือเพื่อนรักเพื่อนตาย และเครือญาติของทั้งสองฝ่าย

ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม การมีเพื่อนตายที่มีความรัก ความจริงใจ ความเข้าใจต่อกันเป็นอย่างดี

ประเพณีผูกเสี่ยว

pook siew 02ประเพณีผูกเสี่ยว เป็นประเพณีดั้งเดิมของกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว การผูกเสี่ยว คือ การสัญญาที่จะเป็นเพื่อนรัก ร่วมเป็นร่วมตาย โดยมีสักขีพยาน การผูกเสี่ยวนิยมกระทำระหว่างชายกับชาย หรือหญิงกับหญิงที่วัยใกล้เคียงกัน และลักษณะนิสัยใจคอที่คล้ายคลึงกัน โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่จะเป็นผู้ทาบทาม ขอผูกเสี่ยวกัน เรียกว่า "แฮกเสี่ยว" เมื่อตกลงก็จะผูกเสี่ยวโดยใช้ฝ้ายมงคล ผูกข้อมือของแต่ละคนเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่คู่เสี่ยว บางแห่งก่อนจะผูกเสี่ยวจะจัดพิธีสู่ขวัญ ให้ศีล ให้พร อบรมสั่งสอนให้แก่คู่เสี่ยวฮักนับถือกัน ตลอดถึงพ่อแม่ พี่น้อง และวงศาคณาญาติของกันและกัน ให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันตลอดไป ตอนนี้เรียกว่า "ขอดเสี่ยว" หลังจากนั้นก็จะมีการเลี้ยงข้าวปลาอาหารกันตามสมควรแก่ฐานะ

เสี่ยว หมายถึง สหาย, มิตร, เพื่อน, เกลอ (friend, buddy, comrade.) คนที่มีรูปร่างหรือ นิสัยใจคอเหมือนกันหรือเกิดไล่เลี่ยกัน พ่อแม่ผูกให้เป็นมิตรกัน เรียกว่า "ผูกเสี่ยว" ซึ่งเขาทั้งสองจะผูกสมัครรักใคร่ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลจนวันตาย หรือจะเรียกว่า "เป็นเพื่อนตาย" ก็ยังได้

เสี่ยว น. สหาย มิตร เพื่อน เกลอ คนที่มีรูปร่างหรือนิสัยใจคอเหมือนกันหรือเกิดไล่เลี่ยกัน พ่อแม่ผูกให้เป็นมิตรกัน เรียก เสี่ยว อย่างว่า โขโนเจ้าพรานสวงสองเสี่ยว (กาไก). friend, buddy, comrade. "

สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง

คำว่า "บักเสี่ยว" ที่คนในภาคอื่นๆ นำมาใช้เรียกคนอีสานอย่างดูถูกดูแคลน (ในความหมาย ไม่เป็นท่า เด๋อๆ ด๋าๆ) จึงไม่ถูกต้อง เพราะ คำว่า "บัก" เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อชายที่มีอายุเสมอกัน หรือต่ำกว่ากันว่า บักสี บักสา บักมี บักมา (นายสี, นายสา, นายมี, นายมา) ถือเป็นคำพูดพื้นๆ ไม่หยาบคายแต่อย่างใด คำว่า "บักสี่ยว" จึงหมายถึงการเรียกว่า ไอ้เพื่อนเกลอ เท่านั้นเอง

pook siew 04

มูลเหตุของพิธีกรรมผูกเสี่ยว

ความเป็นมาของประเพณีผูกเสี่ยวไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่า การผูกเสี่ยวเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด จากหลักฐานที่ปรากฎพอจะสืบค้นหลักฐานอ้างอิงเกี่ยวกับผูกเสี่ยวมีอยู่ 2 ทาง คือ

1. ด้านวรรณคดี พบข้อความในวรรณคดีอีสานกล่าวถึงคำ "เสี่ยว" อยู่หลายแห่ง เช่น

อันว่าบิดาพระพ่อพญาภายพุ้น ฮ้อยว่าจักไปหาเจ้าสหายแพงเป็นเสี่ยว"
                                                                                          (พระลักพระลาม)

สั่งเล่ามาล่วงม้างพญากล้าพ่อพระองค์กุมพลเจ้าสุริวงเป็นเสี่ยว"
                                                                                           (สุริยวง)

2. ด้านประวัติศาสตร์ อาจารย์จารุบุตร เรืองสุวรรณ ได้กล่าวไว้ว่า

ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้มีการสำรวจประชาชนไทยที่มี วัน เดือน ปี เกิดตรงกับวันพระราชสมภพ เพื่อขึ้นบัญชีเป็น "สหชาติ" โดยเฉพาะรัชกาลที่ 7 นั้น ได้พระราชทานเหรียญมงคลเป็นที่ระลึกแก่ "สหชาติ" คือเพื่อนร่วมวันเกิดด้วย"

ในพงศาวดารล้านนาไทย ปรากฏว่า พ่อขุนรามคำแหง พ่อขุนเม็งราย พ่อขุนงำเมือง ได้จัดให้มีพิธีกรรมปฏิญาณตนเป็น "สหาย" หรือ "เสี่ยว" กัน โดยกรีดเลือดลงในจอกสุรา แล้วทรงดื่มเลือดของกันและกัน พร้อมกับกราบไหว้เทพาอารักษ์ให้เป็นพยาน จึงนับเป็นหลักฐานสำคัญของการผูกเสี่ยว

ฟ้อนผูกเสี่ยว สาขาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

pook siew 01

พิธีกรรม การผูกเสี่ยวทำให้เกิดมิตรภาพต่อเนื่องกันยาวนาน และไม่ขาดสาย ในหมู่บ้านต่างๆ อาจมีวิธีผูกเสี่ยวแตกต่างกันออกไป แต่มีจุดประสงค์ตรงกันคือ "มิตรภาพที่ยั่งยืน" วิธีผูกเสี่ยวประมวลได้ 5 ลักษณะ คือ

  • แบบที่ 1 เมื่อคู่เสี่ยวมาพร้อมกันแล้ว ประธานในพิธีจะนำ "มีดสะนาก" (มีดหนีบหมาก หรือหนีบสีเสียด) มาตั้งไว้กลางขันหมาก โดยถือเอามีดสะนากเป็นหลัก และเปรียบเทียบให้เห็นว่า มีดจะใช้ประโยชน์ได้ต้องมี 2 ขา และจะต้องติดกัน เหมือนคนเราจะมีชีวิตปลอดภัยต้องมีมิตรเป็นมิตรในทุกแห่ง คนจะต้องมีเพื่อนคอยช่วยเหลือกันและกันเหมือนมีดสะนาก จะอยู่คนเดียวโดดเดี่ยวไม่ได้ แล้วทำพิธีผูกแขนให้แก่คู่เสี่ยว
  • แบบที่ 2 เมื่อคู่เสี่ยวมาพร้อมกันแล้ว ก่อนจะผูกเสี่ยวผู้เป็นประธานจะนำ เกลือ พริก มาวางไว้ต่อหน้าในพิธี โดยให้เกลือกับพริกเป็นตัวเปรียบเทียบ เกลือมีคุณสมบัติไม่จืดจาง พริกเผ็ดไม่เลือกที่ เสี่ยวจะต้องมีลักษณะรักษาคุณสมบัติคือ รักกันให้ตลอดไปเหมือนเกลือรักษาความเค็ม พริกรักษาความเผ็ด แล้วก็ทำพิธีผูกแขนให้คู่เสี่ยว
  • แบบที่ 3 แบบง่ายๆ คือ เมื่อคู่เสี่ยวพร้อมแล้ว ผู้เป็นประธานก็จะผูกแขนให้คู่เสี่ยว และอวยชัยให้พร ใช้คำพูดเป็นหลักในการโน้มน้าวให้คู่เสี่ยวรักกันและกันตลอดไป
  • แบบที่ 4 เป็นแบบที่มีการจองคู่เสี่ยวไว้ก่อน หรือพิจารณาดูเด็กที่รักกันไปด้วยกัน ทั้งๆ ที่เด็กไม่รู้ว่าเป็นคู่เสี่ยวกัน แล้วนำเด็กมาผูกเสี่ยวกันโดยการเห็นเห็นดีเห็นงามของผู้ใหญ่ ประธานในพิธีจะนำฝ้ายผูกแขนมาผูกให้คู่เสี่ยว ต่อหน้าบิดามารดาของทั้งคู่ให้รับรู้ความรักของเด็กทั้งสอง
  • แบบที่ 5 เป็นพิธีผูกเสี่ยวแบบผู้ใหญ่ คือ ผูใหญ่ที่รักกันมาแต่เด็ก หรือมาชอบพอกันเมื่อโตแล้ว มีใจตรงกันจะผูกเสี่ยว ก็ขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ผูกแขนให้เป็นเสี่ยวกัน หรือผูกแขนในพิธีผูกเสี่ยวที่จัดขึ้นเป็นกิจลักษณะก็ได้

อุปกรณ์ที่สำคัญมี พานบายศรี อาจเป็นบายศรี 3 ชั้น 5 ชั้น หรือ 7 ชั้น และมีเครื่องประกอบภายในพานอีกหลายอย่าง คือ สุรา 1 ขวด ไข่ไก่ต้ม 1 ฟอง ข้าวต้มมัด 4 ห่อ กล้วยสุก 4 ผล ข้าวเหนียวนึ่ง 1 ปั้น ใบพืชที่เป็นมงคล เช่น ใบคูน ใบเงิน ใบทอง ใบยอ ดอกรัก และที่ขาดไม่ได้คือ ฝ้ายผูกแขน

เชิญแขกมงคลมาร่วมพิธี คู่เสี่ยว นั่งล้อมพานบายศรี หมอพราหมณ์เริ่มพิธีด้วยการจุดเทียนที่พานบายศรี อัญเชิญเทวดาลงมาเป็นสักขีพยาน กล่าวถึงงานบายศรีสู่ขวัญเนื่องในโอกาสต่างๆ เช่น งานมงคลสมรส มีบุตรใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ การเลื่อนยศ การผูกเสี่ยว การบวชนาค ฯลฯ แล้วกล่าวคำอัญเชิญขวัญตามโอกาส เมื่อถึงบทเชิญขวัญ ผู้ร่วมพิธีจะตะโกนเรียกขวัญของผู้ร่วมพิธีให้มาอยู่กับเนื้อกับตัวว่า "มาเยอขวัญเยอ มาเยอขวัญเอย"

สู่ขวัญจบแล้ว หมอพราหมณ์และแขกจะนำด้ายมงคลผูกข้อมือของคู่เสี่ยว พร้อมทั้งให้ศีลให้พร ให้รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่อจากนั้นคู่เสี่ยวก็จะผูกข้อมือซึ่งกันและกัน เป็นอันเสร็จพิธี

ประโยชน์ของการผูกเสี่ยว

การผูกเสี่ยว เป็นการสร้างความเป็นเพื่อน สร้างความรัก ความผูกพัน ความนับถือกันให้เกิดขึ้นในหมู่ชน ความรักความผูกพันดังกล่าวไม่จำกัดอยู่เฉพาะผู้เป็นเสี่ยวกันเท่านั้น แต่แผ่กระจายไปถึงพ่อ-แม่ ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายด้วย

pook siew 03

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา "พิธีผูกเสี่ยว" ได้ถูกกำหนดให้มีขึ้นในงาน "เทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยว แะงานกาชาด" ของจังหวัดขอนแก่น จนถึงปัจจุบัน

ประเพณีผูกเสี่ยว วัฒนธรรมอีสาน

นิทานกลอนลำ (ลำเพลิน) ตอน ผูกเสี่ยว

เรื่องราวอีสานที่น่ารู้ : อัตลักษณ์ท้องถิ่นอีสาน

redline

backled1

dab took manual

  1. จงประพฤติศีล 5 ให้สมบูรณ์ ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ทุกชนิด ไม่ขโมยสิ่งของของใคร ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่โกหกหลอกลวงใคร ไม่ดื่มหรือเสพติดของมึนเมา
  2. แบ่งเวลาในแต่ละวันให้พอเหมาะพอดีแก่สภาพชีวิตตนเอง มีเวลาพักผ่อนในครอบครัวตามสมควรสำหรับผู้เป็นฆราวาส และมีเวลาฝึกจิตให้เป็นสมาธิทำให้จิตใจสงบ
  3. ในการฝึกสมาธินั้นให้นั่งอยู่อย่างสงบสำรวม อย่าเคลื่อนไหวอวัยวะมือและเท้า จะนั่งกับพื้นเอาขาทับขาข้างหนึ่งข้างใดก็ได้ หรือจะนั่งพับเพียบก็ได้ หรือจะนั่งบนเก้าอี้ตามสบายก็ได้ ไม่มีปัญหา
  4. วิธีการฝึกสมาธินั้น ขอให้เข้าใจว่าท่านจะทำจิตใจให้สงบ ปราศจากความคิดนึกปรุงแต่งในเรื่องภายนอก ทุกอย่างชั่วระยะเวลาที่ทำสมาธินั้น ท่านจะไม่ปรารถนาที่จะพบเห็น รูป รส สี แสง เสียง สวรรค์ นรก หรืออินทร์พรหมที่ไหน เพราะสมาธิที่แท้จริงย่อมไม่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่ในจิต สมาธิที่แท้จริงจะมีแต่จิตที่่สะอาด บริสุทธิ์ และสงบเย็นเท่านั้น

sura oonnawong 07

  1. พอเริ่มทำสมาธิ โดยปกติแล้วให้หลับตาให้สบาย สำรวมจิตให้เข้านับที่ลมหายใจ ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก โดยจะนับอย่างนี้ว่า หายใจเข้านับหนึ่ง หายใจออกนับสอง เรื่อยไป ทีแรกนับช้าๆ เพื่อให้สติต่อเนื่องอยู่กับการนับนั้น แต่ต่อไปพอจิตสงบเข้าที่แล้วมันจะหยุดนับของมันเอง
  2. หรือบางทีอาจจะกำหนด พุท โธ หายใจเข้ากำหนด พุท หายใจออกกำหนด โธ อย่างนี้ก็ได้ไม่ขัดแย้งกันเลย เพราะการนับอย่างนี้ มันเป็นเพียงอุบายที่ทำให้จิตนึกคิดปรุงแต่งเท่านั้น
  3. ในการฝึกแรกๆ นั้น ท่านจะยังนับและกำหนดไม่ได้อย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างตลอดรอดฝั่ง เพราะมักจะมีความคิดต่างๆ แทรกเข้ามาในจิต ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ช่างมัน ให้เข้าใจว่าฝึกครั้งแรกๆ มันก็เป็นอย่างนี้นี่เอง แต่ให้ท่านตั้งนาฬิกาเอาไว้ตามเวลาที่พอใจว่า จะทำสมาธินานเท่าใด แรกๆ อาจจะสัก 15 นาที อย่างนี้ก็ได้ และให้เฝ้านับหรือกำหนดอยู่จนครบเวลาที่กำหนดจิตไว้ มันจะมีความคิดมากน้อยก็ช่างมัน ให้พยายามกำหนดนับตามวิธีการที่กล่าวมาแล้วจนครบเวลา ไม่นานนักจิตมันก็จะหยุดคิดและสงบได้ของมันเอง
  4. การฝึกสมาธินี้ให้พยายามทำทุกวันๆ ละ 2-3 ครั้ง แรกๆ ให้ทำครั้งละ 15 นาที แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มให้มากขึ้นๆ จนถึงครั้งละ 1 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นตามที่จิตปรารถนา
  5. ครั้นกำหนดจิตด้วยการนับอย่างนั้นจนมีประสบการณ์พอสมควรแล้ว ท่านก็จะรู้สึกว่าจิตนั้นสะอาด สงบเย็น ผ่องใสไม่หงุดหงิด ไม่หลับใหล ไม่วิตกกังวลกับสิ่งใด นั่นแหละ คือ สัญลักษณ์ที่แสดงว่า สมาธิกำลังเกิดขึ้นในจิต
  6. เมื่อจิตสงบเย็น ไม่หงุดหงิดเช่นนั้นแล้วอย่าหยุดนิ่งเฉยเสีย ให้ท่านเริ่มน้อมจิตเพื่อที่จะพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ต่อไป ถ้ามีปัญหาชีวิตหรือปัญหาใดๆ ที่ทำให้ท่านกำลังเห็นทุกข์กลัดกลุ้มอยู่ ก็จงน้อมจิตเข้าไปคิดนึกพิจารณาปัญหาด้วยความสุขุมรอบคอบ ด้วยความมีสติ
  7. จะยกเอาปัญหานั้นมาพิจารณาว่า ปัญหานั้นมาจากไหน? มันเิดขึ้นเพราะอะไร? เพราะอะไรท่านจึงหนักใจกับมัน ทำอย่างไรท่านจึงจะแก้ไขปัญหามันได้ ทำอย่างไรท่านจึงจะเบาใจและไม่เป็นทุกข์กับมัน?
  8. การพิจารณาด้วยจิตอันสงบอย่างนี้ การถามหาเหตุผลกับตนเองอย่างนี้ จิตของท่านมันจะค่อยๆ รู้เห็น และเกิดความคิดนึกรู้สึกอันฉลาดขึ้นมาโดยธรรมชาติของมัน จิตจะสามารถเข้าใจต้นสายปลายเหตุของปัญหาต่างๆ ได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง นักปฏิบัติจึงต้องพยายามพิจารณาปัญหาต่างๆ อย่างนี้เรื่อยไปหลังจากที่จิตสงบแล้ว
  9. จงเข้าใจเป้าหมายที่ถูกต้องของการฝึกสมาธินั้นคือ ท่านจะฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอกชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว จิตนั้นจะมีกำลังและมั่นคง สภาพจิตเช่นนั้นเองที่มันจะมีความพร้อมในการที่จะรู้และเข้าใจปัญหาต่างๆ หรือสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมตัวท่านเอง ได้อย่างถูกต้องตามความจริง
  10. สรุปว่า ท่านจะฝึกสมาธิเพื่อจะเรียกกำลังจิตจากสมาธินั้นไปพัฒนาความคิดนึก หรือความรู้สึกของท่านให้ถูกต้อง ซึ่งความรู้สึกคิดนึกที่ถูกต้องนั้น แท้จริงแล้วก็คือ "ปัญญา" นั่นเอง

 sura oonnawong 02

 ผศ.สุระ อุณวงศ์ ชมรมผูสูงอายุวัดหนองปลาปาก

redline

backled1

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)