คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
มันสำปะหลัง เป็นพืชดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองในเขตร้อนของทวีปอเมริกาตอนกลาง และทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ โดยสันนิษฐานไว้ 3 แหล่ง คือ
โดยพบว่าชาวพื้นเมืองของประเทศเหล่านี้ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อใช้เป็นอาหาร จากหลักฐานทางโบราณคดี มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปหัวมันสำปะหลังที่ประเทศเปรู เครื่องปั้นนี้มีอายุประมาณ 2,500 ปี แสดงว่า มนุษย์เรานั้น รู้จักใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารมานานเกินกว่า 2,500 ปีมาแล้ว
ในสมัยโบราณก่อนที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส สำรวจพบทวีปอเมริกาในปี พ.ศ. 2035 ก็มีการปลูกมันสำปะหลังอยู่เฉพาะในเขตร้อนของทวีปอเมริกาเท่านั้น ส่วนในทวีปแอฟริกา และเอเชีย ยังไม่มีการปลูกมันสำปะหลัง เพราะยังไม่มีการติดต่อกัน ต่อมาจึงมีการนำมันสำปะหลังจากทวีปอเมริกา ไปแพร่กระจายยังทวีปแอฟริกา และเอเชีย ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทย ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า มีการนำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อใด และอย่างไร แต่สันนิษฐานกันว่า คงจะเข้ามาในระยะเดียวกันกับการเข้าสู่ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ คือ ประมาณ พ.ศ. 2329 - 2383 คาดว่าคงมีผู้นำเข้ามาจากมาลายูเข้ามาปลูกทางภาคใต้ ราว พ.ศ. 2329 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะคำว่า สำปะหลัง คล้ายกับคำใน ภาษาชวาตะวันตก ซึ่งเรียกมันสำปะหลังว่า สัมเปอ (Sampue) ซึ่งมีความหมายเหมือนคำใน ภาษามาเลย์ ซึ่งแปลว่า พืชที่มีรากขยายใหญ่
การปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย ช่วงแรกที่ปลูกในภาคใต้นั้น เป็นมันสำปะหลังชนิดหวาน ใช้ทำขนม ต่อมาจึงนำเข้าพันธุ์ชนิดขมสำหรับปลูกส่งโรงงานในภายหลัง โดยปลูกเป็นพืชแซมระหว่างแถวต้นยางพาราขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลา มีโรงงานผลิตแป้งมันและโรงงานทำสาคูส่งออกไปยังปีนังและสิงคโปร์ แต่การปลูกมันสำปะหลังเป็นการค้าในภาคใต้นั้นค่อยๆ หมดไป เพราะการปลูกแซมในระหว่างแถวต้นยางพาราและพืชยืนต้นอื่นๆ นั้น เมื่อปลูกได้ 4 - 5 ปี ต้นยางพาราก็โตคลุมพื้นที่หมด ไม่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้อีกต่อไป จึงได้ย้ายแหล่งปลูกไปยังภาคตะวันออกที่ จังหวัดชลบุรี และระยอง
พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังพบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ ภาคที่มีการปลูกมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 54.5) รองลงมา คือ ภาคกลาง (ร้อยละ 25.6) และภาคเหนือ (ร้อยละ 19.9) พื้นที่รวม 48 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 7.9 ล้านไร่ ผลผลิตรวมกว่า 30.23 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2556
จังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญ ได้แก่ นครราชสีมา กำแพงเพชร กาญจนบุรี สระแก้ว นครสวรรค์ ชัยภูมิ เนื้อที่เพาะปลูกของ 6 จังหวัดนี้ เมื่อรวมกันแล้ว มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ
มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริมตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 เช่นเดียวกับ ปอแก้ว ปอกระเจา ตัวผู้เขียนเองมีประสบการณ์ในการปลูกมันสำปะหลังบ้างนิดหน่อย ตอนนั้นทางบ้านได้ไปลงทุนบุกเบิกทำไร่มันที่ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ทำอยู่ 4 - 5 ปี ก็ประสบปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ไม่คุ้มทุน เลยขายที่ทางกลับมาทำนาที่อุบลราชธานีเหมือนเดิม (เรียกว่า เจ๊ง ไม่รอดเลย) แต่มันสำปะหลังก็ยังคงนิยมปลูกกันอยู่ในปัจจุบัน
มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ยอดใบ จนถึง ราก (หัวมัน) เพื่อการบริโภค เป็นอาหารมนุษย์ และอาหารสัตว์ รวมถึงใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ
อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ใช้เพื่อผลิตเป็น มันสำปะหลังเส้น (cassava chips/shredded) มันสำปะหลังอัดเม็ด (cassava pellets) แป้งมันสำปะหลัง (cassava flour/tapioca flour) และจากแป้งมันสำปะหลัง สามารถนำไปผลิตเป็นแป้งแปรรูป (modified starch) ชนิดต่างๆ ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหารอื่นๆ เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น สาคู ตลอดจนใช้แป้งมันช่วยเพิ่มความเข้มข้นในการผลิตซอสต่างๆ เช่น ซอสมะเขือเทศ และอาหารกระป๋องต่างๆ เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผงชูรส รวมถึงการผลิตไลซีน และสารให้ความหวานต่างๆ
อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหาร เช่น อุตสาหกรรมทำกาว อุตสาหกรรมกระดาษ เป็นตัวฉาบผิวด้วยกาวจากแป้ง ทำให้กระดาษเรียบ คงรูปร่าง ช่วยทำให้กระดาษไม่ซึมหมึกพิมพ์สี อุตสาหกรรมซักรีด อุตสาหกรรมยาสีฟัน และเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมพลาสติกที่สลายได้ทางชีวภาพ อุตสาหกรรมสิ่งทอ และสารดูดน้ำในการผลิตผ้าอ้อม (แพมเพิร์ส) สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เป็นต้น
อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ใช้แป้งมันสำปะหลังในการผลิต เอทานอล เพื่อเป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอลล์
ในส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลังจะมี กรดไฮโดรไซยานิค (hydrocyanic acid ,HCN) ซึ่งเกิดจาก การแตกตัวของสารประกอบไซยาโนเจเนติก กลูโคไซด์ (cyanogenetic glucosides) ให้สารพิษในรูปกรดไฮโดรไซยานิค ที่มีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและทางเดินโลหิต ทำให้ถึงตายได้ เนื่องจากทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองน้อยลง จะอาเจียน หายใจขัด ชักกระตุก กล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจลำบาก อาการพิษแบบฉับพลันคือ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน และอุจจาระร่วง
ได้มีการแบ่งชนิดของหัวมันตามระดับของสารพิษที่มีอยู่ ดังนี้คือ ถ้าหัวมันสำปะหลังสดมีกรดไฮโดรไซยานิกต่ำกว่า 50 ส่วนในล้านส่วน ถือว่า เป็นประเภทมีพิษน้อย ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ ถ้าหัวมันสำปะหลังสด ที่มีกรดไฮโดรไซยานิกอยู่ในช่วง 50-100 ส่วนในล้านส่วน ถือว่ามีพิษ ปานกลาง แต่ถ้ามีกรดไฮโดรไซยานิกสูงกว่า 100 ส่วนในล้านส่วน ถือว่า มีพิษรุนแรง มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 1 ที่ปลูกกันในประเทศไทย เพื่อผลิตมันเส้น มันอัดเม็ดและแป้งมัน จัดอยู่ในประเภทที่มีพิษรุนแรง ได้มีการรายงานถึงระดับที่เป็นพิษของกรดไฮโดรไซยานิก ในคนและสัตว์ว่า ถ้าได้รับกรดไฮโดรไซยานิกประมาณ 1.4 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะเป็นพิษถึงตายได้
สารพิษในรูปกรดไฮโดรไซยานิคนี้ มีมากที่เปลือกของหัวมันสำปะหลัง และที่ใบ ยอดอ่อน แต่สารนี้จะสลายตัวได้ง่าย เมื่อถูกความร้อน ดังนั้นวิธีการลดความเป็นพิษในหัวมันสำปะหลัง ก่อนนำมาบริโภค คือ
วิธีการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ สามารถลดความเป็นพิษ ด้วยการลดสารกลูโคไซด์ในมันสำปะหลังลงได้มากจนถึงหมดไป เป็นผลให้มันสำปะหลังใช้บริโภคได้ โดยไม่เป็นพิษต่อร่างกายเลย ถึงแม้ว่าในบางครั้ง ก่อนบริโภคจะขจัดสารที่มีพิษออกไม่หมด แต่ถ้ามีสารดังกล่าวหลงเหลือ อยู่บ้างในปริมาณเล็กน้อย เมื่อรับประทานเข้าไปสารนี้จะถูกน้ำย่อยในลำไส้ย่อยได้อีก ฉะนั้นโอกาสที่สารพิษในหัวมันสำปะหลังจะเป็นพิษ ต่อการบริโภคนั้นจึงมีน้อยมาก ถ้าเราได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องในการเตรียมอาหาร
ในอดีตการปลูกมันสำปะหลังเป็นที่นิยมปลูกเพราะ ปลูกได้ตลอดทั้งปี มีความทนแล้งได้ดีกว่าพืชชนิดอื่นๆ มันสำปะหลังเจริญเติบโตได้ในแหล่งดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ (ดินร่วนปนทราย หรือดินทราย) ไม่จํากัดเวลาการเก็บเกี่ยว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีแรงงานเพียงพอ และทิ้งไว้ในแปลง รอเก็บผลผลิตออกขายในช่วงที่ได้ราคาดีก็ได้ เมื่อมีการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ ดินมักเสื่อมคุณภาพ ต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงดิน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีก เกษตรกรสามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้ โดยปลูกปอเทืองหรือถั่วพร้า เป็นปุ๋ยพืชสดแล้วไถกลบ ระหว่างปลูกอย่าละเลยการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสม ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ในอัตราไร่ละ 100-200 กิโลกรัม
เกษตรกรควรใส่ใจเลือกพันธุ์มันสำปะหลังให้เหมาะกับสภาพดินที่ใช้ปลูก เช่น
สำหรับ พันธุ์ระยอง 7 เหมาะสำหรับปลูกในแหล่งดินร่วนเหนียวและดินร่วนทรายที่มีความชื้นตลอดช่วงของการเจริญเติบโต แต่ไม่ควรปลูกพันธุ์ระยอง 7 ในสภาพดินที่แห้งแล้งขาดน้ำ
แม้ว่า มันสำปะหลังเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่การเจริญเติบโตและผลผลิตก็ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนด้วยเช่นกัน จึงควรปลูกในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ กุมภาพันธ์-มีนาคม รองลงมาคือ ช่วงต้นฤดูฝน (เมษายน-พฤษภาคม) และช่วงปลายฤดูฝน (ตุลาคม-พฤศจิกายน) เพื่อให้ได้รับน้ำและความชื้นเพียงพอต่อการเจริญเติบโต
ปลูกมันสำปะหลังยุคใหม่ ไม่ต้องรอเทวดาช่วย
1. การเตรียมดิน
หากดินที่ทำการเพาะปลูกมันติดต่อกันหลายปี ควรปรับปรุงดินเพื่อรักษาระดับผลผลิตในระยะยาว ด้วยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเปลือกมันชนิดเก่าค้างปี (จากโรงแป้งทั่วไป) ที่หาได้ในท้องถิ่น หรือ ปลูกพืชตระกูลถั่วต่างๆ หมุนเวียนบำรุงดิน ในกรณีที่พื้นที่ประเภทหญ้าคา ควรใช้ยาราวด์อัพหรือเครือเถาต่างๆ ควรใช้ยาสตาร์เรนฉีดพ่นยาจำกัดเสียก่อนการไถ จากนั้น ไถครั้งแรกโดยไถกลบวัชพืชก่อนปลูกด้วยผาน 3 (อย่าเผาทำลายวัชพืช) ให้ลึกประมาณ 20-30 ซม. แล้วทิ้งระยะไว้ประมาณ 20-30 วัน เพื่อหมักวัชพืชเป็นปุ๋ยในดินต่อไป ไถพรวนด้วยผาน 7 อีก 1-2 ครั้ง ตามความเหมาะสม และรีบปลูกโดยเร็ว ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่
2. การเตรียมท่อนพันธุ์
ใช้ท่อนพันธุ์มันที่สด อายุ 10-12 เดือน ตัดทิ้งไว้ไม่เกินประมาณ 15 วัน โดยติดให้มีความยาวประมาณ 20 ซม. มีตาไม่น้อยกว่า 5 ตา เพื่อป้องกันเชื้อราและแมลง ควรจุ่มท่อนพันธุ์ในยาแคปแทน 1.6 ขีด (160 กรัม) ผสมร่วมกับมาลาไธออน 20 ซีซี ในน้ำ 20 ลิตร ประมาณ 5 นาที ก่อนปลูก
3. การปลูก
ปลูกเป็นแถวแนวตรง เพื่อสะดวกในการบำรุงรักษาและกำจัดวัชพืช โดยใช้ระยะระหว่างแถว 1.20 เมตร ระยะระหว่างต้น 80 ซม. และปักท่อนพันธุ์ให้ตั้งตรงลึกในดินประมาณ 10 ซม.
4. การฉีดยาคุมเมล็ดวัชพืช
สำหรับการปลูกในฤดูฝนสภาพดินชื้น ควรฉีดยาคุมวัชพืชด้วยยาไดยูรอน (คาแม็กซ์) หลังจากการปลูกทันที ไม่ควรเกิน 3 วัน หรือก่อนต้นมันงอก หากฉีดหลังต้นมันงอก อาจทำให้ต้นมันเสียหายได้ ใช้ยาในอัตรา 6 ขีด (600 กรัม) ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นได้ประมาณ 1 ไร่ครึ่ง
การปลูกของเกษตรกรยุคใหม่จะไม่ใช้สารเคมีแล้ว แต่ใช้เครื่องจักรการเกษตรที่เหมาะสมมาแทน ซึ่งปลอดภัยกว่าและเป็นการทุ่นแรงงานได้มาก อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย
5. การกำจัดวัชพืชและการใส่ปุ๋ย
กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 1 ประมาณ 30-45 วัน หลังการปลูก โดยใช้รถไถเล็กเดินตาม หรือ จานพรวนกำจัดวัชพืช ติดท้ายรถแทรกเตอร์ พร้อมทั้งใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 25-50 กก./ไร่ ห่างจากต้นมัน 1 คืบ (20 ซม.) จากนั้นใช้จอบกำจัดวัชพืชส่วนที่เหลือ พร้อมกับกลบปุ๋ยไปด้วย หรือใส่ปุ๋ยโดยการขุดหลุม ห่างจากโคนต้น 1 คืบ แล้วกลบดินตามก็ได้ ข้อสำคัญควรใส่ปุ๋ยขณะที่ดินมีความชื้นอยู่ กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 2 ประมาณ 60-70 วัน หลังการปลูก โดยปฏิบัติเช่นเดียวกันกับครั้งแรก กำจัดวัชพืช ครั้งที่ 3 ตามความจำเป็น โดยใช้จอบถาก หรือฉีดพ่นด้วยยากรัมม๊อกโซน (ควรใช้ฝากครอบหัวฉีด เพื่อป้องกันไม่ให้ยาโดนตาและลำต้นมัน)
6. การเก็บเกี่ยว
ทำการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงอายุที่เหมาะสม คือ ประมาณ 10-12 เดือน พร้อมทั้งวางแผนการเตรียมท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง เพื่อการปลูกในคราวต่อไปส่วนของต้นมันสำปะหลังที่ไม่ใช้ เช่น ใบ กิ่ง ก้าน หรือ ลำต้น ควรสับทิ้งไว้ในแปลง เพื่อให้เป็นปุ๋ยพืชสดในดินต่อไป
การเก็บเกี่ยว มันสำปะหลัง ระยะที่เหมาะสมคือ ช่วงอายุ 10-18 เดือน ควรงดเว้นการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในช่วงฝนแรก คือตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน เนื่องจากมันสำปะหลังแตกใบอ่อนจะให้เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ
มันสำปะหลัง เป็นสินค้าพืชเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญของโลก จากข้อมูล FAO ปี 2555 มีปริมาณการผลิตอยู่ในอันดับที่ 8 ของปริมาณผลผลิตทั้งโลก รองจาก อ้อย ข้าวโพด ข้าว ข้าวสาลี มันฝรั่ง ผักต่างๆ ปริมาณการผลิตมันสำปะหลังรวมทุกประเทศผลิตได้ประมาณ 200 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 3 ของผลผลิตพืชผลทางการเกษตรของโลก นอกจากนั้น มันสำปะหลังยังเป็นพืชอาหารหลักที่สำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหาร ของประเทศในเขตร้อน โดยเฉพาะประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ สำหรับในทวีปเอเชีย ประเทศอินโดนีเซีย และอินเดีย ยังคงมีการบริโภคมันสำปะหลังกันเป็นจำนวนมาก ปริมาณผลผลิตที่ได้ในแต่ละปีร้อยละ 60 ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ ร้อยละ 27.5 ใช้ทำเป็นอาหารสัตว์ และร้อยละ 12.5 ใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ
สำหรับประเทศไทย มันสำปะหลังนับเป็นพืชเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ที่สำคัญ มีปริมาณการผลิตมากกว่า 20 ล้านตันในแต่ละปี โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลังมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองลงมาจาก ประเทศไนจีเรีย แต่มีการใช้บริโภคภายในประเทศเพียงร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือร้อยละ 70 ส่งออกไปยังตลาดโลก โดยในปี 2556 มีการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังกว่า 12.15 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศ มูลค่ารวมกว่า 9.5 หมื่นล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกมันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับหนึ่งของโลกด้วย แต่เกษตรกรผู้ปลูกก็ยังมีรายได้น้อยอยู่
การฝานมันสำปะหลังตากแห้ง
มันสำปะหลัง นี่ไม่ต่างจาก "ปอแก้ว" ถ้าเข้าเขตที่มีการปลูกมันสำปะหลังมากๆ ท่านจะได้กลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของมันสำปะหลัง (กลิ่นเหม็น) โดยเฉพาะในบริเวณที่เรียกว่า "ลานมัน" (ลานตากมันสด) ซึ่งเป็นลานคอนกรีตขนาดใหญ่ จะมีการใช้เครื่องฝานหัวมันสดให้เป็นแผ่นบางๆ นำไปตากให้แห้ง ก่อนส่งเข้าโรงงานทำแป้งมัน หรือโรงทำมันอัดเม็ด ตอนที่ยังไม่แห้งสนิทนี่แหละ จะมีกลิ่นเอกลักษณ์โชยไปไกลได้นับกิโลเมตร ขับรถหรือเดินทางผ่านแม้แต่คนตาบอดก็บอกได้ว่า นี่ผ่านลานมันแน่เลย
เรื่องฮาๆ มีอยู่ว่า สมัยผมไปทำไร่มันที่เสิงสาง โคราช มีลูกน้องหนุ่ม-สาวคู่หนึ่งรักใคร่ชอบพอกัน ก็เลยมาขอให้ทางผมเป็นเฒ่าแก่จัดงานแต่งงานให้ถูกต้องตามประเพณี หลังจากนั้นไม่นาน ผมมีเหตุที่ต้องเดินผ่าน "กระท่อมข้าวใหม่ปลามัน" หลังนั้นตอนหัวค่ำ เพื่อไปเอารถปิ๊กอัพที่จอดอยู่ข้างๆ กระท่อมเข้าไปทำธุระในเมือง ยังไม่ทันได้ถึงรถก็ได้ยินเสียงชายหนุ่มพูดกระซิบเบาๆ ลอดออกจากกระท่อมมาว่า...
"โอ้ น้อง ยังกะลานมันเลย" แล้วก็ได้ยินเสียงหัวเราะคิกคักอย่างมีความสุข สนุกสนานกันไปตามประสาผัวเมียคู่ใหม่ คำว่า "ยังกะลานมัน" นี่มันมี 2 นัยยะ 2 ความหมาย อยู่นะครับ
ถ้าเป็นน้องผู้หญิงตีความ เธออาจจะยินดีปรีดาที่สามีบอกอย่างนั้น เพราะเธอแปลความหมายเอาเองว่า "นาผืนน้อยของเธอนั้น ช่างกว้างใหญ่ไพศาล ราวกับลานมัน จนสามีลุ่มหลง ตื่นเต้นขนาดนี้ได้" จริงไหม?
แต่ถ้าเป็นผู้ชายแบบอาวทิดหมู อาจจะตีความต่างออกไปว่า "นาผืนน้อยของเธอกลิ่นช่างรุนแรงเหลือเกิน ยังกะกลิ่นของลานมันก็ได้" (555) มันเป็นเช่นนี้แล... พี่น้อง มองใครมองมันตามจินตนาการนะครับ
คำชมที่บอกว่า "ยังกะลานมัน" นั่นควรมีความหมายใด โปรดได้บอกอาวทิดหมูด่วนเลยนะน้อง
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)