คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
คนในยุคสมัยก่อนนั้น จะใช้เครื่องมือในการทำมาหากินจากวัสดุใกล้ตัว เช่น เรื่องจักสานจากไม้ไผ่ หวาย ที่สามารถสาน ถัก ทอ เป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่าย มีน้ำหนักเบา ถ้าต้องการให้กันน้ำหรืออุ้มน้ำได้ก็ทาด้วยขี้ซี (ชันโรง น้ำมันยาง) อุปกรณ์บางชิ้นที่ต้องการความคงทนถาวรก็ทำจากไม้เนื้อแข็ง ด้วยการถาก ขุดเป็นหลุม เป็นท่อน เช่น ครก สาก คราด ไถ ด้ามมีด/พร้า ขวาน เป็นต้น ต่อมาเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น สิ่งของที่ทำจากแผ่นโลหะสังกะสี เหล็ก พลาสติก ก็เข้ามาแทนที่ จนเครื่องใช้ที่ทำด้วยภูมิปัญญาจากไม้เริ่มหายไป เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เลยขอนำเรื่องราวของเครื่องใช้ในอดีตมาบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้ย้อนระลึกถึงวันวานดังนี้
คนอีสานที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามริมน้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำสงคราม แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และลำน้ำสาขาอื่นๆ จะมีการใช้เครื่องมือในการดักจับสัตว์น้ำคล้ายๆ กัน ส่วนใหญ่จะทำจากไม้ไผ่เป็นเครื่องจักสานที่มีขนาด รูปทรง เล็กใหญ่แตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ซึ่งคงมีมานานเป็นพันปีดังจะเห็นได้จากภาพเขียนสีที่ผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี
เครื่องดักจับสัตว์น้ำของไทยส่วนใหญ่ มักจะเกี่ยวข้องกับการจับสัตว์น้ำจืดตามแม่น้ำ, ลำเหมือง, ร่องเหมือง, ท้องนา, หนอง, คลอง, บึง ฯลฯ ซึ่งมีกระจายทั่วไปเป็นหลัก ส่วนใหญ่จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่การเรียกชื่ออาจจะเหมือนหรือต่างกันไปบ้างตามท้องที่ แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน
"ตุ้มปลายอน" เป็นเครื่องมือจับปลาในแม่น้ำมูลที่มีมาแต่โบราณ พบหลักฐานเป็นภาพเขียนสีปรากฏอยู่ที่ ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เครื่องมือหาปลาชนิดนี้ทำจากไม้ไผ่สานลายขัดมีความยาวถึง 8 เมตร วิธีการทำเริ่มจาก สานก้นตุ้ม หรือเรียกว่า "ปากงา" มีลักษณะเป็นวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว ปากงาเป็นหัวใจสำคัญของตุ้ม เพราะปลายอนจะเข้าทางด้านนี้ จึงต้องสานให้แน่น ส่วนก้นตุ้มจะมีขนาดใหญ่สานโค้งเหมือนสุ่มไก่ จากนั้นจะเริ่มสานต่อเป็นรูปทรงกรวยยาวไปถึงปากตุ้ม ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร เมื่อสานก้นตุ้มและขึ้นโครงเสร็จจะนำไปแขวนบนต้นไม้ ให้ตุ้มอยู่ในรูปแนวตั้งเพื่อสะดวกในการสาน กินเวลาประมาณ 1 สัปดาห์เสร็จ
การใส่ตุัมปลายอน ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ที่ริมตลิ่งแม่น้ำมูน (ชื่อดั้งเดิม ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น แม่น้ำมูล ไม่แน่ใจในสาเหตุเหมือนกัน ใครรู้บอกด้วย) ตรงบ้านค้อใต้เป็นช่วงที่น้ำมูนลึกที่สุด เหมาะสำหรับการจับ ปลายอน หรือ ปลาสังกะวาด เพราะปลาชนิดนี้ชอบว่ายอยู่ในน้ำลึก รวมกันเป็นกลุ่ม ดังนั้น จึงต้องวางตุ้มในน้ำลึก 10 เมตร ส่วนวิธีการปักหลักตุ้มจะเลือกบริเวณที่น้ำไหล จากนั้นจะนำไม้ไผ่ยาว 15 เมตร 5 ลำ ลงไปปักยึดกับพื้นให้มั่นคง เว้นพื้นที่พอให้ก้นตุ้ม เพื่อให้ปลายอนเข้าได้ ในแถบลุ่มแม่น้ำสงครามเรียกว่า โทง หรือโทงปลายอน ก็เรียก นอกจากนี้ยังมี โทงปลาซิว และโทงปลาตะเพียนทอง ซึ่งมีขนาดสัดส่วนลดหลั่นตามขนาดความจุของปลา
ขั้นตอนต่อไปนำตุ้มที่ผูกคานติดไว้มาวางในแนวตั้ง ให้ปากตุ้มพ้นน้ำประมาณ 1 คืบ ผูกคานตุ้มติดกับหลัก และต้องดำน้ำลงไปตรวจก้นตุ้ม ดูความเรียบร้อยที่ปากงา ให้ก้นตุ้มห่างจากพื้น 1-2 เมตร เพื่อเปิดพื้นที่ให้ปลาว่ายเข้าไปได้ง่าย
สำหรับ ปลายอน (ภาคกลางเรียก ปลาสังกะวาด) เป็นปลาเนื้อมีขนาดตัวยาว 4 นิ้ว หัวเล็ก ลำตัวอ้วน มีสีเงินเลื่อมขาวตั้งแต่ครีบจรดปลายหาง ชาวบ้านนิยมนำไปทำปลายอนแดดเดียว หรือนำไปทำต้มปลายอน ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ปัจจุบันหากินได้ยากมาก ในปีหนึ่งจะหาปลายอนได้ในช่วงเดือน มิถุนายน - สิงหาคม เท่านั้น หากเลยช่วงนี้ไประดับน้ำจะสูง กระแสน้ำแรง ฝนตกหนัก จึงไม่เหมาะแก่การใช้ตุ้มจับปลายอน
วิธีการล่อปลาเข้าตุ้ม ต้องนำปลายข้าวต้มสุกมาใส่ไว้ในตุ้มเพื่อล่อปลายอนเข้ามากิน โดยปั้นข้าวเป็นก้อนกลมหย่อนลงไปในตุ้ม ข้าวจะลงไปอยู่ก้นตุ้ม จากนั้นใช้มือตีน้ำให้เป็นจังหวะ เพื่อเรียกปลาเข้ามากินข้าวในตุ้ม ในหนึ่งวันจะทำอย่างนี้ 3 - 4 ครั้ง และเมื่อปลาเข้ามาในตุ้มแล้วจะไม่สามารถว่ายออกได้
ช่วงเวลาตี 3 ชาวประมงจะออกไปกู้ตุ้ม เมื่อถึงที่หมายดึงสายที่ผูกอยู่กับปากตุ้มขึ้นเพื่อปิดปากงา พร้อมทั้งปิดปากตุ้ม ปลดเชือกระหว่างตุ้มกับหลักออก ดึงตุ้มขึ้นมาให้ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ แล้ววางพาดขึ้นมาไว้บนเรือ ก่อนพายเข้าฝั่ง
เมื่อถึงฝั่งยกก้นตุ้มให้อยู่สูงกว่าปากตุ้ม จากนั้นเปิดปากตุ้มเทปลายอนลงในภาชนะมารองไว้ เมื่อเขี่ยปลายอนออกจนหมด นำตุ้มกลับไปที่หลักตามเดิมทำความสะอาดก้นตุ้ม และปากงาให้สะอาด นำกลับไปผูกไว้กับหลักเดิมใส่เหยื่อล่ออีกครั้ง แล้วจึงนำปลาที่จับได้ไปขายในตลาดต่อไป
การใส่ตุ้มปลายอน
ลอบ เป็นเครื่องมือจับปลาที่สานด้วยไม้ไผ่ หวาย เถาวัลย์ หรือลวดรัดโครงไม้ ลอบ มีช่องว่างให้ปลาเข้าไปติดอยู่ภายใน ลอบแบ่งเป็น 3 ชนิดคือ
ไซ เป็นเครื่องมือดักสัตว์น้ำ โดยมากดักปลาในกลุ่มปลาเล็กปลาน้อย ใช้งานในแหล่งน้ำไม่ลึก มักเป็นแหล่งน้ำไหลและเป็นการเปิดช่องระบายน้ำเข้าออกตามบิ้งนาคันนา ไซมีหลายรูปทรง ตั้งชื่อตามรูปทรงนั้น เช่น ไซปากแตร สานเป็นรูปกรวยปากไซบานออกเป็นรูปปากแตร ไซท่อ สานคล้ายท่อดักปลา หรืออาจตั้งชื่อตามวัตถุประสงค์ เช่น ไซสองหน้า มีช่อง 2 ด้าน ไซลอย ใช้วางลอยในช่วงน้ำตื้นๆ แหวกกอข้าวหรือกอหญ้า วางแช่น้ำไว้ ไซปลากระดี่ ใช้ดักปลากระดี่ ไซกบ สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมรูปทรงกระบอก ใช้ดักกบ ไซโป้ง สานก้นโป่งเล็กน้อย แม้ว่าจะมีรูปลักษณ์ที่ต่างกัน แต่มีลักษณะร่วมกันคือ สานเป็นทรงกระบอกและทำปากทางเข้าเป็นงาแซง (ซี่ไม้เสี้ยมปลายแปลม รูปทรงคล้ายกรวยที่บีบแบนๆ ทำให้ปลาเข้าได้ แต่ว่ายสวนความคมของปลายไม้ออกมาไม่ได้)
ไซต่างๆ มักไม่ต้องใช้เหยื่อเพราะจะดักปลาที่ต้องไหลในกระแสน้ำ เว้นแต่ไซกบที่ต้องมีเหยื่ออย่างลูกปลา ลูกปู มาล่อ
วัสดุที่ใช้สานไซ คือ ต้นไผ่ ปัจจุบันนี้หาง่ายมาก มีปลูกกันเต็มไปหมดทุกหัวระแหง ต้นไผ่ที่นำมาทำไซ ต้องไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ขนาดกลางๆ อายุประมาณ 2-3 ปี เพราะถ้าแก่เกินไป มันก็จะหักง่าย ส่วนไผ่ที่เอามาทำส่วนใหญ่จะเป็นไผ่สีสุก เพราะทนทานและมีความยืดหยุ่นสูง โดยไผ่ 1 ลำจะสามารถทำไซได้ 1 ลูก ซึ่งแต่ละลูกจะใช้เวลาทำประมาณ 3-5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของไซด้วย
วิธีการสานไซ ผู้ทำมักเหลาเส้นตอกให้เล็ก เป็นเส้นกลม ยาวอย่างน้อย 2 ปล้องไผ่ เมื่อได้เส้นตอกตามจำนวนที่ต้องการแล้ว นำมามัดปลายด้านหนึ่งรวมกัน ก่อนจะพับให้กลับไปด้านหลัง แล้วใช้เส้นตอกอีกส่วนหนึ่งสานขวางสลับกันไปตั้งแต่ด้านบนถึงด้านล่าง การสานนิยมสานเป็น “ลายขวางไพห้า” ระหว่างสานผู้ทำต้องบังคับให้รูปทรงป่อง แคบ ตามลักษณะของงาน ส่วนบริเวณตรงกลางหรือกลางค่อนไปทางปลาย จะมีการเจาะใส่งาอีกด้านละช่อง เพื่อให้เป็นส่วนที่ปลาวิ่งเข้าผ่านงา (งา รูปทรงคล้ายกรวย ที่บีบแบนๆ ทำให้ปลาเข้าได้ แต่ว่ายสวนความคมของปลายไม้ออกมาไม่ได้) และนำปลาออกอีกด้าน
สุ่มดักปลา เป็นเครื่องมือไว้สำหรับครอบปลาในน้ำตื้น ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาช้านาน จวบจนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นความสามารถของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่ยังพอมีกำลังในการใช้ฝีมือจักสานอยู่บ้าง โดยเฉพาะการสั่งสมประสบการณ์ ความสามารถและมีความชำนาญ มีขั้นตอนวิธีสานสุ่มดักปลานี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มีหลายขั้นตอน ตั้งแต่นำไม้ไผ่ตัดเป็นท่อนๆ ท่อนละ 60 เซนติเมตร นำไปรมควันจนดำทำให้มีสีสวย ป้องกันมอดไม้ที่จะมากัดไม้ไผ่ ทำให้ชิ้นงานเสียหาย เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสอนต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
แล้วนำไม้ไผ่มาเหลาเป็นซี่เล็กๆ ขนาด 1 - 1.50 เซนติเมตร ไปลนไฟให้ท่อนตรงปลายอ่อนและขยายเล็กน้อย นำไปเจาะรูทั้งหมด 61 รู เพื่อสานไม้ไผ่ใส่ซึ่งต้องเน้นความถี่เป็นสำคัญ ป้องกันปลาออกนอกสุ่ม ก่อนนำเชือกมาถักระหว่างซี่ไม่ให้หลุดออกจากกัน สุ่มดักปลาก็จะเสร็จสมบูรณ์
สุ่ม นับเป็นของใช้พื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วทุกภาค หากแต่มีการเรียกชื่อแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น สุ่มโมง เป็นสุ่มมีขนาดกว้างใหญ่กว่าสุ่มชนิดอื่น โมง มาจากภาษาถิ่น คือ โม่ง มีความหมายว่า ใหญ่โต สุ่มโมงบางพื้นบ้านเรียก สุ่มซี่ หรือ สุ่มก่อง ซึ่งเรียกตามลักษณะการทำของชาวบ้าน สุ่มโมงจะใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ประมาณ 50 – 100 ซี่ หากสุ่มใหญ่ก็ใช้ซี่ไม้ไผ่มากขึ้น สุ่มชนิดนี้จะใช้หวาย เถาวัลย์ หรือลวดถักร้อยซี่ไม้ไผ่ยึดกัน โดยมีวงหวาย หรือวงไม้ไผ่ ทำเป็นกรอบไม้ภายใน การถักเส้นหวายเถาวัลย์หรือลวด จะถักซี่ไม้รัดกับวงภายในให้แน่น บางทีชาวบ้านเรียกการถักร้อยสำหรับยึดให้แน่นนี้ว่า “ก่อง” จึงเรียก สุ่มก่อง และลักษณะที่ก่องเป็นซี่ๆ นี้เอง จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุ่มซี่
สุ่มสาน เป็นสุ่มขนาดแคบกว่าสุ่มโมง เหลาซี่ไม้ไผ่จำนวนมาก สานเป็นลายขัดตาสี่เหลี่ยมห่างๆ แต่ไม่ให้ปลาลอดออกได้ บางทีก็เรียกว่า สุ่มขัด สุ่มชนิดนี้ไม่ต้องใช้หวายเถาวัลย์ หรือลวดถักยึดใดๆ สุ่มกลอง มีรูปเล็กกว่าสุ่มสานเล็กน้อย การทำสุ่มจะใช้หวายเถาวัลย์หรือลวดถักสุ่ม ส่วนบน ส่วนล่างใช้ซี่ไม้ไผ่สานขัดเป็นสี่เหลี่ยม
สุ่มงวม หรือ อีงวม มีลักษณะพิเศษแตกต่างกัน สุ่มภาคอื่นๆ มีขนาดใหญ่กว่าสุ่มโมงมาก สุ่มบางอันสูงเกินกว่า 1 เมตรก็มี สุ่มงวมจะมีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ปลายตีนสุ่มกว้างออกเล็กน้อย ด้านบนสุ่มทำเป็นวงกว้างเพื่อใช้มือ 2 ข้าง ล้วงจับปลาในสุ่มได้สะดวก การสานสุ่มงวมจะสานด้วยตอกผิวไม้ไผ่บางๆ สานลายขัดทึบโดยตลอด
การสุ่มปลามักสุ่มในห้วงน้ำไม่กว้างและลึกนัก สุ่มไปเรื่อยๆ เหมือนคำที่ว่า สุ่มสี่สุ่มห้า แล้วเอามือล้วงควานภายในสุ่ม ถ้าครอบปลาได้จะควานจับใส่ข้องที่มัดสะพายติดตัวไป สมัยก่อนนั้นการสุ่มปลาใช้คนลาก “ไม้ค้อน” ซึ่งเป็นไม้ท่อนกลมจมน้ำ ใช้เชือกมัดท่อนไม้ 2 ข้าง ใช้คน 2 คน ลากในห้วงน้ำ คนถือสุ่มหลายๆ คน จะเดินตามไม้ค้อน ปลาเมื่อเห็นไม้ค้อนลากมาใกล้ตัวหรือถูกตัวจะกระโดดหนี บางทีมีฟองน้ำเป็นทิวๆ ไปข้างหน้า การกระโดดและว่ายหนีนี้จึงเป็นข้อสังเกตให้สุ่มปลาได้ถูก ในนิราศสุพรรณบุรีของสุนทรภู่ยังได้กล่าวถึง เรื่อง สุ่มปลา ไว้ว่า
ศรีศะเสียงเสียงแซ่ล้วน พวกลาว แก่หนุ่มสุ่มปลาฉาว แช่น้ำ
ผ้าบ่นุ่งพุงขาว ขวยจิต รอดเอย เดกด่วนชวนเพื่อค้ำ ค่ามให้ใกล้ลาว "
ข้อง เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง สานด้วยผิวไม้ไผ่ ปากแคบอย่างคอหม้อ มีฝาปิดเปิดได้ เรียกว่า ฝาข้อง ฝาข้องมีชนิดที่ทำด้วยกะลามะพร้าว และใช้ไม้ไผ่สานเป็นรูปกรวย ปลายกรวยแหลมปล่อยเป็นซี่ไม้ไว้ เรียกว่า งาแซง ข้องใช้สำหรับใส่ ปลาปู กุ้ง หอย กบ เขียด ข้องมีหลายลักษณะ เช่น
ข้องยืน มีลักษณะคล้ายรูปทรงของโอ่งน้ำ หรือรูปทรงกระบอก มีลายปากข้องบานออกขนาดสูง ตั้งแต่ 10 - 15 เซนติเมตร การสานที่ก้นข้องมักจะสานเป็นก้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวข้องกลมป้อม ป่องตรงกลางค่อยๆ สอบเข้าตรงคอข้อง แล้วบานออกที่ปลายปากข้องคลายปากแตร ที่ก้นข้องและตัวข้องจะสานด้วยลายขัดตาหลิ่ว ตรงคอข้องถึงปากข้องสานด้วยลายขัดตาทะแยง ปลายปากข้องจะต้องทำฝาปิดเปิดโดยสานผิวไม้ไผ่เป็นปิดเวลาจับปลาใส่ข้อง ไม่ต้องเปิดฝาข้องก็ได้ เพราะฝาข้องนี้สามารถใส่ปลาได้สะดวก ปลาจะกระโดดออกมาไม่ได้เพราะ ติดที่ฝาปิดเรียกงา (งา รูปทรงคล้ายกรวย ที่บีบแบนๆ ทำให้ปลาเข้าได้ แต่ว่ายสวนความคมของปลายไม้ออกมาไม่ได้) ฝาข้องอาจทำด้วยกะลามะพร้าวก็มี ผูกเชือกไว้สำหรับสะพายติดตัวไปหาปลา
ข้องนอน หรือ ข้องเป็ด มีรูปทรงเป็นแนวนอน การสานข้องมีลักษณะเหมือนเป็ด ลายปากข้องบานหงายขึ้น ด้านบน สำหรับใส่ปลาไว้ในข้อง การสานก้นข้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ข้องนอนหรือข้องเป็ดมักไม่ค่อยสะพายติดตัวไปในขณะกำลังหาจับปลาแต่จะวางไว้ในเรือ ริมคลอง ริมตลิ่ง เป็นต้น
ข้องลอย เป็นข้องที่ใช้ลอยในน้ำได้ในระหว่างจับปลา ข้องลอยจะใช้ข้องยืน หรือข้องนอน มัดกับลูกบวบซึ่งทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ 2 ท่อน มัดขนาบตัวข้องให้ลอยน้ำได้ แล้วผูกเชือกมัดติดเอว
การใช้งาน ใช้ใส่ปลา กุ้ง หอย ทุกชนิด ใช้ในเวลาที่ออกหาปลา โดยผูกข้องไว้ที่เอว ถ้าจับปลาที่มีขนาดใหญ่นิยมใช้ข้องเป็ด เพราะปลาไม่ต้องงอตัวอยู่ในข้อง ปลาจะนอนตามความยาวของตัวข้อง จะทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้นาน ถ้าขังปลาด้วยข้องเป็ดแล้วนำไปแช่น้ำที่ไหล ยิ่งจะทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้หลายวัน
ปลาไหล หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า "เอี่ยน" ซึ่งดันไปออกเสียงคล้ายกับคำว่า "ปลาไหล" ในภาษาอังกฤษด้วยนะ "eel" คือ ปลาไหล จะมีเครื่องมือในการดักจับปลาไหลอยู่ 2 ชนิด คือ
อีจู้ เป็นเครื่องดักปลาไหลชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีงาแซงอยู่ริมก้นใส่เหยื่อไว้ในกะพล้อ บางแห่งเรียก อีจู้ ว่า กระจู้ หรือ จู้
อีจู้ มีลักษณะกลมป่องส่วนก้น แล้วเรียวที่ส่วนบน คล้ายคนโทใส่น้ำบางชนิด หรือคล้ายรูปหม้อคอสูง ขนาดของอีจู้โดยทั่วไปวัดตามเส้นผ่าศูนย์กลาง ส่วนก้นมีความกว้างตั้งแต่ 20 – 40 เซนติเมตร เมื่อวางตั้งมีความสูงตั้งแต่ 50 เซนติเมตร จนถึง 1 เมตร การสานอีจู้ใช้ตอกไม้ไผ่เหลาบางๆ เริ่มสานที่ก้นเป็นลายขัดสี่เหลี่ยมเป็นตาห่างๆ แต่ต้องไม่ให้ปลาไหลลอดออกไปได้ แล้วสานในแนวตั้งขึ้นมาเป็นลายขัดทึบ สานปลายปากอีจู้เรียวแคบลงทีละน้อยๆ ส่วนริมปลายปากจะบานออกเล็กน้อย เพื่อวางที่ปิดปากอีจู้ส่วนใหญ่ใช้กะลามะพร้าว หรือเศษฟางเศษหญ้าจุกปากให้แน่น
ริมก้นอีจู้ด้านหนึ่งด้านใดจะสานเป็นช่องวงกลมไว้ เพื่อใส่งาแซงให้ปลาไหลเข้า โดยทั่วไปแล้วอีจู้แต่ละอันจะมีงาแซงอยู่ 1 ช่องเท่านั้น แต่ถ้าสานอีจู้ขนาดใหญ่ก็ทำแซงริมก้นอีจู้ทุกด้าน คือ มีงาแซงใส่ไว้ 4 ช่องทาง ภายในสานไส้อีจู้ด้วยไม้ไผ่เป็นลายขัดห่างๆ ทำเป็นกรวยใส่เหยื่อล่อปลาไหล บางทีเรียกว่า “กะพล้อ” หรือ รอง สามารถดึงเข้าดึงออกได้ เหยื่อที่ใส่ให้ปลาไหลเข้าไปกิน มักใช้เนื้อหอยโข่งนา ปูตาย ทุบให้แหลก หรือเนื้อปลาสับ
การดักปลาไหลจะดักในน้ำนิ่งตามริมหนอง คลอง บึง หรือตามแปลงนา ความลึกของน้ำไม่มากนัก ต้องให้ส่วนปลายปากอีจู้โผล่พ้นน้ำเพราะปลาไหลจะได้ขึ้นมาหายใจได้ ใช้ใบหญ้าคลุมอีจู้แต่งช่องทางให้ปลาไหลเข้าไปทางงาแซงได้สะดวก ช่องงาแซงอยู่ในระดับพื้นดินใต้น้ำพอดี ปลาไหลซึ่งชอบอาศัยอยู่ในโคลนเลน เมื่อได้กลิ่นเหยื่อจะหาทางเข้าไปกิน จนกระทั่งเข้าช่องจากแซงนั้น แต่ไม่สามารถกินเหยื่อได้เพราะใส่ไว้ในกะพล้ออีกชั้นหนึ่ง ทำให้เหยื่อไม่หมด ปลาไหลตัวอื่นๆ จะเข้าไปอีก การกู้อีจู้อาจกู้วันละครั้ง หรือดักไว้หลายๆ วันก่อนจึงมากู้ก็ได้
วิธีการทำอีจู้ปลาไหลยุคใหม่
บั้งลันดักเอี่ยน เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งของชาวบ้าน ใช้สำหรับดักเอี่ยน (ปลาไหล) เฮ็ดมาจากกระบอกไม้ไผ่ การเฮ็ดบั้งลันดักเอี่ยนนั้น ต้องหาไม้ไผ่ลำใหญ่ๆ โดยตัดให้มีระยะประมาณ 3 - 4 ปล้อง ให้เหลือข้อไม้ไผ่ไว้ด้านหนึ่ง เพื่อเฮ็ดเป็นก้นลัน ไม่ให้เอี่ยนหนีออกไปได้ ใช้ท่อนไม้หรือมีดทะลวงข้อไม้ไผ่ด้านในให้เป็นรูทะลุถึงกัน เว้นไว้เฉพาะข้อไม้ไผ่ที่เฮ็ดเป็นก้นเท่านั้น การเฮ็ดบั้งลันในช่วงนี้มีลักษณะคือ กระบอกน้ำ ใช้มีดกรีดลำไม้ไผ่ส่วนปล้องที่เป็นก้นให้เป็นร่องเล็กๆ ทะลุเนื้อไม้ไผ่ มีความกว้างประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร อาจกรีดเป็นร่อง 3 - 4 ร่อง การกรีดร่องหรือเจาะร่องกระบอกไม้ไผ่แบบนี้ เพื่อที่จะให้กลิ่นเหยื่อที่ใช้ดักเอี่ยน (ปลาไหล) กระจายไปในน้ำในบริเวณนั้นได้สะดวก เพื่อล่อให้ปลาไหลเข้าลันได้ดี
ด้านปากลันสานงาด้วยไม้ไผ่เอาไว้ เจาะรูกระบอกไม้ไผ่ให้ทะลุถึงกันทั้ง 2 ด้าน ใส่เดือยสลักยาวเสียบผ่านงาเพื่อยึดงา และใช้ปักดินเพื่อยึดลัน ในเวลาดักนำเหยื่อล่อเอี่ยน (ปลาไหล) ให้เข้าไปกิน เช่น หอยทุบให้แตก กระดองปูทุบให้แหลก หรือสับตัวปลาให้เป็นต่อนน้อยๆ แล้วกะนำไปใส่ไว้ในบั้งลัน นำงาที่สานมาปิดไว้ที่ปากลัน โดยใช้ไม้สลักสอดใส่ในรูกันบ่ให้งาหลุด การดักกะเอาลันไปไว้ในน้ำลึกประมาณท่วมหัวเข่า ให้ลันอยู่ในแนวนอนกับพื้นดิน มักสิดักลันในบริเวณน้ำขุ่นๆ เมื่อเอี่ยนได้กลิ่นเหยื่อที่ล่อไว้ในลัน เอี่ยนกะสิหาหนทางเข้าไปกินเหยื่อ ยามตอนเช้า กะไปกู้ลันที่ดักเอาไว้ คันมีเอี่ยนติดอยู่ในลัน กะดึงสลักไม้ที่ขัดงาออกแล้วกะดึงงาออกมา ยกปากกระบอกลันใส่ในฮูข้อง เอี่ยนกะะร่วงลงไปในข้องพอดี เสร็จแล้วเฮากะเอาไปต้มเปรต อ่อม แกง ป่น ผัดเผ็ด ตามใจชอบได้เลย
ปัจจุบัน เพื่อความสะดวกในการทำบั้งลันก็หันมาใช้ท่อ PVC (ท่อน้ำประปา) ขนาด 2 - 4 นิ้ว ยาว 1 - 2 เมตร มาทำแทนไม้ไผ่ แต่ส่วนงาปิดก็ยังคงใช้ไม้ไผ่สานเหมือนเดิมเพื่อให้เอี่ยนเข้าแล้วออกไม่ได้ (แอบไปพบภูมิปัญญาสมัยใหม่ เป็นการดัดแปลงคอขวดพลาสติกน้ำอัดลม ตัดให้เป็นริ้วใช้แทนงา เข้าท่าดีเหมือนกัน)
บั้งลันยุคใหม่ใช้ท่อพีวีซีแทนลำไม้ไผ่
แงบ ทำจากไม้ไผ่สานเป็นรูปร่างคล้ายกระเป๋า มีขนาดประมาณ 20 x 30 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นวงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 เซนติเมตร ใส่งาไม้ไผ่ ส่วนด้านท้ายของแงบสามารถเปิดได้เพื่อเอากบออก เวลาใช้ดักกบจะใช้ไม้ไผ่ขัดไว้เพื่อป้องกันกบหนีออก
โดยทั่วไปเมื่อย่างเข้าหน้าฝน เราจะได้ยินเสียงกบ เขียด อึ่งอ่าง ออกมาจากการจำศีล ร้องระงมทั่วท้องทุ่งเพื่อเรียกคู่ผสมพันธุ์ กบในช่วงนี้จะค่อนข้างผอม กระดูกแข็งกินไม่อร่อยนัก ต้องให้ผ่านฝนไปอีกสักหน่อยพ้นฤดูผสมพันธุ์กบจะมีเนื้อหนัง ไขมันสะสม ก่อนจะเข้าจำศีลช่วงปลายหนาวต่อหน้าแล้ง การจับกบที่นิยมกันก็มีตั้งแต่การใส่เบ็ดกบ ใส่แงบดักกบ
โดยทั่วไปชาวบ้านนิยมนำแงบมาดักกบในช่วงเดือน สิงหาคม - พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงหลังฤดูทำนาของทุกปี แงบจะใช้ดักกบในเวลากลางคืน ส่วนใหญ่จะดักบริเวณชายน้ำ โดยขุดดินบริเวณที่จะวางแงบเล็กน้อย หลังจากนั้นทำการลูบดินหน้าแงบให้เรียบ แล้วจึงหากิ่งไม้ ใบหญ้ามาคลุมบนแงบ เพื่อเป็นการอำพราง เหยื่อที่ใส่ในแงบได้แก่ พวกปลาเน่าหมัก ปูหมัก การวางแงบดักกบให้ได้ผลดีที่สุด เราควรจะเลือกวางในวันที่อากาศปลอดโปร่งไม่มีฝนตกนะครับ
ใส่แงบไม้ไผ่ดักกบแบบโบราณ
ได้กบมาแล้ว ก็นำไปทำอาหารได้เลย ไม่ว่าจะต้มกบใส่มะขามอ่อน ใส่ใบขะแยง ปิ้งกบกินกับตำถั่วปี (ถั่วออกสีม่วงเขียว) ป่นกบใส่น้ำปลาร้า หรือจะทำอ่อมกบ อั่วกบก็ตามชอบเลยครับ นึกไม่ออกดูคลิปนี่
รายการทุกทิศทั่วไทย : หมกกบ รสแซบจัดจ้าน
เบ็ด คือ เครื่องมือสําหรับตกปลา กบ หรือ กุ้ง ประกอบด้วยคันเบ็ด หรือเชือกราว มีเชือกหรือด้ายต่อกับตัวเบ็ดที่มีรูปเป็นขอสําหรับเกี่ยวเหยื่อ ส่วนมากมีเงี่ยง เมื่อปลา กบ หรือกุ้ง มากินเหยื่อจะถูกตะขอเกี่ยวปากไม่ให้ดิ้นหลุดออกไป
ในฤดูน้ำหลาก เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และช่วงฤดูแล้ง เดือนธันวาคมถึงเมษายน คนหาปลาจะวางเบ็ดในบริเวณริมฝั่งที่มีพุ่มไม้ ในแม่น้ำใหญ่ที่มีถ้ำใต้น้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่ของปลาขนาดใหญ่ห้วยสาขา หนอง วัง บุ่งในป่าทาม พบเห็นตามริมฝั่งแม่น้ำมูน ห้วยสาขาและแหล่งน้ำในป่าบุ่งป่าทาม
เบ็ด ที่เกษตรกรชาวอีสานใช้จะมีอยู่ 3 แบบใหญ่ๆ คือ
1. เบ็ดราว จะประกอบด้วยเชือกยาวขึงตามริมฝั่งแม่น้ำ หรือขวางลำน้ำ เพื่อใช้ดักล่อปลาขนาดใหญ่ แล้วผูกเชือก, ด้ายไนล่อน หรือเส้นเอ็นบอร์ 60 - 100 ที่ผูกกับตัวเบ็ดเบอร์ 1 - 10 ที่เป็นเหล็กปลายงอ มีเงี่ยง (ดังภาพด้านบน) ที่จะเสียบเหยื่อล่อเป็นเหยื่อเป็น (ยังดิ้น กระดุกกระดิกได้ ไม่ตาย) หย่อนลงในน้ำไหล ซึ่งจะมีปลาขนาดใหญ่เช่น ปลาเคิง ปลาคัง ปลาค้าว ปลาบึก และอื่นๆ ในลำน้ำโขง ชี มูล และแม่น้ำสาขาต่างๆ
2. เบ็ดคัน จะมี 2 แบบ คือ แบบที่ใช้จับปลาใหญ่เรียกว่า เบ็ดโยง (เบ็ดคันตรง) มีคันไม้ไผ่ก้านตรงยาวประมาณ 1 - 1.5 เมตร เหลากลมให้เกลี้ยงไม่มีเสี้ยน ด้านหนึ่งทำให้แหลมเพื่อใช้ปักลงในดิน ผูกกับสายเอ็นเบอร์ 60 ส่วนตัวเบ็ดจะใช้เบอร์ 4 - 16 สำหรับจับปลาตัวใหญ่ในฤดูน้ำหลาก ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งก็จะใช้เส้นเอ็นและเบ็ดขนาดเล็กลง เพราะจะไม่มีปลาขนาดใหญ่มากนัก แบบที่ 2 ใช้จับปลาขนาดเล็ก เรียก เบ็ดคันงอ จะใช้คันเบ็ดไม้ไผ่ที่เหลาให้ด้านปลายที่ผูกเข้ากับขอเบ็ดนั้นอ่อนโค้ง ความยาวของคันเบ็ดประมาณ 80 เซนติเมตร โดยทั่วไปจะใช้เบ็ดเบอร์ 15 - 20 ใช้สายเอ็นเบอร์ 40 - 45 แต่หากใช้สายไนล่อนจะใช้เบอร์ 4 - 6 นิยมปักคันเบ็ดตามห้วย หนอง คลองขนาดเล็ก ตามคันนาในฤดูฝน ซึ่งปลาที่จับได้ก็จะเป็น ปลาดุก ปลาข่อ (ช่อน) ปลาหลาดหรือปลากระทิง ปลาเข็ง ปลาขาว เอี่ยน ปลาก่า ปลากั้ง ปลากด ปลาหลด ปลาตอง ปลาผอ ปลาปาก
3. เบ็ดกบ จะทำจากไม้ไผ่เหลากลมเกลี้ยงปลายด้านหนึ่งแหลม มีความยาวประมาณ 25 - 30 เซนติเมตร
เกษตรกร ผู้มีวิถีชีวิตอยู่ใกล้ท้องทุ่งต่างมีวิธีการพึ่งพาธรรมชาติ อย่าง "ทุ่งนา" แหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่มีทั้งพืช ผัก และสัตว์ต่างๆ ที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ การหาอยู่หากินจึงถูกพัฒนาและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
เว้านัว หัวหม่วน ย้อนว่า ไปลักยามเบ็ดผู้อื่นบ้อสู อย่าหาเฮ็ด หาทำเด้อบักหล้าเอย...
ที่นี่บ้านเรา สารคดีโดย กอนกวย กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมกวยตำบลโพธิ์กระสังข์ วันนี้จะไปกันที่ชุมชนบ้านหนองขนาน อ.ขุนหาญ จ.ศรีษะเกษ ไปดูวิถีการดักจับสัตว์น้ำด้วยลอบ การวางเบ็ด ของเหล่าเกษตรกร
ที่นี่บ้านเรา : เพชฌฆาตน้ำจืด
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)