คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
คนในยุคสมัยก่อนนั้นจะใช้เครื่องมือในการทำมาหากินจากวัสดุใกล้ตัว เช่น เรื่องจักสานจากไม้ไผ่ หวาย ที่สามารถสาน ถัก ทอ เป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่าย มีน้ำหนักเบา ถ้าต้องการให้กันน้ำหรืออุ้มน้ำได้ก็ทาด้วยขี้ซี (ชันโรง น้ำมันยาง) อุปกรณ์บางชิ้นที่ต้องการความคงทนถาวรก็ทำจากไม้เนื้อแข็ง ด้วยการถาก ขุดเป็นหลุม เป็นท่อน เช่น ครก สาก คราด ไถ ด้ามมีด/พร้า ขวาน เป็นต้น ต่อมาเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น สิ่งของที่ทำจากแผ่นโลหะสังกะสี เหล็ก พลาสติก ก็เข้ามาแทนที่จนเครื่องใช้ที่ทำด้วยภูมิปัญญาจากไม้เริ่มหายไป เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เลยขอนำเรื่องราวของเครื่องใช้ในอดีตมาบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้ย้อนระลึกถึงวันวานดังนี้
คนอีสานนี่มีอาหารสมบูรณ์เพราะหาได้ทั่วไป จากน้ำก็พวกหอย ปู ปลา กบ เขียด ส่วนพวกสัตว์บกนี่มีเยอะ เช่น เป็ด ไก่ หมู วัว ควาย แต่นี่มันธรรมดาไป ขอเสนออาหารที่พิเศษนานๆ จะหามาได้ เช่น นกเขา นกคุ่ม กระต่าย หนูนา แย้ หรือ กะปอมก่า (กิ้งก่า) ซึ่งนอกจากจะกำจัดศัตรูพืชแล้วยังได้อาหารแซบๆ อีกด้วย
นกคุ่ม เป็นชื่อเรียกนกชนิดหนึ่ง ตัวป้อมมีขนาดโตเท่าลูกไก่บ้าน อายุประมาณ 20 วัน ขนสีน้ำตาลเทา มีลายพาดเป็นแถบริ้วที่ปีกข้างลำตัว ที่แก้มมีจุดประสีขาวบนพื้นสีดำ ขนใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อน ตัวเมียใต้คางมีสีดำ ปากยาว ปีก หาง ขาสั้น ขาแต่ละข้างมีนิ้วเท้าด้านหน้าสามนิ้ว นิ้วหลังไม่มี วางไข่ คุ้ย เขี่ยหาปลวก แมลงและเมล็ดพืชบนพื้นดิน บริเวณพุ่มไม้เตี้ยโล่งหรือหากินในทุ่งนาระยะข้าวสุกเริ่มเก็บเกี่ยว
เมื่อได้รับอาหารสมบูรณ์ เดือน 3 เดือน 4 มีฝนตก อากาศสดชื่น ต้นหญ้าแตกใบระบัด นกตัวเมียจะอืดร้องเสียงนุ่มนวลไพเราะ นกคุ่มตัวผู้จะดูแลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี หากมีศัตรูเข้ามาทำร้ายลูก พ่อนกจะแกล้งทำปีกหัก ขาหัก นอนดิ้น กลิ้งอยู่ใกล้บริเวณนั้น ให้ศัตรูหันเหออกจากลูกมาสู่ตัวเอง เปิดโอกาสให้ลูกได้หลบหนีออกไป
นกคุ่มเป็นสัตว์ปีกที่ไม่มีอาวุธ หรือมีความสามารถในการบินเหมือนนกชนิดอื่น จะบินเฉพาะเมื่อตกใจ บินขึ้นระยะสั้นๆ แล้วบินลง ธรรมชาติจึงสร้างให้มีความสามารถในการหลบลี้ ซุ่มซ่อน อาศัยสีขนแฝงตัวกับกิ่งไม้ใบไม้ หญ้าแห้งกลมกลืนอย่างแนบเนียน หากนำมาเลี้ยงไว้จนเชื่องคุ้นจะส่งเสียงร้องอืดให้เพลิดเพลินใจ ชาวบ้านเชื่อกันว่า หากได้นกคุ่มที่ดีมาเลี้ยงไว้ นับว่าเป็นมงคล คุ้มครองป้องกันให้แคล้วคลาดจากเภทภัยอันตรายใดๆ ได้ เพราะมีชื่อ (คุ่ม หรือ คุ้ม) และสัญชาตญาณในการหลบหลีก แอบซ่อนนี้เอง ความเชื่อทางไสยศาสตร์ จึงใช้เข็มจุ่มหมึกดำสักเป็นรูปนกคุ่มบนผิวหนัง พร้อมกำกับอักขระคาถา เชื่อว่าจะช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย มีเสน่ห์ เมตตามหานิยม
ชาวบ้านจึงนิยมดักต่อนกที่มีลักษณะที่ดี โดยเฉพาะนกตัวเมีย เพราะนกตัวเมียจะร้องอืดมีสีสวยงามมากกว่านกคุ่มตัวผู้ นกคุ่มตัวผู้ที่โชคร้ายจะใช้เป็นอาหารของผู้คนต่อไป
นกต่อ คือ นกคุ่มตัวเมียที่ดักจับได้นำมาเลี้ยงไว้จนเชื่อง ในกรงเล็กๆ เรียก ตุ้มนกคุ่ม เพื่อฟังเสียงร้องอืดและใช้เป็นนกต่อ โดยห้อยแขวนไว้ในชานเรือน หรือใต้ถุนที่ร่ม และจะนำไปใช้ต่อนกโดยมีซิงเป็นอุปกรณ์ใช้ดัก
ซิงนกคุ่ม มีลักษณะแบบเดียวกันกับซิงกระต่ายแต่มีขนาดเล็กกว่า ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นเส้นกลม ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร เป็นโครงไม้มีโคนหนาเสี้ยมปลายแหลม ใช้เสียบยึดดินและยืดหูตาข่าย เหนือปลายโคนประมาณ 10 เซนติเมตร คอดเล็กน้อย ถักตาข่ายออกจากหูห่วงลวดให้มีความกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีตาห่างประมาณ 3 เซนติเมตร ผูกเชือกคร่าวๆ ที่ขาโครงข้างหนึ่ง แล้วร้อยลอดห่วงต่อไปที่ตาข่าย ด้านบนไปที่ห่วงแล้วผูกที่ขาโครงอีกข้างหนึ่ง เมื่อต้องการเก็บซิงก็จะใช้ปลายโครงไม้ สอดยึดกับห่วง โครงขาจะดึงตาข่ายให้ตึง แล้วผูกรวมกันได้ครั้งละหลายๆ อัน
วิธีการใช้ มีวิธีการใช้หลายวิธีหลายรูปแบบ โดยเริ่มดักนกในช่วงเริ่มเก็บเกี่ยวไปถึงฤดูร้อนเดือน 5 บางครั้งพบว่า มีนกคุ่มเข้ามาหากินในนาข้าว ชาวนาก็จะวางซิงตามช่องระหว่างโคนกอข้าว โดยนำตาข่ายออกปักวางปลายไม้โครงเสียบดิน แล้วใช้วางพาดด้านบนปิดขวางระหว่างโครง จากนั้นก็อ้อมมาเกี่ยวข้าวอีกข้างหนึ่งมุ่งหน้าเข้าหาซิง การเกี่ยวข้าวจะเกี่ยวครั้งละหลายๆ คน เสมือนการต้อนนกคุ่มวิ่งไปข้างหน้าเข้าซิง การเกี่ยวข้าวก็เกี่ยวเป็นปกติ นกไม่ตื่นบินแต่จะลัดเลาะใต้กอข้าวเข้าติดซิง
การดักนกคุ่มด้วยซิงแบบอีสานบ้านเฮา
วิธีดักไล่ อาจใช้คนๆ เดียวหรือหลายคนก็ได้ เมื่อพบว่าบริเวณดังกล่าวมีนกคุ่มป่าอาศัยอยู่ อ้อมออกไปด้านหน้า วางซิงโดยการปักวางไม้โครงห่างๆ กันตามช่องทางที่คาดคะเนว่านกจะต้องผ่าน เส้นทางที่ดักหากมีช่องดักกว้างก็จะใช้กิ่งไม้วางปิดกั้น เรียก “กันเพียด” จากนั้น จึงอ้อมกลับด้านหลังใช้ไม้ตีพุ่มไม้ไล่ลงในพุ่มไม้ ตีดะไปเรื่อยๆ แต่ไม่ควรให้นกตื่นเพราะนกอาจจะบินข้ามซิง นกจะวิ่งลัดเลาะและในที่สุดจะวิ่งเข้าชนซิงโดยชนตาข่ายลอดเข้าหว่างขาซิง หูตาข่ายจะรูดรวบนกติดอยู่ภายใน
การใช้นกต่อ ผู้ดักจะต้องใช้ซิงหลายอันช่วยในการดักต่อ โดยนำนกต่อที่อยู่ในตุ้ม คลุมผ้าเดินเข้าป่าที่มีนกคุ่มอาศัยอยู่ เมื่อเลือกสถานที่ที่มีนกคุ่มหากินหรือร้องอืด ก็จะห้อยแขวนนกต่อในพุ่มไม้เตี้ยๆ ใช้นกเป็นจัดศูนย์กลางแล้ววางซิงด้วยวิธีเดิม วางซิงโดยรอบเป็นรัศมีห่างจากนกต่อประมาณ 6 – 7 เมตร ถ้ามีช่องว่างมาก ก็วางเพียดช่วย จากนั้นก็เปิดผ้าคลุมแล้วออกนอกพื้นที่ห่างๆ ฟังนกต่ออืดร้อง และฟังนกป่าอืดร้องรับนกที่อยู่โดยรอบจะวิ่งเข้าหานกต่อ นกคุ่มตัวเมียจะเข้าจิกตี นกตัวผู้จะวิ่งเข้าหา จึงเข้าติดซิง
วิธีดังกล่าวอาจได้นกมาครั้งละสองตัว แต่หากนกคุ่มชุมก็จะได้มากกว่านั้น ชาวบ้านก็จะเลือกนกตัวเมียที่มีสีสวยงามตามลักษณะความเชื่อเลี้ยงไว้ อืดร้องเป็นนกต่อใช้ล่อนกต่อไป ส่วนนกตัวผู้หรือนกที่ไม่เข้าลักษณะ อาจใช้ประโยชน์ไปทางอื่น เช่น นำไปทำอาหารประเภทลาบ
นกคุ่มในภาคอีสาน มีอยู่ 3 ชนิดคือ
นกคุ่ม มีบทบาทหน้าที่ตามธรรมชาติคือ กำจัดแมลง ด้วง หนอน ไข่ ตัวอ่อน ของแมลงศัตรูพืช และหน้าที่สุดท้าย เป็นอาหารของมนุษย์ และสัตว์กินเนื้อประเภทอื่น
ส่วนประกอบที่ต้องเตรียมก่อนการทำลาบนกคุ่ม
กรรมวิธีในการประกอบอาหาร
จากนั้นก็ยกลงมาพร้อมกับลาบ และต้มนัว ผักต่างๆ ล้อมวงกันพี่น้อง ข้าวเหนียว ข้าวใหม่หอมๆ คุ้ยลาบ ซดน้ำต้ม รสชาติเป็นเอกในท้องทุ่ง ได้กินแล้วลืมความทุกข์ยากหมดสิ้น พี่น้องเอ๋ย...แซบพาล่ำพาโล อีหลี อีหลอ กระด้อกระเดี้ย
“หน่วง” คืออุปกรณ์จับสัตว์ชนิดหนึ่ง เป็นภูมิปัญญาของคนอีสานโบราณ ที่พลิกแพลงหาวัสดุอุปกรณ์รอบตัวที่หาง่ายๆ มาเป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน เรียกได้ว่าเป็น “มูนมัง” ของอีสานบ้านเฮาเลยกะว่าได้
ลักษณะการทำงานของ "หน่วง" ที่คนอีสานเรียกกัน น่าจะตรงกับคำว่า "บ่วง" ในภาษากลาง โดย “หน่วง” จะมีเชือกทำเป็นบ่วงเปิด รออยู่ในกระบอกไม้ไผ่ เมื่อหนูเข้าไปกินเหยื่อในกระบอกหน่วง จะไปโดนไกของหน่วงทำให้บ่วงลั่นแล้วรัดตัวหนูเอาไว้ ทำให้หนีไปไหนไม่ได้ อย่างที่ภาคกลาง ชาวนาจังหวัดอ่างทอง ชาวบ้านใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นท่อน ก่อนจะเหลาทำเป็นคันดักหนู กว้าง 2 เซนติเมตร สูง 90 เชนติเมตร และผูกด้วยลวดเพื่อทำเป็นบ่วง นำไปปักขวางทางเดินของหนูนา เมื่อหนูเดินผ่านเกี่ยวกับตัวบ่วงก็จะถูกตวัดรัดตัวหนีไปไหนไม่ได้
ส่วนของชาวอีสานจะเป็นกระบอกไม้ไผ่ มีกลไกและเหยื่อล่อให้หนูเข้าไปกินเหยื่อ เมื่อหนูเข้าไปกระทบกลไก จะทำให้บ่วงถูกดึงขึ้นรัดตัวหนูติดอยู่ภายในกระบอกไม้ไผ่นั้น เหยื่อล่อเหมือนกับดักหลายๆ ชนิด หนูท้องขาวชอบกลิ่นหอมๆ เราเลยใช้ข้าวเหนียวนึ่ง นำไปจี่เป็นปั้นเล็กๆ หรือปั้นใหญ่นำมาบิเป็นชิ้นเล็กๆ ก็ได้ บางทีอาจจะใช้กล้วยปิ้งหอมๆ ก็ได้เช่นกัน
สถานที่ดักหนูของเราจึงมักจะไปตามหัวไร่ ปลายนา ชายป่าละเมาะ เป็นต้น คนอีสานจะเชี่ยวชาญรู้ว่าจุดไหนมีหนูอาศัยอยู่ สังเกตุจากรอยการหากิน หรือทางเดินของหนู หลังจากที่เราไปใส่หน่วงหรือไปดักหน่วงไว้ตั้งแต่ตอนหัววัน เวลาที่เหมาะกับการไปยามหน่วงรอบแรกก็ประมาณสี่ทุ่ม เราก็ใช้หม้อแบตพร้อมกับไฟส่องในการไปยามหน่วง หลังไหนลั่น ก็ลุ้นได้เลยว่าจะได้ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก อีกรอบนึงก็ไปเก็บรอบเช้า เพราะหนูมันออกหากินทั้งคืน ได้มากได้น้อยก็ว่ากันไป แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพลาด
สำหรับหนูนา หนูพุก หนูท้องขาว จะมีขนาดใหญ่และเป็นศัตรูตัวฉกาจของชาวนา เพราะจะมากัดกินรวงข้าวในฤดูเก็บเกี่ยวให้เสียหายมาก การกำจัดหนูจึงได้ประโยชน์สองต่อ คือ ปราบศัตรูพืช และใช้เป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูง นิยมนำมาบริโภคกันแพร่หลาย ทั้งการนำมาย่าง ผัดเผ็ด ผัดกระเพรา อร่อยอย่าบอกใครเชียว
ผัดเผ็ดหนูนาแบบแซบ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)