คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นับตั้งแต่ลูกชายอุปสมบทแล้ว พ่อมาภูมิใจในตัวพระลูกชายยิ่งนัก ด้วยสังเกตเห็นว่า มีความเอาใจใส่ต่อการบวชเรียนอย่างจริงจัง ทุกครั้งที่หลวงพ่อมาเยี่ยมเยือนที่บ้าน พ่อมามักกล่าวย้ำเตือน ด้วยความปรารถนาดีว่า "อย่าลาสิกขานะ อยู่เป็นพระอย่างนี้ดีแล้ว โลกภายนอก มันยุ่งยากลำบาก หาความสบายไม่ได้" และในครั้งสุดท้ายของการพบกันระหว่างพ่อลูก พ่อมา ซึ่งนอนป่วยมานานวัน จนร่างกายผ่ายผอมสิ้นเรี่ยวแรง กระทั่งไม่อาจช่วยตัวเองได้ แต่ด้วยความรักลูกสุดใจ อยากให้ลูกเลือกทางเดินสงบ จึงพยายามพูดขอร้องอีกเป็นครั้งสุดท้าย หลวงพ่อได้ให้ คำตอบที่พ่อมาปรารถนาจะได้ยินว่า "ไม่สึกหรอก... จะสึกไปทำไมกัน"
นอกเหนือจากความกังวลว่า พระลูกชายจะลาสิกขาแล้ว พ่อมายังห่วงเรื่อง การเล่าเรียน นักธรรม ของบุตรด้วย เมื่อทราบว่า อีกไม่กี่วันจะถึงกำหนดสอบ จึงกล่าวเตือนให้พระลูกชายกลับวัดเสีย ไม่ต้องเป็นห่วงตน หลวงพ่อพิจารณาอาการป่วยของโยมพ่อแล้ว ก็ปลงใจว่า จะขออยู่ดูใจของผู้มีพระคุณ เพื่อทำหน้าที่ของบุตรจนสุดความสามารถ ต่อมาไม่กี่วัน พ่อมาก็ถึงแก่กรรม ละทิ้งสรรพสิ่งไว้เบื้องหลัง คงเหลือแต่พระคุณที่ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของลูกๆ ตลอดกาล
ระหว่างที่เฝ้าพยาบาลโยมพ่อที่ป่วยหนักกระทั่งถึงแก่กรรม หลวงพ่อก็ได้พิจารณาถึงสภาวธรรมไปด้วย เกิดความสลดใจในความแปรเปลี่ยน และเสื่อมสลายของชีวิต อันเป็นสมบัติสากลที่โลกแบ่งปันให้แก่ทุกคนอย่างเที่ยงธรรม จะยากดีมีจน ก็ล้วนแต่กระเสือกกระสน ไปจนมุมที่ความตาย เมื่องานบำเพ็ญกุศลให้แก่โยมบิดาเสร็จสิ้นลง หลวงพ่อเดินทางกลับวัดบ้านหนองหลัก เพื่อศึกษาปริยัติธรรมต่ออีกครั้งหนึ่ง
บางวันหลังเวลาเรียน เมื่ออยู่คนเดียวหลวงพ่อมักรำลึกถึงภาพโยมพ่อที่นอนป่วย แล้วสิ้นใจไปต่อหน้า จิตใจจึงเกิดความสลดสังเวชต่อความเป็นไปของผู้คนยิ่งนัก ระหว่างพรรษาปี พ.ศ. 2487 หลวงพ่อแปลหนังสือธรรมบทจบไปหลายเล่ม จึงได้ศึกษาพุทธประวัติและพุทธสาวกโดยละเอียด หลวงพ่อได้แง่คิดว่า ระหว่างการประพฤติปฏิบัติของตน กับภิกษุในครั้งพุทธกาลนั้น ช่างห่างไกลกันลิบลับ เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย จิตใจเริ่มเบื่อหน่ายต่อการศึกษา คิดว่านี่คงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ทำให้เกิดความสนใจการปฏิบัติธรรมมากขึ้น จึงหยุดการเล่าเรียนแล้วกลับมาวัดก่อนอก
ต่อมา ได้ทราบข่าวว่า มีอาจารย์สอนกรรมฐานอยู่ที่ วัดปีเหล่อ อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี จึงเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ ได้ศึกษาแนวทางอยู่ระยะหนึ่ง ครั้นใกล้เข้าพรรษา ก็กลับมาที่วัดก่อนอกอีกครั้ง พรรษานั้น หลวงพ่อมีโอกาสได้ตอบแทนพระคุณครูบาอาจารย์ ด้วยการแบ่งเบาภาระด้านการสอนปริยัติธรรม และท่านสอบได้นักธรรมเอกในปีนั้น
พอออกพรรษา ท่านตัดสินใจหยุดการเรียนการสอนด้านปริยัติธรรม แล้วจัดเตรียมบริขารสำหรับจาริกธุดงค์ เพื่อออกแสวงหาครูอาจารย์ด้านการปฏิบัติธรรม ต่อไป...
ธุดงค์ คือ วัตร หรือ แนวทางการปฏิบัติจำนวน 13 ข้อ ที่พระพุทธเจ้าอนุญาตไว้ให้แก่พระสงฆ์สำหรับเลือกนำไปปฏิบัติ เพื่อมุ่งให้เป็นแนวปฏิบัติเพิ่มเติมของพระสงฆ์ที่ตั้งใจสมาทานความเพียร เพื่อมุ่งขัดเกลาทางจิตเพื่อกำจัดกิเลส โดยธุดงค์นี้เป็นเพียงวัตร หรือแนวทางการประพฤติ ที่ไม่ใช่ศีลของพระสงฆ์ พระสงฆ์จึงเลือกปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและการปฏิบัติธุดงค์ "
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)