คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2541 ระหว่างที่รอลุ้นระทึก พิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลโลก 98 ช่วงกลางดึกในคืนวันนั้น จากการรอคอยที่ยาวนานก็เลยแก้ง่วงด้วยการหาพื้นที่ฟรีๆ ในอินเทอร์เน็ตมาทำเว็บไซต์ สมัยนั้นที่ดังๆ ก็คือ www.geocities.com ที่ให้บริการฟรี ก็เลยสมัครใช้งานและเริ่มเขียนเว็บด้วยภาษา HTML พื้นฐานธรรมดา (ความรู้ยังน้อย เป็นมือใหม่ไฟแรงยุคนั้น) อัพโหลดขึ้นไปที่โฮสท์ ชื่อครั้งแรกคือ สะออน อีสาน sa-on isan ที่ url : http://www.geocities.com/sa-on (เดี๋ยวนี้ดูไม่ได้แล้ว เขายกเลิกไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน) ด้วยจุดประสงค์ที่จะอนุรักษ์ภาษา ศิลปวัฒนธรรม และเผยแผ่วิถีชีวิตของชาวอีสานให้รู้จักแก่คนทั่วไป และด้วยความที่ผมมีความเคารพและศรัทธาต่อ หลวงปู่ชา สุภัทโท เลยนำเอาธรรมะของท่านมาเป็นแกนของเว็บ แล้วเติมเต็มด้วยเรื่องราวของชาวอีสานด้านต่างๆ เรื่อยมา
หน้าตาเว็บยุคแรกๆ เขียนด้วยภาษา HTML
หลังจากเริ่มทำเว็บไปได้สักระยะประมาณ 2 ปี มีโฮสท์ฟรีของฝรั่งแห่งหนึ่ง สนับสนุนให้พื้นที่พร้อมทั้งจดโดเมนให้ฟรี ก็เลยถือโอกาสจดโดเมนครั้งแรกในชื่อ isangate.com เว็บเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนมากขึ้น มีสถิติการเข้าชมเป็นที่น่าพอใจทีเดียว พอสิ้นปีจะทำการต่อโดเมนอีกกลับทำไม่ได้ เพราะโฮสท์ฟรีที่ว่าได้ถือครองชื่อนี้ไว้ และจะขายชื่อนี้ให้เราถึง 100$ USD แย่สิครับ ผมตัดสินใจปล่อยชื่อนี้ทิ้งไป แล้วจดโดเมนด้วยตนเองใหม่ในชื่อ www.isangate.net กันไว้ก่อน แล้วย้ายข้อมูลทุกอย่างออกมาใช้บริการที่โฮสท์ในเมืองไทย ผ่านไป 1 ปี ชื่อ isangate.com ก็ว่างลง (คงขายให้ใครไม่ได้) ผมเลยทำการจดซ้ำอีกครั้งเป็นของตัวเองมาจนบัดนี้
หน้าแรกไฟล์ index flash (จากผลงานของลูกศิษย์ Teerakit Hare)
วันเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เว็บก็ค่อยๆ ทยอยเพิ่มเนื้อหาไป อาศัยการอ่านการค้นหาข้อมูลมาเพิ่มเติม ได้รับหนังสือตำราเก่าๆ บางเล่มสมบูรณ์ บางเล่มไม่มีปก ไม่มีคำนำ แต่เนื้อหาน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือแจกในงานฌาปนกิจศพ หนังสือที่ระลึกในงานการต่างๆ ถ้ามีเรื่องราวที่น่าสนใจผมก็จะนำมารวบรวมไว้เป็นความรู้ในเว็บนี้ ตอนแรกก็สะเปะสะปะไม่เป็นหมวดหมู่มากนัก ในการปรับปรุงเว็บใหม่แต่ละครั้ง ก็ได้พยายามจัดหมวดหมู่ที่น่าสนใจมารวมกันไว้มากขึ้น และที่เป็นแรงบันดาลใจสุดๆ คือได้รับหนังสือ สารานุกรมภาษาอีสาน - ไทย - อังกฤษ ของ คุณพ่อ ดร.ปรีชา พิณทอง ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2532 แปลและให้ความหมายคำภาษาอีสานเป็นภาษาอังกฤษ โดย คุณแซม แมททิกซ์ (Samuel A. Mattix) ชาวอเมริกัน ที่เข้ามาสอนศาสนาที่จังหวัดนครพนม เป็นเวลาหลายปี คุณแซมเข้าใจภาษาอีสาน และพูดภาษาอีสานได้ดีเหมือนคนอีสานทีเดียว พร้อมกับคำพูดของคุณพ่อปรีชาที่กล่าวว่า "หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาในการรวบรวมจัดพิมพ์ใช้เวลานานมาก ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์สูง คงไม่มีโอกาสได้พิมพ์ใหม่อีกแล้ว ถ้าลูกจะเอาไปปรับใช้ในการให้ผู้อ่านค้นหาคำ ความหมายได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังมาก"
ในสารานุกรมชุดนี้นั้น ถ้าหากท่านได้ค้นหาอย่างครบถ้วนแล้ว จะพบว่า เน้นไปในทางพุทธศาสนามากทีเดียว มีคำเกี่ยวกับพระสงฆ์มาก เนื่องจากการจัดทำสารานุกรมนี้เริ่มทำในสมัยที่คุณพ่อปรีชา พิณทอง ยังบวชอยู่ในร่มกาสาวพัตร์ ท่านสอบได้เปรียญเก้าประโยค ซึ่งถือว่าเป็นเปรียญสูงสุดของฝ่ายสงฆ์ ได้รับการยกย่องจากทุกสารทิศในวงการสงฆ์ เพราะเป็นพระชนบท (อยู่ต่างจังหวัด) ที่ไม่ได้ไปร่ำเรียนในสำนักเรียนฯ ในกรุงเทพฯ เช่นพระรูปอื่นๆ ในยุคนั้น แต่สามารถสอบได้ มหาเปรียญ ๙ ประโยค สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายคือ เจ้าคุณพระศรีธรรมโสภณ
ภาษาอีสานนั้นมีคำพูดที่หลากหลาย คำคำเดียวอาจมีความหมายได้หลายอย่าง บรรดาคำเหล่านี้ล้วนเป็นคำเก่าทั้งสิ้น บางคำก็ยังมีใช้กันอยู่ บางคำเกิดขึ้นใหม่ บางคำหมุนเวียนเปลี่ยนไป บางคำเสื่อมสิ้นไปสูญหายไปเหมือนคน เพราะเกิดนาน จะมีหลงเหลืออยู่บ้าง ก็ในวรรณคดีอีสานเก่าๆ
หน้าตาเว็บไซต์ยุคกลางของการเขียนด้วยภาษา HTML
ผมเริ่มคิดทำระบบการสืบค้นคำและความหมาย ตอนแรกใช้เครื่องแม่ข่าย (Server) เป็นระบบปฏิบัติการ Windows Server เลยใช้ฐานข้อมูล MS Access + ASP โดยมีน้องชาย นายต๋อง (อรรถกรณ์ ศรีณรงค์) แห่ง www.tongzweb.com ช่วยปรับแต่ง มีนักเรียนในโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และนักศึกษาฝึกสอนที่มาร่วมงานด้วย ที่โรงเรียนหลายคนช่วยกันป้อนข้อมูลให้ เนื่องจากข้อมูลคำศัพท์มีเป็นจำนวนมาก บางคำอาจเป็นคำเก่าที่ไม่มีใช้แล้วในปัจจุบัน (ซึ่งไม่ใช่การพิมพ์ผิด) บางคำพยายามพิมพ์ให้อ่านเหมือนกับการเลียนเสียงสำเนียงภาษาอีสานแท้ๆ จนท่านอาจจะคิดว่าพิมพ์ผิดไป (ถ้าสงสัยก็สอบถามได้ครับ) และต่อมาผมหันมาใช้โฮสท์ที่เป็น OpenSource ตระกูล Linux ก็เลยต้องทำการดัดแปลงระบบสืบค้นให้เป็นภาษา PHP + MySQL โดย นายกระป๋อง (พงศ์พันธ์ เพียรพาณิชย์) ลูกศิษย์รักอีกคน เพื่อให้ใช้งานกับเซิร์ฟเวอร์ลินุกส์ได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ในเว็บไซต์นี้มีผลงานของ "ลูกศิษย์ที่เบ็ญจะมะมหาราช" หลายคนช่วยทำ และส่งเข้าประกวดในโอกาสต่างๆ เช่น เรื่อง เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว Isan in English และหน้าแรกของเว็บไซต์เดิมที่เป็น Flash ก็เป็นผลงานของลูกศิษย์ ธีรกิต แฮร์ และเพื่อนๆ (น่าเสียดายที่ Flash ได้ถูกทอดทิ้งจากผู้ผลิตและบราวเซอร์ค่ายต่างๆ ไม่ให้แสดงผลอีกแล้ว อันเนื่องมาจากความปลอดภัยที่มีผู้ไม่หวังดีเอาไปใช้ในทางที่ผิด ปี 2563 นี้ Adobe เจ้าของผลิตภุณฑ์จึงประกาศยุติการอัพเดทและใช้งานโปรแกรมนี้แล้ว RIP Flash! และสิ้นปี 2563 นี้ Microsoft ผู้เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการ Windows จะอัพเดทระบบและทำการลบบรรดาปลั๊กอินการใช้งาน Flash Player ออกจากระบบอย่างถาวรแล้ว) เรื่องราวเหล่านี้จึงถูกนำออกจากระบบไป ทำเป็นเนื้อหาธรรมดาไป
เนื้อหาต่างๆ ที่เห็นในเว็บไซต์นี้ก็มาจากหนังสือ ตำราหลายเล่ม มีทั้งที่ได้อ้างอิงถึง และไม่ได้อ้างอิงถึงจากเหตุที่ได้รับหนังสือมาไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่มีปก ไม่มีคำนำ ได้มาบางส่วนของเล่ม มีที่ปลวกกัดกินบ้าง ต้องกราบขออภัยต่อท่านเจ้าของเนื้อหาบทความด้วยครับ ถ้าค้นพบก็จะทยอยอัพเดทให้ครับ หรือท่านจะกรุณาแจ้งเข้ามาก็ยินดีแก้ไขเพิ่มเติมให้ครับ หรือหากท่านมีข้อมูลที่จะเพิ่มเติมขยายความ ให้เกิดความสมบูรณ์ของเนื้อหาบทความ ก็จักขอบพระคุณยิ่ง (แจ้งผ่านทาง webmaster @ isangate.com หรือ tidmoo.mm @ gmail.com ก็ได้เช่นเดียวกัน)
ที่ได้ให้ข้อคิดเห็นและคำแนะนำในเรื่องต่างๆ เช่น คำผญา สุภาษิต ควมทวย ความหมายของภาษาอีสาน เรื่องราวความเป็นอยู่วิถีชีวิตของผู้คน รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีที่น่าสนใจ การฟ้อนรำและดนตรีอีสาน และขอขอบคุณผองเพื่อนที่ให้กำลังใจและสนับสนุนด้วยดีตลอดมา
สำหรับท่านผู้ชมเว็บไซต์ที่มีข้อมูล/ภาพเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวอีสาน อยากจะเผยแพร่สามารถส่งข้อมูลของท่านไปถึงผู้จัดทำได้ที่
Email :
ขอกราบขอบพระคุณล่วงหน้าครับ ลูกหลานไทยอีสานจะได้มีความรัก หวงแหนในวัฒนธรรมท้องถิ่น สืบทอดให้ยืนยงมั่นคงต่อไป คงไม่มีค่าตอบแทนสำหรับท่านนะครับ นอกจากความเคารพและน้ำใจ เพราะผมอาจจะมีรายได้จากแบนเนอร์โฆษณาบ้างเล็กน้อย ก็ยังไม่เพียงพอต่อรายจ่ายค่าโดเมน/ค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ ต้องอาศัยจากเงินเดือนข้าราชการบำนาญของผมเองเข้าช่วยบ้าง
ท่านที่สนใจนำลิงก์เว็บไซต์ ประตูสู่อีสาน : IsanGate.com ไปเผยแพร่ต่อเพื่อเป็นวิทยาทานแก่อนุชนรุ่นหลัง สามารถนำแบนเนอร์เหล่านี้ไปติดตั้งในเว็บไซต์ท่านได้ตามความเหมาะสมครับ
<a href="https://www.isangate.com" target="_blank"><img src="https://www.isangate.com/images1/ani-saon.gif" alt="IsanGate.com" border="0" width="88" height="31"></a> |
<a href="https://www.isangate.com" target="_blank"><img src="https://www.isangate.com/images1/isangate_banner.gif" alt="IsanGate.com" border="0" width="200" height="75"></a> |
บทความ เนื้อหาต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์นี้ หากท่านเห็นว่าดีและมีประโยชน์ทั้งต่อตัวท่านและคนอื่นๆ จะนำเอาไปใช้อ้างอิงในเอกสาร การศึกษา หรือเว็บไซต์ของท่านก็ได้โดยเสรีนะครับ ไม่ต้องขออนุญาตอะไรเป็นทางการให้ยุ่งยากดอก เพียงแต่ขอให้ท่านได้โปรดใส่ข้อความว่า "อ้างอิงมาจากเว็บไซต์ : ประตูสู่อีสาน" และหากเป็นเว็บไซต์ก็ทำลิงก์กลับมาที่บทความต้นฉบับด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง!
คุณรู้ไหมว่า การทำลิงก์เชื่อมโยงไปมาระหว่างเว็บไซต์ต่างๆ นั้น เป็นการทำ SEO (Search Engine Optimize) ให้กับเว็บไซต์ที่ดีที่สุด ที่เว็บไซต์เพื่อการค้นหาอย่าง Google ชอบ และจะทำให้เว็บไซต์เหล่านั้นติดอยู่ในอันดับการค้นหาที่ดีด้วย ดังนั้นโปรดลิงก์กลับมาหาเราด้วย...
เดือนมิถุนายน 2564 ที่จะถึงนี้ ก็จะเป็นวันก้าวเข้าสู่ปีที่ 24 ของเรา เว็บที่คิดทำเล่นๆ ตามใจของคนทำคนหนึ่งที่ไม่ได้มีความรู้ในการทำเว็บไซต์อะไรเลย รวมทั้งความรู้เรื่องของภาคอีสานก็มีเพียงน้อยนิด ทำไปตามใจที่คิดอยากทำในแต่ละวัน ล้มลุกคลุกคลานไปตามกระแส กอร์ปกับความขยันและความขี้เกียจที่มีมาเป็นระยะๆ จะเลิกทำก็หลายครั้ง แต่ก็ได้รับแรงใจจากแฟนานุแฟนผู้สนใจในทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งผู้สนใจติดตามในต่างประเทศที่เป็นชุมชนคนไทย คนลาว ในต่างแดน ที่ส่งอีเมล์มากระตุ้นเป็นเชื้อไฟอยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะท่านที่เป็นฝรั่งต่างชาติคนหนึ่ง (ที่ท่านขอสงวนนามไว้) ในประเทศทางแถบสแกนดิเนเวียน เขียนมาบอกว่า (แปลเป็นไทยได้ดังด้านล่าง)
"ผมไม่เข้าใจเลย ที่ทุกครั้งที่ภรรยา (คนไทย) ของผมเธอเอาแต่นั่งร้องไห้เมื่อเปิดอ่านเว็บไซต์ของคุณ เพราะผมอ่านไม่ออก จนกระทั่งเธอได้เปิดยูทูปของนักร้องหญิงคนหนึ่งในเว็บไซต์ของคุณให้ฟัง เธอเล่าให้ผมฟังว่า นี่เป็นการบอกเล่าวิถีชีวิตของพ่อ-แม่ของเธอ และชีวิตของเธอในวัยเด็กในประเทศไทย ผมรู้สึกได้ถึงสำเนียงเสียงร้องนั้นว่าลำบากขนาดไหน ผมขอบคุณมากที่คุณทำสิ่งดีๆ นี้ให้เกิดแก่คนไทยที่อาศัยในแถบนี้ ให้ได้ระลึกถึงบ้านเกิดได้แม้จะไกลกันค่อนโลก ขอบคุณมากครับ" และ Youtube นั้นก็คือ การลำล่อง "ชีวิตชาวนา" ของศิลปินแห่งชาติ ฉวีวรรณ ดำเนิน นั่นเอง
กลอนลำ "ชีวิตชาวนา" โดย ศิลปินแห่งชาติ ฉวีวรรณ ดำเนิน
ประพันธ์กลอนโดย พ่อนุ่ม เย็นใจ
หน้าตาเว็บไซต์ใหม่จัดการด้วย Joomla! CMS
หน้าเว็บไซต์ปัจจุบันนี้ครับ แบ่งหมวดหมู่ จัดการความเชื่อมโยงใหม่
วิธีการใช้งาน การค้นหาข้อมูลภายในเว็บไซต์นี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหน้านี้ครับ คำแนะนำในการใช้งานเว็บไซต์ IsanGate.com หรือที่เมนู Help ด้านบนก็ได้เช่นเดียวกัน
วันที่ 10 มิถุนายน 2564 คือวันครบรอบครบ 23 ปีของเว็บไซต์ ประตูอีสาน : IsanGate.com ก้าวไปสู่ปีที่ 24 ซึ่งทางเว็บเราก็ได้ทำการเพิ่มเนื้อหาต่างๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านอาชีพ การทำมาหากินของคนอีสานในอดีต พระอริยสงฆ์เจ้าแห่งดินแดนอีสาน ศิลปินของอีสานบ้านเฮามากมาย และปราชญ์ผู้รู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เอาชนะความแห้งแล้ง ความยากจน หลุดพ้นจากหนี้สิน จะทยอยนำมาเสริมเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ เอามาเผยแผ่ออกไปให้ลูกหลานได้รับรู้กันในวงกว้าง
มีคำถามของบางท่านที่ว่า "ทำไมไม่มีประวัติ หรือเรื่องราวของคนนั้น คนนี้????" อันนี้ตอบได้ว่า "เพราะผมไม่ทราบ ได้พยายามค้นหาแล้วไม่มีปรากฏ หรือมีก็แค่ไม่กี่ประโยค ทำให้เป็นบทความได้ไม่สมบูรณ์ บางท่านเสียชีวิตไปแล้ว บางท่านยังมีชีวิตอยู่ ผมติดต่อไปก็ไม่สื่อสารตอบกลับ รวมทั้งญาติ/พี่น้องของท่านเหล่านั้นด้วย ถ้าท่านใดมีข้อมูลก็ส่งกันมาได้ครับ ผมยินดีที่จะเรียบเรียงเสริมข้อมูลให้จนสมบูรณ์ ให้เครดิตบทความแต่ท่าน ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับผม"
ท่านที่สนใจอยากเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ ด้วยการลงแบนเนอร์โฆษณาประชาสัมพันธ์ สามารถติดต่อเพื่อขอทราบรายละเอียดได้ทางโทรศัพท์หมายเลข AIS : 08-1878-3521, DTAC : 08-3462-4996 ได้เลยครับ หรือทางอีเมล์ webmaster (at) isangate.com หรือ ทาง LineID : @Montree2k ได้ครับ ราคากันเองครับ ตกลงกันได้จะสนับสนุนเราเป็นรายเดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือรายปียิ่งได้ราคามิตรภาพครับ ติดต่อมานะครับ
ด้วยความขอบพระคุณครับ
ทีมงานประตูสู่อีสาน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)