คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ส่งผลให้ทางตอนเหนือของประเทศไทย ทางภาคเหนือและภาคอีสานมีอากาศหนาวเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ภาคเหนือ-ภาคอีสานมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด 6-15 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงเทพฯ อากาศเย็นถึงหนาว 12-19 องศาเซลเซียส (ซึ่งหลายๆ คนชอบอกชอบใจเพราะรอคอยโอกาสแบบนี้มานานหลายปี จนเสื้อผ้ากันหนาวสีสันสดสวยไม่ได้โผล่ออกมาจากตู้เสื้อผ้า ออกมารับแสงแดดเลยนานแล้ว ปีนี้ได้มีโอกาสแล้ว เย้!...) ยังไม่สะใจ "น้องหนาว" ก็ไปแล้ว แบบไม่ร่ำลา ฮือๆๆ
หลายๆ ที่ในภาคอีสานก็มีโอกาสได้เห็นอุณหภูมิตัวเลขหลักเดียวกันบ้างแล้ว ถ้าบนยอดภูในที่สูงอย่าง ภูเรือ ภูกระดึง ภูพาน เขาใหญ่ พื้นที่ในแถบริมแม่น้ำโขงก็ได้สัมผัสความหนาวกันแน่นอน ผู้คนมากหน้าหลายตาจากหลากหลายถิ่นที่ ต่างก็หลั่งไหลกันไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวในภาคอีสานในช่วงวันหยุด สุดสัปดาห์กันคึกคักทีเดียว ทางแถบอีสานบ้านทิดหมูเองก็มีไม่น้อย ที่ไปยลความงามของไอหมอกที่ผาแต้ม ผสานกับปรากฏการณ์แม่น้ำเปลี่ยนสี จาก "โขงสีปูน มูลสีคราม" มาเป็น "โขงสีฟ้าครามคล้ายน้ำทะเลใส" ทำให้มีสีสันสวยงามแปลกตา บวกกับเกิดหาดทรายตามแนวริมฝั่งแม่น้ำโขง (ที่น้ำลดลงผิดจากปีก่อนๆ) กลายเป็นความสวยงามทางธรรมชาติที่ลงตัว ทำให้มีประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางไปชมและเซลฟี่ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันเป็นจำนวนมาก แต่...
แม่น้ำโขงจะได้รับฉายาจากนักทำสารคดี นักเขียนว่า "Mighty Mekong" สายน้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์ สีของสายน้ำนี้จะเป็นสีปูน เพราะมีตะกอนที่เกิดจากการกษัยการ (หรือการพังทลาย) ของหินและดินหอบมากับสายน้ำ ตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำโขง เมื่อน้ำโขงไหลไปตามสายน้ำ และมีแม่น้ำสาขาไหลลงมาบรรจบก็จะทำให้เกิด "แม่น้ำสองสี" ในแทบทุกที่ เช่น ที่ปากแม่น้ำมูลก็เกิดแม่น้ำสองสี "โขงสีปูน มูลสีคราม" คือ น้ำสาขา (แม่น้ำมูล)จะมีสีคราม แต่น้ำโขงมีสีปูนที่ขุ่นข้น
อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้แม่น้ำโขงไม่ได้เป็น "Mighty Mekong" อีกแล้ว แต่กลายเป็น "Hungry Mekong" หรือ "สายน้ำที่หิวโหย" จาก "ภาวะไร้ตะกอน" เพราะหลังจากเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จก็มีการกักเก็บน้ำไว้เหนือเขื่อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนกระทั่งน้ำท้ายเขื่อนแห้งขอด และมีปลาตาย
มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า เหนือเขื่อนไซยะบุรีมีน้ำเต็มและนิ่ง ขณะที่ท้ายเขื่อนน้ำแห้ง หลายแห่งที่เคยมีน้ำมองดูราวกับทะเลทราย เหลือแต่น้ำในร่องน้ำลึกที่ยังไหล ถ้าน้ำโขงกว้างก็จะไหลเอื่อย หากแคบมีแก่งน้ำก็พอยังจะเชี่ยว แต่ก็ไม่ได้ไหลแรงตามธรรมชาติ
เขื่อนไม่ได้เก็บและปล่อยน้ำตามที่ได้โฆษณาไว้ว่า "ไหลมาเท่าไหร่ ปล่อยไปเท่านั้น" แท้ที่จริงเขื่อนจะปล่อยน้ำเฉพาะในช่วงผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเรียกง่ายๆ ว่า ตอนนี้เขื่อนได้ควบคุมน้ำโขงไว้ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "แม่น้ำโขงถูกล่ามโซ่" เมื่อน้ำโขงถูกควบคุม น้ำเหนือเขื่อนที่ลึกและนิ่ง ทำให้ตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำเหนือเขื่อนและอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน การปล่อยน้ำผ่านเทอร์ไบน์ต้องมีระดับน้ำที่ต่างกัน ซึ่งเรียกว่า head เขื่อนไหนๆ ก็มี เขื่อนไซยะบุรีที่เรียกว่า "เขื่อนน้ำไหลผ่าน" (run-off river dam) ก็ต้องมี head และ head ที่นี่ก็หลายสิบเมตร น้ำที่ไหลผ่านเทอร์ไบน์ลงท้ายเขื่อนจึงเป็นน้ำที่ไม่มีตะกอน
ทางท้ายเขื่อน เมื่อน้ำไม่ไหลเชี่ยวเหมือนเดิมนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา บริเวณที่เป็นหาดทราย แก่งหิน และป่าน้ำท่วม (ป่าไคร้) เช่น ที่แถวพันโขดแสนไคร้ (หนองคาย) น้ำที่เคยไหลเอื่อยก็แทบไม่ไหล และบ่อยครั้งที่น้ำลดจนแห้งราวขอด บริเวณที่น้ำไหลเอื่อยๆ ตามธรรมชาตินี่แหละที่ทำให้หาดทราย ป่าไคร้ เป็นบ้านของสัตว์น้ำเล็กๆ ทั้งหอย ปู ปลา กุ้ง ที่อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำที่ไหลมาจากข้างบน
การที่น้ำโขงแห้งเพราะถูกล่ามโซ่ นอกจากทำให้ต้นไม้ตายเพราะไม่จมอยู่ใต้น้ำตามวัฏจักรแล้ว สัตว์น้ำจำนวนมากก็ตายด้วย และยังทำให้ตะกอนที่พอจะเหลือจากที่ถูกกักไว้เหนือเขื่อนเกิดการตกตะกอนอีกครั้ง ป่าไคร้ที่พันโขดแสนไคร้จึงมีตะกอนทับถมสูง บางจุดตะกอนทับถมเหลือแต่ปลายต้นไคร้ บางจุดสูงมากกว่า 2 เมตรเมื่อตะกอนถูกกักไว้เหนือเขื่อน และยังตกตะกอนบริเวณที่เคยเป็นหาดทรายและป่าน้ำท่วม ยิ่งไกลจากท้ายเขื่อนน้ำก็ยิ่งใสราวกระจก และเมื่อน้ำสะท้อนแสงจากท้องฟ้าก็ยิ่งกลายเป็นสีคราม แต่นี่คือ "สัญญาณอันตราย" ของแม่น้ำสายนี้
ความสำคัญของ "ตะกอน" คือธาตุอาหารที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของพืชน้ำ เมื่อสายน้ำโขงเกิดภาวะไร้ตะกอน ความอุมดสมบูรณ์ของพืชน้ำก็ลดตามลง ที่บ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ในเวลานี้ กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงได้สังเกตพบว่า แม่น้ำโขงบริเวณที่เคยมีตะไคร่น้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า "เทา"หรือ "ไก" ไม่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างที่เคยเป็น ในอดีตแม่น้ำโขงบริเวณที่เกิดเทาหรือไกจะมีปลามาเล่นน้ำ กินเทาหรือไกเป็นอาหาร และผสมพันธุ์ แต่ปีนี้กลับว่างเปล่า
แม่น้ำโขงในภาวะไร้ตะกอน จะส่งผลเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง เพราะการขาดธาตุอาหารที่ไหลมากับน้ำจะส่งผลกระทบต่อสาหร่าย พันธุ์พืชขนาดเล็กๆ ไปจนถึงพันธุ์พืชขนาดใหญ่ ซึ่งอาจรวมไปถึงป่าน้ำท่วมแถบ "สตึงเตร็ง" ในกัมพูชา มื่อพันธุ์พืชไม่อุดมสมบูรณ์ ปลาที่กินพืชเป็นอาหารก็จะลดลง และปลาที่กินเนื้อก็จะขาดอาหารไปด้วย คือหายนะที่เกิดกับแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะปลากินพืชที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ปลาทั้ง 1,300 สายพันธุ์ก็กระทบไปหมดเช่นกัน
แม่น้ำโขงแถบหนองคายจนถึงนครพนม คือ พื้นที่ปลูกมะเขือเทศที่ดีที่สุดของประเทศ เพราะมะเขือเทศที่นี่ให้เนื้อมาก และผลผลิตมะเขือเทศที่นี่คิดเป็นร้อยละ 50 ของที่ผลิตทั้งประเทศ จนทำให้ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่ "ส่งออกซอสมะเขือเทศ" ไปขายต่างประเทศได้ ในตอนนี้น้ำไม่ท่วม ไม่มีปุ๋ยจากธรรมชาติ การเพาะปลูกก็จำเป็นต้องหันมาใช้ปุ๋ยเคมี และภาระก็จะตกแก่เกษตรกรและผู้บริโภคในที่สุด นั่นเอง
ปีนี้ นับว่าภาคอีสานเฮาเจอภัยพิบัติมากมายถาโถมจริงๆ ตอนต้นปีก็เจอภัยแล้งกันขนาดหนัก อย่าว่าแต่น้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชผลเลย แล้งเสียจนแทบจะหาน้ำมาทำน้ำประปาแจกจ่ายให้ประชาชนกันได้ยากยิ่ง ถึงกับต้องเปิดปิดการจ่ายน้ำตามเวลาที่กำหนด พอช่วงปลายปีกลับโดนพายุเข้าถล่มจนเกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง แถบจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี เป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่ตั้งรับกันไม่ทัน น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างและมีระยะยาวนานพอสมควร เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินของประชาชน และทรัพย์สินสาธารณะเป็นจำนวนมหาศาล [ อ่านเพิ่มเติม ]
ในขณะที่ทางตอนเหนือของภาคอีสาน ในแถบจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา มหาสารคาม มาทางใต้แถวบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษบางส่วน กลับไม่มีน้ำเพียงพอแก่การบริโภค อุปโภค น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนอื่นๆ ในบริเวณภาคอีสานนี้ไม่มีน้ำเพียงต่อต่อการใช้งานแล้ว คาดว่า ฤดูแล้งปี พ.ศ. 2563 จะประสบปัญหาหนักในการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ กระทบต่อบริการด้านสาธารณสุขของหน่วยงานโรงพยาบาลในภาคอีสานแน่นอน
สำหรับในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ก็มาเจอกับภัยหนาวอีกระลอก ซึ่งตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้นั้น จะมีความหนาวอุณหภูมิลดลงต่ำมาก และจะมีระยะเวลาหนาวยาวนานกว่าปีก่อนๆ อาจยาวไปถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ขอให้พี่น้องติดตามข่าวจากทางกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดนะครับ
เราต้องร่วมมือกัน "ปลูกป่า" ให้มากขึ้น ทั้งหัวไร่ปลายนา ที่ว่างใดที่พอปลูกได้ จะไม้ใหญ่ ไม้เล็ก ไม้ผล ก็ปลูกเถอะครับ อย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้ผืนดินชุ่มชื้นได้ในระดับหนึ่ง เมื่อมีฝนมาก็ช่วยซับน้ำฝนลงดิน ป้องกันการไหลหลากของน้ำที่มาอย่างรวดเร็วได้ ดังจะเห็นได้ว่า ที่น้ำท่วมหนักและเร็วในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการขาดต้นไม้ ใบหญ้าที่ช่วยซับน้ำไป แม้เราจะมีป่าสวนยางพารามากมายก็ช่วยไม่ได้ เพราะป่ายางนั้นพื้นล่างถูกฉีดยาฆ่าหญ้าให้ตายเตียนโล่งไปหมด น้ำมาจึงไหลหลากอย่างรวดเร็วนั่นเอง ปลูกป่ากันเถอะครับ ทำให้ดอนปู่ตากลับมาอีกครั้ง มีสระน้ำ บึงเก็บกักน้ำ พื้นที่ไม่มากแต่ได้ประโยชน์มากสุด เพราะผืนดินน้อยแต่ชุ่มชื้น มีปุ๋ย มีพืชคลุมดิน ย่อมดีกว่ามีพื้นที่เพาะปูกมากๆ แต่แห้งแล้ง ดินไม่มีปุ๋ย เชื่อที่พ่อหลวงบอก "โคกหนองนาโมเดล" คือทางรอดในยุคนี้
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)