คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
วันนี้ อาวทิดหมูได้รับมอบหมายจาก "เว็บมาดเซ่อ" ขอร้องแกมบังคับว่า ให้เขียนถึงปัญหาร้อนในอีสานบ้านเฮา เกี่ยวกับอุบัติเหตุอันตรายที่เกิดจาก "ชาวนา" ฅนอีสานบ้านเฮาผู้อ้างถึง "ความยากจน" เป็นเหตุแห่งความจำเป็นในการเอา "ถนนหลวง" ที่เป็นคอนกรีตหรือลาดยางมาเป็น "ลานตากข้าวชั่วคราว" โดยไม่คำนึงถึงเพื่อนร่วมหมู่บ้าน ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ในตำบล อำเภอ จังหวัดใกล้เคียงที่สัญจรไปมา จะได้รับความเดือดร้อน ทรัพย์สินเสียหาย จนเกิดการล้มตายก็หลายชีวิต ตามที่เป็นข่าวในสื่อต่างๆ ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ยังๆ ไม่หยุดอีกบ้อพี่น้อง
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงตายบนท้องถนนอยู่หลายครั้ง เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ ปาเจโร่ เสียหลักตกข้างทางสภาพพังยับเยิน เนื่องจากเหยียบข้าวเปลือกที่ตากบนถนน ลงในกลุ่มศรีสะเกษ SisaketToday พร้อมกับตั้งคำถามว่า เมื่อมีเหตุแบบนี้เกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?
อีกกรณีคือ นักเรียน ม.3 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ขับรถจักรยานยนต์ไปชนกองข้าวเปลือกที่ชาวบ้านนำมาตากบนถนนลาดยาง ทำให้หนึ่งในนั้นเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนอีกคนบาดเจ็บสาหัส
ล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2562 เกิดอุบัติเหตุรถกระบะหักหลบกองข้าวเปลือกที่ตากบนถนนชน 3 คันรวด มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก 3 ราย บนถนนสายบ้านพลจลก (พล-จะ-หลก) -สระวารี หมู่ที่ 8 ตำบลมะค่า อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
เหตุที่ต้องตากก็เพราะข้าวเปลือกยังไม่แห้ง มีความชื้นสูง เอาไปขายโรงสีก็กดราคามาก (เพราะทางโรงสีก็ต้องเสียเวลาเอาไปตาก ไปอบให้แห้ง มีต้นทุนสูง) การจะนำไปสีเป็นข้าวสารเลยก็ไม่ได้เพราะเม็ดข้าวจะหักเสีย เปลือกข้าวที่ได้จากการสี (ที่เป็นแกลบ เป็นรำ) ก็อาจจะไปติดในระบบบด ขัด ตะแกรงร่อนของเครื่องจักรสีข้าวเสียหาย (ภาษาชาวบ้านคือเอาไปทำได้แต่ "ข้าวเม่า" นั่นแหละ) จึงจำเป็นต้องตากแดดให้แห้งเสียก่อนจะขายหรือเก็บในยุ้งฉาง
แล้วในอดีต ทำไมชาวบ้านไม่เห็นมีการตากข้าวเปลือกเลย? ก็เพราะกรรมวิธีในการทำนาสมัยก่อนต่างจากสมัยนี้มาก การทำนาในอดีตจะใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก เป็นการทำนาดำ ซึ่งเริ่มจากการไถดะ (ภาษาอีสาน เรียก ไถฮุด) เป็นการตากดินกลบวัชพืชให้ตาย ย่อยสลายเป็นปุ๋ย เมื่อฝนตกมามากๆ พร้อมจะทำนาจึงจะทำการไถแปร (ไถครั้งที่สอง เพื่อพลิกหน้าดินขึ้นมา) ในแปลงเพาะกล้าข้าว แล้วคราดซ้ำเพื่อให้ดินแตกยุ่ย ผสมกันเป็นเนื้อเดียว เก็บหญ้า/กิ่งไม้แข็งๆ ออกจากผืนนา ทำการหว่านกล้า เมื่อข้าวกล้าแตกกอสูงประมาณ 2-3 คืบก็จะถอนกล้านำไปปักดำในที่นาที่ไถแปรและคราดเตรียมไว้แล้ว
เมื่อข้าวออกรวงเหลืองอร่ามท้องทุ่ง แก่จัด ก็ได้เวลาเก็บเกี่ยวก็จะใช้แรงงานคนเกี่ยววางเป็นฟ่อน ตากรวงข้าวในผืนนาหรือวางบนคันนา เป็นเวลา 2-3 วันให้แห้ง จึงจะมามัดด้วยตอกเป็นฟ่อน (มัด) ทำการหาบฟ่อนข้าวมากองรวมกันบนลานนวดข้าว (เป็นลานดิน ถากหญ้าออกให้หมด แล้วนำขี้วัว ขี้ควายมาผสมน้ำทาทับบนลานดิน) เมื่อรวบรวมฟ่อนข้าวมาหมดแล้วก็จะได้เวลาตีข้าว (นวดข้าว ในภาษากลาง) ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคน อาจเป็นแรงงานในครอบครัวตนเอง หรือหาแรงจากเพื่อนบ้าน เรียกว่า "ลงแขกตีข้าว"
เมื่อสมัยอาวทิดหมูเป็นบ่าวนี่มัก (ชอบ) หลายเพราะจะได้พบเพื่อนฝูง ได้พ้อผู้สาวที่แอบหมายปองจะได้คุยทักทายกัน เจ้าของนา (เจ้าภาพ) จะเตรียมข้าวปลาอาหารเย็นไว้ต้อนรับ และที่ขาดไม่ได้คือ "เหล้าสาโท" ที่เจ้าภาพจะหมักและเก็บไว้ในใจกลางกองข้าวเปลือก ซึ่งกว่าจะได้ดื่มกินนั่นหมายถึงต้องตีข้าวเกือบจะเสร็จแล้ว เหลือไม่กี่ฟ่อนนั่นเองถึงจะเจอไหเหล้าสาโท นับเป็นความฉลาดของเจ้าภาพมากๆ เพราะจะทำให้เพื่อนๆ ขยันขันแข็งตีข้าวให้เสร็จเร็วๆ เพื่อจะได้ชิมความหวานหอมของสาโทนั่นเอง และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้อาวทิดหมูยังคงความโสดจนบัดนี้ เพราะเมาหนักเสียรูปจนผู้สาวหน่ายนั่นเอง (บ่โทษความขี้ฮ้ายของเจ้าของเลยเนาะ) จนได้ข้าวเปลือกที่แห้งสนิทพร้อมเก็บในเล้าเข้า (ยุ้งฉาง) หรือนำไปตำในครกมอง หรือนำไปสีในโรงสีเป็นข้าวสาร เป็นอาหารต่อไป
ผิดกับในยุคปัจจุบัน ที่การทำนาแบบเร่งรีบ ขี้เกียจ ด้วยขาดแรงงานคน/สัตว์ หันไปใช้เครื่องจักรแทน (ควายเหล็ก ที่ตดออกมาเป็นควัน) จากนาดำก็มาเป็นนาหว่านเพราะทำได้เร็วใช้แรงงานน้อย ข้าวเหลืองแก่แล้วก็เกี่ยวด้วยเครื่องจักร (รถเกี่ยวข้าว) ไม่ต้องรอให้ข้าวแห้ง เกี่ยวเสร็จขึ้นเครื่องสีเป็นข้าวเปลือก ไหลลงในกระสอบปุ๋ย พ่นฟางทิ้งไปเลย ข้าวเปลือกที่ได้จึงยังไม่แห้ง นำไปขายก็ไม่ได้ราคา จึงมีการตากข้าวเปลือกตามที่เป็นข่าวนั่นเอง
ทำนาอย่างไรให้โลกจำ ขอบคุณคลิปจาก Una Studio - ຢູ່ນາສະຕູດິໂອ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : ภูมิปัญญาโบราณอีสานกับการหาเลี้ยงชีพ (3)
สาเหตุที่ชาวนานำข้าวเปลือกไปตากบนถนน ก็เพราะถนนทำจากยางแอสฟัลติกส์ หรือคอนกรีตที่อมความร้อนจากแสงแดด ทำให้เมื่อนำข้าวเปลือกไปตากบนถนนจะแห้งเร็วด้วยแสงแดดที่ส่องด้านบน แล้วยังมีความร้อนที่แผ่ออกมาจากผิวถนนในด้านล่างเข้ามาเสริมอีกด้วย การตากข้าวเปลือกก็จะรองพื้นก่อนด้วยผ้ายาง/พลาสติกเพื่อให้เก็บได้ง่าย แต่ผลที่ตามมาก็คืออันตรายต่อผู้ใช้ยานพาหนะตามข่าวในย่อหน้าแรกนั่นแหละ
แล้วทำไมรถรา/ยานพาหนะต้องหลบลานตากข้าวเปลือก ไม่ขับผ่านเหยียบไปเลยล่ะ! คำถามนี้จะไม่เกิดถ้า... ผู้ถามเคยขับรถบนถนนลาดยางช่วงที่ฝนตกครั้งแรกในฤดูกาล ที่มีฝุ่น ดิน หิน บนผิวทาง พอโดนน้ำฝนก็จะเป็นดินโคลนทำให้ถนนลื่น มียานพาหนะลงไปกินหญ้าข้างทางกันบ่อยๆ การตากข้าวบนแผ่นพลาสติกบนพื้นถนนนี่ก็ไม่แตกต่างกัน มันทำให้เกิดอาการถนนลื่น ล้อยางของรถไม่สามารถยึดเกาะถนนได้ตามปกติ ถ้ารถจักรยานยนต์นี่จะลื่นไถลตกข้างทางได้ง่ายๆ รถยนต์ก็ไม่แตกต่างกันทำให้ลื่นไถลได้ง่าย ยิ่งตอนตกใจเบรกกระทันหันจะหมุนคว้างได้เลย จึงเกิดเป็นอุบัติเหตุได้ดังที่เป็นข่าวนั่นเอง
คำถามนี้ตอบง่ายครับ ก็เจ้าของข้าวเปลือกนั่นแหละ ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย กรณีผู้นำข้าวเปลือกมากองบนถนนเพื่อตากแดด และทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ประสบอุบัติเหตุ จะมีความผิดทางอาญาหลายกระทง โดยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 114 วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา 148 ระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 19 มีโทษตามมาตรา 57 ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา 72 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่การกระทำครั้งเดียวกันนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 กำหนดหลักการไว้ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีอัตราโทษสูงสุด จึงต้องลงโทษตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ.2535 โดยมาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง แขวน วาง หรือกองสิ่งใดในเขตทางหลวงในลักษณะที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ หรือในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือความไม่สะดวกแก่งานทาง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวง จะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้” ซึ่งตามกฎหมายข้อนี้คือ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เกิดอุบัติเหตุเมื่อไหร่ก็มักจะไม่มีใครรับเป็น “เจ้าของข้าว” ที่ตากไว้ดอกหนา (เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยง หมู หมา วัว ควาย ที่เพ่นพ่านบนถนนแล้วโดนรถชน จะไม่มีเจ้าของทันที ด้วยกลัวเสียค่าปรับ) ถ้ารถยนตร์มีประกันภัยอุบัติเหตุชั้นหนึ่ง ก็สามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยได้ แต่ก็ไม่คุ้มกับความเสียหายที่มีต่อทรัพย์สิน จิตใจ และเวลาที่เสียไป ยังไม่จบนะ บริษัทประกันภัยเขาย่อมนำสืบหาเจ้าของข้าวเปลือก เพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทดแทนที่ได้จ่ายให้กับผู้เอาประกันภัยไปก่อนแล้วได้ แต่ตราบาปที่เจ้าของข้าวได้รับคือ “เป็นฆาตกร” ถ้าอุบัติเหตุนั้นมีผู้เสียชีวิตด้วย
ชาวนาจะต้องหาที่ตากข้าวในสถานที่ที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น โดยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ต้องหาสถานที่ส่วนรวมมาใช้ประโยชน์ เช่น ลานวัด สนามในโรงเรียน ลานกลางหมู่บ้าน เป็นต้น หรือแม้แต่ขาวนาเองจะใช้ลานตากในที่นาตนเองก็ย่อมได้ เพราะอย่างไรก็มีผ้ายางหรือพลาสติกรองอยู่แล้ว มันอาจจะใช้เวลานานหน่อย เพราะไม่มีพื้นสะท้อนความร้อนด้านล่างเหมือนกับถนนลาดยาง/คอนกรีต แต่ก็ปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งเผลอๆ คนที่ได้รับอุบัติเหตุก็จะเป็นลูกหลานในหมู่บ้านเรานั่นแหละ ที่ชอบแว๊นซ์ๆ กันอยู่
อย่าอ้างความจนนะครับ มันเดือดร้อนทั้งตนเองและผู้อื่น ไม่ใช่แค่ทรัพย์สินเสียหาย แต่มันยังหมายถึง “ชีวิต” ของใครหลายๆ คนที่ต้องสูญเสียไป ไม่สามารถทำให้กลับคืนมาได้ ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำครับ มีพระสงฆ์หลายวัดได้เปิดให้ชาวบ้านมาใช้ลานวัดตากข้าว โรงเรียน สถานีตำรวจ (โรงพัก) สนานีอนามัย ที่มีลานกว้างๆ ก็เปิดให้ชาวบ้านมาตากข้าวเปลือกกันได้ ช่วยๆ กันนะ รวมทั้งพวกหัวขโมยทั้งหลายก็อย่าได้มากินแรงขโมยข้าวไปนะ ยิ่งจนๆ อย่าซ้ำเติมกันเลย 🙂 😛 😎
บันทึกจาก : อาวทิดหมู มักหม่วน
17 ตุลาคม 2562
ตากข้าวบนถนนอันตราย ผิดกฎหมายนะขอรับ
Cr. ไม่ทราบเจ้าของนะครับมีผู้ส่งมาให้ ทวงมาได้ครับ
อัพเดทเพื่อรีรันอีกรอบ : 8 พฤศจิกายน 2563
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)