คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ฅนอีสานในอดีตนั้น มีเครื่องใช้ไม้สอยมากมาย เนื่องจากธรรมชาติในพื้นถิ่นเต็มไปด้วยอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ป่าไม้หลากหลาย น้ำท่าบริบูรณ์ จึงมีการคิดค้นสร้างเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ มาใช้งานซึ่งมีทั้งคุณค่าความสวยงาม อรรถประโยชน์ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความทันสมัยยุคพลาสติกเข้ามา เครื่องใช้ในอดีตก็เริ่มจางหายไปตามกาลเวลา เรามาย้อนอดีตกันว่ามีอะไรบ้าง
เมื่อครั้งอดีตยังเป็นเด็กน้อย ทิดหมู กะคือกันกับเด็กน้อยตามภาคอีสานทั่วๆ ไป ที่มักจะเล่นซนเล่นม่วนนำหมู่เด็กน้อยนำกันในหมู่บ้าน ก่อนจะถึงวันพระใหญ่ตื่นเช้ามาได้ยินเสียง "สักกะลัน" ก้องดังจากครกมองบ้านผู้ใหญ่บ้าน พร้อมเสียงเซ็งแซ่ของหนุ่มสาวและเด็กน้อย ทำให้ทิดหมูต้องฟ้าวฟั่งไปร่วมสนุกทันที ไปดูว่าเขามีอะไรกันแต่เช้า
ไปถึงสถานที่ชุมนุมก็พบว่า มีหนุ่มสาว ผู้เฒ่า ผู้แก่และเด็กน้อย สาละวนอยู่กับการตำข้าว ทำแป้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว เอาไปทำเป็นแป้งขนมชนิดต่างๆ ทำแผ่นข้าวโป่ง หรือบ้างก็เอาแป้งเข้าปุ้นที่หมักแล้วมาตำ เพื่อนำไปคั้นบีบเป็นเส้นเข้าปุ้น (ขนมจีน) สำหรับงานบุญในวันพรุ่งนี้ เป็นที่สนุกสนาน การตำข้าวด้วยครกมองจะต้องมีคนที่มีน้ำหนักเพียงพอ (อาจต้องช่วยกันขึ้นเหยียบหลายคน) ขึ้นไปช่วยกันเหยียบที่หางมอง ให้ปลายขอนไม้ที่มีสากติดอยู่กระดกขึ้น แล้วปล่อยลงมาตำเป็นจังหวะๆ ดังแบบว่า "สักกะลัน" ลั่นทุ่งนั่นเอง
ครกมอง น. เครื่องมือสำหรับตำเรียก ครก ครกตำป่นตำแจ่ว เรียก ครกครัว ครกที่ใช้มือจับสากตำข้าวเปลือก เรียก ครกมือ ครกกระเดื่องใช้เท้าเหยียบตำข้าวเปลือก เรียก ครกมอง อย่างว่า ครกบ่มีสากซ้อมตำได้เข้าบ่ขาว (กา). mortar.
สักกะลัน ว. ตำข้าวเปลือกด้วยครกกระเดื่อง ใช้เท้าถีบถี่ เรียก ตำสักกะลัน อย่างว่า เสียงครกมองตำเข้าเดิ็กมามันม่วน ตำช้าช้าเสียงบอกยามซุก เดิ็กจั่งซุกเดิ็กเดิ็กจั่งซุก ตำเสียงสั้นสักกะลันน่ำน่ำ หกตำลึงแตะแต่งแหล้งหงายลงแป่งแง่ง (หนังสือเจือง).ta-ta-tum, describes pounding rice using foot-powered see-saw-type rice mortar and pestle with quick, frequent strokes. "
ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
สักกะลัน หมายถึง การย่ำเท้าอย่างเร็วในการตำข้าวด้วยครกมอง จนมีเสียงดังคล้าย คลั๊ก ตึ่ง ตึ้ง อยู่เป็นระยะ
ครกมอง เป็นภูมิปัญญาไทยในอดีต ครั้งยังไม่มีโรงสีข้าวในปัจจุบัน การตำข้าวเพื่อมาใช้ในการประกอบอาหาร ชาวบ้านจะตำครั้งละไม่มากเอาแค่พอนึ่ง หรือหุงได้สัก 2-3 วัน แล้วค่อยตำใหม่ เพื่อจะได้ข้าวที่นุ่มหอมกรุ่น อร่อยๆ นั่นเอง ผลที่ได้จากการตำข้าวคือ แกลบและรำ ไว้เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ เป็ด ในครัวเรือน ครกมองสร้างครอบครัว (อันนี้ไม่ผิดแน่) เพราะมีหนุ่มสาวหลายคู่ตกลงครองรักครองเรือน เอาชนะใจญาติผู้ใหญ่ด้วยความขยันขันแข็ง มาช่วยสาวตำข้าวบ่อยๆ (จนลิ้นห้อยก็ยอม) ได้รับอนุญาตให้ร่วมเรียงเคียงหมอนมาก็มาก นอกจากนั้น ยังเป็นสถานที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำอาหารจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย
สาวบ้านใดตื่นมาตำข้าวแต่ไก่ขันกก จนไก่ขันฮวย โบราณเพิ่นกล่าวว่า เป็นแม่ศรีบ้าน แม่ศรีเรือน ที่ดี มักจะได้คู่ครองที่ดี ญาติผู้ใหญ่ได้ปลื้ม (เวลาของไก่ขันตามโบราณคือ ไก่ขันกก (24.00-01.30 น.) ไก่ขันชั้น (03.00-04.30 น.) ไก่ขันฮวย (04.30-06.00 น.)
ครกตำข้าว แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ครกมือ กับ ครกมอง หรือ ครกกระเดื่อง
ครกมือ มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ ตัวครก และตัวสาก
ตัวครก ทำจากท่อนไม้เนื้อแข็งมีความยาว 80-90 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 50-60 เซนติเมตร ใช้ขวานเจาะเป็นร่องลึกตรงกลาง แล้วนำแกลบใส่เป็นเชื้อจุดไฟเผาส่วนกลางให้เป็นโพรงลึกตามต้องการ แล้วจึงขัดภายในให้เกลี้ยงเกลาเป็นหลุม
ตัวสาก ทำจากไม้เนื้อแข็งยาว 2 เมตร ปลายทั้งสองข้างโค้งมน หัวสากจะทุ่มใหญ่ ส่วนปลายสากจะมนเรียวเล็ก บริเวณกลางคอดกลมพอดีกับมือที่ใช้กำอย่างหลวมๆ
ในการตำข้าวด้วยครกมือจะตำเป็นกลุ่ม 2-3 คน โดยนำข้าวไปผึ่งแดดหนึ่งวัน แล้วนำมาเทลงในครกตามต้องการ จากนั้นจึงเริ่มต้นใช้สากตำข้าวกะเทาะเม็ดข้าวเปลือกออก แล้วนำไป “ฝัด” ให้เปลือกข้าว (แกลบ) ปลิวออกไป และเก็บกากที่ไม่ต้องการออก การตำข้าวด้วยครกมือสามารถเคลื่อนย้ายครกไปในที่ต่างๆ ตามต้องการได ใช้แรงงานน้อย ต้องใช้เวลาตำนาน แต่ได้ปริมาณข้าวน้อย
ครกมอง หรือ ครกกระเดื่อง เป็นครกตำข้าวที่มีพัฒนาจากครกมือ ซึ่งสามารถตำข้าวได้ปริมาณมาก โดยมีส่วนประกอบ คือ ตัวครก แม่มองหรือตัวมอง หัวแม่มอง เสามอง คานมอง และสากมอง
ตัวครก ทำจากไม้เนื้อแข็งเช่นเดียวกันกับการทำครกมือ แต่จะทำจากท่อนไม้กลมยาวพอประมาณ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เมตร เจาะเป็นร่องลึกตรงกลางเหมือนครกทั่วๆ ไป ใช้ขวานฟันตรงกลาง นำแกลบใส่เป็นเชื้อและจุดไฟเผา จนได้หลุมครกลึกตามต้องการ ขัดภายในให้เรียบ จากนั้นจึงนำไปฝังลงในดินให้แน่น ให้มีระยะจากก้นครกถึงด้านส่วนล่างสุดของไม้ประมาณหนึ่งศอก
แม่มองหรือตัวมอง นิยมทำจากไม้สมอไทยเพราะมีเนื้อแข็ง เหนียว และทนทานไม่ให้หักง่ายและแตกง่าย เวลาตอกลิ่มที่หัวแม่มอง หรือแรงกระแทกเวลาตำข้าว แบ่งเป็นสองส่วน คือ หัวแม่มอง และหางแม่มอง
เสาแม่มอง จะอยู่ค่อนไปทางหางแม่มอง ประกอบด้วยเสาสองต้นปักดินให้แน่น เสาแม่มองเป็นไม้เนื้อแข็งเหนียวและทนทาน เพราะต้องรับแรงเสียดสีจากคานแม่มอง ทั้งรับน้ำหนักแม่มองและสากมอง ถ้าเสาทำจากไม้ไม่ดีจะสึกและพังเร็ว
คานมอง เป็นส่วนของไม้ที่สอดเพื่อยึดตัวมองกับเสาแม่มอง อยู่ค่อนไปทางหางแม่มอง ซึ่งบางแห่งนิยมทำสลัก เพื่อไม่ไห้ตัวมองเลื่อนไปทางใดทางหนึ่ง
การตำข้าวด้วยครกมอง หรือ ครกกระเดื่อง
สากมอง ทำจากไม้ค้อและไม้หนามแท่ง เพราะมีน้ำหนัก เหนียวแข็ง และมัน มีความยาว 60 เซนติเมตร แบ่งเป็น 3 ชนิด ตามความต้องการใช้งาน คือ
ลิ่มแม่มอง ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เหนียวและทนทาน เพราะได้รับแรงกระแทกอยู่ตลอดเวลา ใช้สำหรับตอกเสริมสาก เพื่อยึดสากมองกับแม่มองให้แน่น หากลิ่มไม่แน่นจะทำให้สากหลุดจากหัวแม่มองที่เจาะเป็นรูทะลุ อาจกระเด็นออกไปถูกผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้ได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายได้
หลักจับ เป็นหลักไม้สำหรับผู้ตำข้าวใช้จับพยุงตัวเวลาตำข้าว
ในการการตำข้าวเพื่อให้ได้เมล็ดข้าวสวย ขึ้นอยู่กับจังหวะการตำข้าว ถ้าตำช้าเนิบๆ ทิ้งช่วงช้าๆ จะทำให้ข้าวหักเมล็ด ข้าวไม่สวย เพราะการกระแทกสากลงที่ครกมีน้ำหนักมากทิ้งช่วงนาน แต่ถ้าจังหวะตำข้าวเร็วเป็นจังหวะถี่ๆ เร็วสม่ำเสมอจะทำให้ได้ข้าวเมล็ดไม่แตก ได้ข้าวเมล็ดสวย
ขั้นตอนการตำข้าว มีดังนี้
ขั้นตอนแรกของการตำข้าวเริ่มจาก “ตำแหลมเปลือก” หรือ ”ตำบุบ” ใช้เวลา 15-20 นาที จะได้ “ข้าวตำตัก” จากนั้นจะตักใส่ “กระด้งเขิง” ร่อน แล้วใส่กระด้งฝัด เพื่อคัดเลือกแกลบหรือเปลือกข้าวออก
ขั้นตอนที่สองเรียกว่า “การตำต่าว” ข้าวที่ได้จากการตำเรียกว่า “ข้าวต่าว” หรือ “ข้าวกล้อง” แล้วจึงตักข้าวออกมาใส่ “เขิง” ร่อนอีกครั้ง จะได้แกลบละเอียดหรือรำ แล้วจึงเทข้าวที่ร่อนแล้วใส่กระด้งฝัด
ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการตำด้วยสากซ้อม ประมาณ 20 นาที จะได้ “ข้าวซ้อมมือ” มีข้าวสารปนกับข้าวปลายหักและข้าวเปลือกเล็กน้อย เมื่อใช้ “เขิง” ร่อนจะได้ปลายข้าวและรำอ่อน แล้วจึงนำข้าวที่ร่อนแล้วไป “ทิก”ด้วยกระด้งเรียกว่า “ทิกข้าว” และนำไป “ฝัด” เพื่อแยกข้าวสารออกจากข้าวเปลือก
กว่าที่จะได้ข้าวแต่ละเม็ดจึงต้องใช้ความเพียรพยายาม และเทคนิคการตำข้าวที่ละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกผู้หญิงในอดีตนั้นต้องเรียนรู้ เพื่อเป็นแม่ศรีเรือนของบ้านในอนาคต
ออนซอน พี่น้องอ้ายซายผู้เพิ่นเมือฮอดบ้าน ฮอดซ่องเด้เนาะ คือสิได้เอาบุญ กินข้าวปุ้น ฟังลำเป็นตาม่วนแท้...แม่นไผบ่ได้เมือบ้านกะบ่ต้องเสียใจเด้อ ทีมงานรายการน้องใหม่ ข้าวโฮยเกลือสตูดิโอ เพิ่นสิพาไปยามพี่น้องทาง อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี พาไปรู้จักข้าวปุ้นซาว และพาไปย่าวแห่กัณฑ์หลอน ข้าวปุ้นหรือขนมจีน กระบวนการทำต้องผ่านการตำจากครกมองนี่เอง แต่ยุคใหม่นี่แป้งมีที่มาจากโรงงานมากกว่าการตำเอง เพราะประหยัดเวลาและแรงงานมากกว่า
รายการอยู่ดีมีแฮง : ข้าวปุ้นบุณฑริก
โม่หิน หรือ โม่แป้ง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับโม่ข้าวให้เป็นน้ำแป้ง เป็นเครื่องบดชนิดหนึ่ง ที่ทำด้วยหินรูปร่างคล้ายที่สีข้าว จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของฐานครกประมาณ 1.5 ฟุต ขนาดใหญ่จะมีประมาณ 4.5 ฟุต ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
การโม่แป้งโดยใช้โม่หิน หรือ ครกบด จะต้องวางครกบดบนพื้นสูงกว่าพื้นปรกติอย่างน้อย 1 ศอก ทั้งนี้เพื่อให้สามารถวางภาชนะรับแป้งจากปากครกบดได้ ข้าวสารที่จะโม่ต้องแช่น้ำให้นานพอ การโม่ถ้าเป็นครกมือเดียว อาจใช้ผู้โม่คนเดียวหรือ 2 คนก็ได้ ถ้าโม่คนเดียวผู้โม่ต้องทำหน้าที่ทั้งหมุนครก (โม่) และหยอดข้าวสาร ถ้าโม่ 2 คน คนหนึ่งหมุนครกอีกคนหนึ่งหยอดข้าวสารมีเทคนิคที่ต้องระวังคือ ถ้าหยอดข้าวสารมากเกินไปและมีน้ำผสมอยู่น้อย แป้งที่โม่จะข้นหนืด บางครั้งโม่ข้าวสารหลุดออกเป็นเมล็ดๆ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า "ครกบดมันแค้น" ต้องหยอดน้ำช่วย ถ้าหยอดข้าวสารน้อย และใส่น้ำมากแป้งจะเหลว ฟันครกบดจะเสียดสีกันมากอาจทำให้ซีเมนต์ หรือทายที่ฟันครกหลุดผสมลงในแป้งได้
เมื่อโม่แป้งเสร็จจะต้องล้างครกบดให้สะอาด เพื่อมิให้แป้งที่ติดอยู่ตามส่วนต่างๆ ของครกโดยเฉพาะที่ฟันครกและในเดือยครกเกิดการบูดเน่า ปรกตินอกจากจะล้างทำความสะอาดแล้ว ยังถอดเดือยครกออกอีกด้วย ครกบด นอกจากใช้โม่แป้งแล้ว ยังใช้ทับแป้งได้ดีอีกด้วย และเนื่องจากการทำขนมต่างๆ มักทำจากแป้งที่โม่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นแป้งเหลว หรือแป้งที่ทับแป้งเป็นก้อน ซึ่งต้องใช้ครกบดทั้งสิ้น ครกบดจึงเป็นเครื่องใช้ที่รู้จักกันแพร่หลาย แต่ในปัจจุบันหาดูได้ยาก จะเห็นเฉพาะในบ้านเรือนตามชนบท หรือในบ้านเรือนที่ยังคงทำขนมไทยบางชนิดเท่านั้น เพราะเดี๋ยวนี้มีแป้งสำเร็จรูปจำหน่ายมากมาย ไม่ต้องมานั่งหลังขดหลังแข็งกันอีกต่อไป
ต่อจากยุคของกะบองและขี้ไต้ ฅนอีสานโบราณก็ได้สัมผัสกับนวัตกรรมพลังงานแสงสว่างของ "ตะเกียง" ที่ใช้น้ำมันก๊าด มีโป๊ะแก้วบังลมไม่ให้ลมพัดดับ แต่ก็ยังคงได้สัมผัสกับ "ฮูดังดำ" (จมูกดำจากควันไฟ) เช่นเดิมเพราะมีควันเหมือนกัน จนต่อมาก็มีตะเกียงแสงสว่างพลังสูงจ้า ไร้ควันในชื่อ "ตะเกียงเจ้าพายุ" ซึ่งมีการนำมาใช้ในครัวเรือนมีฐานะ บ้านผู้ใหญ่บ้าน หรือวัดวาอาราม สำหรับทิดหมูเป็นคนร่วมสมัยครับ พ้อมาเบิดแล้วตั้งแต่ กะบองขี้ไต้ (ใช้จนฮูดังดำย้อนควันกะบอง) ตะเกียง (กระป๋องนม) ตะเกียงแก๊ส ตะเกียงเจ้าพายุ หลอดไฟฟ้ากลม (บักตูมกา) หลอดฟลูออเรสเซนต์ จนมาถึงยุคหลอด LED นี่แหละ (ทั้งๆ ที่อายุเพิ่งจะครบเบญจเพสมา 2 รอบเอง 555)
ตะเกียง น. เครื่องใช้สำหรับตามไฟมีรูปต่างๆ มีหลอดบังลม. lamp.
ตะเกียงเจ้าพายุ น. ตะเกียงชนิดหนึ่ง เมื่อเผาไส้แล้วสูบลมให้ดันน้ำมันเป็นไอขึ้นไปเลี้ยงไส้ทำให้เกิดแสงสว่างนวลจ้า. storm lantern. "
ฐานข้อมูลจากหนังสือ : สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง
ส่วนประกอบสำคัญของตะเกียงคือ ตัวกระป๋องตะเกียงสำหรับบรรจุน้ำมัน ฝาปิดเจาะรู (อาจมีท่อเล็กๆ) สำหรับสอดไส้ตะเกียงที่เป็นฝ้ายจุ่มลงในน้ำมัน น้ำมันที่ใช้ก็อาจเป็นน้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว นำมันรำ หรือสมัยต่อมาใช้น้ำมันก๊าด (แต่ก็มีควันเยอะ) เพื่อป้องกันตะเกียงดับเมื่อต้องลมในสมัยต่อมาจึงมีการนำโป๊ะแก้วมาครอบ ตะเกียงมีรูปร่างต่างๆ มากมาย ตามแต่ผู้คิดออกแบบจะจินตนาการสร้างสรรค์จากวัสดุที่มีอยู่
ในยุคก่อนจะมีไฟฉายส่องกบแบบคาดหัวมาขาย คนไทบ้านเฮากะมีตะเกียงแก๊ส (ก้อน) ซึ่งเชื้อเพลิงคือก้อนแก๊สแข็ง (แคลเซียมคาร์ไบด์) ไทบ้านผมเอิ้นว่า ถ่านแก๊ส เมื่อโดนน้ำหรือความชื้นมีกลิ่นฉุนของแก๊สหรือไอระเหย โดยมีส่วนประกอบและรูปร่างดังภาพข่างล่างนี้ครับ
ตัวตะเกียงจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
สมัยก่อนนี้ ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์จากถ่านแก๊สก้อนนี้ โดยเอามาห่อกระดาษใส่ไว้ก้นกระบุงแล้วนำเอากล้วย มะม่วง มาบรรจุลงไป คลุมทับด้วยผ้าหนาๆ เป็นการบ่มผลไม้ให้สุกไวนั่นเอง ในปัจจุบัน จะเห็นยังใช้ในการทำตู้แก๊สเชื่อมโลหะ เรียกว่า ตู้เชื่อมอะเซทีลีน ดังภาพด้านล่างนี้
ตะเกียงเจ้าพายุ น. ตะเกียงหิ้วชนิดหนึ่งเมื่อจุดไส้แล้วต้องสูบลมเพื่อให้ลมดันน้ำมันขึ้นไปหล่อเลี้ยงไส้ให้ไฟติดสว่างตลอด. "
ตะเกียงเจ้าพายุทำงานอย่างไร ?
Incandescence คือ การเปล่งแสงสว่างออกมาเนื่องจากอุณหภูมิสูง หรือให้ความร้อนสูง จนวัตถุนั้นเปล่งแสงสว่างจ้า คุณคงเคยเห็นเหล็กที่มันร้อนแดง เมื่อมันอยู่ในเตาเผา และถ้าเหล็กร้อนจนถึงอุณหภูมิ 1,000 องศาฟาเรนไฮต์ ผิวเหล็กจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม ให้ลองสังเกตเตาไฟฟ้าที่ทำจากขดลวด หรือเครื่องปิ้งขนมปังก็ได้ ในอุปกรณ์ไฟฟ้าพวกนี้ กระแสไฟฟ้าจะให้ความร้อนกับขดลวด หรือเส้นลวดจนร้อนและเปล่งแสงออกมา และถ้าคุณเพิ่มอุณหภูมิจนถึง 4,500 องศาฟาเรนไฮต์ จะได้แสงสีเหลืองเกือบขาว ซึ่งก็คือแสงเดียวกันกับที่เปล่งออกจากหลอดไฟมีไส้นั่นเอง
สารทุกๆ อย่างถ้าคุณให้ความร้อนมันจะเปล่งแสงออกมา แต่ว่า... การเปล่งแสงของสารแต่ละชนิดจะมีมากน้อยต่างกัน แม้ว่าจะอยู่ที่อุณหภูมิเดียวกัน เหล็กกล้าให้แสงได้ดีเมื่อได้รับความร้อน ส่วนแก้วเป็นตัวให้แสงที่เลว ในปี ค.ศ. 1800 การฉายภาพยนตร์ในประเทศอังกฤษได้ใช้ สารแคลเซียมออกไซด์ ที่เรารู้จักกันดีว่า ปูน หรือ ไลม์ (Lime) เป็นตัวที่ให้แสงสว่าง จึงเป็นที่มาของคำว่า ไลม์ไลท์ (Limelight) เหตุผลก็เพราะว่า ปูนให้แสงสว่างได้ดีมาก เมื่อมันมีอุณหภมิสูง และปูนมีอุณหภูมิหลอมเหลวที่สูงประมาณ 4,600 องศาฟาเรนไฮต์ ดังนั้นคุณสามารถให้ความร้อนกับมันจนเปล่งแสงเป็นสีขาว อุณหภูมิประมาณ 2800 องศาฟาเรนไฮต์
ตะเกียงเจ้าพายุ มีหลักการเหมือนกับหลอดไฟมีไส้ทุกประการ โดยหลอดไฟมีไส้ใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวให้พลังงานความร้อน ส่วนตะเกียงเจ้าพายุใช้น้ำมันก๊าด ด้วยการเป่าน้ำมันก๊าดผ่านเข้าไปในไส้ เพื่อให้ความร้อนและเปล่งแสงออกมา เมื่อเราหยิบไส้ขี้นมาดูจะเห็นว่าเหมือนตาข่ายผ้า แต่จริงๆ แล้ว เส้นใยผ้าจะคลุมด้วยสารออกไซด์ หรือ เซรามิกอยู่ภายใน หลังจากมีการวิจัยเพื่อหาไส้ที่ดีที่สุด พบว่า สารเซรามิก พวก ทอเรียมออกไซด์ ซีเรียมออกไซด์ และแมกนีเซียมออกไซด์ พวกนี้จะเปล่งแสงได้ดีที่สุดเมื่อได้รับความร้อน เมื่อจุดไส้หลอด เส้นใยผ้าจะถูกเผา เหลือแต่เส้นใยเซรามิกซึ่งมีความเปราะมาก แสดงดังรูป
ไส้หลอดทำเป็นรูปตาข่าย เพื่อจะเพิ่มพื้นที่ผิวให้มากที่สุด ตอนนี้คุณก็ทราบแล้วว่า ตะเกียงเจ้าพายุตัวโปรดของคุณมีหลักการง่ายๆ และเพราะความรู้ง่ายๆ นี้นี่แหละ ที่ทำให้นักประดิษฐ์เอกของโลก นายโทมัส อัลวา เอดิสัน สร้างหลอดไฟมีไส้ได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลก
ข้อมูลจาก : ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
หลักการทำงานของตะเกียงเจ้าพายุนั้น ไม่ได้อาศัยการเปล่งแสงจากเปลวการเผาไหม้น้ำมันโดยตรง แต่เกิดจากหลักการเปล่งแสงของวัสดุ อันเนื่องมาจากพลังงานความร้อน (Incandescent) ก็เหมือนหลอดไฟไส้ร้อน และสว่างจ้าจากกระแสไฟฟ้า แต่เจ้าพายุให้ความร้อนกับไส้ไหม (Rayon) ที่ทำจากสาร เซรามิกพวก Thorium Oxide , Cerium Oxide และ Magnesium Oxide สารทั้ง 3 ตัวนี้เปล่งแสงได้สว่างที่สุดเมื่อได้รับความร้อน โดยแสงนั้นจะสว่างจ้ากว่าเปลวไฟจากน้ำมันมากถึง 6 เท่า
การให้ความร้อนกับไส้ไหมนี้ ทำโดยการนำน้ำมันก๊าดที่มีความดันผ่านหัวฉีดและผสมกับอากาศ แล้วจุดให้ลุกไหม้ ผ่านไปยังไส้ไหมเคลือบ Oxide โลหะ เมื่อไส้ไหมได้รับความร้อน ก็จะสว่างจ้ากว่าเปลวปกติของตะเกียงทั่วไปถึง 6 เท่านั่นเอง
ในปัจจุบัน ตะเกียงเจ้าพายุ มีให้เห็นไม่มากนัก โดยประวัติของตะเกียงชนิดนี้ เกิดขึ้นราวปลายปี พ.ศ. 2438 และกลายมาเป็นอุปกรณ์ประจำทุกบ้านในช่วง พ.ศ. 2473 - 2493 และแสงตะเกียงเจ้าพายุทั้งหลายก็ค่อยๆ ดับลงทีละดวง เมื่อมนุษย์หันไปพึ่งพาแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าแทน ทำให้ตะเกียงเจ้าพายุที่ครั้งหนึ่งเป็นของสำคัญประจำบ้าน ถูกโยนเข้ากรุกลายเป็นของไร้ค่าและถูกลืมเลือนอย่างรวดเร็ว
ในอดีตตะเกียงประเภทนี้ นอกจากใช้ในบ้านเรือนแล้ว ยังใช้เป็นโคมไฟแสงสว่างตามถนน โรงมหรสพ โรงงิ้ว ในงานบุญประเพณีของหมู่บ้าน ในวัดวาอาราม ในค่ายทหารต่างๆ หรือใช้เพื่อการขุดทำเหมือง รวมถึงใช้กับประภาคารเพื่อแจ้งเตือนเรือถึงภัยจากหินโสโครก ก็จะมีให้เลือกใช้ตามลักษณะความต้องการ หลายคนอาจไม่เคยเห็นวิธีการจุดตะเกียงเจ้าพายุว่า ทำได้อย่างไร บอกเลยไม่ยาก อันดับแรกต้อง เติมน้ำมันก๊าดประมาณครึ่งหนึ่งของถัง ปิดวาล์วลม และเติมแอลกอฮอล์ให้เต็มถ้วย จุดไฟเผาแอลกอฮอล์ ระหว่างที่รอความร้อนเผาไส้ตะเกียง ก็สูบลม 20 - 30 ครั้ง เพื่อให้ข้างในถังมีแรงดันลม
จากนั้นหมุนเข็มส่งน้ำมันให้ลงมา แรงดันลมจะดันน้ำมันก๊าดขึ้นไปข้างบน เท่านี้ตะเกียงเจ้าพายุ 350 แรงเทียน หรือกำลังเทียน 350 เล่ม ที่เห็นอยู่นี้ก็จะสว่างทันที และสามารถปรับความสว่างได้ตามที่ต้องการ ส่วนวิธีการดับให้หมุนปุ่มคายแรงดันอากาศออกเล็กน้อย เท่านั้นตะเกียงเจ้าพายุก็ดับสนิท
ส่วนวิธีการเก็บรักษาตะเกียงเจ้าพายุให้มีอายุยืนนาน ก็ไม่ยุ่งยาก มีทั้งเก็บแบบเปียก ก็คือ ทำความสะอาดและใส่น้ำมันก๊าดลงไปในตะเกียง เพื่อป้องกันให้เนื้อโลหะไม่แตก และกันการรั่วของตะเกียงในระยะยาว แต่ต้องเปลี่ยนน้ำมันทุกปี และแบบที่สอง การเก็บแบบแห้ง คือการถอดหม้อน้ำมันไปตากแดด 2-3 ชั่วโมง เพื่อไล่ความชื้นออกจากหม้อ แล้วหาถุงพลาสติกใสใบใหญ่มัดปิดปากถุง ไม่ต้องโดนอากาศ 5 ปี ก็อยู่ได้
ปัจจุบันนี้ นอกจากตัวตะกียงที่หายากและมีราคาแพงแล้ว ส่วนประกอบที่ต้องใช้ก็หายากไม่แพ้กัน เช่น ไส้ตะเกียง น้ำมันก๊าด (เดี๋ยวนี้ราคาแพงขวดละประมาณ 40 - 50 บาท ในร้านขายวัสดุก่อสร้าง ใช้สำหรับล้างรถ หรือเรือ ที่ติดคราบยางมะตอยได้ดี) เราจะเห็นแต่ตะเกียงเลียนแบบที่ข้างในใช้หลอดไฟแบบ LED ที่ผลิตมาขายราคาถูกๆ มีทั้งแบบเสียบไฟฟ้า และใช้แบตเตอรี่ชาร์ทไฟได้ เหมาะสำหรับการออกค่าย ตั้งแคมป์ หรือติดบ้านไว้ใช้ตอนไฟดับก็ดีเหมือนกัน (แต่มันก็คนละอารมณ์อยู่นะ)
โฮงกะบอง/ขี้ไต้ | โบม | กระต่ายขูดมะพร้าว | ครุไม้ไผ่ | ครกมอง | โม่หิน | ตะเกียงเจ้าพายุ | กระบวย จอง ไหปลาแดก
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)