คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ถ้าถามเพื่อนต่างชาติว่า "รู้จักประเพณีไทยและชอบประเพณีไหนมากที่สุด" ส่วนใหญ่จะบอกว่า "สงกรานต์" ซึ่งชาวต่างชาติมักจะเรียกตามลักษณะที่เห็นว่า "Water Festival" ความหมายตรงๆ ก็งานสาดน้ำนั่นเอง เป็นประเพณีร่วมในแถบอุษาคเนย์ ด้วยความที่เป็นเมืองร้อน จึงเฉลิมฉลองทำบุญกันในช่วงเวลานี้ เป็นงานขึ้นปีใหม่ของคนในภูมภาคนี้ มีทั้งใน พม่า ลาว เขมร เวียดนาม และในประเทศไทยเรา ที่อาจจะมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป
รักษาชีวิตไว้เล่นปีหน้ากะได้ดอก "สงกรานต์" นั่น
แต่ถ้าห่าวม่วนหลาย ตายไปบ่ได้เล่นดอกเด้อ
สิได้เล่น "น้ำบักพร้าว" แทนเด้อ สิบอกให่ "
ด้วยความปรารถนาดี จาก อาวทิดหมู และผองเพื่อน ฅนอีสานบ้านเฮา....
ส่วนในอินเดียจะต่างออกไป แทนที่จะสาดน้ำก็เป็นการสาดผงสีใส่กัน เรียกว่า "เทศกาลโฮลี (Holi Festival)" ซึ่งจะจัดก่อนสงกรานต์บ้านเรา คือช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิต่อกับฤดูร้อน (ช่วงเดือนมีนาคม จะจัดให้มี 2 วัน) ผงสีที่ใช้ไม่ใช่สารเคมีแต่เป็นพืชสมุนไพร เช่น ดอกทองกวาว ขมิ้น ใบมะตูม บีทรูท ฯลฯ เพราะความเชื่อที่ว่า การเปลี่ยนฤดูจากหนาวมาเป็นร้อน ร่างกายคนเราอาจปรับเปลี่ยนไม่ทันทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย การสาดสีเป็นความเชื่อว่าจะปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย แต่สิ่งที่แอบแฝงอยู่คือ การใช้สมุนไพรในการบำบัดรักษา ผสมไปด้วยความสนุกสนานจากการสาดสีสันของผงสมุนไพรนั่นเอง
"ประเพณีสงกรานต์" ตามแบบขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม จะประกอบไปด้วยกิจกรรมอันดีงาม ที่เกี่ยวเนื่องกันกับวัดวาอาราม ครอบครัว และญาติสนิท มิตรสหาย เริ่มตั้งแต่การตระเตรียมทำความสะอาดบ้านเรือนให้เรียบร้อย เตรียมข้าวปลาอาหาร สิ่งของที่จะไปทำบุญที่วัด
โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนเชื่อกันว่า การได้ทำบุญทำทานในช่วงวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทยนั้น จะเป็นสิ่งที่เป็นสิริมงคลยิ่งแก่ชีวิต เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดีงาม ซึ่งนอกจากจะเตรียมทำข้าวปลาอาหารไปถวายพระ ไปฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว ก็ยังมีการบังสุกุลอัฐิญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิต ล่วงลับไปแล้ว
อีกกิจกรรมหนึ่งที่นิยมปฏิบัติกันเมื่อเข้าวัดก็คือ "การสรงน้ำพระ" ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปสำคัญ หรือพระสงฆ์ สำหรับพระพุทธรูปนั้น ส่วนใหญ่จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองหรือหมู่บ้าน (พระพุทธรูปที่มีขนาดองค์ไม่ใหญ่นัก ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้) ออกมาจากที่ประดิษฐานในยามปกติ ให้พุทธสาสนิกชนได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล (ที่จังหวัดอุบลราชธานีก็จะเป็น "พระแก้วบุษราคัม" ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม) นอกจากนี้ ก็ยังมีการสรงน้ำพระสงฆ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถืออีกด้วย เรียก "บุญกองฮด" หรือ "บุญฮดสรง" เป็นพระผู้ปฎิบัติกิจทางสรงดีและชอบ
หลังจากสรงน้ำพระแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมการขนทรายเข้าวัด และก่อพระเจดีย์ทราย โดยเป็นความเชื่อของคนไทยสมัยโบราณว่า การนำสิ่งของที่เป็นของวัดกลับมาบ้านนั้นถือเป็นเรื่องบาป ไม่ว่าจะเป็นเพียงเม็ดดินหรือเม็ดทรายก็ตาม เมื่อมีโอกาสจะต้องขนทรายกลับไปถวายคืนวัด จะถือว่าเป็นการสร้างบุญและได้กุศล โดยชาวบ้านจะช่วยกันขนทรายจากทะเลหรือแม่น้ำเข้ามาไว้ที่วัด และนัดหมายกันมาก่อพระเจดีย์ทราย มีการตกแต่งประดับประดากันอย่างสวยงาม จากนั้นทรายที่ขนเข้ามาก็จะได้ให้พระสงฆ์ได้นำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อไป ซึ่งนอกจากจะได้ทำบุญตามความเชื่อแล้ว ก็ยังเป็นความร่วมมือร่วมใจ แสดงความสามัคคีกันของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงอีกด้วย
ส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับครอบครัวและญาติพี่น้องนั้น ในช่วงสงกรานต์จะถือว่าเป็น "วันครอบครัว" ไปด้วย เนื่องจากเป็นช่วงที่ทุกคนมาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ได้มากินข้าวพร้อมกัน พูดคุยสารทุกข์สุขดิบ ร่วมกันทำบุญ มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เชื่อว่าเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษกับสิ่งที่เคยล่วงเกิน และเป็นการขอพรจากญาติผู้ใหญ่ให้ลูกหลานได้อยู่เย็นเป็นสุข
ส่วนเรื่อง "การสาดน้ำกัน" นั้น ในสมัยก่อนก็มีการละเล่นแบบนี้อยู่ด้วย ซึ่งสาเหตุก็มาจากช่วงสงกรานต์นั้นถือเป็นช่วงวันที่ร้อนที่สุดในรอบปี จึงได้ใช้น้ำมาเป็นตัวคลายร้อน ซึ่งการเล่นสาดน้ำกันนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นการปะพรมกันพอใช้เย็นชื่นใจ อาจจะใช้มือจุ่มลงน้ำแล้วพรมใส่คนรอบข้าง หรือใช้ขันเล็กๆ ตักน้ำรดใส่กัน โดยน้ำที่ใช้เล่นกันนั้นก็อาจใช้น้ำที่อยู่ในตุ่มดิน (เพื่อความเย็น) อาจจะใส่น้ำอบน้ำปรุงลงไปเพิ่มกลิ่นหอมอ่อนๆ หรือใส่ดอกไม้สีสันต่างๆ ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความสดใส
ส่วนภาพลักษณ์ของงานสงกรานต์ในยุคนี้ก็คือ "การสาดน้ำใส่กันโครมๆ" เพราะไม่ว่าจะหันมองไปทางไหนก็มักจะเห็นแต่ภาพแบบนี้ ทำให้เยาวชนไทยในยุคหลังๆ (รวมทั้งชาวต่างชาติด้วย) ซึมซับและรับรู้ว่า ประเพณีสงกรานต์ก็คือ "มหาสงครามการสาดน้ำระดับชาติ"
วัยรุ่น หนุ่ม-สาว เด็กๆ ต่างก็ตระเตรียมตัวกันแต่เช้า อาบน้ำประแป้ง แล้วเตรียมอุปกรณ์ในการทำสงครามให้พร้อม เช่น ปืนฉีดน้ำ ขัน ถัง กาละมังพลาสติก เลยไปจนถึงโอ่ง และแท๊งก์น้ำ บ้างก็ใส่น้ำจนเต็มเปี่ยมไปจากบ้าน ยกขึ้นกระบะหลังรถ (แวะร้านจำหน่ายน้ำแข็งซื้อน้ำแข็งแช่ในน้ำจนเย็นเฉียบ) แล้วก็เริ่มสาดใส่ผู้คนที่ผ่านไปมา ไม่เว้นแม้แต่คนขี่จักรยาน-มอเตอร์ไซค์ ที่อาจทำให้พวกเขาเกิดอุบัติเหตุได้
บางส่วนขนกันขึ้นรถกระบะไปเล่นน้ำตามจุดต่างๆ บางส่วนก็ยืนเล่นน้ำกันอยู่หน้าบ้าน เตรียมสาดใส่ผู้คนที่ผ่านไปมา แต่หากเป็นคนเล่นสาดน้ำในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ที่มีการจัดจุดสาดน้ำให้เล่นกันประจำ ก็มาแต่ตัว เตรียมมาเปียกให้พร้อมก็พอ สงครามสาดน้ำส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่าย หรือช่วงเย็น ไปจนถึงค่ำมืด นั่นก็เพราะในช่วงกลางวันนั้นอากาศและแดดร้อนมากเกินไป ช่วงเย็นๆ จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในการเล่นน้ำ แต่ก็อย่าระรานกับคนอื่นๆ ที่เขามีธุระปะปัง ไม่เล่นด้วย รวมทั้งลวนลามไปประแป้งลูบคลำของสงวน อนาจาร อันนี้ก็จะได้ไปเล่นน้ำจนไอคุกๆๆ ได้นะ
ปีนี้อากาศร้อนมาก ประกอบกับความแห้งแล้งที่มีมายาวนาน ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว หลายๆ จังหวัดนั้นขาดแคลนทั้งน้ำดื่มน้ำใช้ แม่น้ำ ลำคลองแห้งขอดเห็นแต่ผืนทราย การเล่นสงกรานต์แบบ "มหาสงครามสาดน้ำ" นั้น ควรงดเด็ดขาด กอร์ปกับสถานการณ์ของการระบาดไวรัสโควิด-19 ด้วยแล้ว เห็นทีต้องลดการจัดกิจกรรมนี้ลงเพื่อความปลอดภัย หันไปใช้สื่อออนไลน์รดน้ำดำหัว อวยพรญาติผู้ใหญ่ทาง Line ทาง Facebook แทนก็แล้วกัน
ขอให้ทุกท่านรอดปลอดภัย ม้มจากภัยพิบัตินี้ไปแบบม่อนๆ เด้อครับ (ขอให้ทุกท่านปลอดภัยผ่านพ้นภัยนี้อย่างสะดวกโยธินนะขอรับ)
จากใจ ทิดหมู มักหม่วน และชาวคณะผู้ดำเนินการเว็บไซต์ ประตูสู่อีสาน
06 เมษายน 2563
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)