foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว หิมะตกหนัก อากาศหนาวสุดขั้ว บางแห่งถึงขั้นติดลบ 46 องศาเซลเซียส ประเทศไทยเฮากะบ่หยอกคือกัน ทางตอนเหนือลดลงถึงศูนย์องศา เกิดแม่คะนิ้ง (น้ำค้่างแข็งบนยอดหญ้ากันแล้ว) ในช่วงวันที่ 10-13 มกราคมนี้ อุณหภูมิจะลดลงอีกมาก 5-7 องศา ในภาคเหนือและภาคอีสานบ้านเฮา รักษาสุขภาพกันดีๆ เด้อ อย่าสิเจ็บสิไข้ ซำบายดีครับ ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

art local people

sombat header

sombat 05สมบัติ สิมหล้า หมอแคนระดับเทพเจ้า เขาคือเทพแห่งแคนจริงๆ และที่สำคัญคือ เขา...ไ ม่ มี ต.. า ....ครับ ตาเขาบอดทั้งสองข้าง ความที่เก่งกล้าสามารถในเรื่องแคน ถึงขนาดที่ อาจารย์บรูซ แกสตัน ต้องขอทำความรู้จัก

แต่ก่อนไม่มีใครรู้จัก สมบัติ สิมหล้า อยู่ๆ เมื่อ ประมาณปี พ.ศ. 2518--2520 (ไม่แน่ใจ) มีเพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่งโด่งดังทะลุฟ้าเมืองไทย และสร้างความตื่นตะลึงในหมู่คนฟังมาก จากการขับร้องของ ศรชัย เมฆวิเชียร ในเพลง "เสียงซอสั่งสาว"

ที่ว่าพิเศษจนคนตื่นตะลึงก็เพราะ เสียงซอสั่งสาว เป็นเพลงที่ขึ้นอินโทรโดยใช้การโซโลเดี่ยวซอล้วนๆ ยาวประมาณ 20 วินาที.. มันไพเราะมากๆ มากจนผู้คนไต่ถามว่า มันผู้ใด๋กันที่เดี่ยวซอได้คักถึกใจขนาดนี้ คำเฉลยคือ.. สมบัติ สิมหล้า เป็นบุคคลผู้นั้นครับ

ตั้งแต่นั้นมา ชื่อ สมบัติ สิมหล้า ก็ดังยิ่งกว่า ศรชัย เมฆวิเชียร เสียอีกครับท่านผู้ชม หลังจากนั้น อาจารย์บรูซ แกสตัน ก็ไปตามหาตัว ดึงมาเล่นดนตรีร่วมในวงฟองน้ำด้วยกัน ที่นี้ยิ่งไปกันใหญ่เลย มารับรู้กันกว้างขวางยิ่งขึ้นว่า สมบัติ เล่นดนตรีอิสานได้เก่ง เฉียบขาด แทบทุกชิ้นรวมทั้งการเป็นเซียนแคนที่สามารถอีกด้วย

sombat 03นายสมบัติ สิมหล้า เกิดเมื่อวันจันทร์ ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2506 เป็นบุตรของคุณพ่อโป่ง คุณแม่บุดดี สิมหล้า ซึ่งคุณพ่อเป็นหมอแคน คุณแม่เป็นหมอลำกลอน ปัจจุบันพำนักที่ บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 8 บ้านวังไฮ ต.วังใหม่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม โทร.(043) 727184

เมื่อแรกเกิดดวงตาของ สมบัติ สิมหล้า แฉะ หมอตำแยจะทำการหยอดตาให้แต่ใช้ยาผิด โดยเอายาที่ใช้เช็ดสะดือมาหยอดตา จากการที่ใช้ยาผิด จึงเป็นสาเหตุทำให้ดวงตาของสมบัติ สิมหล้า เริ่มมืดและมองไม่เห็นในที่สุด

ประวัติการศึกษา ศึกษาอักษรเบลล์ จาก โรงเรียนคนพิการ ปากเกร็ด นนทบุรี เป็นเวลา 3 เดือน ได้เริ่มฝึกหัดเป่าแคนตั้งแต่อายุได้ 6 ขวบ พ่อชื้อแคนมาให้เป่า หวังจะให้มีลูกมีอาชีพเป็นหมอแคนในอนาคต ทั้งที่ตอนแรกสมบัติยังไม่รักที่จะเป่าแคนเลย

เมื่อได้รับการฝึกฝนทักษะจากผู้เป็นบิดาที่มีอาชีพเป็นหมอแคน ก็สามารถเป่าแคนให้กับหมอลำกลอนเมื่ออายุได้ 14 ปี โดยเป่าแคนให้ หมอลำบัวผัน ดาวคะนอง, หมอลำคำพัน ฝนแสนห่า, หมอลำวิรัติ ม้าย่อง โดยได้รับค่าตอบแทนในตอนนั้นเป็นจำนวนเงิน 500 บาท และได้ยึดอาชีพหมอแคนมาจนถึงปัจจุบัน

sombat 02ผลงาน

  • ร่วมบรรเลงในวงแกนอีสาน ของวิทยาลัยครูมหาสารคาม เพื่อทำการบันทึกเสียง
  • เป็นวิทยากรให้กับสถานศึกษาต่างๆ เช่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โรงเรียนบรบือวิทยาคาร
  • ร่วมแสดงกับวงดนตรี เช่น วงฟองน้ำ, หงา คาราวาน, สนธิ สมมาตร , สายันต์ สัญญา ฯลฯ
  • ได้รับเชิญจากรายการ ทไวไลท์โชว์ ในช่วง ทอล์คโชว์
  • ร่วมบรรเลงแคนประยุกต์กับดนตรีรูปแบบต่างๆ ในรายการ คุณพระช่วย
  • บันทึกเทป เดี่ยวแคน บริษัทชัวร์ ออดิโอ
  • สอนเป่าแคนให้แก่ ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป ในเวลาว่าง

 สถานภาพครอบครัว

สมรสแล้วกับ นางนิว สิมหล้า (นิว ทึนหาญ) และมีบุตรสาว 1 คน ชื่อ เด็กหญิง สุพัตรา สิมหล้า

 

 ลายโหวด โดย สมบัติ สิมหล้า

 รายการ แทนคุณแผ่นดิน ตอน หมอแคนแดนโลกมืด #1

 รายการ แทนคุณแผ่นดิน ตอน หมอแคนแดนโลกมืด #2

มหัศจรรย์ลำแคนแดนสยาม

อถาตทาในกาลเมื่อนั้น สมบัติท้าวบายแคนมาเป่า
ท้าวก็เป่าจั้นๆ ปานฟ้าล่วงบน เสียงแคนท้าวดูดังฟังม่วน
คือดั่งดนตรีเทพ เสพเมืองสวรรค์ฟ้า
เป็นที่อัศจรรย์แท้ชาวเมืองผู้มาเบิ่ง
ไผก็บ่ไอเว้า ฟังแท้บ่ติง

สุดยอดหมอแคน อ.สมบัติ สิมหล้า - เดี่ยวแคน

sombat 09ปรมาจารย์แคนกับการแสดงที่ยิ่งใหญ่

อัญมณีอีสานเม็ดเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ เดินทางไกลจากถิ่นเกิด ทุ่งนาบ้านบรบือ มหาสารคาม มาสู่รั้ว วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม และเปิด การแสดงคอนเสิร์ตเล็กๆ ที่ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ในค่ำคืนวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2545 ที่ผ่านมา แม้มีผู้ชมไม่มากนัก แต่ทุกคนยอมรับกันโดยทั่วหน้าว่า ทุกจังหวะทำนองที่อัญมณีเล็กๆ คนนี้เนรมิตรขึ้นผ่านลมหายใจไปสู่แคนไม้ไผ่คู่มือของเขา ดูมหัศจรรย์เหลือแสน และทุกนาทีที่ผ่านไปในค่ำคืนนั้น ช่างยิ่งใหญ่ในความรู้สึกเหลือประมาณ

หมอแคนตาบอด สมบัติ สิมหล้า ชื่อนี้คงเป็นที่คุ้นเคยกับผู้อ่าน ที่ติดตามวารสารผู้สื่อข่าวมาบ้าง ในเนื้อที่กระดาษบางฉบับ เขาคือใคร มีที่มาที่ไปอย่างไร คงพอจะตามหาอ่านกันได้ แต่การได้มีโอกาสสัมผัส ตัวตนและผลงานของเขา ฟังเสียงแคนให้เต็มอิ่ม ลิ้มลองรสดนตรีอีสานให้เต็มหู ดูหมอลำหมอแคนให้เต็มตา และร่วมหัวเราะเฮฮาให้เต็มใจ เป็นเรื่องที่หาไม่ได้ง่ายนัก แต่อย่างไรก็ตาม ทาง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ก็ได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการนัดพบปะ ระหว่าง สมบัติ สิมหล้า และศิลปินรับเชิญอีกหลายคน หลายแนวดนตรี รวมทั้ง ผู้ชมอีกหลายพื้นเพประสบการณ์ ในงานคอนเสิร์ต "มหัศจรรย์ลำแคนแดนสยาม"

โปรแกรมการแสดงวันนั้น แบ่งออกเป็นสองภาค ภาคแรกเกี่ยวกับเพลงแคนในเชิงวิชาการแบบโบราณ และภาคหลังเป็นการเติบโตของแคนกับวัฒนธรรมดนตรีอีสานสมัยใหม่ รวมไปถึงการประชันเพลงแคนกับดนตรีข้ามเขตวัฒนธรรม อันได้แก่ ดนตรีไทยของวัฒนธรรมราชสำนักภาคกลาง และดนตรีแจ๊สจากวัฒนธรรมไพร่อเมริกัน โดยมี อาจารย์อานันท์ นาคคง เป็นผู้ดำเนินรายการ และคุณเที่ยง เป็นผู้ช่วยพระเอกในฐานะเป็นดวงตาแทนสมบัติ และเป็นพี่เลี้ยงคอยจูงขึ้นลงเวที

เทพเจ้าหมอแคน สมบัติ สิมหล้า
ณ หอประชุมใหญ่ชั้น 4 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ท่ามกลางเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม หมอแคนสมบัติ นำพาผู้ชมที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับระบบดนตรีอีสาน ให้เดินทางร่วมกับเขาไปบน "ลายแคน" หรือ ทำนองเพลงแคนที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานระบบบันไดเสียง "ทางสั้น" และ "ทางยาว" ซึ่งอาจเปรียบได้กับระบบเสียง Major Scale และ Minor Scale ในดนตรีฝรั่งตะวันตกตามลำดับ ไม่น่าเชื่อว่า จากพื้นฐานโน้ตหลักๆ ไม่กี่ตัวและเสียงพื้นฐานที่เรียกว่า "เสียงเสพ" หรือ drone อีกหนึ่งหรือสองเสียง ก็สามารถผูกวลี สร้างประโยคขึ้นมาเป็นลายเพลงต่างๆ อย่างสลับซับซ้อนเหลือที่จะกล่าว จากลายใหญ่สู่ลายน้อย พลิกผันไปเป็นลายสุดสะแนน ลายโป้ซ้าย ลายสร้อย ลายเต้ยธรรมดา เต้ยพม่า เต้ยโขง ลายลำเพลิน และที่สุดของความมหัศจรรย์ในลายแคนเพียวๆ น่าจะไปอยู่ที่ "ลายรถไฟ" ขบวนสมบัติทัวร์ ที่วาดฉากของรถจักรค่อยๆ เคลื่อนตัว กระฉึก กระฉัก ไปท่ามกลางภูมิทัศน์อันสดชื่นของท้องถิ่นที่ราบสูง และชะลอจอดลงตรงชานชาลาที่คึกคักไปด้วยเสียงร้องขายไก่ย่าง โอเลี้ยง หนังสือพิมพ์ ติมหลอด และข้าวโพดต้ม ก่อนที่ พขร.ตาพิการ ผู้ร่ำรวยอารมณ์ขันจะตัดสินใจเคลื่อนล้อรถต่อไปสู่สถานีของโลกดนตรีร่วมสมัย

sombat 10เมื่อมีเสียงแคนแล้ว ใยเล่าจะทิ้งเสียงขับเสียงลำ สาวมั่น ผู้มาเติมสีสัน และ ความกระชุมกระชวยในอารมณ์ให้กับมิตรรักแฟนเพลง ที่มาเฝ้าชมงานคอนเสิร์ตครั้งนี้คือ บัวพัน สนั่นเมือง หมอลำสาวใหญ่จากดินแดนบรบือ มหาสารคาม เช่นเดียวกับหมอแคนสมบัติ มาในชุดสีชมพูสดใส และรอยยิ้มพริ้มพราย พร้อมกับกรีดกรายร่ายรำในท่วงท่าอีโรติค ที่กระชากหัวใจหนุ่มๆ หลายคนที่ได้ยลลีลา แต่ที่เหนืออื่นใดคือความเป็น "ปฏิภาณกวี" ของเธอ ที่สามารถด้นถ้อยคำกลอนลำได้อย่างมีชั้นเชิง และน้ำเสียงที่ไพเราะ เหมาะเจาะ และด้วยความเป็นผู้สนใจใฝ่รู้ หมอลำบัวพัน ยังสามารถแนะนำท่วงทำนอง ร้องกลอนลำที่แตกต่างกัน ระหว่างท้องถิ่นย่อยๆ ในอิสาน เช่น ลำล่องมหาสารคาม ลำล่องขอนแก่น และการลำยุค ใหม่ๆ มาเสนอแก่ผู้ฟังเป็นการเปรียบเทียบกันด้วย การร้องลำแบบยุคใหม่

นอกจากจะมีเสียงแคนของสมบัติเคล้าคลออยู่แล้ว ก็ยังมีแบ็คอัพเป็น ดนตรีหมอลำลูกทุ่งบรรเลงประกอบจากคณะดนตรี "มหิดลบันเทิงศิลป์" หรือ Mahidol University Polang Orchestra (MSPO) น้องเล็กอันดับรองของวง Mahidol University Symphony Orchestra (MUSO) ที่เพิ่งเปิดเผยตัวต่อสาธารณชน ณ หอประชุมใหญ่ใกล้ๆ กันไปเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ควบคุมวงโดย อาจารย์สนอง คลังพระศรี สมาชิกในวงเป็นนักศึกษาภาควิชาดนตรีไทยและตะวันออก

สียงขับลำ เสียงแคน เสียงพิณ เสียงโหวด เสียงโปงลาง เสียงกลอง คละเคล้ากันไปอย่างมีความสุข หมอลำบัวพันปล่อยมุขเด็ดเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการร้อง การเต้น และการทักทายแบบท้าทายกับผู้ชมทั้งหอประชุม

ระหว่างช่วงโชว์เพลงแคน เพลงลำ ม่วนซื่นโฮแซว สนุกสนานกันอยู่นั้น หมอแคนอดิศร เพียงเกษ นักการเมืองชื่อดัง จากจังหวัดขอนแก่น ดินแดนดอกคูณ เสียงแคนซึ่งนั่งชมอยู่ข้างหน้าเวที ก็ได้ขึ้นมาร่วมแจมบนเวทีด้วย โดยออกตัวว่ามาในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่งของ หมอแคนสมบัติ ที่ได้ร่ำเรียนวิชาเพลงแคน วันนี้จะมาทำการบ้านอวดครู ขอให้ช่วยพิจารณาให้คะแนนด้วย ว่าแล้วก็เป่าลายแคนให้ฟังสองลาย เมื่อจบลงครูให้คะแนน 4,000 คะแนน นับว่าเป็นการให้กำลังใจศิษย์อย่างมาก และที่น่าชื่นใจกว่านั้นคือการรับขวัญลูกศิษย์ด้วยการบรรเลง ลายแคนเดียวกันคือ ลายใหญ่ แต่เป่าแคนกลับหัว พลิกวนไปมาเหมือนกายกรรม แถมยังเป่ามือเดียว ควักหวีออกมาเสยผมเล่นเสียอีก เรียกเสียงหัวเราะได้สนั่นห้อง

สมบัติ สิมหล้า เดี่ยวแคน ประชัน วง Thailand Philharmonic Orchestra
ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ค่อนรายการหลัง ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เวทีหมอลำถูกเปลี่ยนไปเป็นเวทีประชันดนตรี โดยมี อาจารย์สหรัฐ จันทร์เฉลิม หมอจะเข้ชื่อดังแห่งลุ่มเจ้าพระยา คว้าจะเข้ตัวโปรดขึ้นมาประลองกับ หมอแคนสมบัติ ในเพลง "ลาวแพนลำเพลิน" ที่สังคมดนตรีไทยปัจจุบันยอมรับนับถือว่าเป็นเพลงเอกเพลงหนึ่ง ประจำตัวอาจารย์สหรัฐ เนื่องด้วยความโดดเด่นของลูกเล่นพิเศษในเพลง ที่ปรับปรุงให้มีสำเนียงลาวอีสาน และลาวเหนือปรากฏอยู่ด้วย และการหยิบยืมลูกเล่นลีลาของพิณแคนอีสานมาประสมรวมเข้า กับกลวิธีการดีดจะเข้ชั้นครูที่เยี่ยมยุทธ ความเร็ว ความไหว และพลังเหลือเฟือที่ซุกซ่อนอยู่ในร่างอ้อนแอ้นบอบบางของผู้ดีด ดังนั้นเพลงลาวแพนลำเพลินซึ่งมีที่มาจากความประทับใจส่วนตัว ของอาจารย์สหรัฐกับดนตรีพื้นเมือง ก็ได้ถูกนำมาถ่ายทอดความมหัศจรรย์อีกครั้ง โดยมีนักเล่นคำขยำเสียง อาจารย์สมปอง พรหมเปี่ยม จากกลุ่มคีตวรรณกรรมและวงกอไผ่ เป็นดารารับเชิญ

หมอแคนสมบัติ เกริ่นกล่าวด้วยเสียงแคนใน ลายเพลงสุดสะแนน แล้วอาจารย์สมปองจึงเข้าขับขานด้วยเนื้อร้อง ลาวแพน ของโบราณที่เคยร้องรับ ขับขานในหมู่นักแอ่วลาวเป่าแคนย่านเกาะรัตนโกสินทร์ ยุครัชกาลพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว "... ฝ่ายพวกลาวเป่าแคนแสนเสนาะ มาสอเพาะเข้ากับแคนแสนขยัน ...." ไปจนล่วงเข้าท่อนกลาง "...ระเหินระหกตกยาก เป็นคนกากคนแกน พอมีแคนอันเดียว ต้องไปเที่ยวขอทานเขากิน... " และทอดลงท้ายอย่างอ้อยสร้อย ก่อนที่จะเข้จะฉวยไม้ดีดสะบัดรับเป็นเพลงลาวแพนลำเพลิน ซึ่งทั้งแคนและจะเข้ต่างเคล้าเคลียคลอกันไปอย่างราบรื่นและครื้นเครงจนจบเพลง ออกท้ายลาวซุ้มทางพิสดาร เรียกเสียงปรบมือกึกก้องจากฝ่ายผู้ชม ฝ่ายแฟนเพลง โดยเฉพาะครูศิริ นักดนตรี กุนซือของอาจารย์สหรัฐ ซึ่งออกอาการลุ้นระทึกอย่างเห็นได้ชัด

รายการสุดท้าย เป็นการจากลาผู้ชมทุกท่านด้วยความตื่นเต้นโลดโผน ไม่แพ้รายการอื่นๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่า เป็นการโชว์ความมหัศจรรย์สุดยอด ของหมอแคนสมบัติในฐานะนักดนตรีพื้นบ้าน ที่ห้าวหาญประชันฝีมือกับบรรดาคณาจารย์จากภาควิชาแจ๊ส ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยมีอาจารย์แดน ฟิลิปส์ ดีดกีตาร์ อาจารย์นพดล ถิรธาราดล ดีดเบส และอาจารย์กฤษติ์ บูรณวิทยาวุฒิ จอมวิทยายุทธแซกโซโฟนที่ลือลั่นวงการแจ๊สเมืองไทย ทำหน้าที่แลกหมัดซัดเพลงกับหมอแคนสมบัติอย่างถึงพริกถึงขิง ให้จังหวะกลองโดยอาจารย์อานันท์ นาคคงและอาจารย์บรรหาร ปาโล

เสียงแซ็กโซโฟนและเสียงแคนต่างหยอกล้อ ล่อไล่กันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เหมือนภาพยนตร์จีนกำลังภายใน หากแต่ตรงเบื้องหน้าเวทีนั้นคือ หมอแคนตาพิการคนหนึ่ง กับนักดนตรีตาดีอีกกลุ่มหนึ่ง กำลังดวลกันอย่างไม่ลดละ เกรี้ยวกราด และปราดเปรียว ไม่น่าเชื่อว่าดนตรีพื้นบ้านไทยและฝรั่งจะผสมกันได้ "มันส์" ถึงเพียงนี้

sombat 08งานนี้บรรดาอาจารย์แจ๊สต่างทึ่งกับลีลาการเป่าแคนของ หมอแคนสมบัติ ไปตามๆ กัน อาจารย์กฤษติ์ถึงกับยกมือไหว้ตอนลงท้ายจบเพลง ส่วนอาจารย์นพดล ถิรธราดล เอ่ยปากชมว่า "หมอแคนสมบัติ เป็นคนที่หูดีมาก เพราะขณะที่มีการบรรเลงสื่อสารกันบนเวที ร่วมกับนักดนตรีท่านอื่นๆ ท่านสามารถที่จะจำ เสียง กระสวนจังหวะ และที่สำคัญที่สุด สามารถจำสำเนียงแจ๊ส แล้วนำมาเป่าให้เข้ากับแคน ได้อย่างน่าฟังและลงตัวทีเดียว"

หมอแคนฝรั่งอีกคนหนึ่ง ศาสตราจารย์ด็อกเตอร์แทรี่ มิลเลอร์ (Prof. Terry Miller) แห่งมหาวิทยาลัยเค้นสเตท (Kent State University) รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในผู้ชมประเภทแฟนพันธุ์แท้ และเป็นผู้เชี่ยวชาญดนตรีอีสาน ที่เขียนตำราวิชาการให้แก่วงการดนตรีโลกมากมาย ได้กล่าวความในใจในงานคอนเสิร์ตคืนนั้นว่า "นี่เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งของความยิ่งใหญ่ในดนตรีพื้นบ้านอีสาน ผมรู้สึกภูมิใจแทนคนไทย ประเทศไทยที่มีนักดนตรีอัจฉริยะอย่างหมอแคนสมบัติ เขาเป็นคนที่มีค่าของโลก ไม่ต้องไปคิดว่าเขาจะตาพิการหรือเปล่า แต่เพลงของเขาไม่เคยพิการ จินตนาการของเขาไม่เคยสิ้นสุด"

"ผมรู้สึกทึ่งมากๆ ที่เห็นเขาเล่นแคนกับดนตรีของเขาเอง และเล่นแคนกับดนตรีอย่างอื่น ซึ่งมันไปกันได้อย่างวิเศษ และการจัดคอนเสิร์ตของมหิดลอย่างนี้ทำให้ผมนึกถึงอดีตบรรยากาศ ของงานมหกรรมดนตรีพื้นบ้านอเมริกันเมื่อหลายสิบปีก่อน โอเค บางเรื่องบางอย่างอาจจะไม่สมบูรณ์ คนดูก็อาจจะมีอารมณ์ร่วมบ้าง ไฟติดบ้างดับบ้าง เสียงได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง แต่นี่แหละคือดนตรีจริงๆ ละครับ ไม่ใช่ของเสแสร้ง และการมาเห็นสมบัติเป่าแคนครั้งนี้ผมมีความสุขมาก"

ม่วนซื่นบีโทเฟน (คอนเสิร์ตคุณพระช่วยสำแดงสด)

ผู้สื่อข่าว : มีความคิดอย่างไรเกี่ยวกับคอนเสิร์ตครั้งนี้คะ
บัวพัน สนั่นเมือง : ก็คิดว่าสนุกดี อาจารย์ติดต่อให้มาเล่น ก็เลยอยากจะมาร่วมเล่นกับพวกอาจารย์ค่ะ ดิฉันเป็นหมอลำซิ่งมาตั้งนานแล้ว เล่นงานผ่านมานี่เกือบถึง 300 งาน เวลาเล่นจริงๆ นี่ทั้งคืน ตั้งแต่สามทุ่ม ถึงสว่าง ถึงจะสนุกดี แต่คราวนี้จะไม่ได้เล่นมาก เขาให้เวลานิดเดียว จะได้ลำนิดเดียว เดินทางมาไกล มีแต่ความคิดถึงจะฝาก ก็ร่วมใจสนุกด้วยกัน เราเป็นคนไทยด้วยกัน

ผู้สื่อข่าว : คุณสมบัติคิดอย่างไรกับคอนเสิร์ตครั้งนี้
สมบัติ : ผมรู้สึกว่าชอบครับผม เวลาเล่นก็สนุกดีครับผม คือดนตรีอีสานก็ไม่มีใครที่จะฟื้นฟูครับผม อยากจะเอาดนตรีอีสานไปผสมกับวงแจ๊สครับผมคือว่า ให้มีแทรกๆ มีรสเด็ดนิดหนึ่ง แปลกๆ นิดหนึ่ง คือผมก็ชอบเหมือนกัน ผมก็เกิดมาไม่เคยฟังวงแจ๊ส ไม่เคยดูวงแจ๊ส ผมก็ชอบที่เขาเล่นยาวๆ ช้าๆ เลยลองเอาดนตรีอีสานมาผสมดู

ผู้สื่อข่าว : เหนื่อยไหมคะกับการซ้อมการแสดง
สมบัติ : ก็รู้สึกมีบ้างนิดหน่อย แต่ผมก็ทน คือผมก็คิดถึงแฟนที่อยู่ที่บ้าน ผมก็ต้องทนนิดหนึ่งครับผม คือผมไม่รู้ว่าจะหาอะไรไปให้แฟนที่บ้านกิน ผมก็ต้องมาหาอาชีพนี้ครับผม

ผู้สื่อข่าว : แล้วกับคุณบัวพัน เคยร่วมแสดงด้วยกันมานานแล้วหรือยัง
สมบัติ : แสดงมาสัก 7- 8 ปีแล้วครับ ตั้งแต่พี่บัวพัน อายุประมาณ 30 กว่าปี ส่วนผมอายุประมาณ 27 ปี เวลาไปลำก็ไปด้วยกัน ผมไปเป่าแคนให้เขาบ่อยๆ ยันมหาสารคราม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ก็ไป เวลางานกาชาดก็ไป อย่างงานบุญ เขาเรียกงานบุญแจกข้าว ก็ไปช่วยงานเขาจนถึงสว่างครับผม มีกลอนลำอยู่ประมาณ 4-5 คน ก็สว่างแล้วครับผม ก็มีเพลงมีอะไรก็ลำแก้ไปด้วย ส่วนมากก็เน้นของอีสาน เกี่ยวกับเพลงลำซิ่ง หรืออยากฟังลำไม่ซิ่งก็ได้ แล้วแต่เจ้าภาพเขาจะสั่ง เท่านั้นเอง

ผู้สื่อข่าว : มีอะไรฝากถึงแฟนหนังสือผู้สื่อข่าวไหมคะ
สมบัติ : ผมขอพูดอย่างนี้นะ ขอให้คนอีสาน คนที่อยู่ประเทศไทย ประเทศชาติบ้านเมือง ให้รู้จักดนตรีพื้นเมืองของอีสาน เช่น แคน อย่าไปถือกีตาร์เหมือนคนหนุ่มทั่วไป ไม่ส่งเสริมดนตรีอีสาน เป็นการที่ไม่ดี ผมอยากให้รุ่นหลาน หรือรุ่นเหลน หรือรุ่นน้อง รู้จักแคน รู้จักดนตรีอีสานบ้างเท่านั้นเอง ครับผม ส่วนท่านผู้อ่าน กระผมก็ไม่มีอะไรที่จะฝาก นอกจากว่า กระผมขอให้รักน้อยๆ แต่ให้นานๆ เท่านั้นเอง คือผมก็เป็นคนที่พิการทางสายตา แต่ผมชอบสนุก เล่นดนตรีครับผม

ที่มา : http://www.music.mahidol.ac.th/journal/september2002/kaen.html 

 

 สมบัติ สิมหล้า - ฐานข้อมูลศิลปืนมรดกอีสาน

redline

backled1

art local people

ฉวีวรรณ ดำเนิน

chaweewan damnern 1ฉวีวรรณ ดำเนิน (พันธุ)

ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน
สาขาดนตรี และศิลปะการแสดง (หมอลำ)
ประจำปี พ.ศ. 2535

ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ)
ปี พ.ศ. 2536

ในบรรดาศิลปินหมอลำรุ่นเก่า มิตรหมอแคนแฟนหมอลำคงคุ้นเคยกับ ชื่อ ฉวีวรรณ ดำเนิน หมอลำสาวเสียงเสน่ห์ได้เป็นอย่างดี กลอนลำล่องหลายต่อหลายกลอนล้วนอยู่ในใจของผู้ฟังมาเนิ่นนาน เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีหมอลำ ซึ่งเป็นราชินีหมอลำคนแรกของประเทศไทย

เอ๋ออันนี่พ่อแม่เอ๋ย เมษายนกลายไปแล้วพฤษภาผัดมาต่อ
ฝนตกลง จ้าก จ้าก จ้น ใบหญ้ากะโปงมา

พวกชาวนาเตรียมไว้เทิงไถกับคราด ฝั่นเซือกไว้ประสงค์ได้เจ้าเฮ็ดนา
ฟังเสียงจาคนเฒ่าสูเอ้ยฮอดมื้ออื่น พ่อเฒ่าจ้ำบอกลูกบ้านสิพาเลี้ยงเจ้าปู่ตา "

กลอนลำยาว ชีวิตชาวนา หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ลำ (ขับร้อง)

กลอนลำนี้กล่าวถึง ประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน คือ ประเพณีเลี้ยงปู่ตาประจำหมู่บ้าน (ผีตาแฮก) ซึ่งจะต้องเลี้ยงทุกปีในวันพุธแรกของเดือนหก (เดือนพฤษภาคม) ก่อนการทำนาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชาวไร่ชาวนา และทำนายทายทักดวงชะตาของหมู่บ้าน ตลอดจนพยากรณ์ฝนฟ้าอากาศในแต่ละปี

นางฉวีวรรณ พันธุ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ที่บ้านหนองไหล ตำบลสร้างคอน้อย อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ นายชาลี ดำเนิน มารดาชื่อ นางแก้ว ดำเนิน อาชีพทำนา เริ่มการศึกษาที่ โรงเรียนบ้านหนองไหล จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สมรสกับนายโกมินทร์ พันธุ มีบุตร 2 คน ชาย 1 คน หญิง 1 คน

chaweewan 02 chaweewan 03

ฉวีวรรณ ดำเนิน เป็นบุคคลที่มีความสามารถโดดเด่น มีไหวพริบปฏิภาณด้านหมอลำที่เฉียบแหลมยิ่งคนหนึ่ง โดยได้รับการฝึกฝนเรื่องหมอลำจากบิดาจนอายุได้ 11 ขวบ บิดาได้นำไปฝากตัวเป็นศิษย์ หมอลำบุญเพ็ง ไผ่ผิวชัย จนได้ออกลำในปี พ.ศ. 2500 ได้ร่ำเรียนหมอลำกับครูที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีตหลายท่าน รวมทั้งพี่สาวต่างมารดาที่นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว กลายเป็นหมอลำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ซึ่งความจัดเจนเรื่องหมดลำที่ฝึกฝนมาตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เป็นหมอลำที่มีความสามารถสูงทั้งด้านการแต่ง กลอนลำ การคิดท่วงทำนองหมอลำกลอน เขียนกลอนลำ ประดิษฐ์ท่าลำและบทร้องชุดแม่บทอีสาน ผลงานที่โดดเด่นที่สุด คือ การแสดงชุดดึงครกดึงสาก ประกอบกับเป็นบุคคลที่มีน้ำเสียงไพเราะ มีพลังทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งของแดนอีสาน และได้รับการกล่าวขานด้วยความชื่นชมจากประชาชน ว่าเป็น ราชินีหมอลำ  ซึ่งเป็นราชินีหมอลำคนแรกของประเทศไทย

ฉวีวรรณ พันธุ "หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน" - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน

ฉวีวรรณ ดำเนิน ยังเคยเป็นนางเอกหมอลำคณะรังสิมันต์ คู่กับ ทองคำ เพ็งดี เป็นคู่พระคู่นาง ที่โด่งดังมากในยุคประมาณปี 2508 - 2513 โดยเฉพาะลำเรื่อง สีทนมะโนราห์ โดยมีลูกศิษย์ลูกหา เช่น บานเย็น รากแก่น อังคนางค์ คุณไชย ที่ได้รับการยกย่องเป็นราชินีหมอลำในยุคต่อมาเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันทำงานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เป็นอาจารย์พิเศษที่ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด และเป็นอาจารย์พิเศษที่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณแม่ฉวีวรรณยังได้รับเกียรติใด้ดำรงตำแหน่งกรรมการตัดสินการประกวดต่างๆ สำคัญๆ ของทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกด้วย

เยี่ยมเยือน แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ : ไทอีสาน

รางวัลและการเชิดชูเกียรติ 

  1. โล่ชนะเลิศการประกวดหมอลำงานเจ้าพ่อพระยาแล ชัยภูมิ ในปี พ.ศ.2514
  2. ชนะเลิศการประกวดหมอลำทุ่งศรีเมืองอุดรธานี ปี พ.ศ. 2522
  3. เกียรติบัตรจากศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ชุดรำแม่บทอีสาน 48 ท่า พ.ศ.2527
  4. โล่ศิลปินดีเด่นของภาคอีสานจาก พณฯ นายกรัฐมนตรี ปี พ.ศ.2528
  5. โล่เกียรติคุณตณะส่งเสริมประสานงานเยาวชนแห่งชาติ รางวัลดีเด่นในการผลิตสื่อมวลชชนดีเด่น เพื่อเยาวชน
        ประเภทสื่อชาวบ้าน พ.ศ.2529
  6. โล่เกียรติคุณจากสาธารณสุข โครงการอีสานไม่กินปลาดิบ ปี พ.ศ.2532-2535
  7. ถ้วยเกียรติยศการประกวดหมอลำ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและพลังงาน ปี พ.ศ.2533
  8. เกียรติบัติจาก C.L.OF.F. งานมหกรรมวัฒนธรรมพื้นบ้านเอเซีย ครั้งที่ 3 ในประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ.2535
  9. ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ปี พ.ศ. 2536

แสดงสดลำกลอนประยุกต์ โดย ฉวีวรรณ ดำเนิน, ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม และอังคนางค์ คุณไชย

คุณวุฒิ

  • ปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานาฏยศิลป์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการเรียนการสอน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

 ฉวีวรรณ ดำเนิน : ลำล่อง แสดงความอาลัยพ่อหลวง

 ฉวีวรรณ ดำเนิน : ลำล่อง ชีวิตชาวนา

chaweewan 04

redline

backled1

art local people

angkanangอังคนางค์ คุณไชย

ศิลปินพื้นบ้านอีสาน สาขา ศิลปะการแสดง

ศิลปินหมอลำที่มีผลงานมากมายอีกคนหนึ่ง ได้บันทึกแผ่นเสียงทั้งเพลงลูกทุ่ง หมอลำ และการลำเรื่องต่อกลอน

นางอังคนางค์ คุณไชย เกิดเมื่อ วันที่ 6 กุมภาพันธุ์ 2498 ณ บ้านเลขที่ 152 หมู่ 8 ตำบลโคกสาร อำเภอชานุมาน จังหวัดอุบลราชธานี (จังหวัดอำนาจเจริญ ในปัจจุบัน) แต่เดิมชื่อ "ทองนาง คุณไชย" มีพี่น้อง 7 คน (เป็นคนสุดท้อง) เริ่มการศึกษาเบื้องต้นระดับชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนบ้านโคกสารเทิง ตำบลโคกสาร อำเภอชานุมาน จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยสอบได้ที่ 1 ของทุกชั้นเรียน ปัจจุบันสมรสกับ นายอำนวย ศิริมณี ทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน จึงรับเลี้ยงลูกบุญธรรม 1 คน ซึ่งก็คือ "สุนิตา คุณไชย (ชื่อเล่น : พลอย)"

ก่อนเข้าสู่วงการหมอลำ เด็กหญิงทองนาง จบการศึกษาชั้นป.4 และไม่ได้เรียนต่อเนื่องจากฐานะทางบ้าน ยากจน ในวัยเด็กชอบฟังเพลง และร้องเพลงลูกทุ่ง หมอลำ เมื่อมีโอกาสทุกครั้งจะไปร้องเพลงที่ทางโรงเรียนจัดในหมู่บ้านทุกครั้ง ซึ่งจะได้คำชม และรางวัลบ้าง โดยมีคุณพ่อ เป็นผู้สนับสนุนในการร้องเพลง เมื่อพ่อเข้าในเมืองเพื่อไปขายสินค้าเมื่อไร ก็จะซื้อตำราเรียนหมอลำมาฝากเสมอ

จนวันหนึ่งพ่อได้มาไปฝากฝึกเรียนหมอลำกับ สำนักงานหมอลำของ อาจารย์ทองลือ แสนทวีสุข และ อาจารย์ฉวีวรรณ ดำเนิน (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2536) เรียนอยู่ประมาณ 2 ปี และในปี 2514 อาจารย์อุไร สง่าจิตร หัวหน้าคณะอุบลพัฒนา เห็นว่า มีบทบาทการแสดงที่ดีประกอบกับมีสุ้มเสียงที่ไพเราะ จึงได้ให้เริ่มแสดงเป็นตัวประกอบก่อน และค่อยๆ พัฒนามาเป็นตัวนำ "นางเอกของเรื่อง" และได้แสดงเป็นนางเอกเรื่องแรก คือ ลำเรื่องต่อกลอนเรื่อง นางนกกระยางขาว ซึ่งได้รับการตอบรับจากแฟนหมอลำ ทางภาคอีสานและภาคอื่นเป็นอย่างมาก จนมีผลงานออกมาต่อเนื่องเรื่อยมา

angkanang 01

อังคนางค์ คุณไชย กับลูกสาว น้องพลอย

จนในปี 2517 จุดเปลี่ยนของ อังคนางค์ คุณไชย น่าจะอยู่ที่อัลบั้มเพลง สาวอุบลรอรัก และเพลง พี่จ๋าหลับตาไว้ ที่ทำให้มีกลุ่มแฟนเพลงขยายออก อย่างกว้างขวาง จนเรียกได้ว่าเป็นเพลงแจ้งเกิดในวงการเพลงลูกทุ่งหมอลำ และในปี 2521 ได้ออกจากคณะอุบลพัฒนา มาตั้งคณะเป็นของตัวเอง ชื่อคณะเมืองดอกบัว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากต้องลงทุนมาก และดูแลลูกน้องเกือบ 200 กว่าชีวิต

ในปี 2524 จึงตัดสินใจยุบคณะ และไปรวมกับคณะหมอลำเรื่องต่อกลอน คณะเพชรอุบล ของ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2549) ทำให้มีชื่อเสียง และเป็นคู่ขวัญกันจนเรียกได้ว่า ถ้าผิดจากคู่นี้ไปคู่กับคนอื่นๆ ก็จะได้รับการต้อนรับที่น้อยมาก ระหว่างนั้นก็มีการออกอัลบั้มกับค่ายเพลงต่างๆ หลายๆ ค่าย ในสไตล์ลูกทุ่ง-หมอลำ ลำเพลิน ลำเต้ย ลำล่อง หรือการแสดงลำเรื่องต่อกลอนต่างๆ เรื่อยมา และผลงานเพลงสร้างชื่อให้กับ อังคนางค์ คุณไชย มีอยู่หลายบทเพลง เช่น บ่าวภูไท , อีสานลำเพลิน , เสียงพิณบาดใจ , มีบ้างไหมรักจริง ฯลฯ ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ทำงานมา อังคนางค์ คุณไชย ได้ตั้งปณิธานว่า

"จะอุทิศชีวิต เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน การแสดงศิลปะพื้นบ้านลูกทุ่งหมอลำ ให้ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้านให้กับประชาชน และอนุชนรุ่นหลังสืบไป โดยมีโครงการจะเปิดเป็นโรงเรียนสอนการแสดงหมอลำพื้นบ้าน สำหรับ เยาวชนรุ่นลูก รุ่นหลาน ที่มีใจรักในการแสดง และการร้องหมอลำในจังหวัดที่ตนเองอยู่"

ปัจจุบัน อังคนางค์ คุณไชย มีผลงานอยู่กับบริษัท เทปบูรพา (1991) จำกัด ในผลงานลำเรื่องต่อกลอนเรื่อง ดาวลูกไก่ และงานเพลงสุดยอดลำเพลิน เป็นสาวรอบสอง และผลงานล่าสุดคือ สุดยอดลำเต้ย ผัวไปใต้หนู ซึ่งได้ร้องคู่ กับศิลปินแห่งชาติปี 2549 ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ซึ่งเป็นคู่ขวัญ คู่พระ คู่นาง กันมา ตลอด

อังคนางค์ คุณไชย ปัจจุบันได้ช่วยงาน และรับงานส่วนตัว และยังได้รับเกียรติใด้ดำรงตำแหน่ง กรรมการตัดสินการประกวดต่างๆ สำคัญๆ ของทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกด้วย

angkanang 02

พฤศจิกายน 2017 อังคนางค์ คุณไชย ได้รับเชิญในเพลง "เข้ามา" ร่วมกับ ปริญญา อินทชัย (ดาบอยเวย์ หรือ เวย์ ไทยเทเนี่ยม) และได้ถูกบรรจุในอัลบั้มของเวย์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปี 2563

ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 152 หมู่ 8 ตำบลโคกสาร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ โทรศัพท์ 08-9029-0226 ติดต่อทาง Facebook ได้

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ :

  • ชนะเลิศการประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน
  • รับโล่เชิดชูเกียรติเป็นสุดยอดศิลปินพื้นบ้านอีสาน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • รับโล่เชิดชูเกียรติคุณ เป็นศิลปินดีเด่นจังหวัดอำนาจเจริญ สาขาศิลปะกรรมการแสดงพื้นบ้าน จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • รับโล่รางวัลเกียรติบัตรด้านศิลปะพื้นบ้านลำเรื่องต่อกลอน การแสดงเพลงลูกทุ่งอีสานจากหน่วยงานของราชการต่าง ๆ มากกว่า 30 รางวัล

อังคนางค์ คุณไชย - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน

รางวัลและการเชิดชูเกียรติ

  1. ร่วมแสดงศิลปะพื้นบ้านหมอลำจัดโดยหน่วยงานราชการหลายแห่ง
  2. ร่วมแสดงศิลปะพื้นบ้านลูกทุ่งอีสานในงานของจังหวัดและส่วนราชการหลายครั้ง
  3. แสดงศิลปะพื้นบ้านลูกทุ่งหมอลำ ทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุหลายครั้ง
  4. เป็นวิทยากรรับเชิญให้ส่วนราชการในการถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านจนถึงปัจจุบัน หลายครั้งและหลายหน่วยงาน
  5. ร่วมแสดงเผยแพร่ศิลปะการแสดงในต่างประเทศ เช่น สิงค์โปร์ เยอรมันนี ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ออสเตรีย และประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ

อีสานลำเพลิน ต้นฉบับ คณะอุบลพัฒนา

อังคนางค์ คุณไชย "สาวผู้ดี" กับ "อีสานลำเพลิน"

โดย แวง พลังวรรณ จาก ผู้จัดการรายวัน 29-30 เมษายน 2543 หน้า 12

อังคนางค์ คุณไชย และ อีสานลำเพลิน คือต้นธาร-ต้นแบบของเพลงลูกทุ่งที่เรียกกันว่า "ลูกทุ่งอีสาน" เธอคือผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "นักร้องคนแรก" สำหรับเพลงแนวนี้ เป็นนักร้องสาวที่มีตำแหน่งนางเอกหมอลำเป็นเครื่องประกัน และรับประกันว่า เพลงลูกทุ่งที่อิงแนวหมอลำของเธอนั้น ถูกต้องตามแบบแผนของศิลปะอันล้ำค่าของชาวอีสาน

เอกลักษณ์และความเป็นธรรมชาติในน้ำเสียง ที่เธอได้ถ่ายทอดผลงานการประพันธ์ให้เป็นบทเพลงนั้น คือ ต้นแบบและความภูมิใจของชาวอีสานทั้งภาค กิริยามารยาทอันนิ่มนวลอ่อนหวานที่ซ่อนไว้ภายในหัวใจแกร่ง คือตัวแทนของหญิงสาวชาวอีสาน ผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นสาวผู้ดี และอังคนางค์ คุณไชย เธอคือนางเอกตลอดกาลในหัวใจของใครหลายคน แน่นอน รวมทั้งหัวใจดวงน้อยของผู้เขียนด้วย

angkanang 04

นางเอกหมอลำ คือ บุคลากรที่ได้ผ่านการกลั่นกรองและคัดสรรเป็นอย่างดี ด้วยสายตาและประสบการณ์ของครู หรืออาจารย์ผู้สอนลำ โดยพื้นฐานผู้ที่จะเป็นนางเอกหมอลำได้ จะต้องเป็นหญิงสาวที่มีรูปร่างดี หน้าตาสะสวย เสียงดี และยังต้องมีคุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ คือ ต้องมีสติปัญญาและความจำเป็นเลิศ เพราะการเรียนลำนั้นจำเป็นจะต้องมีการท่องกลอนลำเป็นจำนวนมาก

และหากฝึกเป็นลำกลอนด้วยแล้ว นางเอกหมอลำจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีปฏิภาณไหวพริบ เพราะต้องใช้การลำแก้กลอน ตลอดรวมทั้งการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม ในระดับพอๆ กับพระสงฆ์ทีเดียว

ท่วงท่าในการร่ายรำที่สวยงาม อ่อนช้อยถูกต้องตามหลักการฟ้อนรำ ตามแบบแผนของหมอลำ คือสิ่งที่ต้องฝึกฝน รวมไปถึงการรักษากิริยามารยาท การพูดจาให้ไพเราะอ่อนหวาน และเป็นผู้มีจิตใจงาม ชาวอีสานเรียกคนประเภทนี้ว่า "สาวผู้ดี" และนี่แหละคือ คุณสมบัติของอังคนางค์ คุณไชย นางเอกทั้งในชีวิตจริงและในโลกมายา

อังคนางค์ คุณไชย มีชื่อเดิมที่น้อยคนนักจะล่วงรู้ เนื่องจากเธอได้เปลี่ยนเป็น "อังคนางค์" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 นั่นหมายถึงว่า เธอเปลี่ยนตั้งแต่ก่อนที่จะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในนามของนางเอกหมอลำชื่อสะท้านอีสาน หรือนักร้องชื่อก้องเมืองไทย ชื่อเดิมเธอหวงนักหวงหนาและเก็บงำไม่เคยพูดถึงคือ "ทองนาง" ทั้งนี้มิใช่เธอรังเกียจชื่อเดิม เป็นแต่เพียงว่า ผู้คนทั่วไปต่างรู้จักเธอคือ "อังคนางค์" ในนามของสาวหมอลำ และนักร้องเสียงเสน่ห์เป็นอย่างดีแล้ว และที่สำคัญไม่มีผู้ใดถามไถ่เธอเลย

อังคนางค์ คุณไชย (อ่านว่า คุน-นะ-ชัย) เกิดที่บ้านโคกสารเทิง ตำบลโคกสารเทิง อำเภอชานุมาน จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) ซึ่งบัดนี้ ชานุมานเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอำนาจเจริญ และเป็นอำเภอเดียวที่มีดินแดนติดแม่น้ำโขง และเป็นอำเภอเดียวของจังหวัดที่เป็นอำเภอชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป.ลาว

angkanang 05

อังคนางค์ คุณไชย ไหว้ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา (นักแต่งเพลง)

เธอเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2498 หลังจบการศึกษาภาคบังคับชั้นประถมปีที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2509 เด็กหญิงทองนาง ก็เหมือนกับลูกชาวบ้านโคกสารเทิง และลูกชาวอีสานครึ่งค่อนภาค ที่มองเห็นภาพในอนาคตของตัวเองกรำงานอยู่กลางทุ่งนา เพราะการที่จะได้เข้าเรียนต่อในชั้นสูงๆ นั้น ไม่ใช่คนในฐานะลูกสาวชาวนาอย่างเธอจะใฝ่ฝัน ความฝันเช่นนั้น มันถูกสงวนไว้เฉพาะลูกครูหรือลูกตำรวจเท่านั้น

ด้วยความที่เป็นลูกสาวหล่า (ลูกสาวคนสุดท้อง) ในจำนวนลูก 7 คนของพ่อ-แม่ ทองนางจึงไม่จำเป็นต้องออกไร่ออกนาเหมือนพี่ๆ ที่แบกรับภาระไปก่อนหน้าแล้ว เธอได้ขอพ่อ-แม่ไปเรียนกลอนลำกับหมอลำกลอนชื่อดังของเมืองอุบลฯ อาจารย์ทองลือ แสนทวีสุข เรียนลำกลอนอยู่ได้ 2 เดือนครึ่ง ก็ได้พบกับอาจารย์กลอนลำสองสามี-ภรรยาคือ อาจารย์อัมพร สง่าจิตร และศรีภรรยา อาจารย์อุไร สง่าจิตร หมอลำคู่-ลำกลอนชื่อดังของเมืองอุบลฯ เช่นกัน จึงได้ลาออกจากสำนักงานหมอลำของอาจารย์ทองลือไปอยู่กับอาจารย์อัมพร

ในปี พ.ศ. 2511 อาจารย์อัมพรได้ย้ายสำนักงานหมอลำไปอยู่ที่ จังหวัดขอนแก่น ทองนางจึงต้องติดตามอาจารย์ไปอยู่ที่ขอนแก่น เพื่อเรียนวิชาการแสดงหมอลำกลอนให้สำเร็จ

ขณะนั้น "รังสิมันต์" คณะหมอลำเรื่องต่อกลอน กำลังดังทะลุฟ้าแดนอีสานด้วยลำเรื่องต่อกลอน "นางมโนราห์" ความดังของรังสิมันต์ได้จากคุณภาพ และความสามารถในเชิงศิลปะการแสดงที่เป็นเลิศของ ทองคำ เพ็งดี พระเอกเสียง "ควง" (กังวาน) เชิงชั้นการลำนั้นอยู่ระดับอาจารย์ และ ฉวีวรรณ ดำเนิน นางเอกเสียงใส และวาดลีลาที่งดงาม ว่ากันว่า คู่พระคู่นางของรังสิมันต์ "ทองคำ-ฉวีวรรณ" นั้นได้รับความนิยมจากชาวอีสาน ในระดับเดียวกันกับพระเอก-นางเอกคู่ขวัญ "มิตร-เพชรา" (มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์) ของวงการภาพยนตร์ไทยทีเดียว

morlum rangsiman

ความโด่งดังของรังสิมันต์นั้น มีเรื่องเล่าขานในหมู่นักฟังลำชาวอีสานว่า ถึงระดับผู้ฟังต้อง "ควดหม่องเยี่ยว" (ขุดที่ปัสสาวะ) หมายถึงบทบาทการแสดง และความไพเราะของเสียงกลอนลำของหมอลำได้ตรึงผู้ฟัง ซึ่งนั่งฟังอยู่กับพื้นดิน ส่วนใหญ่ได้แก่ลานวัดที่มีพื้นเป็นทราย ให้ถึงกับต้องใช้มือขุดทรายให้เป็นหลุม เพื่อถ่ายเบาที่ตรงนั้น เมื่อเสร็จกิจก็จะใช้ทรายรอบๆ ปากหลุมนั้นเกลี่ยทับแล้วนั่งฟังลำต่อไป เพราะการลุกออกไปถ่ายเบาข้างนอก แม้จะเสียเวลาเพียงนิดก็จะทำให้เรื่องราวสะดุดขาดตอน

การขาดตอนในการฟัง หรือพลาดไปแม้เสี้ยวนาที สำหรับการแสดงของคณะรังสิมันต์ถือว่า เป็นความสูญเสียอย่างมหันต์ทีเดียว เพราะในหมู่ชาวอีสานนั้นจะมีวัฒนธรรมหลังการฟังหมอลำอยู่อย่างหนึ่ง คือ การจับกลุ่มกล่าวขวัญทบทวนเรื่องราวหรือบทบาทของหมอลำที่ได้ชม ซึ่งการกล่าวขวัญนี้กินเวลาเป็นเดือนเป็นปี และถ้าหากได้มารู้ในภายหลังว่า ตัวเองนั้นพลาดทีเด็ดไปเพราะไม่รู้จัก "อั้น" หรือไม่รู้จักใช้วิธีปลดปล่อยที่แยบยลแล้ว ก็จะยังความเสียใจและเสียดายแก่ผู้นั้นไปอีกเป็นเดือนเป็นปี หรือจนกว่าหมอลำคณะนั้นจะย้อนกลับมาแสดงให้ได้แก้ตัวอีกครั้ง นั่นคือพฤติกรรมที่สะท้อนถึงอารมณ์ซาบซึ้งในศิลปะของชาวอีสานที่มีต่อหมอลำ ศิลปะประจำภาค

ดังนั้น "การควดหม่องเยี่ยว" ในเวลาฟังลำ จึงถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ควรได้รับการให้อภัย และกฎเกณฑ์ในเรื่องกิริยามารยาทอันดีงาม จะถูกงดเว้นเป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกันจำนวนของกองทรายพูนบนลานวัด ยังใช้เป็นดัชนีชี้วัดความนิยมของ "มิตรที่แก่นแฟนที่รัก" ที่มีต่อคณะหมอลำได้อีกด้วย และคณะผู้ประเมินและวัดผลก็ใช่ใครอื่น ก็ สมภาร พระลูกวัดและลูกศิษย์สังฆ์การีวัด นั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของสถานที่ ที่จะต้องทำการเก็บกวาดลานวัดในตอนรุ่งเช้าวันถัดมา

angkanang 06

ด้วยชื่อเสียงเกียรติยศที่กำจรกำจายคับฟ้าอีสานของ คณะหมอลำรังสิมันต์ เป็นเหตุให้อาจารย์อัมพร หัวหน้าสำนักที่ทองนางฝึกหัดลำ ต้องเบนเข็มเปลี่ยนทิศทาง และปฏิรูปแนวลำกันใหม่ เลิกการฝึกหัดลำกลอน แล้วมาสอนและฝึกซ้อม "ลำเรื่องต่อกลอน" แทน เพื่อตอบรับและปรับตัวให้ทันกับกระแสความนิยมของมหาชน และการจะเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน หรือหมอลำหมู่นั้นจำเป็นต้องมีคณะ มีชื่อคณะ ซึ่งต่างจากลำกลอนซึ่งไม่จำเป็นต้องมีชื่อคณะ อาจารย์อัมพรจึงได้จัดการตั้งคณะหมอลำเรื่องต่อกลอนขึ้น และใช้ชื่อคณะว่า "อุบลพัฒนา"

ในระยะเริ่มต้น ทองนางได้รับวางตัวเป็นหางเครื่อง สำหรับช่วงโชว์เพลงและเต้นโชว์ ซึ่งเป็นช่วงโหมโรงก่อนถึงการแสดงหมอลำ และรับบทตัวประกอบเมื่อถึงช่วงที่หมอลำออกทำการแสดง เธอต้องรับบทได้ทุกอย่าง อาทิ นางทาสี นางสนมกรมใน ตัวตามนางเอก เรียกว่า ตัวแสดงประกอบฝ่ายหญิงมีตำแหน่งใดขาด เธอเป็นต้องมีหน้าที่เติมเต็มในส่วนนั้น

และเมื่อการแสดงจบลง บทบาทด้านหลังเวทีและที่บ้านอาจารย์ ซึ่งใช้เป็นสำนักงานหมอลำนั้น ทองนางต้องรับบทเป็นทั้งพี่เลี้ยงให้กับลูกๆ ของอาจารย์ เป็นคนรับใช้ที่ต้องคอยเก็บกวาด เช็ดถู ดูแลบ้าน ล้างถ้วย ล้างจาน และหน้าที่อื่นๆ ที่คนในฐานะผู้อาศัยจะพึงตอบแทนต่อผู้เป็นเจ้าของบ้าน

สไบแพร บัวสด เล่าความหลังเมื่อครั้งอยู่ "คณะอุบลพัฒนา" กับเพื่อนรัก อังคนางค์ คุณไชย

ปี พ.ศ. 2512 อาจารย์อัมพรได้จัดการเปลี่ยนชื่อให้ทองนางเป็น "อังคนางค์ คุณไชย" พร้อมๆ กันนั้น ก็เปลี่ยนชื่อเพื่อนรักชาวอุดรธานีของทองนาง ผู้ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขพากเพียรเรียนลำมาด้วยกัน คือ ทองใบ บัวสด ให้เป็น "สไบแพร บัวสด"

ปี พ.ศ. 2514 ชื่อเสียงของชาวคณะอุบลพัฒนาเริ่มดีขึ้น จึงได้บันทึกแผ่นเสียงการแสดงสดออกจำหน่าย ในรูปการแสดงแบบลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง "นางนกกระยางขาว" อันเป็นเรื่องราวนิทานธรรมะ แสดงให้เห็นถึงทานบารมี ซึ่งมีตัวเอกชื่อ นางสุชาดา หนึ่งในจำนวนมเหสีหลายๆ คนของพระอินทร์ นางสุชาดาต้องรับผลแห่งวิบากกรรมโดยลงมาใช้ชาติใช้เวรกรรม ต้องนุ่งห่มถือครองผ้าขาวในร่างของนกกระยางขาว (นกกินปลาที่มีสีขาวปลอด) และต้องฝืนสัญชาติญาณสัตว์ด้วยการทำตบะ บำเพ็ญเพียรรักษาศีลข้อปาณาติบาตอย่างเคร่งครัด

angkanang 03

คู่พระ-คู่นางอุบลพัฒนาในอดีต ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม - อังคนางค์ คุณไชย

และด้วยความสาว สวย รูปร่างดี และเสียงดี บทนางเอกใน "นางนกกระยางขาว" จึงเป็นของอังคนางค์ คุณไชย คู่กับพระเอกตลอดกาลของอุบลพัฒนา ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม และต่อมาชื่อของ "ป.ฉลาดน้อย-อังคนางค์" ก็กลายเป็นคู่พระคู่นางไต่ระดับขึ้นเทียบชั้น "ทองคำ-ฉวีวรรณ" เหมือนปรากฏการณ์ที่ "สมบัติ เมทะนี-อรัญญา นามวงศ์" ขึ้นทาบรัศมี "มิตร-เพชรา" ในวงการหนังไทย

ในปีเดียวกันนี้ อุบลพัฒนา ได้เข้าประกวดแข่งขันลำเรื่องต่อกลอน ที่จัดขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 ขอนแก่น แล้วคว้ารางวัลชนะเลิศ นับแต่นั้น ชื่อเสียงของอุบลพัฒนาก็เป็นที่กล่าวขานถึงของแฟนหมอลำทั้งภาคอีสาน และข้ามภาคเข้ามาเปิดทำการแสดงในกรุงเทพฯ โดยการจัดของนักจัดรายการในกรุงเทพฯ อุบลพัฒนาได้เข้าเฉลี่ยส่วนแบ่งในตลาดที่รังสิมันต์เคยผูกขาดทั้งในภาคอีสานและในกรุงเทพฯ

angkanang cd angkanang cd2 angkanang cd3

สาเหตุที่อุบลพัฒนาสามารถแทรกตัวและผงาดขึ้นได้ ก็เนื่องจากราคาค่าจ้างหมอลำคณะรังสิมันต์นั้นถูกตั้งไว้สูง และยังพ่วงเงื่อนไขในการรับงานไว้อีกมากมาย อุบลพัฒนาจึงเป็นทางเลือกให้เจ้าภาพ และคณะกรรมการจัดงานที่มีทุนทรัพย์ไม่มากพอที่จะจ้างรังสิมันต์ได้ ต่างก็หันมาหาอุบลพัฒนากันทั้งนั้น และอุบลพัฒนาคือตัวเลือกอันดับ 1 ที่พัฒนาฝีมือจนดีวันดีคืน

สาวอุบลรอรัก โดย อังคณางค์ คุณไชย

อังคนางค์ คุณไชย มีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อได้ลำคู่กันกับพระเอกคณะอุบลพัฒนา ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม มีลำกลอนอัดแผ่นเสียง (เทป/ซีดี) หลายเรื่อง เช่น นางนกกระยางขาว นางนกกระจอกน้อย พระเวสสันดรชาดก เป็นต้น เป็นนางเอก-พระเอกคู่กันของคณะอุบลพัฒนา

 การแสดงหมอลำ ร่วมกับ แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน และ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม

redline

backled1

art local people

ศิลปินพื้นบ้าน คือ ผู้สร้างสรรค์ผลงานอันหลากหลาย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเราชาวอีสาน จึงขอประกาศเชิดชูคุณูปการของท่านเหล่านั้นให้ลูกหลานได้รู้จัก เพื่อเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ผู้จัดทำเว็บไซต์ไม่อาจทำความรู้จักกับศิลปินพื้นบ้านทุกท่านได้ ก็ได้แต่หวังว่าจะได้รับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ในท้องถิ่นต่างๆ ได้ช่วยชี้แนะกันมา ยินดีรับข้อมูลและภาพประกอบของศิลปินชาวอีสานทุกท่านนำมาเสนอ ณ ที่นี้ ติดต่อได้ที่ webmaster @ isangate.com ขอบพระคุณทุกๆ ท่านครับ

สงวน ทรัพย์เตี้ย

sa nguan 01

พิณเป็นสัจธรรมแห่งการครองตน ตึงมากก็ขาด หย่อนมากก็ไม่ดี ให้อยู่สายกลาง
เปรียบกับสายพิณที่มีสามสาย แต่ละสายจะมีเสียงสูง กลางและต่ำ
ถ้าทั้งสามอยู่ในลักษณะพอดี ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป
เสียงพิณที่ออกมาก็จะมีความไพเราะน่าฟัง..."

ลืออำนาจ

ลืออำนาจ เป็นอำเภอหนึ่งใน จังหวัดอำนาจเจริญ เดิมคนรู้จักอำเภอลืออำนาจเพราะเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่งดงาม ปัจจุบันอำเภอลืออำนาจมีสิ่งที่ทำให้คนรู้จักเพิ่มขึ้นอีก คือ เป็นแหล่งที่ผลิตพิณรูปร่างแปลกๆ ไม่ซ้ำแบบใคร เพราะ พิณเมืองลือมีรูปร่างที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งแต่เดิมนั้นพิณจะมีรูปร่างแค่วงกลมหรือวงรีเท่านั้นแต่พิณเมืองลือ จะตกแต่งหน้าพิณจากวัสดุเหลือใช้และหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น กระดองเต่า เปลือกหอยต่างๆ กะลามะพร้าว เศษไม้ แกลลอนน้ำมัน เขาวัว เขาควาย หน้าวัว หน้าควาย หน้าม้า หน้าหมู กระป๋องนม กะทะไฟฟ้า เป็นต้น

sa nguan 04

ผู้สร้างผลงาน

นายสงวน ทรัพย์เตี้ย เกิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 95 หมู่ 2 บ้านอำนาจ ตำบลอำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ แรงบันดาลใจที่ทำให้พ่อสงวน ประดิษฐ์พิณขึ้นครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่มีอารมณ์เศร้า เนื่องจากภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากเสียชีวิตลง ซึ่งแต่ก่อนคุณพ่อสงวน มีอาชีพขายอาหาร เมื่ออยู่คนเดียว จึงคิดหาทางที่จะประกอบอาชีพอย่างอื่น ซึ่งตัวคนเดียวสามารถจะทำได้ แต่ก็ยังคิดไม่ออก 

sa nguan 02ปี 2537 ในงานนมัสการพระธาตุพนม ซึ่งจัดขึ้นทุกปี ในวันเพ็ญเดือน 3 พ่อสงวนได้ไปนมัสการพระธาตุพนมและได้เห็นวงดนตรีพื้นบ้านที่เข้ามาเล่นในงาน คือ วงโปงลาง เมื่อได้ฟังเขาเล่นก็เกิดติดใจในเสียงพิณ พอกลับมาบ้านจะหลับจะนอนก็ได้ยินแต่เสียงพิณ

ในปีต่อมา คุณพ่อสงวนได้ไปนมัสการพระธาตุพนมอีก ก็ได้เห็นวงโปงลางที่เขามาเล่นในงานอีก ในขณะนั้นวงโปงลางเขายังไม่ถึงเวลาเล่น คุณพ่อสงวนจึงได้ขอเด็กที่เฝ้าวงโปงลางเพื่อจะเข้าไปดูพิณ เขาไม่ยอมให้เข้าไปดู แต่ด้วยความยากรู้อยากเห็นเป็นอันมาก จึงได้จ้างเด็กที่เฝ้าวงโปงลางด้วยเงิน 50 บาท เขาจึงยอมให้เข้าไปดู

พ่อสงวนจับพิณขึ้นมาพินิจพิเคราะห์ดูว่า เขาทำอย่างไร ขนาดเท่าใด ในขณะนั้นคุณพ่อสงวนก็คิดในใจว่า จะต้องทำให้ได้ จะทำอย่างไรดี เครื่องมือที่จะมาใช้วัดขนาดก็ไม่มี พอดีตาเหลือบไปเห็นเศษไม้ตกอยู่ที่พื้นชิ้นหนึ่งจึงได้หยิบขึ้นมาเป็นไม้สำหรับวัดขนาดของพิณ หลังจากได้ไม้วัดขนาดชิ้นนั้นมาแล้ว ก็ได้มาลองทำดู

pin 05แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร จะทำอย่างไร คุณพ่อสงวนจึงไปที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อหาซื้อพิณมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งที่จังหวัดอุบลราชธานี มีร้านขายเครื่องดนตรีอยู่ จึงได้ซื้อพิณมาเป็นต้นแบบ จากนั้นก็ได้ทำมาเรื่อยๆ ได้ระยะหนึ่งก็ได้มาคิดว่าน่าจะทำอะไรที่มันแปลกไปจากเดิม

วันหนึ่งคุณพ่อสงวนได้ไปทำธุระที่จังหวัดอุบลราชธานี ขณะที่เดินผ่านหน้าร้านรับซื้อของเก่า ตาเหลือบไปเห็นหน้าควายอันหนึ่ง มีเขาสองข้างสวยงาม ถูกใจคุณพ่อสงวนมาก คุณพ่อสงวนจึงได้คิดว่าน่าจะเอาหน้าควายอันนี้มาทำเป็นพิณได้ จึงได้เข้าไปของซื้อเขามา พอกลับมาถึงบ้านก็เอามาลองทำดู ปรากฏว่าใช้ได้จริงๆ ใครได้พบได้เห็นก็ชมว่าสวยงามแปลกดี

pin 04ต่อมาคุณพ่อสงวนจึงได้ใช้วัสดุเหลือใช้อื่นๆ มาทำอีกและก็เป็นที่นิยมของคนดนตรี สิ่งที่แปลกก็คือ คุณพ่อสงวนไม่เคยออกแบบในกระดาษก่อนที่จะลงมือทำเลย แบบทุกแบบจะบันทึกไว้ในสมอง และกลั่นกรองออกมาให้แปลกใหม่เรื่อยๆ โดยไม่ซ้ำกัน เครื่องมือที่ใช้ตัด ขัด เกลา ยึดมีดโต้เล่มเดียวเป็นหลัก ถากและเกลาจนได้รูปแบบตามที่ต้องการ ใช้กระดาษทรายขัดเล็กน้อย เมื่อประกอบเป็นรูปร่างจะเหมาะสมกลมกลืน

ในระยะที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ พิณในจินตนาการของพ่อสงวน มีมากมายหลายแบบ เช่น พิณรูปนก เป็ด กระต่าย เต่า ปลา เสือ หน้าวัว หน้าควาย รูปคันไถ รูปคราด กระติบข้าว ฯลฯ ประมาณได้กว่า 1,000 ชิ้น ราคาจำหน่ายเริ่มตั้งแต่ 100 บาทถึง พันกว่าบาท

ผลงานที่คุณพ่อสงวนภูมิใจมากที่สุด คือ พิณรูปไถ รูปคราดและหน้าควาย โดยให้เหตุผลว่า พิณทั้งสามแบบนี้ จะสามารถเป็นสื่ออนุสรณ์เตือนใจลูกหลานชาวอีสานให้ทราบว่า เดิมทีบรรพบุรุษได้ใช้ควาย ไถ คราด เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำนาเลี้ยงชีพ

pin 06อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ พิณเป็นสัจธรรมแห่งการครองตน ตึงมากก็ขาด หย่อนมากก็ไม่ดี ให้อยู่สายกลาง เปรียบกับสายพิณที่มีสามสาย แต่ละสายจะมีเสียงสูง กลางและต่ำ ถ้าทั้งสามอยู่ในลักษณะพอดี ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เสียงพิณที่ออกมาก็จะมีความไพเราะน่าฟัง "พิณเมืองลือ" จะเรียกว่า พิณจากใจก็ย่อมได้ เพราะผู้ผลิตก็ผลิตจากใจ วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาผลิต ส่วนหนึ่งก็ได้มาจากน้ำใจอันดีงามของเพื่อนบ้าน

ผู้ที่เดินทางมาจากต่างถิ่นก็มาชม มาซื้อด้วยใจรัก พิณที่ผลิตได้ส่วนหนึ่งก็บริจาคให้สถานศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ได้ศึกษา และให้ผู้มีใจรักในเสียงพิณจริงๆ ก็มีมาก ผู้ที่มาซื้อพิณไปบางคนก็ซื้อไปประดับบ้าน บ้างก็สะสม บ้างก็นำไปขายต่อ บางคนก็นำไปฝึกดีดพิณจริงๆ ปัจจุบัน พ่อสงวน ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาผลิตพิณอย่างไม่ว่างเว้น

มีผู้สนใจทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดมาแวะชม แวะซื้อมิได้ขาด นับว่า พิณเมืองลือ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีศิลปไม่ซ้ำแบบใคร เป็นที่ภาคภูมิใจแก่คนเมืองลืออำนาจอย่างแท้จริง

ข้อมูล : ธงชัย ชัยศิริกุล
sa nguan 03
ขอแสดงความคารวะและอาลัย : ต่อการจากไปของ คุณพ่อสงวน ทรัพย์เตี้ย เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2545 ทิ้งไว้แต่เบื้องหลังของผลงานที่หลากหลายให้กับเยาวชนคนรุ่นหลังได้เป็นแบบอย่างและศึกษา

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)