คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ศิลปินพื้นบ้านอีสาน สาขา ศิลปะการแสดง
ศิลปินหมอลำที่มีผลงานมากมายอีกคนหนึ่ง ได้บันทึกแผ่นเสียงทั้งเพลงลูกทุ่ง หมอลำ และการลำเรื่องต่อกลอน
นางอังคนางค์ คุณไชย เกิดเมื่อ วันที่ 6 กุมภาพันธุ์ 2498 ณ บ้านเลขที่ 152 หมู่ 8 ตำบลโคกสาร อำเภอชานุมาน จังหวัดอุบลราชธานี (จังหวัดอำนาจเจริญ ในปัจจุบัน) แต่เดิมชื่อ "ทองนาง คุณไชย" มีพี่น้อง 7 คน (เป็นคนสุดท้อง) เริ่มการศึกษาเบื้องต้นระดับชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนบ้านโคกสารเทิง ตำบลโคกสาร อำเภอชานุมาน จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยสอบได้ที่ 1 ของทุกชั้นเรียน ปัจจุบันสมรสกับ นายอำนวย ศิริมณี ทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน จึงรับเลี้ยงลูกบุญธรรม 1 คน ซึ่งก็คือ "สุนิตา คุณไชย (ชื่อเล่น : พลอย)"
ก่อนเข้าสู่วงการหมอลำ เด็กหญิงทองนาง จบการศึกษาชั้นป.4 และไม่ได้เรียนต่อเนื่องจากฐานะทางบ้าน ยากจน ในวัยเด็กชอบฟังเพลง และร้องเพลงลูกทุ่ง หมอลำ เมื่อมีโอกาสทุกครั้งจะไปร้องเพลงที่ทางโรงเรียนจัดในหมู่บ้านทุกครั้ง ซึ่งจะได้คำชม และรางวัลบ้าง โดยมีคุณพ่อ เป็นผู้สนับสนุนในการร้องเพลง เมื่อพ่อเข้าในเมืองเพื่อไปขายสินค้าเมื่อไร ก็จะซื้อตำราเรียนหมอลำมาฝากเสมอ
จนวันหนึ่งพ่อได้มาไปฝากฝึกเรียนหมอลำกับ สำนักงานหมอลำของ อาจารย์ทองลือ แสนทวีสุข และ อาจารย์ฉวีวรรณ ดำเนิน (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2536) เรียนอยู่ประมาณ 2 ปี และในปี 2514 อาจารย์อุไร สง่าจิตร หัวหน้าคณะอุบลพัฒนา เห็นว่า มีบทบาทการแสดงที่ดีประกอบกับมีสุ้มเสียงที่ไพเราะ จึงได้ให้เริ่มแสดงเป็นตัวประกอบก่อน และค่อยๆ พัฒนามาเป็นตัวนำ "นางเอกของเรื่อง" และได้แสดงเป็นนางเอกเรื่องแรก คือ ลำเรื่องต่อกลอนเรื่อง นางนกกระยางขาว ซึ่งได้รับการตอบรับจากแฟนหมอลำ ทางภาคอีสานและภาคอื่นเป็นอย่างมาก จนมีผลงานออกมาต่อเนื่องเรื่อยมา
อังคนางค์ คุณไชย กับลูกสาว น้องพลอย
จนในปี 2517 จุดเปลี่ยนของ อังคนางค์ คุณไชย น่าจะอยู่ที่อัลบั้มเพลง สาวอุบลรอรัก และเพลง พี่จ๋าหลับตาไว้ ที่ทำให้มีกลุ่มแฟนเพลงขยายออก อย่างกว้างขวาง จนเรียกได้ว่าเป็นเพลงแจ้งเกิดในวงการเพลงลูกทุ่งหมอลำ และในปี 2521 ได้ออกจากคณะอุบลพัฒนา มาตั้งคณะเป็นของตัวเอง ชื่อคณะเมืองดอกบัว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากต้องลงทุนมาก และดูแลลูกน้องเกือบ 200 กว่าชีวิต
ในปี 2524 จึงตัดสินใจยุบคณะ และไปรวมกับคณะหมอลำเรื่องต่อกลอน คณะเพชรอุบล ของ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2549) ทำให้มีชื่อเสียง และเป็นคู่ขวัญกันจนเรียกได้ว่า ถ้าผิดจากคู่นี้ไปคู่กับคนอื่นๆ ก็จะได้รับการต้อนรับที่น้อยมาก ระหว่างนั้นก็มีการออกอัลบั้มกับค่ายเพลงต่างๆ หลายๆ ค่าย ในสไตล์ลูกทุ่ง-หมอลำ ลำเพลิน ลำเต้ย ลำล่อง หรือการแสดงลำเรื่องต่อกลอนต่างๆ เรื่อยมา และผลงานเพลงสร้างชื่อให้กับ อังคนางค์ คุณไชย มีอยู่หลายบทเพลง เช่น บ่าวภูไท , อีสานลำเพลิน , เสียงพิณบาดใจ , มีบ้างไหมรักจริง ฯลฯ ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ทำงานมา อังคนางค์ คุณไชย ได้ตั้งปณิธานว่า
"จะอุทิศชีวิต เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน การแสดงศิลปะพื้นบ้านลูกทุ่งหมอลำ ให้ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม การแสดงพื้นบ้านให้กับประชาชน และอนุชนรุ่นหลังสืบไป โดยมีโครงการจะเปิดเป็นโรงเรียนสอนการแสดงหมอลำพื้นบ้าน สำหรับ เยาวชนรุ่นลูก รุ่นหลาน ที่มีใจรักในการแสดง และการร้องหมอลำในจังหวัดที่ตนเองอยู่"
ปัจจุบัน อังคนางค์ คุณไชย มีผลงานอยู่กับบริษัท เทปบูรพา (1991) จำกัด ในผลงานลำเรื่องต่อกลอนเรื่อง ดาวลูกไก่ และงานเพลงสุดยอดลำเพลิน เป็นสาวรอบสอง และผลงานล่าสุดคือ สุดยอดลำเต้ย ผัวไปใต้หนู ซึ่งได้ร้องคู่ กับศิลปินแห่งชาติปี 2549 ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ซึ่งเป็นคู่ขวัญ คู่พระ คู่นาง กันมา ตลอด
อังคนางค์ คุณไชย ปัจจุบันได้ช่วยงาน และรับงานส่วนตัว และยังได้รับเกียรติใด้ดำรงตำแหน่ง กรรมการตัดสินการประกวดต่างๆ สำคัญๆ ของทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกด้วย
พฤศจิกายน 2017 อังคนางค์ คุณไชย ได้รับเชิญในเพลง "เข้ามา" ร่วมกับ ปริญญา อินทชัย (ดาบอยเวย์ หรือ เวย์ ไทยเทเนี่ยม) และได้ถูกบรรจุในอัลบั้มของเวย์ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปี 2563
ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 152 หมู่ 8 ตำบลโคกสาร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ โทรศัพท์ 08-9029-0226 ติดต่อทาง Facebook ได้
อังคนางค์ คุณไชย - ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน
อีสานลำเพลิน ต้นฉบับ คณะอุบลพัฒนา
โดย แวง พลังวรรณ จาก ผู้จัดการรายวัน 29-30 เมษายน 2543 หน้า 12
อังคนางค์ คุณไชย และ อีสานลำเพลิน คือต้นธาร-ต้นแบบของเพลงลูกทุ่งที่เรียกกันว่า "ลูกทุ่งอีสาน" เธอคือผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "นักร้องคนแรก" สำหรับเพลงแนวนี้ เป็นนักร้องสาวที่มีตำแหน่งนางเอกหมอลำเป็นเครื่องประกัน และรับประกันว่า เพลงลูกทุ่งที่อิงแนวหมอลำของเธอนั้น ถูกต้องตามแบบแผนของศิลปะอันล้ำค่าของชาวอีสาน
เอกลักษณ์และความเป็นธรรมชาติในน้ำเสียง ที่เธอได้ถ่ายทอดผลงานการประพันธ์ให้เป็นบทเพลงนั้น คือ ต้นแบบและความภูมิใจของชาวอีสานทั้งภาค กิริยามารยาทอันนิ่มนวลอ่อนหวานที่ซ่อนไว้ภายในหัวใจแกร่ง คือตัวแทนของหญิงสาวชาวอีสาน ผู้ที่ได้ชื่อว่า เป็นสาวผู้ดี และอังคนางค์ คุณไชย เธอคือนางเอกตลอดกาลในหัวใจของใครหลายคน แน่นอน รวมทั้งหัวใจดวงน้อยของผู้เขียนด้วย
นางเอกหมอลำ คือ บุคลากรที่ได้ผ่านการกลั่นกรองและคัดสรรเป็นอย่างดี ด้วยสายตาและประสบการณ์ของครู หรืออาจารย์ผู้สอนลำ โดยพื้นฐานผู้ที่จะเป็นนางเอกหมอลำได้ จะต้องเป็นหญิงสาวที่มีรูปร่างดี หน้าตาสะสวย เสียงดี และยังต้องมีคุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ คือ ต้องมีสติปัญญาและความจำเป็นเลิศ เพราะการเรียนลำนั้นจำเป็นจะต้องมีการท่องกลอนลำเป็นจำนวนมาก
และหากฝึกเป็นลำกลอนด้วยแล้ว นางเอกหมอลำจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีปฏิภาณไหวพริบ เพราะต้องใช้การลำแก้กลอน ตลอดรวมทั้งการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม ในระดับพอๆ กับพระสงฆ์ทีเดียว
ท่วงท่าในการร่ายรำที่สวยงาม อ่อนช้อยถูกต้องตามหลักการฟ้อนรำ ตามแบบแผนของหมอลำ คือสิ่งที่ต้องฝึกฝน รวมไปถึงการรักษากิริยามารยาท การพูดจาให้ไพเราะอ่อนหวาน และเป็นผู้มีจิตใจงาม ชาวอีสานเรียกคนประเภทนี้ว่า "สาวผู้ดี" และนี่แหละคือ คุณสมบัติของอังคนางค์ คุณไชย นางเอกทั้งในชีวิตจริงและในโลกมายา
อังคนางค์ คุณไชย มีชื่อเดิมที่น้อยคนนักจะล่วงรู้ เนื่องจากเธอได้เปลี่ยนเป็น "อังคนางค์" ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 นั่นหมายถึงว่า เธอเปลี่ยนตั้งแต่ก่อนที่จะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในนามของนางเอกหมอลำชื่อสะท้านอีสาน หรือนักร้องชื่อก้องเมืองไทย ชื่อเดิมเธอหวงนักหวงหนาและเก็บงำไม่เคยพูดถึงคือ "ทองนาง" ทั้งนี้มิใช่เธอรังเกียจชื่อเดิม เป็นแต่เพียงว่า ผู้คนทั่วไปต่างรู้จักเธอคือ "อังคนางค์" ในนามของสาวหมอลำ และนักร้องเสียงเสน่ห์เป็นอย่างดีแล้ว และที่สำคัญไม่มีผู้ใดถามไถ่เธอเลย
อังคนางค์ คุณไชย (อ่านว่า คุน-นะ-ชัย) เกิดที่บ้านโคกสารเทิง ตำบลโคกสารเทิง อำเภอชานุมาน จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น) ซึ่งบัดนี้ ชานุมานเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอำนาจเจริญ และเป็นอำเภอเดียวที่มีดินแดนติดแม่น้ำโขง และเป็นอำเภอเดียวของจังหวัดที่เป็นอำเภอชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป.ลาว
อังคนางค์ คุณไชย ไหว้ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา (นักแต่งเพลง)
เธอเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2498 หลังจบการศึกษาภาคบังคับชั้นประถมปีที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2509 เด็กหญิงทองนาง ก็เหมือนกับลูกชาวบ้านโคกสารเทิง และลูกชาวอีสานครึ่งค่อนภาค ที่มองเห็นภาพในอนาคตของตัวเองกรำงานอยู่กลางทุ่งนา เพราะการที่จะได้เข้าเรียนต่อในชั้นสูงๆ นั้น ไม่ใช่คนในฐานะลูกสาวชาวนาอย่างเธอจะใฝ่ฝัน ความฝันเช่นนั้น มันถูกสงวนไว้เฉพาะลูกครูหรือลูกตำรวจเท่านั้น
ด้วยความที่เป็นลูกสาวหล่า (ลูกสาวคนสุดท้อง) ในจำนวนลูก 7 คนของพ่อ-แม่ ทองนางจึงไม่จำเป็นต้องออกไร่ออกนาเหมือนพี่ๆ ที่แบกรับภาระไปก่อนหน้าแล้ว เธอได้ขอพ่อ-แม่ไปเรียนกลอนลำกับหมอลำกลอนชื่อดังของเมืองอุบลฯ อาจารย์ทองลือ แสนทวีสุข เรียนลำกลอนอยู่ได้ 2 เดือนครึ่ง ก็ได้พบกับอาจารย์กลอนลำสองสามี-ภรรยาคือ อาจารย์อัมพร สง่าจิตร และศรีภรรยา อาจารย์อุไร สง่าจิตร หมอลำคู่-ลำกลอนชื่อดังของเมืองอุบลฯ เช่นกัน จึงได้ลาออกจากสำนักงานหมอลำของอาจารย์ทองลือไปอยู่กับอาจารย์อัมพร
ในปี พ.ศ. 2511 อาจารย์อัมพรได้ย้ายสำนักงานหมอลำไปอยู่ที่ จังหวัดขอนแก่น ทองนางจึงต้องติดตามอาจารย์ไปอยู่ที่ขอนแก่น เพื่อเรียนวิชาการแสดงหมอลำกลอนให้สำเร็จ
ขณะนั้น "รังสิมันต์" คณะหมอลำเรื่องต่อกลอน กำลังดังทะลุฟ้าแดนอีสานด้วยลำเรื่องต่อกลอน "นางมโนราห์" ความดังของรังสิมันต์ได้จากคุณภาพ และความสามารถในเชิงศิลปะการแสดงที่เป็นเลิศของ ทองคำ เพ็งดี พระเอกเสียง "ควง" (กังวาน) เชิงชั้นการลำนั้นอยู่ระดับอาจารย์ และ ฉวีวรรณ ดำเนิน นางเอกเสียงใส และวาดลีลาที่งดงาม ว่ากันว่า คู่พระคู่นางของรังสิมันต์ "ทองคำ-ฉวีวรรณ" นั้นได้รับความนิยมจากชาวอีสาน ในระดับเดียวกันกับพระเอก-นางเอกคู่ขวัญ "มิตร-เพชรา" (มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์) ของวงการภาพยนตร์ไทยทีเดียว
ความโด่งดังของรังสิมันต์นั้น มีเรื่องเล่าขานในหมู่นักฟังลำชาวอีสานว่า ถึงระดับผู้ฟังต้อง "ควดหม่องเยี่ยว" (ขุดที่ปัสสาวะ) หมายถึงบทบาทการแสดง และความไพเราะของเสียงกลอนลำของหมอลำได้ตรึงผู้ฟัง ซึ่งนั่งฟังอยู่กับพื้นดิน ส่วนใหญ่ได้แก่ลานวัดที่มีพื้นเป็นทราย ให้ถึงกับต้องใช้มือขุดทรายให้เป็นหลุม เพื่อถ่ายเบาที่ตรงนั้น เมื่อเสร็จกิจก็จะใช้ทรายรอบๆ ปากหลุมนั้นเกลี่ยทับแล้วนั่งฟังลำต่อไป เพราะการลุกออกไปถ่ายเบาข้างนอก แม้จะเสียเวลาเพียงนิดก็จะทำให้เรื่องราวสะดุดขาดตอน
การขาดตอนในการฟัง หรือพลาดไปแม้เสี้ยวนาที สำหรับการแสดงของคณะรังสิมันต์ถือว่า เป็นความสูญเสียอย่างมหันต์ทีเดียว เพราะในหมู่ชาวอีสานนั้นจะมีวัฒนธรรมหลังการฟังหมอลำอยู่อย่างหนึ่ง คือ การจับกลุ่มกล่าวขวัญทบทวนเรื่องราวหรือบทบาทของหมอลำที่ได้ชม ซึ่งการกล่าวขวัญนี้กินเวลาเป็นเดือนเป็นปี และถ้าหากได้มารู้ในภายหลังว่า ตัวเองนั้นพลาดทีเด็ดไปเพราะไม่รู้จัก "อั้น" หรือไม่รู้จักใช้วิธีปลดปล่อยที่แยบยลแล้ว ก็จะยังความเสียใจและเสียดายแก่ผู้นั้นไปอีกเป็นเดือนเป็นปี หรือจนกว่าหมอลำคณะนั้นจะย้อนกลับมาแสดงให้ได้แก้ตัวอีกครั้ง นั่นคือพฤติกรรมที่สะท้อนถึงอารมณ์ซาบซึ้งในศิลปะของชาวอีสานที่มีต่อหมอลำ ศิลปะประจำภาค
ดังนั้น "การควดหม่องเยี่ยว" ในเวลาฟังลำ จึงถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ควรได้รับการให้อภัย และกฎเกณฑ์ในเรื่องกิริยามารยาทอันดีงาม จะถูกงดเว้นเป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกันจำนวนของกองทรายพูนบนลานวัด ยังใช้เป็นดัชนีชี้วัดความนิยมของ "มิตรที่แก่นแฟนที่รัก" ที่มีต่อคณะหมอลำได้อีกด้วย และคณะผู้ประเมินและวัดผลก็ใช่ใครอื่น ก็ สมภาร พระลูกวัดและลูกศิษย์สังฆ์การีวัด นั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของสถานที่ ที่จะต้องทำการเก็บกวาดลานวัดในตอนรุ่งเช้าวันถัดมา
ด้วยชื่อเสียงเกียรติยศที่กำจรกำจายคับฟ้าอีสานของ คณะหมอลำรังสิมันต์ เป็นเหตุให้อาจารย์อัมพร หัวหน้าสำนักที่ทองนางฝึกหัดลำ ต้องเบนเข็มเปลี่ยนทิศทาง และปฏิรูปแนวลำกันใหม่ เลิกการฝึกหัดลำกลอน แล้วมาสอนและฝึกซ้อม "ลำเรื่องต่อกลอน" แทน เพื่อตอบรับและปรับตัวให้ทันกับกระแสความนิยมของมหาชน และการจะเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน หรือหมอลำหมู่นั้นจำเป็นต้องมีคณะ มีชื่อคณะ ซึ่งต่างจากลำกลอนซึ่งไม่จำเป็นต้องมีชื่อคณะ อาจารย์อัมพรจึงได้จัดการตั้งคณะหมอลำเรื่องต่อกลอนขึ้น และใช้ชื่อคณะว่า "อุบลพัฒนา"
ในระยะเริ่มต้น ทองนางได้รับวางตัวเป็นหางเครื่อง สำหรับช่วงโชว์เพลงและเต้นโชว์ ซึ่งเป็นช่วงโหมโรงก่อนถึงการแสดงหมอลำ และรับบทตัวประกอบเมื่อถึงช่วงที่หมอลำออกทำการแสดง เธอต้องรับบทได้ทุกอย่าง อาทิ นางทาสี นางสนมกรมใน ตัวตามนางเอก เรียกว่า ตัวแสดงประกอบฝ่ายหญิงมีตำแหน่งใดขาด เธอเป็นต้องมีหน้าที่เติมเต็มในส่วนนั้น
และเมื่อการแสดงจบลง บทบาทด้านหลังเวทีและที่บ้านอาจารย์ ซึ่งใช้เป็นสำนักงานหมอลำนั้น ทองนางต้องรับบทเป็นทั้งพี่เลี้ยงให้กับลูกๆ ของอาจารย์ เป็นคนรับใช้ที่ต้องคอยเก็บกวาด เช็ดถู ดูแลบ้าน ล้างถ้วย ล้างจาน และหน้าที่อื่นๆ ที่คนในฐานะผู้อาศัยจะพึงตอบแทนต่อผู้เป็นเจ้าของบ้าน
สไบแพร บัวสด เล่าความหลังเมื่อครั้งอยู่ "คณะอุบลพัฒนา" กับเพื่อนรัก อังคนางค์ คุณไชย
ปี พ.ศ. 2512 อาจารย์อัมพรได้จัดการเปลี่ยนชื่อให้ทองนางเป็น "อังคนางค์ คุณไชย" พร้อมๆ กันนั้น ก็เปลี่ยนชื่อเพื่อนรักชาวอุดรธานีของทองนาง ผู้ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขพากเพียรเรียนลำมาด้วยกัน คือ ทองใบ บัวสด ให้เป็น "สไบแพร บัวสด"
ปี พ.ศ. 2514 ชื่อเสียงของชาวคณะอุบลพัฒนาเริ่มดีขึ้น จึงได้บันทึกแผ่นเสียงการแสดงสดออกจำหน่าย ในรูปการแสดงแบบลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง "นางนกกระยางขาว" อันเป็นเรื่องราวนิทานธรรมะ แสดงให้เห็นถึงทานบารมี ซึ่งมีตัวเอกชื่อ นางสุชาดา หนึ่งในจำนวนมเหสีหลายๆ คนของพระอินทร์ นางสุชาดาต้องรับผลแห่งวิบากกรรมโดยลงมาใช้ชาติใช้เวรกรรม ต้องนุ่งห่มถือครองผ้าขาวในร่างของนกกระยางขาว (นกกินปลาที่มีสีขาวปลอด) และต้องฝืนสัญชาติญาณสัตว์ด้วยการทำตบะ บำเพ็ญเพียรรักษาศีลข้อปาณาติบาตอย่างเคร่งครัด
คู่พระ-คู่นางอุบลพัฒนาในอดีต ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม - อังคนางค์ คุณไชย
และด้วยความสาว สวย รูปร่างดี และเสียงดี บทนางเอกใน "นางนกกระยางขาว" จึงเป็นของอังคนางค์ คุณไชย คู่กับพระเอกตลอดกาลของอุบลพัฒนา ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม และต่อมาชื่อของ "ป.ฉลาดน้อย-อังคนางค์" ก็กลายเป็นคู่พระคู่นางไต่ระดับขึ้นเทียบชั้น "ทองคำ-ฉวีวรรณ" เหมือนปรากฏการณ์ที่ "สมบัติ เมทะนี-อรัญญา นามวงศ์" ขึ้นทาบรัศมี "มิตร-เพชรา" ในวงการหนังไทย
ในปีเดียวกันนี้ อุบลพัฒนา ได้เข้าประกวดแข่งขันลำเรื่องต่อกลอน ที่จัดขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 ขอนแก่น แล้วคว้ารางวัลชนะเลิศ นับแต่นั้น ชื่อเสียงของอุบลพัฒนาก็เป็นที่กล่าวขานถึงของแฟนหมอลำทั้งภาคอีสาน และข้ามภาคเข้ามาเปิดทำการแสดงในกรุงเทพฯ โดยการจัดของนักจัดรายการในกรุงเทพฯ อุบลพัฒนาได้เข้าเฉลี่ยส่วนแบ่งในตลาดที่รังสิมันต์เคยผูกขาดทั้งในภาคอีสานและในกรุงเทพฯ
สาเหตุที่อุบลพัฒนาสามารถแทรกตัวและผงาดขึ้นได้ ก็เนื่องจากราคาค่าจ้างหมอลำคณะรังสิมันต์นั้นถูกตั้งไว้สูง และยังพ่วงเงื่อนไขในการรับงานไว้อีกมากมาย อุบลพัฒนาจึงเป็นทางเลือกให้เจ้าภาพ และคณะกรรมการจัดงานที่มีทุนทรัพย์ไม่มากพอที่จะจ้างรังสิมันต์ได้ ต่างก็หันมาหาอุบลพัฒนากันทั้งนั้น และอุบลพัฒนาคือตัวเลือกอันดับ 1 ที่พัฒนาฝีมือจนดีวันดีคืน
สาวอุบลรอรัก โดย อังคณางค์ คุณไชย
อังคนางค์ คุณไชย มีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อได้ลำคู่กันกับพระเอกคณะอุบลพัฒนา ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม มีลำกลอนอัดแผ่นเสียง (เทป/ซีดี) หลายเรื่อง เช่น นางนกกระยางขาว นางนกกระจอกน้อย พระเวสสันดรชาดก เป็นต้น เป็นนางเอก-พระเอกคู่กันของคณะอุบลพัฒนา
การแสดงหมอลำ ร่วมกับ แม่ฉวีวรรณ ดำเนิน และ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)