คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นายทองคำ เพ็งดี เกิดที่บ้านตากแดด ตำบลตากแดด อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านตากแดด เมื่อได้บวชเป็นพระภิกษุได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง กลอนวรรณกรรมอีสาน บวชได้ 1 พรรษา ได้ลาสิกขาไปอาศัยอยู่กับวงหมอลำคณะต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี
นายทองคำ เพ็งดี เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการขับร้องหมอลำเป็นเลิศ สามารถถ่ายทอดความสามารถ ทั้งน้ำเสียงที่มีเอกลักษณ์ ตลอดทั้งบทบาท และการแสดงที่เป็นแบบฉบับของตนเอง สร้างความประทับใจต่อสาธารณชนมากที่สุดในวงการหมอลำของภาคอีสาน ที่ยากจะหาใครเทียบเคียงได้ ยิ่งได้มาจับคู่กับ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ในระยะต่อมา ก็ฉายแววประกายศิลปินออกมาอย่างเด่นชัด ส่งผลให้ได้บันทึกเสียงหมอลำกลอนครั้งแรกคู่กันกับ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ในปี พ.ศ. 2502 หลังจากนั้นก็ได้แสดงร่วมกันมาโดยตลอด
จนกระทั่งได้ตั้งเป็นวงหมอลำหมู่ชื่อ "คณะรังสิมันต์" ขึ้นในปี พ.ศ. 2521 ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม ทำให้คณะรังสิมันต์ โด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง นับเป็นคณะหมอลำเรื่องต่อกลอน ที่มีผู้นิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์ของอีสานในยุคสมัยนั้น และยังสามารถกระจายความนิยมออกไปทั่วประเทศ จากการลำออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ จนได้รับการบันทึกแผ่นเสียงและเทปโทรทัศน์ โดยบริษัท ลิเวอร์บราเทอร์ และบริษัท อังกฤษ ตรางู ซึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดเป็นตำนาน คือเรื่อง พระสุธน-มโนราห์ จำปาสี่ต้น นางแตงอ่อน และอีกหลายเรื่อง
ลำกลอนทำนองอุบล โดย หมอลำทองคำ เพ็งดี
หมอลำทองคำ เพ็งดี ได้เป็นแบบอย่างค้นคิด การลำเรื่องต่อกลอนทำนองอุบล ซึ่งจะเน้นการเล่นลูกคอหลายชั้น ชวนให้ผู้ฟังเกิดการคล้อยตามได้เป็นอย่างดี อันเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องการให้เกิดเป็น แบบฉบับเฉพาะของหมอลำอุบล
ลำล่องสังขาร โดย ทองคำ เพ็งดี (แสดงสด)
นอกจากนั้น ท่านยังมีความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่ง ที่แฟนหมอลำในยุคนั้นรู้จักกันดีคือ การเลียนเสียงสัตว์ชนิดต่างๆ ได้เหมือนจริง โดยเฉพาะเสียงขันของนกเขา จนได้รับฉายาว่า "นกกาเหว่า" บ้าง "นกเขาขัน" บ้าง ซึ่งมาจากการใช้เสียงประกอบการลำ ฉากเดินทางในการชมป่า อันเป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของศิลปินยอดนิยมตลอดกาลท่านนี้
จนเมื่อปี พ.ศ. 2537 ทองคำ เพ็งดี ได้เสียชีวิตลง ท่ามกลางความเศร้าสลดของบรรดาผู้ชื่นชอบ ที่เป็นมิตรหมอแคนแฟนหมอลำตัวจริง และรวมถึงประชาชนชาวอีสานที่ทราบข่าว แต่สิ่งที่ท่านได้ฝากเอาไว้ให้กับผืนดินถิ่นอีสานก็คือ มรดกหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองอุบล ที่ท่านเป็นต้นแบบ จึงสมควรสืบสานและถ่ายทอดให้คงไว้สืบต่อไป
นายทองคำ เพ็งดี จึงได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ลำเรื่อง) ประจำปีพุทธศักราช 2550 จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ลำล่อง ห้าปีที่จาก โดย หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน และหมอลำทองคำ เพ็งดี
ภาคอีสานในยุค พ.ศ. 2510 นั้น "รังสิมันต์" คือคณะหมอลำเรื่องต่อกลอน ที่กำลังดังทะลุฟ้าแดนอีสานด้วยลำเรื่องต่อกลอน "ศรีธน-มโนราห์" ความดังของรังสิมันต์นั้นได้จากคุณภาพ และความสามารถในเชิงศิลปะการแสดงที่เป็นเลิศของ ทองคำ เพ็งดี พระเอกเสียง "ควง" (กังวาน) เชิงชั้นการลำนั้นอยู่ในระดับอาจารย์ และ ฉวีวรรณ ดำเนิน นางเอกเสียงใส และวาดลีลาที่อ่อนช้อยงดงาม ว่ากันว่า คู่พระคู่นางของหมอลำ คณะรังสิมันต์ "ทองคำ-ฉวีวรรณ" นั้นได้รับความนิยมจากชาวอีสาน ในระดับเดียวกันกับพระเอก-นางเอกคู่ขวัญ "มิตร-เพชรา" (มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์) ของวงการภาพยนตร์ไทยเลยทีเดียว
ความโด่งดังของรังสิมันต์นั้น มีเรื่องเล่าขานในหมู่นักฟังลำชาวอีสานว่า ถึงระดับผู้ฟังต้อง "ควดหม่องเยี่ยว" (ขุดที่ปัสสาวะ) หมายถึงบทบาทการแสดง และความไพเราะพของเสียงกลอนลำของหมอลำ ได้ตรึงให้ผู้ฟังซึ่งนั่งฟังอยู่กับพื้นดิน ส่วนใหญ่ได้แก่ลานวัดที่มีพื้นเป็นดินทราย ให้ถึงกับต้องใช้มือขุดทรายให้เป็นหลุม เพื่อถ่ายเบา ณ ที่ตรงนั้น เมื่อเสร็จกิจก็จะใช้ทรายรอบๆ ปากหลุมนั้นแหละ เกลี่ยทับแล้วนั่งฟังลำต่อไปจนซอดแจ้ง เพราะการลุกออกไปถ่ายเบาข้างนอก แม้จะเสียเวลาเพียงนิดเดียว ก็จะทำให้เรื่องราวสะดุดขาดตอนไป
ลำเรื่อง ศรีธน-มโนราห์ โดย คณะรังสิมันต์
การขาดตอนในการฟัง หรือพลาดไปแม้เสี้ยวนาที สำหรับการแสดงของคณะรังสิมันต์ถือว่า เป็นความสูญเสียอย่างมหันต์ทีเดียว เพราะในหมู่ชาวอีสานนั้น จะมีวัฒนธรรมหลังการฟังหมอลำอยู่อย่างหนึ่ง คือ การจับกลุ่มกล่าวขวัญทบทวนเรื่องราว หรือบทบาทของหมอลำที่ได้ชมกันมา ซึ่งการกล่าวขวัญนี้อาจกินเวลาเป็นเดือน เป็นปี และถ้าหากได้มารู้ในภายหลังว่า ตัวเองนั้นพลาดทีเด็ดไป เพราะการไม่รู้จัก "อั้น" หรือไม่รู้จักใช้วิธีปลดปล่อยที่แยบยลแล้ว ก็จะยังความเสียใจและเสียดายแก่ผู้นั้นไปอีกเป็นเดือนเป็นปี หรือจนกว่าหมอลำคณะนั้นจะย้อนกลับมาแสดงให้ได้แก้ตัวอีกครั้ง นั่นคือพฤติกรรมที่สะท้อนถึงอารมณ์ซาบซึ้งในศิลปะของชาวอีสานที่มีต่อ "หมอลำ" ศิลปะประจำภาค
ดังนั้น "การควดหม่องเยี่ยว" ในเวลาฟังลำ จึงถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ควรได้รับการให้อภัย และกฎเกณฑ์ในเรื่องกิริยามารยาทอันดีงาม จะถูกงดเว้นเป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกันจำนวนของกองทรายพูนบนลานวัด ยังใช้เป็นดัชนีชี้วัด (สมัยปัจจุบันเอิ้นว่า KPI ตามแบบฝาหรั่ง) ความนิยมของ "มิตรที่แก่นแฟนที่รัก" ที่มีต่อคณะหมอลำได้อีกด้วย และคณะผู้ประเมินและวัดผลก็ใช่ใครอื่น ก็ สมภาร พระลูกวัด และบรรดาลูกศิษย์สังฆ์การีวัด นั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของสถานที่ ที่จะต้องทำการเก็บกวาดลานวัดในตอนรุ่งเช้าวันถัดมา
เต้ยเดือนห้า-งิ้วต่องต้อน โดยหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน-ทองคำ เพ็งดี "คณะรังสิมันต์"
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)