foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

heet pai kong koei

ครอบครัว ถือว่าเป็นระดับปฐมภูมิของสังคม การสร้างครอบครัวให้มีความสุข นอกจากจะยึดเอาหลักธรรมในการครองเรือนแล้ว จำต้องมีกฎระเบียบสังคมในการดูแลและควบคุม รวมถึงต้องมีผู้ดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบนั้นๆ เมื่อมีการละเมิดกฎขึ้น ในสังคมอีสานมีกฎประจำครอบครัวที่เรียกว่า "คองเฮือน" เป็นสิ่งที่ต้องทำตามเพื่อให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุข เป็นปึกแผ่น ที่ทุกคนจะต้องทำตามกฎนี้อย่างเคร่งครัด ถ้าสนใจเรื่องของ "ฮีตคอง" ที่ทำให้สังคมเป็นสุขอ่านเพิ่มเติมได้จากเรื่อง : คองสิบสี่

ฮีตใภ้คองเขย

จากคองสิบสี่นั้นจะมีเรื่องของ "ฮีตใภ้คองเขย" อยู่ด้วย และมีท่านที่ปรารถนาอยากเป็นเขยอีสานถามกันมาว่า "มีรายละเอียดเพิ่มเติมหรือไม?" ก็เลยจัดมาให้อ่านกันในวันนี้

คำว่า “ใภ้” หมายถึง ลูกสะใภ้ รวมถึงหลานสะใภ้ ส่วน “เขย” หมายถึง ลูกเขย รวมทั้งหลานเขยด้วย แต่ตามปรกติหมายเอาเพียงตัวลูกสะใภ้และลูกเขยเท่านั้น

การเป็น "เขยอีสาน"

การจะเป็น "ลูกเขย" ในสังคมของชาวอีสานนั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ

  • เขยสู่ หมายถึง การเป็นลูกเขยที่เข้าตามตรอกออกตามประตู คือ การไปมาหาสู่ ติดต่อกับครอบครัวฝ่ายหญิงจนเป็นที่รับรู้ของญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย และมีการสู่ขอจัดงานแต่งงานตามธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม จะเป็นงานแต่งเล็กๆ ให้รับรู้กันเพียงคนในครอบครัวทั้งสอง หรือจะเป็นการจัดงานใหญ่โตมีแขกเหรื่อนับพัน ก็ถือว่าเป็น "เขยสู่" ทั้งสิ้น
  • เขยซู หมายถึง เขยที่เข้าสู่ครอบครัวฝ่ายหญิงด้วยการได้เสียกันก่อน แล้วจึงมาสู่ขอตามประเพณีในภายหลัง ซึ่งเป็นนัยรับรู้กันว่า "ค่าดอง" หรือค่าสินสอดจะลดลงมากกว่าปกติ แต่ "เขย" ทั้งสองประเภทก็มีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนกัน หากเจ้าโคตรหรือพ่อตา แม่ยาย ไม่อคติหรือรังเกียจที่มาของเขยซู

kong koei 01

อ่านเพิ่มเติม : พิธีกรรมประจำชีวิต | การแต่งงาน

การเข้าสู่ครอบครัวของชาวอีสานนั้น นิยมให้ฝ่ายชายเข้าสู่บ้านฝ่ายหญิง คือ เอาลูกเขยมาอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย เพราะค่านิยมในการถ่ายโอนมรดกในวัฒนธรรมอีสานนั้นจะโอนผ่านฝ่ายหญิง และการนำชายเข้าสู่ครอบครัวมาเป็นเขยนั้น เป็นการนำแรงงานชั้นดีเข้าสู่ครอบครัว ที่จะมีผู้ชายมาแบ่งเบาภาระงาน จึงมีภาษิตอีสานว่า "เอาลูกเขยมาเลี้ยงพ่อเถ้าแม่เถ้า ปานได้ข้าวมาใส่เล้าใส่เยีย" ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายหญิงก็สามารถที่จะไปสู่ครอบครัวของฝ่ายชายได้เช่นกัน แต่กรณีนี้จะมีภาษิตที่ย้อนแย้งว่า "เอาลูกใภ้มาเลี้ยงแม่ย่า ปานเอาห่ามาใส่เฮือน" หรือ “เอาย่าไปอยู่กับลูกสะใภ้ ปานเอาไข้ไปใส่เฮือน” การแต่งงานนำสะใภ้เข้าบ้านจึงไม่เป็นที่นิยมมากนักในสังคมอีสาน

เหมือนกันกับเรื่องเล่าในสมัยครั้งพุทธกาล ที่ลูกๆ ต้องทิ้งพ่อแม่ของตนเพราะฟังความฝ่ายภรรยาตนเองมาก พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนวิธีการให้พราหมณ์เอาชนะลูกๆ ของตนเองมาแล้ว หรือจากประวัติของท่านโมคคัลลานะก็เช่นเดียวกัน ฟังความเมียก็เลยเสียพ่อแม่ จะด้วยอิทธิพลของวรรณกรรมเหล่านี้ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ชาวอีสานไม่นิยมนำลูกสะใภ้ไปอยู่กับปู่ย่า แต่เมื่อยุคสมัยผ่านไปอาจจะมีน้อยหรือไม่มี ถ้าหากลูกสะใภ้ที่ดีย่อมทำตนให้เข้ากับพ่อแม่ของฝ่ายชายได้ด้วยความราบรื่น เช่นเดียวกับลูกเขยที่อยู่กับพ่อตาแม่ยาย แต่ถ้ามีลูกสะใภ้ดีๆ ก็จะเป็นดังเช่น นางวิสาขา มหาอุบาสิกาก็ได้

sukor sao isan

การเข้าสู่ครอบครัวอีสานจะมีสิ่งห้ามที่เป็นจารีตประเพณีในลักษณะมุขปาฐะ (บอกเล่าสืบต่อกันมา) ก่อน เช่น ลูกเขยห้ามนอนเปิง (ห้องพระห้องผี) แต่ก็มีกฎระเบียบที่จะต้องปฏิบัติตามเรียกว่า "คองเขย" (การครองตนเป็นเขยที่ดี) ซึ่งตลอดการเป็นเขยต้องปฏิบัติตามคองเขยนี้ไปตลอด จนกระทั่งเลื่อนขึ้นสู่ความเป็นลุง ปู่ ตา และเป็นเจ้าโคตร (ผู้อาวุโสที่สุดในตระกูล) นี่จึงเป็นการเตรียม "คน (เขย)" เข้าสู่การเป็นเสาหลักของตระกูล (โคตรวงศ์) ในอนาคต

ดังนั้น "ลูกเขย" แม้ในช่วงแรกจะมาอยู่อาศัยกับพ่อตา-แม่ยาย เพื่อช่วยด้านแรงงานสร้างครอบครัว แต่เมื่ออยู่ไปสักระยะหนึ่งจนมีเงินเก็บออมได้พอประมาณ หาไม้สำหรับการสร้างบ้านเฮือนของตนเองได้ ก็จะต้องออกเรือน คือ การไปสร้างครอบครัวใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้น้องสาวภรรยา (น้าสาว) ได้มีคู่ครอง และนำแรงงานใหม่เข้ามาสู่ครอบครัวอีกครั้ง จนกระทั่งเหลือลูกคนหนึ่งที่จะดูแลพ่อแม่ยามแก่ชรา (ส่วนใหญ่จะเป็นน้องสาวคนสุดท้าย) ได้แต่งงานและอยู่เลี้ยงดูพ่อ-แม่ ซึ่งมักจะได้รับการแบ่งปันมรดกมากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ คนอีสานจึงมักกล่าวว่า "ลูกสาวหล่า มูนข่อน" (ลูกสาวคนสุดท้องมรดกเยอะ)

แม้ว่าเขยจะแยกไปสร้างเรือนใหม่แล้ว จนกระทั่งสิ้นพ่อตาแม่ยายแล้วก็ตาม เขยก็ยังต้องอยู่ภายใต้ "คองเขย" เพราะยังมีญาติผู้อาวุโสฝ่ายหญิง เช่น ลุง หรือเจ้าโคตรคอยเป็นเสาหลักให้ เมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นในครอบครัว ต้องมีการประชุมญาติพี่น้อง เจ้าโคตร เพื่อชำระความภายในครอบครัว [ อ่านเพิ่มเติม : การออกเรือนใหม่ ]

จารีตเขยอีสาน

เจ้าเป็นเขยให้เจ้าทำใจกว้าง    อย่ากล่าวอ้างสรรพสิ่งอันใด
ไล่ไก่ให้เจ้าว่า โซ                    ไล่หมาให้เจ้าว่า เส่
ไล่ควายให้เจ้าว่า ฮือ               เจ้าอย่าดื้อเตะเตี่ยวชุยชายต่อหน้าเจ้าโคตร
อย่าปากโพดพางาน               ให้มีใจเลื่อมใสต่อนางนงคราญแก่นไท้ "

(สำลิด บัวสีสะหวัด, 2544 : 165)                                                      

กระบวนการเรียนรู้ในเรื่อง "คองเขย" ในอีสานนั้น มีการถ่ายทอดต่อกันผ่านทางครอบครัว เช่น ตัวอย่างจากพี่เขย ลุงเขย จากการบวชเรียนหรือคำสอนว่าด้วยหน้าที่ของสามีตามหลักพุทธศาสนา จากเอกสารเรื่องฮีตคองในใบลาน คำกล่าวสู่ขวัญของพ่อพราหมณ์ในการบายศรีแต่งงาน ทำให้ทุกคนได้รับการกระตุ้นเตือนให้สำเหนียกในหน้าที่ และการประพฤติตนเป็นเขยตามฮีตคองอยู่เสมอ ดังคำสอนข้างบนนั่นแล

sukor sao isan 2

การกระทำผิดต่อ "คองเขย" นั้นไม่ได้มีบทลงโทษทางกฎหมายบ้านเมืองกำหนดไว้ แต่จะมีการลงโทษตามจารีต คอง หรือครรลอง ที่เคยเป็นมา ตามระเบียบวิธีของครอบครัว หรือเจ้าโคตรกำหนด ซึ่งค้นคว้าแล้วพบว่า มี 8 ข้อ/กรณี ดังนี้

  • กรณีที่ 1 เขยประพฤติดีมาตลอด แล้วพลั้งเผลอกระทำผิด กรณีเช่นนี้ ควรให้อภัย หากกระทำผิดซ้ำถึง 3 ครั้ง ให้มีเงินเบี้ย เหล้าแกลบ (สาโท หรือเหล้าอุรสหวาน) และหมู ขอขมาต่อลุง ตา เจ้าโคตร
  • กรณีที่ 2 เขยขี้เกียจ ไม่ขวนขวายทำไร่ทำนา เจรจาเชิงชู้สาวกับหญิงอื่น ทำตัวเหมือนชายหนุ่ม กล่าวจะเลิกกับภรรยาถึง 3 ครั้ง เตือนแล้วไม่ฟัง ให้ปรับเงิน 100 (ไม่บอกหน่วย น่าจะเป็น บาท) ควาย 1 ตัว และหากไม่พอใจ เกิดหนีไป ความเป็นผัวเมียขาดกันตามพระราชอาญา
  • กรณีที่ 3 เขยตีลูกหลาน ด่า/ตีหมา แมว หมู สัตว์เลี้ยงในบ้านที่พ่อแม่เลี้ยงดู เป็นการไม่ยำเกรง ให้ปรับขันไหม เงิน 100 (ไม่บอกหน่วย น่าจะเป็น บาท) ควาย 1 ตัว หากผิด 2-3 ครั้ง ถ้าเขยจะหนี ให้มีเงิน 1 บาท ดอกไม้ธูปเทียนขอขมาต่อเจ้าโคตร ลุง ตา ก่อนแล้วจึงหนี
  • กรณีที่ 4 เขยที่เป็นญาติฝ่ายลุง/ป้า ถือเป็นเขยศักดิ์สูงกว่า (เชื้อพี่) เกิดความไม่ยำเกรงลุง ตา เจ้าโคตรฝ่ายหญิง ให้ปรับเงิน 2 บาท และขอขมาต่อเจ้าโคตร
  • กรณีที่ 5 เขยที่มีความประพฤติดีมาตลอด จนได้สืบทอดสมบัติพ่อแม่ (แทนมูน) และตลอดเวลาได้ช่วยเหลือญาติพี่น้องฝ่ายหญิงมาด้วยดี ภายหลังเกิดเป็นโทษ อย่าให้คุณที่ทำมาเสียเปล่า ให้โผด (โปรด) ยังเขย ให้เผย (เปิดเผย) ความงาม ความดี ให้มีเพียงดอกไม้ธูปเทียนขอขมา และให้อยู่ตามปกติสุขต่อไป
  • กรณีที่ 6 เขยบอกยากสอนยาก พูดอวดเก่ง อ้างทรัพย์สมบัติ ไม่ขวนขวายเลี้ยงครอบครัว เที่ยวเล่นบ้านนั้นลงบ้านนี้ บ่ฮู้จักแลงงาย (ไม่สนใจเวลากินข้าว เอาใจใส่ครอบครัว) กลายบ้านแม่ บ่แวเฮือนเมีย (ไม่เข้าบ้าน) ให้สมมาเจ้าโคตร แล้วให้ปรับปรุงความประพฤติเสียใหม่
  • กรณีที่ 7 เขยเป็นข้าราชการ ดื่มสุราเป็นอาจิณ เป็นนักเลงการพนัน ขายลูกขายเมียกิน ทำร้ายลูกเมีย ปรารภจะเลิกกับภรรยาถึง 3 ครั้ง หากพูดถึง 3 ครั้งแล้วไม่หนี เป็นโทษ (ถือว่าเป็นคนไม่แน่จริง กระมัง)
  • กรณีที่ 8 พ่อแม่ตายจาก เหลือเพียงครอบครัวเดี่ยว ตีลูกตีหลานด้วยไม้ท่อน ก้อนหิน ควรให้สมมาต่อเจ้าโคตร

จะสังเกตว่า ประเด็นที่เป็นความผิดของเขยนั้นไม่ใช่ความผิดอาญาแผ่นดินในสมัยนั้น แต่เป็นความผิดในครอบครัวเท่านั้น ประเด็นความผิดได้แก่ การไม่ตั้งใจทำมาหากิน เล่นการพนัน ชู้สาว ไม่เคารพยำเกรงผู้อาวุโสในตระกูล ทำร้ายร่างกายบุตร ภรรยา การลงโทษเขยจึงไม่ได้ลงโทษรุนแรงถึงขั้นทุบตี แต่เป็นลงโทษด้านเศรษฐกิจ เช่น การปรับไหม เป็นเงิน เป็นสัตว์เลี้ยง วัว ควาย และให้ขอขมาต่อเจ้าโคตรด้วยเงินหรือดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น

การลงโทษเช่นนี้เป็นการลงโทษที่แยบคาย เพราะในขณะนั้นเขยมักจะยังไม่มีทรัพย์สินเพียงพอในการตั้งตัว เพื่อออกเรือน การปรับไหมเป็นเงินหรือสัตว์เลี้ยงจึงทำให้เขยยังต้องพึ่งพิงพ่อตาแม่ยายอีกคำรบ (ต้องหยิบยืมข้าวกล้า พันธุ์พืช หรือสัตว์เลี้ยง วัว ควาย มาใช้งาน) จนกว่าจะสามารถสะสมสร้างตัวแยกเป็นครอบครัวใหม่ได้นั่นเอง ทำให้เขยไม่อยากทำผิดอีก เพราะจะขาดอิสระจนสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งไม่ได้

marry isan 01

การขอบเขิงเขย

การลงโทษลูกเขยจะกระทำด้วยการพิจาณาจาก "เจ้าโคตร" ทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่พอตาแม่ยายเท่านั้น แต่รวมถึงลุงป้า ญาติผู้ใหญ่คนอื่นๆ ทำให้มีการกลั่นกรอง พิจารณา ให้โอกาสตามสมควร เจ้าโคตรจะทำ "การขอบเขิงเขย" ทุกครั้งไป

"เขิง" เป็นภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายกระด้งแต่มีตาห่างกว่า ริมเขิงจะมีไม้เนื้อแข็งเหลาขดเป็นวงทำขอบ เพื่อให้มีความคงทน ถาวร ไม่โย้เย้เวลาใช้งาน ประโยชน์ของเขิงคือ ใช้ร่อนเอาแต่สิ่งที่ต้องการ เช่น ร่อนทองคำ ร่อนรำ หรือตักเอากุ้ง ปลาในน้ำ ร่อนให้ตมหลุดออกเหลือแต่ตัวปลา

kong koei 02

การขอบเขิงเขย จึงเป็นพิธีกรรมในการตักเตือนลูกเขย ลูกสะใภ้ หรือญาติพี่น้อง โดยเปรียบว่า "เป็นการร่อนเอาแต่สิ่งที่ดีๆ ตามต้องการไว้ ส่วนที่ไม่ดี (การกระทำผิด) ให้หลุดหายไปนั่นเอง"

บางถิ่นที่อาจจะใช้คำว่า "คอบเขิง" แทน "ขอบเขิง" ซึ่งความหมายก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก คำว่า

ขอบ ก.
บอก, เล่า การบอกให้รู้เรียก ขอบ อย่างว่า ท้าวขอบน้องแล้วลวดเลยเซา (สังข์) เชื้อเชิญ เรียก ขอบ อย่างว่า เขาก็ปูนศาลสูงขอบเชียงเชิญยั้ง (สังข์) คอบก็ว่า อย่างว่า ไปให้ลามาให้คอบ (ภาษิต). to tell, invite.
คอบ ก.
บอกเล่า อย่างว่า นำคำไหว้ภูธรทูลคอบ พระบาทเจ้ามีฮู้ฮ่อมคนิง (สังข์). to tell.

สารานุกรมอีสาน-ไทย-อังกฤษ โดย ดร.ปรีชา พิณทอง            

เช่น เมื่อมีแขกของลูกมาบ้าน ลูกได้ไปบอกพ่อแม่ เรียก คอบพ่อแม่ หรือตามสำนวนอีสานที่ว่า "ไปให้ลา มาให้คอบ" เวลาเดินทางไปไหนมาไหนให้บอกลา เมื่อกลับมาแล้วให้บอกกล่าว

ส่วนคำว่า เขิง หมายถึง ขึ้งเคียด, โกรธจัด ดังนั้นคำว่า คอบเขิง หรือ ขอบเขิง หรือ เขิงขอบ จึงหมายถึง การบอกกล่าวถึงความไม่ถูกต้อง ทำให้ขุ่นข้องหมองใจกัน ให้ปรับความเข้าใจกันเสีย เป็นกระบวนการไกล่เกลี่ยภายในครอบครัวโดยเจ้าโคตร ทำการปรับไหม หรือขอขมา หรือสมมาญาติผู้ใหญ่ตามสมควร นั่นเอง

kong koei 03

ทั้งลูกเขยและลูกสะใภ้ก็ตาม ถ้าปฏิบัติตามครรลองของตนย่อมผ่อนหนักเป็นเบาได้คือ มีความเคารพปู่ย่า เลี้ยงดูปู่ย่าด้วยดีดุจท่านเป็นพ่อแม่ของตนเอง ปัญหาต่างๆ ก็ย่อมไม่ตามมาอย่างแน่นอน แต่เมื่อใดทั้งสะใภ้และเขยต่างก็เมินเฉยต่อวัตรปฏิบัติของตนเองนั้นแหละ ปัญหาย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ทำอย่างไรจึงจะทำให้ท่านทั้งสองฝ่ายมีความรักและเอ็นดูตนนั้น คำสอนโบราณอีสานสอนไว้อย่างนี้ว่า

วัตรปฏิบัติของสะใภ้

       คันว่านางมีผัวแล้ว       อย่าลืมคุณพ่อแม่
คุณเพิ่นมีมากล้น                เพียรเลี้ยงให้ใหญ่มา
มารดาฮ้ายให้นาง               อดทนอย่าเคียดต่อ
คุณพ่อฮ้าย                        ให้นางน้อยอย่าติง
คันว่าผัวฮ้าย                      ให้เอาดีสู้ใส่
ปู่ย่าฮ้ายให้นาง                  ก้มหมอบฟัง
ทั้งฝ่ายพุ้นฝ่ายพี้                ใจนั้นพร่ำเสมอ
เถิงยามเดือนห้า                 กาลฤดูปีใหม่
จัดหาดอกไม้                     เทียนพร้อมใส่ขัน
ไปวันทาไหว้                      ตายายปู่ย่า
ทั้งสมมาเฒ่าแก่ใน            หมู่บ้านซู่คนได้ยิ่งดีเจ้าเอย

Krong Rak

วัตรปฏิบัติของลูกเขย

      อันหนึ่งแนวเป็นเขยนี้    แนวนามเชื้อตายายพ่อแม่
ควรซินบน้อมไหว้               ยอไว้ที่สูง
ผลบุญตามมาค้ำ                แนนนำยู้ส่ง
ปรารถนาอันใด                  ซิลุลาภได้โดยด้ามดั่งประสงค์
เฮาเป็นเขยเขานั้น              ควรมีใจฮักห่อ
ฝูงพ่อแม่ชาติเชื้อ               ของเมียเจ้าทั่วกัน
มีหญิงให้ฮู้จักปันแบ่งให้     ใจเหลื่อมทางดี
มีงานการซ่อยกัน               ฮีบไวบ่มีช้า
ซิไปมาก้ำทางใด                ให้เจ้าคอบ
เวนมอบให้                         เมียไว้แก่พ่อตา
ทั้งแม่ยายพร้อม                 เจรจาเว้าม่วน
ควรบ่ควรให้เจ้า                  คะนิงฮู้ซู่แนว เจ้าเอย

เรียบเรียงจาก : คองเขย : วิถีปฏิบัติของเขยภาคอีสาน โดย บุญชู ภูศรี

ฮีตใภ้ คองเขย : ข้อพึงปฏิบัติของใภ้และเขยอีสาน

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)