คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
วรรณกรรมอีสานที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีการกล่าวถึงสืบมาว่า ในวันเพ็ญเดือนสิบของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูการหลังจากการทำนา ชาวบ้านในภาคอีสานของประเทศไทย จะร่วมกันทำบุญตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมา โดยนำภัตตาหารคาว-หวานไปถวายพระสงฆ์ที่วัด เราเรียกการทำบุญนี้ว่า "บุญข้าวสาก"
ที่เรียกว่า บุญข้าวสาก ก็เนื่องมาจาก ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนต่างก็นำสำรับอาหารคาว-หวาน ไปถวายพระสงฆ์นั่นเอง เพื่อให้ชาวบ้านถวายสำรับได้ทั่วถึง และไม่เจาะจงพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด จึงมีการจับสลากโดยการเขียนชื่อผู้ที่จะถวายสำรับลงในบาตร แล้วให้พระภิกษุแต่ละรูปจับสลากชื่อของชาวบ้านที่ต้องการถวายสำรับ
พระภิกษุรูปใดจับสลากได้ชื่อใคร ผู้นั้นก็นำสำรับกับข้าวของตนไปถวายพระภิกษุรูปนั้น ในเรื่องนี้มีตำนานเล่าสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้
ในสมัยพุทธกาล มีชายหนุ่มคนหนึ่งเกิดในตระกูลมั่งคั่ง กำพร้าพ่อ เหลือแต่แม่ พอถึงวัยแต่งงานแม่ก็หาหญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกันจากตระกูลร่ำรวยเสมอกันมาให้เป็นภรรยา แต่นางไม่มีบุตร แม่จึงหาหญิงสาวคนใหม่มาให้เป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง การที่ชายหนุ่มมีภรรยาสองคน เป็นเหตุให้เมียหลวงเกิดความอิจฉาริษยาเมียน้อย จึงคิดหาอุบายจะฆ่าเมียน้อยเสมอ วันหนึ่ง... เมียหลวงจึงเริ่มแผนการ โดยบอกกับเมียน้อยว่า ถ้านางตั้งครรภ์ให้บอกแก่เธอก่อนใคร
เมื่อเมียน้อยตั้งครรภ์ เมียหลวงให้กินยาแท้งออก พอนางมีครรภ์ครั้งที่สองก็ทำเช่นเดียวกัน ครั้งที่สามนางไม่บอกเมียหลวงแต่หนีไปอาศัยบ้านญาติอยู่ เมียหลวงตามไปพบจึงบังคับให้กินยาอีก คราวนี้ไม่แท้งเพราะครรภ์แก่ แต่ลูกในท้องนอนขวางอัดหัวใจตาย
ก่อนตาย... เมียน้อยได้ผูกเวรกับเมียหลวงว่า... ขอให้ได้เกิดเป็นนางยักษิณี ให้ได้กินเมียหลวงและลูกในชาติต่อไป
...แล้วนางก็ตายไปเกิดเป็นแมว เมียหลวงถูกสามีฆ่าตาย เกิดเป็นไก่ อาศัยในครัวเรือนเดียวกัน พอไก่ไข่ออกมา แมวก็ขโมยกินไข่จนหมด
แม่ไก่ไข่ครั้งที่สอง ก็โดนแมวกินไข่อีก พอไข่ครั้งที่สาม แมวกินทั้งไข่และไก่ ก่อนตายแม่ไก่ผูกเวรอาฆาตจะกินลูกแมวและแมวในชาติต่อไป
ชาติต่อมาแม่ไก่เกิดเป็นเสือเหลือง แมวไปเกิดเป็นนางเนื้อ พอนางเนื้อตกลูกนางเสือเหลืองก็กินลูกเนื้อ ครั้งที่สองนางเนื้อตกลูก เสือเหลืองก็กินอีก ครั้งที่สามเสือกินทั้งลูกทั้งแม่ ก่อนนางเนื้อจะตายไปได้ผูกเวรขอให้ตนได้กินลูกและแม่เสือ แล้วนางเนื้อก็ไปเกิดเป็นนางยักษิณี
รายการทีวีชุมชน : บุญข้าวสาก
เสือไปเกิดเป็นนางกุลธิดาในเมืองสาวัตถี เมื่ออายุถึงวัยแต่งงาน นางได้แต่งงานกับชายหนุ่มคนหนึ่ง พอคลอดลูกคนแรกก็ถูกนางยักษิณีปลอมตัวเป็นสหายไปเยี่ยม แล้วฉวยโอกาสกินลูกของนางกุลธิดา เมือ่นางกุลธิดาคลอดลูกคนที่สอง นางก็ถูกนางยักษิณีหลอกกินลูกของนางอีก...
ครั้งที่สาม นางจึงชวนสามีหนีไปอาศัยที่บ้านญาติ พอเดินทางไปถึงสระโบกขรณี นางอยากอาบน้ำจึงส่งบุตรให้สามีอุ้ม... เมื่ออาบเสร็จก็เปลี่ยนให้สามีลงอาบ ขระนั้นนางยักษิณีตามมาอย่างกระชั้นชิด นางจึงเรียกสามีขึ้นจากสระ พากันวิ่งหนีเข้าไปยังวัดเชตวันมหาวิหาร
ขณะนั้น พระพุทธเจ้ากำลังเทศนาสั่งสอนประชาชนอยู่ สองสามีภรรยาก้พาบุตรน้อยไปหมอบกราบถวายตัวต่อพระพุทธเจ้า ส่วนนางยักษิณีวิ่งตามไปไม่ทันจึงหยุดอยู่นอกเขตวัด พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระอานนท์ไปเรียกนางยักษิณีเข้ามาเฝ้า...
พระพุทธเจ้าทรงเล่ากรรมแต่ปางหลัง สั่งสอนสองสามีภรรยาและนางยักษิณีไม่ให้พยาบาลอาฆาตจองเวรกัน ถ้าจองเวรจองกรรมกัน ก็จะเป็นเวรต่อกันไปอีกหลายกัปหลายกัลป์ เหมือนแมวเป็นเวรกับหนู งูเป็นเวรกับพังพอน กาเป็นเวรกับนกเค้า หมีเป็นเวรกับไม้สะคร้อ
กากับนกเค้าบ่เข้าฮ่วมแกวกัน หนูกับแมวบ่ฮ่วมเฮือนกันได้
คือดั่งหมีกับไม้ผันทนังค้อป่า งูเห่ากับเห็นห้อมบ่มีมื้อถืกกัน "
ดังนั้นอาตมา ขอให้โยมเลิกพยาบาทจองเวรกัน "นหิ เวเรน เวรานิ สมฺมนตีธ กุทาจนํ" ในกาลใดๆ เวรในโลกนี้ย่อมระงับด้วยเวรไม่ได้
พระพุทธเจ้าทรงให้นางกุลธิดา นำนางยักษิณีไปเลี้ยงดู นางจึงนำนางยักษิณีไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ เช่น ชายคาบ้าน ประตูบ้าน ทำให้นางยักษิณีไม่พอใจ
นางกุลธิดาจึงให้นางยักษิณีไปอยู่ที่ตาแฮกซึ่งเป็นที่แจ้ง นางยักษิณีเป็นผู้หยั่งรู้ฟ้าฝน ปีใดฝนจะแล้ง น้ำจะท่วม ก็บอกให้นางกุลธิดารู้ นางจึงทำนาได้ผลกว่าคนอื่นๆ ในเมืองนั้น
ต่อมาชาวเมืองรู้ความจริง ก็นับถือนางยักษิณี ต่างก็พากันไปถามเกณฑ์ฟ้าฝนก่อนลงมือทำนา ทำให้การทำนาแต่ละปีได้ผล ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันนำข้าวปลาอาหารไปให้นางยักษิณีเป็นการตอบแทน ส่วนมากนิยมกระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
เมื่อนางยักษิณีเห็นข้าวปลาอาหารที่ชาวเมืองนำมามากมายเช่นนั้น จึงพาชาวเมืองนำสำรับกับข้าวไปถวายพระภิกษุสงฆ์ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร การทำบุญในกลางเดือนสิบดังกล่าวนี้ เรียกว่า การทำบุญข้าวสาก ซึ่งชาวพุทธได้ยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา
"ร้อยเรื่องเมืองไทย" ตอน "บุญข้าวสาก"
อักษรขอม | อักษรธรรมโบราณอีสาน | อักษรไทยน้อย | บุญข้าวสาก | เฮือน ๓ น้ำ ๔
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)